พระแผ่นดุนเงิน - พระแผ่นดุนทอง กรุ(รถ)แบล็คโคล อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย - webpra

พระแผ่นดุนเงิน - พระแผ่นดุนทอง กรุ(รถ)แบล็คโคล อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย

บทความพระเครื่อง เขียนโดย T-chaiwong

T-chaiwong
ผู้เขียน
บทความ : พระแผ่นดุนเงิน - พระแผ่นดุนทอง กรุ(รถ)แบล็คโคล อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
จำนวนชม : 7783
เขียนเมื่อวันที่ : จ. - 11 เม.ย. 2554 - 13:13.06
แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ : จ. - 23 พ.ค. 2554 - 07:29.47
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)

พระแผ่นดุนเงิน - พระแผ่นดุนทอง กรุ(รถ)แบล็คโคล อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย 

ชาติ สุโข 

  

         งานบุดุนโลหะ ถือเป็นงานช่างประณีตศิลป์อีกอย่างหนึ่งของไทย ที่มีลักษณะเป็นการตกแต่งผิวภายนอกของศิลป-วัตถุ และสถาปัตยกรรมให้เกิดความงาม มีคุณค่า และคงทนถาวร ในสมัยโบราณ ช่างบุ ได้ถูกจัดให้เป็นช่างหลวงอยู่ในจำพวกช่างสิบหมู่ คือ ช่างประเภทที่ทำการบุดลหะให้แผ่ออกเป็นแผ่นบางๆ แล้วนำไปหุ้มคลุมปิดเข้ากับ หุ่น ชนิดต่างๆ เพื่อปิดประดับทำเป็นผิวนอกของหุ่น ที่อาจทำด้วยวัตถุต่างๆ ซึ่งจะรวมถึงการดุนให้เกิดลวดลายประดับที่สวยงามด้วย 

 

         ตัวอย่างของงานบุดุนโลหะ ได้แก่ งานบุพระสถูปเจดีย์ บุเครื่องลำยองประกอบหน้าบัน, บุหัวเสา, บุพระแท่น, ราชบัลลังก์, บุบุษบก, บุพระพุทธรูป และบุพระพิมพ์ เป็นต้น งานบุ-ดุนโลหะของไทยนั้นได้มีหลักฐานทางศิลปวัตถุยืนยันว่ามีมานานแล้ว ดังปรากฏหลักฐานที่เก่าแก่ ย้อนหลังกลับไปถึงสมัยทวาราวดี เช่น เศียรพระพุทธรูปบุทองคำศิลปะ ทวาราวดี หรือแผ่นดุนรูปพระวิษณุ ที่พบที่เมือง ศรีเทพ, แผ่นเงินรูปพระพุทธเจ้า พบที่ จ.ขอนแก่น หรืองานหล่อดุน สัมฤทธิ์ในศิลปะแบบหริภุญชัย เป็นต้น

 

         สำหรับงานบุดุนในศิลปะสุโขทัย ส่วนใหญ่ที่พบในเขต จังหวัดกำแพงเพชร - สุโขทัย - พิษณุโลก จะพบในลักษณะของ พระพิมพ์ว่าน-หน้าเงิน, ว่านหน้าทอง, ว่านหน้านาค และอีกส่วนหนึ่งจะพบเพียงเฉพาะ แผ่นดุนเงิน หรือ ดุนทอง เท่านั้น เข้าใจว่าน่าจะมีการทำเตรียมไว้สำหรับอุด ว่านประการหนึ่ง และ บรรจุลงกรุโดยไม่อุดว่านอีกประการหนึ่ง ซึ่งจะพบ โดยทั่วไปตามกรุ ต่างๆ แต่ สำหรับที่สุโขทัยที่มีการพบมากได้แก่ กรุวัดพญาดำ, กรุวัดเจดีย์เจ็ดแถว, กรุวัด ช้างล้อม, กรุเขาพระบาทน้อย อ.ศรีสัชนาลัย, กรุวัดเจดีย์สูง ที่เมืองเก่าสุโขทัย ซึ่งพบทั้งประเภทบุ และประเภทดุน เช่น พิมพ์เปิดโลก เป็นต้น นอกจากนั้นยังพบ อีกหลายๆ วัดที่ไม่ได้กล่าวถึง ณ ที่นี้

