ประวัติ ครูบาธรรมชัย - วัดทุ่งหลวง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ - webpra

ครูบาธรรมชัย

ประวัติ วัดทุ่งหลวง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

ครูบาธรรมชัย วัดทุ่งหลวง

ถ้าท่านออกเดินทางจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ ไปอำเภอฝางตามเส้นทางโชตนา จะผ่านอำเภอแม่แตง เลยที่ว่าการอำเภอแม่แตงไปไม่ไกลถึงหลัก กม.42 จะพบว่า มีสะพานคอนกรีตอยู่ตรงนั้น จงหยุดที่นั่นมองไปสุดปลายถนน จะเห็นถนนโค้งเลี้ยวขึ้นภูเขาหายลับไปในสายหมอก สู่แดนอำเภอเชียงดาวและฝางเป็นที่สุด ตรงหลัก กม.42 นี้ ถ้าท่านมองไปทางทิศตะวันตก จะเห็นมีทางแยกเข้าสู่หมู่บ้าน มีป้ายบอกไว้ว่า ทางเข้าวัดทุ่งหลวง ตำบลแม่แตง อำเภอแม่แตง วัดนี้แหละคือวัดที่ครูบาธรรมชัย จำพรรษาอยู่ !

คำสอนอาจารย์

ครูบาธรรมชัยเป็นพระปฏิบัติชอบ เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของประชาชน อย่างกว้างขวางอีกองค์หนึ่งแห่งถิ่นไทยงาม ท่านเป็นพระอาจารย์สายเดียวกันกับครูบาชุ่ม โพธิโก ครูบาคำแสน วัดสวนดอก ที่เคยเป็นศิษย์ใกล้ชิดครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งลานนาไทยมาก่อน

เมื่อปี พ.ศ. 2481 ขณะที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยป่วยหนักอยู่ ณ วัดจามเทวี ครูบาธรรมชัย และครูบาชุ่ม โพธิโก ได้ร่วมเฝ้ารักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิดทั้งกลางวัน กลางคืน ท่านครูบาทั้งสองผู้เป็นศิษย์ รู้ได้ด้วยญาณว่าพระอาจารย์ใหญ่ครูบาเจ้าศรีวิชัย เห็นจะไม่รอดแน่แล้วครั้งนี้ เพราะอาการป่วยหนักมีแต่ทรงกับทรุด สุดความสามารถของหมอจีน หมอไทย และหมอฝรั่งในสมัยนั้นจะเยียวยารักษา ท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยเอง ก็รู้ตัวว่าอาพาธครั้งนี้ท่านไม่รอดแน่ ๆ ท่านไม่เคยเกรงกลัวกับความตายเลย ไม่รังเกียจความตาย เพราะการที่มนุษย์เราตายไปนั้น เป็นเสมือนปิดบัญชีลูกหนี้เสียครั้งหนึ่งนั่นเอง

"คำสั่งสอนก่อนทิ้งสังขาร"

"ศิษย์ทั้งหลาย เราเห็นจะไม่รอดแน่ อาการครั้งนี้หนักนักขอทุกคนอย่าได้ทิ้งการงานที่เราทำไว้ จงช่วยกันจัดการก่อสร้างการบุญสุนทานแทนเราต่อไปเถิด " ครูบาเจ้าศรีวิชัยบอกกับครูบาชุ่ม และ ครูบาธรรมชัย ตลอดจนศิษย์ทุกคนในวันนั้น ด้วยเหตุนี้เอง ครูบาชุ่ม โพธิโก และครูบาธรรมชัย จึงได้ดำริมีความคิดเห็นตรงกันว่า ควรจะได้ว่าจ้างช่างมาปั้นรูปเหมือนท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย ไว้เป็นที่ระลึก สำหรับให้คณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ได้กราบไหว้บูชา ช่างได้ปั้นรูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างเร่งรีบ ขนาดเกือบเท่าองค์จริงแข่งกับเวลามรณภาพที่ใกล้เข้ามาทุกที เมื่อช่างปั้นรูปเหมือนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ครูบาชุ่มและครูบาธรรมชัยได้พร้อมใจกันกับคณะศิษย์ ยกเอารูปปั้นเข้าไปวางยังปลายเท้าครูบาเจ้าศรีวิชัยที่กำลังนอนอาพาธอยู่ จากนั้นก็นมัสการกราบเรียนให้ท่านทราบถึงวัตถุประสงค์ ในการปั้นรูปเหมือนของท่านขึ้นในครั้งนี้ ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้บอกให้ครูบาชุ่ม และครูบาธรรมชัยช่วยกันประคองร่างท่านลุกขึ้นนั่ง เมื่อท่านครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เห็นรูปปั้นของท่านแล้ว ท่านถึงน้ำตาเอ่อออกมาคลอดเบ้าด้วยความปิติยินดี น้ำตาค่อย ๆ ไหลลงอาบแก้ม ขณะที่ท่านได้ยื่นมือมาลูบไล้รูปปั้นของท่าน พลางพึมพำโมทนาว่า

"ขอให้ศิษย์ทั้งหลาย ให้ถือปฏิบัติบำเพ็ญความดีดังรูปปั้นนี้ให้ยึดมั่นในพระวินัย ให้มีเมตตากรุณาต่อประชาชนโดยเสมอหน้ากัน อย่าเลือกที่รักมักที่ชัง จงบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สาธารณะอบรมศรัทธาประชาชนให้อยู่ในศีลกินในธรรม ปกติประชาชนนั้นมีความดีอยู่ในตัวมากบ้างน้อยบ้างไม่เสมอกัน กิเลสตัณหาสิ่งแวดล้อม ทำให้พวกเขาหลงผิดคิดทำบาปอกุศลต่าง ๆ นานาไปตามอารมณ์อันรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จงพยายามสั่งสอนอบรมศรัทธาประชาชนให้เข้าใจถึงธรรมะความเป็นจริงของชีวิตในโลกนี้และโลกหน้าเถิด"

ครูบาชุ่ม และ ครูบาธรรมชัยก้มกราบรับเอาคำสั่ง ของพระอาจารย์ครูบาเจ้าศรีวิชัยใส่หัวใส่เกล้าด้วยความซาบซึ้งถึงใจ เวลานี้รูปปั้นเหมือนองค์นี้ยังคงประดิษฐานอยู่ ณ วัดวังมุย ตำบลประตูป่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ประชาชนเคารพบูชาเลื่อมใสมาก มีอภินิหารปรากฏอยู่เสมอ หลังจากถวายฌาปนกิจครูบาเจ้าศรีวิชัยแล้ว

ครูบาธรรมชัยได้กลับมาทำหน้าที่เป็นครูสอนโรงเรียนประชาบาล และครูสอนนักธรรมที่สำนักวัดป่าสัก และ วัดน้ำพุ สมัยนั้นครูสอนประชาบาลหายาก ทางศึกษาธิการอำเภอได้อาราธนาให้พระภิกษุสงฆ์ช่วยสอนหนังสือเด็ก ๆ ชาวบ้านด้วย เป็นการสอนฟรี ๆ ไม่ได้มีเงินเดือนอะไร ซึ่งครูบาธรรมชัยก็เต็มใจสอนให้ด้วยจิตอันเปี่ยมไปด้วยเมตตา มีความกรุณาสงสารเด็ก ๆ ชาวบ้าน ท่านสอนหนังสือและสอนนักธรรมเป็นเวลาถึง 9 ปี สอนนักธรรมได้นิตยภัตรปีละ 24 บาท

1) ประวัติครูบา

ครูบาธรรมชัย นามเดิมว่า กองแก้ว เมืองศักดิ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2457 ตรงกับเดือน 9 เหนือ ขึ้น 14 ค่ำ ปีขาลฉะศก ทางเหนือเรียกว่า ปีกาบยี่ รศ.133 จุลศักราช 1276 ถือกำเนิดที่หมู่บ้านสันป่าสัก หมู่ที่ 6 ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นบุตรของนายสุจา หรือหนามพรหมเสน มารดาชื่อนางคำป้อ บิดามารดามีอาชีพแพทย์แผนโบราณและช่างไม้ ทำสวน ทำนา มีพี่น้องร่วมท้องมารดาเดียวกัน 7 คน ท่านเคารพบูชาในบิดา มารดามาก เชื่อฟังคำสั่งสอนอยู่ในโอวาทของผู้บังเกิดเกล้าอย่างเคร่งครัด ท่านเป็นผู้มีนิสัยพูดจริง ทำจริง ไม่เหลาะแหละเหลวไหล สนใจในธรรมะ ชอบเข้าวัดเข้าวามาตั้งแต่เล็ก ๆ เพราะบิดาเคยบวชเรียนมาแล้วรอบรู้ในอรรถในธรรม จึงได้อบรมปลูกนิสัยลูกทุก ๆ คนให้ยึดมั่นในพระรัตนตรัย

ท่านได้เข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนประชาบาล ณ บ้านสันป่าสักจบชั้นประถมปีที่ ๓ มีความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนกิริยามารยาทเรียบร้อยมีความอุตสาหพยายามเป็นผู้มีความเสียสละกตัญญูกตเวทีตาต่อบุพการี

2) สามเณรกองแก้ว

เมื่อท่านเรียนจบชั้นประถม 3 อายุได้ 15 ปี ครูบาธรรมชัย ได้เข้าอบรมเป็นศิษย์วัดสันป่าสักอยู่ 3 เดือน หัดท่องเรียนเขียนอ่านตัวอักขระพื้นเมืองเหนือและเรียนสวดมนต์สิกขาสามเณร โดยมีพระบิดา และพระอินหวันเป็นผู้สอน เมื่อท่องเรียนเขียนอ่านได้คล่องแล้ว จึงได้บวชเป็นสามเณรในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2471 เดือน 6 เหนือ ขึ้น 6 ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก ทางเหนือเรียกว่าปีเบิกสี เจ้าอธิการคำมูล ธัมวงฺโส วัดแม่สารบ้านตอง เป็นอุปัชฌาย์

เป็นสามเณรอยู่ได้ 1 พรรษา มีความสนใจในสมถกรรมฐานมาก ไม่ว่าจะทำงานอะไรอยู่ที่ไหน จิตใจคอยครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องการธุดงค์ของพระสงฆ์องค์เจ้า รุ่นครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ที่บวชเรียนแล้วนิยมพากันเข้าป่าบำเพ็ญเพียรภาวนา แสวงหาธรรมวิเศษ เราเป็นสามเณรน้อยก็ได้ชื่อว่าบวชเรียนเข้ามาอาศัยในพระศาสนา ควรจะออกเดินทางเข้าป่าดูบ้างเพื่อแสวงหาพระธรรมอันวิเศษ

หลังจากครุ่นคิดไตร่ตรองอยู่หลายวัน ท่านจึงได้เข้าไปกราบลาสมภารเจ้าวัดว่า ขอลาเข้าไปบำเพ็ญกรรมฐานในป่าสักหนึ่งพรรษา สมภารเจ้าวัดตกใจ เพราะยังเห็นว่าเป็นสามเณรอ่อนพรรษา ไม่ประสีประสาในเรื่องอรรถธรรมตลอดจนวัตรปฏิบัติของพระธุดงค์ดีพอ ขืนเข้าไปอยู่ป่าอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้โดยง่าย จึงได้ห้ามปราบไว้ แต่ครูบาธรรมชัย หรือสามเณรกองแก้วในสมัยนั้น ก็ยืนกรานที่จะเดินธุดงค์เข้าป่า ไปกระทำความเพียรแต่เพียงผู้เดียวให้จงได้ สมภารเจ้าวัดอ่อนอกอ่อนใจเลยอนุญาตให้ไปได้ตามปรารถนาไม่อย่างชัดศรัทธาให้เป็นบาป และยังได้แนะนำแนวทางการปฏิบัติกรรมฐานในป่าให้หลายอย่างด้วยความเมตตาเอ็นดู

3) ธุดงค์โดดเดี่ยว

เมื่อกราบลาสมภารเจ้าวัดแล้ว สามเณรกองแก้วก็ออกจากวัดไป มีบริขารเท่าที่จำเป็น ตามถ้ำ ตามเพิงผา ไม่จำเป็นต้องใช้กลดใช้มุ้งให้ยุ่งยาก ถ้ายุงจะกัด ทากจะดูดกินเลือดก็ให้มันกินเลือดตามต้องการ ไม่อาลัยใยดีในสังขาร แต่สำหรับบาตรนั้นจำเป็นต้องมีเพื่อใช้ในการออกบิณฑบาต หาปัจจัยมาหล่อเลี้ยงสังขารตามความจำเป็น เมื่อเดินทางไปถึงป่าห้วยดิบแต่ลำพังผู้เดียว ได้พบชาวบ้านวัยกลางคนผู้หนึ่งออกมาจากป่า ชายผู้นั้นแสดงความตกใจ เมื่อรู้ว่าสามเณรองค์น้อยจะเข้าป่าไปบำเพ็ญเพียรภาวนา เขาได้กล่าวเตือนอย่างหวาดกลัวว่า เวลานั้นมีเสือเย็นหรือเสือสมิงตัวหนึ่งกำลังออกอาละวาดหากินอยู่ในป่า เสือดุร้ายตัวนี้โตใหญ่เกือบเท่าควายหนุ่ม เป็นเสืออาคม คือ มีตุ๊เจ้าหรือพระองค์หนึ่งแก่กล้าวิชาไสยศาสตร์ เกิดร้อนวิชามีอาเพศให้เป็นไปด้วยบาปกรรม ชอบแปลงร่างเป็นเสือตัวใหญ่ลักเอาวัวควายชาวบ้านไปกินบ่อย ๆ นานวันเข้าถึงกับคาบเอาคนไปกิน มีชาวบ้านที่ออกป่าไปเก็บฟืนและสมุนไพรในป่าแล้วถูกเสืออาคมตัวนี้คาบไปกินหลายรายแล้ว ขอให้สามเณรรีบกลับวัดเสียเถิด ขืนเข้าไปอยู่ในป่ามีหวังเจอเสือเย็นตัวนี้แน่

