ประวัติวัด 09.สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) - วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร แขวงสราญรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร - webpra

09.สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)

ประวัติวัด วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร แขวงสราญรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

 

ด้านหน้าประตูทางเข้าพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐ์ฯ

ด้านหน้าประตูทางเข้าพระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐ์ฯ

 

ประวัติและความสำคัญของวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร 
เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร
และ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ 
โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพระอารามหลวงของพระมหากษัตริย์ 

ตามโบราณพระราชประเพณี และทรงรับเข้าอยู่ใน 
พระบรมราชูปถัมภ์ของพระกษัตริย์ทุกพระองค์สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

(ตามธรรมเนียมโบราณพระราชประเพณีนั้นมีว่า 
ในราชธานีหรือเมืองหลวงจะต้องมีวัดสำคัญประจำ ๓ วัดด้วยกัน 
คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบุรณะ และวัดราชประดิษฐ์ 
เช่นที่สุโขทัย สวรรคโลก พิษณุโลก และพระนครศรีอยุธยา 

แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท 
กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ 
ให้สถาปนาวัดสลักเป็นวัดนิพพานาราม และเปลี่ยนเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์ 

แต่ต่อมามีพระราชดำริว่า ในกรุงเทพฯ ยังไม่มีวัดมหาธาตุ 
จึงเปลี่ยนชื่อวัดพระศรีสรรเพชญ์เป็นวัดมหาธาตุ 

และพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ 
พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ 
พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ ๑ ทรงบูรณะวัดเลียบ ต่อมาได้นามว่า วัดราชบุรณะ 

ขณะนั้นกรุงรัตนโกสินทร์ยังขาดอยู่เพียงวัดเดียวคือวัดราชประดิษฐ์ 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น
นับได้ว่า วัดราชประดิษฐเป็นพระอารามหลวงที่สำคัญยิ่ง 
พระอารามหนึ่งในพระบรมราชจักรีวงศ์)

 

พระวิหารหลวง

พระวิหารหลวง

 

พระราชประสงค์อีกประการหนึ่งในการสร้างวัดราชประดิษฐ์ฯ นั้นขึ้น 
ก็เพื่ออุทิศถวายแด่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกายโดยเฉพาะ 
เนื่องจากครั้งยังทรงผนวชอยู่ ทรงเป็นหัวหน้านำพระสงฆ์ชำระข้อปฏิบัติ 
ก่อตั้งคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายขึ้น 

รวมทั้งทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างวัดธรรมยุติกนิกายขึ้น
ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง เพื่อพระองค์และข้าราชบริพาร
ที่ต้องการทำบุญกับวัดธรรมยุติกนิกาย ไม่ต้องเดินทางไปไกลนัก

แต่ก่อนหากต้องการจะไปทำบุญกับพระสงฆ์ธรรมยุตต้องไปที่วัดบวรนิเวศวิหาร 
ซึ่งเมื่อก่อนนั้นการเดินทางจากพระบรมมหาราชวังไปวัดบวรนิเวศวิหาร 
จะต้องลงเรือที่ท่าราชวรดิษฐ์เข้าไปทางคลองรอบกรุง นับว่าไปลำบาก 

พระอารามนี้จึงนับเป็นพระอารามแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุต 
เพราะวัดธรรมยุตก่อนๆ นั้น ได้ดัดแปลงมาจากวัดมหานิกายเดิมทั้งนั้น 
วัดราชประดิษฐ์ฯ จึงเป็นเสมือนวัดต้นแบบของคณะธรรมยุติกนิกาย
ที่มีอยู่ในพุทธอาณาจักรบนแผ่นดินไทยนับแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา


วัดราชประดิษฐ์ฯ สร้างขึ้นในที่ดินที่เคยเป็นสวนกาแฟอยู่ริมวังของหลวง 
โดยก่อสร้างใน พ.ศ. ๒๔๐๗ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อที่ดินจากกรมพระนครบาล 
เมื่อทรงได้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์แล้ว จึงได้ทรงประกาศสร้างวัดธรรมยุตขึ้น 
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗ และทรงพระราชทานนามวัดไว้ตั้งแต่กำลังทำการก่อสร้างว่า 
“วัดราชประดิษฐ์สถิตธรรมยุติการาม” 

มีพระราชประสงค์จะถมพื้นที่ให้สูงขึ้น จึงทรงใช้ไหกระเทียมที่นำมาจากเมืองจีน 
หรือเศษเครื่องกระเบื้องถ้วย ชาม ที่แตกหักมาถมที่แทนดินและทราย 
ที่อาจจะทำให้พื้นทรุดตัวในภายหลังได้ 
(วัสดุดังกล่าวมีเนื้อแกร่ง ไม่ผุ ไม่หดตัว และมีน้ำหนักเบาจึงเท่ากับการใช้เสาเข็ม 
ที่สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ในปัจจุบันนั่นเอง)

 

พระพุทธสิหังคปฏิมากร พระประธานในพระวิหารหลวง

พระพุทธสิหังคปฏิมากร พระประธานในพระวิหารหลวง

 

วิธีการหาไหกระเทียม และเครื่องถ้วยกระเบื้องทั้งหลายเป็นจำนวนมากๆ นั้น 
พระองค์ทรงใช้วิธีออกประกาศบอกบุญเรี่ยไร
ให้ประชาชนนำไหกระเทียมมาร่วมพระราชกุศล 
โดยเก็บค่าผ่านประตูเป็นไหกระเทียม ไหขนาดเล็ก ขวด ถ้ำชา 
และเครื่องกระเบื้องอื่นๆ และทรงอนุญาตให้ประชาชนไปดูการนำไหลงฝัง 
เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดว่าพระองค์จะทรงใช้ไหกระเทียมเหล่านั้น
บรรจุเงินทองฝังไว้ในวัด

เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงได้เปลี่ยนเป็น “วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม” 
เพื่อให้เหมาะสมกับเป็นที่ประดิษฐานหลักศิลา 
ซึ่งเป็นสีมามีจารึกคาถาบาลี และภาษาไทย ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์รวม ๑๐ หลัก 
ปรากฏในประกาศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ เรื่องประกาศให้เรียกนามวัดราชประดิษฐ์ให้ถูก

อนึ่ง ในอดีตได้มีผู้เรียกวัดราชประดิษฐ์ว่า วัดราชบัณฑิต บ้าง 
หรือ วัดทรงประดิษฐ์ บ้าง ซึ่งไม่ถูกต้องกับที่พระราชทานนามไว้ 
จึงทรงกำชับว่า ให้เรียกชื่อวัดว่า “วัดราชประดิษฐ์” 
หรือ “วัดราชประดิษฐ์สถิตย์มหาสีมาราม” 

ถึงกับทรงออกประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า 
ต่อไปถ้ามีผู้อุตริเรียกชื่อวัดผิดหรือเขียนชื่อวัดไม่ตรงกับที่ทรงตั้งชื่อไว้คือ 
“วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม” 
แล้วให้ปรับผู้นั้นเป็นเงิน ๒ ตำลึง เพื่อเอาเงินมาซื้อทรายโปรย 
ในประกาศฉบับนี้มีข้อความน่าอ่านมาและเป็นฐานในแง่ของประวัติศาสตร์โบราณคดี 
จึงขอคัดลอกนำมาลงให้อ่านทั้งฉบับ ดังนี้

 

ปาสาณเจดีย์ พระเจดีย์หินอ่อนทรงลังกาองค์ใหญ่

ปาสาณเจดีย์ พระเจดีย์หินอ่อนทรงลังกาองค์ใหญ่

 

ประกาศให้เรียกนามวัดราชประดิษฐ์ฯ ให้ถูก

ณ วันจันทร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก 
มีพระบรมราชโองการบารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท 
ให้ประกาศแก่ข้าทูลฉลองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน 
ผู้ใหญ่ผู้น้อยทุกหมู่ทุกกรมทุกพนักงาน และพระสงฆ์สามเณร
ทวยราษฎร์ทั้งปวงในกรุงเทพฯ แลหัวเมืองให้ทราบทั่วกัน 
พระอารามซึ่งทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้จัดซื้อที่ 

แล้วทรงสถาปนาสร้างขึ้นในทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวัง 
พระราชทานนามไว้ว่า วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
ตามธรรมเนียมโบราณซึ่งเคยมีมาในเมืองใหญ่ๆ ที่ตั้งเป็นกรุงมหานคร 
อย่างเมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิษณุโลก และกรุงเก่า 
คือ มีวัดมหาธาตุ วัดราชประดิษฐ์ และวัดราชบุรณะ 
เป็นของสำหรับเมืองทุกเมือง 

และนามชื่อวัดราชประดิษฐ์ในครั้งนี้แต่เดิมเริ่มแรกสร้างก็ได้โปรด 
ให้เขียนในแผ่นกระดาษปักไว้เป็นสำคัญ 
ภายหลังโปรดให้จาฤกชื่อนั้นลงในเสาศิลาติดตามกำแพงนั้นก็มี 
แต่บัดนี้มีผู้เรียกและเขียนลงในหนังสือตามดำริห์ของตนเองว่าวัดราชบัณฑิตบ้าง 
วัดทรงประดิษฐ์บ้าง เปลี่ยนแปลงไปไม่ถูกต้องตามชื่อที่พระราชทานไว้แต่เดิม 
ทำให้เป็นสองอย่างสามอย่างเหมือนขนานชื่อขึ้นใหม่ 

เพราะฉะนั้นตั้งแต่นี้สืบต่อไป ห้ามอย่าให้ใคร 
เรียกร้องและกราบบังคมทูลพระกรุณา 
และเขียนลงในหนังสือบัตรหมายในราชการต่างๆ ให้ผิดๆ ไป
จากชื่อที่พระราชทานไว้นั้นเป็นอันขาด 
ให้ใช้ว่าวัดราชประดิษฐ์ ฤาว่าให้สิ้นชื่อว่า 
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ให้ยั่งยืนคงอยู่ดังนี้

ถ้าผู้ใดได้อ่านและฟังคำประกาศนี้แล้วขัดขืนใช้ผิดเพี้ยนเปลี่ยนแปลงไป
จะให้ปรับไหมแก่ผู้นั้นเป็นเงินตรา ๒ ตำลึง 
มาซื้อทรายโปรยในพระอาราม วัดราชประดิษฐ์นั้นแล

ประกาศมา ณ วันจันทร์ เดือน ๙ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก

 

พระปรางค์ขอม ที่บรรจุพระอังคารของอดีตเจ้าอาวาส

พระปรางค์ขอม ที่บรรจุพระอังคารของอดีตเจ้าอาวาส

 

ทรงอาราธนาพระสาสนโสภณมาเป็นเจ้าอาวาส

หลังจากทรงสร้างเสร็จแล้ว ได้ทรงอาราธนา พระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) 
หรือสามเณรสา ผู้สอบเปรียญ ๙ ประโยคได้ขณะเป็นสามเณร 
เป็นสามเณรนาคหลวง สายเปรียญธรรมรูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ 
จากวัดบวรนิเวศวิหาร มาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ ปีฉลู 
ทรงกระทำการสมโภชทั้งเจ้าอาวาสและวัดใหม่เป็นเวลา ๓ วัน

กล่าวกันว่า ที่ทรงเจาะจงอาราธนา พระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) 
มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกปกครองวัดราชประดิษฐ์ ก็เพราะพระสาสนโสภณ 
เป็นศิษย์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดมาก

เมื่อมีเจ้าอาวาสปกครองวัดเรียบร้อยแล้ว 
หน้าที่ในการทะนุบำรุงพระภิกษุสงฆ์และบูรณปฏิสังขรณ์พระอาราม 
ก็เป็นอันพันไปจากพระราชภาระ แต่ก็มิได้ทรงทอดทิ้ง 
ยังใฝ่พระทัยในวัดราชประดิษฐ์อยู่เสมอ โดยทรงรับเข้าอยู่ใน
พระบรมราชูปถัมภ์เป็นพิเศษยิ่งกว่าวัดหลวงอื่นๆ ตลอดรัชสมัยของพระองค์

ดังความตอนหนึ่งที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงเล่าถึงพระราชประเพณีถวายพุ่มพระในวัดต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ไว้ว่า 

“วัดราชประดิษฐ์นั้น ในพระบรมราชาธิบายว่าตั้งแต่สร้างวัด 
ทูลกระหม่อมก็เสด็จไปถวายพุ่มพระทั้งวัดทุกปี ดูทำนองอย่างเป็นเจ้าของวัด 
ที่เสด็จไปถวายพุ่มพระวัดราชบพิธทั้งวัดในรัชกาลที่ ๕
ก็ทำตามอย่างวัดราชประดิษฐ์ นั่นเอง...”


เมื่อการสร้าง วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม สำเร็จเรียบร้อยสมบูรณ์
ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทุกประการ 
คือทรงซื้อที่สร้างวัดด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 
เริ่มสร้างวัดราชประดิษฐ์ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๗ 
เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ได้ประกอบพระราชพิธีผูกพัทธสีมา
ในวันที่ ๗-๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๐๘ 

และทรงอาราธนาศิษย์เอกผู้ทรงคุณวุฒิ คือ พระสาสนโสภณ (สา ปุสฺสเทโว) 
พร้อมทั้งพระอนุจรอีก ๒๐ รูป มาเป็นเจ้าอาวาสและพระลูกวัด

 

ตุ๊กตาอับเฉาจีนด้านข้างพระวิหารหลวง

ตุ๊กตาอับเฉาจีนด้านข้างพระวิหารหลวง

 

ต่อจากนั้น ก็ทรงทะนุบำรุงรับวัดราชประดิษฐ์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์
เป็นพิเศษยิ่งกว่าวัดหลวงอื่นๆ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ 
วัดราชประดิษฐ์ก็เจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ

วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร นั้น
เดิมพื้นที่บริเวณนี้เป็นโรงเรือนที่อยู่อาศัยของข้าราชการ 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงขอซื้อที่เพื่อสร้างวัดธรรมยุติกนิกาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๗ 
เพื่อสำหรับเจ้านาย ข้าราชการ ฝ่ายหน้า-ใน ได้บำเพ็ญกุศลสะดวกขึ้น 
เนื่องเพราะตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง

 

“หอไตร” ปราสาทยอดปรางค์แบบขอม

“หอไตร” ปราสาทยอดปรางค์แบบขอม

 

การปฏิสังขรณ์พระอารามในสมัยรัชกาลที่ ๕ 

เมื่อสิ้นสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว 
ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ 
ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างปฏิสังขรณ์สิ่งชำรุดทรุดโทรมทั่วทั้งพระอาราม 

เสร็จแล้วได้โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระบรมอัฐิของรัชกาลที่ ๔ 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ 
บรรจุลงในกล่องศิลาแล้วนำมาประดิษฐานไว้ภายใน พระพุทธอาสน์ 
ณ พระวิหารหลวง 
ตามพระกระแสรับสั่งของพระองค์ 


การอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนๆ 
ไปประดิษฐานในที่อันสมควรนั้น 
ก็เพื่อป้องกันมิให้พระบรมอัฐิเหล่านั้นต้องกระจัดกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ 
เพราะว่าในขณะที่พระราชโอรส และพระราชธิดา 
ผู้ที่ทรงรับแบ่งพระบรมอัฐินั้นไปรักษาไว้ ขณะยังทรงพระชนม์อยู่ก็ไม่เป็นไร 

แต่ถ้าสิ้นพระชนม์ไปแล้วจะขาดผู้รักษาต่อ 
ด้วยผู้ที่จะมารับมรดกจะนิยมศรัทธาในพระบรมอัฐินั้นๆ หรือไม่ ก็ไม่ทราบได้ 

อนึ่ง การประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระเจ้าอยู่หัวไว้เป็นที่เป็นทางนั้น 
ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าสักการบูชา 
หรือบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายตามอัธยาศัยได้สะดวกอีกด้วย

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว 
จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมพระบรมอัฐิ
ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนๆ จำนวน ๓ รัชกาล 
บรรจุลงในกล่องศิลาแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ภายใน พระพุทธอาสน์
ของพระประธานในพระอุโบสถวัดสำคัญประจำรัชกาล 
ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์นั้นทรงสร้างหรือบูรณะไว้
 คือ 


พระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ 
ประดิษฐานไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 

พระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ 
ประดิษฐานไว้ที่วัดอรุณราชวราราม 

พระบรมอัฐิในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ 
ประดิษฐานไว้ที่วัดราชโอรสาราม 

ส่วนพระบรมอัฐิในพระองค์นั้น ทรงมีพระราชประสงค์จะให้บรรจุไว้
ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระวิหารหลวง 
ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ที่พระองค์ได้ทรงสร้างขึ้นดังกล่าวแล้ว

 

“หอพระจอม” ปราสาทยอดปรางค์แบบขอม

“หอพระจอม” ปราสาทยอดปรางค์แบบขอม

 

การสร้างปราสาทยอดปรางค์แบบขอม 

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปราสาทยอดปรางค์แบบขอมขึ้น ๒ หลัง 
ตั้งอยู่บนลานไพที ด้านตะวันออกและด้านตะวันตกของพระวิหาร 
ปราสาททั้งสองหลังนี้ มีรูปร่างส่วนสัดคล้ายกันมากและมีขนาดเท่าๆ กัน

