ประวัติ หลวงปู่หอม เขมิโย - วัดหนองชนะชัย ต.เกาะแก้ว อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี - webpra

หลวงปู่หอม เขมิโย

ประวัติ วัดหนองชนะชัย ต.เกาะแก้ว อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี

 

หลวงปู่หอม เขมิโย   วัดหนองชนะชัย  ต.เกาะแก้ว อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี

ประวัติและปฏิปทา 
หลวงปู่หอม เขมิโย 

วัดหนองชนะชัย 
ต.เกาะแก้ว อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี 


๏ อัตโนประวัติ 

ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พระเถราจารย์เมืองลพบุรีไม่เคยขาดสาย มีพระดีให้กราบไหว้บูชามากมาย “หลวงปู่หอม เขมิโย” เป็นพระดีหนึ่งในจำนวนนั้น ด้วยความเป็นพระเถราจารย์ผู้มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและการปฏิบัติศาสนธรรม มีเมตตาบารมีสูง คณะศิษยานุศิษย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจึงให้ความศรัทธาเลื่อมใสเป็นยิ่งนัก ถึงกับมีการขนานนามท่านว่า “เทพเจ้าแห่งทุ่งเกาะแก้ว” 

วงการนักนิยมสะสมวัตถุมงคลรู้จักกันในนามของพระเถราจารย์ ที่มีอาคมแก่กล้าและพลังจิตตานุภาพ กิตติศัพท์ที่สร้างชื่อและความฮือฮาไปทั่วสารทิศ 

หลวงปู่หอม มีนามเดิมว่า หอม มโนรัตน์ เกิดเมื่อวันจันทร์ ปีจอ เดือน ๔ ปีพุทธศักราช ๒๔๖๕ ณ หมู่บ้านปลาซิว ต.หนองใหญ่ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ปัจจุบัน สิริอายุได้ ๘๔ พรรษา ๖๔ (เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๙) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองชนะชัย ต.เกาะแก้ว อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี 


๏ การบรรพชาและอุปสมบท 

เมื่อเรียนจบชั้นประถม จนอายุครบ ๑๒ ปี โยมบิดาได้พาบุตรชายไปบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดจีนเลี้ยว วัดในพื้นที่ใกล้บ้าน ต.หนองใหญ่ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ โดยมี พระครูเทวราชญาณกวี เจ้าอาวาสวัดจีนเลี้ยว ในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด ใฝ่การศึกษา หากปล่อยให้อยู่กับพ่อแม่ต่อไป เกรงว่าจะส่งเสียให้เล่าเรียนในระดับสูงไม่ได้ เนื่องจากทางบ้านมีฐานะยากจน จากนั้นท่านจึงเดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรม ที่สำนักเรียนวัดขุนศรี อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และสอบได้นักธรรมชั้นเอก 

กระทั่งอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดจีนเลี้ยว จ.ศรีสะเกษ โดยมีพระครูเทวราชญาณกวี เจ้าอาวาสวัดจีนเลี้ยว ในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาสิงห์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระใบฎีกาบุญมี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ 

 

 หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต 

 

๏ ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต 

หลังครองผ้ากาสาวพัสตร์แล้ว พระหอม เขมิโย ได้มุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าในเรื่องปฏิบัติธรรม และเคยไปขอฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาในด้านปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกับ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระมหาเถระชื่อดังแห่งยุค จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติและปฏิปทาเป็นอย่างยิ่ง 

ท่านจึงละเลิกในด้านการศึกษาภาษาบาลี หันมาศึกษาด้านการปฏิบัติ ด้วยการออกเดินธุดงควัตรไปตามพื้นที่ป่าเขาลำเนาไพร โดยเริ่มจากการออกเดินธุดงค์ไปทางจังหวัดในภาคเหนือ ผ่านจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น และอีกหลายจังหวัด ก่อนมุ่งเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากการออกเดินธุดงค์ปลีกวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพร จำเป็นต้องมีวิทยาคม เอาไว้ป้องกันภัยอันตรายนานัปการ เนื่องจากคนป่าคนดอยหรือพวกกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ตามดอยเขา ชอบลองวิชากับพระธุดงค์อยู่เป็นประจำ 

