ประวัติ หลวงพ่อแดง ติสฺโส วัดแหลมสอ เกาะสมุย สุราษฏร์ธานี พอสังเขป - webpra

ประวัติ หลวงพ่อแดง ติสฺโส วัดแหลมสอ เกาะสมุย สุราษฏร์ธานี พอสังเขป

บทความพระเครื่อง เขียนโดย หลวงเอกสมุย

หลวงเอกสมุย
ผู้เขียน
บทความ : ประวัติ หลวงพ่อแดง ติสฺโส วัดแหลมสอ เกาะสมุย สุราษฏร์ธานี พอสังเขป
จำนวนชม : 15470
เขียนเมื่อวันที่ : อ. - 03 ม.ค. 2555 - 23:31.48
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)

หลวงพ่อแดง ติสฺโส เป็นบุตรของ นายแก้ว-นางอ่อน ทองเรือง เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะโรง พ.ศ.๒๔๓๔ ที่บ้านเขาปุก ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีพี่น้องด้วยกัน ๔ คน หลวงพ่อแดงท่านเป็นลูกคนที่สองของครอบครัว เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี (ประมาณ พ.ศ.๒๔๕๕-๒๔๕๖)บิดามารดาผู้มั่นคงในพระพุทธศาสนา เห็นว่าลูกชายสมควรที่จะได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ท่านได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสำเร็จ โดยมี พระครูวิบูลธรรมสาร (เพชร ติสฺโส) เป็นพระอุปัฌชาย์ พระครูทีปาจารคุณารักษ์ (รักษ์ อินฺทสุวณฺโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ทับ วัดแจ้ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อบวชแล้วก็เคร่งครัดต่อพระวินัย เอาใจใส่ในกิจวัตร ตามหน้าที่ของพระใหม่จะพึงกระทำ อยู่เป็นพระได้ ๒ พรรษา ก็มีเหตุบังเอิญให้เป็นโรคผิวหนังคันไปทั้งตัว รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย ท่านจึงตัดสินใจลาสิกขาเพื่อออกไปรักษาในเพศฆราวาส เมื่อรักษาหายแล้ว บิดามารดาเห็นว่าลูกชายได้บวชเรียนแล้วควรมีเหย้ามีเรือนต่อไป จึงได้สู่ขอ น.ส.แปลก บุตรสาวของนายเพชร-นางเหลือ ชาวบ้านสระเกศให้มาเป็นภรรยาท่าน เมื่อทำการสมรสเรียบร้อยแล้วอยู่กินกันมาเป็นเวลาประมาณ ๙ เดือนเศษ ก็มีเหตุให้ท่านต้องแยกทางกัน ภายหลังหย่าร้างอยู่ระยะเวลาหนึ่ง บิดามารดาก็เกลี้ยกล่อมให้ท่านมีครอบครัวใหม่(เพื่อมีบุตรหลานสืบสกุลตามธรรมดาของวิสัยชาวบ้านโดยทั่วไป แต่ด้วยจิตใจที่ไฝ่ในธรรม ท่านได้ปฏิเสธความประสงค์ของบิดามารดา ในที่สุดหลังจากได้ออกมาครองเพศฆราวาสยังไม่ถึง ๑ ปี ท่านก็ได้สละเพศคฤหัสถ์เข้าวัดบรรพชาอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง ณ พัทธสีมาวัดสำเร็จโดยมี พระครูวิบูลธรรมสาร (เพชร วชิโร) วัดอัมพวัน เกาะพงัน อดีตเจ้าคณะอำเภอเกาะสมุยรูปที่ ๒ เป็นพระอุปัฌชาย์ พระครูทีปาจารคุณารักษ์ (รักษ์ อินฺทสุวณฺโณ วัดประเดิม ภายหลังเป็นเจ้าคณะอำเภอเกาะสมุยรูปที่ ๓)และ พระอาจารย์ทับ วัดแจ้ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า"ติสฺโส" หลังจากท่านได้อุปสมบทแล้วก็ได้ติดตามพระอุปัฌชาย์(หลวงพ่อเพชร วชิโร)ไปอยู่ที่เกาะพงัน เพื่ออบรมสมถวิปัสสนากรรมฐาน รวมทั้งอุปัฏฐากอุปัฌชาย์อาจารย์ตามหน้าที่ของบรรพชิตผู้บวชใหม่ เป็นเวลาประมาณ ๗ เดือน จึงได้ลากลับมาพำนักอยู่ที่วัดสำเร็จ ภายหลังเห็นว่าที่พำนักสงฆ์เขาเล่เป็นที่สงบสงัดเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม จึงได้ออกจากวัดสำเร็จมาพำนักที่พำนักสงฆ์เขาเล่เป็นเวลาหลายปี (เขาเล่สร้างมาตั้งแต่ประมาณสมัยรัชกาลที่ ๕ และเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่สมเด็จพระปิยมหาราชเคยเสด็จประพาสแหลมมลายู คราว ร.ศ.๑๐๗และ ร.ศ.๑๐๘) ต่อมาวัดท้องกรูด(วัดสันติวราราม) เกิดขาดเจ้าอาวาส อุบาสกอุบาสิกาจึงพร้อมใจกันมานิมนต์ท่านไปอยู่ ท่านเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมจึงรับนิมนต์ ท่านมาอยู่ที่วัดท้องกรูดเป็นเวลาหลายปี จนพระอุปัฌชาย์มอบหมายให้ทำหน้าที่พระอนุสาวนาจารย์ในการบวชกุลบุตร ท่านได้ทำหน้าที่อยู่หลายปี และสิ่งต่างๆที่ท่านได้สร้างขึ้นก็มีหลายอย่างเช่น โรงอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิที่อยู่ เป็นต้น ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดท้องกรูด (วัดสันติวราราม) อยู่ประมาณ ๗ ปี ก็เกิดเบื่อหน่ายในภารกิจวงจรชีวิตของสมภาร โอกาสที่จะบำเพ็ญสมณธรรมลดน้อยลง จึงได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส มุ่งหน้าหาความวิเวกสงบสงัดเป็นที่ตั้ง สถานที่ต่างๆที่ท่านได้จาริกธุดงค์ไปอยู่เช่นถ้ำยายละไม (ที่ซึ่งท่านและหลวงพ่อแดง วัดคุณาราม ได้ไปฝึกวิปัสสนากรรมฐานจากพระครูประยุตธรรมโสภิต(ทองไหล ผลผลา) อดีตเจ้าอาวาสวัดละไม) แหลมสอ แหลมเสร็จ น้ำรอบ วัดโพธิ์แหลมสอ วัดโพธิ์บ้านทะเล ท้องตะโหนด ตรอกยวน รูเหล็ด วัดพระคอหัก เกาะแตน เกาะมัดสุม เกาะราบ เกาะฟาน เป็นต้น เมื่อท่านปลดเปลื้องสิ่งที่หนักลงจากบ่าแล้ว หลวงพ่อแดงท่านได้สร้างเรือใบขนาดเล็กขึ้นมาลำหนึ่ง ท่านได้อาศัยเรือลำนี้ ข้ามท้องทะเลอันกว้างใหญ่ เที่ยวธุดงค์รอนแรมหาความวิเวก ฝึกจิตใจให้เหนือวิสัยแห่งโลก อยู่ตามเกาะต่างๆรอบอาณาบริเวณเกาะสมุย บางครั้งก็ธุดงค์ขึ้นไปบนแผ่นดินใหญ่หรือไปบกบ้าง เมื่อหลวงพ่อแดง มาพำนักอยู่แถวริมทะเลใกล้เขาพระเจดีย์[เจดีย์แหลมสอเดิมตั้งอยู่บนเขา ใกล้กับวัดแหลมสอในปัจจุบัน ท่านพระครูวิบูลธรรมสาร (เพชร ติสฺโส)เป็นผู้สร้าง ปรมาณต้นปี พ.ศ.๒๔๕๑ ใช้เวลาสร้างประมาณ ๒ ปี จึงแล้วเสร็จ หลังจากหลวงพ่อเพชร ติสฺโส มรณภาพลง เขาพระเจดีย์ก็รกร้างอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ต่อมาอาจเนื่องมาจากไม่มีสายล่อฟ้า จึงเกิดฟ้าผ่าลงต้องเจดีย์ ทำให้พระเจดีย์ชำรุด] เมื่อหลวงพ่อแดง มาพำนักอยู่แถวริมทะเลใกล้เขาพระเจดีย์ โดยระยะแรกท่านได้สร้างโบสถ์น้ำ ณ สถานที่ใกล้ๆกับที่ตั้งเจดีย์วัดแหลมสอ ในปัจจุบัน แต่ตอมาน้ำทะเลได้พัดเอาทรายมาถมคลองริมทะเล ทำให้ขาดคุณสมบัติของอุทกุกเขป หรือที่เรียกกันว่า "โบสถ์น้ำ"ทำให้ต้องยกเลิกอพัทธสีมา ท่านจึงหันไปพัฒนาบริเวณที่ตั้งวัดแหลมสอในปัจจุบันจนมีถาวรวัตถุ เสนาสนะพอประมาณแก่การปฏิบัติศาสนกิจ ด้วยเหตุแห่งความกตัญญูกตเวทีของท่าน ที่พยายามดำเนินรอยตามบุรพชนในทางที่ชอบที่ควร ไม่ดูถูกเหยียดหยามในสิ่งที่อุปัฌชาย์อาจารย์ทำไว้ แต่กลับต่อเติมเสริมสร้างให้ดีขึ้น ดังนั้นเมื่อเจดีย์บนเขาที่หลวงพ่อเพชร ติสฺโส ได้สร้างไว้เกิดชำรุดจนเสียสภาพไป ท่านมิได้นิ่งนอนใจยอมลงทุนลงแรงปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ขึ้นมาใหม่ แต่ด้วยภูมิลักษณ์ จึงได้ย้ายจุดก่อสร้างเจดีย์องค์ใหม่มาอยู่ริมทะเล ใกล้บริเวณที่เคยเป็นอุทกุกเขปหรือโบสถ์น้ำเดิม(พระเจดีย์องค์ปัจจุบัน)เมื่อสร้างเสร็จก็ได้อันเชิญพระบรมธาตุที่พ่อท่านขิก ชาวท่าฉาง ถวายให้หลวงพ่อเพชร ติสฺโส จากเจดีย์องค์เดิมอันชำรุดบนเขาพระเจดีย์มาบรรจุไว้ในเจดีย์องค์ใหม่ด้วย ปัจจุบัน เจดีย์แหลมสอ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเกาะสมุย ที่บรรดานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและเทศ ผู้มาเยือนเกาะสมุย มักหาโอกาสไปเยี่ยมชมนมัสการอยู่เสมอ/ หลวงพ่อแดง ติสฺโส แม้ท่านจะเป็นพระแนวสมาธิภาวนาถือธุดงควัตร มหาสติปัฏฐาน แต่ท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธการสร้างวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังโดยสิ้นเชิง