ประวัติ พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ (พระครูวิสุทธิศีลคุณ) - วัดสามัคคีบุญญาราม (วัดคีรีสุบรรพต) บ้านทุ่งสามัคคี ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง - webpra

พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ (พระครูวิสุทธิศีลคุณ)

ประวัติ วัดสามัคคีบุญญาราม (วัดคีรีสุบรรพต) บ้านทุ่งสามัคคี ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง

 

 

พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ  (พระครูวิสุทธิศีลคุณ)   วัดสามัคคีบุญญาราม (วัดคีรีสุบรรพต)  บ้านทุ่งสามัคคี ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง

ประวัติและปฏิปทา 
พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ 
(พระครูวิสุทธิศีลคุณ) 

วัดสามัคคีบุญญาราม (วัดคีรีสุบรรพต) 
บ้านทุ่งสามัคคี ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง 


๏ ชาติภูมิ 

“พระครูวิสุทธิศีลคุณ (พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ)” สิริอายุ ๕๗ ปี พรรษา ๒๒ (เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖) มีนามเดิมว่า ชายแดน สุภาพงษ์ เกิดเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ ณ บ้านเลขที่ ๙ หมู่ที่ ๑ บ้านดงเย็น ตำบลดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี โยมบิดาชื่อ นายแก้ว สุภาพงษ์ มีพี่น้องทั้งหมดรวม ๙ คน เป็นหญิง ๘ คน ท่านเป็นบุตรชายเพียงคนเดียว มีชื่อตามลำดับดังนี้ 

๑. นางเสถียร วรรณาราม 
๒. แม่ชีปาน สุภาพงษ์ 
๓. นางสมภาร สุภาพงษ์ 
๔. นางวิมาล สุภาพงษ์ 
๕. พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ 
(นายชายแดน สุภาพงษ์) 
๖. นางหนูแหวน ป้องคำสิงห์ 
๗. นางพวงเพชร แสงสุวรรณ 
๘. นางคนึงจิต สุภาพงษ์ 
๙. นางนิตยา สุภาพงษ์ 


๏ การศึกษา 

ประถมศึกษาปีที่ ๑ - ๔ โรงเรียนดงเย็นพรหมประชาสรรค์ 
ประถมศึกษาปีที่ ๕ - ๗ โรงเรียนชุมชนดงเย็น 


๏ การทำงาน 

ได้ศึกษาความรู้ด้านช่างเครื่องทำความเย็นและไฟฟ้า 
ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๓ - พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นช่างอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา 
ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๑ - พ.ศ. ๒๕๒๖ ไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอารเบีย 
หลังจากกลับมาจากต่างประเทศได้ทำกิจการส่วนตัวจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๓ 

 

พระธรรมวราลังการ (หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ)

พระธรรมวราลังการ (หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ) 

 

 หลวงปู่ขาน ฐานวโร

หลวงปู่ขาน ฐานวโร 

 

 พระอาจารย์บุญจันทร์ จนฺทวโร

พระอาจารย์บุญจันทร์ จนฺทวโร 

 

 พระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวงปู่หลวง กตปุญโญ)

พระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวงปู่หลวง กตปุญโญ) 

 

 พระพรหมเมธี (จำนง ธมฺมจารี) เจ้าคณะภาค ๔-๕-๖-๗ (ธรรมยุต)

พระพรหมเมธี (จำนง ธมฺมจารี) เจ้าคณะภาค ๔-๕-๖-๗ (ธรรมยุต) 

 

๏ การอุปสมบทและการจำพรรษา 

เมื่ออายุได้ ๓๔ ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดศรีสุทธาวาส (วัดเลยหลง) พระอารามหลวง ตำบลกุดป่อง อำเภอเมือง จังหวัดเลย เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยมี พระธรรมวราลังการ (หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพวราลังการ รองเจ้าคณะภาค ๑๑ (ธรรมยุต) เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาว่า “สีลสุทฺโธ” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้มีศีลอันบริสุทธิ์” 

