ประวัติ พระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด) - วัดโคนอน แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร - webpra

พระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด)

ประวัติ วัดโคนอน แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

 

 พระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด)   วัดโคนอน  แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

ประวัติและปฏิปทา 
พระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด) 

วัดโคนอน 
แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 


• ชาติภูมิ 

อัตโนประวัติของ “หลวงปู่รอด” ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าท่านเป็นบุตรของใคร เนื่องจากท่านเป็นพระเถราจารย์ยุคเก่า แต่เท่าที่ปรากฏหลักฐานท่านมีพื้นเพและภูมิลำเนาเดิมอยู่คลองขวาง ต.คุ้งเผาถ่าน อ.บางขุนเทียน จ.ธนบุรี (ในสมัยนั้น) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระครูธรรมถิดาญาณ” หลวงปู่รอดท่านเป็นฐานานุกรมของ พระนิโรธรังสี พระราชาคณะชั้นสามัญ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดหนัง ราชวรวิหาร ในยุคของการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ และเป็นพระเถระผู้เชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนาธุระที่สำคัญรูปหนึ่ง ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นพระผู้เรืองในพุทธาคม สรรพวิทยาคมต่างๆ เมื่ออยู่วัดหนัง ราชวรวิหาร อยู่หมู่กุฏิสงฆ์คณะสระ ครั้นเมื่อ พระนิโรธรังสี ถึงแก่มรณภาพแล้ว ท่านได้รักษาการเจ้าอาวาสอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น เจ้าอาวาสวัดนางนอง วรวิหารและพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในพระราชทินนามที่ “พระภาวนาโกศล”

เมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนางนอง วรวิหาร ท่านได้เอาใจใส่ดูแลพัฒนาพระอารามแห่งนี้จนเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ โดยมี พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) เป็นกำลังอันสำคัญคอยดูแลเอาใจใส่ในทุกด้าน หลวงปู่เอี่ยมจึงเป็นที่ไว้วางใจและได้รับการถ่ายทอดพุทธาคม สรรพวิทยาคมต่างๆ จากหลวงปู่รอดจนหมดสิ้น ในระหว่างพำนักจำพรรษา ณ วัดนางนอง วรวิหาร แห่งนี้ หลวงปู่เอี่ยมได้รับแต่งตั้งเป็น พระใบฎีกา และ พระปลัดตามลำดับ ในฐานานุกรมของพระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด) จนกระทั่งมีเหตุต้องย้ายไปอยู่วัดโคนอน 


• ถูกราชภัย ถูกถอดสมณศักดิ์ 

สำหรับมูลเหตุแห่งการย้ายไปอยู่วัดโคนอนนั้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐิน ณ วัดนางนอง วรวิหาร เล่ากันว่า หลวงปู่รอดไม่ยอมถวายอดิเรก (ถวายพระพร) นับเป็นความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพราะเมื่อพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงถวายผ้าไตรเสร็จสิ้นแล้ว พระสงฆ์ต้องถวายอดิเรกตามธรรมเนียมพระราชประเพณี แม้หลวงปู่เอี่ยมซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระปลัด ได้เตือนให้ถวายอดิเรกแล้วแต่ท่านก็ยังนิ่งเฉยเสีย เป็นที่โจษจันกันมากว่า พระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงกริ้วมาก เสด็จออกมานอกพระอุโบสถทันที แล้วทรงตรัสด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า “เขาถอดยศเราๆ” 

ต่อมาอีกไม่นาน ก็ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ถอดพระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด) ออกจากสมณศักดิ์ในฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเรียกพัดยศคืน หลวงปู่รอดท่านจึงได้ย้ายกลับไปอยู่วัดบ้านเกิดที่ห่างไกลจากความเจริญ คือ วัดโคนอน ซึ่งอยู่ในคลองขวางฝั่งตะวันตก ภาษีเจริญ และได้มรณภาพที่วัดแห่งนี้ 

