ประวัติ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ - วัดป่านิโครธาราม ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี - webpra

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

ประวัติ วัดป่านิโครธาราม ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

 

  ประวัติและปฏิปทา  หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ   วัดป่านิโครธาราม  ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา 
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ 

วัดป่านิโครธาราม 
ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี 

รวบรวมจาก อัตโนประวัติ และชีวประวัติ สกุลวงศ์ 
ของพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ของพระจันโทปมาจารย์ 
นิตยสารโลกทิพย์ ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๓ เดือนพฤษภาคม (ฉบับหลัง) ๒๕๒๗ 
รวบรวมโดย นิรุตติ และนิโรธ เกษรสิริ 

หัวข้อ 

๏ หวนคำนึง 
๏ ภูมิลำเนา 
๏ พ่อแม่เป็นปราชญ์ 
๏ ทำนา 
๏ ทุกข์ใหญ่ 
๏ หัดวัว 
๏ เลี้ยงหม่อน 
๏ สามภาษา 
๏ มีศรัทธามาบวช 
๏ พระพุทธดินปั้น 
๏ หาได้ยากลำบากยิ่ง 
๏ ใฝ่หาอาจารย์ 
๏ นักต่อสู้ 
๏ พระอาจารย์ใหญ่ 
๏ ญัตติ 
๏ คำภาวนา 
๏ เข้าใจในศีล 
๏ ข้อปฏิบัติ 
๏ แนวทางแห่งความจริง 
๏ นับเป็นวาสนา 
๏ ช่วยสั่งสอน 
๏ ยิ่งยืดยิ่งฟุ้ง 
๏ สอนกันที่กาย 
๏ ต้องยอมรับความทุกข์ยาก 
๏ อยู่เป็นหมู่ดูไม่สงบ 
๏ ต้องเอาจริงด้วยทิ้งเข้าป่า 
๏ ธรรมปีติ 
๏ ไม่ต้องกลัวบ้า 
๏ ส. เสือน่ากลัว 
๏ กลัวก็ต้องทน 
๏ พอดีมีเพื่อน 
๏ บ้านนายุง 
๏ สองผู้กล้า 
๏ เหลือแต่ผู้เดียว 
๏ ยังไม่หายกลัว 
๏ กระต่ายและปลาช่อน 
๏ กรรมมีก็ทำดีให้ 
๏ นึกอายหมาแม่ 
๏ วิ่งจงกรม 
๏ เสือกัดหัวกูตาย 
๏ จ้องมองแต่ป่า 
๏ หายกลัวเพราะความเพียร 
๏ อาการความตาย 
๏ ตายเป็นทุกข์ใหญ่หนา 
๏ เอาพุทโธ 
๏ ทุบหนังหมี 
๏ มาแล้วก็ไป 
๏ ข่าวตายและข่าวทุกข์ 
๏ คำภาวนาแก้บ้า 
๏ ถึงถิ่น 
๏ เตรียมการ 
๏ ธรรมปีติ 
๏ เปลี่ยนธรรม 
๏ ท่านพี่ก่อน 
๏ เป็นธรรมแฝง 
๏ โต้กลับ 
๏ จิตต้องรวมก่อน 
๏ ยอมให้แม่ 
๏ ใจรู้สว่าง 
๏ วัดหก 
๏ กกห้า 
๏ สีมาแปด 
๏ พ่อแม่นอก พ่อแม่ใน 
๏ อุปัชฌาย์สวดขวา-ซ้าย นอกใน 
๏ ผู้รู้ 
๏ บวชโยมแม่ 
๏ ทิพย์โอสถ 
๏ ท่านพี่มรณภาพ 
๏ ตามไปกับพระอาจารย์ 
๏ แสวงหาและเผยแพร่ 
๏ เสนามาร 
๏ จำได้บ่ 
๏ เพราะหลงผิด 
๏ หายดังปลิดทิ้ง 
๏ อภัยให้กันนั่นเกิดสุข 
๏ เป็นแบบอย่าง 
๏ โจรไพรใจโหด 
๏ หัวกะโหลกผี 
๏ เอ๊ะ...อะไรกันนี่ 
๏ ยกอาวุธทีไร ร่างหายทุกที 
๏ อาตมารวยธรรมะ 
๏ ดีกว่าสมบัติอื่นใด 
๏ ศูนย์พระป่า 
๏ ช่วยกันเผยแพร่ธรรม 
๏ สายเสียการเน้อ 
๏ เผยแพร่ธรรม 
๏ ความดีนั้นมีมาก 
๏ นึกว่าสว่างอันหยัง 
๏ เป็นต้นโพธิ์ต้นไทร 
๏ แห่งสุดท้าย 
๏ บ้านหนองบัวบาน 
๏ ต้องพิจารณา 
๏ คำเตือน 
๏ อวสาน 
๏ ส่งท้าย 
๏ บั้นปลาย

 

 หลวงปู่อ่อน วัดป่านิโครธาราม

โจทิตา เทวทูเตหิ เย ปมชฺชนฺติ มาณวา 
เต ทีฆรตฺตํ โสจนฺติ หีนกายูปคา นรา 

“คนเหล่าใด อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ยังประมาทอยู่ 
คนเหล่านั้นต้องเข้าถึงกายอันเลวเศร้าโศกสิ้นกาลนาน” 

นี่เป็นคำสั่งสอนในสมัยที่ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านยังมีชีวิตอยู่ พวกเราทั้งหลายยังจำได้ดีแต่มาบัดนี้ กาลเวลาล่วงเลยไปนานแล้ว จนบางครั้งเราที่เรียกตัวเองว่า “ลูกศิษย์” อาจลืมเลือนจากคำสั่งสอนของหลวงปู่ท่านไปบ้างบางขณะก็ได้ 

• หวนคำนึง • 

วัดป่านิโครธาราม อันร่มรื่นเงียบสงบ ผู้เขียนกำลังเดินเข้าไปยังศาลาหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เคยออกมาต้อนรับชาวคณะศรัทธาญาติโยมที่เดินทางไปถึง 

ก่อนที่จะขึ้นบันได ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะต้องหันหลังไปมองดูพระอุโบสถหลังงาม ที่หลวงปู่ได้ทุ่มกำลังใจ กำลังกาย วาดลวดลายอย่างวิจิตรพิสดารยิ่ง 

ผู้เขียนมองดูด้วยความภาคภูมิใจ ช่างสวยงามเหลือเกิน สูงเด่นเป็นสง่ามาก 

ขณะที่สายตาไปกระทบรูป พลันเสียงที่ผู้เขียนถาม และคำพูดของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ตอบก็แว่วเข้ามาในส่วนลึกของจิตใจว่า “พระอุโบสถหลังนี้ ช่างงดงามเหลือเกินครับหลวงปู่” 

หลวงปู่มองยิ้มๆ ด้วยความเมตตา ขณะที่มือยู่องท่านกำลังถือม้วนพลู-หมากอยู่ แล้วท่านก็พูดว่า 

“เออ...งามนั้นต้องงามทั้งภายนอกและภายใน อย่างนี้ท่านว่างามแท้ ! โบสถ์หลังนี้งามก็เห็นแต่ภายนอก เคยเข้าไป ข้างใน แล้วหรือยัง ?” 

ผู้เขียนตอบตามความจริงว่า “ยังไม่เคยเข้าไปเลยครับกระผม หลวงปู่” 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พูดต่อไปว่า “อ้อ...ยังไม่เคยเข้าไปดูภายใน !...เดี๋ยวจะให้เขาเอาลูกกุญแจเปิดให้ดู...! ข้างในนั้นสวยกว่าเพราะมีพระ มีพระพุทธเจ้าอยู่ภายใน...!” 

ผู้เขียนพิจารณาเห็นว่าหลวงปู่กำลังให้อุบายธรรมแก่ตนจึงขอย้ำให้ท่านอธิบายโดยย่อ จึงรีบพูดขึ้นว่า “หลวงปู่ครับ กระผมขอหลวงปู่โปรดอธิบายธรรมในประโยคนี้พอเป็นใจความเถิดครับหลวงปู่” 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ยิ้มเดินเข้ามาจับศีรษะของผู้เขียนแล้วท่านก็พูดว่า 

“ดีแล้วที่เข้าใจ...อันว่าพระอุโบสถนี้เปรียบเป็น สังขาร นี่เช่นตัวเรานี้นะ มองอะไรก็เห็นแต่ภายนอกเท่านั้น แต่ตับไตไส้พุงมองไม่เห็น ทำอย่างไรจึงจะเห็นล่ะ ? ก็เอาลูกกุญแจ...คือ พุท-โธ นั่นไขเข้าไปมันก็จะไปพบกับสิ่งภายในนั้น ทีนี้จะให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งนั้น เราต้องไปนั่งดูให้มันชินกับความมืด ความที่ไม่รู้นั้นเสียก่อน จิตเป็นสมาธิ ชินกับความมืดแล้ว นั่นแหละ ปัญญาจึงจะเกิด ! ทีนี้ก็เห็นพระพุทธเจ้าอยู่ภายในนั่นเองแหละ” 

ผู้เขียนกราบเท้าท่านสามครั้ง แล้วเดินตามท่านขึ้นศาลาไป 

ขณะนั่งอยู่บนศาลา บัดนี้ช่างเงียบเหงายิ่งนัก...เราสิ้นวาสนาที่จะได้กราบเท้าท่านอีกแล้ว เพราะหลวงปู่สำเร็จกิจของท่าน ละสังขารจากพวกเราไปนานแล้ว 

ท่านทิ้งความทรงจำไว้แก่ผู้เขียน เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ชนรุ่นหลังเท่าที่จะค้นคว้าได้เท่านี้ 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พระอริยศิษย์องค์หนึ่งของพระบุพพาจารย์ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระผู้มีดวงตาเป็นธรรม 


• ภูมิลำเนา • 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ถือกำเนิดเกิดมาเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล พ.ศ. ๒๔๔๕ แต่ตามปฏิทิน ๑๐๐ ปี ไม่ตรงกับวันอังคาร วันอังคารมีอยู่ขึ้น ๕ ค่ำ และขึ้น ๑๒ ค่ำ ณ บ้านดอนเงิน ต.แชแล อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี โยมพ่อชื่อ เมืองกลาง (ภูมีใหญ่) กาญวิบูลย์ โยมแม่ชื่อ บุญมา กาญวิบูลย์ โยมทั้ง ๒ มีบุตรด้วยกันทั้งหมด ๒๐ คน แต่ตายเสียแต่เด็ก ๑๐ คน ที่ยังมีชีวิตรอดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ๑๐ คนนั้นคือ 

๑. ชายชื่อ ทิดชาลี กาญวิบูลย์ อายุ ๘๐ ปี เป็นโรคชราตาย 

๒. ชายชื่อ อาจารย์นิสา กาญวิบูลย์ อายุ ๕๖ ปี เป็นโรคท้องร่วงตาย 

๓. หญิงชื่อ มาพา กาญวิบูลย์ อายุไม่ทราบ แท้งบุตรตาย 

๔. ชายชื่อ ทิดอ่อนสา กาญวิบูลย์ อายุ ๗๖ ปี 
มีคนมายืมเงินเกือบเข้า ๒ ปี ไปทวงหนี้เขาโกรธ ถูกลูกหนี้แทงตาย 

๕. ชายชื่อ ทิดสีดา กาญวิบูลย์ อายุ ๖๖ ปี เป็นวัณโรคตาย 

๖. ชายชื่อ คำมี กาญวิบูลย์ บวชเป็นสามเณรแต่อายุ ๑๘ ปี 
เลยเป็นพระไปไปเรียนหนังสือ สนธิ และมูลกัจจาย อยู่กับอาจารย์พระครูพรหม 
จ.กาฬสินธุ์ ๔ ปี กลับมาเป็นสมภารอยู่วัดบ้านดอนเงิน ๓ ปี 
ลาสมภารออกปฏิบัติกรรมฐานอยู่ ๔ ปี ต่อมาลาพระอาจารย์หลวงพ่อใหญ่มั่น 
ไปวิเวกภูลังกา เขต อ.เซกา จ.หนองคาย ไข้ป่าจับรักษาไม่หายจึงตาย 

๗. หญิงชื่อ คำไข กาญวิบูลย์ ไม่รู้อายุ 
ไปสวน เปิดประตู ไม้ราวประตูหลุดมือตกถูกแข้งถลอก เป็นบาดทะยักรักษาไม่หายเลยตาย 

๘. ชายชื่อ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ (กาญวิบูลย์) 

๙. หญิงชื่อ นางขาว กาญวิบูลย์ อายุ ๗๓ ปี บวชเป็นชี 

๑๐. หญิงชื่อ นางแก้ว กาญวิบูลย์ อายุ ๗๒ ปี 
มีครอบครัว ครอบครองมรดกอยู่บ้านดอนเงินนั้น 


• พ่อแม่เป็นปราชญ์ • 

หลวงปู่อ่อนได้เริ่มฝึกหัดทำงานช่วยพ่อแม่ แต่ อายุ ๑๔ ปี เพราะพ่อเฒ่าแก่มาก พ่อยู่องหลวงปู่อ่อนบวชเป็นพระอยู่นานได้ ๑๔ พรรษา จึงได้ลาสิกขาออกไปทำการงานตอบแทนบุญคุณปู่ย่าอยู่ ๑ ปี จึงได้แต่งงานกับโยมแม่ 

โยมพ่อชื่อเดิม ภูมีใหญ่ ได้ทำการปกครองช่วยเจ้าฝ่ายศักดิ์ขวา ซึ่งเป็นบิดาของพ่อนั้นเองอัญญาลุงเจ้าเมืองร้อยเอ็ดจึงได้ตั้งชื่อให้ว่า เมืองกลาง 

โยมเป็นปราชญ์ผู้หนึ่ง จำธรรมะพระสูตรเช่น เวสสันดรชาดกสูตร เป็นต้น ได้ตลอด พระวินัย เช่น แปลบาลี พระปาติโมกข์ก็จำได้ จำคาถาวิชาของขลังลางร้ายดี เสียเคราะห์ เสียเข็ญสารพัดได้ไม่มีลืม 

โยมแม่ก็เป็นปราชญ์ อ่านหนังสือไม่ได้ อาศัยแต่การฟังเทศน์ พระท่านเทศน์เรื่องพระสูตรพระวินัยให้ฟัง แม่จำเรื่องได้อย่างแม่นยำ เช่น บาลีข้อสั้นๆ พระท่านเทศน์ให้ฟังมีปนกันกับเนื้อความ โยมแม่ก็จำได้มาสอนพวกลูกๆ หลานๆ ให้เข้าใจบุญและบาปได้ดี 

โยมพ่อโยมแม่ วันธรรมดารักษาศีล ๕ ประจำตัว แต่โยมแม่ประกอบอาชีพในการเลี้ยงไหม เมื่อหม่อนสุกก็ปลงศีล สาวหลอก (สาวไหมจากหม้อต้ม) เมื่อเสร็จจากธุระแล้ว ก็สมาทานศีลคืน 

เมื่อถึงวันพระ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ไปวัดสมาทานศีลอุโบสถ รักษาตลอดวัน ๑ กะคืน ๑ เช้าแล้วปลงศีลกลับบ้าน เห็นพ่อแม่รักษามาอย่างนี้ จนถึงวันตาย 

โยมแม่ตอนสุดท้ายแห่งชีวิต ได้บวชเป็นชี รักษาศีล ๘ ด้วยโดยหลวงปู่อ่อนเป็นผู้บวชให้ ตายพร้อมนุ่งขาวห่มขาว เมื่อเริ่มป่วยลง โยมพ่อและโยมแม่รู้จักวันจะตายจึงสมาทานศีล ๘ และรักษาให้บริสุทธิ์ และก็ตายแบบสงบสมกับเป็นนักปราชญ์ทั้งสองคน 


• ทำนา • 

สมัยที่ยังเยาว์วัยนั้น หลวงปู่อ่อน มีอายุเติบโตมาท่ามกลางป่าเขาและทุ่งนาดงดอน 

ความอบอุ่นขณะที่อยู่กับบิดามารดานั้น เป็นไปตามอัตภาพคือ ไม่ลำบากจนเกินไป และไม่ร่ำรวยจนเกินไป 

ความพอดีนี้ ทำให้จิตใจของหลวงปู่ในเยาว์วัยมีความสุขได้พอสมควร 

ต่อมาพอท่านรู้ภาษาบ้างแล้ว ก็ได้ประกอบอาชีพทำนาช่วยเหลือบิดามารดาของท่านได้ตามกำลังของตน 

ชีวิตบ้านนอกนาดอน สิ่งที่เป็นพื้นฐานก็ได้แก่การทำงานตั้งแต่เช้าจนตะวันบ่ายคล้อยจึงได้เข้าบ้าน 

โยมพ่อโยมแม่ อาชีพทำนา เลี้ยงโคฝูง เลี้ยงหม่อนทำไหม ค้าขายของย่อยต่างๆ 

นาของพ่อแม่มีอยู่ ๘ ทุ่งใหญ่ๆ นาทุ่งใหญ่ทำกินเลี้ยงพวกลูกๆ มา ปีไหนฟ้าฝนดี ข้าวไม่เกิดโรคต่างๆ ได้ข้าวปีละ ๑,๐๐๐ กว่าถัง 

พ่อแม่พวกพี่ๆ ขุดทำยังไม่แล้วเสร็จ หลวงปู่อ่อนจึงฝึกหัดทำงานโดยพ่อได้นำไปกับคุณพี่คำมีขุดทำจึงแล้วเสร็จ 

อีกทุ่งหนึ่งพอได้ทำกินมา พอดีคุณพี่คำมีจากไปบวช หลวงปู่อ่อนจึงได้ฟันต้นไม้ใหญ่และถางต้นไม้น้อยกับพ่อ ทำไร่ปลูกพวกข้าวโพดและแตงกิน และขุดดินทำเป็นคันนาไว้พอเป็นรูปๆ เท่านั้น 

จากนี้อีก ๖ ทุ่ง เป็นแต่นาจับไว้ ขุดทำที่นั้นที่นี้บ้างทั่วไปไว้เท่านั้น 

ทุกๆ ปี พอถึงเดือน ๖ ฝนตกพอปักไถได้เท่านั้น ต้องลงไถนา จนถึงเดือน ๑๐ แรม ๘ ค่ำ เป็นได้หยุดทำนา บางทีเดือน ๑๐ แรม ๑๒ ค่ำ จึงได้หยุดทำนาก็มี 

เพราะทำนาเพียงทำกินเท่านั้น (นาทุ่งที่เตียน) จำเป็นต้องได้เข็นคราดเข็นไถไปทำนาที่จับไว้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้คนเขาก็จะจับทับเอา (แย่งที่ดิน) ตอนเอาควายใหม่ไถ ควายมันข้ามคันนา แต่งัดรากไถไม่ทัน ดึงควายไม่อยู่ รากไถหัก ทำนา ๓ ปี รากไถหัก ๓ ราก 

งานทำนาก็ทำเพื่อกินอิ่มกันเท่านั้น ข้าวเปลือก ๑๐ ถัง ขาย ๑ บาทก็ไม่มีใครซื้อกันเลย เพราะต่างคนก็ต่างมีข้าวกินกันทุกบ้านทุกเมืองไปกันหมด 

 

  นั่งบนพื้น : พระตั๋น รุวรรณศร   แถวนั่งเก้าอี้ จากซ้าย : หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่ขาว อนาลโย,  พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล), หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ   แถวยืนหลังสุด จากซ้าย : หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ, พระศรีรัตนวิมล,  พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต),  พระครูบริหารคณานุกิจ (หลวงปู่บุญมี ปวโร) วัดทุ่งสว่าง จ.หนองคาย,  หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, พระอาจารย์จันทร์ เขมปัตโต   บันทึกภาพเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓  ในงานอุปสมบทของพระตั๋น รุวรรณศร

นั่งบนพื้น : พระตั๋น รุวรรณศร 

แถวนั่งเก้าอี้ จากซ้าย : หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่ขาว อนาลโย, 
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล), หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ 

แถวยืนหลังสุด จากซ้าย : หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ, พระศรีรัตนวิมล, 
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต), 
พระครูบริหารคณานุกิจ (หลวงปู่บุญมี ปวโร) วัดทุ่งสว่าง จ.หนองคาย, 
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, พระอาจารย์จันทร์ เขมปัตโต 

บันทึกภาพเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓ 
ในงานอุปสมบทของพระตั๋น รุวรรณศร 

 

 หลวงปู่อ่อน วัดป่านิโครธาราม

• ทุกข์ใหญ่ • 

งานเลี้ยงวัวเลี้ยงควายก็เป็นการยาก ทุกข์แทบตาย เพราะแต่ก่อนมีคนน้อย โคกและดงกว้าง พ่อแม่มีวัวฝูง ๒๐๐ กว่าตัว ปล่อยทิ้งไว้ ตอนค่ำ วัวมาคอกเอง 

ถ้ามันไม่มาคอก ๔-๕ วันจึงไปตามหาไข่มาคอกทีหนึ่ง นี้ก็เป็นการยากใหญ่ 

มีวัวฝูงมากหนึ่งละ เมื่อวัวไม่มา จะไปชวนใครไปหาด้วย เขาก็รู้แล้วว่า วัวเขามันอยู่กับหมู่วัวบ้าน ไล่วัวมาวัวเขาก็ต้องมาด้วย ดังนี้ เขาจึงว่าไม่ไป ก็จำต้องไปคนเดียว 

วัวมันไม่ว่าเราเป็นเจ้าของมัน มันอยากไปไหนใกล้ไกลมันก็ไปตามชอบใจมัน ไปตามหาวัวก็ไม่รู้ว่าเป็นรอยวัวบ้านไหน เพราะมีฝูงวัวทุกบ้านในแถวนั้น โคกและดงก็รก เสือและงูมันก็มาก ก็ต้องจำเดินหาไปกลัวหลงทางก็กลัว ตายก็กลัว กว่าจะเห็นวัวก็ต้องตะวันบ่ายแล้ว 

