ประวัติ พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ - สำนักปฏิบัติธรรมแก้วมณีนพเก้า (วัดแก้วมณี) ต.ลาดบัวหลวง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา - webpra

พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ

ประวัติ สำนักปฏิบัติธรรมแก้วมณีนพเก้า (วัดแก้วมณี) ต.ลาดบัวหลวง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

 

พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ   สำนักปฏิบัติธรรมแก้วมณีนพเก้า (วัดแก้วมณี)  ต.ลาดบัวหลวง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

ประวัติและปฏิปทา 
พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ 

สำนักปฏิบัติธรรมแก้วมณีนพเก้า (วัดแก้วมณี) 
ต.ลาดบัวหลวง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา 


• “พระอธิการสุโข กตปุญโญ” หรือ “พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ” มีนามเดิมว่า สุโข ทะเสนชัด เกิดเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๒ ตรงกับวันอาทิตย์ ปีระกา ณ บ้านเลขที่ ๐๙๔ หมู่ที่ ๖ บ้านม่วงแยก ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ โยมบิดาชื่อ นายบอ ทะเสนชัด เป็นชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ (ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในวัยชราเมื่ออายุ ๕๙ ปี ณ วัดบ้านเสียว ต.เสียว อ.เบญจลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๗ มีนามฉายาว่า “สาธโร” ซึ่งแปลว่า “ผู้ดี, ผู้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ” และปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว สิริรวมอายุได้ ๖๘ พรรษา ๙) โยมมารดาชื่อ นางคุ้ม เชื้อกูล เป็นชาวจังหวัดศรีสะเกษ 

ท่านเป็นบุตรคนเดียวของโยมบิดา-มารดา และมีพี่ชาย-พี่สาวร่วมมารดาเดียวกัน แต่ต่างบิดา อีกจำนวน ๕ คน กล่าวคือ คนแรกเป็นหญิง (เสียชีวิตเมื่ออายุ ๒ ปี), คนที่ ๒ เป็นหญิง (เสียชีวิตเมื่ออายุ ๓ ปี), คนที่ ๓ เป็นชายชื่อ นายชิต สินศิริ, คนที่ ๔ เป็นหญิงชื่อ นางบุญมี สินศิริ และคนที่ ๕ เป็นหญิงชื่อ นางประวิทย์ เจริญยิ่ง 

• ท่านเติบโตในครอบครัวที่อบอุ่น แม้ฐานะทางบ้านจะยากจนค่อนข้างลำบาก ประกอบอาชีพทำไร่ทำนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เมื่ออายุถึงเกณฑ์ท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน คือ โรงเรียนบ้านม่วงแยก ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ จนจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ แล้วไม่ได้เรียนต่อ จึงได้ช่วยครอบครัวทำไร่ทำนาตามวิถีชีวิตชาวชนบท หลังจากนั้นอีกประมาณ ๒ ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร 

• อายุ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดทุ่งเลน บ้านทุ่งเลน ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๗ ในงานพิธีผูกพัทธสีมาและปิดทองฝังลูกนิมิตของวัด โดยมีพระครูวัชรินทร์ อภิปุญโญ เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยในตอนแรกโยมบิดา-มารดา ตั้งใจจะให้บรรพชาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่โยมคุณตา เนื่องจากโยมคุณตาของท่านได้เสียชีวิตลงไปก่อนหน้านั้น ในปีเดียวกันนั้นเอง 

• อายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ญัตติมหานิกาย ณ พัทธสีมาวัดเศวตฉัตร แขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๒ ตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง โดยมีพระเทพเมธี เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระครูวิสุทธิคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “กตปุญโญ”ซึ่งแปลว่า “ผู้มีบุญอันได้กระทำแล้ว, ผู้ทำบุญไว้แล้วแต่ปางก่อน” 

• ท่านตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณรว่า “เมื่ออาศัยผ้าเหลืองเลี้ยงชีวิต อยากให้ผ้าเหลืองอาศัยเราบ้าง” ซึ่งหมายถึง ท่านมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะกล่าวธรรม แสดงธรรม เพื่อการเผยแผ่และช่วยเหลือเกื้อกูลพระศาสนา จึงเป็นเหตุทำให้ท่านเริ่มฝึกฝนการเทศน์ตามคัมภีร์ใบลานและศึกษาภาษาขอม ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นต้นมา 

