ประวัติหลวงปู่ธรรมรังษี จังหวัดสุรินทร์ " ท่านเจ้าคุณสองแผ่นดิน " - webpra

ประวัติหลวงปู่ธรรมรังษี จังหวัดสุรินทร์ " ท่านเจ้าคุณสองแผ่นดิน "

บทความพระเครื่อง เขียนโดย พระอุดมเวทย์

พระอุดมเวทย์
ผู้เขียน
บทความ : ประวัติหลวงปู่ธรรมรังษี จังหวัดสุรินทร์ " ท่านเจ้าคุณสองแผ่นดิน "
จำนวนชม : 32413
เขียนเมื่อวันที่ : พฤ. - 01 ธ.ค. 2554 - 20:33.17
แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ : จ. - 18 ส.ค. 2557 - 14:42.48
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)

ประวัติหลวงปู่ธรรมรังษี  " ท่านเจ้าคุณสองแผ่นดิน "

วัดพระพุทธบาทพนมดิน อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ “ ฉบับย่อ ”

 

หลวงปู่ธรรมรังษี  “ พระมงคงรังษี ”  มีนามเดิมว่า นายสุวัฒน์ ฉิง เกิดเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๔๖๒ ณ.ตำบลเกีย อำเภอโมงฤษี (อำเภอโมงรือแซ็ยในปัจจุบัน) จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา เมื่อปฐมวัยได้ศึกษาจนจบการศึกษาภาคบังคับ (เทียบเท่าชั้น ป.๔ ของไทย) เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ๑ พรรษา แล้วลาสิกขาออกมาช่วยบิดา-มารดา ทำงานจนอายุครบ ๒o ปี บริบูรณ์จึงได้อุปสมบทเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๔๘๑ ณ.วัดเวฬุวนาราม ตำบลเกียอำเภอโมงรือแซ็ย จังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา โดยมีพระสุวัณณเถระเป็นพระอุปัชฌาย์ พระสุวัณณปัญโญเป็นพระกัมวาจาจารย์ พระจันทัตตเถระเป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีฉายาธรรมว่า “ ธรรมรังษี ” หลวงปู่ธรรมรังษีเป็นพระที่มีใจใฝ่ปฏิบัติสมาธิภาวนา และกรรมฐาน ได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานควบคู่กับการศึกษาพระเวทวิทยาคมจากพระเกจิอาจารย์ หลายรูปในประเทศกัมพูชาตลอด ๓๕ พรรษา จนมีวิชาแก่กล้าแตกฉานและเชี่ยวชาญหลายแขนงเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน และจังหวัดใกล้เคียงในประเทศกัมพูชาในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่หลวงปู่ธรรมรังษีท่านอายุ ๒๐ ปี ท่านเน้นศึกษาสายพระเวทย์ วิทยาคมจากครูบาอาจารย์หลากหลายสำนัก รวมทั้งศึกษากับพระสังฆราชชวน นาถ (พระสังฆราชองค์ก่อนในยุค ๒๔๙๐) ซึ่งพระสังฆราชชวน นาถ ท่านเป็นมหาปราชญ์แห่งประเทศกัมพูชา หลวงปู่ธรรมรังษีท่านเรียนพระเวทย์เขมรโบราณชั้นสูง ตลอดระยะเวลา ๓๕ ปี  (ถึงอายุ ๕๕ ปี) ควบคู่กับการปฏิบัติกรรมฐาน ก่อนที่หลวงปู่ธรรมรังษีจะหันมามุ่งเน้นการปฏิบัติกรรมฐานอย่างจริงจังเพียงอย่างเดียวในครั้งเวลาต่อมาในขณะนั้นหลวงปู่ได้รับสมณศักดิ์ เป็น “ พระครูธรรมรังษี “ เป็นเจ้าคณะอำเภอโมงรือแซ็ย