เดิมที ที่ตรงที่สร้างปราสาททั้งสองหลังนี้ เป็นเรือนไม้ 
สร้างในคราวเดียวกับการสร้างวัด 
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ เรือนไม้ทั้งสองก็ชำรุดทรุดโทรมลง 
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ
ให้ช่างกรมศิลปากรรื้อสร้างใหม่เป็นปราสาทยอดปราค์แบบขอม 
สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับด้วยลวดลายสวยงามมาก 
ผู้ออกแบบปราสาทยอดปรางค์แบบขอม 
กล่าวกันว่าเป็นฝีมือของ พระยาจินดารังสรรค์ 
ผู้เคยออกแบบและสร้างอนุสาวรีย์รูปปรางค์ ๓ ยอด แบบขอม 
ในสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มาก่อน 
ในส่วนรายละเอียดของปราสาททั้งสองหลังนั้น มีดังนี้

หลังที่อยู่ด้านทิศตะวันออก หน้าบันของซุ้มประดับด้วยรูปปั้นปูนนูน 
เป็นภาพพระพุทธประวัติ ปางประวัติ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน 
ภายในปราสาทหลังนี้ใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎก และคัมภีร์ต่างๆ 
จึงเรียกกันว่า “หอไตร” 

ส่วนหลังที่อยู่ด้านทิศตะวันตกนั้น ยอดปรางค์ประดับด้วยพรหมสี่หน้า 
หันไปทางทิศทั้งสี่ หน้าบันของซุ่มประดับภาพปูนปั้นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์
ตามวรรณคดีพระนารายณ์จะต้องบรรทมอยู่บนหลังพญานาค 
แต่ที่หน้าบันของปราสาทหลังนี้กลับเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์บนหลังมังกร 
เบื้องหลังมีพระลักษมี และเศียรนาคแผ่พังพาน
ภายในปราสาทใช้เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔
พระบรมรูปยืนเต็มพระองค์ และขนาดเท่าพระองค์จริง
จึงเรียกกันว่า “หอพระจอม”

 

“ประตูเซี่ยวกาง” ตามคตินิยมของจีน

“ประตูเซี่ยวกาง” ตามคตินิยมของจีน

 

ปูชนียวัตถุ-ปูชนียสถานของวัดราชประดิษฐฯ 

วัดราชประดิษฐ์ฯ ถึงแม้จะเป็นพระอารามหลวงที่มีขนาดเล็ก 
ซึ่งมีเนื้อที่ตั้งวัดอยู่เพียง ๒ ไร่ ๒ งาน กับ ๙๘ ตารางวาเท่านั้น 
แต่ภายในบริเวณวัดได้บรรจุเอาความสวยงามวิจิตรตระการตาเป็นสง่าภาคภูมิ
ไม่น้อยไปกว่าพระอารามหลวงอื่นๆ ที่มีบริเวณพระอารามใหญ่กว่าเลย 

ดังจะเห็นว่า เมื่อก้าวพ้นประตูวัดทางด้านทิศเหนือซึ่งมีบานประตูเป็นไม้สักสลัก
เป็นรูป “เซี่ยวกาง” มีลักษณะเป็นนักรบจีนหนวดยาวหน้าตาขึงขัง 
นายทวารบาลตามคตินิยมของจีน กำลังรำง้าวอยู่บนหลังสิงห์โต 
ก็จะเห็น “พระวิหารหลวง” ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นไพที 
ทรวดทรงทั่วไปสวยงามมาก มีมุขหน้าและหลัง 
ทั้งหลังประดับด้วยหินอ่อนตลอด หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีส้มอ่อนๆ

มีช่อฟ้า ใบระกา ประดับเสริมด้วยพระวิหารหลวง 
ทำให้เด่นประดุจตั้งตระหง่านอยู่บนฟากฟ้านภาลัย 
หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
เป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๔ 
คือเป็นรูปมหาพิชัยมงกุฎบนพระแสงขรรค์ 
ซึ่งมีพานแว่นฟ้ารองรับมหาพิชัยมงกุฎและพระขรรค์นั้น 

พานแว่นฟ้าประดิษฐานอยู่บนหลังช้าง ๖ เชือก 
ทั้งสองข้างประดับด้วยฉัตร ๕ ชั้น 
พื้นของหน้าบันเป็นลายกนกลงรักปิดทองทั้งหมด 

ตัวหน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นลวดลายดังกล่าวนั้น 
นับว่าเป็นหน้าบันที่งดงามวิจิตรพิสดาร 
เป็นยอดของสถาปัตยกรรมอันดับหนึ่งของประเทศไทย

 

ซุ้มหน้าต่างพระวิหารหลวง ทรงมงกุฎ

ซุ้มหน้าต่างพระวิหารหลวง ทรงมงกุฎ

 

ซุ้มประตูและซุ้มหน้าต่างทุกบานประดับรูปลายปูนปั้น 
ลงรักปิดทองติดกระจกสีเป็นรูปทรงมงกุฎ 
ตัวบานประตูหน้าต่างสลักด้วยไม้สักเป็นลายก้านแย่ง 
ซ้อนกันสองชั้นลงรักปิดทองติดกระจกสี ทำให้ดูงดงามยิ่งขึ้น 

พระประธานในพระวิหารหลวง มีพระนามว่า พระพุทธสิหังคปฏิมากร 
เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีหน้าตักราว ๑ ศอก ๖ นิ้ว 
ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายใต้ษุษบก 
ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ 
โปรดเกล้าฯ ให้หล่อจำลองจากพระพุทธสิหิงค์ องค์ที่ประดิษฐาน 
ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