วัตถุมงคลของท่านเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เท่าที่นิตยสารพระเครื่องต่างๆได้นำเสนอก็มีเพียงประมาณ ๕-๖ อย่างเท่านั้น ทั้งๆที่ในช่วงที่หลวงพ่อท่านดำรงอยู่นั้น ได้จัดสร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่างด้วยกัน เช่น ๑)ลูกอมหรือลูกไม้(สร้างจากอิทธิเจ คลุกคลีมวลสารและสิ่งยึดเนื้อใส่เส้นผม(เกศา)ของท่านและเศาจีวรของท่าน ปั้นเป็นก้อนกลมๆแล้วปลุกเสกแจก พอหมดก็ทำใหม่ปลุกเสกใหม่แจกไปเรื่อยๆ) ๒)หินรูเหล็ต หรือ ปถวีธาตุ เป็นก้อนหินในธรรมชาติที่มีลักษณะแตกต่างจากหินทั่วไปและอยู่ในสถานที่เร้นลับ นำมาปลุกเสกแล้วแจกจ่าย เพื่อป้องกันตัว กันคุณไสย์ ๓)ทรายเสก ในสมัยก่อนเมื่อใครสร้างบ้านใหม่ๆก็จะมาขอท่านเพื่อนำไปโรยรอบๆบ้าน สำหรับป้องกันสิ่งอัปมงคลต่างๆ (บางบ้านก็ยังเก็บไว้บนหิ้งจนถึงปัจจุบัน) ๔) ภาพถ่ายของท่านมีหลายแบบหลายขนาด ทั้งแบบห้อยคอและแบบบูชาติดบ้าน ๕)ผ้ายันต์ ทั้งแบบเขียนมือ(จารมือ) และแบบปั้มในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ที่ระลึกเขาเล(ผ้ายันต์น้ำรอบ) ๖)ตะกรุด ตามที่ทราบมาส่วนมากท่านสร้างออกแจกจ่ายผู้ใกล้ชิด แต่มีปริมาณน้อยมาก ส่วนโลหะที่นำมาสร้างนั้น มีทั้งทองแดง ตะกั่ว หรือเนื้อพิเศษที่ผู้ที่มาขอนำมาให้ท่านทำตะกรุดให้ ๗)เหรียญรุ่นแรก ลักษณะทรงกลม รูปหลวงพ่อแดงห่มคลุม พาดสังฆาฏิ นั่งสมาธิ ใต้รูปเขียนว่า "หลวงพ่อแดง"ด้านหลังยันต์สี่ ภายใต้ยันต์เขียนว่า "วัดแหลมสอ"จำนวนสร้างประมาณ ๕,๐๐๐ เหรียญ ๘)รูปเหมือนมีกริ่งรุ่นแรก(แข้งใหญ่-แข้งเล็ก) สร้างพร้อมกับเหรียญรุ่นแรก ลักษณะรูปท่านห่มคลุม พาดสังฆาฏิ นั่งสมาธิบนอาสนะแท่ง กลางอาสนะ เขียนว่า"หลวงพ่อแดง" และด้านหลัง มีอักขระตัว"นะ"อยู่กึ่งกลาง จำนวนการสร้างประมาณ ๑,๐๐๐-๓,๐๐๐ องค์ ๙)เหรียญยืน(เหรียญยืนมี ๒ แบบ คือ แบบเหรียญ ๒๕ พุทธศตวรรษ จำนวนสร้างประมาณ ๑๐,๐๐๐ เหรียญ โดยแบ่งเป็นแบบรมดำและกะไหล่ทองอย่างละ ๕,๐๐๐ เหรียญ และแบบรียาว จำนวนสร้างเท่ากัน มีทั้งรมดำและกะไหล่ทองเช่นเดียวกัน ๑๐)รูปเหมือนรุ่นพิเศษ สร้างในปี พ.ศ.๒๕๑๔ จำนวนสร้างประมาณ ๓,๐๐๐-๕,๐๐๐ องค์ ๑๑)เหรียญเกาะสมุย สร้างปี พ.ศ.๒๕๑๗ ทรงเดียวกับเหรียญรุ่นแรก แต่ด้านหน้าเหรียญเขียนว่า"หลวงพ่อแดง ติสโส" ด้านหลังเหรียญเขียนว่า"เกาะสมุย ๑๒)เหรียญครึ่งองค์(รุ่นสร้างเจดีย์) รุ่นนี้สร้างในปี พ.