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ ขณะที่สงครามกลางเมืองในประเทศกัมพูชาร้อนระอุถึงขั้นวิกฤตนั้นหลวงปู่ธรรมรังษีในฐานะทายาทผู้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาตกอยู่ในฝ่ายตรงข้ามเขมรแดง เนื่องจากวัดวาอารามในจังหวัดใกล้เคียงจังหวัดพระตะบอง ถูกทำลายเสียหายและถูกยึดเป็นค่ายทหาร พระสงฆ์องค์ใดไม่อ่อนน้อมยอมลาสิกขาเข้าเป็นพวกจะถูกทรมานถึงชีวิต ที่หนีรอดก็กระจัดกระจายไม่ทราบชะตากรรม

คืนวันหนึ่ง ในขณะที่หลวงปู่ท่านนั่งเจริญสมาธิภาวนาในกลางดึกสงัด เกิดนิมิตทางหู ได้ยินเสียงประกาศกึกก้องมาแต่ไกล และใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามา ท่านยังคงนั่งนิ่งดำรงสติมั่น และเกิดภาพนิมิตเบื้องหน้าปรากฏชัดเจน คือองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของชาวไทย เสด็จยืนอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ มีข้าราชบริพารนั่งคุกเข่าเฝ้าถวายความเคารพอยู่เนืองแน่น หลวงปู่ท่านเพ่งมองภาพนั้นอยู่นานจนกระทั่งเลือนหายไป ภาพดังกล่าวยังคงติดตาหลวงปู่ธรรมรังษีมาโดยตลอด วันรุ่งขึ้นหลวงปู่ท่านได้เล่ามงคลนิมิตให้บรรดาญาติโยมและพระลูกวัดฟัง และเอ่ยบอกว่าประเทศไทยนี้ปลอดภัยที่สุด เพราะอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารพระบารมีองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะพาญาติโยมและพระลูกวัดทั้งหลายอพยพหนีร้อนมาพึ่งเย็น ข่าวนี้แพร่กระจายไปทั่วจากนั้นหลวงปู่จึงพาคณะและพระ ๔ รูป เดินทางเช้าตรู่ วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๑๘ คล้อยหลังเพียงหนึ่งวันอำเภอโมงรือแซ็ย ได้ถูกเขมรแดงยึดไว้ได้ใน วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๑๘

หลวงปู่ธรรมรังษีและคณะใช้เวลาเดินทางธุดงค์มา ๕ วัน จนถึงด่านปอยเปต อยู่ติดกับชายแดน อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เข้าพำนักที่วัดป่าเลไลย์เพื่อขออนุญาตเข้าประเทศไทย ในที่สุดก็ได้รับการอนุญาตจากทางการไทย หลวงปู่ท่านโดยสารรถไฟจากสถานีอรัญประเทศเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อเช้า วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๘ หลังจากกรุงพนมเปญถูกเขมรแดงยึดได้เพียง ๑ วัน ระหว่างอยู่บนรถไฟหลวงปู่นั่งภาวนาขอพระบารมีองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่พึ่งตลอดเวลาทุกลมหายใจเข้าออก