เนื่องจากทรงโปรดปรานในพุทธลักษณะและทรงมีพระราชศรัทธาเป็นพิเศษ
จึงอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พระวิหารหลวง วัดราชประดิษฐ์ฯ แห่งนี้
และถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธสิหังคปฏิมากร”

อนึ่ง ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ 
จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญ พระบรมอัฐิ (บางส่วน) ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
มาบรรจุภายในพระพุทธอาสน์ของ “พระพุทธสิหังคปฏิมากร” 


ทั้งนี้ แม้วัดราชประดิษฐ์ฯ จะเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ 
แต่ “ประตูเซี่ยวกาง” ก็เป็นศิลปะที่ยังคงได้รับอิทธิพลจากจีนอยู่ 
คำว่าเซี่ยวกาง สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “เซ่ากัง” ที่แปลว่า ยืนยาม นั่นเอง

วัดราชประดิษฐ์ฯ เป็นพระอารามหลวงที่ไม่มีพระอุโบสถ 
มีเฉพาะพระวิหารหลวงใช้ประกอบพิธีสังฆกรรม
ดังนั้น พระวิหารหลวงจึงถือว่าเป็นพระอุโบสถของวัดด้วย 


ในพระวิหารหลวงมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของขรัวอินโข่ง 
ที่วาดเป็นรูปเกี่ยวกับพระราชพิธี ๑๒ เดือน นับเป็นภาพวาดที่มีค่ายิ่ง 
โดยรัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วาดไว้ 
เพราะทำให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงเรื่องราวในอดีต 
อย่างเช่นพระราชพิธีเดือนอ้าย หรือเดือนธันวาคม 
จะมีพิธีตรุษเลี้ยงขนมเบื้อง ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว

 

ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระราชพิธี ๑๒ เดือน

ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระราชพิธี ๑๒ เดือน

 

นอกจากนี้ยังมีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังจำลองเหตุการณ์
เป็นพระรูปรัชกาลที่ ๔ ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา
ตามความจริงนั้นพระองค์เสด็จไปที่ตำบลหว้ากอ เมืองประจวบคีรีขันธ์
เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ซึ่งพระองค์ทรงคำนวนได้อย่างถูกต้อง 
แต่ในภาพนี้ได้วาดฉากให้เป็นการทอดพระเนตรที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย 

ด้านหลังพระวิหารหลวงมีพระเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่ 
คือ ปาสาณเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงกลมฐานสี่เหลี่ยม 
ก่ออิฐถือปูน ภายนอกประดับด้วยกระเบื้องหินอ่อนทั้งองค์ 
เป็นที่มาของคำว่า ปาสาณเจดีย์ ซึ่งหมายถึงเจดีย์หิน

และด้านหน้าปาสาณเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐาน
พระรูปหล่อของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) 
ซึ่งหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ประดับด้วยกระเบื้องหินอ่อน 
ในท่านั่งแสดงพระธรรมเทศนา ฝีมือช่างชาวสวิส ชื่อ เวนิง
ซึ่งการสร้างพระวิหารและมีพระเจดีย์อยู่ด้านหลังนี้
ถือเป็นแบบแผนการสร้างวัดของรัชกาลที่ ๔ 
เพราะถือว่าเมื่อไหว้พระประธานในพระวิหารแล้ว 
ก็จะได้ไหว้พระเจดีย์ไปด้วยพร้อมกันในคราวเดียว

นอกจากนี้แล้วยังมีสถาปัตยกรรมอื่นๆ ภายในวัดที่สำคัญอันน่าชมยิ่ง 
เช่น พระปรางค์ขอม ตั้งอยู่บนพื้นไพทีด้านหลังพระวิหารหลวง 
เป็นปราสาทก่ออิฐถือปูน ทรงสี่เหลี่ยม มียอดปรางค์แบบขอม 
ภายในบรรจุ พระอังคารของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว)
สรีรังคารของพระสาสนโสภณ (อ่อน อหิงฺสโก) 
และ สรีรังคารของพระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส) 
อดีตเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ทั้ง ๓ รูป

ด้านข้างถัดจาก “หอพระจอม” ออกไป คือ ศาลาการเปรียญ 
ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระวิหารหลวง เป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว 
ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบโบสถ์ขนาดเล็กของกรีกโบราณ 
เพดานประดับด้วยดวงตราประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ 

บริเวณนี้เป็น เขตหวงห้ามสำหรับสตรี หรือเขตสังฆาวาส 
อันเป็นบริเวณที่ห้ามสตรีผ่านเข้าออกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากเป็นบริเวณที่ตั้งกุฏิสงฆ์ มีป้ายปิดที่ประตูว่า ห้ามสตรีเพศผ่าน 
ด้วยเพราะธรรมยุติกนิกายนั้นเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก

 

ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระรูปรัชกาลที่ ๔  ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา

ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังพระรูปรัชกาลที่ ๔ 
ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา

 

พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔ เท่าพระองค์จริง ณ หอพระจอม

พระบรมรูปหล่อรัชกาลที่ ๔ เท่าพระองค์จริง ณ หอพระจอม

 

ศิลาจารึกวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม 

ด้านหลังพระวิหารหลวงมีซุ้มซึ่งแกะสลักด้วยหินอ่อนทั้งแผ่น 
ภายในซุ้มเป็นที่ประดิษฐาน ศิลาจารึก 
ประกาศในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ ฉบับ 

ฉบับแรกเป็นประกาศการสร้างวัดถวายพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย 
จารึกในปีพุทธศักราช ๒๔๐๗ 
ฉบับหลังเป็นประกาศเรื่องงานพระราชพิธีผูกพัทธสีมาวัด 
จารึกในปีพุทธศักราช ๒๔๐๘ 
ประกาศทั้ง ๒ ฉบับลงพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ข้อความในศิลาจารึกทั้ง ๒ ฉบับนั้นนับว่ามีความสำคัญ 
ซึ่งเป็นมหามรดกล้ำค่าที่เป็นมหาสมบัติของคณะธรรมยุติกนิกาย 
ที่ได้รับพระราชทานตกทอดมาจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ 

ศิลาจารึกตอนบน 

อิมํ ภนฺเต วิหารารมภูมี สมนฺตโต ปาการมูเลสุ หิฎฺฐกา จยปริจฺฉินฺนํ 
วิสํคามเขตตฺตํ กตวา ปริจฺฉิชฺชมานํ อาคตานาคตสฺส จาตุทฺทิสฺส 
ธมฺมยุตฺติกนกายิกสํฆสฺส อนญฺญนิกายิกสส โอโนเชม สาธุ ฯลฯ สุขาย.


ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ ขอประกาศว่า 
ที่ภายในพระนครติดต่อไปข้างใต้ จังหวัดตึกดินเก่า ซึ่งบัดนี้เป็นสนามทหาร 
แลติดต่อข้างด้านตะวันออกหลังวังหม่อมเจ้าดิศช่างหล่อ
แลติดต่อข้างเหนือวังกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ 
แลติดต่อข้างด้านตะวันตกถนนริมคลองโรงสีคิดที่ยาวไปข้างตะวันออก ๓๕ วา 
กว้างไปข้างเหนือต่อใต้ ๓๑ วา ๓ ศอก เดิมเป็นที่หลวงอยู่ข้างตึกดิน

สำหรับพระราชทานข้าราชการที่ต้องพระราชประสงค์ใช้ใกล้ๆ อาศัยอยู่ 
แลแต่ก่อนมีผู้สร้างโรงธรรมลงในด้านตะวันออกของที่นี้ 
โรงนั้นได้เป็นที่มีธรรมเทศนา แลทำบุญให้ทานของชาวบ้านอยู่ใกล้เคียงที่นี้ช้านาน 
แลเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระบดเขียน 
เหมือนกับเป็นพระอารามวิหารโดยสังเขป 

ครั้นมาเมื่อแผ่นดินพระบาทพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ต้องพระราชประสงค์ที่นี้เป็นสวนกาแฟ จึงให้ไล่บ้านเรือนที่อยู่ในที่นี้เสียสิ้น 
เจ้าของโรงธรรมการเปรียญต้องรื้อโรงธรรมไปปลูกที่อื่นเสียด้วย 
ที่นี้ก็เป็นที่สวนกาแฟมาหลายปีจนแผ่นดินปัจจุบันนี้ 

แลบัดนี้ไม่ได้ทำสวนกาแฟก็รกร้างว่างเปล่าอยู่ 
ก็บัดนี้เจ้านายแลข้าราชการข้างหน้าบ้างข้างในบ้าง
ซึ่งเคยเป็นศิษย์ศึกษาประพฤติการทำบุญให้ทาน 
ตามคติลัทธิอย่างธรรมยุตติกา พากันบ่นว่าวัดพระสงฆ์คณะธรรมยุตติกาอยู่ไกล 
จะทำบุญให้ทานก็ยากไปต้องไปไกลลำบาก 

ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ข้างล่าง เดิมเป็นครูอาจารย์ต้นลัทธิชำระข้อปฏิบัติต่างๆ 
ให้เป็นเยี่ยงอย่างในคณะพระสงฆ์ธรรมยุตติกนิกาย 
คิดถึงการพระพุทธศาสนาซึ่งตนได้ชำระไว้ 
มีความปรารถนาจะใคร่ได้พระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกายนั้นมามีอยู่ในที่ใกล้ที่ตัวอยู่ 
แลจะให้สมประสงค์ ท่านทั้งหลายชายหญิงทั้งปวงถือชอบใจดังว่าแล้วนั้นด้วย 

อนึ่งคิดว่าศาลาโรงธรรมการเปรียญก็สมมติว่าเป็นที่ดังหอพระพุทธรูป 
หรือหอพระไตรปิฎก หรืออาสนศาลาที่ประชุมสงฆ์ 
เป็นที่นมัสการทำบุญให้ทานของทายกสัปบุรุสผู้มีศรัทธาคล้ายกับอารามวิหาร 
เป็นที่เจดีย์สถานแลที่อยู่พระสงฆ์โดยสังเขปก็โรงธรรมศาสลาการเปรียญเก่า
ซึ่งมีในที่นั้นเจ้าของรื้อไปเสียแล้ว ควรจะปลูกสร้างขึ้นใหม่ด้วย

เพราะเหตุดังกล่าวแล้วนั้น 

ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ท้ายหนังสือนี้ 
จึงได้คิดจะทำเจดีย์ แลธรรมสภาแลวิหารที่อยู่พระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกาย
ตามประสงค์ของตน แลท่านทั้งหลายชายหญิงอื่นเป็นอันมากนั้น
ในที่นี้ใกล้พระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่อยู่ 
จึงคิดว่าที่นี้เป็นที่สวนกาแฟของหลวงของแผ่นดินเป็นของกลางอยู่
ไม่ควรจะยกเอามาถวายเฉพาะเป็นของพระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกายเป็นที่พิเศษได้ 
เห็นว่าจะเป็นทำให้เสียประโยชน์แผ่นดินไป 

จึงได้สั่งให้กรมพระนครบาลวัดที่นี้กะลงเป็นตารางละวาแล้วตีราคาตารางละบาท 
ที่นี้ยาวไปข้างตะวันตกมาตะวันออก ๓๕ วา กว้างไปข้างเหนือต่อใต้ ๓๑ วา ๓ ศอก 
เป็นตารางวาได้ ๑,๐๙๘ วา 