ผู้คนพากันโจษขานว่า เหตุที่หลวงปู่รอดท่านไม่ยอมถวายอดิเรกในคราวนั้น เป็นการเอาอย่างสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หรือท่านขรัวโต ที่กล้าเตือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างไม่หวั่นเกรงภัยใดๆ และท้ายที่สุดพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ไม่ทรงกริ้ว ทั้งยังทรงตรัสว่า “ยอมให้ท่านขรัวโตผู้เดียว” 

แต่เมื่อมีเชื้อพระวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ไปสอบถามท่าน ณ วัดโคนอน หลวงปู่รอดท่านตอบว่า สาเหตุที่ท่านไม่ยอมถวายอดิเรกนั้น เป็นเพราะท่านไม่พอใจในการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้แบ่งแยกพระสงฆ์ของไทยออกเป็น ๒ นิกาย คือ มหานิกาย กับ ธรรมยุติกนิกาย อันเป็นสาเหตุทำให้คณะสงฆ์ต้องแตกแยกกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้ใดไม่เห็นด้วยก็ไม่ควรเป็น “พระราชาคณะ” อีกต่อไป เพราะคำว่า “พระราชาคณะ” นั้นแปลว่า “พวกของพระเจ้าแผ่นดิน หรือพระราชา” 

เมื่อความทราบถึงพระเนตร พระกรรณ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่า หลวงปู่รอดผู้นี้ยอมสละสมณศักดิ์เพื่อบูชาพระวินัย ท่านเป็นผู้ไม่เห็นแก่ลาภยศทั้งปวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สัตบุรุษ คือ ท่านเจ้ากรมสังฆการี นำพัดยศและสมณศักดิ์มาถวายคืนให้กับหลวงปู่รอด เพื่อให้ดำรงสมณศักดิ์ดังเดิม แต่หลวงปู่รอดท่านไม่ยอมรับ และได้พูดกับสังฆการีว่า 

“ใครเป็นผู้ถวายแก่อาตมา แล้วใครเล่าที่ขอคืนไป บุรุษท่านจงเอากลับคืนไปเถิด”

ในขณะนั้นหลวงปู่เอี่ยมท่านบวชได้ ๑๖ พรรษา ในฐานะศิษย์ผู้ใกล้ชิด จึงได้ย้ายจากวัดนางนอง วรวิหาร ติดตามไปคอยปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์ของท่าน ณ วัดโคนอน สำนักใหม่ อย่างไม่ลดละ แสดงให้เห็นถึงความกตัญญูรู้คุณ และน้ำใจอันประเสริฐต่อผู้เป็นพระอาจารย์ แม้ในยามถูกราชภัย ถูกถอดสมณศักดิ์ลงเป็นขรัวตาธรรมดา ต้องตกทุกข์ได้ยาก อับวาสนา ก็ไม่ยอมตีตัวออกห่าง ยังติดตามไปคอยปรนนิบัติรับใช้อย่างใกล้ชิด นับว่าเป็นคุณธรรมที่ปรากฏเล่าขานสรรเสริญกันมาจนทุกวันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลวงปู่รอดจะประสิทธิ์ประสาทสรรพวิทยาการนานาประการให้กับหลวงปู่เอี่ยมจนสิ้นภูมิความรู้ที่มีอย่างไรก็ตาม หลวงปู่เอี่ยมมักจะพูดถึงและย้ำอยู่เสมอว่า “ท่านเก่งสู้อาจารย์ไม่ได้ มีวิชาอีกหลายอย่างที่ท่านศึกษาไม่ถึง” ต่อมาหลวงปู่รอดท่านได้สร้าง วัดอ่างแก้ว ภาษีเจริญ ขึ้นมา ครั้นเมื่อหลวงปู่รอดได้ถึงแก่มรณภาพลง หลวงปู่เอี่ยมก็ได้ครองวัดเป็นเจ้าอาวาสวัดโคนอนสืบแทนต่อมาในระยะหนึ่ง 

 

  พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) วัดหนัง

พระภาวนาโกศล (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) วัดหนัง

 