เมื่อถึงกรุงเทพมหานคร ได้เข้าพำนักอยู่กับพระอาจารย์วิโรจน์ เจ้าอาวาสวัดราชสิงขร ซึ่งเป็นสหธรรมิกกันมาก่อน และด้วยความที่หลวงปู่ธรรมรังษีมุ่งมั่นและใฝ่ในด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน พระอาจารย์วิโรจน์จึงได้พาหลวงปู่ให้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดเพลงวิปัสนา กรุงเทพมหานคร หลวงปู่ท่านได้ศึกษาปฏิบัติธรรมเพิ่มเติมจากสำนักวัดเพลงวิปัสสนา และวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ เพราะสมัยอยู่ที่ประเทศกัมพูชานั้น หลวงปู่ธรรมรังษีท่านมุ่งเน้นเรื่องด้านวิทยาคมเป็นหลัก ในพรรษาถัดมาหลวงปู่ธรรมรังษีท่านจึงได้ปรารภกับสหธรรมิกรูปหนึ่งนั่นก็คือ พระเกี่ยว ในขณะนั้นท่านมีอายุ ๔๙ ปี ซึ่งปัจจุบันนี้ที่ศาสนิกชนรู้จักท่านในนาม สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกี่ยว อุปเสโน แห่งวัดสระเกศ ที่วัดเพลงวิปัสสนา ว่าการปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาอยู่ในเมืองหลวงนั้นก้าวหน้าไปได้ช้าเพราะยังไม่สงบสงัดเพียงพอ น่าจะมีสถานที่อื่นที่จะไปบำเพ็ญเพียรให้ประสบความสำเร็จได้ สหธรรมิกรูปนั้นจึงนำพาหลวงปู่ท่านจาริกสู่ชนบทบ้านเกิดที่ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ได้พบกับ “ พระอาจารย์สิงห์ สุธัมโม ” (พระครูภาวนาประสุต) เจ้าอาวาสวัดบ้านขี้เหล็กตำบลหนองบัวทอง อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของสาธุชนทั่วไปในละแวกนั้น เมื่อท่านได้พบอาจารย์สิงห์ก็รู้สึกต้องในอัธยาศัยไมตรี จึงได้พำนักอยู่ ณ.วัดบ้านหนองเหล็ก ตามคำชักชวนช่วงเวลาแห่งการได้อยู่จำพรรษา ณ วัดบ้านหนองเหล็กนี้เองทำให้หลวงปู่ธรรมรังษีได้มีโอกาสพบกับพระอาจารย์สายวิปัสสนาจากสำนักต่างๆ มากขึ้นได้เปิดตัวให้เป็นที่รู้จักเลื่อมใสศรัทธาของสาธุชนและเป็นที่ยอมรับ ในหมู่พระสงฆ์ที่สนใจการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นอย่างมาก

พ.ศ. ๒๕๒๑ หลวงปู่ธรรมรังษี ท่านได้รู้จักกับพระครูปลัดขาว ฐิตธมฺโมเจ้าอาวาสวัดบุญศรีมุนีกร กรุงเทพมหานคร พระครูปลัดขาวยอมรับและนับถือหลวงปู่ธรรมรังษีเป็นอย่างมาก หลวงปู่ธรรมรังษีเป็นพระนักปฏิบัติที่กอรปด้วยคุณธรรมเปลี่ยมล้น และมีอภิญญาญาณสูง จึงได้อารธนาให้หลวงปู่ธรรมรังษีร่วมเป็นพระวิปัสสนาจารย์ ในสำนักของท่านซึ่งรับฝึกปฏิบัติธรรมให้กับพระภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์ผู้สนใจทั่วประเทศหลวงปู่ธรรมรังษีเห็นเป็นโอกาสที่จะได้เผยแพร่ แนวทางปฏิบัติให้กว้างขวางได้มากยิ่งขึ้น จึงได้รับปากไปปฏิบัติภารกิจในช่วงที่มีการฝึกอบรมที่สำนักวัดบุญศรีมุนีกร เป็นเวลา ๒ ปี จึงกลับมาจำพรรษาอยู่กับพระครูภาวนาประสุต อีกครั้ง

พ.ศ. ๒๕๒๒ หลวงปู่ธรรมรังษีท่านเดินธุดงค์ไปภาคใต้ จรดถึงภาคเหนือของไทย ลัดเลาะไปยังพม่า และสปป.ลาว เรื่อยมาเมื่อครั้งหลวงปู่ท่านได้รู้จักพระมหาพันธ์ สีลวิสุทโธ (พระครูภาวนาวิสุทธิญาณ) เจ้าอาวาสวัดนิรมิตวิปัสสนา รองเจ้าคณะอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย หลวงปู่ธรรมรังษีท่านได้มีโอกาสไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่วัดเนรมิตวิปัสสนาแห่งนั้น อีกทั้ง หลวงปู่ธรรมรังษีท่านเข้านิโรธสมาบัติตลอด ๑๕ วัน (นั่งสมาธิตลอดเวลาไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ลืมตา ไม่ฉันอาหาร น้ำ โอสถ ไม่ขับถ่าย) ซึ่งหาพระสงฆ์ปฏิบัติได้เหมือนท่านถือว่าเป็นเรื่องยากในยุคปัจจุบัน แลหลวงปู่ธรรมรังษีท่ายได้มีโอกาสเพิ่มพูนบารมีให้แกร่งกล้ายิ่งขึ้นเป็นเวลาเกือบ ๓ ปี