พรรษาที่ ๑ - ๒ 
จำพรรษาที่วัดวชิรทรงธรรมพัฒนา (วัดป่าบ้านเหล่า) บ้านเหล่า ตำบลทุ่งก่อ กิ่งอำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับ หลวงปู่ขาน ฐานวโร 

พรรษาที่ ๓ - ๕ 
จำพรรษาที่วัดถ้ำผาผึ้ง ตำบลหนองบัว อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับ พระอาจารย์บุญจันทร์ จนฺทวโร 

พรรษาที่ ๖ - ๗ 
จำพรรษาที่วัดป่าสำราญนิวาส ตำบลศาลา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับ พระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ) 

พรรษาที่ ๘ - ปัจจุบัน 
จำพรรษาที่วัดสามัคคีบุญญาราม หรือวัดคีรีสุบรรพต หรือวัดดอย บ้านทุ่งสามัคคี ตำบลพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เป็นผู้ปฏิบัติอุปัฏฐากรับใช้ พระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ) ขณะที่หลวงปู่หลวงอยู่ปฏิบัติธรรม ณ วัดสามัคคีบุญญาราม (วัดคีรีสุบรรพต) จวบจนกระทั่งหลวงปู่มรณภาพ 


๏ สมณศักดิ์และตำแหน่งทางคณะสงฆ์ 

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ก่อนที่หลวงปู่หลวงมรณภาพ ได้แต่งตั้งให้พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ เป็นเจ้าอาวาสวัดสามัคคีบุญญาราม (วัดคีรีสุบรรพต) สืบต่อจากองค์ท่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูสังฆรักษ์ชายแดน สีลสุทโธ” 

ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในพระราชทินนามที่“พระครูวิสุทธิศีลคุณ” 

ต่อมาเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ท่านได้รับการแต่งตั้งจาก พระพรหมเมธี (จำนง ธมฺมจารี)กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค ๔-๕-๖-๗ (ธรรมยุต) ให้เป็น เจ้าคณะอำเภอเมืองลำปาง (ธรรมยุต) 


๏ นำพาปฏิบัติสมาธิภาวนา ทุกวันเสาร์ 

พระอาจารย์ชายแดน ท่านมีความปรารถนาในการอบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปให้เข้าถึงซึ่งธรรมะและปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ตามแนวทางพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่พาดำเนิน สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยท่านได้นำพาพุทธศาสนิกชนไหว้พระ สวดมนต์ ฟังธรรม และปฏิบัติสมาธิภาวนา ทุกวันเสาร์ เวลา ๑๙.๐๐-๒๑.๓๐ น. เพื่อพัฒนาจิตใจเป็นสำคัญและเพื่อสร้างแนวทางในการวิปัสสนา ณ วัดสามัคคีบุญญาราม (วัดคีรีสุบรรพต)

 

 

 

 

 สัญญาบัตรพัดยศที่ พระครูวิสุทธิศีลคุณ

สัญญาบัตรพัดยศที่ พระครูวิสุทธิศีลคุณ 

 

๏ คติธรรมคำสอน 

- วันดีก็ไม่มี วันที่ไม่ดีก็ไม่มี ถ้ายังลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับวันดี วันไม่ดีแล้ว พวกเราจะเสียการ จงทำให้ดีที่สุด ถ้าความตายมาก่อนวันที่คุณคิดว่าดี คุณจะไม่ได้ทำดีอะไรเลย ความตายก็เป็นของที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีใครรู้เลยว่าเขาจะมาวันไหน เวลาไหน ถ้าเขามาพรุ่งนี้ มะรืนนี้ เราจะไม่มีศาสตราวุธใดๆ ต่อสู้เขาไดัเลย ฉะนั้น ความดีทั้งหลายต้องทำตรงนี้ เดี๋ยวนี้ เวลานี้ ก่อนความตายจะมาถึง 

- วันสำคัญร้อยวัน พันวัน ก็ไม่สำคัญเท่าวันที่เราละกิเลสออกจากใจได้แค่วันเดียว 

- พวกแก้กรรมก็เหมือนกัน ถ้าแก้ด้วยสังฆทานจะไปได้ถึงไหน ต้องทำด้วยคุณงามความดีสิ คุณงามความดีและจิตที่สะอาดจากการปฏิบัตินั้น คือการตัดรากเหง้าของกรรมที่แท้จริง 