สามเณรไม่กลัวเสือ บอกว่าอันคนเรานี้ ไม่ว่าจะยากดีมีจน เมื่อเกิดมาก็ดิ้นรนกันไปต่าง ๆ นานา แล้วในที่สุด ก็สิ้นสุดปลายทางที่ความตายเหมือนกันหมด ไม่มีใครที่จะหลีกหนีความตายไปได้พ้น เราเกิดมาในชาตินี้ ได้บวชเรียนในพระศาสนา ถือได้ว่าเป็นบุญกุศลใหญ่ จะต้องปฏิบัติกิจพระศาสนาด้วยการลงมือปฏิบัติธรรมให้รู้แจ้งเห็นจริง ด้วยการเข้าไปปฏิบัติกรรมฐานในป่า ขออุทิศชีวิตให้กับป่าดงพงพี เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายอันพึงจะมี มิได้อาลัยเสียดายต่อชีวิต ถ้าจะตายก็ขอให้มันตายไปเถิด ขอให้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียงสร้างสมบารมีเป็นพอ ชีวิตคนเรานี้สั้นนัก วันตายจะมาถึงเมื่อไรไม่มีใครรู้ ดังนั้นจึงอยากจะเร่งรีบสร้างความดีด้วยการปฏิบัติธรรมเพราะการรีรอผัดวันประกันพรุ่งย่อมถือได้ว่า เป็นผู้อยู่ในความประมาท ปัจฉิมโอวาทหรือพระวาจาครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ทรงรวบรวมซึ่งโอวาททั้งปวงที่ได้ประทานไว้ตลอด 45 พรรษา ลงในจุดใหญ่ใจความคือ ความไม่ประมาท อันเดียวเท่านั้นพระพุทธองค์ตรัสว่า

 "ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราผู้ตถาคตเตือนท่านทั้งหลายให้รู้ สังขารมีความเสื่อมความฉิบหายไปเป็นธรรมดา"

"ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่นให้สมบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"ชายชาวบ้านได้สดับตรับฟังถ้อยวาจาของสามเณรกองแก้วดั่งนี้ ก็ยกมือโมทนาสาธุให้กับความตั้งใจอันอาจหาญเด็ดเดี่ยวของสามเณร และกล่าวสรรเสริญว่า สามเณรแม้จะอายุยังน้อยแต่มีจิตเคารพศรัทธาเลื่อมใสในหลักธรรมของพระพุทธเจ้าอย่างไม่มีวิจิกิจฉา คือไม่มีความสงสัยในพระรัตนตรัยสามเณรเป็นผู้เจริญโดยแท้ เป็นนักบุญที่มนุษย์และเทวดาจะพึงสรรเสริญ กล่าวแล้วชายชาวบ้านป่าก็กราบลาไป

4) ป่าห้วยดิบ

สามเณรกองแก้วได้ธุดงค์เข้าไปในป่าห้วยดิบด้วยจิตตั่งมั่นไม่หวั่นไหว ป่าใหญ่แห่งนี้ชุกชุมด้วยสัตว์ร้ายอาศัยหากิน เช่น เสือ ช้าง หมี งู กระทิง เป็นต้น สามเณรเลือกได้ทำเลเหมาะสมใต้ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นเป็นที่พักอาศัยสำหรับนั่งบำเพ็ญสมาธิและเดินจงกรม ธรรมชาติของป่าอันสงัดเงียบวังเวงใจ ทำให้อารมณ์ความรู้สึกเบาสบายถูกกับนิสัยรักสงบของท่านมาก ความรู้สึกหวาดกลัวภัยอันตรายในป่าไม่มีเลย เพราะได้ตั้งจิตที่จะอุทิศตนต่อการปฏิบัติกรรมฐานอย่างเด็ดเดี่ยว แม้จะเสียชีวิตก็ไม่อาลัยเสียดาย เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าตนเองมีศรัทธาในธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างเด็ดขาด ไม่สงสัยหวั่นไหว เมื่อไม่หวั่นไหวมีใจตั้งมั่นในการปฏิบัติจนถึงที่สุดจักต้องพบธรรมวิเศษ อันเป็นพระธรรมที่พ้นจากโลก อยู่เหนือโลกและไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลาอย่างแน่นอน คืนแรกในป่าห้วยดิบ

สามเณรนั่งสมถภาวนาอยู่จนค่อนคืนจิตตั้งมั่นในสมาธิยังไม่เป็นที่พอใจ เพราะยังมีถีนะมิทธะความง่วงเหงาหาวนอนบ้าง ความคิดฟุ้งซ่านของอารมณ์บ้าง (อุทธัจจะกุกกุจจะ) ซึ่งเป็นสิ่งกั้นความดีมิให้เกิดที่เรียกว่า นิวรณ์คอยรบกวนจิตไม่ให้รวมตัวสงบได้ ทำให้ได้ความรู้ว่า ความตั้งใจของคนเรานี้ พอทำเข้าจริง ๆ มันไม่ค่อยจะได้ผลดังใจเลย ต้องมีอุปสรรคขัดขวางเป็นธรรมดา จิตคนเรานี่มันเหมือนลิงหลุกหลิกยิ่งพยายามจะบังคับให้อยู่นิ่ง ๆ ยิ่งหลุกหลิกไปกันใหญ่ ทำให้รู้สึกนึกขำ และตั้งใจว่าจะต้องเพ่งเพียรเอาชนะจิต บังคับมันให้สงบอยู่ในอำนาจของตนให้จงได้ หลังจากเดินจงกรมแล้วก็นั่งหลับในงีบหนึ่งก็พอดีสว่าง ตลอดคืนไม่มีสัตว์ป่าเข้ามาแผ้วพานรบกวนเลย ลงไปอาบน้ำเย็นเฉียบชำระกายในห้วย แล้วจึงออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ได้อาหารพอสมควรตามศรัทธาของชาวบ้าน นำมาขบฉันในป่าแต่พออิ่ม เพื่อยังชีพ ไม่พยายามติดใจในรสชาติเอร็ดอร่อยของอาหาร เห็นว่าอาหารเป็นสิ่งปฏิกูลที่จำใจต้องขบฉันเข้าไปก็เพื่อให้สังขารร่างกายพอดำรงอยู่ได้เท่านั้น เพื่อที่จะมีแรงบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป ขณะที่นั่งขบฉันอาหารในบาตรอยู่ใต้ต้นไม้นั้น สังเกตเห็นว่า ตรงที่นั่งอยู่มีรอยบุ๋มกดลงไปในดิน เมื่อเพ่งดูก็รู้ว่าเป็นรอยตีนเสือขนาดใหญ่เท่าจานข้าว รู้สึกแปลกใจจึงลุกขึ้นเดินสำรวจดูก็ได้พบอีกว่า มีรอยเสือใหญ่อยู่ทั่วบริเวณนั้น เป็นรอยใหม่ ๆ แสดงว่า เสือตัวนี้มันมาเดินวนเวียนอยู่โคนต้นไม้ตอนที่สามเณรเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน

พอรู้ว่าเสือขนาดใหญ่มาปรากฏในบริเวณที่นั่งสมาธิบำเพ็ญบารมี พลันมีอาการขนลุกซู่ไปทั้งตัว จิตใจหวั่นไหวรู้สึกกลัวจนตัวสั่นขาดสติไปชั่วขณะ แต่แล้วก็ตั้งสติได้ และนึกขำตัวเองทีแรกบอกว่าไม่กลัวอะไร พร้อมแล้วที่จะยอมตายในป่า แต่พอเอาเข้าจริง ๆ เห็นแค่รอยเสือก็ตกใจกลัวขาดสติเสียแล้ว นี่แสดงอีกว่า จิตคนเรานี้มันชอบหลอกหลอนตัวเราเอง เหมือนลิงหลอกเจ้าจริง ๆ เมื่อรู้แน่ว่า เสือมาเยี่ยมจริง ๆ ไม่ได้ตาฝาดหรือฝันไป สามเณรก็พยายามสงบใจลงนั่งที่โคนต้นไม้ใหญ่ ดำรงสติให้ตั้งมั่นรำพึงถึง "สติปัฎฐาน 4" อันเป็นหลักสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่าภิกษุในพระธรรมวินัยไปอยู่ในป่าหรือว่าอยู่ที่โคนต้นไม้ หรือ ไปอยู่ที่ว่างบ้านเรือนสกปรกโสโครกทั้งข้างนอกข้างใน ชวนให้อาเจียนเหียนรากแท้ ๆ เราเบื่อหน่ายในร่างกายเราปรารถนาจะทำจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ตัดขาดจากกิเลส ถ้าเราตัดขาดจากกองกิเลสตัณหาคือร่างกายสังขารนี้ได้แล้ว เราก็จะไปอยู่แดนนิพพานซึ่งเป็นแดนสุขอย่างยิ่ง สามเณรกองแก้วเล่าว่า ท่านได้พิจารณาอย่างนี้ไปตามความรู้ความเข้าใจของสามเณรวัยเยาว์ที่ยังอ่อนต่อการศึกษาในหลักพระธรรม พิจารณาไปตามที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนจะผิดจะถูกอย่างไรไม่คิดถึง คิดอย่างเดียวว่าครูบาอาจารย์สอนมานี้เป็นของจริงแท้ เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าแน่ เมื่อพิจารณาอย่างนี้กลับไปกลับมาเป็นเวลานานพอสมควร ปรากฏอัศจรรย์ว่า จิตรวมตัวเข้าสู่ความสงบอย่างไม่รู้ตัวเป็นสมาธิในเอกจิต ลืมเรื่องเสือ ลืมทุกสิ่งทุกอย่างในอดีตและปัจจุบันหมดสิ้น แต่มีสติรู้ตัวว่า มีอารมณ์โพรงสว่างไสวสภาพจิตมีความเยือกเย็นแช่มชื่นอย่างพรรณนาไม่ถูก

5) ประจัญหน้าเสือ

จิตเริ่มคลายออกจากสมาธิมารับรู้อารมณ์ภายนอกกายอีก ครั้งหนึ่งเป็นเวลาเย็นมากแล้วแสงแดดตกรำไรเรี่ยยอดไม้ บอกให้รู้ว่า จิตดำรงสมาธิมาเป็นเวลานานเกือบ 8 ชั่วโมง จึงลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถเดินไปที่ลำห้วยเพื่อจะอาบน้ำชำระกาย ทันใดก็ต้องตกตะลึงยืนนิ่งอยู่กับที่ก้าวขาไม่ออก เมื่อพบว่าเสือใหญ่ตัวหนึ่งกำลังก้มกินน้ำอยู่ที่ลำห้วย เป็นเสือลายพาดกลอนขนาดใหญ่มากเกือบเท่าควายแต่เตี้ยกว่า หางมันลากดินกวัดแกว่งไปมา ดูเหมือนมันจะรู้ได้ด้วยสัญชาตญาณว่ามีคนเดินมาข้างหลังมันรีบหันขวับกลับมาอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นหัวโตขนาดกระบุง นัยน์ตาสีเหลืองจัดมีประกายวาวจ้าคล้ายกระทบแสงไฟน่ากลัวมาก สามเณรตะลึงเสือก็ตะลึงที่ได้ประจันหน้ากันอย่างไม่นึกฝัน ครั้งแล้วชั่วอึดใจที่ต่างฝ่ายต่างก็ตะลึงจังงังเสือโคร่งตัวใหญ่ก็แยกเขี้ยวส่งเสียงคำรามดังสนั่นปานฟ้าผ่า ย่อตัวลงต่ำกระโจนผึงเข้าตะครุบสามเณรอย่างดุร้ายกระหายเลือด ความตกใจทำให้สามเณรผงะก้าวถอยหลังเลยสะดุดรากไม้ริมตลิ่งล้มลง ทำให้เสือกระโดดข้ามหัวไปจนเย็นวาบไปทั้งร่างด้วยแรงลมที่พัดผ่าน ความตื่นตระหนกทำสามเณรลุกไม่ขึ้น นอนเนื้อตัวสั่นเทา ๆ อยู่ตรงนั้นเอง เพราะควบคุมสติไม่อยู่ คิดว่าตัวเองต้องตกเป็นอาหารเสือแน่ ๆ วันนี้ แต่เสือหายเงียบไปไม่เห็นกลับมาอีก จึงค่อยมีสติลุกขึ้นมองไปรอบ ๆ ก็ไม่ปรากฏพบวี่แววของเสือตัวนั้นเลย คงพบแต่รอยขนาดใหญ่ของมันมีขนาดเท่าจานข้าวย่ำอยู่แถวนั้น

เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่า เป็นรอยเสือตัวเดียวกันกับที่ปรากฏตรงโคนต้นไม้ที่นั่งบำเพ็ญสมาธิ พักใหญ่จิตจึงคลายจากความหวาดกลัวมีสติทำให้ได้ข้อคิดพิจารณาว่า สตินี้เป็นตัวสำคัญของคนเรา เมื่อชั่วครูนี้เราขาดสติอย่างน่าละอาย สติขาดจากใจทำให้ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้เวลาตกอยู่ในที่คับขันอันตรายกะทันหันไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว สติกับปัญญาจะต้องอยู่คู่กันตลอดเวลาถึงจะใช้ได้เพราะปัญญาของเรายังไม่แหลมคม ปัญญายังไม่หยั่งรู้ถึงสัจจธรรมที่แท้จริงจิตจึงมีความกลัว ถ้าเราทำลายความกลัวให้เด็ดขาดลงไปได้ ปัญญาและสติจะต้องมั่นคงเป็นสมบัติติดอยู่กับใจ เมื่อคิดได้เช่นนี้จึงตัดสินใจว่า จะต้องเดินตามหาเสือตัวนี้ให้พบแล้วนั่งคุกเข่าลงตรงหน้ามันยอมให้มันขบกัดฉีกเนื้อกินเสีย เป็นการอุทิศร่างกายชีวิตเลือดเนื้อให้มันด้วยความเมตตาสงสาร และจักเป็นการทำลายความกลังในจิตใจของเราให้หายขาดไปด้วย

สามเณรเดินขึ้นมาจากลำห้วยตามหาเสือที่เห็นรอยของมันเป็นทางไป รอยนั้นใหญ่มากและชัดเจนกดลึกลงไปในดินใหม่ ๆ จิตใจเต็มไปด้วยความอาจหาญใคร่ที่จะพลีชีวิตอุทิศให้เสือกินอย่างไม่เสียดายอาลัย รอยเสือโคร่งมุ่งหน้าไปทางโคนต้นไม้ที่สามเณรใช้เป็นที่นั่งบำเพ็ญภาวนา

6) เสือกลายเป็นพระ

ครั้นแล้วสามเณรก็ต้องตะลึงเมื่อพบว่าที่โคนต้นไม้นั้นมีสีเหลืองนั่งอยู่ สีเหลืองนั้นไม่ใช่เสือหากเป็นพระภิกษุวัยกลางคนรูปหนึ่งกำลังนั่งอยู่ตรงโคนต้นไม้ ลักษณะท่าทางของพระภิกษุรูปนั้นมีสง่าน่าเลื่อมใสผิวคล้ำเกรียม ท่านเผยอยิ้มน้อย ๆ ให้แล้วทักทายขึ้นด้วยเสียงเยือกเย็นว่า "เดินตามหาเสือจะให้เสือกินจริง ๆ หรือเณรน้อย" สามเณรกองแก้ว (ครูบาธรรมชัย) รู้สึกสะดุ้งใจ ที่พระภิกษุแปลกหน้าล่วงรู้ความในใจของตน จึงนั่งลงกราบแล้วถามว่า หลวงพ่อรู้ได้ยังไง หลวงพ่อพบเสือตัวนั้นผ่านมาทางนี้หรือ ? หลวงพ่อหัวเราะไม่ตอบคำถามนั้น แต่ท่านกลับกล่าวยกย่องว่า มีสติปัญญาดี ต่อไปภายหน้าจะรุ่งเรือง ขออย่าได้สึกเลย ให้ฝากชีวิตไว้กับพระศาสนา

สามเณรกองแก้วรู้สึกอิ่มเอิบใจที่หลวงพ่อแปลกหน้าในป่ากล่าวให้กำลังใจเช่นนั้น แต่ก็ยังติดใจในเรื่องเสือใหญ่ตัวนั้นอยู่ จึงถามว่า เสือตัวนั้นเป็นเสือจริง ๆ หรือเป็นเสืออาคมกันแน่

"เสือไม่สำคัญ ใจเราสำคัญกว่า อย่าไปสนใจเสือ เมื่อใจของเราสะอาดบริสุทธิ์ มีศีลมีสมาธิ มีปัญญาอยู่เต็มภูมิแล้ว"

"เราชนะทุกอย่าง เสือสางสิงสาราสัตว์ในโลกนี้จะมาทำอะไรเราไม่ได้เลย"หลวงพ่อกล่าว สามเณรกองแก้วกราบด้วยความเคารพเลื่อมใจแล้วถามว่า หลวงพ่อมาจากไหน ? จะไปไหน ? ท่านตอบว่า ท่านเป็นพระกรรมฐาน เป็นพระป่า แสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรม แต่ไม่ยอมบอกชื่อเสียงเรียงนาม "เณรมีความตั้งใจดี ปฎิบัติดีแล้ว แต่ยังขาดครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอน การปฏิบัติกรรมฐานนี้ต้องมีครู ถ้าปฏิบัติด้นดั้นไปตามลำพัง ตนเองก็เปรียบเสมือนเขาตัดถนนไว้ให้แล้ว แต่เราไม่เดินตามถนนสายนั้น" "กลับเดินบุกป่าฝ่าดงไป โอกาสที่จะหลงทางมีมาก หรือถ้าไม่หลงทางกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางก็ย่ำแย่ไปเลย" หลวงพ่อตักเตือนด้วยความหวังดี สามเณรกองแก้วถามว่าควรจะไปเรียนกรรมฐานกับพระอาจารย์ที่ไหนดี หลวงพ่อตอบว่า พระอาจารย์ที่เก่งกรรมฐานมีอยู่หลายองค์อยู่ตามวัดก็มี อยู่ตามป่าตามเขาก็มี แต่ที่สะดวกไปหาได้ง่ายอยู่ไม่ไกลก็คือ ครูบาเจ้าศรีวิชัย สมควรที่สามเณรจะได้ไปกราบเท้าท่านฝากตัวเป็นลูกศิษย์เสียเถิด เพราะครูบาเจ้าศรีวิชัยท่านมีบุญญาบารมีมาก เป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฎิบัติชอบหาผู้เสมอเหมือนได้น้อยมาก

7) เดินจงกรม

จากนั้น หลวงพ่อแปลกหน้าก็ได้แนะนำสั่งสอนข้อปฏิบัติกรรมฐานให้หลายอย่าง โดยเฉพาะการเดินจงกรม ท่านได้กรุณาแนะนำว่า

"การเดินจงกรม กับ การนั่งสมาธิ จะต่างกันตรงที่เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถเท่านั้น การเดินจงกรมต้องเดินให้ถูกวิธีถึงจะได้ผล อย่าเดินส่งเดชตามสบายใจตัวเอง ต้องเดินตามวิธีของครูบาอาจารย์ท่านกำหนดไว้ ก่อนเดินจงกรมเราต้องดูต้องหาสถานที่สมควรก่อน จะต้องเป็นสถานที่เงียบสงัด พื้นดินต้องเรียบราบ อย่าให้เป็นพื้นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ความยาวของสถานที่เดินจงกรมกำหนดอย่างสั้นประมาณ 25 ก้าว อย่างยาวที่สุด 50 ก้าว ควรจะกำหนดทางเดินไว้ 3 สายคือ.-

1. เดินตามดวงตะวันจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก

2. เดินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

3. เดินไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

การเดินจงกรม 3 สายนี้ เดินเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่าเดินตัดทางโคจรของดวงตะวันไม่ดี แต่ถ้าสถานที่จำกัดจะเดินสายเดียวก็ได้ให้เลือกเอา ครั้งแรกจะเดินจงกรมให้ประณมมือขึ้นเสียก่อน ระลึกว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ (ว่า 3 จบ) ยกมืออธิษฐานไว้เหนือระหว่างคิ้ว ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยที่ตนถือเป็นสรณะที่พึ่งยึดเหนี่ยวใจ และระลึกถึงคุณบิดามารดา อุปัชฌาย์อาจารย์ ตลอดท่านผู้เคยมีพระคุณแก่ตน จากนั้นรำพึงถึงความมุ่งหมายแห่งความเพียรที่กำลังจะทำด้วยความตั้งใจเพื่อผลนั้น ๆ เสร็จแล้วเอามือลง เอามือซ้ายลงก่อนเอามือขวาวางทับทาบกันไว้ที่ท้องน้อยใต้สะดือตามแบบพุทธรำพึง ให้เจริญพรหมวิหารสี่ เจริญจบแล้วทอดตาลงต่ำในท่าสำรวม ตั้งสติกำหนดจิตและธรรมที่เคยนำมาบริกรรมกำกับใจ หรือพิจารณาธรรมทั้งหลายตามแบบที่เคยภาวนา แล้วเริ่มออกเดินทอดสายตาลงประมาณในราว 4 ศอกเป็นอย่างไกล หรือใกล้เข้ามาที่เท้าเราก้าวนั้นก็ได้ แต่เมื่อรู้สึกเดินไม่สะดวกก็มองออกห่างไปหน่อย เมื่อห่างออกก็ไม่สะดวกสบายก็ให้ทอดสายตาหาระยะที่พอสบายแต่อย่าให้ไกลนัก วิธีเดิน อย่าก้าวเดินให้ไวนัก อย่าช้านัก อย่าก้าวยาวนัก อย่าสั้นนัก อย่าเผลอปล่อยมือไกวแขนหรือเอามือขัดหลังและกอดอก อย่าเผลอเดินมองโน่นมองนี่ ถ้าจะภาวนาพุทโธก็ให้ก้าวขาไปหนึ่งว่า "พุท" ก้าวอีกขาไปว่า "โธ" บริกรรมภาวนาไปเรื่อย ๆ ตามจังหวะก้าวขา พอไปถึงสุดทางอย่าด่วนหมุนตัวกลับให้เร็วนัก ให้ค่อย ๆ หมุนตัวเวียนไปทางขวา หรือจะหยุดยืนกำหนดรำพึงสักครู่ที่หัวทางเดินจงกรมก็ได้ การหยุดรำพึงกำหนดพิจารณาธรรมนั้น จะยืนกลางทางจงกรมหรือตรงไหนก็ได้ไม่บังคับ เพราะธรรมที่ผุดขึ้นมาในใจขณะนั้นย่อมมีความตื้นลึกหนาบางแตกต่างกัน แล้วแต่กรณีที่ควรอนุโลมตามความจำเป็น เมื่อหยุดรำพึงจนเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วก็ออกเดินต่อไป

การเดินจงกรมนี้ จะเดินนานหรือไม่เพียงไรตามแต่เราจะกำหนดเอง เพราะการเดินจงกรมก็คือทำสมาธิอีกแบบหนึ่งนั่นเอง คือเพียงแต่เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อระงับเวทนา นั่งสมาธินานมันเมื่อย ก็ต้องออกเดินจงกรมระงับความเมื่อยขบ ถ้าเดินจงกรมมากมันเหนื่อยก็หยุดเดินเปลี่ยนเป็นนั่งอย่างเดิม ถ้านั่งมากมันเหนื่อยก็ให้นอนทำสมาธิหรือยืนนิ่ง ๆ ทำสมาธิ การนอนทำสมาธินั้น ให้นอนในท่าสีหไสยาสน์ อย่านอนในท่าอื่นเป็นอันขาด "

"การเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิภาวนาก็คือ การกลั่นกรองหาสิ่งเป็นสาระคุณในตัวเราเพื่อเอาชนะกิเลสตัณหาอวิชชาตามที่พระพุทธเจ้าและครูอาจารย์ท่านสอนไว้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็อย่าหักโหมร่างกายตัวเองจนเกินไป ให้ปฏิบัติในสายกลาง ๆ เพื่อความเหมาะสมของธาตุขันธ์ร่างกายของตนเอง ที่จำเป็นต้องใช้งานประจำ ถ้าหักโหมมากธาตุขันธ์ร่างกายเจ็บป่วยพิกลพิการไป สุดท้ายก็ไม่บรรลุถึงจุดหมายปลายทางที่ตั้งใจไว้"

หลวงพ่อกล่าวสรุปในที่สุด สามเณรก้มกราบหลวงพ่อ ผู้ลึกลับด้วยความเคารพเลื่อมใสศรัทธา ที่ท่านได้มีเมตตาอบรมสั่งสอน แนะแนวทางปฏิบัติให้ ท่านให้ศีลให้พรพอสมควรแล้วก็ลาจากไป

นึกแล้วก็เป็นเรื่องประหลาด สามเณรมาบำเพ็ญกรรมฐานในป่า ชาวบ้านได้กล่าวเตือนให้ระวังเสือสมิงจะขบกิน เป็นเสืออาคมอันเกิดจากตุ๊เจ้ารูปหนึ่งร้อนวิชาไสยศาสตร์แปลงกายเป็นเสือ ครั้นเมื่อเข้ามาอยู่ในป่าก็เจอเสือจริง ๆ เสือทำท่าจะขบกินแต่แล้วมันก็วิ่งหนี เมื่อตามรอยตีนมันมาก็พบเข้ากับพระธุดงค์รูปหนึ่ง จะเป็นไปได้ไหมว่า หลวงพ่อแปลกหน้าที่เจอนี้คือตุ๊เจ้าเสือสมิง ถ้าใช่จริง ๆ ทำไมไม่ขบกินสามเณร

8) เสือใช่ไหม

เรื่องนี้ ครูบาธรรมชัยได้เล่าในภายหลังต่อมาหลายปีว่า ธรรมชาติของเสือนั้น เป็นสัตว์กินเนื้อที่ดุร้าย เมื่อมันเข้ามาหาคนเราหรือเจอกับมันโดยบังเอิญอย่างจังหน้า ธรรมชาติของเสือจะต้องกระโจนเข้าทำร้ายคนทันที เหตุที่เสือไม่ทำร้ายพระธุดงค์กรรมฐานนั้น เข้าใจว่ามีสาเหตุอยู่ 3 ประการ

1. เทพยดาอารักษ์ในป่าดลบันดาลใจเสือให้เข้ามาทดสอบกำลังใจของพระธุดงค์ ไม่ได้มีเจตนาจะให้มาทำร้าย