ตัวท่านก็ไม่ได้ละเลยจากการศึกษาวิทยาคม ได้ฝึกฝนวิชาจากพระอาจารย์ชาวเขมร โดยต้องไปนั่งบริกรรมภาวนาท่องพุทโธ และมนต์คาถาต่างๆ อยู่บนหลุมฝังศพคนตายใหม่เพียงลำพังคนเดียว ทำให้จิตไม่ฟุ้งซ่านเกรงกลัวภยันตราย และเป็นการทำจิตให้เกิดสมาธิที่รวดเร็วอีกด้วย ด้วยสถานที่ตรงนั้นเป็นสถานที่สงบ ไร้คนรบกวน 


๏ เดินธุดงค์มาถึงบ้านหนองชนะชัย 

ย้อนหลังกลับไปเมื่อกว่า ๕๕ ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ท่านเดินธุดงค์ผ่านมาถึงบ้านหนองชนะชัยเป็นครั้งแรก ท่านได้รับการบอกเล่าจากชาวบ้านว่า ทุกๆ ๗ วัน จะมีผีโพงลอยบนท้องฟ้าปรากฏให้เห็นเหมือนกับผีพุ่งไต้ ลักษณะเป็นลูกไฟกลมดวงใหญ่ลอยข้ามวัด ลอยข้ามหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสมัยก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเชื่อเรื่องภูตผีวิญญาณ 

ภายหลังหลวงปู่หอม ทราบเรื่องราวแล้ว ท่านได้แนะนำให้ชาวบ้านขุดหลุมขึ้นในเขตหมู่บ้าน ๘ หลุม จากนั้น ท่านได้มอบดินเสกก้อนกลมที่ทำขึ้นผสมกับชานหมาก แจกจ่ายให้ชาวบ้านนำไปฝังเอาไว้ในหลุมที่ขุดไว้ทั้ง ๘ ทิศ นับว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ยิ่ง เพราะนับแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่ปรากฏผีโพงลอยเป็นดวงไฟมาให้พบเห็นอีกเลย ทำให้ชาวบ้านอยู่กันอย่างไม่หวาดกลัวอีกต่อไป 

ขณะเดียวกัน ขณะที่ชาวบ้านช่วยกันขุดหลุมนั้น ได้พบก้อนหินสีดำ มีลักษณะผิดแผกไปจากหินทั่วไป จึงได้มอบให้กับหลวงปู่หอม โดยท่านได้นำไปให้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องวัตถุโบราณตรวจสอบ หลายคนลงความเห็นว่า บริเวณบ้านหนองชนะชัย ในอดีตคงจะเป็นเมืองทวารวดี และหินสีดำก้อนที่พบน่าจะเป็นหยกสีดำ ที่ชาวบ้านนำมาแกะสลักเป็นเครื่องประดับร่างกาย ได้แก่ ลูกปัด เนื่องจากเชื่อว่าสามารถปกป้องภัยอันตรายต่างๆ ได้ 


๏ การสร้างวัตถุมงคล 

หินสีดำหรือหยกสีดำที่พบดังกล่าว หลวงปู่หอม ได้นำมาแกะสลักเป็นพระปิดตามหาลาภ ทำการปลุกเสกเป็นวัตถุมงคล มีพุทธคุณในเรื่องเมตตามหานิยม คงกระพัน ซึ่งในปัจจุบันหายากมาก 

วัตถุมงคลที่หลวงปู่หอมจัดสร้างขึ้น ล้วนแต่ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีพุทธคุณในหลายด้านด้วยกัน ทั้งในด้านเมตตามหานิยม คงกระพัน และค้าขาย 

ล่าสุดหลวงปู่หอม ได้จัดสร้างเหรียญรุ่นสิงห์ชนะชัยขึ้นมาอีกรุ่น โดยว่ากันว่า เหรียญรุ่นสิงห์ชนะชัยที่ท่านจัดสร้างขึ้นมารุ่นนี้ ถ้าใครเช่าไปบูชาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ทำงานอยู่ในสังกัดคอสิงห์ทั้งหลาย ถ้าได้ไปแขวนคล้องคอ จะเสริมบารมีให้เป็นอย่างดี ชื่อเสียงฟุ้งกระจายในทางเป็นมงคล 