ครั้งหนึ่งเป็นเดือน ๕ ไปหาวัว ลืมเอาน้ำไปกินด้วย ตะวันบ่ายเห็นจะได้ ๒ โมงแล้ว จึงไปเห็นฝูงวัว ไล่มันมาบ้านมันก็ตั้งหน้ามาบ้าน จนวิ่งตามมันไม่ไหว 

ไฟไหม้ป่าหญ้าแพรกและตอไม้น้อยอื่นๆ มันมีมาก เมื่อไม่ได้ใส่รองเท้า ตอไม้จึงทิ่มเท้า เลยต้องเดินเอา 

พอเดินมาใกล้บ้านเรา ๑๐ เส้นจะถึง หัวเข่าอ่อนล้มฮวบลงลุกขึ้นค่อยๆ คลานเข้าไปหาร่มไม้ นั่งพักอยู่ครู่หนึ่งลองลุกขึ้นวิ่ง ยิ่งล้มแรงใหญ่ ลุกขึ้นหาไม้เท้า ใช้สองมือยันไปจึงถึงบ้านได้ 

ครั้นถึงบ้าน ดื่มน้ำ ๑๒ กระบวยมะพร้าวใหญ่ๆ จุกน้ำเกือบตายอีก 

เหงื่อและไคลคล้ายยางตายพุ่งออกอย่างแรง ผ้านุ่งเปียกหมดเมื่อถอดเสื้อออกแล้วเอาพัดตัวอยู่พักใหญ่ จึงกินข้าวได้ นี้ทุกข์ใหญ่ในความมีวัวฝูงมากหนึ่งแล 


• หัดวัว • 

เมื่อวัวตัวเมียมันได้ลูก ลูกมันใหญ่เป็นตัวผู้พอตอนได้ ก็ต้องจับมันมาตอน 

การจับมันตอนนี้ก็แสนยาก และวัวตัวเล็กไม่ได้เคยจับมันสักที มันไม่ให้จับ 

จำต้องเอาหนังขวั้นห้างบ่วง ไล่มันใส่มันติดบ่วงจึงจับมันมาตอนได้ 

พอหัดให้มันเป็นเกวียน (หัดเทียมเกวียน) ก็ทำเป็นห้างบ่วงไล่มันใส่ มันถูกบ่วงแล้วจึงจับมันแทงจมูกสนเคา (สะพาย) มัน การหัดวัวนี้เริ่มแต่ลากข้าวจากลาน เอาขึ้นยุ้งขึ้นสาง (ฉาง) จนตลอดไปถึงเดือน ๔ จึงหัดวัวเล็กให้เป็นเกวียนหมดได้ 

เรื่องหัดวัวนี้ก็สารพัดมันแสนจะพยศ บางตัวชนเรา บางตัวดึงไม่อยู่ บางตัวยืนต่ำไม่เดิน บางตัวเอาแอกใส่คอมันแล้วกลับนอนไปเสีย นานาประการ 

จึงต้องหาหมู่มาช่วยกันดึงช่วยกันฝึก ทั้งวัวเล็กของหมู่ก็เอามาหัดร่วมกันด้วย ตัวไหนมันชน จำต้องเอาปอเครือม้วยขวั้นเคาขวั้นเชือก ร้อยจมูกมันผูกเคามัน 

เอาไม้ไผ่ยาวประมาณวาหนึ่ง ฟันเจิ้มๆ (เสี้ยม) ตรงข้อมันให้เป็นแง่ม (แฉก) เจาะใต้ข้อมัดลงมา 

พอเอาเชือกสอดผูกเคามันได้และแหย่เข้าไปในรูไม้ที่เจาะนั้นดึงเข้าให้ชิดเคามัน แล้วจึงเกี้ยว (พัน) มาตามลำไม้ให้ดีแล้วบังคับวัวเข้าหลักหนีบ หนีบคอมันไว้ดีแล้ว เอาแอกเกวียนใส่คอมัน เอาหนังขวั้นเป็นเชือกอ้องใส่คอมัน เส้นยาวเอาดึงไปทางท้ายเกวียนเลยไปให้หมู่จับดึงมันไว้ 

พอถอดเอาไม้หลักหนีบออกจากคอมันได้เท่านั้น วัวมันก็กระโดด เกวียนปลิ้นคว่ำ ปลิ้นหงาย (พลิกคว่ำพลิกหงาย) แอกหลุดออกจากคอมัน 

คนพวกดึงกลัวมัน วิ่งหนีกันหมด หลวงปู่อ่อนจับไม้คันจามสู้มัน มันกระโดดมาชน แต่หลวงปู่อ่อนกดส้นไม้คันจามลงกับดินงัดดัง (จมูก) มันขึ้น พอดังมันเงยขึ้น ก็ได้ท่าใช้แรงดันส่งวัวมันล้มตูมลงอย่างแรง 

มันลุกขึ้นได้ ตามันเขียวปื้อกระโดดจะชนอีก ก็ทำดังเก่าเอามันล้มอีก มันล้มถึงสามครั้ง มันกลัว ยืนขี้แตก เยี่ยวไหลออกมาผากๆ ปากมันร้องอ๊ากๆ เลย 

หมู่ที่วิ่งหนีเอาตัวรอด จึงเดินมาช่วยจับหนังจับเชือก ดึงช่วยเอาไปผูกแหงนไว้ ไม่ให้มันกินหญ้ากินน้ำอะไรเลย กินข้าวแล้วไปแต่งเกวียนให้ดี วันหลังหัดอีก จนกว่าจะเป็นเกวียนให้ได้ดีทีเดียว 

นี้ก็ทุกข์หนึ่งละ เอาตายเข้าสู้จึงได้รอดตายมาทีเดียว 

ตัวมันถึงไม่อยู่ก็เตรียมตัวหัดมันแบบเดียวกันกับตัวที่มันเคยชน พาหมู่มาดึงหนังทางท้ายเกวียนให้มากก็เอาชนะมันเป็นเกวียนได้ ตัวมันค้ำมันนอนก็คิดหาวิธีหัดมันเป็นเกวียนได้ทั้งหมด 

หัดวัวแต่เดือนอ้ายไปถึงเดือน ๔ จึงเป็นเกวียนได้หมดทุกตัว 

แล้วเช้าพอเป็นวันใหม่หัดวัวเช้า ๓ โมง ไปกินข้าวเช้า กินข้าวแล้วเตรียมมีดขวานไปฟันเสารั้วและราวเอามาล้อมรั้วบ้านและสวน 

บ่ายกลับบ้านกินข้าวสายแล้วไปหาอาหารมากินด้วย และเลี้ยงพ่อแม่ และพี่ๆ น้องๆ ยุ่งอยู่อย่างนั้นทุกวันไป 

วัวถ้าไม่หัดให้มันเป็นเกวียน ขายมันไม่ออกก็ยุ่งใหญ่ และไม่ได้เงินเพราะมีวัวมาก 


• เลี้ยงหม่อน • 

ธุระของการเลี้ยงหม่อน พ่อแม่ พอถึงฤดูฝน พ่อแม่พากันเลี้ยงเอาพันธุ์มันไว้ คอยพวกลูกๆ ทำนาเสร็จ ครั้งละ ๔๐ กระด้ง เมื่อพวกลูกทำนาเสร็จแล้ว พ่อแม่พาเลี้ยงครั้งละ ๑๓๐ กระด้ง และครั้งละ ๑๒๕ กระด้ง 

เมื่อเลี้ยงหม่อน ก็จำต้องทำสวนหม่อนให้มาก ให้พอเก็บใบหม่อนให้หม่อนกิน พ่อและหลวงปู่อ่อน จึงฟันสวนปลูกหม่อนได้ ๔ สวน สวนใหญ่ ๕ กับสวนหม่อนเก่าของพ่อแม่ทำไว้ 


• สามภาษา • 

กาลต่อมา หลวงปู่อ่อนท่านมีอายุได้ ๑๑ ปีบริบูรณ์ บิดามารดาของท่าน ได้นึกถึงความก้าวหน้าของบุตรชาย ควรให้ได้รับการศึกษาบ้าง เพราะต่อไปในอนาคต จะได้พึ่งพาวิชาความรู้เลี้ยงตัวเองได้ 

ท่านทั้งสองจึงได้นำบุตรของท่านไปฝากวัดใกล้ๆ บ้าน ซึ่งที่วัดแห่งนี้มีสมภารที่มีความรู้ในทางภาษาอยู่มาก เช่น ภาษาลาว อักขระภาษาขอม พร้อมกับควบคู่กับภาษาไทยไปด้วย 

ความสามารถของหลวงปู่อ่อนในสมัยเยาว์วัยนั้น ท่านมีสติปัญญาพอสมควร 

คนสมัยก่อนนั้น ถ้าจะนับสติปัญญาแล้ว ก็มีความสามารถกว่าปัจจุบันมาก เพราะการศึกษาในวิชาต่างๆ นั้น ดูออกจะขัดสนไปทุกอย่าง ไม่ว่าอุปกรณ์ในการศึกษาหรือครูบาอาจารย์ช่างหายากยิ่งนัก อีกอย่างหนึ่งหมู่บ้านดงดอนบางแห่ง ก็แสนจะทุรกันดาร ไม่สะดวกสบาย อย่างเช่น ทุกวันนี้ทุกสภาพเป็นไปตามมีตามได้ 

ทางภาคอีสานนี้ มีภาษาลาวเป็นภาษาพื้นบ้านก็พอทำเนา แต่ถ้าเป็นภาษาขอม ภาษาไทยก็นับว่ายากเย็นเข็ญใจอยู่ สิ่งที่สำคัญมากคือ ต้องเรียนทีเดียวถึงสามภาษา 

นี่ซี ที่ว่าคนสมัยก่อนมีความสามารถมากเป็นพิเศษ ! 


• มีศรัทธามาบวช • 

พอหลวงปู่อ่อนอายุ ๑๖ ปีได้ยินพ่อแม่ผู้เป็นปราชญ์ ได้อบรมสั่งสอนในทางพระพุทธศาสนาว่า การบวชนี้เป็นบุญมาก จึงมีศรัทธาใคร่จะบวชในพระศาสนา ก็ไปลาบิดามารดา บิดามารดาก็อนุญาต แล้วก็บอกบิดามารดา บวชแล้วจะไม่สึก ท่านก็ให้พรตามความประสงค์ 

ท่านก็นำไปฝากให้เป็นศิษย์วัดกับ ท่านพระอาจารย์สมุห์สี (พระครูพิทักษ์คณานุการ) วัดจอมศรี บ้านเมืองเก่า อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ต่อมาเมื่อเรียนหนังสือได้พอสมควร ท่านก็บรรพชาให้เป็นสามเณร และได้ศึกษาเล่าเรียนสวดมนต์ไหว้พระทุกสิ่งอย่างพอได้แล้ว 

การบวชเข้ามาเป็นสามเณรในบวรพระพุทธศาสนานี้ ก็เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนให้มีภูมิรู้มากยิ่งขึ้น ฉะนั้นท่านจึงได้อยู่กับพระอาจารย์ ผู้เป็นสมภารวัดข้างบ้านมาโดยตลอด หลังจากบวชแล้ว ท่านหลวงปู่อ่อนได้ศึกษาพระธรรมวินัยพอเป็นนิสัยเข้าใจถึงชีวิตสมณเพศเท่านั้น เพราะในช่วงนั้น ท่านยังหาครูบาอาจารย์ที่เก่งๆ ยังไม่ได้ นอกเสียจากกฎข้อห้ามดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงห้ามไว้เท่านั้น 

ส่วนจะศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมนั้น ครูบาอาจารย์ผู้สอนในสมัยนั้นหาไม่ได้เลย 

อย่างไรก็ตาม สามเณรอ่อนเมื่อเลิกจากการศึกษาเล่าเรียนแล้ว ท่านจะต้องเข้าไปรับใช้อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ เช่น ต้มน้ำร้อนน้ำชา เช็ดปัดกวาดกุฏิ ล้างกระโถน เตรียมอาหารให้พระอาจารย์และพระภิกษุสงฆ์ภายในวัด รุ่งเช้าท่านได้ติดตามหลังพระออกบิณฑบาตอันเป็นกิจวัตรประจำวัน 


• พระพุทธดินปั้น • 

นอกจากนี้แล้ว สามเณรอ่อนยังมีความสามารถอีกอย่างหนึ่งกล่าวคือ ท่านมีความสามารถในทางช่างอยู่มากทีเดียวในสมัยเด็ก (อายุ ๑๕-๑๖ ปี) ทั้งนี้ ในระหว่างที่ท่านบวชเณรอยู่กับพระอาจารย์นั้น ท่านได้ร่วมกับพระอาจารย์ช่วยกันสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ด้วยดินองค์หนึ่ง ซึ่งการสร้างในครั้งนั้นท่านใช้อุปกรณ์อย่างง่ายๆ คือ ดินปั้นเป็นพระพุทธรูป ทั้งนี้ก็เพราะท่านได้เล่าว่า 

“สมัยนั้น จะหาวัตถุทองเหลือง หรือช่างหล่อพระไม่มีและสิ่งของต่างๆ ก็หาได้ยากยิ่ง ท่านพระอาจารย์จึงขอให้ใช้ดินเหนียวเรานี่แหละสร้างพระประดิษฐาน เป็นสิริมงคลแก่ชาวบ้านใกล้เดียงจนสำเร็จเป็นองค์” 

นอกจากการปั้นพระพุทธรูปแล้ว หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ก็ยังมีความสามารถทางด้านช่างไม้อีกด้วย เช่น...การแกะสลักประตูและหน้าต่างพระอุโบสถวิหารต่างๆ ได้อย่างวิจิตรงดงามยิ่ง 

 

• หาได้ยากลำบากยิ่ง • 

สามเณรอ่อน ท่านได้อยู่จำพรรษากับพระอาจารย์วัดข้างบ้านนานพอสมควรทีเดียว แต่สมัยนั้นท่านก็มิได้อยู่นิ่งเฉยเพราะท่านมีความเพียรมาตั้งแต่ตัวยังเล็กๆ คือ ท่านขยันหมั่นเพียร อดทนต่อสภาพการงาน พร้อมทั้งการศึกษาพระธรรมวินัยควบคู่กันไปอีกด้วย 

แต่สมัยที่สามเณรอ่อน ท่านศึกษาพระธรรมวินัยอยู่นั้น จะลำบากยากยิ่งก็เพราะว่า “หาครูบาอาจารย์ผู้สอนไม่ได้” ประกอบกับภาคอีสานของเรานี้ เป็นดินแดนทุรกันดารมาก สภาพโดยทั่วไปก็เห็นจะเป็นป่าดงดิบเสียเป็นส่วนมาก มีป่าเขาล้อมรอบๆ หมู่บ้าน ความเจริญมีเฉพาะในหมู่บ้าน ถ้าพ้นจากชุมนุมชนนั้นแล้ว ก็จะเป็นป่าดงไปทั่ว 

ฉะนั้น จึงเป็นเหตุให้ขาดครูบาอาจารย์ท่านผู้รู้ทั้งหลายมาอบรมสั่งสอน หรือ...ไม่ค่อยจะมีใครเข้าไปในดินแดนทุรกันดารอย่างนี้ จึงเป็นสามเณรอยู่กับท่าน ๓ พรรษา อายุได้ ๑๙ ปี ได้เข้ากราบเรียนลา พระอาจารย์สมุห์สี (พระครูพิทักษ์คณานุการ) ไปเรียนหนังสือกรุงเทพฯ ท่านหาว่าอวดดีกว่าท่าน ท่านก็ขับออกจากวัดจอมศรี 

ออกจากวัตจอมศรี ไปพักอยู่วัดบ้านดอนเงิน ลาโยมพ่อโยมแม่ไปเรียนหนังสือกรุงเทพฯ โยมพ่อโยมแม่ไม่ยอมอนุญาตให้เป็นเด็ดขาดเลย อ้างว่าคิดถึง ก็ได้ออกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ซึ่งเป็นช่วงระยะแรกในชีวิตของท่าน ท่านรู้ด้วยสติปัญญาว่า ตนเองยังอ่อนต่อการเดินธุดงค์ ฉะนั้นท่านจึงออกเดินธุดงค์ไปในสถานที่ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนัก เพราะเป็นการฝึกขั้นต้น 


• ใฝ่หาอาจารย์ • 

ในพรรษาต่อๆ มา หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ค่อยมีกำลังจิตเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ดูเหมือนการเดินธุดงค์ของท่านเริ่มออกไกลไปทุกทีๆ ขณะที่อยู่ภาวนาในป่าเขาลำเนาไพร หลวงปู่อ่อนได้มีโอกาสพบพระธุดงคกรรมฐานอยู่เป็นประจำ แต่ละพระอาจารย์ก็มีแต่การบำเพ็ญเพียรไปเฉพาะองค์เท่านั้น ไม่สามารถจะสอนกันได้ นอกเสียจากเพียงแนะแนวทางที่ได้รับได้รู้มาบ้างเท่านั้น 

ความพยายามของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ไม่อยู่นิ่ง ท่านพยายามฟังข่าวคราวของครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติพระกรรมฐานอยู่เสมอๆ 

เมื่อท่านได้รับคำบอกเล่าจากพระผู้เป็นสหธรรมมิกก็จะเดินทางไปขอฝึกอบรมด้วยเสมอๆ 

แนวอุบายธรรมใดพอเป็นประโยชน์ หรือเป็นหนทางแห่งการปฏิบัติของท่านได้ ท่านก็จะกำหนดจดจำมา 

แต่ถ้าอธิบายธรรมใดๆ ที่มิใช่ทางพ้นเสียซึ่งทุกข์แล้ว หลวงปู่อ่อนจะตัดทิ้งไปเสีย ไม่ยึดถือเป็นอารมณ์ที่จะมาทำลายความสงบของจิต 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เคยเล่าเหตุการณ์ขณะปฏิบัติอยู่เพียงลำพังในป่าเขาไว้ดังนี้ 

การเที่ยวรุกขมูลธุดงค์ไปโดยอาศัยป่าเขาเป็นที่วิเวกนี้ ก็ไค้ดำเนินไปเรื่อยๆ เมื่อได้ข่าวคราวว่า พระคณาจารย์องค์ใดที่เก่งทางด้านสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน อาตมาก็จะรีบเร่งไปหาท่านขอข้อเสนอแนะ และบางที เมื่อธรรมะเกิดขึ้นมาในขณะที่ทำสมาธิ อาตมาก็จะไปหาพระคณาจารย์องค์นั้นแก้ไข เพื่อจะได้ปฏิบัติไปให้ถูกต้องแนวทางตามพระธรรมวินัย นี่เป็นความมานะพยายามของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ สมัยท่านยังเป็นพระภิกษุหนุ่ม ผู้ประกอบด้วยสติปัญญามองหาทางออกจากทุกข์ 

 

 พระอาจารย์เพ็ง พุทธธัมโม

พระอาจารย์เพ็ง พุทธธัมโม 

 

• นักต่อสู้ • 

สำหรับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ สมัยที่ท่านยังเป็นพระภิกษุหนุ่ม ท่านพระอาจารย์เพ็ง พุทธธัมโม เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ นี่ท่านเป็นพระภิกษุหนุ่มรูปงามนะรูปร่างของท่านนี้...โอย...สูงใหญ่ล่ำสัน กล้ามนี่เป็นมัดเลยเชียวละ เวลาเช่นนี้ก็เหมือนกันองอาจผึ่งผายมากเลยทีเดียว ดูท่านห่มจีวรแล้วสง่างามมาก รูปร่างท่านใหญ่โตจริงๆ นะ 

แต่ทำไมก็ไม่รู้มาพบท่านภายหลัง รูปร่างของหลวงปู่อ่อนตัวท่านเล็กลงไปได้ เวลาท่านนั่งลำดับเวลามีงานน่ะ อาตมาก็คอยดูท่านว่าอยู่ที่ไหน ? 

ไปพบหัวๆ แถวโน้น...ตัวท่านเล็กลง เล็กกว่าพระองค์อื่นๆ โอ...รูปร่างท่านผิดไปเลย แต่ก่อนโน้นท่านเป็นคนแข็งแรงมากนะ เดินธุดงค์นี่ว่องไวมากปราดเปรียวนะ 

หลวงปู่อ่อนเรานี่ ท่านเป็นนักต่อสู้เป็นพระปฏิบัติเยี่ยมยอดองค์หนึ่งละ เพราะท่านสู้ปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐานมาตั้งแต่ท่านยังเป็นสามเณรน้อยๆ อยู่เลย 

ท่านอดทนจริงๆ นะ หลวงปู่อ่อน นี่” 

นี่เป็นคำบอกเล่าจากท่านพระอาจารย์เพ็ง พุทธธัมโม ผู้เป็นศิษย์กรรมฐานของท่านสมัยหนึ่ง 

 

  ท่านพระอาจารย์หลวงพ่อใหญ่เสาร์ กันตสีโล

ท่านพระอาจารย์หลวงพ่อใหญ่เสาร์ กันตสีโล 

 

  ท่านพระอาจารย์หลวงพ่อใหญ่มั่น ภูริทัตโต

ท่านพระอาจารย์หลวงพ่อใหญ่มั่น ภูริทัตโต 

 

• พระอาจารย์ใหญ่ • 

ถึงเดือน ๑๒ ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ท่านได้ลาโยมพ่อโยมแม่ทั้งสองออกเดินธุดงคกรรมฐานเตือน ๓ ไปถึง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย พักอยู่วัดป่ากับท่านอาจารย์สุวรรณ เรียนข้อปฏิบัติกรรมฐานกับท่าน พอเข้าใจในข้อปฏิบัติแล้วปฏิบัติอยู่ไปถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๖ จึงได้ไปพบ ท่านพระอาจารย์หลวงพ่อใหญ่เสาร์ กันตสีโล พร้อม ท่านพระอาจารย์หลวงพ่อใหญ่มั่น ภูริทัตโต อยู่ที่วัดป่าบ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี 

ได้กราบเท้าท่านหลวงพ่อทั้งสอง ถวายตัวเป็นศิษย์ และขอญัตติเป็นพระธรรมยุตด้วย ท่านหลวงพ่อใหญ่มั่นรับไว้แต่ให้เป็นศิษย์ ญัตติท่านไม่อนุญาต ท่านพูดว่า “ให้ปฏิบัติอยู่กับพวกผมไปปี ๑ ก่อน ให้ผมได้พิจารณาดูจิตของท่านว่า จะพอปฏิบัติเป็นไปไหม” 

พอได้ปฏิบัติอาศัยท่านหลวงพ่อทั้งสองไปจนเต็มปีหนึ่งแล้ว ก็ขอถวายตัวเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์หลวงพ่อทั้งสอง พร้อมทั้งถวายตัวของตนให้เป็นเหมือนตัวของท่านหลวงพ่อทั้งสองนั้นด้วยทีเดียว 

“เมื่อท่านต้องการไปธุระสิ่งใด ขอตัวเกล้าทำแทนหรือไปแทนเกล้าทำหรือไป ผิดถูกประการใด ขอให้ท่านหลวงพ่อตักเตือนดุด่า เฆี่ยนตี เอาแต่สุดจะมีพระกรุณาแก่เกล้าประการใด หากเกล้าขืนดื้อตามคำบอกก็ดี หรือไม่ไปตามคำบอกให้ไปก็ดี ขอให้ไล่เกล้าหนีจากสำนักเลย ด้วยความที่เกล้ารู้และได้ยิน เกล้าจำได้มากอยู่แล้ว แต่เกล้ายังไม่ได้ทำด้วยแล้ว แล้วเลยไม่รู้อันจะทำ เกล้ากลัวแต่จะผิดอยู่อย่างนั้นร่ำไป” 

และทั้งขอญัตติเป็นพระธรรมยุตกับท่านหลวงพ่อทั้งสองอีกด้วย ท่านหลวงพ่อทั้งสองได้มีความกรุณารับคำขอร้องทุกอย่าง ท่านหลวงพ่อใหญ่อาจารย์มั่นท่านได้ตอบว่า 

“เออดีมากทีเดียว ที่ท่านต้องการอยากมาให้ผมทั้งสองสอนนี้ ผมจะสอนให้ท่านรู้และทำเป็นทุกอย่างเท่าที่ผมรู้ ไม่สู้ใครมาขอถวายตัวเป็นศิษย์ ให้ผมทั้งสองสอนเหมือนท่านสักองค์เลย” 

ท่านหลวงพ่อใหญ่อาจารย์เสาร์ถามว่า “ท่านได้ท่องปาติโมกข์และนวโกวาทแล้วหรือ” 

เรียนตอบท่านว่า “เกล้าเป็นเณรอยู่กับพระอาจารย์สมุห์สี วัดจอมศรี อ.กุมภวาปี มาแล้ว ๓ ปี ได้แต่ฟังพระวินัย ตามหนังสือบุพพสิกขาและมหาขันธ์ วินัยมุข จำได้วินัยมาบ้างเท่านั้น การท่องปาติโมกข์และนวโกวาทเกล้ายังไม่ได้ท่องเลย” 

ท่านหลวงพ่อใหญ่อาจารย์เสาร์เลยเอาหนังสือ ๒ อย่างมอบให้ไปท่องนวโกวาทอยู่ ๔ วันจบ ปาติโมกข์ท่องอยู่ ๗ วันจบ แล้วจึงเอาหนังสือไปถวายคืน 

 

  ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล)

ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล) 

 

• ญัตติ • 

ท่านหลวงพ่อทั้งสองก็ได้อนุญาตให้ญัตติเป็นพระธรรมยุต ตอนนั้นอายุได้ ๒๔ ปี พรรษามหานิกายได้ ๔ พรรษา 

ท่านหลวงพ่อใหญ่อาจารย์เสาร์ท่านเป็นผู้ศรัทธาจัดหาเครื่องบริขารทุกอย่าง ให้ญัตติเลย 

ท่านหลวงพ่ออาจารย์ใหญ่มั่น ท่านสั่งให้ไปหาพระอาจารย์อุ่นมาให้ท่านแล้ว ให้ไปญัตติพร้อมกันเสียเลย 

เมื่อพระอาจารย์อุ่นมากราบเท้าท่านแล้ว พระหลวงพ่ออาจารย์ใหญ่มั่นท่านศรัทธามอบเครื่องบริวารของท่านให้ครูบาอุ่น เมื่อต่างพากันได้บริขารสมบูรณ์แล้ว ได้ลาท่านหลวงพ่อทั้งสอง เดินทางมาวัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี กราบเท้า ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล) ตั้งแต่เมื่อครั้งท่านได้รับสมณศักดิ์ที่พระครูชิโนวาทธรรมรงค์ ขอญัตติกับท่านเมื่อเดือน ๓ ขึ้น ๑ ค่ำ ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยมี ท่านหลวงพ่อพระครูอดิสัยคุณาธาร (คำ อรโก) เจ้าคณะจังหวัดเลย เป็นพระกรรมวาจาจารย์องค์เดียว 

ญัตติแล้วได้พากันลาอุปัชฌาย์กลับมากราบเท้าท่านหลวงพ่อทั้งสองที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ศึกษาและฝึกหัดข้อปฏิบัติกับท่านไป จนได้เกิดความรู้ ความฉลาด ตามวาสนาของตน จนตลอดพรรษา 


• คำภาวนา • 

การศึกษาธรรมเป็นพิเศษในด้านการปฏิบัติภาวนา (ก่อนญัตติเป็นธรรมยุต) สมัยนั้น ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ จำพรรษาวัดป่าไม้บ้านโพนสา อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ออกพรรษาแล้วเดินกรรมฐานไปกราบเท้าท่านหลวงพ่ออาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต สมัยนั้นท่านกลับจาก อ.คำชะอี จ.นครพนม ท่านนำโยมแม่ของท่านมาพักอยู่วัดป่าบ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เดือนอ้าย เมื่อไปถึงกราบเท้าท่านแล้วขอถวายตัวเป็นศิษย์ 

เบื้องต้นท่านถามก่อนว่า “ท่านศึกษาข้อปฏิบัติกรรมฐานมาจากอาจารย์ไหนก่อน” 

ตอบท่านว่า “ศึกษามาจากท่านอาจารย์สุวรรณ” 

ท่านถามว่า “ท่านสุวรรณท่านสอนคำภาวนาให้ท่านคำไหน และการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ท่านสุวรรณสอนให้ท่านทำอย่างไร” 

เรียนถวายท่านว่า “ท่านสอนให้เกล้าภาวนาว่า พุทโธ อยู่แก่ในใจ เดินจงกรมนั่งสมาธิ อาจารย์สุวรรณ สอนให้เกล้าทำอย่างนี้” (ทำถวายให้ท่านดู) 

ท่านหลวงพ่อจึงว่า “ท่านคนราคะจริต ภาวนาว่า พุทโธมันไม่ถูก” ท่านบอกต่อไปว่า “เอา ท่านยกมือขึ้นประณมมืออยู่ แล้วเรียนเอาคำภาวนาใหม่” 

เมื่อยกมือขึ้นแล้ว ท่านสอนคำภาวนาให้ใหม่ว่า “กายะเภทัง กายะมระณัง มหาทุกขัง” 

เมื่อจำได้แล้ว ท่านให้กำหนดใจภาวนาให้ท่านดูในเวลานั้นเลย ภาวนาไปประมาณ ๑ นาทีกว่าท่านบอกให้หยุด ถามว่า “ภาวนาสะดวกว่าง่ายไหม” เรียนท่านว่า “มันหลายคำว่ายาก ภาวนายาก” 

ท่านจึงให้คำใหม่อีกว่า “เยกุชฺโฌ ปฏิกุโล” และให้นั่งกำหนดจิตภาวนาถวายให้ท่านดูอีกนานประมาณเท่าเก่า 

ท่านให้ลองอีก แล้วท่านถามอีกว่า “ภาวนาสะดวกไหม และว่าง่ายไหม” 

ตอบท่านว่า “คำนี้รู้สึกว่าง่าย เพราะมันน้อยคำ และมันเหมือนว่า พุทโธ อีกด้วย” 

ท่านบอกว่า “ให้ท่านภาวนาไปนานๆ มันจะสะดวกดอก” แล้วท่านก็เทศนาสอนไปพอสมควรแล้วท่านก็สั่งเลิก 

วันหลังกราบเท้าท่านแล้วถามท่านว่า “เรื่องคนภาวนาเกิดเป็นบ้าหนึ่ง และการภาวนานานสักปานใด จึงให้มีคำเปลี่ยนคำภาวนาทีหนึ่ง” 

ท่านหลวงพ่อสอนให้เข้าใจเรื่องเรียนถามทั้งสองเรื่องนี้ให้เข้าใจจนแจ่มแจ้งเลย 

 

• เข้าใจในศีล • 

วันหลังสงสัยเรื่องการปฏิบัติศีลของพระผู้ปฏิบัติ เข้ากราบเท้าท่านอีก เรียนถามท่านว่า “พระผู้ปฏิบัติให้ปฏิบัติศีลในตามแบบไหนหนอ ให้ปฏิบัติศีลตามแบบหนังสือบุพพสิกขา และมหาขันธ์นี้หรือ หรือปฏิบัติศีลในแบบหนังสือพระวิสุทธิมรรคนั้นประการใดหนอ” 

ท่านหลวงพ่อบอกว่า “ปฏิบัติให้ถูกต้องตามทั้งสองแบบนั้นแหละ ศีลท่านบัญญัติไว้ในหนังสือบุพพสิกขามหาขันธ์นั้น เป็นมัชฌิมศีล ๑ 

ศีลในหนังสือพระวิสุทธิมรรคนั่น เป็นศีลใกล้ต่ออริยะกันตะศีล เป็นศีลอันพระองค์อธิบายเข้าไปหามรรคผล เป็นศีลอันละเอียดกว่ากัน” 

ได้ยืมหนังสือบุพพสิกขากับท่านไปดูให้เข้าใจชัดด้วยตนเอง แต่ก่อนเป็นแต่ฟังพระอื่นเทศน์ เมื่อดูก็เข้าใจ ถ้าสงสัยในสิกขาบทไหน ก็เรียนถามท่านหลวงพ่อไปจนหมดทุกสิกขาบท ดีใจเพราะได้เข้าใจศีลอันเป็นรากเหง้าของพระศาสนา 


• ข้อปฏิบัติ • 

หลวงปู่มั่น ท่านมักจะเน้นธรรมปฏิบัติแก่บรรดาศิษย์ของท่าน ดังนี้ 

ธรรมข้อปฏิบัติและปฏิปทาต่างๆ 

๑. การปฏิบัติทางใจ ต้องถือการถ่ายถอนอุปาทานเป็นหลัก 

๒. การถ่ายถอนนี้ มิใช่จะถ่ายถอนโดยไม่มีเหตุ ต้องให้มันถ่ายถอนเอง 

๓. เหตุแห่งการถ่ายถอน ต้องให้สมเหตุสมผล ดังท่านพระอัสสชิแสดงในธรรมข้อที่ว่า...“ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นดับไปเพราะเหตุ” 

๔. เหตุได้แก่การสมมุติบัญญัติขึ้น แล้วหลงตามอาการนั้น เริ่มต้นด้วยการหลงตัวหลงตนก่อน แล้วไปหลงผู้อื่นว่ารูปสวย-ไม่สวย ต่อไปข้าวของนอกตัว จนกลายเป็นราคะ โทสะ โมหะ 

๕. ท่านให้แก้เหตุ ด้วยการพิจารณากรรมฐาน ๕ ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ด้วยกำลังของสมาธิ 


• แนวทางแห่งความจริง • 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านได้รับธรรมะจากหลวงปู่มั่นนั้นมากมาย และแต่ละประโยคที่ท่านแสดง ก็กินความหมายกว้างขวางยิ่ง ท่านหลวงปู่อ่อน ได้กำหนดจดจำไว้อย่างแม่นยำไม่ลืมเลือน ท่านยังกล่าวอีกตอนหนึ่งว่า 

“หลักที่เป็นแนวทางของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต นี้ เป็นแนวทางที่สำคัญทั้งการศึกษาและการปฏิบัติธรรมอันเป็นแนวทางแห่งความจริงในที่สุด” 

พระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต ได้แนะว่า 

“การฉันหนเดียว ฉันในบาตร การบิณฑบาต การปัดกวาดลานวัด การปฏิบัติครูบาอาจารย์การอยู่ป่าวิเวก นี่เป็นข้อวัตรที่อันควรแก่ผู้ฝึกฝนขั้นอุกฤษฏ์จะพึงปฏิบัติ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมครู พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนบรรดาชาวโลก ให้ได้รู้คุณค่าของธรรม เพราะเมื่อผู้ใดเข้าถึงธรรมะอันแท้จริงแล้วยังให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล เป็นบุคคลที่ปราดเปรื่องฉลาดเลื่องลือระบือไปไกล อย่างเช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต 

ธรรมะที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต แสดงอบรมสั่งสอนบรรดาศิษย์ของท่านนั้น ท่านฉลาดกว้างขวางในอุบายวิธี ปัญญาของท่านนั้นดุจท้องฟ้ามหาสมุทร 

องค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรานั้น พระพุทธองค์ไม่เคยคับแค้นจนมุมในการอบรมสั่งสอนหมู่ชน ทั้งเทวดาและมนุษย์ทุกชั้น และธรรมเหล่านั้น ได้ถ่ายทอดตกมาสู่พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในยุคต่อๆ กันมา 

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้บุพพาจารย์ได้ถ่ายทอดมาสู่บรรดาศิษย์แต่ละรุ่นนั้น ประกอบด้วยพระสัจธรรมความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้เป็นแนวทาง พร้อมทั้งปฏิปทาคือ ข้อปฏิบัติที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านได้พาดำเนินและธรรมะที่ท่านนำมาอบรมสั่งสอน แต่ละบทละบาทหรือแต่ละครั้งคราว ธรรมนั้นก็ล้วนเป็นความซาบซึ้งจับใจไพเราะเหลือจะพรรณนา...และยากที่จะได้เห็นจะได้ยินจากที่อื่นใดในสมัยปัจจุบัน ซึ่งเป็นสมัยที่มนุษยชาติต้องการคนดีมีศีลธรรมอยู่มาก” 

 

  พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

 

  พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม

พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม 

 

  พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล

พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล 

 

• นับเป็นวาสนา • 

ภายหลังจากท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้รับอุบายธรรมและข้อวัตรปฏิบัติจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จนเป็นที่เข้าอกเข้าใจแล้ว หลวงปู่มั่นได้มอบหลวงปู่อ่อน ให้อยู่ภายใต้การดูแลของ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ซึ่งเป็นเหมือนพี่เลี้ยงและพระอาจารย์ของท่านอีกด้วย 

ท่านได้ออกเดินธุดงค์ติดตามท่านพระอาจารย์สิงห์ไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อหาสถานที่อันวิเวกบำเพ็ญภาวนาต่อไป ยามที่ท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ อยู่กับท่านพระอาจารย์สิงห์นั้น แม้จะติดขัดในเรื่องการปฏิบัติภาวนา ท่านพระอาจารย์สิงห์ก็สามารถแก้ไขจนคลายความติดขัดนั้นๆ ได้ทุกครั้ง และคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเลยทีเดียว 

ในช่วงนี้ เป็นบุญวาสนาของหลวงปู่อ่อนมากทีเดียวที่ได้อยู่ใกล้กับครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน หลวงปู่อ่อนท่านมีกำลังจิตกำลังใจมาก ประกอบด้วยความอดทนเป็นยอดของท่าน จึงเป็นผลแห่งความเพียร ก้าวหน้าเข้มแข็งขึ้น ส่วนจิตใจของท่านนั้นเรียกได้ว่า แก่กล้าขึ้นโดยลำดับ 


• ช่วยสั่งสอน • 

ได้ตั้งใจศึกษาทางด้านปฏิบัติ ภาวนากับท่านเรื่องขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปนาสมาธิ ตลอดจนมรรคผลกับท่านอยู่ในระยะ ๕ ปี เข้าใจแจ่มแจ้งจนสิ้นสงสัยในการปฏิบัติภายนอก 

ในระยะ ๕ ปีที่ศึกษาฝึกหัดปฏิบัติภาวนา ก็สิ้นสงสัยในธรรมเป็นแต่ยังทำจิตให้เป็นไปยังไม่ถึงเท่านั้น จึงได้ตั้งใจปฏิบัติมาจนตลอดกาล 

ถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านไปกับ ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ไปอยู่กับ ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เพื่อช่วยในการเผยแผ่พระศาสนา จึงได้เป็นคณาจารย์สอนหมู่ช่วยครูบาอาจารย์มาแต่บัดนั้นมา ถึงแม้ไม่ได้ปริยัติธรรม เป็นแต่รู้จากที่ครูบาอาจารย์สอนและภาวนาเกิดรู้ขั้นเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น พอสอนช่วยหมู่พระอาจารย์ได้บ้างเท่านั้นและการสั่งสอน ก็สั่งสอนไป 

มีอาจารย์ผู้ที่เคยเรียนรู้สึกไปเป็นคฤหัสถ์มาถามธรรมก็แก้ความข้องใจของเขาให้เขาเข้าใจในธรรมแจ่มแจ้ง เขาก็ชมเป็นการใหญ่ ว่าสมกับเป็นผู้ปฏิบัติรู้จริงๆ เพราะไม่ได้เรียนปริยัติธรรมเลย ตอบปัญหาแก้ความข้องใจได้ดีมากๆ เปรียบเหมือนมหา ๙ ประโยคก็จะไม่ทันฉะนี้ 


• ยิ่งยืดยิ่งฟุ้ง • 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเคยแสดงธรรมไว้ครั้งหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนขอตัดตอนมายังผู้อ่านพอเป็นแนวทางดังนี้ 

“จิตเป็นสิ่งสำคัญ สัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบคือตัวปัญญามันเกิดขึ้น 

พอปัญญาเกิดขึ้นเท่านั้นแหละ สัมมาทิฐิตัวเดียวชัดเจนขึ้นมา นั่นเป็นอาการของมัน 

ปัญญาสัมมาทิฐิเกิดขึ้นมามันก็เป็นองค์มรรค ๘ สมบูรณ์บริบูรณ์เลย 

เบื้องต้นเรายังยังฟุ้งซ่านอยู่ ก็ต้องมาแก้ เราจะเข้าใจ จะสงบระงับด้วยอุบายนี้ 

ความฟุ้งขณะปฏิบัติเพราะเราเข้าไปยึดมั่น เรายิ่งยึดเท่าไร มันก็ยิ่งฟุ้ง 

ตัวนั้นท่านเรียกว่า สมุทัย ยุ่งไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง 

พอปัญญาสัมมาทิฐิเกิดขึ้น สมุทัยก็หายไป นิโรธก็เกิดขึ้น 

การที่เรามาเห็นว่านี่เป็นสัมมาทิฐิ คือตัวมรรคทั้ง ๘ มารวมกันอยู่ ณ ที่เดียวนี้ 

เมื่อจิตร่วมกันในสมาธิแน่วแน่เต็มทีแล้ว สัมมาทิฐิความเห็นชอบก็เกิดขึ้น 

ณ สัมมาสมาธินั่นเอง คือเห็นทุกข์เห็นสมุทัย 

ส่วนจะละได้มากน้อยขนาดไหน ก็แล้วแต่กำลังของปัญญาสัมมาทิฐิของตนๆ 

เมื่อละได้แล้ว นิโรธความดับเย็นสนิทขนาดไหน ก็จะปรากฏขึ้นเฉพาะตนในที่นั้น...” 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านอธิบายไว้ย่อๆ ซึ่งผู้เขียนพอจดจำได้เท่าที่ปัญญาจะอำนวย และท่านได้ย้ำว่า นี่เป็นส่วนหนึ่ง เมื่อสมัยอยู่กับท่านพระอาจารย์สิงห์ กลางดงพงป่าโน้น 

 

 หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ 

 

• สอนกันที่กาย • 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเป็นพระอริยเจ้าผู้ประพฤติปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมากที่สุดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นศิษย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต การเดินธุดงค์ของท่านนั้นผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นว่า 

หลวงปู่อ่อน ถือเป็นข้อปฏิบัติตั้งแต่สมัยเป็นสามเณร ฉันอาหารก็ฉันหนเดียว ฉันอาหารในบาตรอย่างสำรวม คือ อาหารคาว-หวาน อยู่ในภาชนะเดียวกันแล้วคลุกรวมกันให้ทั่วจึงฉัน 

จิตใจของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เลิศล้ำไปด้วยเมตตาธรรม ยิ้มแย้มแจ่มใสต่อทุกๆ คนที่เข้านมัสการท่าน 

ทางด้านปัญญาธรรมนั้นก็แตกฉาน สามารถแก้ไขสิ่งติดขัด หรือบุคคลที่สงสัยในข้อปฏิบัติได้อย่างแจ่มแจ้ง 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ระยะหนึ่ง 

หลักธรรมที่ท่านหลวงปู่มั่น และท่านพระอาจารย์สิงห์อบรมบรรดาคณะศิษย์นั้น ท่านสอนไม่พ้นกาย หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ แสดงไว้ในตอนหนึ่งว่า 

ครูบาอาจารย์ท่านสอนธรรมก็เพื่อให้เราดูร่างกายนี่เอง หลักสำคัญก็คงจะมีกายนี่แหละสำคัญมาก กายก็คือ ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทุกอย่างก็อยู่ในกายเรานี้ทั้งหมดเลย 

ขันธ์ ๕ นี้ มีรูป เวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าคนไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็แยกแยะออกเป็นส่วนว่า ส่วนไหนเป็นรูป ส่วนไหนเป็น เวทนา ส่วนไหนเป็น สัญญา-สังขาร-วิญญาณ ทำให้ยุ่งเหยิงกันไปหมด 

นอกจากปล่อยให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันกันกับใจให้มันผ่านไปตามธรรมชาติของมัน 

เราต้องพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงในขันธ์ทั้ง ๕ คือ 

รูป ได้แก่สิ่งที่เรามองเห็นด้วยตาเนื้อ คือปรากฏว่าเห็นที่ตาถ้าตาบอดก็ไม่เห็นรูป แต่เราจะเห็นหรือไม่เห็น รูปมันก็คงอยู่อย่างนั้น เราในฐานะเป็นศิษย์พระพุทธเจ้า และเป็นนักปฏิบัติธรรมต้องให้รู้จักรูปในขันธ์ทั้ง ๕ ให้ละเอียดพอสมควร จึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติอย่างแท้จริง 

รูปนี่แหละเป็นนิมิตหมายที่พวกเราจะต้องนำมาสับมาโขกให้ละเอียดว่า มันเป็นอย่างไร ปรากฏขึ้นมาแล้ว รูปคงอยู่เป็นรูปตลอดไปไหม ? 

