ประวัติ สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) - วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ - webpra

สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร)

ประวัติ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ

 

  ประวัติและปฏิปทา  สมเด็จพระญาณวโรดม  (ประยูร สนฺตงฺกุโร)   วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร  แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ

ประวัติและปฏิปทา 
สมเด็จพระญาณวโรดม 
(ประยูร สนฺตงฺกุโร) 

วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร 
แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ 


๏ อัตโนประวัติ 

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) เป็นพระนักเผยแผ่ธรรมที่ธำรงวัตรปฏิบัติตามแบบพระสงฆ์สายคณะธรรมยุตแท้ๆ อีกรูปหนึ่ง เป็นสมณะผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง ด้วยมีวัตรปฏิบัติอันน่ายกย่องและศรัทธายิ่งของบรรดาศิษยานุศิษย์ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไป เน้นหลักธรรมคำสั่งสอน มิให้ตกอยู่ในความฟุ้งเฟ้อลุ่มหลงต่อวัตถุ ลาภยศ ชื่อเสียงต่างๆ 

สมเด็จพระญาณวโรดม มีนามเดิมว่า ประยูร พยุงธรรม เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน 4 แรม 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2459 (จะเป็นปีมะเส็ง พ.ศ.2460 ในปัจจุบัน) ณ บ้านท่าเรือ ต.ประจันตคาม อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายธูป และนางทองหยิบ พยุงธรรม มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 7 คน (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก 3 คน เหลือ 4 คน) ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง 

ปัจจุบัน สิริอายุได้ 93 พรรษา 72 (เมื่อปี พ.ศ.2552) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ, กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) และอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) และพระอุปัชฌาย์ 


๏ การศึกษาเบื้องต้น 

ในช่วงวัยเยาว์ เริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุราว 6 ขวบ โดยบิดาเป็นครูสอนหนังสือ 

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2468 ได้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลประจำอำเภอประจันตคาม ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาในอำเภอนั้น ทั้งนี้ ท่านสอบ ปธ.5 ได้เป็นคนแรก โดยสอบคนเดียว ได้คนเดียว เมื่อปี พ.ศ.2472 

 

  สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) วัดเทพศิรินทร์ กรุงเทพมหานครฯ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) วัดเทพศิรินทร์ กรุงเทพมหานครฯ

 

๏ การบรรพชาและอุปสมบท

จากนั้นได้มาอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ พ.ศ.2474 และได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2476 โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ 

กระทั่งอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2480 โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอุดมศีลคุณ (อินทร อคฺคิทตฺตเถร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระครูวินัยธรเพ็ชร (ปภงฺกรเถร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ซึ่งมี หม่อมเจ้าหญิงกรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นอุปัฏฐากเจ้าภาพในการบวช ณ พัทธสีมาวัดเทพศิรินทราวาส 

ได้รับนามฉายาว่า “สนฺตงฺกุโร” อันมีความหมายว่า “หน่อหรือเชื้อสายหรือทายาทของผู้สงบ” (ฉายานี้ได้มาตั้งแต่เป็นสามเณรพรรษาแรก) และได้อยู่จำพรรษาที่วัดเทพศิรินทราวาสแห่งนี้มาโดยตลอด มิได้ไปจำพรรษาที่อื่นเลย ท่านเป็นประดุจร่มไทรของคณะศิษยานุศิษย์ 


๏ การศึกษาพระปริยัติธรรม 

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี โดยสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก และสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค สำหรับภาษาสันสกฤตนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เคยศึกษากับพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ร่วมกับเพื่อนร่วมรุ่นกัน คือ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ และ สมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ นิรนฺตโร ป.ธ.9) จนแตกฉานในวรรณคดีสันสกฤต 

 

   สมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ นิรนฺตโร ป.ธ.9)

สมเด็จพระวันรัต (นิรันดร์ นิรนฺตโร ป.ธ.9) 

 

 พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป)  

พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) 

 

  อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ

อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ 

 