ศ.๒๕๑๔ โดยข้าราชการสังกัดกรมที่ดินขออนุญาตจัดสร้างเพื่อแจกจ่ายญาติมิตร โดยใช้ภาพถ่ายตอนหนุ่มของท่านเป็นต้นแบบ ครึ่งองค์ ห่มเฉวียงบ่า ไม่พาดสังฆาฏิ ใต้รูปเขียนว่า"หลวงพ่อแดง ติสโส" ด้านหลังยกขอบนูนเล็กน้อย กึ่งกลางเป็นยันต์นะทรงแผ่นดิน ใต้ยันต์เขียนว่า"รุ่นสร้างเจดีย์เกาะสมุย ๒๕๑๔" ๑๓)เหรียญเสมา"รุ่นอ่างเก็บน้ำ"เหรียญรุ่นนี้จัดสร้างประมาณปลายปี พ.ศ.๒๕๑๘ มีทั้งรมดำและกะไหล่ทอง ผู้ใหญ่ท่านนึงในเกาะสมุยได้ขออนุญาตจัดสร้างเพื่อแจกในงานมงคลสมรสและอีกส่วนนึงแจกแก่ผู้ร่วมทำบุญสร้างอ่างเก็บน้ำ เป็นเหรียญที่หลวงพ่อแดง ท่านปลุกเสกเช่นกัน ๑๔)เหรียญอิสวาสุ รูปไข่ วัดเขาเล่ สร้างในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ปสุกเสกเดี่ยวโดยหลวงพ่อแดงที่วัดเขาเล่ พร้อมกับผ้ายันต์พุทธจักร์(น้ำรอบ) ๑๕)เหรียญขวัญถุง ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ได้มีการนำเหรียญกษาปน์ชนิด ๒๕ และ ๕๐ สตางค์ ที่ทางวัดเขาเล่ได้รับบริจาคมาเป็นจำนวนมาก ให้หลวงพ่อปลุกเสกเดี่ยว แล้วแจกเป็นเงินขวัญถุง แต่เนื่องจากทางวัดเขาเล่ไม่ได้ทำการตอกโค๊ตในเหรียญ ทำให้ขาดจุดจำแนกเหรียญ ๑๖)รูปเหมือนบูชา สร้างในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ลักษณะ หลวงพ่อนั่งในท่าพับเพียบ เนื้อทองเหลือง สร้างจำนวน ๒๐๐ องค์ หลวงพ่อแดงได้ลงอักขระเลขยันต์ในแผ่นเงิน แผ่นทองที่ใช้เป็นส่วนผสมในการทำ แต่ขณะทำการหล่อไม่แล้วเสร็จ หลวงพ่อแดงก็ได้มรณภาพเสียก่อน ท่านจึงไม่ได้ปลุกเสก แต่ด้วยเหตุที่ท่านทราบการสร้างแล้ว ศิษยานุศิษย์จึงเชื่อว่าเหมือนกับท่านได้ปลุกเสกแล้ว ขลังศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน(ในการนี้ได้นิมนต์พระเกจิอาจารย์ซึ่งเป็นที่นับถือศรัทธาของสาธุชนมาทำพิธีปสุกเสกประสิทธิคุณ อาทิเช่น หลวงพ่อจ้อย วัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ หลวงพ่อขขวัญ วัดท้องอ่าว เป็นต้น) หลวงพ่อแดงท่านมรณภาพ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ฑ.ศ.๒๕๑๙ ด้วยเรือโดยสาร(เรือนอน) เกิดล่มกลางทะเล(ดั่งคำที่ หลวงพ่อเพชร วัดอัมพวัน อาจารย์ของท่านพูดว่า"ถึงคุณแดงจะเก่งอย่างไร ก็ดับทางน้ำ" ขณะมรณภาพ หลวงพ่อแดง มีอายุ ๘๕ ปี ๕๙ พรรษา

ประวัติ หลวงพ่อแดง ติสฺโส วัดแหลมสอ เกาะสมุย สุราษฏร์ธานี พอสังเขป
Top