สิ่งที่มีวิญญาณเมื่อปรากฏขึ้นมาแล้ว เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไหม ?...คงทนอยู่ได้ไหม ?...แล้วทำไมเราไปติดอยู่ในรูปที่ไม่มั่นคงนั้น 

เราเป็นคนโง่หรือเปล่า รูปสวย รูปขี้เหร่ อัปลักษณ์อย่างไร มันไม่อยู่กับเราตลอดไป เราไปติดข้องอยู่กับมันทำไม 

มันไม่ได้ให้อะไรเลย ถ้าไปติดอยู่ในรูป มันก็หยิบยื่นแต่ภพแต่ชาติให้เราเท่านั้นเอง 

อัน เวทนา นี้ เป็นข้าศึกแกเรา มันไม่มีอะไร ประเดี๋ยวก็ทุกข์ เรียกว่า ทุกขเวทนา 

ประเดี๋ยวก็สุข เรียกว่าสุขเวทนา มันเป็นมันเกิดขึ้นภายในจิต โดยลำพัง โดยเรียกร้องหามันบ้าง ฉะนั้น เราต้องพิจารณาดูเวทนา คือการเสวยอารมณ์ให้ละเอียด 

อารมณ์สุขก็อย่าไปดีใจกับมัน ถ้าเกิดอารมณ์ที่เป็นทุกข์ ก็อย่าทุกข์ใจไปกับมัน จงทำใจให้เป็นกลางๆ จนจิตเราเป็นอุเบกขาเวทนา คือวางเฉยในอารมณ์ที่เป็นสุขและเป็นทุกข์ 

สัญญา ข้อนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว เมื่อทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ก็สำคัญ แต่ทุกข์มิได้เกิดอยู่ทุกเวลา ส่วนสัญญาเป็นผู้ที่สำคัญมาก ละเอียดมาก 

สังขาร เป็นผู้ยื่นให้สัญญาจนไม่มีที่สิ้นสุด และหาข้อที่จะยุติลงได้ยาก 

วิญญาณ ก็เป็นผู้สำหรับรับทราบ ปัญญาคือความจำได้หมายรู้ สัญญานี้เอง เป็นเครื่องปิดบังใจให้หลงใหลไปตามสัญญา ฉะนั้นจึงต้องบังคับจิต บังคับใจของตัวเอง 

การที่พวกเราทั้งหลาย รู้ไม่เท่าทันสิ่งเหล่านี้ เพราะว่าไม่ได้กำหนดในสิ่งทั้ง ๕ นี้ จึงไม่รู้ว่า การเกิดดับของคนเรานั้นมีปรากฏอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นของที่ละเอียดมาก ยากที่จะกำหนดจิตให้ดิ่งลงไปได้ 

เพราะการที่เราจะสู้รบตบมือกับกิเลสนั้น เป็นสิ่งที่ละเอียดและทำได้ยาก 

แต่ถ้าไม่มีการต่อสู้กิเลสที่มาย่ำยีตัวเราอยู่ ก็เท่ากับว่าพวกเราไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง 


• ต้องยอมรับความทุกข์ยาก • 

ครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเดินทางไปจังหวัดอุดรธานี เมื่อทำธุระแล้วก็ตกลงใจกันว่าจะเข้านมัสการเยี่ยมเยือนหลวงปู่อ่อนท่านบ้าง เมื่อคิดได้ดังนั้น ผู้เขียนและผู้ร่วมงานอีกสองคน ได้พารถคู่ชีพ เดินทางไปยังวัดป่านิโครธาราม 

ภายหลังจากเข้านมัสการแล้ว หลวงปู่อ่อนท่านได้ทักขึ้นว่า 

“ไง...เหนื่อยไหม ? จะไปไหนกันล่ะ !” 

นี่เป็นประโยคที่ผู้เขียนยังจำได้ดี กระแสเสียงที่แฝงไว้ด้วยความเมตตาปรานียิ่ง 

พวกเราได้ตอบหลวงปู่และเป็นเชิงถามปัญหาธรรมไปในตัวว่า 

“หลวงปู่ครับ ความเหน็ดเหนื่อยนี่พอทนได้ แต่ความทุกข์ที่เข้ามาแผดเผาจิตใจนี่ซิครับ มันย่ำแย่แสนทนทีเดียว” 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านยิ้มแล้วท่านได้พูดเป็นคำสั่งสอนว่า 

เออ...พวกเราเกิดมาท่ามกลางกิเลส พระพุทธเจ้าของพวกเราทรงสอนให้รู้จักวิธีต่อสู้กับกิเลสที่เข้ามารุมจิตใจเราให้ได้ ต้องเป็นผู้ต่อสู้หรือเป็นผู้ปราบกิเลส 

ถ้าเราไม่มีการต่อสู้กับมันปล่อยให้มันย่ำยีเราแต่ฝ่ายเดียวนั้น ตัวเราก็ย่ำแย่ลงไปทุกที 

ผลสุดท้ายก็เป็นผู้แพ้ เรายอมเป็นทาสรับใช้ของกิเลสจนใช้การไม่ได้ 

สำหรับการสู้รบตบตีกับกิเลส จิตใจของเราจะรู้สึกว่ามีความทุกข์ยากลำบากเป็นกำลังอย่างมากทีเดียว 

แต่ก็ขอให้พวกเราทำต่อไป และยอมรับความทุกข์ยากลำบากลำบนอันนั้น 

เราต้องยิ้มรับกับความลำบากเพราะความพากเพียรของเรา 

เมื่อเรามีความท้อถอยอิดหนาระอาใจต่อความเพียรของตนนั้น ก็ให้ระลึกถึงพระพุทธองค์ ผู้เป็นบรมครูของเรา 

คือ...ให้ยึด พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์ โดยเฉพาะพระพุทธเจ้าของเรา ก่อนที่พระองค์จะทำลายรังกิเลสลงได้ราบคาบพระพุทธองค์ก็ใช้อาวุธหลายอย่างหลายชนิด เข้าประหัตประหาร จนกิเลสยอมจำนนต่อหลักฐาน ยอมให้พระพุทธองค์โขกสับได้อย่างสบาย 


• อยู่เป็นหมู่ดูไม่สงบ • 

เมื่อหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านได้เมตตาอธิบายธรรมะจบลง ผู้เขียนจึงได้กราบเรียนถามปัญหาธรรมจากท่าน มีใจความว่า “กระผมขอโอกาสหลวงปู่ครับผม ทำไมพระคณาจารย์เก่งๆ ด้วยการศึกษา และพระอภิธรรมที่ศึกษามาจนมีความสามารถเรียกว่า เก่งทางพระอภิธรรมต่างๆ ทำไมครับ จึงไม่สำเร็จกันและไม่เคยปรากฏประวัติเลยหมายถึงพระนิพพาน ครับกระผม” 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านมองหน้าของผู้เขียน แล้วก็หัวเราะ อันเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะท่าน ท่านนิ่งไม่ว่าอะไร เพียงแต่พูดให้ผู้เขียนฟังเรื่อยๆ ว่า 

“ชื่อว่า ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ทรงนิยมอยู่บ้าน หรือคลุกคลีด้วยหมู่ เพราะการคลุกคลีด้วยหมู่ ทำให้จิตใจของเราไหลไปสู่อารมณ์ต่างๆ ได้ง่าย โอกาสที่จะทำให้จิตเป็นสมาธิ หรือทำให้จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งนั้นยากเหลือเกิน 

เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ท่านปัญจวัคคีย์ ๕ รูป ไปเฝ้าปฏิบัติพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด (เมื่อเรามาพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่า การคลุกคลีหรือการอยู่ร่วมกันหลายๆ คนนั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อการทำสมาธิ) 

พระพุทธองค์จึงต้องทำวิธีใดวิธีหนึ่ง ให้ปัญจวัคคีย์เบื่อหน่ายจะได้หลีกหนีไปอยู่เสียที่อื่นวิธีของพระองค์มิได้ไล่ หรือว่าใครเลย เพียงพระพุทธองค์ทรงกลับมาเสวยพระกระยาหารอีก 


• ต้องเอาจริงด้วยทิ้งเข้าป่า • 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พักไปชั่วครู่ ท่านก็ได้เมตตาอธิบายต่อไปว่า 

“เมื่อท่านปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ท่านหนีไปแล้ว พระพุทธองค์ก็ได้ทรงทำความเพียรทางใจอย่างขั้นอุกฤษฏ์ยิ่งขึ้น จนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยกาลไม่นาน 

นี่พระพุทธองค์ทรงกระทำให้เป็นตัวอย่างนะ เราเป็นศิษย์ของพระองค์ ก็ควรสำเนียก และดำเนินตาม 

การทำความเพียรเพื่อทำลายกิเลส มันจะต้องลำบากทุกสิ่งทุกอย่าง การกินก็ลำบาก อดมื้อฉันมื้อ ก็ต้องยอมอด 

อดมันทำไม ? 

อ้าว ! ก็อดเพื่อปราบกิเลสกิเลสมันก่อตัวมานานแสนนานจนเราสาวหาตัว ต้นตอ-โคตร-เหง้า-ของมันไม่พบ 

นี่แหละท่านจึงสอนให้อยู่ป่าหาที่สงัด 

แม้แต่ท่านสมัยพระพุทธกาลมีท่านพระเถระหลายท่าน ที่มุ่งหมายต่อแดนพ้นทุกข์ ได้ออกปฏิบัติตน ทรมานตนอยู่ในป่าในเขา และได้บรรลุมรรคผล เป็นพระอริยบุคคลเป็นจำนวนมากนับไม่ถ้วน ! 

แต่...เหตุในการบำเพ็ญเพียรของท่านนั้น ท่านทำกันจริงจัง หวังผลคือ การหลุดพ้นจริงๆ ท่านสละเป็นและตายมาแล้วทั้งนั้น ความทุกข์ยากลำบากทุกข์มาก ทุกข์น้อย ย่อมมีแก่ทุกคนในขณะปฏิบัติภาวนา 

เอาละ...เข้าใจหรือยังล่ะ...หา ! 

เออ...ดีแล้วต้องเข้าใจนะ ทำไปเรื่อยๆ อย่าประมาท ดูซี ครูบาอาจารย์บางองค์ท่านแก่เฒ่าจนสังขารไม่ไหวแล้ว ท่านก็ยังไม่เคยละจากความเพียรเลย เรียกว่าหยุดไม่ได้ 

งานของจิตหยุดไม่ได้ ทำไปเสมอๆ สังขารไม่ไหวก็ช่างเถิดมันไม่เกี่ยวข้องกับจิตใจ เราต้องทำการแยกออกให้ได้ อย่าให้ปะปนกัน มิเช่นนั้น มันจะเป็น “อัตตา” ไม่เห็นของดี คือ “อนัตตา” นะ เอาแค่นี้พอแล้ว” 


• ธรรมปีติ • 

ในโอกาสการประชุมวันหนึ่ง ได้ขอโอกาสกราบเรียนเรื่องการปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์ใหญ่หลวงพ่อมั่นว่า 

“ตามที่ได้เคยเห็นอาจารย์ต่างๆ สอนกันมามีหลายแบบ มีการสอนธรรม ๔๐ ห้อง สอนธรรมมีข้ออาราธนาพระไตรสรณคมน์ อาราธนาพระไตรลักษณ์ สอนธรรมปีติ ครูผู้เข้าสอน เขาว่าเป็นธรรมพระอรหันต์ดังนี้เป็นต้น ธรรมที่เขาสอนกันทั้งหลายนั้นเป็นธรรมอันพ้นทุกข์กันทั้งหมดหรือประการใด” 

พระอาจารย์จึงย้อนถามว่า “ท่านเห็นเขาสอนกันมาเป็นอย่างไรเล่า” 

เรียนท่านว่า “ธรรมอื่นเกล้าเห็นว่าคนนิยมกันว่าดีเป็นบุญใหญ่กันไปเท่านั้น ไม่เห็นมีแปลกอะไร เห็นมีแปลกอยู่ก็แต่ธรรมปีติ ที่ครูผู้สอนเขาว่าเป็นธรรมพระอรหันต์ นี้แหละเขาเรียนกัน 

มีเกิดเป็นบ้ามีตัวสั่นเซ็น บางคนมีกระโดดโลดเต้นตึงๆ ตังๆ ปากพูดดู้ดี้ๆ พูดไปทั่ว ต่างๆ นานา ปฏิบัตินานไปมีคนเขาว่าเป็นบ้ากันไปก็มี 

ก่อนจะเข้าเรียนกับครู เขาเตือนกัน ให้พวกลูกศิษย์ ที่จะเข้าเรียนนั้นให้แต่งเครื่องธูปเทียนให้ได้คนละมากๆ และกำหนดน้ำหนักของขี้ผึ้งด้วย เพื่อจุดบูชาและเพื่อยกครูด้วย 

แล้วครูสอนเขาสอนให้พวกศิษย์ภาวนาบริกรรม อะระหัง นี้คำหนึ่ง แล้วแนะให้พวกศิษย์ของเขาค้นหา วัด ๖ กก ๕ สีมา ๘ พ่อนอกแม่นอกพ่อในแม่ใน อุปัชฌาย์อาจารย์สวดขวาซ้ายนอก อุปัชฌาย์อาจารย์สวดขวาซ้ายใน เป็นต้น นี้เขาว่าเป็นธรรมอะไรขอรับ ปฏิบัติไปหรือผู้ปฏิบัติจะเป็นการพ้นทุกข์หรือไม่” 

 

  คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (จากซ้ายไปขวา)  ๑. พระธรรมวราลังการ (หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ) ๒. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ  ๓. หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ๔. หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๕. หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต

คณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (จากซ้ายไปขวา) 
๑. พระธรรมวราลังการ (หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ) ๒. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ 
๓. หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ๔. หลวงปู่หลุย จันทสาโร ๕. หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต 

 

• ไม่ต้องกลัวบ้า • 

พระอาจารย์ใหญ่ท่านได้ยกคำถามข้อนี้ขึ้นเป็นอุเทศ เป็นหลักฐานในการเทศนาของท่านว่า “เรื่องธรรมของท่านถามดังนี้ พระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กันตสีโลเถระ ท่านได้เรียนจากครูต่างๆ มามากผมได้ออกปฏิบัติมาพบกับท่าน ผมรู้ผมมาแก้ท่านเอาอยู่ ๓ ปี พระอาจารย์ท่านจึงตกลงเห็นด้วย ผมจึงได้เลิกสอนธรรมต่างๆ มาเวลานี้ จึงได้สอนกันแต่ให้ถึงไตรสรณคมน์กันเท่านั้น ตามแบบเดิมของพระองค์ สอนกันสืบมาอยู่เท่านี้ เพราะธรรมอื่นพวกอาจารย์สอนกันมานั้น สอนกันเพื่อเป็นการหลอกลวง คนผู้หวังเพื่อเป็นทางหากินของอาจารย์ผู้สอนกันทั้งนั้น 

และแบบของพระองค์สอนพวกลูกศิษย์ที่เป็นสาวก เข้าบวชในพระศาสนาของท่าน ก็มีแต่ท่านสอนให้ถึงพระไตรสรณคมน์กันเท่านั้น เช่นหมู่พวกเราบวชกันมาก็มีแต่ขอถึงพระไตรสรณคมน์กันเท่านั้น ก็เป็นอันว่าเป็นผู้ควรแก่ปฏิบัติพระธรรมวินัย ให้สมบูรณ์พ้นทุกข์กันได้แน่นอน 

ธรรมปีติที่ท่านว่ามีอาจารย์เขาสอนกันนั้น ครูผู้เขาสอนกันเป็นต้นมานั้น เขาอยู่จังหวัดสุรินทร์ เขาเป็นคฤหัสถ์ สอนกันเป็นบ้าตั้งมากๆ เมื่อลูกศิษย์เป็นบ้าแล้วอาจารย์เลยไม่รู้จักแก้ไขลูกศิษย์ให้หายได้เลย 

ธรรมปีติจะไปเรียนไปขึ้นขออาราธนาเอาเองได้อย่างไร เพราะปีติมันเกิดจากภาวนา จิตรวมลงเป็นสมาธิต่างหาก เมื่อไม่รวมแล้ว ใครจะไปขอร้องอาราธนาให้ปีติมันเกิดขึ้นสักเท่าไร ปีติมันก็ไม่เกิดขึ้นมาให้ดอก” 

สุดท้ายท่านอาจารย์ว่า “ท่าน ถ้าหากว่าหมู่ผู้ปฏิบัติอยู่กับผม ไม่ต้องให้กลัวเรื่องมันจะเกิดเป็นบ้ากันเลย ถ้าหมู่เป็น ผมรับรอง แก้ให้หมู่หายได้ แต่หมู่เชื่อผมเตือน มันจึงจะหาย 

ก็เราภาวนาจิตรวม เกิดมีความสบายปลอดโปร่งดีอยู่ และเกิดความรู้เห็นอะไร ใจก็รู้ชัดแจ่มแจ้งเหมือนลืมตาเห็นรูป ใจก็รู้รูปแจ้งชัดอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นบ้าอะไรกัน เหตุนั้นจึงให้หมู่ปฏิบัติไปเถิด ใจจะได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์จริงแน่ทีเดียว อันใจเป็นบ้านั้น เมื่อปฏิบัติไป ใจมันเกิดไม่สบาย มีอาการกระวนกระวาย เป็นเครื่องบอกว่าตัวเกิดเป็นบ้าขึ้นมาเช่นนั้นได้ 

ตัวเองก็ต้องรู้ตัวเองว่าเป็นบ้า ตัวก็ต้องละการปฏิบัตินั้นเสีย มาจบอยู่กับภาวนา เอาจิตจดจ่ออยู่กับคำภาวนาบริกรรมภาวนานั้นไปไม่นาน ความกระวนกระวายจะเกิดเป็นบ้านั้นมันก็จะหายไป ใจมันก็สบายขึ้นมามันจะมีอะไรมาเกิดให้เราเป็นบ้าอีก 

เมื่อมันยังไม่หายอยู่ ก็ให้ยกเอาคำวิปัสสนาขึ้นมาตัดมันว่า 

สพเพ สงฺขารา สพเพ สญฺญา อนิจฺจา 
สพฺเพ สงฺขารา สพฺเพ สญฺญา ทุกฺขา 
สพฺเพ สงฺขารา สพฺเพ สญฺญา อนตฺตา 

๓ คำนี้จับเอาคำใดคำหนึ่งขึ้นมาภาวนา หรือจะเอาหมดทั้งสามคำนี้ภาวนาไปเลยก็ได้ จับเอาคำภาวนาขึ้นมาตัดลม อาการเป็นบ้าจะขาดหายไปเลย ความจะเป็นบ้าอยู่ในใจมันตั้งอยู่ไม่ได้ดอก” 

ท่านได้เทศนาไปมาก ฟังได้หลักทางปฏิบัติอย่างสำคัญใหญ่หลวงเลย แล้วท่านอาจารย์ก็สั่งเลิกประชุมกัน 


• ส. เสือน่ากลัว • 

พอถึงวันที่ ๒ พระอาจารย์ฉันจังหันเสร็จแล้ว ท่านก็เตรียมตัวออกเดินทางไปเที่ยวธุดงค์ อีกสามวันต่อมา หลวงปู่อ่อนกับพระอีกรูปหนึ่ง ฉันจังหันเสร็จแล้วก็ได้ออกเดินทางวิเวกไป ๗ คืน จึงไปถึงบ้านนาหมี่ ที่พระอาจารย์ใหญ่ไปพักอยู่ ทีแรกนั้น ไปถึงไม่ทันพระอาจารย์ ท่านได้เดินทางไปบ้านนาต้องก่อนแล้ว หลวงปู่อ่อนกับพระที่ไปด้วยกันพักอยู่บ้านนาหมี่นั้น ๖ วัน 

พระที่เดินทางไปด้วยนั้นชื่อท่านว่า พระป้อง บ้านท่านอยู่จังหวัดนครพนม ท่านมีใจศรัทธาท่านอยากออกปฏิบัติเด็ดเดี่ยวไปอย่างไรไม่รู้ ท่านจึงพูดให้โยมนำขึ้นไปอยู่ถ้ำข้างเขา จึงได้ไปแต่งถ้ำให้ท่านอยู่แล้วก็กลับมาอยู่วัดคนเดียว อยู่วัดบ้านนาหมี่นั้นราว ๑๐ กว่าวัน วันหนึ่งบ่ายราว ๒ โมงเห็นจะได้ เสือใหญ่มันกัดควายเสียงควายมันร้องมากขึ้นบาด (ที) หนึ่ง 