• ท่านได้ตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรม กระทั่งสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ ณ สำนักศาสนศึกษาวัดบ้านดอนข่า ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ภายในปี พ.ศ.๒๕๓๒ ทั้งนี้ ด้วยท่านพิจารณาเห็นว่าได้ศึกษาพุทธประวัติและธรรมะในเบื้องต้นพอเป็นแนวทางปฏิบัติแล้ว จึงตัดสินใจหันมาปฏิบัติธรรมและปฏิบัติธุดงค์อย่างจริงจังเพื่อแสวงหาพระสัทธรรม 

• ท่านเป็นพระนักเทศน์ โดยเริ่มเทศน์ครั้งแรกตั้งแต่เป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ เรื่อยมา จนกระทั่งได้มาเทศน์เผยแผ่ธรรมะทางวิทยุจำนวนหลายสิบสถานี เช่น สถานี พล.ม. ๒ คลื่น AM ๙๖๓, สถานี พล.ม. ๑ คลื่น AM ๑๓๕๐ และสถานี กรมการรักษาดินแดน คลื่น AM ๗๔๗ เป็นต้น จวบจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ตลอดจนรับกิจนิมนต์ไปแสดงธรรมตามสถานที่ต่างๆ ทั้งใกล้และไกลทั่วประเทศ ชีวิตจึงอยู่กับการเดินทางเพื่อให้ธรรมทานเป็นส่วนมาก รวมทั้งเคยรับกิจนิมนต์ไปแสดงธรรมที่ประเทศพม่าและมาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๔๑ 

ท่านเน้นการสอนหลักพระธรรมที่สร้างกำลังใจให้ “จิต” อดทนหนักแน่นในการเพียรปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างบารมี ทั้งนี้ สำนวนโวหารการกล่าวธรรม การแสดงธรรมของท่าน มีความโดดเด่นในข้ออรรถ ข้อธรรม มีความไพเราะจับใจ เยือกเย็น สงบเย็น และมีความหลากหลาย 

• ท่านเป็นพระนักปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยรูปหนึ่ง ซึ่งแนวทางการปฏิบัติธรรมของท่าน ตั้งแต่เป็นสามเณรเริ่มต้นจากการปฏิบัติเจริญสมถกรรมฐาน บริกรรม “สัมมาอะระหัง วา” เมื่อได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุพรรษาแรกจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ท่านปฏิบัติตามแนวการเจริญอานาปานสติกรรมฐาน ควบกับการพิจารณาอาการ ๓๒ และแผ่เมตตาพรหมวิหารเป็นประจำ ทั้งนี้ ท่านยังได้เพียรเสียสละมุ่งมั่นปฏิบัติตนเป็นครูบาอาจารย์ที่มีจิตใจเข้มแข็งหนักแน่น เพื่อนำพาสอนปฏิบัติธรรมและสอนปฏิบัติธุดงค์ให้แก่คณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนสายบุญผู้ศรัทธา อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเรื่อยมา 

• ท่านเป็นพระนักพัฒนา ซึ่งเพียรเสียสละมุ่งมั่นอุทิศตนทำงานเพื่อพระศาสนาและสังคม โดยท่านจะรับกิจนิมนต์ไปแสดงธรรมในโครงการอบรมภาคจริยธรรมตามโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ ทั้งใกล้และไกลทั่วประเทศ และมอบทุนการศึกษาให้กับเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และผู้ด้อยโอกาส เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีโครงการจัดบวชปฏิบัติธรรมให้กับพระภิกษุ สามเณร และสาธุชนสายบุญผู้ศรัทธา ในวันสำคัญทางศาสนาและในโอกาสอันควรอย่างต่อเนื่องตลอดปี นอกจากนี้แล้วท่านยังได้พัฒนาและบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ และเสนาสนะทั่วไป ทั้งภายในและภายนอกสำนักฯ 

 

  พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ

พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ 

 

• ทุกๆ ครั้งที่ท่านนำพาคณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนสายบุญผู้ศรัทธา เดินทางไปปฏิบัติธรรมนอกสถานที่ ไม่ว่า ณ ที่หนแห่งใดก็ตาม สิ่งที่คณะผู้ร่วมเดินทางทุกคนได้พบเห็นอยู่เสมอ อันนำมาซึ่งความปีติภาคภูมิใจยิ่งในกุศลเจตนา ก็คือ นอกจากการได้ปฏิบัติธรรมแล้ว ท่านยังได้นำพาคณะผู้ร่วมเดินทางทุกคนให้ร่วมเป็นเจ้าภาพในการสร้างถาวรวัตถุ เสนาสนะทั่วไป และในศาสนกิจอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับสถานที่นั้นๆ 

อาทิเช่น งานเสขะปฏิปทา ซึ่งเป็นงานปฏิบัติธรรมประจำปี จัดขึ้นประมาณวันที่ ๘-๑๘ มกราคม ของทุกๆ ปี เป็นเวลา ๑๐ วัน ณ วัดไตรสิกขาทลามลตาราม ต.บ้านแพด อ.คำตากล้า จ.สกลนคร อันเป็นสถานที่พำนักจำพรรษาของ พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ เพื่อให้การศึกษาอบรมภาคปฏิบัติแก่พระนิสิตที่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาลัยสงฆ์นครพนม วัดพระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ซึ่งงานเสขะปฏิปทานี้ จะมีทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา จากทั่วทุกสานุทิศ รวมทั้งพระนิสิตจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาลัยสงฆ์นครพนม เดินทางมาปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมากกว่าสองพันชีวิต จึงทำให้ภัตตาหารและอาหาร รวมทั้งสถานที่ต้อนรับและห้องน้ำไม่เพียงพอสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรม เนื่องจากวัดไตรสิกขาฯ ตั้งอยู่บนภูเขา อยู่ห่างไกลจากหมู่บ้านค่อนข้างกันดาร 

เมื่อทราบเช่นนั้น ท่านก็รวบรวมปัจจัยจากคณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนสายบุญผู้ศรัทธา เพื่อเป็นค่าภัตตาหารและค่าอาหารให้แก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาผู้มาปฏิบัติธรรม จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และจัดการเรียกช่างที่อยู่ทางสำนักปฏิบัติธรรมแก้วมณีนพเก้า (วัดแก้วมณี) ให้เดินทางมาก่อสร้างห้องน้ำจำนวน ๕๐ ห้องทันที ทั้งนี้ ท่านมีโครงการจะมอบปัจจัยเพื่อเป็นค่าภัตตาหารและค่าอาหารฯ แด่วัดไตรสิกขาฯ ในงานเสขะปฏิปทาเป็นประจำทุกปี จำนวนปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาทเป็นอย่างน้อย รวมทั้ง จะก่อสร้างห้องน้ำไว้ ณ วัดไตรสิกขาฯ ให้ครบทั้งหมดจำนวน ๑๐๐ ห้อง เป็นต้น จึงถือได้ว่าท่านเป็นพระนักพัฒนาที่ควรค่าแก่การยกย่องโดยแท้ แม้ว่าท่านจะมีอายุและพรรษาไม่มากนัก แต่ก็มิได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด 

• ท่านมีจริยาวัตรอันงดงามควรแก่การเคารพกราบไหว้ มีปกติเบิกบานและเมตตาอยู่เสมอ มีความว่องไว มีความอดทน และอุปนิสัยที่โดดเด่นที่สุดที่เป็นแบบอย่างที่ดีงามให้แก่คณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนสายบุญผู้ศรัทธา ก็คือ การเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีเป็นอย่างยิ่ง 