๏ งานด้านส่งเสริมศาสนกิจของคณะสงฆ์ 

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ถือเป็นพระสงฆ์ที่มีผลงานมีมากมายเหลือคณานับ เป็นผู้ริเริ่มโครงการต่างๆ ในคณะสงฆ์มากกว่า 100 โครงการ อาทิ ด้านการศึกษา เป็นผู้ริเริ่มเปิดโรงเรียนพระสังฆาธิการและจัดหลักสูตรระดับต้นและระดับสูง, เป็นผู้ริเริ่มโครงการและดำเนินงาน โดยเปิดอบรมวิชาการนวกรรมกับการพัฒนาชุมชน, เป็นผู้ริเริ่มโครงการอบรมภิกษุพัฒนาภูมิภาคและปฏิบัติ โดยการอบรมภิกษุพัฒนาภูมิภาค และดำเนินงานโครงการอบรมวิชาเคหพยาบาลแก่พระภิกษุ สามเณร และแม่ชี ร่วมกับสภากาชาดไทย เป็นต้น 


๏ งานด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนา 

ท่านเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 7 

นอกจากนี้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังได้เรียบเรียง จัดแปล และจัดพิมพ์หลักสูตรนักธรรม ธรรมศึกษาทุกชั้นเป็นภาษาอังกฤษ, สวดมนต์แปลเป็นภาษาอังกฤษ, การเรียนรู้พระพุทธศาสนาในเวลาจำกัด เป็นภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน เพื่อเผยแผ่แก่ชาวต่างประเทศ, ชุดแบบเรียนไวยากรณ์สันสกฤต 5 เล่ม จัดพิมพ์โดยมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และหนังสือชื่อ ศาสนาต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาในแนวศาสนาเปรียบเทียบ ครอบคลุมทั้งพระพุทธศาสนา, ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู, ศาสนาสิกข์, ลัทธิขงจื้อ, ลัทธิเต๋า, ศาสนาชินโต, ศาสนาโซโรอัสเตอร์ ตลอดจน ท่านยังได้เรียบเรียงและจัดพิมพ์หนังสือท่องเที่ยวอิงธรรมะ (แบบใหม่ อ่านเข้าใจ สนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ), หนังสืออ่านสำหรับวัยรุ่น รวมทั้งผู้เฒ่า กว่า ๓๐ เล่ม ฯลฯ นับว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้คงแก่เรียน และเป็นนักเขียนฝีมือดีท่านหนึ่งก็ว่าได้ 

รวมทั้ง งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา การเดินทางไปต่างประเทศจนครบ 6 ทวีป 45 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกา แอฟริกา ออสเตรเลีย เป็นต้น 


๏ งานด้านสาธารณูปการ 

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้ทำและเป็นผู้แนะนำชักจูงให้ทั้งฝ่ายบรรพชิต ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ให้ขุดบ่อ ทำแหล่งน้ำ สร้างถนน ให้แสงสว่าง ปลูกต้นไม้ สร้างศาลาพักร้อน สร้างวัดให้เป็นอารามให้เป็นศูนย์แห่งความฉลาด ให้เป็นแหล่งรวมประชาชน ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนให้ทำห้องสมุดประจำวัดให้มีพิพิธภัณฑ์ประจำวัด 

นอกจากนี้ ได้เปิดอบรมวิชาโบราณคดีและการนวกรรมแก่พระสังฆาธิการเพื่อให้รู้จักคุณค่าของโบราณวัตถุ โบราณสถาน วิธีการสร้าง วิธีการซ่อม เป็นต้น 

ขณะเดียวกัน ได้เป็นประธานในการผูกพัทธสีมา 25 วัด ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ 

 

  สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) ท่ามกลางสานุศิษย์

สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) ท่ามกลางสานุศิษย์

 

๏ งานด้านวรรณกรรม 

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เรียบเรียงและจัดพิมพ์หนังสือเรียน หนังสือธรรมะ หนังสือท่องเที่ยวอิงธรรมะ (แบบใหม่ อ่านเข้าใจ สนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ) หนังสืออ่านสำหรับวัยรุ่น รวมทั้งผู้ใหญ่ กว่า 30 เล่ม บางเล่มได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศก็มี 


๏ ลำดับสมณศักดิ์ 

พ.ศ.2495 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระศรีวิสุทธญาณ 

พ.ศ.2500 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ พระราชสุมนมุนี 

พ.ศ.2505 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระเทพกวี 

พ.ศ.2515 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ในราชทินนามที่ พระธรรมธัชมุนี 

พ.ศ.2528 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองหิรัญบัฏ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ในราชทินนามที่ พระญาณวโรดม 

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2546 เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 76 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ในราชทินนามที่ “สมเด็จพระญาณวโรดม” 