- รักษาสติให้สม่ำเสมอ เห็นเท่าที่เห็น ได้เท่าที่ได้ อย่าไปบังคับจิตให้เป็นไป อยากไปก็ไม่ได้ อยากดีมันก็กิเลสเหมือนกันทั้งนั้น เห็นเท่าที่เป็น และทำไปเรื่อยๆ ให้ต่อเนื่อง อย่าไปทิ้ง ถ้าทิ้งก็ป่วยการ เสียดายเวลามีชีวิตเป็นมนุษย์ เข้าใจไหม 

- ธรรมะเป็นเรื่องของความเพียร ถ้าผู้ใดมีความเพียร และเพียรในทางที่ถูกต้องก็ย่อมจะสำเร็จได้ ธรรมะและการพ้นทุกข์ไม่มีทางลัด จะมาหวังลงทุนน้อยแต่ได้มาก ไม่มี ! มีแต่ทางตรง และความเพียรถูกต้อง 

- ธรรมจะเกิดได้ต้องทำเอง พึ่งใครไม่ได้นอกจากตัวเอง อย่าไปหวังพึ่งฟ้าฝน เทวดาที่ไหน เพราะเขาก็ต้องทำเอาเองเหมือนกัน ใครก็ช่วยใครไม่ได้ในเรื่องนี้ นอกจากต้องทำเอาเอง ก็จงรีบทำ ท่านทั้งหลายอย่าให้เสียเวลาไปเสียเฉยๆ จะเสียชาติเกิดที่ได้เป็นมนุษย์เสียแล้ว 

- ยศฐาบรรดาศักดิ์ย่อมฆ่าคนโง่เขลา แต่สำหรับผู้มีปัญญาแล้ว มีเขาก็ไม่ติด ไม่มีเขาก็ไม่ติด ความเสมอภาคเป็นธรรมอันสูงยิ่ง 

- ชีวิตของความเป็นจริงทุกคน คือ การใช้กรรม (ดีชั่ว) การที่จะตัดกรรมได้นั้นต้องประพฤติปฏิบัติธรรมเท่านั้น ดูตัวอย่างองคุลีมาล 

- พระธรรมคำสั่งคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีความซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่อพวกเรามากที่สุด เพราะฉะนั้นจะมีใครซักคน ซักรูป ซักองค์ ซักนาม ซักท่านหนอ ที่มีความซื่อสัตย์ ซื่อตรงต่อพระธรรมเหล่านั้น โดยการหยิบยกเอาพระธรรมเหล่านั้ เข้าสู่การประพฤติปฏิบัติของตนๆ ให้เป็นไปชอบในธรรม 

- ศาสนาเป็นสิ่งชักนำให้คนทุกคนพ้นทุกข์ เข้าไปหาความสุขที่แท้จริง 

- จิตตภาวนาทำให้โล่งทำให้สบาย สิ่งไหนมีอำนาจมาก สิ่งไหนที่จิตให้ความสำคัญ...สิ่งนั้นทำให้เราเป็นทุกข์ หลงอะไร...สิ่งนั้นทำให้เป็นทุกข์ หวงอะไร...สิ่งนั้นทำให้เป็นทุกข์ โกรธก็รู้ เกลียดก็รู้ ไม่ชอบก็รู้ ทำเรื่อยๆ อย่าต่อเติมความคิด ทำแบบสบายๆ 

- ธรรมะ เป็นสิ่งชี้ให้ทุกคนรู้สภาวะความเป็นจริง 

- จิตที่ปฏิบัติดีแล้ว ไม่มีความสำคัญกับสิ่งใดๆ ในโลก 

- “จิต” คุณภาพไม่ดี อาหารจานเด็ด คือ อารมณ์ ยิ่งกินยิ่งเสีย...“จิต” ที่ฝึกดีแล้ว ไม่มีอารมณ์ (ว่างเปล่า) จะนำความสุขมาให้ 