2. เทพยดานิรมิตร่างกลายเป็นเสือมาทดสอบกำลังใจ เพราะเทพยดาย่อมจะมีฤทธิ์สามารถจำแลงแปลงกายเป็นสัตว์ต่าง ๆ ได้ แปลงกายเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็ได้แปลงกายเป็นปีศาจหลอกหลอนก็ได้

3. เสือจริง ๆ ได้กลิ่นพระธุดงค์ ตรงเข้ามาเพื่อจะขบกัดกินเป็นอาหาร โดยที่เทพยดาไม่เกี่ยวข้องด้วยเลย แต่ครั้นเมื่อเสือเข้ามาใกล้พระธุดงค์แล้ว ก็กระทบเข้ากับกระแสจิตอันแรงกล้าของพระธุดงค์ เป็นกระแสเมตตาอันชุ่มเย็นอย่างประหลาดล้ำทรงอำนาจลี้ลับได้ทำให้หัวใจของเสือคลายความดุร้ายลงเกิดความรู้สึกเป็นมิตรสนิทใจ ดุจเดียวกันกับเสือที่มนุษย์นำมาเลี้ยงไว้ในครอบครัวตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ จนเติบโตใหญ่ เสือตัวนั้นย่อมจะรักใคร่เจ้าของ ๆ มันไม่คิดอยากจะกัดกินหรือเห็นเป็นศัตรูเลย

9) ธมมชโย

สามเณรกองแก้ว (ครูบาธรรมชัย) บำเพ็ญกรรมฐานอยู่ในป่าห้วยน้ำดิบสามเดือน จึงได้กลับมาอยู่วัด ได้เข้าเรียนนักธรรมกับพระภิกษุแดง วัดพระยืน ต่อมาเมื่ออายุ 19 ก็สอบนักธรรมตรีได้และได้เรียนนักธรรมโทที่วัดมหาวัน สอบนักธรรมโทได้เมื่ออายุ 20 ปี ในปีนี้เอง ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้นามฉายาว่า "ธมมชโย" ณ พัทธสีมาวัด หนองหล่ม ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ตรงกับวันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ.2475 หรือเดือน 5 เหนือ ขึ้น 3 ค่ำ ปีวอก จัตวาศก ทางเหนือเรียกว่า ปีเต่าสัน ร.ศ.151 จุลศักราช 1294 เวลา 08.10 น. เจ้าอธิการคำมูล ธมมวงฺโส วัดแม่สารบ้านตอง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระชยเสนาวัดบ้านหลุก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระคัมภีร์ปัญญา วัดปงสนุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้วมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสันป่าสักบ้านเกิด พระปินตาได้สึกออกไป พระอินหวันเป็นเจ้าอาวาส ครูบากองแก้ว ธมมชโย จึงได้รับแต่ตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสแทนพระปินตา ต่อมาท่านได้เป็นครูสอนนักธรรมที่สำนักวัดสันป่าสักและวัดน้ำพุ ตำบลเดียวกัน และสอนโรงเรียนประชาบาลด้วย สอนอยู่เป็นเวลาถึง 6 ปี ในระหว่างที่สอนอยู่นี้ เมื่อมีเวลาว่างก็ได้เดินทางไปนมัสการครูบาเจ้าศรีวิชัยที่กำลังมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในสมัยนั้น ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย และหมั่นไปมาหาท่านอยู่เสมอด้วยความเคารพเลื่อมใสบูชาเป็นปรมาจารย์

10) วัดอินทะขิลใหม่

พ.ศ.2481 คณะศรัทธาหมู่บ้านสันป่าตอง วัดอินทะขิลใหม่ ตำบลอินทะขิล อำเภอแม่แตงเชียงใหม่มีพ่ออุ้ยแก้ว ทิพเดโช เป็นหัวหน้า ได้พากันเดินทางมาอาราธนานิมนต์ครูบาธรรมชัยไปเป็นเจ้าอาวาส เพื่อให้ท่านพัฒนาปฏิสังขรณ์วัดที่เก่าแก่ทรุดโทรมและโปรดศรัทธาชาวบ้าน ครูบาธรรมชัยรับนิมนต์ออกเดินทางไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2481 ท่านได้บูรณะปลูกสร้างเสนาสนะเครื่องใช้ วัดอินทะขิลใหม่จนเจริญรุ่งเรืองตลอดมาไม่หยุดหย่อนเป็นเวลาถึง 9 ปี ได้อบรมสั่งสอนศิษย์ให้บวชเรียนเป็นสามเณรและพระภิกษุเป็นจำนวนมาก เป็นที่เลื่องลือไปทั่วภาคเหนือว่า ท่านเป็นพระนักสร้าง นักพัฒนาวัดวาอาราม สมแล้วที่เป็นศิษย์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ทำให้วัดอินทะขิลซึ่งเป็นเพียงอาราม หรือ สำนักสงฆ์เล็ก ๆ กลายเป็นวัดใหญ่โตสวยงาม ในระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดอินทะขิลใหม่ 9 ปีนี้เมื่อว่างจากพัฒนาวัด และอบรมลูกศิษย์พระเณร ท่านจะออกเดินทางไปนมัสการครูบาเจ้าศรีวิชัยอยู่เสมอ และเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์เจ้าสำนักต่าง ๆ ที่เก่ง ๆ เพื่อขอศึกษากรรมฐานและวิทยาคม ในขณะเดียวกันก็ศึกษาค้นคว้าตำหรับตำรายาสมุนไพร แพทย์ศาสตร์แผนโบราณไปด้วย ทำให้ท่านเป็นผู้เรื่องวิทยาคม มีฌานสมาธิแก่กล้าและเชี่ยวชาญทางแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์เป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสทั่วไปในสมัยนั้น พ.ศ.2490 ปลายปี ท่านได้อำลาจากวัดอินทะขิลใหม่ และคณะศรัทธาญาติโยมชาวบ้าน หลังจากที่ได้สร้างความเจริญให้วัดมาเป็นเวลานานถึง 9 ปี เพื่อจะออกป่าจาริกธุดงคกรรมฐานใฝ่หาความสงบวิเวก บำเพ็ญธรรมให้สมความตั้งใจเสียที คณะศิษย์และญาติโยมชาวบ้านมีความรักและอาลัยไม่อยากจะให้ท่านจากวัดไป แต่เมื่อท่านได้ชี้แจงให้ทราบถึงความจำเป็นที่จะต้องบำเพ็ญธรรมปฏิบัติ คณะศิษย์และญาติโยมก็ต้องตัดใจให้ท่านไปทั้ง ๆ ที่อาลัยเสียดายยิ่งนัก

11) เสืออีกแล้ว

ครูบาธรรมชัยออกจากวัดอินทะขิลใหม่ จาริกธุดงค์แต่ลำพังเข้าป่าไปเรื่อย ๆ ทางอำเภอฝางและได้แวะนมัสการพระที่ถ้ำตับเตา คืนวันหนึ่งเพิ่งจะพลบค่ำได้ไม่นานนัก ขณะที่ครูบาธรรมชัยกำลังเดินจงกรมพิจารณาธรรมอยู่หน้าถ้ำตับเตา ได้ยินเสียงเสือโคร่งตัวหนึ่งร้องดังกระหึ่มมาแต่ไกล เสียงเสือตัวนี้ดังผิดปกติเสือทั้งหลายในป่าที่ท่านเคยได้ยินและได้ผจญมา เสียงมันดังมาตามพื้นดินจนใบไม้แห้ง ๆ ที่หล่นอยู่ตามพื้นดินเกิดอาการแซร่สะเทือน คล้าย ๆ เสียงฆ้องจูมขนาดใหญ่ดังก้องสะเทือนพื้นดินเวลาตีย่ำโมงอย่างนั้นแหละ แต่เสียงเสือตัวนี้ดัง "มาว ๆๆ" น่ากลัวมาก แสดงว่าจะต้องเป็นเสือใหญ่ระดับเจ้าป่า ครูบาธรรมชัย หาได้หวั่นไหวไม่ คงเดินจงกรมเป็นปกติ เสียงเสือร้องใกล้เข้ามา ในที่สุดก็เงียบ ได้ยินเสียงฝีตีนมันเดินย่องเหยียบใบไม้แห้งกรอบแกรบเข้ามาใกล้แล้วหยุดลงตรงเบื้องหน้าท่าน ในระยะห่างประมาณ 2 วา ท่าทางของมันดุร้ายนัยน์ตาลุกวาว น่ากลัวมาก ตัวใหญ่ขนาดม้าแกลบล่ำดี ท่าจะกระโจนเข้าตะครุบท่าน แต่ครูบาธรรมชัยหาได้หวั่นไหวหวาดกลัวไม่ ท่านได้หยุดยืนสงบมองจ้องสายตามันแล้วแผ่เมตตาให้ด้วยความจริงใจ ขอให้มันจงอย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจ อย่าได้มีเวรภัยใด ๆ ให้มันรักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยประการทั้งปวงเถิด แผ่เมตตาจบลงทำให้ท่าทางของมันมีอาการนิ่งจังงัง ท่านได้อธิษฐานต่อไปว่า ถ้าท่านกับเสือตัวนี้ เคยมีเวรานุเวรแก่กันมาตั้งแต่ชาติปางก่อน ก็ขอเชิญให้มันกระโดดเข้ามาตะปบกินเป็นอาหารเสียเถิด อธิษฐานบอกกล่าวมันในใจจบลง ปรากฏว่า เสือใหญ่ตัวนั้นได้กระโดดเข้าป่าหนีขึ้นไปบนภูเขาข้างถ้ำน่าอัศจรรย์ ครูบาธรรมชัยได้เล่าในภายหลังว่า เสือใหญ่ตัวนี้ เข้าใจว่าจะเป็นเสือเทวดาสำแดงกายออกมาพบท่าน

12) งูเหลือมยักษ์

เรื่องสัตว์ร้ายไม่ทำอันตรายนี้ ท่านเล่าว่า ครั้งหนึ่งสมัยอยู่วัดอินทะขิลใหม่ วันหนึ่งท่านได้ออกจากวัดเดินธุดงค์ไปยังถ้ำเชียงดาวแต่ลำพัง ขณะที่เดินอยู่ในป่าปางหกซึ่งเป็นดงงูเหลือมที่ขึ้นชื่อลือชามากในย่านนั้น ก็พอดีค่ำมืดลง ท่านจำเป็นจะต้องรีบเดินทางออกจากป่าไปให้ถึงบ้านปาง อำเภอเชียงดาวให้ได้ จึงไม่ยอมปักกลดพักแรมคืนในดงงูเหลือม ป่าปางหกนี้เป็นป่าดงดิบน่ากลัวมาก พอมืดค่ำลงป่าก็มืดเหมือนหลับตาเดิน ครูบาธรรมชัยได้เดินไปเหยียบเอางูแมวเซาเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจ จึงเอาไฟฉายดู ก็พบว่า มีงูแมวเซาอยู่จำนวน 16 ตัว ยั้วเยี้ยอยู่รอบ ๆ ตัวท่าน แต่มันก็ไม่ได้ทำอันตรายท่านแต่อย่างใด ครั้นพอเดินไปได้อีกหน่อยก็สะดุดเข้ากับขอนไม้ลื่น ๆ อย่างแรง จึงเอาไฟฉายส่องดูก็พบว่าเป็นงูเหลือมยักษ์ลำตัวโตเท่าโคนขาผู้ใหญ่ กำลังขดเป็นวงกลมอยู่กลางทาง เพื่อดักสัตว์ป่าเป็นอาหารของมัน ท่านครูบาธรรมชัยเข้าไปอยู่กลางวงขดของมันพอดี ซึ่งตามธรรมดาแล้วมันจะต้องตวัดรัดร่างท่านทันที เพราะเข้าใจว่าเป็นเหยื่อ แม้แต่สัตว์ใหญ่ ๆ ขนาดกวางหรือเสือโคร่งทรงพละกำลังมหาศาล หากโดนมันรัดแล้วไม่มีทางที่จะเอาตัวรอดได้เลย แต่ปรากฏว่า งูเหลือมยักษ์หาได้ทำอันตรายท่านแต่อย่างใดไม่ มันคงนิ่งสงบมองดูท่านเฉยอยู่ เรื่องงูไม่ทำอันตรายนี้จะว่าเป็นเรื่องบังเอิญก็น่าแปลกเพราะขณะที่ท่าน เข้าไปบำเพ็ญภาวนาอยู่ในถ้ำเชียงดาว หลายครั้ง ได้พบงูใหญ่ ๆ และงูพิษมากมายยั้วเยี้ยไปหมดในถ้ำลึก แต่มันก็ไม่สนใจท่านเลย ถ้าไม่พากันเลื้อยหนี ก็นิ่งอยู่เฉย ๆ ท่านกล่าวว่า เป็นเพราะงูเหล่านั้นสามารถรับรู้กระแสจิตที่ท่านแผ่เมตตาให้นั่นอย่างหนึ่ง หรือไม่งูเหล่านั้นเป็นงูเทพบันดาล

13) ถ้ำตับเตา

พ.ศ.2492 ครูบาธรรมชัยได้รับนิมนต์ให้ไปจำวัดอยู่ที่ถ้ำตับเตา อำเภอฝาง เนื่องด้วยทางคณะสงฆ์เห็นว่า ถ้ำตับเตาทรุดโทรมมาก สมควรจะได้พระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชนสักองค์มาบูรณปฏิสังขรณ์ถ้ำให้มั่นคงถาวร และครูบาธรรมชัยเหมาะสมที่สุดที่จะทำหน้าที่นี้