ฯข้าฯ มีชื่อจดไว้ให้ท้ายหนังสือนี้จึงได้สละทรัพย์เป็นของนอกจำนวน
มิใช่ของขึ้นท้องพระคลัง ๑,๐๙๘ บาท คิดเป็นเงิน ๑๘ ชั่งตำลึงกึ่ง
ได้มอบเงินให้กรมพระนครบาลรับไปจัดซื้อที่อื่นที่ต้องการในราชการแผ่นดิน 
คือที่เป็นที่ตั้งกองรักษาถนนหนทางบางบ้านเมือง 
ที่ซึ่งจัดซื้อด้วยทรัพย์จำนวนนั้น
เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์สมันตพงษ์พิสุทธมหาบุรุษย์รัตโนดม สมุห์พระกลาโหม 
ได้รู้เห็นตรวจตราให้จ่ายเงินจัดซื้อที่อื่นเป็นอันเปลี่ยนที่นี้เสร็จสมควรแล้ว 
ก็บัดนี้ที่อันนี้ตกเป็นของ ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ผู้เดียว 

จึง ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ 
ยอมยกที่นี้ให้เป็นส่วนเพื่อกุศลแก่บุตรภรรยาญาติพี่น้อง และบริษัทฝ่ายหน้าฝ่ายใน 
บันดาที่มีน้ำใจเลื่อมใสศรัทธานับถือปรนนิบัติพระพุทธศาสนา
อย่างคติลัทธิพระสงฆ์ธรรมยุตติกนิกายทั้งปวงแล้ว 
จึงพร้อมใจกันด้วยปรึกษากันบ้าง คาดใจกันบ้างขอยอมยกที่นี้ซึ่งได้ก่อคันขึ้นด้วยอิฐ 
มีหลุมที่ปักเสาสีมานิมิตในทิศทั้งแปดนี้ 
ให้เป็นส่วนตัดขาดจากพระราชอาณาเขต เป็นแขวงวิเศษเรียกว่า 
วิสุงคามสีมา มอบถวายแก่พระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกาย 

อันมีในทิศทั้ง ๔ อันมาแล้วก็ดี ยังไม่มาแล้วก็ดี 
เพื่อว่าในที่กำหนดไว้จะสร้างพระเจดีย์แลที่ตั้งพระปฏิมากร 
เนื้อที่เท่าใดพระเจดีย์แลชุกชีรอบได้ตั้งลง 
ที่เท่าใดชุกชีแท่นพระพุทธรูปจะได้ตั้งลง ที่เท่านั้นยกถวายเป็นพระพุทธบูชา 
แก่สมเด็จพระผู้ทรงพระภาค ซึ่งเป็นพระบรมศาสดา 
อันเสด็จปรินิพพานแล้วที่นอกนั้นรอบคอบจังหวัดที่กำหนดแล้ว 
ขอยกให้เป็นที่อยู่ที่อาศัยประพฤติพรหมจรรย์ 
แลประพฤติการพระพุทธศาสนาสั่งสอนศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย
แลทำสังฆกรรมน้อยใหญ่ตามวินัยกิจโดยสะดวกทุกประการ 

แต่ที่นี้คงขาดเป็นของพระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกาย 
ผู้เป็นศิษย์ศานุศิษย์ศึกษาตามลัทธิซึ่ง 

ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ ได้เริ่มได้ริได้ชำระตกแต่งตำราขึ้น 
แลท่านผู้มีปัญญาละเอียดได้ชำระตกแต่งต่อไปนั้น
พวกเดียวก็ผู้จะได้อยู่ได้บริโภคที่นี้ต่อไปนั้น 

ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ท้ายหนังสือนี้ 
ยอมให้อยู่แต่ท่านผู้ที่คนทั้งปวงรู้พร้อมกันว่าเป็นศิษย์ศึกษาต่อๆ ไปจาก 
ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ๆ ไม่ยอมให้พระสงฆ์สามเณรพวกอื่น 
ที่มีใช่ศิษย์ศานุศิษย์ศึกษาสืบไป 

ฯข้าฯ นั้นเข้าอยู่เป็นเจ้าของเลยเป็นแต่ไปสู่มาหาหรืออาศัย 
ในกำหนดวันเวลาตามน้ำใจยอมโดยชอบใจของพระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกายนั้นได้ 
ก็ถ้าพระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกายที่อยู่ในที่นี้ก็ดี ที่อื่นก็ดี 
กลับจิตกลับใจกลับรีดลัทธิถืออย่างพระสงฆ์นิกายอื่นก็ดี 
เข้ารีตฝรั่งแลศาสนาอื่นก็ดีแล้ว ก็เป็นอันขาดหลุดจากเป็นเจ้าของที่นี้ 
จะอยู่ในที่นี้ไม่ได้ ก็ถ้าด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง 
พระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกายสาบสูญสิ้นไม่มีในแผ่นดิน 
เมื่อนั้นที่อันนี้จงตกเป็นของพระผู้มีพระภาคพระบรมศาสดาอรหังสัมมาสัมพุทธเจ้า 
ที่ปรินิพพานแล้วนั้นเถิด

ใครมีศรัทธาจะปรนนิบัตินมัสการพระเจดีย์ ก็จงปรนนิบัตรนมัสการเถิด 
ใครจะใคร่จำศีลภาวนา ก็จงมาจำศีลภาวนาตามควรแก่ความเลื่อมใสเทอญ

เมื่อที่นี้เป็นของพระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกายดังนี้แล้ว 
ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ 
ถ้ายังยืนยงคงชีพอยู่ ก็จะอุสาหะสร้างทำพระเจดีย์
แลเรือนพระพุทธปฏิมากรแลโรงธรรมสภา แลกุฏิวิหารที่อยู่พระภิกษุสงฆ์ 
แลที่ต่างๆ เป็นเครื่องประดับพระอารามทั้งปวงไปตามกำลัง
จนบริบูรณ์สถิตธรรมยุตติการาม 