- พระธรรมคำสั่งคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งชี้นำให้จิตทุกดวงเข้าไปรู้สภาวะของความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะผ่านพ้นไปตั้งสองพันกว่าปีแล้วก็ตาม พระธรรมนั้นก็ยังทรงคุณค่าไว้ตลอดกาล 

- การหลงทางเข้า “พระนิพพาน” ไม่มี แต่หลงเข้า “นรก” มีจำนวนมาก ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นเหตุผลที่สมบูรณ์แบบ หาที่ค้านไม่ได้ หากค้านได้มีสาเหตุจากความไม่รู้ ไม่มีธรรม ปฏิบัติไม่ถึง การฟังธรรมที่หู รู้อยู่ที่ใจตามเหตุตามผล วันหนึ่งจะรู้คำตอบ หลังจากมีการประพฤติปฏิบัติทางใจตามแนวทางของพระพุทธองค์ 

- ความทุกข์ก็ดี ความสุขก็ดี นั้นไม่มีความต่างกันในความหมายแห่งธรรม นั่นคือ มันก็อยู่บนพื้นฐานแห่งความเปลี่ยนแปลงอันจะนำให้เกิดความทุกข์ต่อจิตในที่สุด ความสุข คือ ความทุกข์ที่ละเอียด ตราบใดที่ยังเห็นว่า ยังรักสุข รังเกียจทุกข์ ก็พึ่งรู้ตัวว่า เรานี้ก็ยังจะมีชาติภพต่อไปอีกอยู่นั่นเอง ไม่จบไม่สิ้น 

- ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของโลก เป็นดังเช่นต้นโพธิ์ต้นนี้ ต้นโพธิ์มีไม้ค้ำเป็นร้อยๆ ยังตายได้ นับประสาอะไรกับชีวิตของเรา ถ้าเราไม่ค้ำด้วยอรรถด้วยธรรม จะไปค้ำด้วยไม้วิเศษอะไรที่ไหน 

- ตื่นเช้าขึ้นมาต้องทำจิตใจให้ผ่องใส ทำจิตใจให้เป็นบุญ ทำดีอะไรไม่ได้ก็ขอให้หยุดทำชั่วไว้ก่อน ไม่มีอะไรที่จะให้ทานไม่เป็นไร อภัยทานเป็นเรื่องของจิตใจโดยเฉพาะ ไม่ได้ลงทุนอะไรซักบาทเดียว จะทำเวลาไหนได้ทั้งนั้น จะเป็นเขาโกรธเรา หรือว่าเราโกรธเขา เราให้อภัยให้เขาไป แค่นี้ก็เป็นบุญมากมายแล้ว ทำ ทำ ทำ 

- วันนี้ก็เป็นวันพระ พระพุทธเจ้าให้พวกเราระมัดระวังสิ่งที่ไม่มีตัวตน คือ โลภ โกรธ หลง เขาจะเข้ามามีบทบาทในจิตใจของพวกเรา เพราะสิ่งเหล่านี้เขาทำงานแบบไม่มีฤดูกาล ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นชาติใดภาษาใดก็ย่อมตกเป็นทาสเขาอยู่เสมอ จงพากันตรวจดูให้ดี และหาทางดับเขาให้ได้ด้วยพระธรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธ 

 

พระครูวิสุทธิศีลคุณ (พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ)  องค์แสดงธรรมในพิธีสวดพระอภิธรรมหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ  ณ ศาลาเรือนไทยริมน้ำ ชั้น ๓ วัดสังฆทาน อ.เมือง จ.นนทบุรี

พระครูวิสุทธิศีลคุณ (พระอาจารย์ชายแดน สีลสุทโธ) 
องค์แสดงธรรมในพิธีสวดพระอภิธรรมหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ 
ณ ศาลาเรือนไทยริมน้ำ ชั้น ๓ วัดสังฆทาน อ.เมือง จ.นนทบุรี 

 

: คัดลอกและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก 
เว็บไซต์วัดสามัคคีบุญญาราม (วัดคีรีสุบรรพต) 
http://www.watsamakeeboonyaram.net/ 
fb. วัดสามัคคีบุญญาราม พระนาคปรกปางมหานาค

 

ภาพนำมาจากเว็บธรรมจักร www.dhammajak.net

Top