ถ้ำตับเตา เป็นโบราณสถานแห่งชาติอันสำคัญแห่งหนึ่งในภาคเหนือ มีชาวไทยและชาวต่างประเทศไปนมัสการเยี่ยมเยือนอยู่เสมอทุก ๆ ปี จนกระทั่งทุกวันนี้ เป็นที่เคารพสักการะของเหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เมื่อสมัยก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 ชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว) และชาวหลวงพระบาง เวียงจันทร์ พากันเดินทางมาสักการะอยู่เสมอ ถ้ำตับเตานี้ เดิมเรียกกันว่า "ถ้ำตั๊บเต้า" เป็นภาษาเหนือ ตรงกับภาษาภาคกลางว่า "ถ้ำทับเถ้าหรือทับขี้เถ้า" ชาวเหนือชอบพูดคำสั้น ๆ เช่น ถ้ำตั๊บขี้เต้า พูดตัดคำให้สั้นลงว่า ถ้ำตั๊บเต้า

ตำนานความเป็นมาของถ้ำนี้ มีอยู่ในศิลาจารึกที่ถ้ำ 3 แผ่น เป็นตัวหนังสือพื้นเมืองเก่าแก่เนื้อความยาวมาก เมื่อย่อความลงมาให้สั้นที่สุดแล้ว มีความว่า

อตีเต กาเล ในอดีตกาลล่วงมานานแล้ว พระอรหันต์เสด็จมาบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่หน้าถ้ำแห่งนี้ ครั้นต่อมาท่านได้ดับขันธ์ เข้าสู่พระนิพพาน ณ หน้าถ้ำนี้เหล่ารุกขเทวาและเทพเจ้าทั้งหลาย ทุกสวรรค์ชั้นฟ้าได้พากันมาถวายพระเพลิงตรงหน้าถ้ำนี้ ไฟทิพย์ที่เผาธาตุขันธ์พระอรหันต์ได้ลามไหม้ป่าไปไกลประมาณ 3 กิโลเมตร กว้างประมาณ 2 กิโลเมตร และยังไหม้ลึกลงไปในดินด้วยอำนาจร้อนแรงกล้า ไม่มีอะไรจะมาหยุดยั้งไฟลุกไหม้ไว้ได้ เดือดร้อนกันใหญ่ถึงพญานาคในเมืองบาดาล ต้องเกณฑ์นาคน้อยใหญ่ทั้งหลายให้ขึ้นมาช่วยกันพ่นน้ำดับไฟเป็นการใหญ่ ในที่สุดด้วยอิทธิฤทธิ์ของพวกพญานาคทำให้ไฟป่าที่ลุกลามไปได้ดับมอดสนิทลง

ขอให้ท่านผู้อ่านใคร่ครวญพิจารณาดูเอาเอง อันว่า ตำนานเก่า ๆ นั้น นักปราชญ์โบราณมักจะซ่อนแง่เงื่อนอันลึกซึ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้ขบคิดอยู่คล้ายปริศนาลายแทง เราท่านจะต้องค่อย ๆ คิดพิจารณาให้ลุ่มลึก อย่าผลีผลามวู่วามใจร้อนด่วนตัดสินเอาง่าย ๆ ด้วยมิจฉาทิฐิ

เมื่อมาจำวัดอยู่ถ้ำตับเตาอันเก่าแก่ทรุดโทรม ครูบาธรรมชัยได้พัฒนาศาสนสถานแห่งนี้อย่างใหญ่หลวง อุตส่าห์อดทนลำบากต่อสู้กับงานหนัก ทุ่มเททั้งแรงใจแรงกายศรัทธาปสาทะ ให้กับงานบูรณปฏิสังขรณ์ปลูกสร้างวัตถุต่าง ๆ อยู่เป็นเวลาถึง 5 ปี สิ้นเงินไปถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นสามพันเก้าร้อยบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากทีเดียวในสมัยนั้น ถ้ำตับเตาอันรกรุงรังทรุดโทรมน่าสะพรึงกลัว ก็กลายเป็นสถานที่น่าเที่ยว น่าไปนมัสการไม่เป็นที่พึงขยาดกลัวของประชาชนอีกต่อไป

ครูบาธรรมชัยได้บูรณะองค์พระประธานในถ้ำที่ยังสร้างไม่เสร็จให้เป็นองค์พระสมบูรณ์ สร้างวิหารมุงพระพุทธไสยาสน์ บูรณปฏิสังขรณ์พระอรหันตสาวกหลายสิบองค์ (รูปปั้น) สร้างที่พักสงฆ์ สร้างศาลาสร้างสถานที่พักสำหรับประชาชน พัฒนาซ่อมแซมถนนเข้าสู่ถ้ำระยะทาง 4 กิโลเมตร และ ฯลฯ

ถ้ำตับเตาเป็นปูชนียสถานน่าเที่ยว บริเวณหน้าถ้ำร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่เป็นแถวเป็นแนว นกน้อยใหญ่นานาพันธุ์ส่งเสียงร้องอยู่ตามต้นไม้อย่างไพเราะ ลิงค่างกระโดดโลดเต้นอยู่ตามต้นไม้ใกล้ ๆ บริเวณวัดไม่กลัวคนเลย ชะนีโหยเสียงห้อยโหนโยนตัวมีให้เห็นเสมอ เสียงร้อยของวิหคนกกาและลิงค่างบ่างชะนีในสถานที่อันเยือกเย็นเปล่าเปลี่ยวอย่างนั้น ทำให้จิตใจอารมณ์ของผู้ที่ได้ไปเยือนบังเกิดความวังเวงสุขใจเพลิดเพลินไม่น้อยทีเดียว

ถ้ำตับเตามี ถ้ำมืด แห่งหนึ่งและ ถ้ำแจ้ง แห่งหนึ่ง ทางขึ้นถ้ำแจ้งเป็นบันไดอิฐถือปูน สูงประมาณ 50 ขั้น มีศาลามุงกระเบื้องขึ้นถึงบนปากถ้ำ ข้างบนนั้นมีรูปปั้นบรมครูโกมารภัทรตรงปากถ้ำ พระประธานที่ถ้ำนี้หน้าตักกว้าง 9 วา 2 ศอก สูง 13 วา 2 ศอก ใหญ่โตมาก หน้าองค์พระประธานมีพระธาตุแห้ง (เจดีย์) และพระเจ้าทันใจหนึ่งองค์ ด้านหลังพระประธานมีบันไดสูงขึ้นไปยังถ้ำปราสาทถัดพระประธานไปมีพระพุทธไสยาสน์ยาว 5 วา หินศิลาจารึกเกี่ยวกับตำนานถ้ำก็อยู่ที่นี่ ครูบาธรรมชัยได้บูรณปฏิสังขรณ์ถ้ำนี้อย่างสวยงามพิสดารอีกหลายอย่าง

14) ถ้ำมืดอันศักดิ์สิทธิ์

ถ้ำมืดอยู่ห่างจากถ้ำแจ้งไปทางเหนือประมาณ 300 เมตร หน้าถ้ำมีบันไดอิฐถือปูนขึ้นไปถึงบนปากถ้ำเช่นเดียวกัน ถ้ำมืดนี้ลึกประมาณ 600 เมตร ภายในถ้ำมืดมาก มองไม่เห็นแม้แต่มือของตัวเอง การเข้าไปชมจะต้องใช้ตะเกียงเจ้าพายุ หรือคบสว่างมาก ๆ ไฟฉายใช้ไม่ค่อยจะได้ผลดีไม่ดีอาจพลาดตกเหวลึกหรือ เหยียบเอางูเข้าด้วย คนนำทางเข้าถ้ำจะต้องเป็นคนของวัดที่คุ้นสถานที่ ถึงจะนำทางได้ปลอดภัย เมื่อขึ้นไปถึงปากถ้ำแล้วจะต้องไต่ลงไปตามขั้นบันไดลึกประมาณ 12 ขั้น ที่นี่มีพระพุทธรูปหลายองค์ศักดิ์สิทธิ์มาก จากจุดนี้ลึกเข้าไปเป็นทางสูง ๆ ต่ำ ๆ แคบ ๆ มีเหวลึกข้างทางหลายแห่ง ถ้าผู้ใดหรือหมู่คณะใดมีจิตใจสกปรกบาปหนา หรือแสดงกิริยามารยาทลามกอนาจาร เมื่อเข้ามาในถ้ำนี้สิ่งประหลาดที่สุดจะต้องเจองู มีทั้งงูเหลือม งูหลาม งูเห่า งูเขียวหางไหม้ ตั้งแต่ตัวเล็กจนถึงตัวใหญ่ขนาดโคนขาขวางทางไว้ ถ้าเราไล่มันไม่ยอมหลีกทางให้ ทางวัดหรือคนนำทางจะรีบพาออกจากถ้ำทันที

แสดงว่าเจ้าที่เจ้าทางหรือเทพยดาอารักษ์ มีความรังเกียจไม่ยอมให้ผ่านเข้าไป ขืนทำกล้าหาญข้ามงูเหล่านี้ไปจะเป็นอันตราย ถ้ำมืดนี้จึงศักดิ์สิทธิ์มาก ใครไม่มีบุญจริง ๆ เข้าไปลำบากเพราะไม่แน่ว่า เข้าไปแล้วจะได้กลับออกมาหรือเปล่าก็ไม่รู้ ด้านในลึกเข้าไปมีประตูชื่อ "ประตูรอดบาป"

ครูบาธรรมชัยได้มาบูรณปฏิสังขรณ์ทำบันไดไต่ขึ้นไปที่ประตูอำนวยความสะดวกให้ศาสนิกชน ประตูนี้อาถรรพณ์ที่สุดยิ่งกว่าทุกแห่งในถ้ำ มีคนจำนวนมากมาแล้วไม่สามารถจะผ่านเข้าไปได้ เพราะปรากฏว่ามีพญางูใหญ่แปลก ๆ ชอบมานอนขวางทางไว้ ตามตำนานได้บอกไว้ว่า อันว่าปุคคละ บุคคลใด ที่มีจิตไม่เป็นบุญเป็นกุศลพูดจาสกปรกหยาบคายไม่เป็นมงคล ไม่เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริงจะมีพญางูน้อยใหญ่มานอนขวางทางไม่ยอมให้บุคคลนั้นรอดบาปผ่านเขาไปในถ้ำด้านในได้เลย

15) พระเจ้าเนื้อนิ่ม

ภายในถ้ำส่วนที่ลึกที่สุดนี้ มีสิ่งมหัศจรรย์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระธาตุน้ำ หรือ เจดีย์น้ำอันนุ่มนิ่มมีบ่อน้ำทิพย์ดื่มกินล้างบาปได้ (ตำนานว่าไว้) พระธาตุน้ำผึ้งเราเอานิ้วมือจิ้มดู จะเป็นรอยบุ๋มลึกลงไปทันที แต่เมื่อเอานิ้วออกก็จะพองกลับขึ้นมาเหมือนเดิม แล้วยังมีพระพุทธรูปปางสมาธิมีชื่อว่า "พระเจ้าเนื้อนิ่ม" ที่ศักดิ์สิทธิ์มาก องค์พระพุทธรูปเนื้อนิ่มไปทั้งองค์คล้ายสร้างด้วยพลาสติกใส่น้ำไว้ข้างในฉะนั้น ลูบคลำดูตรงไหนจะนุ่มนิ่มเนียมมือไปหมด พอเอามือออกก็จะพองนูนเหมือนเดิม พระพุทธรูปองค์นี้สร้างด้วยอิฐถือปูนแข็งแรงเป็นถาวรวัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์สวยงามไม่น้อย มีผู้เคารพเลื่อมใสบุกบั่นฝ่าอันตรายเข้ามานมัสการกราบไหว้ขอพรจากท่านอยู่เสมอ เป็นที่เล่าลือว่าใครขออะไรจากท่านไม่ผิดหวังเลย มักจะสมปรารถนาในสิ่งที่อธิษฐานได้สมใจ

16) ลูกเทวดา

ที่ผนังถ้ำถัดพระเจ้าเนื้อนิ่มไป จะมีรูปปั้นเด็กหญิงและเด็กชายหน้าตาน่ารักยืนบ้างนั่งอยู่คนละแถบ เด็กชายอยู่แถบหนึ่ง เด็กหญิงอยู่แถบหนึ่ง เป็นรูปปั้นเก่าแก่เหล่าลูกเทวดา ใครไม่มีลูกอยากจะได้ลูกจะต้องอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ สมาทานศีลห้าโดยเคร่งครัด แล้วถือดอกไม้ธูปเทียนเข้ามาในถ้ำนี้ กราบไหว้นมัสการหลวงพ่อเนื้อนิ่มตั้งอธิษฐานจิตขอลูกเทวดาจากท่าน เสร็จแล้วให้ถือดอกไม้นั้นไปที่เด็กลูกเทวดา (รูปปั้น) เหล่านั้น ชอบคนไหน ชอบเด็กชายหรือเด็กหญิงให้เดินเลือกดูเอาตามชอบใจ เมื่อต้องตาต้องใจเด็กคนใด แล้วก็วางดอกไม้ลงที่เด็กคนนั้น แล้วบอกกล่าวอัญเชิญไปเป็นบุตรของตน ซึ่งจะสมปรารถนาเป็นที่น่าอัศจรรย์ ท่านผู้ใดอยากจะได้บุตรธิดาเป็นลูกเทวดามีบุญวาสนาก็น่าจะไปลองดู ครูบาธรรมชัยจำวัดอยู่ถ้ำตับเตาบูรณปฏิสังขรณ์ ปฏิบัติรักษาดูแลสถานที่ให้เจริญ พัฒนาอย่างมากมาย เป็นที่อนุโมทนาสาธุจากทุกฝ่าย คือฝ่ายทางการคณะสงฆ์ ฝ่ายข้าราชการบ้านเมืองและประชาชนชาวเหนือ