๏ พัฒนาวัดหนองชนะชัย 

สำหรับวัดหนองชนะชัย จ.ลพบุรี นั้น แต่เดิมเป็นสถานที่ทุรกันดารเป็นอย่างมาก การเดินทางเข้าไปยังวัดหนองชนะชัย ต้องเดินเท้าเข้าไปเพราะรถวิ่งเข้าไปไม่ได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่เป็นหลัก กระทั่งหลวงปู่หอม เดินธุดงค์ผ่านมาอยู่จำพรรษาที่วัดหนองชนะชัย หลวงปู่ท่านได้ร่วมกับชาวบ้านทำการพัฒนาวัดหนองชนะชัย จนมีความเจริญรุ่งเรือง พร้อมกันนี้ ได้ประสานกับหน่วยงานราชการ ทำการพัฒนาถนนในการสัญจรไปมาและเดินทางมาวัด โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ปัจจุบันการเดินทางมาที่วัดหนองชนะชัย สามารถเดินทางมาได้อย่างสะดวกสบายเพราะมีถนนลาดยางเข้ามาถึงวัดแล้ว 

หลวงปู่หอมเป็นพระที่เปี่ยมล้นด้วยเมตตา ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและการศึกษาพระปริยัติธรรม นักธรรม-บาลี ทำให้ท่านมีลูกศิษย์ที่เคารพและศรัทธาท่านทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ไปจนถึงข้าราชการทหาร ตำรวจ และนักการเมือง ในชีวิตสมณเพศตั้งแต่วัยหนุ่มจนถึงวัยชรา หลวงปู่หอมยังมั่นคงในการเจริญพระกัมมัฏฐานตลอดมา ด้วยเห็นว่าเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้จิตใจหมดจดบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง 

 

๏ การอาพาธและการมรณภาพ 

หลวงปู่หอม เขมิโย อาพาธด้วยโรคปอดติดเชื้อกระทันหัน และได้เข้ารับการรักษาอาการมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ ณ โรงพยาบาลโคกสำโรง อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี กระทั่งหลวงปู่ได้ละสังขารจากไปอย่างสงบ ท่ามกลางคณะศิษยานุศิษย์เฝ้าดูอาการจนลมหายใจสุดท้าย เมื่อเวลา ๐๐.๔๕ น. ของวันพุธที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๓ สิริรวมอายุได้ ๘๘ ปี ๓ เดือน พรรษา ๖๘ ท่ามกลางความเสียดายและโศกเศร้าเป็นยิ่งนักของเหล่าพุทธศาสนิกชน ที่ศรัทธาในปฏิปทาวัตรของท่านเป็นอย่างยิ่ง 

เมื่อนับย้อนหลังไปไม่กี่เดือน หลวงพ่อมหาจรัญ ชินวโร เจ้าอาวาสวัดหัวช้าง ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.ลพบุรี และลูกศิษย์ลูกหายังได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่หอม ตามอิริยบทของพระผู้สมถะ พูดน้อย เมื่อได้เห็นจริยวัตรของท่านแล้ว จะรู้สึกอบอุ่น สบายใจ ภายในกุฏิของท่านมีเพียงเข้าของเครื่องใช้ที่จำเป็นเท่านั้น แม้แต่ชุดนุ่งห่ม จีวรก็มีใช้แบบเก่าๆ ไม่กี่ชุด และก็แมวหนึ่งตัวที่เลี้ยงไว้ จะไม่มีสมบัติใดๆ ให้เห็น นับว่าเป็นพระปฏิบัติกรรมฐานโดยแท้มาตลอด โดยยึดหลักการปฏิบัติของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ท่านเคยร่ำเรียนมาด้วยระยะหนึ่ง 

มีอยู่ช่วงหนึ่งหลวงปู่หอมท่านได้เคยให้ความเห็นส่วนตัวกับหลวงพ่อมหาจรัญ ว่าอยากได้ทุนสักส่วนหนึ่งมาทำศาลาที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเป็นศาลาอเนกประสงค์สำหรับประกอบพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีสวดอภิธรรมหน้าพระเมรุ เป็นต้น ซึ่งทางวัดหนองชนะชัยและหลวงปู่เองไม่มีเงินทอง ทรัพย์สมบัติใดๆ ทั้งสิ้น ที่ก่อสร้างอยู่ก็ด้วยเงินบริจาคจากเหล่าพุทธศาสนิกชนผู้ศรัทธาเล็กๆ น้อยๆ ค่อยๆ ต่อเติมไปเรื่อยๆ กระทั่งเป็นเหตุให้หลวงพ่อมหาจรัญมีแรงจูงใจว่า ต้องช่วยคิดช่วยทำเพื่อการพัฒนาวัดหนองชนะชัย ครั้นมาถึงวันนี้หลวงปู่ได้ละสังขารไปโดยสงบ จากการตกลงของคณะกรรมการวัด และคณะศิษยานุศิษย์มีความเห็นกันแล้วว่าจะเก็บศพไว้ก่อน เพื่อรอพระราชทานน้ำศพ แล้วเก็บไว้ในโลงแก้วหรือพระราชทานเพลิงศพ อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป 