 

         สำหรับพระกรุ(รถ)แบล็คโคล ซึ่งในตอนแรกตัวผมเองได้ยินก็งงๆ อยู่เหมือนกันว่า ชื่อกรุอะไร และอยู่ที่ไหนกันแน่ แต่หลังจากสอบถามพวกค้าของเก่า และท่านผู้ใหญ่หลายๆ ท่าน ก็พอจะสรุปได้ว่า.. น่าจะเป็นบริเวณบ้านหนองช้าง อำเภอศรีสัชนาลัย และอยู่ไม่ไกลจากเขาพระศรีมากนัก ซึ่งเขาพระศรีนี้ก็เป็นแหล่งกำเนิดพระพิมพ์ที่มีชื่อมากมาย ซึ่งปัจจุบันพระพิมพ์หลายๆ พิมพ์แทบจะกลายเป็นตำนานไปแล้ว ปัจจุบันบริเวณหนองช้างได้มีการสร้างพระบรมราชาอนุสาวรีย์ ของพญาลิไท( พระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 5 พระโอรสพญาเลอไท และพระราชนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ) และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแหล่งหนึ่ง

 

         จากการพัฒนา และขุดลอกนี้เมื่อประมาณปี 2550 นี่เองเป็นเหตุให้ค้นพบพระแผ่นดุนเงิน - แผ่นดุนทอง ซึ่งจากคำบอกเล่า.. ว่ากันว่า..พบพระจำนวนมากมาย.. มหาศาล.. มากขนาดใส่ถุงปุ๋ยได้หลายถุงปุ๋ยเลยเลยทีเดียว และน่าแปลกตรงที่ว่าพบแต่พระชนิดนี้เท่านั้น ในส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะเป็นพันๆ ถึงหมื่นองค์ครับ

 

          แผ่นดุนที่พบมีทั้งแผ่นเงิน และแผ่นทอง ส่วนแผ่นนาคไม่แน่ใจว่ามีการพบหรือไม่ในกรุนี้ เพราะส่วนตัวผมเองได้แบ่งมาแต่แผ่นเงิน และแผ่นทองเท่านั้น ในระยะแรกพระส่วน ใหญ่ตกอยู่ในมือของชาวบ้านแถบตำบลศรีสัชฯ และตำบลท่าชัยนั่นเอง แต่ผู้ที่ได้พระชุดนี้มากที่สุดก็จะคงเป็นพวกรับเหมาขุดลอกนั่นเอง และพระอีกส่วนหนึ่งพร้อมกับพระบูชาที่ขึ้นพร้อมกันก็ ถูกนำเก็บเข้ากรมศิลป์ไปเป็นที่เรียบร้อย(..??) พิมพ์พระที่พบมีหลากหลายพิมพ์ เช่น พิมพ์ลีลา พิมพ์ลีลา ซุ้มง่อไก่(พิมพ์เดียวกับชินเงินที่พบบน เขาพนมเพลิง) พิมพ์นาง พิมพ์พระร่วงนั่ง พิมพ์พระร่วงนั่งเข่ากว้าง พิมพ์ พระร่วงยืนปางประทานพร ปางเปิดโลก พิมพ์พระแม่ย่า พระแบบศิลปะลพบุรี และอีกหลายๆ พิมพ์ เช่น พิมพ์หูยาน เป็นต้น

 