เมื่อได้ยินเข้าใจว่าเป็นเสียงช้างป่ามันร้อง กลัวขึ้นบ้าง นึกหาทางป้องกัน จึงนึกเห็นหญ้าตีนชายคามุงกุฏิด้านใต้ว่า ถ้าช้างมาเราจะไปดึงเอาหญ้านั้นจุดไฟไล่มัน ช้างมันกลัวไฟดอก 

แล้วก็อยู่ทำความเพียรภาวนาพิจารณากายใจตนไปตามพระอาจารย์สอนสั่งที่ตนจำได้มานั้น ถึงค่ำพอมืดเข้าหน่อยได้ยินเสียงหมู่ควายมันโอบอ้อมควายตัวที่ถูกเสือกัด มันยังไม่ตาย เพราะหมู่มันช่วยรุมเข้าชนเสือ เสือมันกลัวกระโดดหนี ควายตัวเสือกัดมันจึงไม่ตาย หมู่มันจึงรักษา เสือตามมาจะกัดให้ตายเป็นอาหารของมันอีก หมู่ควายประคองควายตัวเสือกัดนั้นมา เดินจากวัดมาที่หลวงปู่อ่อนอยู่นั้นเข้าไปบ้านนาหมี่ 

หลวงปู่อ่อนเข้าใจว่าเป็นหมู่ช้างป่ามา กลัวได้วิ่งขึ้นไปบนกุฏิ ไปนั่งฟังอยู่ พอดีได้ยินเสียงควายมันกลัวกัน มันร้องงอกขึ้นบาด (ที) หนึ่ง ก็เข้าใจแน่ว่าเป็นหมู่ควาย จึงลงไปเดินจงกรมอีก 

สมควรแก่กำลังตนแล้ว ก็หยุดประณมมือเคารพแก่คุณพระรัตนตรัยว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ๓ จบ แล้วเจริญพรหมวิหาร ๔ แผ่เมตตาจิตอุทิศส่วนกุศลที่ตนได้ทำความเพียรมาทั้งหลาย ส่งไปให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทุกหมู่เหล่า เสร็จแล้วจึงวางมือลง เดินออกจากทางจงกรม ไปขึ้นกุฏิเริ่มคลุมจีวรพาดสังฆาฏิ พาดเสร็จแล้วนั่งคุกเข่ากราบสามหน ไหว้พระทำวัตรสวดมนต์เสร็จแล้ว กราบสามหน นั่งสมาธิต่อ เหนื่อยถึงประมาณ ๔ ทุ่ม หยุดนอนสีหไสยาสน์ 

ตื่นเช้าเดินออกบิณฑบาตพอหวิด (พ้น) เขตวัดออกไปเห็นรอยเสือใหญ่มันเดินตามซากควายที่มันกัดไม่ตายนั้นมา มันเดินตามทางที่จะไปบิณฑบาตนั้นเอง 

หลวงปู่อ่อนมีใจกลัวเสืออยู่แล้ว เมื่อได้เห็นรอยเสือใจก็ยิ่งมีความกลัวใหญ่ ยืนตัวแข็งได้ยืนงงอยู่นั้นสักครู่หนึ่งจึงระลึกคำพระอาจารย์สั่งขึ้นมาได้ว่า เมื่อกลับให้ระลึกแผ่เมตตาจิต จึงได้ตั้งใจแผ่เมตตาจิต 

เสร็จแล้วจึงตั้งใจกดตัวฝืนตัวเดินก้าวขาภาวนาไปตามทางที่เสือไปก่อนนั้น เสือเดินไปถึงริมบ้านเขาได้แวะทางเดินเข้าป่าไปส่วนหลวงปู่อ่อนเดินตรงตามทางเข้าบ้าน 

พวกโยมใส่บาตรให้เสร็จแล้ว ให้พรพวกโยม มีโยมผู้ชายคนหนึ่งมารับเอาบาตรนำส่งถึงวัด เขาเดินก่อนเขาเห็นรอยเสือเขาพูดขึ้นว่า โธ่ รอยเจ้าดง ตามซากควายที่มันกัดไม่ได้วานนี้มาแค่นี้ 


• กลัวก็ต้องทน • 

ภาวนาอยู่วัดนั้นองค์เดียวได้เดือนกว่า หมู่พระอาจารย์มั่นจึงได้กลับมาหา พระป้องที่ขึ้นไปอยู่ถ้ำได้ลงมากราบท่าน พระป้องกับหลวงปู่อ่อนฟังโอวาทท่านพระอาจารย์ไปได้ ๔ วัน ท่านพระอาจารย์ใหญ่ไดปรารภว่าจะนำอาหารดงออกไปส่งโยมแม่ของท่าน และได้สั่งหลวงปู่อ่อนให้ภาวนาอยู่ในดงคอยท่าท่านไปก่อน พระป้องก็ลาพระอาจารย์ไปเที่ยววิเวกทางจังหวัดเลย พระอาจารย์ก็อนุญาตให้ไป 

พอได้ยินเรื่องพระอาจารย์ว่าจะให้ภาวนาอยู่ในดงคอยท่าท่านอยู่องค์เดียวเช่นนั้น ก็เกิดกลัวใหญ่ขนลุกซ่า เหงื่อก็บีบออกมาตามขุมขนเต็มไปเลย นึกในใจว่าเราตายก่อน เสือมากัดตัวเราแล้ว บาด (คราว) นี้ เราจะทำอย่างไรดีหนอ นึกอยู่อย่างนี้ไปหน่อยหนึ่งก็พอดีพระอาจารย์ได้ถามขึ้นว่า 

“ท่านอ่อนได้มีความขัดข้องอะไรบ้างเล่าในการอยู่ในดงไปผู้เดียวนี้” 

ได้โอกาสจึงเรียนท่านว่า “เกล้าก็ไม่เห็นมีขัดข้องอะไรมีอยู่แต่เกล้ากลัวมากเท่านั้น” 

พระอาจารย์ก็ได้เทศนาปลอบใจและให้กำลังใจว่า “ผมไปส่งของ ส่งอาหารแม่ออกผม แล้วพักอยู่พอหายเหนื่อยสมควรแล้ว ถ้าผมไม่มีขัดข้องจำเป็นอะไรอีกแล้ว ผมก็จะกลับมาวิเวกอยู่ในดงกับท่านเร็วดอก” 

ท่านเตือนตัวก็รู้อยู่ แต่ความกลัวของหัวใจมันไม่หาย หลวงปู่อ่อนจึงไปพิจารณานอนไม่หลับตลอดคืน เลยตกลงใจแต่เพียงว่า ท่านให้เราอยู่ ก็ลองทนอยู่ไปดูก่อน ถ้าเราไม่อยู่ก็ได้ แต่ว่าตัวเราจักเป็นคนไม่ดี เพราะไม่ฟังคำของครูบาอาจารย์ แล้วท่านจะไม่มีแก่ใจสงสาร สอนเรา เราก็จะไม่พ้นทุกข์นั้น ฉะนั้นเราต้องอดใจอยู่ไปก่อน 


• พอดีมีเพื่อน • 

ทำกิจวัตรตอนเช้าเสร็จแล้วเตรียมเอาของที่จะลงไปฉันจังหันศาลา ไปศาลาแล้วออกบิณฑบาตกลับมาวัด ฉันจังหันเสร็จแล้วไปหน่อยหนึ่ง มองไปทางเข้าวัดมอง ไปเห็นครูบาพ่อชากับสามเณรทองปาน เดินเข้าวัดมาหมู่ลูกศิษย์ พระอาจารย์ใหญ่และหลวงปู่อ่อนเดินไปรับเครื่องบริขารท่านครูบาพ่อชามาบนศาลา ครูบาพ่อชาเข้ากราบพระอาจารย์ใหญ่แล้ว พระอาจารย์ท่านถามข่าวว่า “ท่านพ่อชามาแล้วจะไปเที่ยวที่ไหนอีกเล่า” 

ครูบาพ่อชาตอบท่านว่า “ไม่มีมุ่งใจจะไปเที่ยวทางไหนอีก มุ่งใจเข้ามาเที่ยวในดงกับครูบาอาจารย์เท่านี้” 

พระอาจารย์ใหญ่ท่านจึงว่า “ดีแล้วฝากท่านอ่อนไปเที่ยวด้วย ท่านอ่อนท่านว่ากลัว ดีแล้วละ ท่านกลัวก็ยังมีท่านพ่อชามาเป็นเพื่อนแล้ว ให้ท่านตั้งใจปฏิบัติให้ดี ไปกับท่านพ่อชา” 

หลวงปู่อ่อนได้ยินก็ดีใจมาก หายกลัวใจมีแรงใจเย็นวาบๆ ลงทันทีเลย 

หลวงปู่อ่อนก็ได้เดินตามท่านพ่อชา นำบริขารไปกุฏิ ทำความสะอาดจัดที่นอนถวายท่านเสร็จแล้วก็ได้กราบท่าน ขอถวายตัวเป็นศิษย์ท่าน เสร็จทุกอย่างแล้ว ก็ได้กราบลาครูบาพ่อชาเดินกลับกุฏิตน 

วันหลังพระอาจารย์ใหญ่ฉันจึงหันเสร็จแล้ว ท่านก็ออกเดินทางกลับสำนักบ้านค้อ อ.บ้านผือ นำเอาอาหารดง มีหน่อหวายและบุ่นเป็นต้น ไปให้โยมแม่ของท่าน 

หลวงปู่อ่อนกับครูบาพ่อชาสามเณรทองปาน พักทำความเพียรอยู่วัดป่าบ้านนาหมี่ ต.สมเยี่ยม อ.บ้านผือ ไปอีกพอควรแล้ว 


• บ้านนายุง • 

จากนั้นท่านครูบาชาก็ได้พาเดินไปพักสำนักป่าบ้านนายุงภาวนาอยู่บ้านนายุงนี้ซึ่งเป็นบ้านตั้งอยู่สุดหมู่กลางดงเลย ไม่มีหมู่บ้านใดต่อไปอีกแล้ว ฉะนั้น อันตรายทุกอย่างเช่นพวกเสือ พวกช้าง ผีกองกอย ผีมุ่งค้างทั้งหลายเต็มไปเลย พวกโยมผู้ชายในบ้านนายงผู้ใจบุญ จึงมาแนะคำพูดในการอยู่ในดง การไปการมาเช่นทำงานเอาฟืน ห้ามไม่ให้ลากมา เสียงเสือร้องให้ว่าเสียงเจ้าดงร้อง เสียงปืนให้ว่าเสียงไม้หัก ดังนี้เป็นต้น 

ได้ยินเขาสอนให้ก็รู้ขึ้นว่า เขาสอนให้เราเอาใจออกจากการนับถือพระรัตนตรัย เอาใจไปนับถือผีกับเขา อย่าอย่างนั้นเลยเราจะตั้งใจภาวนาไม่ต้องพูดอะไรทั้งสิ้นละ หากพวกโยมเขามาพูดถามนามอะไร กับเราๆ ก็จะพูดกับเขาไปแต่สิ่งเป็นธรรม เป็นวินัยเท่านั้นแล้วก็ขอบคุณโยมที่เขามาบอกให้รู้นั้น 

 

 หลวงปู่อ่อน วัดป่านิโครธาราม

 

• สองผู้กล้า • 

เมื่อครูบาพ่อชากับหลวงปู่อ่อน และสามเณรทองปาน ไปถึงสำนักป่าบ้านนายุง พักเอาแรงอยู่วันหนึ่ง สามเณรทองปานได้ชวนหลวงปู่อ่อนไปหาที่ทำร้านพักรุกขมูลอยู่ตามร่มไม้ในดงป่าทึบนั้น เดินลงจากโนน (เนิน) ที่พักอยู่แล้ว ลงห้วยน้อยๆ แห่งหนึ่งแล้วจึงขึ้นอีกโนนหนึ่ง เห็นหลังโนนนั้นราบสะอาดดีหลวงปู่อ่อนกับสามเณรทองปานก็ต่างพากันชอบใจ ทั้งเห็นมีร้านเก่าที่พระท่านไปภาวนาอยู่ด้วยแล้ว ก็ยิ่งพากันชอบใจมาก 

หลวงปู่อ่อนกับสามเณรทองปานจึงช่วยกันทำร้านอยู่คนละร้าน เสร็จแล้วกลับมาลาบอกครูบาพ่อชาท่าน ท่านก็อนุญาต แล้วมีโยมคนหนึ่ง แกนั่งคุยกับท่านพ่อชาอยู่ แกเห็นหลวงปู่อ่อนกับสามเณรทองปาน จะไปอยู่ภาวนาดงโน้นแกจึงบอกว่า ให้พากันไปภาวนาให้ดีหนา พระท่านไปภาวนามาก่อนนั้น เจ้าดงมาเดินรอบและมานั่งเฝ้าอยู่หมดคืนยังรุ่ง บางวันพระท่านลุกล้างหน้าตอนเช้ารินน้ำในกาเทสาดใส่มันจึงค่อยกระโดดหนี 

พอหลวงปู่อ่อนได้ยินตาแก่คนนั้นพูดก็เกิดกลัวหัวใจเข้าจนกระด้าง ไม่อยากไปขึ้นมาเลย แต่อาศัยสามเณรทองปานนำไป ก็จำต้องไปตามสามเณร 

หลวงปู่อ่อนจึงถามสามเณรว่า “โยมแกบอกว่าอันตราย หยุดก่อน เราทั้งสองควรไปหรือไม่” 

สามเณรทองปานเธอว่า “ไป ต่างหัดให้เราเองเป็นผู้กล้าหาญ ให้หมดความกลัวถ้าเราทั้งสองไปอยู่เห็นอย่างโยมว่า พวกเราจึงกลับมาเสียก็ได้” เณรว่าดังนี้แล้ว ก็เห็นด้วย หลวงปู่อ่อนกับเณรจึงได้ไปอยู่กัน 

ตอนกลางวันพออยู่สบายใจดี เมื่อถึงตอนกลางคืน ใจมันเกิดกลัว จึงได้หาฟืนมาก่อกองไฟใหญ่ ไว้ตรงหน้าประตูร้าน เพื่อให้เสือกลัวไฟ 

ถึงว่าไฟมีอยู่ก็ตาม ก็ยังกลัวมาก นอนเอาหัวลงใส่หมอนไม่ลงเลย จึงเอาศอกเท้าหมอนเอามือค้ำหัว นอนอยู่อย่างนั้นตลอดคืนเพราะกลัวเสือกระโดดมากัดเอาขาหรือตีนวิ่งออกจากร้านไปกิน 

ถึงนอนอย่างนั้น ก็ได้ตั้งใจภาวนาอยู่ ไม่มีใจออกไปจากภาวนาไปยึดถืออยู่กับกลัวเลยส่วนนอน ก็นอนกลางวันเอาเล็กน้อยแล้วลุกเดินจงกรมนั่งสมาธิ 


• เหลือแต่ผู้เดียว • 

อยู่ไปได้ในราว ๘ วัน ตอนบ่ายเห็นพระ ๑ รูป เณร ๑ รูป มาจากพระอาจารย์ใหญ่มาหาครูบาพ่อชา ว่า “พระอาจารย์ใหญ่ให้มานิมนต์สามเณรทองปานไปรับใบกองเกินบ้านเดิมเณร อ.มุกดาหาร จ.นครพนม” 

พอได้ยินก็เกิดกลัว ใจหายวาบๆ แข็งกระด้างขึ้นมาอีกแล้ว จึงได้ถามพระที่มานั้นว่า “พระอาจารย์ได้พูดถึงเรื่องของผมให้อยู่ ให้ไปอย่างไร บ้างหรือไม่” 

พระท่านบอกว่าพูดเหมือนกัน พระอาจารย์พูดว่า “สำหรับท่านอ่อนให้ตั้งใจภาวนาอยู่ในดงนั้นไปก่อน ภาวนาอยู่ผู้เดียวสงบดี อย่าให้ท่านอ่านออกมาเลย พระอาจารย์สั่งผมมาอย่างนี้แหละ” 

หลวงปู่อ่อนได้ยินก็เกิดเสียใจ เพราะความกลัวของตัวมันกลัวมาก ใจจึงเกิดโทมนัสจะเกิดร้องไห้ขึ้นให้ได้ เป็นแต่อดใจไว้ และนึกรู้ขึ้นมาในใจว่า พระอาจารย์ท่านเป็นผู้รู้ ท่านคงรู้ว่าเราทำความเพียรอยู่ในดงนี้จะไม่มีภัยเกิดขึ้นในตัวเราเหมือนเรากลัวนี้ ท่านเมตตาเราโปรดให้เรามีความกล้าหาญและจะมอบความกล้าหาญอันมีอยู่ในตัวท่านมอบให้เราแน่นอน 

เมื่อคิดได้ดังนี้จึงไม่ถึงกับร้องไห้ นึกขึ้นในใจว่าเราจำต้องกลับมาอยู่สำนักเดิม ให้พวกโยมเขาทำร้านริมสำนักเดิมให้อยู่ เมื่อเราไปอยู่กุฏิที่เขาปลูกไว้แล้วใจเราจะไม่กล้าหาญหายกลัวเลย 

จึงบอกพวกโยมทำร้านให้เป็นสองห้อง พวกโยมก็พอใจทำให้ จนเป็นที่พอใจทุกอย่าง คือโยมทำร้านให้เป็นสองห้อง ห้องหนึ่งสำหรับนอน มีหน้าต่างข้างตะวันตก อีกห้องหนึ่งเป็นห้องสำหรับฉันจังหัน มีไม้เซ็น (ลูกตั้ง) มัดขวางพิงอย่างดี หลังคามุงด้วยใบหวายบุ่น ฝนตกไม่รั่วจึงไปเก็บของมาขึ้นอยู่ร้าน ได้ตั้งใจปรารถนาความเพียร 

นึกขึ้นในใจว่าเรากลัวตอนกลางคืนเราก็ทำความเพียรกลางวันหมดวันยังค่ำ แก้ทำความเพียรกลางคืนเอาเช่นนี้ แล้วก็ได้มุ่งหน้าทำความเพียรดังตนได้นึกอธิษฐานไว้ในใจนั้นไป 

ตื่นเช้าล้างหน้าแล้วเตรียมตัวคลุมผ้าทำวัตรเช้า สวดมนต์อะไรต่ออะไรต่อท้าย เสร็จแล้วเจริญเมตตาตน เมตตาสัตว์ เสร็จดีแล้วนั่งสมาธิจนแจ้งเป็นวันใหม่แล้วออกจากนั่งสมาธิ ลงเดินจงกรม 

พอจะไปบิณฑบาตก็เลิกเดินจงกรม เตรียมตัวไปบิณฑบาตกลับมาฉันจังหัน เสร็จแล้วล้างบาตรเช็ดแห้งดีแล้ว เอาบาตรเข้าถลก ล้างกากรองน้ำ เช็ดกาแห้งดีแล้ว เอาไว้ที่ฉันข้าวนั้นลงไปปัดกวาดบ้านและลานวัดและทางจงกรม เสร็จแล้ว เอาไม้กวาดไปเก็บไว้ตามที่ 

เข้ายืนหัวเงื่อนทางจงกรมยกมือประณมไว้เพียงหัวอก ระลึกเคารพพระรัตนตรัยว่า พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ ๓ จบอยู่ในใจ แล้วระลึกเจริญพรหมวิหารแผ่เมตตาตน แผ่เมตตาสัตว์เสร็จแล้ววางมือลง เอามือเบื้องซ้ายจับใต้พกผ้านุ่งเอามือเบื้องขวาจับมือเบื้องซ้ายดีแล้ว ก็เดินลืมตา 

สำรวมทางใจภาวนาน้อมตาน้อมหูเข้าไปดู เข้าไปฟัง ภาวนาอยู่ในท่ามกลางอก ให้ได้เห็นได้ยินอยู่เป็นนิจ ใจก็เอารู้จับจดจ่ออยู่กับคำภาวนาไม่ให้มีคิดไปอื่น 

หลวงปู่อ่อนเดินจงกรมอยู่อย่างนี้ ตั้งแต่ฉันจังหันแล้วไปจนถึงบ่าย ๕ โมงเย็นจึงหยุด ดังนี้ไปทุกวัน 

เมื่อหยุดจากเดินจงกรมแล้วก็กวาดลานวัด และบนร้าน เก็บของไว้ให้เข้าที่ดีเรียบร้อย แล้วเอาครุ (กระป๋อง) ไปตักน้ำสรงน้ำบ่อข้างวัดนั้น เสร็จแล้วตักเอาน้ำหิ้วมาเทใส่โอ่งไว้แล้วเดินจงกรมอีก 


• ยังไม่หายกลัว • 

พอค่ำมืดหน่อยหนึ่ง นึกกลัวขึ้นมา เลยหยุดขึ้นนั่งพักอยู่พอควร แล้วก็เตรียมตัวไหว้พระ มีสวดมนต์ต่อตามพระอาจารย์ใหญ่สั่ง เจริญพรหมวิหารเสร็จแล้วนั่งสมาธิเท่าที่ตัวอดทนต่อความเหนื่อยทำได้ แล้วก็พักนอนภาวนาไป แต่ใจตัวนึกกลัว นอนก็นอนเอาศอกเท้าหมอน เอามือค้ำหัว หันหน้ามาทางห้องฉันข้าวที่มีบันไดก่าย (พาด) ระวังเสือมันจะขึ้นมากัดตน 

เมื่อนอนก็นอนอยู่ท่าเดียว เดินมากกว่าอิริยาบถอื่น ใจก็ไม่มีความสุขเพราะกลัว หลวงปู่อ่อนก็ชักเกิดเหนื่อยขึ้นบ้าง จึงนึกพิจารณาหาอุบายแก้ความกลัวให้หายทุกวิถีทาง นึกหาอุบายมาแก้ใจตนที่กลัวนั้นให้หายลงบ้างเดี๋ยวก็เกิดขึ้นมาอยู่อย่างนั้น 