การประกาศข่าวการมรณภาพของหลวงปู่หอม เขมิโย ให้เหล่าพุทธศาสนิกชนทุกท่านได้ทราบในครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือว่า ในระหว่างนี้ได้มีการจัดทำวัตถุมงคลขึ้นมารุ่นหนึ่ง คือ “เขมิโย ๘๘” และอยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยมีหลวงพ่อมหาจรัญ ชินวโร เจ้าอาวาสวัดหัวช้าง จ.ลพบุรี (ศิษย์เอกหลวงปู่เรือง อาภัสสโร) และคณะศิษยานุศิษย์ (เป็นรุ่นที่หลวงปู่หอมมีเจตนาที่จะจัดสร้าง และอนุญาตอย่างเป็นทางการให้ดำเนินการ) รูปแบบวัตถุมงคลได้ทำขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และที่สำคัญคือวัตถุมงคลรุ่นนี้ได้เปิดจองไปแล้วเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา แต่หลวงปู่ได้ละสังขารไปแล้วนั้น 

คณะกรรมการผู้จัดสร้างได้ลงมติเห็นพ้องต้องกันว่า จะดำเนินการจัดสร้างต่อไป และมีวัตถุประสงค์ดังเดิมทุกประการ คือนำทุนไปก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์ที่กำลังค้างอยู่ ทั้งมีวัตถุประสงค์เพิ่มเติมเข้ามาคือ ลงมติให้ก่อสร้างรูปเหมือนหลวงปู่หอมเท่าองค์จริงขึ้นมา แล้วนำไปประดิษฐานไว้ที่วัด เพื่อเป็นอนุสรณ์รุ่นสุดท้ายและรุ่นประวัติศาสตร์ (เขมิโย ๘๘) ไว้ให้ลูกหลานได้กราบไหว้ท่านตลอดไป 

กำหนดการเดิมในการปลุกเสกวัตถุมงคล รุ่น “เขมิโย ๘๘” คือวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๓ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล ณ วัดหนองชนะชัย จ.ลพบุรี ยังคงไว้เป็นกำหนดการเดิมทุกประการ แต่จะเปลี่ยนจากการปลุกเสกเดี่ยวโดยหลวงปู่หอม เขมิโย มาเป็นมหาพิธีพุทธาภิเษกอนุสรณ์ โดย “หลวงพ่อเพี้ยน อัคคธัมโม” วัดเกริ่นกฐิน จ.ลพบุรี และ “หลวงพ่อมหาจรัญ ชินวโร” วัดหัวช้าง เป็นเจ้าภาพแม่งานในพิธี รวมทั้ง พระเกจิดังร่วมอีกหลายรูป เช่น หลวงพ่อโทน (พระครูจันทโพธิคุณ) วัดเชิงหวาย จ.อ่างทอง, หลวงพ่อสนั่น สุนันโท วัดกลางราชครู จ.อ่างทอง, หลวงพ่อทองศุข นันทวโร วัดท่าตะคร้อ จ.กาญจนบุรี เป็นต้น รุ่นนี้ถือเป็นประวัติการณ์หนึ่ง ที่คณะผู้จัดสร้างไม่ได้คิดย่อท้อแต่ประการใด ถือเป็นการสร้างอนุสรณ์และเป็นบุญที่ทำให้หลวงปู่หอม ถือเป็นกุศโลบาย คิดว่าท่านยังอยู่พร้อมด้วยบารมีและคุณงามความดีไว้ให้พวกเราได้กราบไหว้บูชาตลอดไป 



............................................................. 

คัดลอกมาจาก :: 
หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า ๑ คอลัมน์ มงคลข่าวสด 
วันที่ ๐๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ปีที่ ๑๖ ฉบับที่ ๕๖๖๖

Top