แต่ที่นี้ใกล้พระราชวัง ถ้าพระเจ้าแผ่นดินในอนาคตไม่โปรด
จะต้องประสงค์ที่นี้ใช้ในราชการแผ่นดินก็ขอให้ซื้อที่อื่นเท่าที่นี้ หรือใหญ่กว่านี้ 
ด้วยราคาเท่าที่นี้ ในที่ใกล้บ้านคนถือพระพุทธศาสนา 
ไม่รังเกียจ เกลียดชัง พระสงฆ์ธรรมยุตติกนิกายพอเป็นที่ภิกขาจารได้
แลไม่ใกล้เคียงชิดติดกับวัดอื่น เปลี่ยนก่อนจึงได้ของอะไร

ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ 
ได้สร้างสถาปนาการลงไว้ในที่นี้ ก็ต้องสร้างใช้ให้ดีให้งามเหมือนกัน
จึงควรจะเอาที่นี้เป็นหลวงใช้ในราชการได้ 
ถ้าจะโปรดให้เป็นวัดที่อยู่พระสงฆ์พวกอื่นเหล่าอื่นก็เหมือนกัน 
ขอรับประทานให้ซื้อที่ใช้สร้างวัดใช้ก่อน 
จึงจะเปลี่ยนให้พระสงฆ์พวกอื่นหมู่อื่นอยู่ได้ 

ถ้าไม่ได้ซื้อที่อื่นสร้างวัดใช้ ไล่พระสงฆ์คณะธรรมยุตติกนิกายของ ฯข้าฯ 
ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้เสียเปล่า 
พระสงฆ์พวกอื่นเข้ามาอยู่เป็นเจ้าของ 
เอาอำนาจเจ้านายมาไล่เจ้าของเสียชิงเอา ก็จะเป็นปสัยหาวหารอทินนาทานไป 

ขอท่านผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินในอนาคต จงโปรดประพฤติตาม 
ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ 
ซึ่งเป็นเจ้าของที่ทำวัดราชประดิษฐ์นี้สั่งไว้จงทุกประการ
จึงจะมีความเจริญสุข 

ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ 
ได้แผ่ส่วนกุศลถวายแด่เทพยดารักษาพระนครทั้งปวง
แลได้ฝากวัดราชประดิษฐ์นี้ไว้แด่เทพยดาให้รักษาอยู่แล้ว 

ประกาศไว้วัน ๖ ฯ ๑๒ ๑๒ ค่ำ ปีชวด ฉศก 
พระพุทธศาสนกาล ๒๔๐๗ พรรษา ศักราช ๑๒๒๖ 
เป็นปีที่ ๑๔ เป็นวันที่ ๔๙๔๕ ในรัชกาลปัจจุบันนี้

อิทํ มยา ปรเมนฺทมหามกุฎสฺมา
สฺยามวิชิเต รชฺชํ การยตา.

บันทึกทั้งปวงในกระดาษนี้เป็นสำคัญ
แต่สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม

 

ศิลาจารึกวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม

ศิลาจารึกวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม

 

ศิลาจารึกตอนล่าง 

ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ 
ขอประกาศเผดียงว่าในที่ภายในพระนคร ฯลฯ 
ตามควรแก่ความเลื่อมใสเทอญฯ
จะว่าวัดสำหรับพระสงฆ์ทั้งแผ่นดินไม่ได้ 
แต่พัทธสีมานั้นตามพระวินัยจริงๆ จะผูกในบ้านก็ได้ ที่ของใครๆ ก็ได้ 

ฯข้าฯ ผู้มีชื่อในท้ายหนังสือนี้ ไม่มีสงสัยเลย 
ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงผูกพัทธสีมาในที่นี้ 
ด้วยปาสาณนิมิตรคือเสาใหญ่ซึ่งปักไว้ในทิศทั้ง ๘ นี้เถิด เสาทั้ง ๘ นั้น 

ฯข้าฯ ผู้มีชื่อเขียนไว้ในท้ายหนังสือนี้ 
ขอถวายเสาศิลาในทิศซึ่งปักไว้ในทิศทั้ง ๘ 
เพื่อจะให้เป็นนิมิตรมหาพัทธสีมา แลอีกเสาสองต้นประกับกัน
เพื่อจะให้เป็นที่สังเกตที่สวดสมมติให้ท่ามกลางรวม ๑๐ ต้นนี้
เป็นของพระสงฆ์ในคณะธรรมยุตติกนิกาย 
ประดับพระอารามนี้ด้วย มอบถวายอีกพร้อมกันทั้งเสาศิลา ๑๐ ต้นปักอยู่ในกลางสอง 
อยู่ในทิศทั้งแปดอีกแปด เพื่อจะให้เป็นนิมิตรในทิศทั้งแปด
แลเป็นสำคัญที่พระสงฆ์ยืนสวดผูกสีมาในท่ามกลางด้วย 
เพื่อจะได้สมมติสีมา 

ณ วัน ๖ ฯ ๑๗ ค่ำ ปีฉลู สัปตศก พระพุทธศาสนกาล ๒๔๐๘ พรรษา 
จุลศักราช ๑๒๒๗ เป็นปีที่ ๑๕ หรือเป็นวันที่ ๕๑๔๐ ในรัชกาลปัจจุบันนี้

อิทํ มยา รญฺญา ปรเมนฺทมหามกุฎสฺมา
สฺยามวิชิเต รชฺชํ การยตา.


หนังสือนี้ แต่ข้าพระพุทธเจ้า 
สมเด็จพระปรเมนทรามหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม

 

วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ

 

 

 

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก :: 
หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ : 
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว), 
วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑. 
http://www.dharma-gateway.com/ 
http://mahamakuta.inet.co.th/ 
http://www.mbu.ac.th/ 
http://www.rajapradit.com/

 

นำมาจากเว็บธรรมจักร www.dhammajak.net

Top