• กระต่ายและปลาช่อน • 

จึงนึกนิทานเรื่องปลาช่อนและกระต่ายขึ้นมาได้ 

นิทานเรื่องนี้มีอยู่ว่า คนๆ หนึ่งจับสัตว์สองอย่าง คือปลาและกระต่ายได้วันเดียวกัน ปลาและกระต่ายมันฉลาด 

ปลาเมื่อมันถูกแหเข้าแล้วมันกระโดดตำแหเข้าทั้งแรง เมื่อตัวเข้าเพราแหแล้วดิ้นไม่หลุด ปลามันทำเป็นตาย คนผู้หว่านแหจับปลา นึกว่าปลาตาย ก็จับใส่ครุ 

กระต่ายมันวิ่งตำเก้ง หรือซิง (ตาข่าย) เข้าเต็มทั้งแรง ดิ้นแรงก็ไม่ขาดแล้วมันทำเป็นตาย ไม่หายใจ คนผู้ได้กระต่ายก็จับขามันหิ้วมา เอาสุ่มครอบไว้บนชานเรือนกับปลานั้น 

สายพอถึงเวลาทำอาหารกินข้าว พ่อผู้ไปได้ปลาและกระต่ายมานั้น ก็บอกลูกสาวว่า “จงเอาปลาที่ตายแล้วอยู่ในครุไปทำกิน” 

ลูกสาวก็เข้าใจว่าปลามันตายแล้วดังพ่อว่า ก็ไปจับปลาในครุมาวางบนเขียง ปลามันดิ้นนิดหนึ่งมันก็ตกจากเขียงลงป่อง (ช่อง) ลูกสาวก็ลงไปจับเอา เข้าใจว่าปลามันตายดังพ่อว่า บังเอิญมันตกจากเขียง 

เพราะมันยังไม่ถึงคราวมันจึงถูกจับเอาไปล้างน้ำหนองใหญ่ติดริมบ้านนั้น ปลาก็ดิ้นทั้งแรงหลุดมือลูกสาวไปพ้นจากความตาย 

ลูกสาวบอกพ่อว่าปลามันยังไม่ตาย มันดิ้นหลุดมือไปในน้ำแล้ว 

พ่อบอกว่าเอากระต่ายที่ตายแล้ว กูเอาสุ่มครอบไว้ทำกิน ลูกสาวไปเปิดสุ่มออกกระต่ายลุกยืนขึ้นกระโดดไปพิงหม้อน้ำกิน ลูกบอกพ่อว่า กระต่ายมันก็ยังไม่ตาย 

พ่อได้ยินเข้ารีบคว้าดุ้นฟืนวิ่งไปฟาดลงใส่กระต่ายๆ กระโดดหนี ดุ้นฟืนโดนโอ่งน้ำแตก กระต่ายไปพิงไหปลาร้า ตาแกวิ่งไปตีกระต่าย กระต่ายโดดหนี ดุ้นฟืนถูกไหปลาร้าแตก กระต่ายไปแอบอยู่ข้างหม้อแกง ตาแกวิ่งตามไปตี กระต่ายโดดหนี ตีถูกหม้อแกงแตก กระต่ายกระโดดไปแอบอยู่ที่หม้อนึ่งข้าว ตาแกวิ่งไปตีกระต่ายกระต่ายโดดหนี ตีถูกหม้อนึ่งข้าวแตก 

กระต่ายกระโดดหนีลงเรือนและวิ่งเข้าป่าหนีไป พ้นจากความตาย 


• กรรมมีก็ทำดีให้ • 

หลวงปู่อ่อนพิจารณาเรื่องปลาและกระต่ายที่ถูกเขาจับมาจนจะทำเป็นอาหารกินอยู่แล้ว แต่เมื่อกรรมไม่เคยฆ่ากันมาก่อนมันก็ยังไม่ถึงที่ตาย 

เราก็จะเป็นบ้ากลัวให้มันเป็นทุกข์ตัวอยู่อะไรกัน กรรมเรากับเสือจะมิได้เคยกระทำกันมาหรือไม่มี เราก็ไม่รู้ 

ถึงมีกรรมเกี่ยวกับเสือ เราเคยได้กระทำมันมา เราก็ยังได้ทำความเพียร ปฏิบัติศีลธรรมให้เกิดบุญอันใหญ่อุทิศบุญกุศลไปให้สัตว์ทั้งหลายให้ได้รับผลอยู่แล้วดังนี้ เราก็จะทำอย่างไรไปอีกเล่า 

คนเขาฆ่าคนตาย ปล้นเอาทรัพย์ ลักของกัน ถ้าผู้เป็นโทษรับสารภาพว่า ตนได้เป็นโทษแล้ว ยอมรับใช้สิ่งของที่ตนกระทำแล้ว เจ้าโจทก์ก็ยังอโหสิกรรมโทษให้ หยุดเอาเรื่องกันมีเต็มโลกอยู่อย่างนี้ 

เรียกได้บวชได้ถวายชีวิตในพรหมจรรย์ในพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลานี้เราก็ได้ปฏิบัติศีลธรรมความดี เพื่อตนและสัตว์ แผ่เมตตาจิตอุทิศผลบุญไปให้สัตว์ได้รับทุกถ้วนหน้ากรรมเราหลุดพ้นหมดแล้วละ 

ใจที่มันกลัวเสือหายวาบไปเลย ใจก็มีความสุขตลอดไปในกลางวัน 

พอตอนกลางคืน ใจก็ยังกลัวเป็นอย่างที่เคยเป็นมาจึงจำเป็นให้ได้คิดหาอุบายใหม่ทำความเพียรแก้ความกลัวกลางคืนให้หาย ให้ลงเดินจงกรมได้ดังเคยปฏิบัติมาในที่อื่นๆ 

 

  นั่งหน้าสุด : พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย)   นั่งแถวหน้าจากขวาไปซ้าย : หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี,  หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม, พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป), หลวงปู่พระจันโทปมาจารย์,  พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต), พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)   นั่งแถวหลัง : พระครูสุนทรนวกิจ, หลวงปู่พระครูบริหารคณานุกิจ,  หลวงปู่อ่อนศรี สุเมโธ, หลวงปู่หลอด ปโมทิโต, หลวงปู่บัวพา ปัญญาภาโส   ถ่ายภาพเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๖  ลิขสิทธิ์กองทุนนิธิพระธรรมไตรโลกาจารย์ วัดศรีเมือง จ.หนองคาย

นั่งหน้าสุด : พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) 

นั่งแถวหน้าจากขวาไปซ้าย : หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, 
หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม, พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป), หลวงปู่พระจันโทปมาจารย์, 
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต), พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) 

นั่งแถวหลัง : พระครูสุนทรนวกิจ, หลวงปู่พระครูบริหารคณานุกิจ, 
หลวงปู่อ่อนศรี สุเมโธ, หลวงปู่หลอด ปโมทิโต, หลวงปู่บัวพา ปัญญาภาโส 

ถ่ายภาพเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๖ 
ลิขสิทธิ์กองทุนนิธิพระธรรมไตรโลกาจารย์ วัดศรีเมือง จ.หนองคาย 

 

• นึกอายหมาแม่ • 

วันหนึ่งจึงบังเอิญเกิดอุบายปัจจุบันขึ้นมา คือค่ำมืดจริงแล้วมีหมาแม่ลูกอ่อน มันออกหากินเศษอาหารที่เอาไปทิ้งตามริมวัดที่อาศัยอยู่นั้น 

เวลานอนเอามือค้ำหัวอยู่นั้นได้ยินเสียงหมามันเดิน หูได้ยินก็ว่าเสียงตีนหมา เสือเดินบาดตีนไม่ดังดอก ใจมันกลัวเสือ มันก็ว่าเสียงตีนเสือ หมาอะไรมันมาไม่ได้ดอกค่ำป่านนี้เพราะหมดมันกลัวเสือมันจะมาได้อย่างไร 

หมามันก็ยิ่งเข้ามาใกล้เข้าทุกที เข้ามารอบด้านที่อยู่นั้นเรื่อยไป ใจมันกลัวจนตัวแข็ง เหงื่อไหลโทรมตัวเปียกเหมือนอาบน้ำ แต่ในย่ามมีมีดเงาะอยู่เล่มหนึ่งใจมันกลัวมันจะหวังพึ่งมีดสู้กับเสือ ถ้าเสือมาจริงจะไม่มีเมตตาจิต จึงเอาผ้าพันมีดให้ดี เก็บเข้าไว้ก้นถุงย่าม 

เมื่อหมาแม่ลูกอ่อนมา ใจมันกลัวมันว่าเสือมา จึงเอามือคว้าเอามีดมากำไว้ให้แน่นแต่เมื่อไรไม่รู้ จนหมดมันมาเลียกินเศษอาหารตามใบตองหมดแล้ว มันจึงขึ้นบันได้บ้านมา หัวมันโผล่ขึ้นมา มองเห็นหมายืนพักอยู่ ก็เข้าใจว่าเป็นหัวหมา แต่ใจที่มันกลัวมันก็ว่าเป็นหัวเสือ มันขึ้นมาจะกัดตัวเราแล้ว ก็ยิ่งกลัวใหญ่อยู่พักหนึ่ง 

หน้าต่างมันดีมันมองเห็นเราที่จ้องมันอยู่แล้ว มันกลัวว่าจะไปตีมัน มันจึงถอนตัวกลับลงมา หมามันคางหงิงๆ จนมันลงไปถึงดินแล้วมันก็เห่าฟิดๆ อยู่อย่างนี้หลายคำ จึงได้ตกลงใจว่าเป็นหมาแน่ จึงได้หายกลัวลง 

เวลานั้นจึงได้รู้ตัว มองดูตัวเปียกไปหมด มือก็กำด้ามมีด เหงื่อไหลหยดลงถูกผ้าปูที่นอนเปียกไปหมด จึงได้นึกหน่ายตัวเอง เป็นผู้ชายแท้ๆ ใจยังไม่กล้าเท่าหมาแม่ (ตัวเมีย) เสียเลย เสือชอบกินหมา แต่มันไม่กลัวสักนิดยังมากลางคืนได้ จึงนึกเอาใจไปไหว้หมาตัวเมียเรียนความกล้าหาญกับมัน 

ใจนึกอายขึ้นมาก็เลยหายจากความกลัวเสือ ตอนกลางคืนอยู่เป็นสุขนอนเอาหัวลงใส่หมอนได้ 


• วิ่งจงกรม • 

วันหลังนึกว่าตัวหายกลัวแล้ว นึกอยากลงไปเดินจงกรมกลางคืน จึงลุกเดินไปบันได 

พอหย่อนตีนลงไปเหยียบลูกบันได เกิดกลัวขาแข็ง ฝืดกดตัวลงเหยียบอย่างไรไม่ยอมลง จำเป็นได้เดินกลับที่นอน นอนพิจารณาแก้กลัวเรื่อยไปจนตลอดคืนไม่ได้ความ 

จนถึงวันหลังจึงนึกขึ้นได้ว่า ค่ำวันนี้เราจะลงเดินจงกรมไม่ต้องลงบันได เปิดหน้าต่างโดดลงเดินจงกรมเลย 

พอถึงเวลาค่ำทำกิจวัตรทุกอย่างตลอดไหว้พระสวดมนต์ เจริญเมตตาพรหมวิหาร ทุกอย่างเสร็จแล้ว ทำใจให้สงบดี เปิดหน้าต่างกระโดดลงดินเลยตามความนึกไว้แล้วมันเกิดกลัวเสือขึ้นมาทันที ตัวแข็งไปหมดเลย ได้ถอยหลังเข้าไปยืนโกงโก้อยู่ใต้ร้าน 

ใจรู้ขึ้นว่าร้านไม่มีอะไรแอ้ม (ปิด) เสือมันวิ่งลอดร้านมาคาบเอาไปกินก็ได้ จึงก้มหน้ามองดูก็เห็นใต้ถุนร้านโล่งจ่างว่าง (ไม่มีอะไร) อยู่จริง 

จึงได้ถอยตัวมายืนแอบร้านอยู่สักครู่หนึ่งจึงนึกขึ้นในใจว่าตัวเราลงมาถึงดินได้แล้ว เราจะไปเดินจงกรมดีหรือจะกลับขึ้นบันได้ไปนอนดีประการใด 

ใจมันแล้วมันก็ว่า “ไปนอนนั่นแหละดี เพราะกลัวมาก” ใจมันว่าอย่างนี้ 

ทางความรู้ก็ไม่ยอมลดละ เราลงถึงดินได้แล้วเป็นไรก็เป็นกัน ไปเดินจงกรมให้ได้เป็นแน่ทีเดียว ก็เรากลัวจนตัวแข็งไปหมดแล้ว เราจะทำอย่างไรจึงจะไป 

ได้ความรู้เกิดขึ้นมาว่า เราต้องทำใจให้ดี ให้หายกลัว แล้วกระโดดไปทางจงกรมเลย 

แล้วก็ตั้งสติกำหนดจิตให้วางความกลัว ให้จับคำภาวนาอยู่ พอจิตรวมได้ดีแล้ว ก็กระโดดว่าจะไปหาทางจงกรม 

จิตมันกลัวมากกระโดดตกลงที่เก่า กระโดดอีกทีเคลื่อนไปนิดหน่อย กระโดดครั้งที่สามตกหัวเงื่อนจงกรม กระโดดอีกทีถึงทางพอดี พอถึงทางจงกรมได้แล้วก็วิ่งซำน้อย (วิ่งแกมเดิน) เหยาะๆ ไปเลย ถ้าไม่วิ่งไปอย่างนั้นตัวแข็งทื่อไปเลย จนถึงกับหยุดอยู่กับที่ 

ฉะนั้นจึงจำเป็นได้วิ่งกลับไปกลับมาอยู่ในทางจงกรมไปอย่างนั้น จนเหนื่อยเหงื่อชุ่มหมดแล้วยังไม่รู้ว่าตัวได้ภาวนา หรือไม่ได้ ภาวนาอย่างไร ยังไม่รู้ตัวอะไรเลย 

เห็นว่าพอสมควรแล้วก็หยุดเดินกัน และดีใจมากว่าตัวลงเดินจงกรมได้แล้วคิดว่าวันหลังคงจะหายกลัวได้ละ 


• เสือกัดหัวกูตาย • 

ครั้นถึงวันหลัง ก็เปิดประตูหน้าต่างกระโดดลงอีก ใจมันกลัว พอรู้สึกว่าตัวแข็งขึ้นบ้าง พอเดินไปหาทางจงกรมได้ 

พอทำพิธียกมือระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยได้ดีอยู่ แต่ว่ายังเดินไม่ได้ เพราะความกลัวจนขาแข็งจึงจำเป็นต้องวิ่งน้อยอีก วิ่งกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้นจนเหนื่อยเหงื่อออกชุ่มตัวอีก 

จึงนึกในใจว่าเรานี่อย่างไรกัน เราภาวนาว่าอย่างไรจึงรู้ตัวขึ้นว่าตัวไม่ได้ภาวนาตามแบบและตามคำครูบาอาจารย์สอนเสียเลย 

ใจมันกลัวเสือก็เลยภาวนาว่า “เสือกัดหัวกูตาย เสือกัดหัวกูตาย” อยู่อย่างนี้ 

จึงได้ระลึกรู้ตัวขึ้นมาว่า ได้ทักตัวเองว่าตายซิเรา ภาวนาอย่างนี้จะใช้อะไรกันได้เล่า ว่าตัวกลัวเสือ ซ้ำยังภาวนาว่าเสือกัดหัวกูตายแล้ว เสือกัดหัวกูตายแล้ว อยู่เช่นนี้ 

จึงนึกหาคำภาวนาที่พระอาจารย์ให้นั้น นึกไม่เห็นเสียเลย 

จึงนึกว่าเมื่อเรานึกคำภาวนาคำใดได้ เราก็จะภาวนาไปก่อนละจึงเอาใจที่มันกลัว ๆ อยู่นั้น นึกไปนึกมา จึงระลึกพุทโธขึ้นมาได้ จึงเอาใจจับพุทโธ ภาวนาไปได้แผลบเดียวใจมันลืมว่าพุทโธ มันไปว่าเสือกัดหัวกูตายแล้วอย่างนั้นอีก ก็ด้วยความกลัวมันท่วมทับหัวใจตนอยู่ จึงตั้งใจกำหนดตัดเอาคำภาวนาพุทโธ มันก็ไม่อยู่ 

ก็รู้ตัวอยู่อย่างนั้น ได้กดใจตนให้หันกลับมาภาวนาพุทโธอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป พอรู้สึกว่าตัวได้ภาวนาพุทโธได้บ้าง 

ความเหนื่อยมากมันก็เกิดขึ้นมาก็ได้หยุดเดินจงกรมขึ้นร้านพัก 


• จ้องมองแต่ป่า • 

วันหลัง ฉันจังหันเสร็จแล้ว ทำความเพียรภาวนาเดินจงกรมและคิดหาอุบายแก้ความกลัวต่อไป สามโมงเย็นหยุดทำกิจวัตรอย่างเก่าที่เคยทำมาทุกวัน พอค่ำลงเดินจงกรม 

วันสามนี้ ลงบันได้ได้ไม่ถึงกับกระโดดหน้าต่างดอก เดินไปทางหัวเงื่อนทางจงกรมแล้ว ก็เดนตามสบายใจตนได้ดี ไม่ถึงกับวิ่งน้อยเหมือน ๒ วันก่อน 

จึงภาวนาแก้ใจตน ไม่ให้มันว่าเสือกัดหัวกู ใจก็ภาวนาได้สะดวก มีอาการกลัวอยู่ในใจบ้างเล็กน้อย จึงตั้งใจเร่งภาวนาพุทโธไปนานหน่อยหนึ่ง 

ได้ระลึกคำภาวนาที่อาจารย์ใหญ่สอนขึ้นมาได้ ก็ได้ระลึกหัดใจว่าปนกันไปก่อนพอให้ระลึกว่าชำนาญในใจ 

พอระลึกคำภาวนาที่พระอาจารย์ใหญ่สอนให้สะดวกดีแล้ว ก็หยุดว่าพุทโธ ภาวนา เย กุชฺโฌ ปฏิกุโล ไปนาน 

ใจก็หวนระลึกรู้ตนขึ้นมาว่า เราเดินจงกรมให้สำรวมดูทางเหมือนเราเคยเดินมาไหม ไหนเลยตามีแต่มองเข้าป่าดูเสือจะมากัดตนอยู่เรื่อยไป จนคอบิดแรงแงง ทางเดินจงกรมยาวไปทางทิศเหนือ ทิศใต้ ป่าอยู่ทิศตะวันตก 

เดินจากทิศเหนือไปทิศใต้ คอบิดไปข้างขวาริมทางป่า เดินกลับทิศเหนือ คอบิดแยกข้างซ้ายดูป่าริมทางอยู่อย่างนั้น เนื่องจากมันกลัวเสือ มันนึกว่าเมื่อเสือมาจะได้เห็นมัน จะได้กระโดดเอาตัวรอด ใจมันนึกอย่างนี้ มันจึงเอาตามองทางป่าเรื่อยไปอย่างนั้น 

พอรู้ตัวขึ้นได้ตั้งใจสำรวมดูทาง ใจมันกลัวมันไม่ยอมให้ดูทางได้เลย คอมันแข็งกระด้างไปเลย 

จึงนึกหาอุบายทั้งหมดมาแก้ใจ ไปพร้อมกับตั้งใจให้ตาแยกมองดูทาง ตามวิธีเดินจงกรมนั้น คิดหาอุบายใดมาแก้มันก็ไม่หายเลย พอดีเหนื่อยหยุดเดิน 


• หายกลัวเพราะความเพียร • 

วันหลังตอนเช้านึกขึ้นได้ว่า “ถ้าเราคิดหาอุบายใดมาแก้ใจเรา ให้มองดูทางไม่ได้แล้ว จำเราเอาศอกกดอกเอามือค้ำคางดูทางให้ได้” 

ก็พอดีค่ำถึงเวลาเดินจงกรมก็ได้ลงเดินจงกรม คิดหาอุบายธรรมใดๆ มาแก้ใจให้มองดูทางไม่ได้เสียจริง คือใจไม่ยอมให้ตามองดูทางเลย ก็จำเอาศอกกดอกเอามือค้ำคาง จนหน้าแยกออกจากทางมองไปทิศตะวันออก 

ทำอยู่อย่างนี้พิจารณาไป นึกดีใจอยู่ว่าเราทำอยู่อย่างนี้ไป มันหากจะมีวันหายได้ ให้เราสบายลงได้สักทีหนึ่ง ดังเราเคยแก้เรามาได้ด้วยอุบายต่างๆ ได้ความสบายมาแล้วเป็นแน่ 

พอดีเหนื่อยพอสมควรแล้วก็หยุดวันหลังพอได้เดินจงกรมก็ลงเดิน วันนี้เป็นแต่พอเอามือค้ำคางพอชูๆ (พยุง) ไว้ก็เดินภาวนาไปได้ เดินจงกรมภาวนาไปครึ่ง เหนื่อย ความกลัวก็หายขาด วางมือลงจับกัน ภาวนากันไปได้ดีแล้ว 

มีความดีใจมาก ด้วยตัวได้ทำความเพียร แก้ความกลัวอันตัวได้ความทุกข์มาใหญ่โต ให้หายขาดจากใจตนเองได้ ทั้งรู้ว่าตนได้ธรรม ความกล้าหาญของพระอาจารย์ได้มอบให้ตน ตนได้อุตส่าห์ทำความเพียรให้เกิดมีขึ้นในดวงใจของตนได้ 

 

  หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ 

 