• พระอาจารย์ของหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง 

ปรากฏตามหลักฐานชัดเจนว่า หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร แห่งวัดหนัง ราชวรวิหาร ได้ศึกษาด้านวิปัสสนาธุระ และพุทธาคม สรรพวิทยาคมต่างๆ กับ หลวงปู่รอด ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ในคราวอุปสมบทของท่านเอง หลวงปู่รอดท่านเป็นพระวิปัสสนาจารย์ที่เก่งกล้าในด้านพุทธาคม สรรพวิทยาคมต่างๆ มีตบะเดชะที่กล้าแข็ง และสำเร็จวิชชา ๘ ประการ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ล่วงรู้วาระจิต รู้อดีต รู้อนาคต แสดงฤทธิ์ได้ ฯลฯ และจากการศึกษาชีวประวัติของหลวงปู่เอี่ยม จะเห็นได้ว่าท่านเจริญรอยตามพระอาจารย์รูปนี้มาโดยตลอด ท่านถอดแบบอย่างมาจากหลวงปู่รอดแทบจะเป็นพิมพ์เดียวกัน หลวงปู่รอดเก่งอย่างไร หลวงปู่อี่ยมก็เก่งอย่างนั้น เช่นเดียวกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เจริญรอยตาม สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ผู้สร้างพระสมเด็จ “อรหัง” และพระสมเด็จฯ วัดพลับ เช่น ในการที่หลวงปู่เอี่ยมท่านได้สร้างพระปิดตาและพระปิดทวาร ฯลฯ ขึ้น ก็ถอดลักษณะมาจากพระเครื่องทั้ง ๒ ชนิดของหลวงปู่รอด


• วิทยาคุณและคุณวิเศษ 

วิทยาคุณและคุณวิเศษของพระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด) ที่จะบรรยายต่อไปนี้ คุณปู่ทรัพย์ ทองอู๋ ผู้ซึ่งเป็นบุตรของลูกพี่ลูกน้องของหลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร แห่งวัดหนัง ราชวรวิหาร และเป็นบิดาของคุณพ่อพูน ทองพูนกิจ ได้เล่าให้ทายาทฟังต่อๆ กันมา ซึ่งจะได้นำมาประมวลเข้าไว้ดังต่อไปนี้

การถอนคุณไสย์

ในการออกเดินธุดงค์คราวหนึ่งของหลวงปู่รอด ท่านได้ไปถึงชนบทแห่งหนึ่งแถวๆ ทุ่งสมรหนองขาว เขตติดต่อระหว่างกาญจนบุรีกับราชบุรี คืนวันหนึ่งขณะที่ท่านอยู่ในกลด มีพายุอื้ออึง มีเสียงต้นไม้ต่างๆ ดังลั่นและหักโค่นดังกึกก้องไปหมด ท่านจึงทำสมาธิเจริญพุทธาคม สงบนิ่งอยู่ พระที่ติดตามท่านเดินธุดงค์ได้ยินเสียงวัตถุหนักๆ ปลิวมาตกอยู่รอบบริเวณที่ปักกลด เสียงดังตุบ เช้าขึ้นพอเปิดกลดออกมาก็เห็นท่อนกระดูกตกเรี่ยราดอยู่รอบบริเวณนั้น พอสักครู่หนึ่งก็มีชาวบ้านกะเหรี่ยง ๒-๓ คนเดินตรงเข้ามา บางคนก็ถือจอบและเสียมมาด้วย เมื่อได้สอบถามจึงได้ความว่าเขาเตรียมฝังศพพระธุดงค์ ซึ่งคาดว่าจะต้องถูกคุณไสย์มรณภาพเมื่อคืนนี้

ครั้นเมื่อเห็นว่าหลวงปู่รอด และพระผู้ติดตามยังปกติดีอยู่ พวกกะเหรี่ยงจึงพากันกลับไป แต่พอไม่ทันไรก็พากันมาอีก แต่ในตอนนี้นำเอาอาหารมาถวายด้วย หลวงปู่รอดบอกพระผู้ติดตามว่าอย่าได้ฉันอะไรเป็นอันขาด พอรับประเคนอาหารจากพวกกะเหรี่ยงแล้ว ท่านก็เรียกให้พระผู้ติดตามเอาหม้อกรองน้ำของพระธุดงค์มาให้ จากนั้นหลวงปู่รอดก็บริกรรมทำประสะน้ำมนต์พรมอาหารนั้น