17) สู่วัดทุ่งหลวง

จากนั้นมาในปี พ.ศ. 2497 ชาวคณะบ้านทุ่งหลวง ตำบลแม่แดง อำเภอแม่แตง ได้พร้อมใจกันมาอาราธนานิมนต์ครูบาธรรมชัยให้ไปจำวัด ณ บ้านทุ่งหลวง เพื่อไปเป็นหลักชัยแก่คณะศรัทธาประชาชนในถิ่นลำเนานั้น และได้นมัสการขออนุญาตจากทางการคณะสงฆ์อีกด้านหนึ่งด้วย มีเจ้าคณะอำเภอฝาง เป็นต้น เมื่อครูบาธรรมชัยยอมรับนิมนต์ด้วยความยินดี ทางฝ่ายคณะสงฆ์ก็อนุญาตให้ย้ายไปอยู่วัดทุ่งหลวงได้ไม่ขัดข้อง

ครูบาธรรมชัยเดินทางมาอยู่ทุ่งหลวงเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2497 วัดทุ่งหลวงขณะนั้นเป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็ก ๆ มีศาลา 1 หลังเท่านั้น บริเวณวัดเป็นป่าดงพงไพร มีหญ้าแน่นหนา ครูบาธรรมชัยมาอยู่วัดนี้ได้เริ่มลงมือก่อสร้างถาวรวัตถุขึ้นในวัดมาเรื่อย ๆ ด้วยความยากลำบาก

แต่ด้วยความเพียรเสียสละของท่านและประกอบด้วยขันติธรรมอย่างแท้จริง ทำให้สาธุชนให้ความเคารพเลื่อมใสหลังไหลมาร่วมงานกุศลกับท่านตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ทำให้วัดทุ่งหลวงซึ่งในอดีตเป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็ก ๆ กลายเป็นวัดที่ใหญ่โตสวยงาม มีถาวรวัตถุครบถ้วนในปัจจุบัน

18) พระผู้สร้าง

ครูบาธรรมชัยเป็นพระเถระที่ได้เสียสละตั้งใจทำงานในด้านพระศาสนา และด้านสาธารณะอยู่ตลอดเวลาไม่หยุดหย่อน นอกจากวัดทุ่งหลวงแล้วท่านได้มีจิตศรัทธาบำเพ็ญประโยชน์ไปยังวัดอื่น ๆ อยู่เสมอ เช่น ได้ไปบูรณปฏิสังขรณ์เสริมสร้างองค์พระธาตุแม่ก๊ะ ไปสร้างพระวิหารวัดปางหก สร้างระฆังใหญ่ทองสัมฤทธิ์ถวายวัดศิริมังคลาจารย์ ตำบลแม่เหียะ ถวายวัดแม่ตามานและวัดม่วงชุมแห่งละ 1 ใบ สร้างพระพุทธรูปพร้อมด้วยระฆังทองและสัตตะภัณฑ์เชิงเทียนไปถวายวัดพระบาทสี่รอย สร้างกุฏิวัดม่วงชุม เป็นต้น รายการสร้างวัด สร้างโรงเรียนประชาบาล สร้างถาวรวัตถุไว้ในพระศาสนา และ สาธารณะสังคมที่ท่านได้ทำไปยังมีอีกมากทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ใคร่ขอผ่านไปไม่สามารถจะนำมาลงได้หมด ครูบาธรรมชัยทำประโยชน์แก่ส่วนรวมเจริญรอยตามครูบาเจ้าศรีวิชย พระปรมาจารย์ทุกประการก็ว่าได้ ตลอดชีวิตของครูบาธรรมชัยเป็นการสร้างสมคุณงามความดี มีผลงานในพระศาสนาและสาธารณะสังคมเป็นประจักษ์เลื่องลือมากมาก แม้งานนั้นจะยากปานใด ท่านก็ทำสำเร็จลงได้ ชีวิตของท่านจึงเป็นชีวิตแห่งการงานที่ไม่นิ่งเฉย ประกอบด้วยขันติธรรมอันสูง พยายามบำเพ็ญประโยชน์ตนและผู้อื่นให้ถึงด้วยความไม่ประมาทอยู่เสมอ ชีวิตสมถะของท่านทรงไว้ซึ่งพรหมวิหาร ถือโอกาสปฏิบัติสมถะ - วิปัสสนากรรมฐานไม่ขาดสาย ได้บำเพ็ญศาสนกิจตามพระธรรมวินัยระเบียบกติกาสงฆ์ สังฆาณัติกฎหมายมาพอสมควร ได้ปกครองอบรมสั่งสอนภิกษุสามเณรศิษย์วัด ให้การศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติกิจประจำวันให้มีระเบียบเรียบร้อย ทั้งด้านการบูรณะปฏิสังขรณ์ปลูกสร้างดังกล่าวมาสงเคราะห์ในสถานที่สมควร ท่านได้เผยแพร่ธรรมะอบรมเทศนาแก่ศรัทธาชาวบ้านสม่ำเสมอ ด้วยความเพียรเสียสละตลอดมา ไม่เคยท้อถอย จึงมีสาธุชนให้ความเคารพเลื่อมใสมากมาย

19) พระผู้รักษา

อนึ่ง ด้วยครูบาธรรมชัยเป็นพระกรรมฐานมีฌานสมาบัติแก่กล้าทรงอภิญญา ในด้านวิทยาคมและแพทย์ศาตร์สงเคราะห์แผนโบราณนั้น มีความเชี่ยวชาญมากเป็นพิเศษ เมื่อประชาชนได้รับทุกขเวทนาทางเจ็บป่วยพากันหลั่งไหลมาขอความเมตตาพึ่งพาใครผู้ใดได้อีกแล้ว ครูบาธรรมชัย ก็ได้ประโลมขวัญให้กำลังใจเขาเหล่านั้น ช่วยสงเคราะห์เมตตารักษาโรคภัยไข้เจ็บให้ ทำให้พ้นจากโรคภัยไปเป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน สามารถมีชีวิตอยู่รอดไปได้ ตามส่วนกุศลผลบุญมากและน้อยแต่ละบุคคล การรักษาโรคของครูบาธรรมชัย ท่านรักษาด้วย พลังกระแสฌาน หรือ พลังจิตขั้นสูง ยึดเอาอำนาจคุณพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณเป็นสรณะสูงสุด และประกอบด้วยยาสมุนไพร ครั้นต่อมาท่านได้นำเอาวิธีการ ฝังเข็ม ด้วยกระแสไฟฟ้าเข้ามาประยุกต์ใช้ด้วย แสดงว่าท่านค้นคว้าก้าวหน้าอยู่เสมอในทางแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ การอบตัวด้วยเครื่องยาสมุนไพรก็เป็นส่วนประกอบอีกแบบหนึ่งในการรักษาที่ขึ้นหน้าขึ้นตาที่วัดของท่านในเวลานี้ โดยมีพระเณร แม่ชี และชาวบ้านคอยต้อนรับคนเจ็บป่วยและช่วยดูแลเครื่องต้นสมุนไพรตลอดจนอำนวยความสะดวกต่าง ๆ บริการอยู่ตลอดเวลา ตามปกติจะมีคนไข้ด้วยโรคพยาธิต่าง ๆ จากทั่วประเทศหลั่งไหลไปขอให้ครูบาธรรมชัยรักษาวันละมาก ๆ ที่รักษาค้างคืนเป็นประจำก็มีมาก ที่รักษาอยู่เป็นเดือนก็มีมากเช่นกัน สุดแต่โรคที่เป็นมากและน้อย เรื่องเงินทองอาหารการกินไม่ต้องวิตกกังวลใจ ครูบาธรรมชัยบริการทุกอย่าง ท่านมีแต่ให้และให้ด้วยความเมตตากรุณาหาที่สุดมิได้ ส่วนใครจะถวายเงินทองท่านหรือไม่ ท่านไม่สนใจ ไม่ใช่เรื่องของท่าน เป็นเรื่องของศรัทธาแต่ละคนแล้ว แต่จะถวายกับทางวัดทางคณะสงฆ์ ท่านให้ทุกคนที่บากหน้าไปหาได้รับแต่ความชุ่มชื่นสมหวังในสิ่งที่ปรารถนาอย่างเดียวเท่านั้น ใครบากหน้าไปหาท่านแล้วจะต้องขนลุกซู่น้ำตาคลอเกิดความปิติอย่างบอกไม่ถูก ปฏิปทาจริยาวัตรการปฏิบัติของท่านพิเศษจริง ๆ ไม่เหมือนหลวงพ่อหลวงปู่วัดใด ใครไม่เชื่อก็น่าจะลองไปพิสูจน์ดูด้วยตนเอง ท่านไม่ใช่พระเกจิอาจารย์ธรรมดา ๆ ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ลงมาเกิดบำเพ็ญบารมี เพื่อหวังพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตอันไกลโพ้น แต่จะเป็นองค์ที่เท่าใดไม่อาจทราบได้ จึงกล่าวได้ว่า ครูบาธรรมชัยมีภารกิจในพระศาสนา และ บำเพ็ญประโยชน์สาธารณะสังคม เป็นภาระหนักทับถมอยู่ตลอดเวลา แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนหลับนอน เวลาพักผ่อนของท่านก็ได้อาศัยการนั่งสมาธิในตอนดึก ๆ นั่นแล เรื่องราวของครูบาธรรมชัยที่เล่ามาตั้งแต่ต้นนี้เป็นเพียง "เสี้ยวหนึ่งของชีวิต" ของท่านเท่านั้น ยังมีเรื่องราวอีกมากมายนักที่ไม่ได้เล่า เพราะถ้าเล่าจนหมดก็คงจะลงในหนังสือใช้เวลาเป็นปี ๆ ถึงจะจบ จึงใคร่จะขอรวบรัดตัดตอนนำมาเล่าสู่กันฟังเฉพาะตอนที่ไม่ "หนัก" จนเกินไปในด้านข้ออรรถข้อธรรม

20) ทองคำค่าควรเมือง

ครูบาธรรมชัยหรือท่านพระครูกองแก้ว ธมมชโย ท่านเป็นพระทรงอภิญญา มีตาทิพย์และหูทิพย์จริงล่ะหรือ ? เกี่ยวกับเรื่องนี้ ใคร่จะขอนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อเจริญศรัทธา และสู่การพิจารณาของท่านที่สนใจ ส่วนที่ท่านจะเชื่อหรือไม่นั้นเป็นสิทธิ์ของท่านผู้อ่านแต่ละท่าน เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อคราวพิธีบรรจุสารีริกธาตุสมเด็จพระพุทธมหามงคลบพิตร ที่อำเภอหาดใหญ่ ตำบลน้ำน้อย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ประมาณปี 2519 และพระอาจารย์ที่ร่วมในพิธีนี้ด้วย หลังจากเสร็จพิธีแล้ว คณะศรัทธาญาติโยมได้นิมนต์ครูบาธรรมชัย และ พระอาจารย์ที่ร่วมในพิธีหลายองค์ ไปเที่ยวน้ำตกทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เท่าที่จำได้ก็มี หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หลวงพ่อสิม พุทธาจาโร หลวงพ่อชุ่ม โพธิโก ร่วมขบวนไปด้วยในครั้งนี้

น้ำตกทรายขาว เป็นเทือกเขาใหญ่สูงสุดที่สำคัญมากในปัตตานี ในอดีตเคยมีการทำเหมืองทองคำที่เขาลูกนี้ คณะหลวงปู่หลวงพ่อที่ไปเที่ยวน้ำตกทรายขาวเป็นอันมาก ปรารภกันว่า สถานที่แห่งนี้ หลวงปู่ทวดเหยียบทะเลน้ำจืด เคยมาบำเพ็ญสมณะธรรมในอดีตกาลนานโพ้น และเมื่อประมาณ 60 - 70 ปีที่ล่วงมานี้ เคยมีผู้มาขุดหาแร่ทองคำทำเหมืองทองมาแล้ว แต่ได้เลิกร้างไปในเวลาต่อมา เพราะว่าทองคำในดินได้หมดไป

หลวงพ่อฤาษีลิงดำได้เอ่ยขึ้นว่า "จะเป็นไปได้ล่ะหรือ ? ที่สายแร่ทองคำจะหมดไปได้ง่าย ๆ จากภูเขาทรายขาวนี้ น่าจะ "เพ่ง" ดูใต้พื้นดินลึกลงไปว่า ยังมีแร่ทองคำเหลืออยู่บ้างหรือเปล่า แล้วหลวงพ่อทุกองค์ที่ไปเที่ยวน้ำตกทรายขาวก็ได้ใช้พลังสมาธิ "เพ่ง" สำรวจดูใต้ผืนแผ่นธรณีในบริเวณนั้น

หลวงพ่อชุ่ม โพธิโกเพ่งดูแล้วครู่หนึ่งก็บอกว่า พบแร่ทองคำอยู่ลึกมากเหลืองอร่ามไปหมดเป็นตัน ๆ มากมายเหลือเกิน มนุษย์ยังไม่สามารถขุดค้นลงไปได้ถึง

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ "เพ่ง" ดูบ้างก็เป็นทองคำอยู่ลึกลงไปใต้ดินเช่นเดียวกันกับที่หลวงพ่อชุ่มได้เพ่งเห็นทองคำเหมือนกัน แต่หลวงพ่อสิม พุทธาจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว ได้เพ่งดูแล้วกลับมองไม่เห็นทองคำที่อยู่ใต้ดิน ท่านได้เห็นแต่มือดำ ๆ ใหญ่โตมาก เป็นมือมีห้านิ้วคล้ายมือมนุษย์แต่ใหญ่โตเท่าภูเขาเลากาอยู่ใต้ดิน