• อาการความตาย • 

จากนั้นมาหลวงปู่อ่อนก็ได้ตั้งใจทำความเพียร ได้ยกเอาตัวอย่างพระอานนท์ ที่พระพุทธองค์เตือนให้ระลึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าและหายใจออกว่า เป็นผู้ไม่ประมาทนั้นมาเป็นอารมณ์ เพื่อให้ตนนั้นเป็นผู้ไม่ประมาทดังพระอานนท์นั้น จึงนึกเอาความเหนื่อยที่เกิดขึ้นในตอนทำความเพียรนั้นว่าเป็นอาการของความตาย 

เมื่อเหนื่อยมากขึ้นมาจริงๆ เราก็ต้องตายแน่ ใจที่ภาวนาอยู่ก็มองเห็นความตายด้วย 

พิจารณาอยู่เช่นนี้สองวันได้เกิดนิมิตความฝันขึ้น ในเวลานอนกลางคืน 

ฝันว่าตนได้ฝืนพระวินัยพระองค์บัญญัติไว้ด้วยความเห็นประโยชน์แก่ชุมชน ในหมู่บ้านที่ตนพักอยู่นั้น มันกันดารน้ำกินน้ำใช้ทุกอย่าง ตนได้ชักชวนคนบ้านนั้น ขุดปอน้ำ เขาได้พร้อมกันมาขุด ที่ชี้บอกให้นั้น ให้เขาขุดลึกลงไปอีก ๑ ศอก เขาว่าน้ำไม่ออกเขาหยุดกัน 

จึงได้อ้อนวอนให้เขาขุดลงไปอีกสัก ๑ ศอกดูก่อน มันจะออกน้ำอยู่ เขาไม่ยอมขุด ตัวเองจึงโกรธขึ้นในใจแล้วนึกว่า “เราขุดดินเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เอาเถอะเราไปถึงหมู่เราจึงขอแสดงอาบัติเอา” 

แล้วตัวเองจับเอาด้ามเสียมกับเขาขุดลงไปได้อีก ๑ ศอก ถูกรูน้ำใหญ่ พุ่งขึ้นมาเต็มหลุมเต็มบ่อ น้ำมันพุ่งซัดขึ้นมาสูงเพียงหน้าอกพุ่งอยู่อย่างนั้น ตัวเองจึงด่าพวกที่เขาขุดและชาวบ้านนั้นใหญ่เลย แล้วนำเขาทำท่อ และรางน้ำให้น้ำมันไหลไปไกล เพื่อสัตว์มีควายเป็นต้นมากินและนอน ก็ไม่ให้บ่อเป็นอันตราย 

เสร็จดีแล้ว ก็พอดีตื่นจากหลับขึ้นมา พิจารณาดูไม่รู้ความหมายความฝันของตน เลยวางความอยากรู้ทิ้ง 


• ตายเป็นทุกข์ใหญ่หนา • 

อีก ๒ วันต่อมาตั้งใจทำความเพียรพิจารณากายตนต่อไป ใจรวมตกกระแส รู้ความตายวูบขึ้นมาใหญ่เลย มองดูตนอะไรทุกอย่าง ไม่เห็นมีแก่นสารสักอย่าง 

หนังก็เป็นหนังห่อเนื้อ ไม่มีแก่นแข็ง ห่ออยู่เหมือนผ้าห่อนุ่น เนื้อก็เป็นเหมือนนุ่น เส้นก็เป็นเหมือนสายเย็บ กระดูกก็เห็นท่อนๆ มีเส้นผูกติดกันอยู่ 

ดูตับไส้เป็นที่สุด ก็เห็นเป็นเพียงแขวนอยู่ ต่อเป็นพวงอยู่ ดูลำไส้ก็กองกันอยู่ ดูอาหารก็เห็นเป็นของสกปรกอยู่เต็มในลำไส้ 

ดูในตัวเห็นเป็นเหมือนที่เล่ามานี้เป็นอันๆ ไม่เห็นอะไรเป็นอยู่สักอย่าง ทั้งเห็นวามันไม่มีแก่นแข็งสักอย่างเลย 

ใจเกิดกลัวตัวตายจริง ก่อนตนได้ทำความดีให้พอเต็มที่ขึ้นมาอย่างนี้ เกิดความร้อนรุ่มหมดทั้งตัวเลย จะพักอยู่ให้ตัวสบายหน่อยหนึ่งก็ไม่ได้กลัวตัวตายทิ้งเปล่าเกิดเป็นทุกข์ขึ้นมาใหญ่อีกละ 

ทำความเพียรอยู่ด้วยความเป็นทุกข์กังวลอยู่อย่างนี้ได้ ๒-๓ วัน ทำความเพียรไม่ได้ ในเวลาประมาณบ่ายหน่อยหนึ่ง ทำไปไม่ไหวเป็นทุกข์ออกร้อนตัวมากได้หยุดเดินเล่นอยู่ไปมา 

จึงไปเห็นขอนไม้เขาฟันทำไร่มันร้างแล้วทิ้งอยู่กลางไร่ร้างเขา ปักกิ่งหนึ่งใหญ่พอสมควรโด่ขึ้นสูง 

ใจคิดอยากไปขึ้นขอนดูเหมือนจะได้เกิดความสบายใจขึ้นมา ก็ได้เดินช้ากำหนดจิตไปถึงกกขอนนั้น 

ยืนพิจารณาความถูกความผิดศีลธรรม ตริตรองการปฏิบัติมันถูกผิดประการใดหรือไม่ 

เห็นว่าไม่มีผิดอะไรแน่ 

จึงนึกอธิษฐานขึ้นในใจว่า “เราขึ้นไต่ขอนไม้ไปนี้ ขอให้เรารู้เห็นอะไรขึ้นมาให้ได้ความสบายเถิด เพราะเวลานี้เป็นทุกข์ใจมากจนจะทนอยู่ไม่ได้แล้ว” 

เสร็จแล้วก็เดินไต่ขอนขึ้นไป เดินไปบ้างยืนบ้างบนขอนไม้นั้นปนกันไปถึงกลางขอน ค่อนไปหาปลายหน่อยหนึ่ง 

เกิดความรู้รวมเป็นเสียงดังพูดขึ้นว่าท่านรู้ตายจะเอาตายนั้นหรือเป็นทุกข์ใหญ่หนา 

ในใจอันรวมอยู่นั้น ความไม่สบายตัวทั้งหลายอันมีอยู่ มันหายวาบไปเหมือนลมพายุใหญ่พัดเอาฝนในพื้นดินขึ้นไปหมดฉันนั้น ตัวเองได้ยืนกำหนดจิตพิจารณาอยู่นั้นว่า พระธรรมเรารู้ขึ้นมาว่า เอาตายเป็นทุกข์ใหญ่หนา ไม่ให้เอาตายจะให้เอาอะไรกันเล่า 

ยืนกำหนดอยู่นาน ก็ไม่เห็นได้ความอะไรต่อไป จึงได้เดินต่อไปอีกจนขึ้นบนกิ่งโด่นั้น ไปถึงค่อนปลายมันพาสั่นทึดๆ (เทิ้ม) จึงขยับตัวถอยกลับค่อยๆ เดินกลับมาเหมือนขาขึ้นไปนั้น 


• เอาพุทโธ • 

ไปถึงขอนที่เกิดรู้นั้น เกิดรู้ขึ้นมาอีกว่าให้เอาพุทโธนั้นจะเอาตายอะไร ใจยิ่งสบายมาก ตั้งแต่ภาวนามาไม่ได้เกิดความรู้อย่างนี้สักทีเลย พึ่งมาเกิดขึ้นทีเดียวเท่านี้แหละ จึงเกิดปีติมีความอิ่มในยินดีขึ้นมาก 

จากนี้จึงพิจารณาว่า “เอาพุทโธอย่างไรกันหนอ เอาพุทโธเป็นคำบริกรรมว่า พุทโธๆ ไปอย่างนี้หรือ หรือเอาพุทโธ คือดวงใจรู้แจ้งนั้นอย่างไรกัน ไม่ได้เห็นรับรู้ตามขึ้นมาแต่อย่างไรอีก” 

จึงได้เดินไปหากกขอนอีก จนไปถึงกกขอนอีกก็ไม่เห็นเกิดรู้อะไรขึ้นมาอีก จึงลงขอนเดินพิจารณาไปอีก ไปหาทางจงกรม ได้ความขึ้นมากลางทางว่า ก็แต่ก่อนพระอาจารย์สุวรรณให้เราภาวนาว่าพุทโธ ครั้นมาถึงท่านพระอาจารย์ใหญ่ ท่านมาให้เราเลิกว่าพุทโธ มาให้เราภาวนาว่า เย กุชฺโฌ ปฏิกุโล ดังนี้ พระธรรมว่าให้เราว่าพุทโธนี้ ดังจะให้เอาพุทโธใจรู้นั้นแน่ละ 

ฉะนั้นต่อไปนี้ไปเราจะเอาใจจับจดจ่ออยู่กับคำภาวนา เย กุชฺโฌ ปฏิกุโล นี้ เพราะคำภาวนาก็จิตนั้นแหละ คือแต่ก่อนจิตมันคิดส่งส่ายไปทั่วอยู่นั้น เรามานึกภาวนาขึ้น ความส่งส่ายของจิตที่เคยเป็นมาก่อนนั้นไม่มี มีแต่คำภาวนาอยู่คำเดียวเท่านั้น จึงว่าคำภาวนาเป็นจิต 

ได้ความแน่ใจดังนี้แล้ว ก็ได้น้อมเอาจิตรู้ของตนจับอยู่กับคำภาวนา 


• ทุบหนังหมี • 

ทำความเพียรต่อไปอีกประมาณสัก ๗ วันคงจะได้ นอนหลับฝันไปอีกฝันว่า 

พระอาจารย์ใหญ่มั่นให้เอาหนังหมีไปทุบ ไม่รู้ว่าท่านให้ทุบจะไปทำอะไร ท่านบอกแต่ว่าท่านเอาไปแช่น้ำไว้แล้ว ๓ คืน ให้ท่านเอาไปทุบ 

ก็ได้เดินไปจับเอาขึ้นจากน้ำดูไม่เป็นหนังหมี มันเป็นหนังควาย ก็ทุบ่ไปจนหนังอ่อนมากแล้ว จึงนึกขึ้นในใจว่า 

พระอาจารย์ท่านให้เราทุบหนังนี้จะไปทำอะไรหนอ เราทุบนี้จะพอเอาได้หรือยัง เราเอาไปให้ท่านดูก่อนเถอะ 

จับเอาหนังถือเดินไป พบพระป้องเข้ากลางทางถามว่าจะถือหนังไปทำอะไรที่ไหน ตอบท่านว่าจะเอาไปให้พระอาจารย์ท่านดูจะอ่อนพอเอาแล้วหรือ 

พระป้องจึงได้เดินมาดูหนังที่ถืออยู่นั้น ท่านว่ายังไม่ใกล้จะพอเอา ท่านพระอาจารย์ใหญ่บอกให้พวกผมทุบอ่อนกว่านี้อักโข เอาไปให้ท่านดู ท่านก็ยังว่าไม่ใกล้พอเอาเลย พระป้องจึงบอกให้เอาหนังที่ถืออยู่นั้นเอาไปทุบที่เดิมอีก ก็ได้เอาหนังคืนไปทุบอีกจนอ่อนเหมือนหนึ่งที่พวกคนเขาใช้ แล้วจึงนึกขึ้นมาได้ว่าเราเอาไปให้ท่านอาจารย์ดูก่อน ถ้าเราจะทุบให้อ่อนกว่านี้หนังก็จะขาดมุ่น (ละเอียด) ไปหมด 

แล้วก็จับเอาหนังถือไปพบพระป้องอีกในกลางทาง พระป้องมาขอดูหนังอีก ท่านก็ยังว่าไม่ทันพอเอา 

จึงนึกว่าจะไม่พอเอาหรือพอเอา เราจะเอาไฟให้พระอาจารย์ดูให้ได้ก่อน เพราะบางทีพระอาจารย์ให้พระป้องนี้ทุบเอาไปทำงานอีกอย่าง เราทุบหนังเสียหายอ่อนเกินไป ท่านสั่งให้เราทุบนี้ท่านจะเอาไปทำงานไปอีกอย่างเราทุบหนังเสียหายอ่อนเกินควรแล้วพระอาจารย์จะดุเราตาย 

จึงถือหนังเดินผ่านต่อไปอีกยังไม่ถึงพระอาจารย์เลยตื่นจากหลับ 

ลุกพิจารณาความฝันของตนไม่ได้ความอย่างไรอีก 


• มาแล้วก็ไป • 

ต่อนั้นก็ได้ตั้งใจทำความเพียร ตั้งสติพิจารณาธรรมทั้งหลาย ที่ตนรู้มาอยู่อย่างนี้แต่เดือนยี่ถึงเดือน ๔ ข้างขึ้น 

ก็พอดีพวกโยมบ้านนาต้องเขาจะทำบุญสำนักป่าบ้านเขาเขามานิมนต์ไปช่วยดูการเขาจะจัดทำที่รับพระ เพราะเขาได้ไปอาราธนาพระอาจารย์ใหญ่มั่นไว้ก็ได้ไปนำพาเขาทำ 

พอไปถึงสำนักป่าบ้านนาต้อง เป็นสำนักร้างอยู่ พระไม่มี จึงได้ช่วยเขาทำตูบรับพระขึ้น ไม่รู้ว่าได้กี่หลัง พอถึงวันเวลาที่พวกโยมเขากำหนด แล้วเห็นพระท่านมาจากพระอาจารย์ใหญ่ วัดป่าบ้านค้อ อ.บ้านผือ ได้มาถึง 

พระท่านบอกพวกโยมว่าพระอาจารย์ใหญ่ไม่ได้มา ให้พวกอาตมามาแทนท่าน 

ค่ำพอควร พวกโยมก็มาพร้อมกัน ทำการไหว้พระ รับศีลเสร็จแล้วนิมนต์พระสวดมนต์ เสร็จแล้วคุยธรรมกันเล็กน้อย พอควรแล้วก็เลิกกัน 

เช้าวันใหม่ พวกโยมก็นำอาหาร เครื่องไทยทาน มาทำบุญถวายทานแล้ว พวกพระก็อนุโมทนา เสร็จพิธีแล้ว พวกพระที่มาจากพระอาจารย์ใหญ่กลับกันหมด ก็เหลือหลวงปู่อ่อนทำความเพียรอยู่แต่รูปเดียว 


• ข่าวตายและข่าวทุกข์ • 

ต่อมาอีกไม่กี่วัน เห็นพระคำมี คือพี่ชายเดินมาหา 

พระพี่ชายนี้ 

สมภารอยู่วัดบ้านดอนเงิน อ.กุมภวาปี บ้านเกิดเมืองนอนนั้นเอง 

จึงได้ลุกไปรับเครื่องบริขารมาพักที่ศาลา 

พออยู่พักบนศาลาแล้ว ก็กราบท่านพี่ เสร็จแล้วถามข่าวท่านว่ามาอย่างไร 

ท่านพี่บอกว่า “มาตามท่านกลับบ้าน เวลานี้พ่อออก (โยมผู้ชาย) เราตายแล้ว แต่เดือน ๑๑ ข้างขึ้นจวนวันเพ็ญศพก็ได้เผากันไปแล้ว 

แต่แม่เราเป็นทุกข์มาก เพราะมีความคิดถึงพ่อและท่านมากไม่เป็นอันอยู่อันกิน จึงไล่ให้ผมมาเที่ยวตามท่านกลับคืนไปให้แกเห็นหน้าเพื่อหายโศกดังนี้ 

ผมออกจากวัดหาท่านแต่เดือน ๑๒ ข้างแรม ไปทาง จ.สกลนคร หาที่ไหนก็ไม่พบ จึงถามคนเขาผู้รู้จักพระอาจารย์ใหญ่มั่น เขาจึงบอกว่าท่านกลับไปทาง อ.ท่าบ่อ แต่ก่อนพรรษานี้แล้ว 

ผมจึงได้ย้อนกลับมาพักกับพระอาจารย์ใหญ่มั่น วัดป่าบ้านค้อคืนวานนี้ ถามข่าวหาท่าน พระอาจารย์ท่านจึงได้บอกว่าท่านอยู่ในดง ผมจึงมาถึงท่านเดือน ๔ นี้เอง ผมเหนื่อยมากขอพัก” 

พอได้ยินท่านพี่บอกข่าวว่าพ่อได้ตายไปแล้ว หัวใจที่ฝึกหัดมาเพื่อวางความรักและความชัง ความรักทั้งหลายก็ขาดไปจากใจเลยทีเดียวในขณะนั้น 

ใจมันรู้ขึ้นมาว่าพ่อผู้เราได้คิดถึงอยู่ประจำใจไม่ลืม ได้ตายและเดินทางไปก่อนเราผู้เป็นลูกเสียแล้วหนอ ทรัพย์สมบัติอันพ่อขยันหา ทั้งนาเราให้ช่วยหาได้มากมาย พ่อก็ไม่มีใจห่วงอาลัยแม้แต่น้อย มัจจุราชตัดห่วงใยและชีวิตของพ่อเรา ให้ขาดสิ้นไปไม่ให้รั้งรอ 

นี้เป็นคำสอนให้เรารู้ตัว เราก็ไม่ห่วงแล้วเหมือนพ่อตายหายห่วงบอกเราให้รู้ เราก็ไม่ห่วงโลกสงสาร ไม่สึกไปจากสมณเพศพรหมจรรย์แน่ละ 

คำสอนของพระองค์สอนให้เรารู้ของจริงคือ เกิด แก่ เจ็บตาย ว่ามีอยู่ประจำร่างกายของบุคคลและสัตว์ให้เรารู้นั้น เราได้พิจารณารู้ตามอยู่นี้ มันจริงแน่เหลือเกินเทียวหนอ 

ทั้งปากก็พูดกับท่านพี่ไป ใจก็พิจารณารู้ไป ก็เลยพูดกับท่านพี่ว่า 

ศพพ่อก็ได้เผาไปแล้ว จะให้ผมกลับไปบ้านทำไมหนอ ผมอยากอยู่ทำความเพียร ภาวนาอุทิศส่งบุญกุศลไปให้พ่อออก เมื่อพ่อออกตกทุกข์ได้ยาก ให้พ้นทุกข์พ้นยาก เมื่อพ่อออกได้ขั้นถึงสุข ก็จะให้ได้สุขยิ่งๆ ขึ้นไปเห็นจะดี 

ส่วนแม่ออก (โยมผู้หญิง) คิดถึงพ่อและตัวผมเป็นทุกข์มากนั้น ก็แม่ออกเป็นผู้เข้าวัดฟังธรรม จำศีล ๕ ศีล ๘ ตลอดแล้งและฝน ธรรมอันใดแม่ออกก็จำได้ตลอดทั้งบาลีเล็กน้อย แม่ออกเราฟังทีเดียวก็จำได้ ผมว่านานๆ ไปแม่ออกคงจะหายไปเอง” 

ท่านพี่จึงพูดว่า “หายไม่หายก็ยังไม่รู้ได้ ผมกลัวทางไม่หายนั้นแหละมากไปกว่าความหาย เพราะแม่เราเป็นแรงหลายเติบ (มาก) ถึงผมเป็นพระอยู่ขนาดนี้แม่ก็ยังด่าป่นปี้แหลกลาญไปเลย จนผมทนอยู่ไม่ได้ ได้มาตามหาท่านให้นี้เอง 

จึงได้ถามท่านพี่ว่า “ท่านพี่มานมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่ ได้พูดเรื่องที่แม่ออกเป็นถวายท่านให้รู้ไหม” 

ท่านพี่บอกว่าได้เล่าถวาย 

ถามว่าพระอาจารย์ใหญ่ ท่านพูดเรื่องแม่ออกว่าอย่างไรบ้าง 

ท่านพี่บอกว่าพระอาจารย์พูดว่า “ให้ท่านไปตามเอาท่านอ่อนไปแก้ และให้เห็นแล้วก็หายดอก แต่ท่านอ่านจะไปเยี่ยมแม่ออกนั้นให้มาหาผมก่อน” พระอาจารย์ใหญ่สั่งมาอย่างนี้ 

จึงนึกขึ้นในใจว่า ถ้าอย่างนั้นตัวเราก็ต้องไปแน่ จึงถามท่านพี่ว่า “ท่านพี่จะกลับบ้านด้วยผมไหม ผมจะกลับบ้านวันพรุ่งนี้แหละ” 

ท่านพี่บอกผมว่า “ไม่กลับดอกบ้าน ผมจะตั้งใจหนีจากความเป็นสมภาร จะออกปฏิบัติอย่างท่านเวลานี้ ผมต้องการไม้เท้า ผมจะให้โยมบ้านนี้หาไม้ยุงมาให้ทำเสียก่อน จึงเดินเที่ยวหาวิเวก” 

“ถ้าท่านพี่ไม่กลับบ้านกับผมแล้ว ท่านพี่มีเรื่องอะไรเกี่ยวข้องอยู่ทางบ้านไหม ถ้ามีส่งไปกับผมได้ ผมจะช่วย ถ้าหากไม่เป็นของเหลือวิสัย” 

ท่านพี่บอกว่า “ไม่มีเกี่ยวข้องอะไรทางบ้าน ผมจัดการของผมหมดแล้วให้เรียบร้อย จึงมาตรวจสิ่งของของพ่อออกแม่ออก หากจะมีการแบ่ง ผมก็บอกแม่แล้วว่าไม่ให้ห่วง” 

ต่อนั้นไปได้เลิกกัน ทำความเพียรของใครของมันไปตามอุปนิสัย

 

  หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

 

• คำภาวนาแก้บ้า • 

ตื่นเช้าวันใหม่ ฉันบิณฑบาตเสร็จ ได้ลาพวกญาติโยมและท่านพี่ออกเดินทางผู้เดียว นอนทางคืนหนึ่ง วันหลังจึงได้พบท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น วัดป่าบ้านค้อ อ.บ้านผือ พักแรงพอควรแล้วคลุมผ้าไปกราบพระอาจารย์ใหญ่ 