ส่วนในเรื่องความเมตตาของท่านนั้น ท่านจะมีเมตตาต่อคณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนสายบุญผู้ศรัทธาทุกคนโดยเสมอภาคตลอดมา ซึ่งจะเห็นเด่นชัดในกรณีที่บุคคลใดก็ตามที่เดือดร้อน หรือเกิดปัญหาไม่ว่าเรื่องใดๆ แล้วไปหาท่าน ถ้าช่วยเหลือได้ท่านจะให้ความช่วยเหลือทันที รวมทั้ง ท่านจะใช้หลักพระธรรมอบรมสั่งสอน เตือนใจให้เกิดสติปัญญา เพื่อนำไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว 

• หลักพระธรรมเพื่อความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ ที่ท่านได้คอยอบรมพร่ำสอนให้แก่คณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนสายบุญผู้ศรัทธาเป็นประจำ จะเน้นถึงความเข้าใจซึ่งกันและกัน ให้อยู่ด้วยกันอย่างปรองดอง รู้รักสมานสามัคคี และอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะถ้าหากขาดสิ่งเหล่านี้แล้วจะทำการสิ่งใดย่อมไร้ผลทั้งสิ้น 

• ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ของทุกๆ ปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่าน คณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนสายบุญผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส จะร่วมกันจัดงานแสดงมุทิตาสักการะและปฏิบัติธรรมเพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และอาจาริยบูชา 

• ผลงานการเผยแผ่ธรรมด้านหนังสือ 
พ.ศ.๒๕๔๗ :: 
- คลายอารมณ์ร้าย 
- ธรรมะสำหรับอุบาสิกา 
- ทำแท้งบาปมากมั้ยหนอ 

พ.ศ.๒๕๔๘ :: 
- กล่าวถึงพระคุณแม่ 
- พระมหากัปปินเถระ เอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ 
- พระราหุลเถระ เอตทัคคะในทางผู้ใคร่ในการศึกษา 

 

 พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ)

พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ) 

 

• ลำดับงานด้านการปกครอง 
- เมื่อช่วงเข้าพรรษาของปี พ.ศ.๒๕๔๒ ท่านได้รับนิมนต์จากแม่ชีอุบล แก้วมณี และคณะสายบุญ ให้มาเป็นประธานสงฆ์ ณ สำนักปฏิบัติธรรมแก้วมณีนพเก้า (วัดแก้วมณี) ทั้งนี้ แม่ชีอุบล แก้วมณี และคณะสายบุญ เป็นผู้มีศรัทธาถวายที่ดินจำนวน ๓๒ ไร่ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙ เพื่อก่อตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมแก้วมณีนพเก้า (วัดแก้วมณี) ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ คณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนสายบุญผู้ศรัทธาได้ร่วมกันจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อขยายเนื้อที่ของสำนักฯ อีกจำนวน ๑๐ ไร่ ดังนั้น ปัจจุบันเนื้อที่ของสำนักฯ มีรวมทั้งหมดจำนวน ๔๒ ไร่ 

- เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๔๙ พระเทพวรมุนี (วิบูลย์ กลฺยาโณ) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ ฝ่ายมหานิกาย ในขณะนั้น ได้มีหนังสือแต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสุพรรณรัตน์ (วัดบ้านพราน) ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ สืบแทนตำแหน่งที่ว่างลง ขณะเดียวกันท่านยังคงรับหน้าที่ปกครองดูแลในฐานะประธานสงฆ์ สำนักปฏิบัติธรรมแก้วมณีนพเก้า (วัดแก้วมณี) อยู่เช่นเดิม 

• สำนักปฏิบัติธรรมแก้วมณีนพเก้า (วัดแก้วมณี) เลขที่ ๕๙/๑ หมู่ที่ ๕ ต.ลาดบัวหลวง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ๑๓๒๓๐ ตั้งอยู่กลางทุ่งนา แวดล้อมไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ เงียบสงบ และร่มรื่น เดิมมีชื่อว่าสำนักปฏิบัติธรรมแก้วมณีนนท์นพเก้า ครั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๒ ได้มีการเปลี่ยนชื่อสำนักฯ ใหม่เพื่อความเหมาะสมยิ่งขึ้น เป็น “สำนักปฏิบัติธรรมแก้วมณีนพเก้า” และใช้ชื่อนี้เรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบัน

 

 พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ

พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ 

 

นำมาจากเว็บธรรมจักร www.dhammajak.net


Top