หลวงปู่หลวงพ่อเหล่านั้นเมื่อได้ฟังคำตอบของหลวงพ่อสิม แล้วก็หัวเราะกันใหญ่ คือพวกท่านมีอารมณ์เพลิดเพลินสนุก นึกอยากจะหยอกล้อกันเล่นนั่นเอง ครูบาธรรมชัยจึงยกมือขึ้นแล้วบอกให้หลวงพ่อสิมเพ่งดูอีกครั้ง เมื่อหลวงพ่อสิมเพ่งดูลงไปใต้ดินก็พบว่า มือลึกลับใหญ่โตนั้นหายไป แล้วได้พบแร่ทองคำจำนวนมากมายอยู่ใต้ดินเหลืองอร่ามไปหมด

หลวงพ่อสิมเลยหัวเราะใหญ่ เพราะได้รู้ว่า มือลึกลับใหญ่โตที่ปิดแร่ทองคำใต้ดินไว้เมื่อสักครู่นี้นั้น คือมือของครูบาธรรมชัยนั่นเอง หลวงพ่อสิมเลยกล่าวชมเชยยกย่องครูบาธรรมชัยเป็นการใหญ่ว่า เก่งมาก ๆ ๆ สามารถเอามือปิดกั้นขุมทองคำทั้งขุมไว้ได้ไม่ให้ท่านเห็น

ครูบาธรรมชัยได้กราบขอขมาหลวงพ่อสิมที่ล่วงเกินล้อเล่นในครั้งนี้

หลวงพ่อสิมหัวเราะชอบใจบอกว่า ไม่ถือ ๆ ๆ สนุกดี

หลวงพ่อฤาษีลิงดำถามหลวงพ่อสิมว่า ทำไมทองคำจำนวนมหึมานี้คนถึงขุดลงไปไม่พบ

หลวงพ่อสิมหลับตาใช้ญาณหยั่งรู้อยู่ครู่หนึ่งก็ลืมตาตอบว่า เมื่อถึงเวลาทองจำนวนนี้จะปรากฏขึ้นมาเอง เป็นทรัพย์ในดินของประเทศชาติ เป็นของคู่บุญญาบารมีของรัชกาลต่อไป ตอนนี้เทวดายังไม่ยอมให้ทองคำจำนวนนี้ปรากฏ เพราะยังไม่ถึงเวลา

หลวงพ่อชุ่ม โพธิโก กล่าวว่า ทองคำที่นี่มีมากก็จริง แต่ยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทองคำที่มีอยู่ในผืนแผ่นดินไทยอีกหลายแห่ง ต่อไปในอนาคตประเทศชาติของเราจะร่ำรวยใหญ่ ประชาชนก็จะร่ำรวยมีสุขตามดวงเมืองที่เจริญรุ่งโรจน์

ครูบาธรรมชัยหลับตาใช้ญาณหยั่งรู้บ้าง ท่านกล่าวว่า ทองคำที่น้ำตกทรายขาวนี้เป็นของอาถรรพณ์ที่ฝังลึกอยู่ใต้ดินป้องกันไม่ให้ข้าศึกษาศัตรูมาครองได้ ข้าศึกศัตรูที่บังอาจล่วงล้ำก้าวข้ามขุมทองแห่งนี้เข้ามาจะพบกับความวิบัติฉิบหายในที่สุด

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านเป็นพระทรงวิชชา 3 เรื่องหยั่งรู้อดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นของธรรมดาสำหรับท่านมาก ท่านเห็นด้วยกับครูบาธรรมชัยและหลวงปู่หลวงพ่อร่วมคณะว่า มีทองคำเป็นตัน ๆ มากมายอยู่ที่ภูเขาทรายขาวจริง ทองคำไม่ได้หมดไปตามความเข้าใจของพวกทำเหมืองทองคำยังมีอยู่ใต้ดินนอนนิ่งอยู่ในดิน เวลานี้ใครไปขุดก็เอาขึ้นมาไม่ได้ เพราะยังไม่ถึงเวลาที่เทวดาจะให้ ขืนไปขุดเทวดาก็จะบันดาลให้พบสิ่งกำบังตาอย่างอื่นแทน หรือไม่ก็จะเจอแต่อุปสรรคอันตรายต่าง ๆ เมื่อถึงเวลาทองคำจำนวนมหึมานี้ก็จะปรากฏขึ้นมาเอง ดังนั้นผู้ได้คิดอยากจะร่ำรวยแอบไปขุดในเวลานี้ ขอให้เลิกล้มความคิดนี้เสียเถิด อย่าทำเลยจะประสบเคราะห์กรรมอันตรายนะครับ...นี่ผู้เขียนว่าเองหลวงปู่หลวงพ่อไม่ได้พูดประโยคนี้

21) ญาณพิเศษ

เรื่องมีตาทิพย์ของครูบาธรรมชัยนี้ เป็นที่ยอมรับในหมู่พระเถระชั้นสูงที่อยู่ในวงพระกรรมฐานได้ยกย่องว่า ครูบาธรรมชัยมีญาณพิเศษตาทิพย์หูทิพย์ สามารถจะนั่งทางในไปนรก-สวรรค์ได้ รู้ว่าใครตายไปแล้วไปอยู่ที่ไหน ท่านสามารถติดต่อวิญญาณของผู้นั้นได้ รู้ว่ามนุษย์และสัตว์ที่เกิดมาในโลกนี้ มาจากไหน ชาติก่อน ๆ เคยเสวยภพชาติเป็นอะไรมาบ้าง รู้ว่าคนนี้ป่วยเจ็บจะตายหรือจะหายเมื่อไร รู้ว่าคนที่ไม่ป่วยเจ็บมีร่างกายแข็งแรงดีที่มาพบท่านนั้น เมื่อไหร่จะตาย เมื่อไหร่จะมีโชคลาภ ล่วงรู้ด้วยว่า ในใจกำลังคิดอะไร คิดดีหรือคิดชั่ว เรียกว่าท่านมี เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดวาระจิตผู้อื่น

22) นกทิพย์

เกี่ยวกับเรื่องหูทิพย์นั้น มีเรื่องที่น่ากล่าวถึงอยู่เรื่องหนึ่ง เมื่อคราวมีพิธีบวงสรวงที่พระธาตุจอมกิตติ อำเภอเชียงแสน เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2518 ในพิธีมีหลวงปู่สำคัญ ๆ หลายองค์ไปร่วมด้วย เช่น หลวงปู่ชุ่ม โพธิโก หลวงปู่คำแสน วัดสวนดอก หลวงปู่คำแสน วัดป่าดอนมูล หลวงปู่บุดดา แห่งสำนักสงฆ์สองพี่น้อง อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ครูบาชัยยะวงศ์ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ครูบาธรรมชัยและหลวงพ่อฤาษีลิงดำ

ปรากฏว่า ในพิธีนมัสการบวงสรวงครั้งนั้น มีปรากฏการณ์มหัศจรรย์หลายอย่างเป็นต้นว่า มีฝูงนกประหลาดสีสวยหมู่หนึ่งบินมากระทำประทักษิณาวัตรรอบ ๆ องค์พระธาตุ 3 รอบ แล้วพากันบินเข้ามาเกาะกิ่งไม้ใกล้ ๆ พิธีที่หลวงปู่หลวงพ่อกำลังนั่งปรกพิธีกรรมอยู่

นกประหลาดสีสวยเหล่านั้นได้ส่งเสียงร้องขึ้นพร้อม ๆ กันอย่างเจื้อยแจ้วไพเราะ ท่ามกลางพุทธศาสนิกชนจำนวนนับพัน ๆ ที่นั่งพนมมือสงบเงียบนิ่งรวมอยู่ในบริเวณพิธีกรรม ทุกคนต่างก็ประหลาดใจที่ได้เห็นนกบินมาประทักษิณาวัตร และส่งเสียงร้อยในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นอย่างยิ่ง

พลอากาศโท ม.ร.ว.เสริม สุขสวัสดิ์ ได้นมัสการถามหลวงพ่อฤาษีลิงดำภายหลังออกจากสมาธินั่งปรกแล้วว่า การที่ฝูงนกประหลาดไม่เคยเห็นมาก่อนในโลกนี้บินมาประทักษิณาวัตรและส่งเสียง ร้องประสานเสียงอย่างไพเราะนี้จะมีความหมายเป็นประการใดหรือไม่ขอรับ

หลวงพ่อฤาษีลิงดำยิ้ม ๆ ตอบว่าให้ถามครูบาชุ่มดูซิ

ท่านเจ้ากรมฯ เสริม สุขสวัสดิ์ จึงได้หันไปนมัสการถามหลวงปู่ชุ่ม โพธิโก ครูบาชุ่มยิ้ม ๆ ว่าให้ถามหลวงปู่คำแสน วัดสวนดอกดูซิ

ครั้นเมื่อหันไปนมัสการถาม หลวงปู่คำแสนก็ชี้มือไปที่ครูบาธรรมชัยแล้วว่า ให้ถามครูบาธรรมชัยดูซิ การที่พระอริยเจ้าทั้งสามองค์บ่ายเบี่ยงไม่ยอมตอบคำถาม ทำให้หลวงปู่สิม หลวงปู่บุดดา หลวงปู่คำแสน วัดป่าดอนมูล ต่างก็พากันหัวเราะและสนับสนุนให้ครูบาธรรมชัยเป็นผู้ตอบ

ครูบาธรรมชัยรู้ว่า หลวงปู่หลวงพ่อเหล่านั้นถวายเกียรติยกย่องท่าน จึงกราบนมัสการหลวงปู่หลวงพ่อเหล่านั้นด้วยความเคารพ แล้วจึงตอบว่า นกประหลาดฝูงนี้ไม่มีในภูมิประเทศเขตถิ่นนี้ หากเป็นฝูงนกมาจากโลกอื่น คือมาจากโลกทิพย์ เป็นพวกเทวดาจำแลงแปลงกายมา เพื่อสำแดงสาธุการอนุโมธรรมะและร่วมสวดพระคาถาศักดิ์สิทธิ์จากโลกทิพย์ร่วมด้วยในพิธีกรรม

นี่แสดงว่า ครูบาธรรมชัยรู้ภาษานกและยังล่วงรู้ว่า นกเหล่านั้นมาจากไหน เป็นอะไร เมื่อพิธีการบวงสรวงจบลงแล้ว ฝูงนกเหล่านั้นได้พากันเกาะหมู่บินประทักษิณาวัตรรอบ ๆ พระธาตุจอมกิตติ 3 รอบ แล้วบินหายวับไปในท้องฟ้าจนสุดสายตาของทุกคนในที่นั้น

ทีนี้จะขอกล่าวถึงอีกเสี้ยวหนึ่งในชีวิตของครูบาธรรมชัยเกี่ยวกับการผจญภัยของท่าน ขณะธุดงคกรรมฐาน อันแสดงถึงพลังอำนาจจิตอันแข็งกล้าและบุญบารมีของท่าน ที่ทำให้ท่านล่วงพ้นภยันตรายมาได้เป็นที่น่าอัศจรรย์

23) สะกดหมีควาย

ในปี 2484 ครูบาธรรมชัยมีเวลาว่างจากศาสนกิจและงานสาธารณะกุศลพอสมควรจะปลีกตัวไปบำเพ็ญเพียรกรรมฐานแสวงหาวิเวกได้อยู่บ้าง ท่านจึงออกจากวัดเดินด้วยเท้าขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพ หลังจากที่ท่านเคยไปร่วมงานสร้างทางขึ้นดอยแห่งนี้กับครูบาเจ้าศรีวิชัยมาแล้ว ท่านเคยพบว่า ในป่าด้านหลังดอยสุเทพ บริเวณถ้ำฤาษีนั้น เป็นสถานเงียบสงัดวิเวกธรรมชาติรื่นรมย์เย็นตาเย็นใจเหมาะที่จะบำเพ็ญเพียรภาวนามาก ท่านตั้งใจไว้ว่า เมื่อนมัสการพระบรมธาตุแล้วก็จะเดินทางไปยังถ้ำฤาษีต่อไป

เมื่อครูบาธรรมชัยเดินทางไปถึงลำห้วยแม่งาไซด้านหลังดอยสุเทพ ซึ่งเป็นป่าเปลี่ยวน่ากลัวก็ได้ยินเสียงใครหักไม้ไผ่อยู่ข้าง ๆ ทาง เข้าใจไปว่า คงจะเป็นชาวป่าชาวเขามาตัดไม้ หรือไม่ก็เก็บหน่อไม้จึงผ่านไปไม่สนใจ แต่แล้วก็ต้องสะดุ้ง เพราะปรากฏว่า ผู้ที่หักกอไผ่ดังโผงผางอยู่นั้นไม่ใช่มนุษย์ หากเป็นหมีควายตัวใหญ่สูงเหนือหัวคนกำลังหักกอไผ่ค้นหาหน่อไม้กินอยู่อย่างงุ่นง่าน

ทันทีที่มันเหลือบเห็นท่าน มันก็ผละจากกอไผ่เดินงุ่มง่ามด้วยสองตีนหลังตรงรี่เข้ามาอย่างดุร้าย

ครูบาธรรมชัยรีบหยุดยืนนิ่งไม่เคลื่อนไหว แล้วสูดลมหายใจภาวนาแผ่เมตตาจิตให้มัน

"สัพเพ สัตตา อเวรา อพะยาปัชฌา อนีฆา สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน จงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่างได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด"