ปรากฏว่าข้าวสุกที่อยู่ในกระด้งก็กลายเป็นหนามเล็กๆ เต็มไปหมด กับข้าวต่างๆ ในกะลามะพร้าวก็กลายเป็นกระดูกชิ้นน้อย หลวงปู่รอดเอามือกวาดกระดูกและหนามเหล่านั้นไว้ แล้วคืนภาชนะที่ใส่มาให้กับพวกนั้นไป พวกกะเหรี่ยงพยายามจะขอคืนไปท่านไม่ยอมให้ ตกกลางคืนหลวงปู่รอดบอกกับพระลูกศิษย์ว่า ท่านจะปล่อยของเหล่านี้กลับไปเล่นงานเจ้าพวกนี้บ้าง เพียงสั่งสอนให้รู้สึกสำนึกเท่านั้น พอรุ่งเช้าพวกกะเหรี่ยงก็รีบมาหาหลวงปู่รอดแต่เช้ามืด คราวนี้หามคนป่วยมาด้วยคนหนึ่ง กล่าวคำขอขมาและขอร้องให้ท่านว่าช่วยรักษา ลักษณะคนป่วยร่างกายบวมไปทั้งตัวเหมือนศพที่กำลังขึ้นอืด หลวงปู่รอดหัวเราะแล้วถามว่าเป็นอะไรบ้าง คนป่วยได้แต่นอนอยู่ ได้แต่กรอกหน้าและยกมือขึ้นพนม หลวงปู่รอดจึงเอาน้ำมนต์ในหม้อกรองน้ำ (ลักจั่น) พรมลงไปตามร่างคนป่วย เพียงครู่เดียวนั้นเองร่างกายที่บวมก็ค่อยยุบเป็นอัศจรรย์ ทุกคนก็กราบหลวงปู่ด้วยความยำเกรง แล้วบอกว่าจะนำอาหารมาถวาย แต่ท่านบอกว่าจะถอนกลดแล้วเดินธุดงค์ต่อไป หลังจากได้ปักกลดอยู่ ๒ คืนแล้ว

การเดินบนใบบัว

เรื่องนี้เนื่องมาจาก การเดินธุดงค์ในสมัยที่ “หลวงปู่เอี่ยม” ยังเป็นสามเณร ได้เล่ากันต่อๆ มาว่า ในครั้งนั้นหลวงปู่รอดได้เดินธุดงค์โดยมี สามเณรเอี่ยม ร่วมทางไปด้วย ในระหว่างทางห้วยกระบอกหรือห้วยกลด เขตจังหวัดกาญจนบุรี พอมาถึง ณ ที่แห่งหนึ่ง เห็นกลดของพระธุดงค์ร้างปักอยู่มาก เนื่องจากหนีสัตว์ป่าไปเสียข้างหน้า ภูมิประเทศโดยรอบเป็นภูเขาสูงชันมากยากแก่การปีนป่าย และมีต้นไม้ขึ้นเต็มไปหมด ซ้ำยังมีบึงบัวใหญ่ขวางหน้าอยู่อีก ท่านจึงพิจารณาว่าจะต้องข้ามทางบึงบัวนี่แหละ จึงจะออกจากสถานที่นั้นได้ หลวงปู่รอดจึงบอกกับสามเณรเอี่ยมว่า เมื่อท่านเดินก้าวลงใบบัวในหนองน้ำนั้น ชึ่งเป็นพืดติดต่อกันไปถึงฝั่งตรงข้าม ให้สามเณรคอยก้าวตาม เหยียบทับรอยเท้าของท่านบนใบบัวแต่ละใบ อย่าให้พลาดโดยเด็ดขาด รอยไหน รอยนั้น