         ซึ่งบางพิมพ์ เป็นพิมพ์เดียวกับที่ขึ้นที่กรุวัดใหญ่ และกรุโรงทอ จังหวัดพิษณุโลก เสียด้วยซ้ำไป และบางพิมพ์ก็มีการพบที่ จังหวัดกำแพงเพชร เช่นกัน ซึ่งในส่วนตัวผมคิดว่าที่ ที่นี่อาจจะเป็นสถานที่จัดสร้างพระพร้อมกับ อุดว่าน หรือไม่อุดว่านก็ตามที จากนั้นจึงแบ่งนำไปบรรจุตามกรุ ตามวัดหัวเมืองต่างๆ ในอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยก็เป็น ได้ เพราะหากจะนับการขึ้น หรือการพบของพระประเภทนี้แล้ว จากคำบอกเล่า ของคนรุ่นเก่าที่เคยเป็นทั้งมือขุด, นักค้าของเก่า และผู้หลักผู้ใหญ่ที่เล่นสายพระกรุ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า นี้ อาจจะเป็นกรุใหญ่ที่สุด ของพระประเภท แผ่นดุนเงิน แผ่นดุนทอง ก็ว่าได้ อันนี้ต้องคิดเอาเองครับว่าจริงหรือเปล่าครับ

 

         ปัจจุบัน(ปี 2554)พระกรุนี้โดยเฉพาะแผ่นดุนทอง แถบจะไม่มีหลงเหลือให้เห็นในพื้นที่เลยครับ เท่าที่ทราบถูกได้ถูกนิมนต์เข้ากรุงหมด แถมย้ายกรุไปอยู่กรุดังๆ จังหวัดดังๆ เป็นที่เรียบร้อย ปัจจุบันยังพอหาได้ก็เฉพาะแผ่นดุนเงินเท่านั้น แถมราคาก็มึนน่าดูเหมือนกันครับ ส่วนการพิจารณาความเก่า-ใหม่ หรือเก๊-แท้ ผมคงอธิบายให้เข้าได้ยากอยู่สักหน่อย คงต้องอาศัยดูจากของจริงเป็นหลักมากกว่า เพราะ สำหรับแผ่นเงินสนิมคราบดำเกิดขึ้นไม่เท่ากัน เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ในกรุ ส่วนแผ่นทองก็ยิ่งแล้วใหญ่ เอาเป็นว่าใครดูเงินเก่าทองเก่าไม่เป็นก็จบ ส่วนของเก๊ส่วนใหญ่ก็มักจะทำจากแผ่นทองเหลือง หรือแผ่นฟอยล์ และก็เก๊เป็นลักษณะพระว่านหน้าเงิน ว่านหน้าทองเสียมากกว่าอันนี้คงต้องพิจารณาให้ดีๆ แต่ส่วนตัวผมแล้วแค่อยากให้รู้จักว่าพระกรุนี้มีอยู่ และถือได้ว่าพระประเภทนี้ เป็นเพชรประดับกรุเลยก็ว่าได้ เพราะลองนึกๆ ดูแล้วพระประเภทนี้ หรือประเภทมีว่านในปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยได้เห็นของแท้ๆ กันสักเท่าไร ที่เห็นกันส่วนใหญ่ ก็มีแต่เก๊ กับเก๊ทั้งนั้น ส่วนตัวจริงถูกนิมนต์เข้ารังใหญ่หมดแล้วครับ

 

ที่มาของเรื่อง

ขอขอบคุณ เหล่าผู้เฒ่ารุ่นเก๋า แห่งสวนจตุจักร ผู้หลักผู้ใหญ่ ณ ที่แผงพระท่ารถ อ.สวรรคโลก ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จักเป็นการ ส่วนตัวแต่ก็ได้ให้คำแนะนำต่างๆ มา ณ ที่นี้ และส่วนหนึ่งจากการลงพื้นที่จริงๆ รูปอื่นๆ สามารถชมได้เพิ่มเติมจากทางหน้าร้าน http://www.web-pra.com/Shop/TcSukhothai ขอบคุณครับ

 

แหล่งความรู้อื่นๆ ที่ได้คัดลอกบางส่วนมา

http://museum.socio.tu.ac.th/

http://www.oknation.net/blog/phaen/2007/09/06/entry-1

http://www.pinprapa.com/aticle33Blank.html

พระแผ่นดุนเงิน - พระแผ่นดุนทอง กรุ(รถ)แบล็คโคล อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
พระแผ่นดุนเงิน - พระแผ่นดุนทอง กรุ(รถ)แบล็คโคล อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
Top