๏ อายุวัฒนมงคล 91 ปี 

ในวันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2550 นี้ เป็นวาระอันมงคลฤกษ์อีกคราหนึ่งที่สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) จะมีชนมายุครบรอบ 91 ปี คณะศิษยานุศิษย์ได้เตรียมทำบุญอายุวัฒนมงคลในวันดังกล่าวอย่างเรียบง่าย 

เป็นที่ปลาบปลื้มยินดีแก่บรรดาเหล่าศิษย์ผู้ใกล้ชิดและญาติโยมผู้เลื่อมใสพระมหาเถระแห่งวัดมกุฏกษัตริยาราม ด้วยสมเด็จฯ มีวัตรปฏิบัติอันน่ายกย่องและศรัทธายิ่งของบรรดาศิษยานุศิษย์ ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไป 

สมเด็จพระญาณวโรดม เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตร มีความรอบรู้ทั้งในทางคดีโลกและคดีธรรม เป็นพระมหาเถระนักบริหารชั้นสูงองค์หนึ่งของเมืองไทย ทั้งในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคม 

ขณะเดียวกัน ยังดำรงตำแหน่งอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นพระมหาเถระผู้มีความรู้ความสามารถในการบริหารระดับสูง ชีวิตและงานของสมเด็จพระญาณวโรดม ล้วนทำเพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริง 


๏ การมรณภาพ 

สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 เวลาประมาณ 06.00 น. ณ กุฎิปิยะสมบัติกุล วัดเทพศิรินทราวาส ทั้งนี้ ได้รับการเปิดเผยจาก พระเสกสันต์ ศิริวรรณพระอุปัฏฐาก (พระผู้ดูแล) ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ว่า เมื่อช่วงเวลา 05.30-05.45 น. ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีอาการไอและมีเสมหะ โดยไอเพียง 2 ครั้ง ก็หมดสติ หัวใจหยุดเต้น จึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งคณะแพทย์ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างเต็ม แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ เนื่องจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ชราภาพมาก ทำให้มรณภาพในที่สุด รวมสิริอายุได้ 93 ปี 8 เดือน พรรษา 72 

พระเสกสันต์ กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีอาการป่วยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ประกอบกับมีโรคประจำตัว คือ มีโรคหัวใจและโรคไต ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยตลอด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 ท่านมีอาการเป็นหวัด ไอ มีน้ำมูก ทางแพทย์จึงได้จัดยาให้รับประทาน และพาท่านไปพักตากอากาศยังต่างจังหวัด ท่านก็มีอาการดีขึ้น แต่พอกลับมาอาการไอก็กำเริบขึ้นมาอีก ประกอบกับท่านแพ้ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อต่างๆ แพทย์จึงไม่สามารถถวายยาดังกล่าวให้ฉันได้ จึงทำให้ไม่หายขาด และมาเกิดอาการไอจนทำให้มรณภาพ ส่วนกำหนดเวลาในการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลศพท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะไม่ต่ำกว่า 100 วัน ที่ศาลากวีนิรมิตหรือศาลากลางน้ำ วัดเทพศิรินทราวาส โดยการบำเพ็ญกุศลอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นเวลา 7 วัน 

ขณะเดียวกัน ณ ศาลากวีนิรมิตหรือศาลากลางน้ำ เจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังได้มาจัดเตรียมสถานที่ โดยมีการนำโกฐไม้สิบสอง ซึ่งเป็นโกฐพระราชทานตามชั้นยศสมณศักดิ์สมเด็จพระราชาคณะ พร้อมทั้งจัดเตรียมสถานที่ในการพระราชทานน้ำสรงศพ จากนั้นเวลา 13.00 น. ขบวนเคลื่อนศพท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็มาถึงบริเวณศาลากลาง โดยมีคณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ มารอรับศพในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จากนั้นทางวัดได้เปิดให้คณะสงฆ์วัดเทพศิรินทราวาส นำโดย พระพรหมเมธี (สมชาย วรชาโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ประกอบพิธีสรงน้ำศพ โดยมีคณะครู-นักเรียนโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ และคณะศิษยานุศิษย์เข้าร่วม พร้อมทั้งมีคณะสงฆ์และแม่ชีจากวัดต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เข้าสรงน้ำศพอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเวลา 17.43 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ 

พระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) ในฐานะลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด กล่าวว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นอดีตอธิการบดี มมร. ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อีกทั้งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตคณะธรรมยุต ท่านได้สร้างผลงานให้แก่คณะสงฆ์อย่างมากมาย ทั้งในด้านปกครอง งานเผยแผ่ โดยเฉพาะด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ ท่านจะสนับสนุนเรื่องการศึกษาทั้งเรื่องตำราเรียน อุปกรณ์ ทุนการศึกษา หรือแม้แต่ให้กำลังใจกับพระทุกรูป ก่อนหน้านี้ท่านยังได้เป็นประธานในพิธีเปิดห้องสมุดที่มหามกุฏฯ แห่งใหม่ที่ศาลายา ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังได้ปรารภว่า ต้องการให้มหามกุฏฯ ได้รวบรวมหนังสือตำราที่มีคุณค่าไว้มากๆ เพื่อให้พระภิกษุหรือผู้ที่ได้เข้าไปใช้บริการห้องสมุดได้นำไปต่อยอดความรู้ เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล การมรณภาพของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ถือเป็นความสูญเสียของคณะสงฆ์เป็นอย่างมาก 

พระมหาปัญญา ปญฺญาวุฑฺโฒ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย (มมร.) กล่าวว่าการมรณภาพของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ นับว่าเป็นการสูญเสียพระผู้ใหญ่ที่มีคุณูปการต่อวงการพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ที่ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มและบุกเบิกให้มีการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก ของฝ่ายธรรมยุต และยังได้เป็นอดีตเลขาธิการ มมร. หรือตำแหน่งอธิการบดี มมร. คนที่ 2 และปัจจุบันยังเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัย มมร. ด้วย นอกจากงานด้านการศึกษาแล้ว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีพระธรรมทูตไทยในต่างประเทศด้วย 

 

 

  ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) เป็นประธานสงฆ์  ในงานมุทิตาสักการะครูบาอาจารย์ที่ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์  เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2551 ณ วัดเทพศิรินทราวาส

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) เป็นประธานสงฆ์  ในงานมุทิตาสักการะครูบาอาจารย์ที่ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์  เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2551 ณ วัดเทพศิรินทราวาส

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร) เป็นประธานสงฆ์ 
ในงานมุทิตาสักการะครูบาอาจารย์ที่ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ 
เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2551 ณ วัดเทพศิรินทราวาส 

 

  พระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาส

พระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาส 

 

    พระประธานในพระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาส

พระประธานในพระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาส 

 

๏ กำหนดการพระราชทานเพลิงศพ 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุรเถร ป.ธ.9) ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ในวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2553 เวลา 17.00 น. 


๏ กำหนดการบำเพ็ญกุศล 
ณ ศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทราวาส 

วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พุทธศักราช 2553 

เวลา 17.00 น. พระสงฆ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์ 
เวลา 17.30 น. - พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ 
- พระสงฆ์ 4 รูป สวดคาถาธรรมบรรยาย 
เวลา 19.00 น. พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม 

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พุทธศักราช 2553 

เวลา 10.30 น. พระสงฆ์ 10 รูป ถวายพรพระ รับพระราชทานฉัน 
เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 100 รูป 
เวลา 12.00 น. พระสงฆ์ 100 รูป บังสุกุล 
เวลา 14.30 น. พระสงฆ์ 10 รูป สวดมาติกา-บังสุกุล 
เวลา 15.00 น. เชิญโกศศพขึ้นรถวอจตุรมุขจากศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทราวาส 
ไปยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 
หยุดรถเชิญโกศศพแห่เวียนเมรุ แล้วเชิญขึ้นตั้งบนจิตกาธาน 
เวลา 17.00 น. เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าไตรถวายพระสงฆ์ 10 รูป 
บังสุกุลแล้วพระราชทานเพลิง 

วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2553 

เวลา 07.00 น. พระสงฆ์ 3 รูป บังสุกุล รับพระราชทานภัตตาหารสามหาบในการเก็บอัฐิ 
เวลา 08.30 น. เชิญอัฐิไปประดิษฐาน ณ ศาลากวีนิรมิต 
เวลา 10.30 น. พระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์ฉลองอัฐิ 
เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 100 รูป 
เวลา 12.00 น. พระสงฆ์ 10 รูป สวดมาติกา-บังสุกุล เป็นเสร็จพิธี 



............................................................. 

♥ รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก :: 
(1) หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 1 คอลัมน์ มงคลข่าวสด 
(2) http://www.bangkokbiznews.com/ 
♥ ขอกราบขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง

 

นำมาจากเว็บธรรมจักร www.dhammajak.net


Top