หลวงปู่รอดจึงบอกคาถาให้บริกรรมขณะที่จะก้าวเดิน แล้วท่านก็เจริญอาโปกสิณอยู่ครู่หนึ่ง ท่านก็ได้ก้าวเดินบนใบบัวที่กางใบสลอนทั่วบึงนั้น ทีละก้าว ส่วนสามเณรเอี่ยมก็ก้าวตามไปพร้อมด้วยบริกรรมคาถา ผ่านท้องน้ำอันเวิ้งว้างไปโดยตลอด ราวกับว่าใบบัวนั้นเป็นถาดไม้รองรับน้ำหนักตัวของหลวงปู่รอด และสามเณรเอี่ยมได้โดยไม่ยุบจมหายไปในน้ำนั้นเสีย เท้าต่อเท้า ก้าวต่อก้าว ไม่มีผิด ไม่มีพลาด อาจารย์ทิ้งรอยเท้าไว้ สามเณรเอี่ยมก็รีบสวมรอยเท้านั้นทันที จนในที่สุดสามเณรเอี่ยมเห็นว่า ใบบัวก้าวสุดท้ายของหลวงปู่รอดก่อนที่ท่านจะก้าวขึ้นฝั่งนั้น เป็นใบบัวที่เล็กมากและอยู่เกือบชิดตลิ่งแล้ว จึงไม่เหยียบตามหลวงปู่รอดไป จะสืบเท้าก้าวขึ้นฝั่งเลยทีเดียว แต่ไม่สำเร็จ เพราะใบบัวที่เท้าหลังเหยียบอยู่ยุบตัวลงเสียก่อน สามเณรเอี่ยมจึงตกลงไปในน้ำเสียงดังโครม ดีที่ว่าใกล้ตลิ่งมากแล้วจึงไม่ได้รับอันตรายมาก หลวงปู่รอดหันมาดู ได้แต่หัวเราะชอบใจเสียงดัง และกล่าวขึ้นว่า “บอกให้เดินตามทุกก้าวไป ก็ไม่ยอมเดิน ถ้าเป็นกลางบึงคงสนุกกันใหญ่ละ”

การสะกดจิต

คุณปู่ทรัพย์ ทองอู๋ บิดาของคุณพ่อพูน ทองพูนกิจ ได้เล่าเรื่องประหลาดกันต่อๆ มาว่า ได้มีคนร้ายขโมยเรือของหลวงปู่รอดที่จอดไว้ลำคูริมคลองขวางไป แต่ไม่สามารถจะพายไปได้ คงเวียนอยู่หน้าวัดโคนอน หน้ากุฏิของท่าน จนเช้าพระลูกวัดรูปหนึ่งจะเอาเรือออกบิณฑบาต ครั้นไม่เห็นเรืออยู่ แต่กลับเห็นชายแปลกหน้าคนนั้นกำลังพายเรือวนเวียนอยู่ จำได้ว่าเป็นเรือของหลวงปู่รอด จึงได้นำเรื่องไปเรียนให้ท่านทราบ 

หลวงปู่รอดจึงลงมาที่ท่าน้ำ ขณะนั้นได้มีชาวบ้านใกล้เคียงมาดูกันอยู่เนืองแน่น ท่านจึงตะโกนบอกไปว่า “เจ้าจงเอาเรือมาคืนพระเสีย ท่านจะเอาไปบิณฑบาต” คนร้ายก็พายเรือมาจอดให้พระท่านแต่โดยดี แล้วท่านก็สั่งต่อไปว่า “ขึ้นมาบนกุฏิเสียก่อน” คนร้ายก็ขึ้นตามคำสั่ง ในที่สุดหลวงปู่รอดก็สั่งให้เด็กจัดเอาอาหารมาให้รับประทาน แล้วก็สั่งต่อไปอีกว่า “จะกลับบ้านก็กลับเถิด” คนร้ายจึงได้เดินลงจากกุฏิไป


• การมรณภาพ 

พระภาวนาโกศล (หลวงปู่รอด) ได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ ณ วัดโคนอน 

 

  พระรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)

พระรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) 

 

  รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ณ อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม ต.วังเย็น อ.บางแพ จ.ราชบุรี

รูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
ณ อุทยานหุ่นขี้ผึ้งสยาม ต.วังเย็น อ.บางแพ จ.ราชบุรี 

 

♥ คัดลอกเนื้อหาบางตอนมาจาก :: 
ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44681

Top