พ.ศ. ๒๕๒๕ เจ้าคณะอำเภอคูเมือง ที่พยายามเสาะแสวงหาพระวิปัสสนาจารย์ที่มีอภิญญาญาณเพื่อไปอบรมเผยแผ่ธรรมให้กับคณะสงฆ์ในอำเภอคูเมือง จึงได้มาพบกับหลวงปู่ธรรมรังษี ก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงได้อาราธนาให้ท่านมาเป็นพระวิปัสสนาจารย์ดังกล่าว นับเป็นโอกาสดี และประจวบเหมาะอย่างยิ่งท่านพิจารณาเห็นว่าการปฏิบัติธรรมตามแนวทางวิปัสสนา กัมมัฏฐาน หากไม่มีการเผยแผ่ก็จะไม่สามารถสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนถาวรได้เลย เมื่อมีความคิดเห็นเช่นนี้หลวงปู่ธรรมรังษีท่านจึงรับคำอาราธนาของท่านเจ้าคณะอำเภอคูเมือง โดยได้มาพำนักประจำที่สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานของอำเภอคูเมือง ณ.วัดบ้านปะเคียบ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ในเวลาต่อมาทั้งคณะสงฆ์ และชาวบ้านต่างได้สัมผัสและรับปฏิบัติตามแนวทางของหลวงปู่ธรรมรังษี เกิดความเลื่อมใสและศรัทธามาฝึกปฏิบัติกันไม่ขาดสาย

พ.ศ. ๒๕๒๖ ท่านพระครูประภัศร์คณารักษ์ (จันทร์ ปภัสสโร) เจ้าคณะอำเภอท่าตูมในสมัยนั้น ได้พบหลวงปู่ธรรมรังษีหลังจากรู้จักกันไม่นานท่านพระครูประภัศร์คณารักษ์จึง นิมนต์หลวงปู่ท่านไปดูสถานที่ป่าหนาทึบแห่งหนึ่งห่างจากอำเภอท่าตูมไม่ไกลนัก เมื่อหลวงปู่ธรรมรังษีได้เดินทางมาถึงดูสถานที่แห่งนี้ท่านเกิดความปิติ โสมนัสเป็นอย่างมาก หลวงปู่ได้เอ่ยว่า... “ สถานที่แห่งนี้มีความคุ้นเคยกันมาก่อน “ แล้วท่านก็ยิ้มแล้วพูดอีกครั้งว่า “ ฤาษีธรรมรังษี อาตมาเป็นฤาษีพนมดิน “ หลวงปู่ธรรมรังษีจึงรับปากกับพระครูประภัศร์คณารักษ์ โดยไม่ลังเลแม้แต่น้อยที่จะบุกเบิกสร้างป่าหนาผืนนี้ให้เป็น วัดพระพุทธบาทพนมดิน สถานที่ปฏิบัติธรรมให้รุ่งเรืองหลวงปู่ธรรมรังษีจึงได้อำลาญาติโยมชาวคูเมืองท่ามกลางความอาลัยของชาวบ้าน และจังหวัดใกล้เคียงเป็นอย่างมาก หลวงปู่ธรรมรังษีขอให้ความสัมพันธ์ของพี่น้องชาวบ้านอำเภอคูเมืองกับพี่น้อง อำเภอท่าตูม จงอย่าได้ขาดจากกันหลวงปู่ท่านขอเป็นผู้เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ของพี่น้องทั้งสองนี้ การจากมาของหลวงปู่ธรรมรังษีในครั้งนั้นมีภิกษุสามเณร แม่ชี พราหมณ์ และอุบาสกอุบาสิกาติดตามมาด้วยความผูกพันเลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก แม้จะไม่มีกุฏิให้พักอาศัยเลยแม้สักหลัง จะมีก็เพียงผืนป่าที่มีงูและยุงมากมาย ศิษยานุศิษย์ทั้งหลายเหล่านั้นเต็มใจอยู่ปรนนิบัติรับใช้ปฏิบัติธรรม ร่วมเป็นร่วมตายกันต่อไป แม้กุฏิหลวงปู่ธรรมรังษีเองท่านก็ไม่มี ในสมัยนั้นยามค่ำคืนวันหนึ่งมีสามีภรรยาสูงวัยคู่หนึ่งอาศัยอยู่หมู่บ้านลุงปุง ได้เดินทางตามถนนหลัก ท่าตูม-สุรินทร์ สองข้างฝั่งเป็นป่าหนาทึบ ได้เกิดสีลำแสงสว่างจ้าสีฟ้าครามลูกใหญ่ในป่าหนาทึบนั้น พุ่งเป็นปล่องทะยานขึ้นตรงบนท้องฟ้าสูงจนลับตา ทั้งสองจึงตัดสินใจเดินเข้าไปดูที่กำเนิดลำแสงนั้น บริเวณตำแหน่งที่ลำแสงส่องท้องฟ้านั้นกลับพบพระสงฆ์รูปหนึ่งนั่งสมาธิ อยู่บนแคร่ไม้ไผ่เล็กๆ อยู่ในท่ามกลางป่าหนาทึบ ไม่มีอะไรเลยนอกจากเครื่องอัฏฐะบริขารเพียงน้อยนิด จึงทราบภายหลังว่าพระสงฆ์รูปนั้นท่านมีชื่อว่า หลวงปู่ธรรมรังษี ด้วยบารมีธรรมอันแกร่งกล้า และด้วยเมตตาธรรมอันเปี่ยมล้นของหลวงปู่ธรรมรังษี สามารถทำให้วัดพระพุทธบาทพนมดินได้สำเร็จดังเจตนารมณ์ของคณะสงฆ์ ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนอำเภอท่าตูม ได้ดังที่หวังไว้หลวงปู่ธรรมรังษีท่านได้ตั้งใจอยู่พัฒนาบุกเบิกเป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานสร้างศาลาการเปรียญ เสนาสนะและสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมจนเจริญรุ่งเรืองดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หลวงปู่ท่านได้ปรับปรุงก่อสร้างกุฏิสงฆ์ โดยมีกุฏิสงฆ์และผู้มาปฏิบัติธรรมไม่น้อยกว่า ๕o หลัง หอสวดมนต์ พระอุโบสถ รั้วคอนกรีตรอบวัด ประตูวัด บูรณปฏิสังขรณ์อาคารต่างๆ ทั้งของวัดและของส่วนราชการอีกมากมาย บริเวณวัดสะอาดเป็นระเบียบและดูร่มรื่นและสวยงาม

เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปในคนชาวสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียง เมื่อสงครามสงบทางการประเทศกัมพูชาได้ นิมนต์ขอให้หลวงปู่ธรรมรังษีกลับไปดำรงค์ตำแหน่งพระสังฆราช แห่งประเทศกัมพูชา แต่ท่านได้ปฏิเสธไป เพราะหลวงปู่ท่านต้องการอยู่ที่ประเทศไทย และหลวงปู่ธรรมรังษีเป็นที่เลื่อมใสและศรัทธาของชาวอีสานใต้และภาคใกล้เคียง เป็นอย่างมาก หลวงปู่ธรรมรังษีท่านจึงขอรับสมณศักดิ์ทางการประเทศกัมพูชา ในพระยศสมณะศักดิ์ชั้นธรรม เพียงเท่านั้น

วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๕ หลวงปู่ธรรมรังษี เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชพระสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี ที่ประเทศกัมพูชารับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ “ พระธรรมวิริยาจารย์ กัมพูชา ”

คณะสงฆ์จังหวัดสุรินทร์ โดยพระเดชพระคุณพระเทพปัญญาเมธีเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ได้เกื้อกูลหลวงปู่ธรรมรังษีอันเป็นเนื้อนาบุญของจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดใกล้เคียง จึงได้มอบความไว้วางใจให้กับหลวงปู่ธรรมรังษีเป็นพระฐานานุกรรมเจ้าคณะจังหวัด “ พระครูสังฆรักษ์ สุวัฒน์ จันทสุวัณโณ ”

วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ เนื่องในวโรกาสอันเป็นวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชมหาราช ด้วยความเมตตาของพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ หลวงปู่ธรรมรังษีได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ “ พระครูมงคลธรรมวุฒิ ” โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกี่ยว อุปเสโน

วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๗ สถาบันราชภัฏสุรินทร์ ขอพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ครุศาสตร์บัณฑิต โปรแกรมวิชาจิตวิทยาและการแนะแนว ถวายแด่ พระครูมงคลธรรมวุฒิ ในปีการศึกษา ๒๕๔๖

วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ “ พระมงคลรังษี ” สร้างความปลาบปลื้มใจให้แก่บรรดาศิษยานุศิษย์และผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาอย่างมาก

วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ เวลา ๒๒.๔๘ น. เป็นวันที่ทุกคนต้องเศร้าสลดในการจากไปของท่านก็มาถึง หลวงปู่ท่านละสังขารด้วยโรคชรา ที่ รพ.วิชัยยุทธขณะเข้ามารักษาอาการอาพาธ สิริอายุ ๘๗ ปี ๖๘ พรรษาสังขารของหลวงปู่ธรรมรังษี บรรจุโลงแก้ว ในปราสาทศิลปะเขมร ณ.วัดพระพุทธบาทพนมดิน อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์สังขารหลวงปู่ท่านไม่เน่าเปื่อยแม้สังขารของท่านจะดับขันธ์ไปแล้วก็ตามแต่ “ พระมงคลรังษี ” ยังคงส่องแสงรังสีธรรมแห่งมงคลอยู่ในใจของญาติโยมศิษยานุศิษย์ทั่วประเทศตลอดไป

จริยาวัตร
หลวงปู่ธรรมรังษีเป็นผู้มีจิตใจดี เปี่ยมล้นด้วยความเตตา ใฝ่ร่ำเรียนอยากที่จะศึกษาเรียนรู้เรื่องการปฏิบัติจิตอยู่เสมอ พูดน้อย นอนน้อย ฉันน้อย ฉันเจ ตั้งแต่พรรษาแรกที่ครองศีลเคร่งครัดในการปฏิบัติ ศึกษาพระธรรมวินัยสิกขาบทเจริญกรรมฐานอย่างสม่ำเสมอ หลวงปู่ท่านจึงมีชื่อเสียงในด้านวิปัสสนาเป็นอย่างมาก หลวงปู่ธรรมรังษีท่านเป็นพระที่เปรียบได้ว่ามีเมตตาธรรมชั้นสูงเหลือเกิน ไม่เลือกชั้นวรรณะ คนรวย คนจน ต่ำหรือสูงศักดิ์ ให้ความเมตตาเท่าเทียมกัน ท่านมีจริยาวัตรอันงดงาม ตลอดชีวิตหลวงปู่ท่านพูดน้อยมาก ยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา ไม่เคยดุด่าว่ากล่าว ไม่เอ่ยคำกระทบจิตใจ ให้ผู้ใดขุ่นข้องหมองใจ ทั้งต่อหน้าหรือลับหลัง กิริยางดงามวางเฉย  ไม่ยึดถือทรัพย์สิน เงินทองเป็นของท่าน ปฏิบัติดั่งสายวัดป่าอย่างเคร่งครัด ชาวบ้านและเหล่าศิษยานุศิษย์ต่างทราบกันดี รวมถึง สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกี่ยว อุปเสโน , หลวงปู่ท่อน ญาณธโร ฯลฯ ต่างก็มีความเคารพและศรัทธาเลื่อมใสในหลวงปู่ธรรมรังษีเป็นอย่างสูง หลวงปู่ธรรมรังษีท่านเป็นพระสุปฏิปัณโณอย่างแท้จริง

 

ข้าพเจ้า เม พนมดิน คัดลอกจากหนังสือ " ธรรมรังษี ส่องสว่าง กลางพนมดิน "  บางส่วนไว้เพื่อเป็นวิทยาทานต่อไป

 

http://www.web-pra.com/Shop/Dhammarangsri

 

 

ประวัติหลวงปู่ธรรมรังษี  จังหวัดสุรินทร์ " ท่านเจ้าคุณสองแผ่นดิน "
ประวัติหลวงปู่ธรรมรังษี  จังหวัดสุรินทร์ " ท่านเจ้าคุณสองแผ่นดิน "
Top