หมีควายตัวใหญ่ส่งเสียงคำรามเข้าประชิดตัว เงื้ออุ้งเล็บขาหน้าทั้งสองข้างเตรียมจะตบอยู่แล้ว ขนาดได้กลิ่นลมหายใจอันร้อนแรงฟืดฟาดของมันปะทะหน้าจนร้อนวูบวาบ แต่พอท่านแผ่เมตตาจิตให้มัน ก็ทำให้มันชะงักกึก เงื้ออุ้งเล็บค้างเติ่งอยู่กลางอากาศมีอาการยืนงง ๆ คล้ายโดนมนต์สะกด แต่ท่านได้ได้ใช้เวทย์มนต์สะกดแต่อย่างใด ด้วยบารมีเมตตากระแสธรรมอันลี้ลับมหัศจรรย์โดยแท้ ทำให้หมีควายหยุดชะงักไม่ทำอันตราย มันรีบหันหลังเดินกลับเข้ไปในกอไผ่ก้มหน้าก้มตาหักหน่อไม้กินต่อไป ไม่สนใจกับท่านอีกเลย คล้ายไม่มีตัวตนของท่านในที่นั้น

24) ผจญงูและช้าง

อีกครั้งหนึ่ง ครูบาธรรมชัยเดินธุดงค์ผ่านป่าสักงามดอยสะเก็ด เป็นเวลาใกล้พลบค่ำ ขณะที่กำลังมองหาที่จะปักกลดอยู่นั้น ก็ต้องหยุดยืนนิ่ง เมื่อพบงูจงอาจดำมะเมื่อมจำนวนสิบสองตัว โตขนาดเท่าท่อนแขนเลื้อยปราดออกมาจากจอมปลวกข้างทางชูคอแผ่แม่เบี้ยขวางหน้าไว้

ท่านได้แผ่เมตตาให้มันด้วยจิตอันสงบเยือกเย็นไม่ตื่นเต้นแต่อย่างใด ปรากฏว่างูพิษเหล่านั้นได้ลดแม่เบี้ยลงแล้วค่อย ๆ เลื้อยหนีไป

อีกคราวหนึ่ง ครูบาธรรมชัยได้จาริกธุดงค์ไปในป่าเชียงดาว ขณะไปถึงขุนห้วยแม่ตาดอันเป็นต้นน้ำแม่ตาดนั้น เป็นเวลาเย็นมากแล้ว ท่านจึงปักกลดที่ริมฝั่งห้วย แล้วลงไปตรงน้ำที่ลำห้วย ทันใดก็ต้องตะลึง เมื่อเหลือบเห็นช้างป่าโขลงหนึ่งมีจำนวน 8 เชือก ล้วนสูงใหญ่ล่ำพีมีงางามยาวหลายเชือกได้โผล่ออกจากป่าลงมากินน้ำใกล้ ๆ ท่าน ห่างไม่ถึงสามวา

ช้างทั้งโขลงมีอาการหยุดชะงักจังงัง ด้วยความตื่นตระหนัก ทำท่าจะพุ่งใส่เข้าทำอันตรายท่าน แต่จ่าโขลงได้ชูงวงขึ้นสูงส่งเสียงร้อยแปร๋นขึ้นสามครั้ง คล้ายจะห้ามลูกโขลงไว้ไม่ให้ทำอันตราย

ครูบาธรรมชัยเล่าในภายหลังว่า โขลงช้างไม่ทำอันตรายท่าน เป็นเพราะบารมีธรรมของท่านที่แผ่เมตตาก่อนลงอาบน้ำชำระกายในลำห้วยนั่นเอง

อีกคราวหนึ่ง ครูบาธรรมชัยไปบำเพ็ญกรรมฐานอยู่ในป่าช้าสันปูเลย ใกล้ ๆ กับวัดทุ่งหลวง อำเภอแม่แตง เป็นป่าช้าที่ดุร้ายมีผีดิบปรากฏอยู่เสมอ เป็นที่เกรงกลัวของชาวบ้านทั่วไป แม้แต่ในเวลากลางวัน ถ้าไม่มีกิจธุระจำเป็นชาวบ้านจะไม่เดินผ่านเข้าไปในป่าช้าแห่งนี้เลย

แต่ครูบาธรรมชัยไม่กลัว ท่านได้เข้าไปปักกลดบำเพ็ญกรรมฐานอยู่ในป่าช้าแห่งนี้ โดยไม่ยอมฟังคำทักท้วงทัดทานของศรัทธาญาติโยมที่ห้ามไว้

ปรากฏว่า ได้มีช้างตกมันเชือกหนึ่งเป็นของพ่อเลี้ยงชาวบ้านปากทางปางกว้าง อำเภอแม่แตง ได้แตกปลอกออกอาละวาดไล่ทำร้ายชาวบ้าน และทำลายไร่นาสวนผลหมากรากไม้เสียหายมากมายในถิ่นนั้น ควาญช้างพยายามออกติดตามจับแต่เข้าไม่ถึง เพราะช้างตกมันไล่กระทืบเอาต้องวิ่งหนีเอาตัวรอด ช้างได้มุ่งหน้ามาทางป่าช้าสันปูเลย

ฝ่ายชาวบ้านเกรงว่าครูบาธรรมชัยจะได้รับอันตรายจึงพากันมานิมนต์ให้ท่านรีบหนีออกจากป่าช้าเสียโดยเร็ว กลับไปอยู่วัดทุ่งหลวงอย่างเดิม แต่ครูบาธรรมชัยกล่าวว่า เมื่อปักกลดตั้งสัตย์อธิษฐานจะมาบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ในป่าช้าแล้วเช่นนี้ จะถอนกลดกลับวัดกลางคันไม่ได้ ท่านจะขออยู่ในป่าช้าไม่ไปไหน ถ้ากรรมเวรตามมาถึงตัวแล้วก็จะขอยอมตายอยู่ในป่าช้านี่แหละ

พวกชาวบ้านจึงพากันกลับไปด้วยความผิดหวังและวิตกกังวลเป็นห่วงเป็นใยท่านเป็นอย่างยิ่ง ช้างตกมันเชือกนั้นอาละวาดทำลายเรือกสวนไร่นาเตลิดเปิดเปิงมาถึงป่าช้าสันปูเลยจริง ๆ มันตรงเข้าไปเหยียบย่ำทำลายต้นไม้ในป่าช้าเสียหายยับเยิน

ครั้นพอเห็นกลดของครูบาธรรมชัยปักอยู่มันก็ตรงรี่เข้าไปจะทำร้าย แต่พอเข้าไปใกล้บริเวณด้ายสายสิญจ์ที่ครูบาธรรมชัยขึงไว้รอบ ๆ กลด เพื่อป้องกันสัตว์ร้ายและหมู่มารไม่ให้เข้ามารบกวนสมาธิภาวนา ทำให้ช้างตกมันที่กำลังคลุ้มคลั่งดุร้ายหยุดชะงักลังเลไม่กล้าก้าวข้ามด้ายสายสิญจ์น่าอัศจรรย์ มันหันรีหันขวางกระทืบตีนสนั่นแผดเสียงร้องแปร๋นแสดงความงุ่นง่ามขุ่นเคืองอยู่ครู่ใหญ่ ๆ ครั้นแล้วก็ถอยห่างออกไปยืนคุมเชิงอยู่ในระยะไม่ไกลนัก มันยืนคุมเชิงอยู่นานทีเดียวจึงออกเดินหักกิ่งไม้กินอยู่รอบ ๆ บริเวณกลดนั่นเองไม่ยอมไปไหน คล้ายจะป้องกันไม่ให้ครูบาธรรมชัยออกมาจากกลด แต่ครูบาธรรมชัยก็หาได้หวาดกลัวแต่อย่างใดไม่ ท่านออกมาเดินจงกรมไปมาอยู่ภายในบริเวณขึงด้ายสายสิญจ์เป็นปกติ

เมื่อเดินจนรู้สึกเมื่อยแล้วก็เปลี่ยนเป็นนั่งสมาธิอยู่หน้ากลดบ้าง อยู่ข้างในกลดบ้าง ช้างเชือกนั้นก็หักกิ่งไม้เคี้ยวกินจ้องมองดูคุมเชิงอยู่ห่าง ๆ ชาวบ้านทั้งหลายแตกตื่นตกใจวิตกเป็นทุกข์ยิ่งนัก กลัวช้างจะเข้าไปกระทืบกลดและทำร้ายครูบาธรรมชัยเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ไม่รู้จะเข้าไปช่วยได้ยังไง เพราะกลัวช้างจะเล่นงานเอา

ฝ่ายควาญช้างก็พยายามจะเข้าไปปลอบโยนล่อเอาช้างออกมาจากป่าช้าให้ได้ แต่เข้าไม่ติดเพราะถูกมันไล่เอางวงฟาดเอาต้องวิ่งหนีหัวซุกหัวซุน ชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่พากันร้องไห้ระงมกลัวครูบาธรรมชัยจะถูกช้างเหยียบตาย จะเอาข้าวปลาอาหารเข้าไปถวายก็ไม่ได้เพราะช้างคุมเชิงอยู่ไม่ยอมหนีไปไหน เวลาล่วงเลยมาหลายวันช้างก็ไม่ยอมหนีไปไหน มันคงหักกิ่งไม้ใบไม้กินอยู่แถวนั้น วนเวียนไปมารอบ ๆ กลดแต่ไม่กล้าก้าวข้ามด้ายสายสิญจ์เข้าไป

ครูบาธรรมชัยก็ไม่ยอมออกไปบิณฑบาต ท่านทนอดอาหารเอา ได้แต่ฉันน้ำในกาพอประทังชีวิตไปวัน ๆ สวดมนต์ภาวนาแผ่เมตตาให้ส่ำสัตว์ทั้งหลายทุกคืนวัน

จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึง 15 วัน คือรุ่งเช้าของวันที่ 15 ที่ช้างกักอาณาบริเวณไว้นั้น ในที่สุดมันก็ยอมละพยศคลายจากอาการคลุ้มคลั่งตกมันยอมให้ควาญเข้าจับเอาออกไปจากป่าช้าแต่โดยดี

ฝ่ายญาติโยมชาวบ้านรีบพากันแห่เข้าไปในป่าช้า ด้วยความหวาดวิตกไปต่าง ๆ นานา เกรงว่าครูบาธรรมชัยอาจจะถูกช้างทำอันตรายถึงแก่มรณภาพไปแล้ว หรือไม่ก็อาจจะอดอาหารจนมรณภาพไปแล้วก็เป็นได้ แต่เมื่อทุกคนไปถึงก็ต้องประหลาดใจเมื่อพบว่า ครูบาธรรมชัยเดินจงกรมอยู่ปกติผิวพรรณวรรณะผุดผ่องแจ่มใสแข็งแรงไม่มีท่าทีจะอ่อนเพลียเพราะอดอาหารแต่อย่างใดเลย ทุกคนต่างก็พากันก้มกราบนมัสการร้องไห้ออกมาด้วยความโล่งอกปิติยินดี

ครูบาธรรมชัยบอกกล่าวกับชาวบ้านว่า

"เฮาพ้นคอกแล้ว เขาขังเฮาอยู่ในป่าช้า 15 วัน เพราะชาติก่อนเฮาเคยทำเขามา จึงต้องใช้กรรมให้เขาในชาตินี้"

เรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัยของครูบาธรรมชัย ขณะธุดงคกรรมฐานยังมีอีกมาก ท่านเป็นพระเถระผู้มีเมตตาธรรมสูง บำเพ็ญบารมีทางพระโพธิสัตว์เพื่อจะไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอันไกลโพ้นแต่จะเป็นองค์ที่เท่าไรไม่อาจจะทราบได้ อังนั้นความเมตตาของท่านจึงมีมากเป็นพิเศษ ใครไปขอให้ท่านช่วยอะไร ท่านก็มีเมตตาช่วยอยู่เสมอ

มรณภาพ :

- หลวงปู่ครูบาธรรมชัย ธัมมชโย มรณภาพด้วอาการอันสงบเมื่อเวลา ๒๐.๓๐ น. ตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ รวมสิริอายุได้ ๗๓ ปี ๖ เดือน หลวงปู่ครูบาธรรมชัย ธัมมชโยได้ประกอบ ภาระหน้าที่ของพระสงฆ์ ที่มีต่อประเทศชาติ พระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ได้ครบถ้วนบริบูรณ์ทุกประการ คณะศิษย์ได้อาราธนาพระสรีระร่าง ของหลวงปู่เก็บรักษาประดิษฐานไว้ในโลงแก้ว ณ วัดทุ่งหลวง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่เพื่อให้ศรัทธาประชาชนได้กราบสักการะบูชาจนถึงปัจจุบัน

ผลงาน :-

- พัฒนาและให้ความอุปถัมภ์วัดต่างๆ ใน อำเภอแม่แตง อำเภอต่างๆ ในเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง ศาสนสถานและศาสนสมบัติต่างๆประมาณ ๖๐ วัด

- ให้ความอุปถัมภ์กิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนประชาบาลใน อำเภอแม่แตง และอำเภอใกล้เคียง

- อนุเคราะห์คนป่วยไข้ทั่วไปด้วยเภสัชสมุนไพรมากกว่า ๔๐,๐๐๐ คน

- พัฒนาเสนาสนะวัดทุ่งหลวง เนื้อที่ ๒๐ ไร่เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๑

- พัฒนาสถานที่ปฏิบัติธรรมเมืองนิพพาน ๑๔ไร่

- พัฒนาสถานที่ตั้งบ่อน้ำทิพย์ ๙๑ ไร่ 

ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com

Top