เสร็จแล้วพระอาจารย์ถามข่าวการไปอยู่ในดงและการเดินทางออกมาพอควรแล้ว และเรียนถามท่านทราบเรื่องดีทุกประการ พระอาจารย์จึงพูดเรื่องท่านพี่คำมีมาพักกับท่าน และเรียนเรื่องแม่ออกให้ฟังว่า 

“ท่านคำมีพี่ชายท่านมาตามท่าน ว่าพ่อออกตายแล้ว ว่าแม่ออกท่านกลุ้มใจเป็นทุกข์มาก จึงให้ท่านคำมีมาตามพาท่านไปบ้านให้แม่ได้เห็นหน้า ว่าอย่างนี้ ผมจึงว่าให้ท่านไปเยี่ยมบ้านให้แม่ออกท่านเห็นให้หายเป็นทุกข์ใจเสีย พ่อแม่ของตนไม่ใช่คนอื่น” 

พระอาจารย์พูดเช่นนั้น จึงประณมมือขอโอกาสกับท่านแล้วเรียนท่านว่า “เรื่องกลับบ้านนั้นเกล้าขอโอกาสแล้วแต่พระอาจารย์จะเห็นควร แต่ว่าครูคำมีเล่าให้เกล้าฟังว่า แม่ออกมีความกลุ้มใจมากเกือบจะเป็นบ้าไปแล้วก็ว่าได้ ถ้าแม่ออกเกล้าเป็นไปถึงเพียงนั้นจริง เกล้าก็ไม่รู้ว่าจะแก้แม่ออกให้หายได้อย่างไร” 

พระอาจารย์พูดว่า “เรื่องนี้ท่านคำมีก็พูดให้ผมฟังเหมือนกันผมพิจารณาดูแล้วจะไม่ยากดอกท่านกลับไปให้เห็นหน้าแล้วแม่ออกท่านก็หายดอก 

หรือถ้ายังไม่หายให้ท่านสอนแม่ออกให้ภาวนาอุบายวิปัสสนาให้ภาวนาระลึกในใจว่า สพฺเพ สงฺขารา สพฺพสญฺญา ทุกฺขา สพฺเพ สงฺขารา สพฺพสญฺญา อนตฺตา ดังนี้ ระลึกอยู่ไม่นานแม่ออกท่านก็จะหายดอก การปฏิบิติถ้าเกิดเป็นบ้าต่างๆ ให้ภาวนาคำนี้หายหมดนั่นแหละ 

แต่ให้ท่านบอกให้แม่ออกท่านรู้ว่า การไม่สบายปรากฏอยู่ในใจทั้งหมดนี้ มันเป็นอนิจจังมันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดังคำแม่ออกภาวนาอยู่ในใจนั้นทั้งหมดนั้นแหละ 

ให้ท่านเตือนแม่ออกให้รู้ ให้ภาวนาอยู่อย่างนี้ไปไม่นาน แม่ออกท่านก็หายดีได้ดอก เพราะความขึ้นในธรรมทั้งหลายมันไม่สู้วิปัสสนาธรรมนี้ได้ดอก” 

พระอาจารย์เตือนดังนี้ มีความดีใจมาก ได้อะไรก็ไม่ดีใจเท่าได้โอวาทของพระอาจารย์คราวนี้ เพราะตัวจะได้จำถือไว้เป็นประจำในการปฏิบัติใจของตัว หากตัวหรือใครเป็นก็จะได้แก้และช่วยความเป็นบ้าให้หายได้ 

แล้วจึงได้ขอเรียนท่านอาจารย์ไปอีกว่า “หากเกล้าไปบ้าน แก้แม่ออกของเกล้าไม่หายแล้ว เกล้าขอโอกาสจะเอาแม่ออกของเกล้ามาให้พระอาจารย์พิจารณาช่วยเกล้า จะอนุญาตให้เกล้าเอามาได้ไหม” 

พระอาจารย์ท่านพิจารณาอยู่หน่อยหนึ่งแล้วพูดว่า “เออ หายน่า ท่านไม่ต้องวิตกแรงไปกว่าความเป็นจริง แม่ออกท่านไม่เป็นแรงจนถึงกับจะเป็นบ้าไปอย่างนั้น กลุ้มใจคิดถึงท่านและพ่อออกตายจากไปเป็นธรรมดา คนเขาเป็นกันอยู่ในบ้านในเมืองนี้เท่านั้นเอง” 

ก็พอดีหมดเวลาเลิกกัน 

พักเอาแรงอยู่กับพระอาจารย์สองคืน วันสามได้ลาท่านเดินทางไปบ้าน 


• ถึงถิ่น • 

พอไปถึงบ้านท่านพี่ว่าจะไม่ไปบ้าน ท่านกลับไปถึงบ้านก่อน ๒ วัน พักอยู่ในดงข้างบ้านก็พอดีไปพักด้วยกัน 

ท่านพี่จึงพูดว่า “ว่าจะไม่มาบ้านดอก เพราะท่านมาแล้วแต่ผมได้พิจารณาดู ผมข้องใจอยู่กับเรื่องแม่ออกไปขึ้นอยู่กับธรรมปีติอันไม่มีสาระแก่นสาร 

ผมมีประสงค์อยากจะให้แม่ออกเราออกจากธรรมปีติมาเข้าอยู่พระไตรสรณคมน์ เหมือนพระอาจารย์ใหญ่สอน ญาติโยมทางอำเภอผือ ให้มาอยู่ปฏิบัติไตรสรณคมน์กันอยู่นั้นดอก ผมจึงได้มาบ้านกับท่านอีก 

แต่เรื่องนี้เราสองคนจึงพูดกันทีหลัง เพราะพวกญาติพี่น้องก็ได้มาเยี่ยมท่านมากแล้ว ให้ท่านพูดกันกับพวกญาติไปเสียก็ได้หยุดกัน” 

ก็พอดีพวกญาติก็มาถาม ตามเรื่องของญาติที่เขามาเยี่ยม ถามข่าวพอควรแล้ว พวกญาติก็ได้เลิกกันไป เหลืออยู่ก็แต่พวกที่มาทำร้านพักให้ 

และนำพวกญาติทำร้านพักและทางจงกรมอะไรทุกอย่างจนเรียบร้อย พวกญาติก็ได้พากันลากลับบ้าน 


• เตรียมการ • 

ค่ำมาก็พากันเดินจงกรมเสร็จแล้ว มองเห็นท่านพี่จุดโคมเดินมาทางบ้านพัก รับรองและกราบท่านแล้ว 

ท่านพี่ถามว่า ท่านพิจารณาเห็นอย่างไรบ้าง เรื่องพ่อออกลุงผู้เป็นครูสอนปีติให้แม่ออกได้มาปฏิบัติอยู่นั้น อย่างไรจึงจะเป็นการเหมาะสม ให้พ่อออกลุงได้อนุญาตให้แม่ออกเรามาปฏิบัติ และปฏิญาณรับพระไตรสรณคมน์ด้วย 

ผมให้ท่านพูดกับแก หากผมก็เข้าปฏิบัติใหม่ยังไม่มีความรู้พอจะพูดกับแกให้เข้าใจและยอมให้แม่ของเราออกมาปฏิบัติพระไตรสรณคมน์ได้ดอก 

ทั้งผมก็ได้เรียนธรรมปีติกับแก ผมนึกเกรงใจแกอยู่ นึกกลัวแกจะมีใจว่าผมอวดรู้อวดดีอะไรไปต่างๆ นานา ผมจึงให้ท่านพูดเป็นพ่อออกลุง ให้แม่ออกเราออกจากธรรมปีติของพ่อออกลุง 

“เรื่องที่จะให้ผมพูดกับพ่อออกดังนี้ก็ดีแล้วละ แต่ผมเห็นว่าจะเป็นการยุ่งยากหน่อย เพราะพ่อออกลุงแกว่าแกเป็นนักปราชญ์ใหญ่คนหนึ่ง จนแกได้ออกปากว่าแกไม่ต้องการอยากพูดกับคนผู้รู้ในโลกมาพูดกับแก 

เพราะใครมาพูดก็เอาแต่เรื่องในโลกมาพูด เอาแต่ของเก่ามาพูดกัน เบื่อใจแล้วพูดกับคนไป มันไม่สนุกใจ อยากพูดกับคนผู้พูดนอกโลกได้นั้น มันจึงไม่เป็นของเก่า พูดกันสนุกดี 

พ่อออกลุงแกพูดทะนงตัวอวดความรู้ของแกอยู่อย่างนี้ ท่านพี่เคยเป็นลูกศิษย์ของแกมาองค์หนึ่งก็คงได้ยินและรู้ดีอยู่แล้วมิใช่หรือ 

เมื่อเราทั้งสองต้องการอยากให้แม่ออกเรา ออกมาจากธรรมปีติของพ่อออกลุง มารับพระไตรสรณคมน์แล้ว เราต้องสู้ฝีปากของพ่อออกลุง จนกว่าให้ชนะนั่นแหละ พ่อออกลุงจึงจะไม่มีการแยแสกับแม่ออกเรา ที่ได้ออกจากนามของแก มารับปฏิบัติพระไตรสรณคมน์ต่อไปด้วยดี 

ถ้าท่านพี่อนุญาตกับพ่อออกลุงแล้วให้ผมพูด ผมก็จะลองพูดดูละ เท่าที่ผมรู้และศึกษามากับครูอาจารย์ จะสู้พ่อออกลุงได้หรือไม่นั้นผมยังแน่ใจไม่ได้อยู่ ถ้าคำพูดใดท่านพี่มองเห็นทางที่จะพูดกับพ่อออกลุงพอให้แกเข้าใจได้ ก็ขอให้ท่านพี่ช่วยผมพูดกับแกบ้างก็ดีเหมือนกัน” 


• ธรรมปีติ • 

และได้ถามท่านพี่ว่า “ก็เคยเป็นศิษย์เรียนธรรมปีติกับพ่อออกลุงมาแล้ว ธรรมปีติอันพ่อออกลุงว่าเป็นธรรมพระอรหันต์นั้นเป็นอย่างไร จึงอยากให้แม่ออกเราออกมาปฏิบัติธรรมพระไตรสรณคมน์เล่า” 

ท่านพี่พูดว่า “อันธรรมปีติที่พ่อออกลุงสอนว่าเป็นธรรมพระอรหันต์นี้ ผมเห็นว่าไม่มีแก่นสารเสียเลย 

ทั้งการสอนของแก ผมเห็นว่าแกสอนเพื่อเป็นการอาชีพของแกเสียอีก คือแกมีการประกาศให้คนอื่นๆ มาเรียนธรรมกับแก สั่งให้หาธูปเทียนให้มาก เทียนยกครูเล่มหนึ่ง ให้หนัก ๖ บาท ๖ เล่มเทียนจุดบูชาเล่ม ๑ หนัก ๒ สลึง หรือหนัก ๑ บาท 

เมื่อคราวเข้าเรียนกับแก แกให้เอาถวายให้แกหมด แกแบ่งเอาเทียนลูกศิษย์คนละครึ่ง เทียนยกครูแกก็เอาของลูกศิษย์ ๑ ชุด ให้ลูกศิษย์ไว้เป็นเครื่องบูชาระลึกถึงคุณของครูอีก ๑ ชุด ลูกศิษย์หลายคน เทียนก็ได้มาก 

เมื่อเลิกพิธีเรียนกันแล้ว แกก็เอาเทียนไปต้มเพียงเอาผึ้งขายเป็นอาชีพดังนี้ ผมจึงว่าแกสอนเป็นอาชีพ 

ผมจึงว่าพ่อออกลุงสอนแกพวกศิษย์ไม่สอนให้ศิษย์พ้นทุกข์เลย สอนเพื่อเป็นอาชีพเท่านั้น 

เมื่อได้ยินท่านพี่พูดธรรมและการสอนธรรมะให้ฟัง ก็นึกหมั่นไส้ขึ้นมาในใจ เพราะได้เรียนพระอาจารย์ใหญ่ให้ท่านเทศนาให้ฟัง จำได้เข้าใจมาเป็นอย่างดีแล้ว ทั้งได้ยินท่านพี่พูดเล่าให้ฟัง ไม่ผิดกับพระอาจารย์ใหญ่สอนให้รู้มานั้นเสียด้วย 

จึงได้นึกในใจว่า ถ้าพ่อออกลุงปราชญ์ใหญ่มาสนทนาเล่นงานกับเราจริงแล้ว เราจะเอาแกให้เสียชื่อเสียงว่าเป็นปราชญ์ใหญ่คราวนี้แหละ 

ทั้งท่านพี่ผู้แกเคยดุเคยด่าดูถูกว่าเราเป็นน้อง ไม่มีความรู้อะไรนี้ก็ดี เราจะเทศนาเอาให้แกเห็นความรู้ความสามารถของเราในครั้งนี้” 

 

  ครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐานสานุศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต  (จากซ้ายไปขวา) หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ, หลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร,  พระอาจารย์กว่า สุมโน, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน  หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, พระอาจารย์ชม (ไม่ทราบฉายา)  หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ, หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ, หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

ครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐานสานุศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต 
(จากซ้ายไปขวา) หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ, หลวงปู่สิงห์ทอง ธัมมวโร, 
พระอาจารย์กว่า สุมโน, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน 
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, พระอาจารย์ชม (ไม่ทราบฉายา) 
หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ, หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ, หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ 

 

• เปลี่ยนธรรม • 

วันหลังได้พากันไปบิณฑบาตพอควรแล้วก็กลับมาที่พัก พวกญาติโยมพร้อมทั้งแม่ออกด้วยก็ได้นำไทยทานไปทำบุญ ถามข่าวคราวก็ได้พูดปราศรัยกับพวกญาติโยมพอสมควร 

ฉันจังหันเสร็จแล้วพวกญาติโยมก็ได้เลิกกลับบ้านกันหมดเหลืออยู่แต่แม่ออกคนเดียว ท่านพี่ก็ได้โอกาสพูดกับแม่ออก ให้ออกจากธรรมปีติกับพ่อออกลุงเสีย ให้มารับขึ้นอยู่กับธรรมพระไตรสรณคมน์กับพวกลูกเสีย 

แม่ออกได้ตอบท่านพี่ว่า “แม่ไม่ว่า เอาแต่ลูกทั้งสองจะเห็นเป็นดีหรือประการใดสุดแล้วแต่ลูก ลูกทั้งสองจะให้แม่ออกละธรรมคุ้มครองของพ่อออกลุง มาขึ้นปฏิบัติธรรมพระไตรสรณคมน์กับพวกลูกแล้ว จำเป็นแม่ออกก็จะได้ทำการร่ำลาออกจากธรรมของลุงของพวกลูกเสียก่อนจึงจะเป็นความงามและเรียบร้อย ก็ต้องลาก่อนนั้นแหละเป็นการดี” ต่อจากนั้นแม่ออกก็ได้หารือเรื่องทรัพย์สิ่งของต่างๆ ไปหลายอย่าง จนถึงบ่ายหน่อยหนึ่ง แม่ออกจึงได้ลากลับบ้าน 


• ท่านพี่ก่อน • 

วันหลังเมื่อฉันบิณฑบาต ก็ได้เห็นพ่อออกลุงจารย์อ่อนสี ผู้เป็นครูสอนธรรมะให้แม่ออกและแม่ออก พร้อมด้วยพวกญาติอีกมาก เดินตามกันออกมาเพื่อถวายจังหัน ทั้งอยากมาฟังการสนทนาธรรมของอาจารย์อ่อนสี นักปราชญ์ใหญ่ จะได้สนทนาธรรมกับหลวงปู่อ่อน 

เมื่อฉันบิณฑบาตเสร็จพ่อออกลุงก็ได้ทำการปราศรัย ถามข่าวคราวว่า ไปเที่ยวถึงไหนได้พบพระอาจารย์ไหนบ้าง ได้สนทนาธรรมกับพระอาจารย์ทั้งหลายท่านสอนได้ความมาว่าอย่างไร นิมนต์เล่าให้พวกญาติฟังบ้างเถิด พวกญาติบางผู้ก็จะได้มีใจสว่างขึ้นบ้าง 

ท่านพี่ก็ได้ปราศรัยกับพ่อออกลุงไปบ้างบางประการ สุดท้ายท่านพี่ก็ได้สรรเสริญพระอาจารย์ใหญ่มั่น ได้สอนธรรมพระไตรสรณคมน์ ให้ญาติโยมทาง อ.ท่าบ่อ และ อ.บ้านผือ ได้ปฏิบัติกันเป็นที่น่าเลื่อมใส 

เวลาท่านพี่พูดเรื่องพระไตรสรณคมน์อยู่ พิจารณาดูพ่อออกลุงแกได้ยิน แกทำหน้าเป็นอาการเฉยๆ พอท่านพี่พูดจบความ พ่อออกลุงแกจึงพูดขึ้นว่า “ธรรมพระไตรสรณคมน์ กับธรรมพระอรหันต์ที่พ่อออกลุงสอนหมู่อยู่นี้ก็ดีเหมือนกัน เป็นธรรมอันเดียวกันนั้นแหละ ก็ธรรมพระไตรสรณคมน์เป็นธรรมพระพุทธเจ้า ธรรมปีติเป็นธรรมพระอรหันต์ เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้านั่นเองจะไม่ใช่ธรรมอันเดียวกันอย่างไรเล่า 

เมื่อค่ำวันนี้แม่เฒ่าไปพูดว่าอยากออกจากธรรมปีติ อยากมาขึ้นอยู่กับธรรมพระไตรสรณคมน์กับพวกลูก คือพวกคุณหลานนี้ ลุงก็ไม่ว่าเพราะเป็นธรรมอันเดียวกัน ดีเหมือนกัน ความจริงมันขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดอก ถ้าปฏิบัติไม่ได้แล้วธรรมใดไม่ดีทั้งนั้นแหละ ถ้าปฏิบัติดีอยู่แล้วธรรมใดก็ดีหมดนั่นแหละ” 

นี้เป็นจุดเริ่มต้นพูดกัน ท่านพี่กับพ่อออกลุงพูดกันเรื่องธรรมปีติและธรรมพระไตรสรณคมน์ ตั้งแต่ฉันจังหันเสร็จไปจนถึง ๔ โมงเช้า แม่ออกเห็นจะรำคาญใจจึงพูดขึ้นว่า “สำหรับคุณลูกผู้ใหญ่ให้หยุดพูดเสียก่อน ให้คุณลูกผู้น้อยพูดกับพ่อออกลุงดูที” ท่านพี่จึงหยุดพูด 


• เป็นธรรมแฝง • 

หลวงปู่อ่อนจึงได้พูดขึ้นว่า “เออ พ่อออกลุงอย่าได้เสียใจเลย เวลานี้เป็นเวลาสนทนาธรรมกัน ขอให้พ่อออกลุงถือว่าอาตมาทั้งสองนี้เป็นหลานของพ่อออกจริงก็แล้วกัน หลานทั้งสองเกิดทีหลัง ความรู้ ความฉลาดไม่เท่าพ่อออกลุงอยู่ดีละ จึงจำเป็นหลานทั้งสองขออภัยในเรื่องที่พูดกันต่อไปนี้แต่ต้นเสียก่อน” 

หลวงปู่อ่อนจึงเริ่มพูดต่อไปว่า “ธรรมปีติที่พ่อออกลุงว่าเป็นธรรมอันเดียวกันกับธรรมพระไตรสรณคมน์นั้นถูก แต่เป็นธรรมเกิดแฝงธรรมพระไตรสรณคมน์ ทั้งไม่ใช่ธรรมปีติเป็นธรรมพระอรหันต์ ธรรมพระไตรสรณคมน์เป็นธรรมพระพุทธเจ้าเหมือนพ่อออกลุงว่านั้น 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ก็ได้ตรัสรู้ธรรมพระไตรสรณคมน์ แล้วท่านนำเอาธรรมพระไตรสรณคมน์ไปสอนพวกปัญจวัคคีย์ เมื่อพระองค์เทศนาธรรมจักรจบลงแล้ว พระอัญญาโกญฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม ได้สำเร็จพระโสดา แต่พวกสี่องค์นั้นเพียงแต่ได้ความเลื่อมใส ได้ถึงพระไตรสรณคมน์เท่านั้น 

นี้เป็นหลักบอกว่าพระองค์ตรัสรู้ก็ตรัสรู้ตามพระไตรสรณคมน์ ท่านจึงนำความรู้ของท่านไปเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ก็เทศนาให้ปัญจวัคคีย์ถึงไตรสรณคมน์เป็นต้นมา 

ดังพระองค์ทรงอนุญาตให้อัครสาวกทั้งสอง รับกุลบุตรเข้าบวชในลัทธิศาสนาของพระองค์ พระองค์อนุญาตให้อัครสาวกสอนธรรมพระไตรสรณคมน์ ให้แก่กลบุตรให้ถึงแล้วก็ให้เข้าหมู่พระสงฆ์ขึ้นได้ในศาสนาของพระองค์ดังนี้ เป็นต้นไป ไม่เห็นพระองค์ทรงอนุญาตให้อัครสาวกสอนธรรมปีติทางไหนเลย 

หรือพระองค์อนุญาตให้พุทธสาวกอื่น รับกุลบุตรเข้าบวชในศาสนาของพระองค์ มีอนุญาตให้พระมหากัสสปะเป็นต้น ก็ทรงอนุญาตให้ปฏิญาณถึงพระไตรสรณคมน์ก่อน 

แล้วจึงขอบรรพชาเป็นสามเณรและพระอุปัชฌาย์สอนกรรมฐานให้เสร็จแล้ว ก็ไปนุ่งผ้าห่มผ้ากาสาวะเข้าครองศีลเป็นการปฏิบัติในความอยู่เป็นสามเณรไปดังนี้เป็นต้น 

ไม่เห็นพระองค์ให้ขอถึงธรรมปีติกันที่ไหนอีกเล่าพ่อออกลุง” 


• โต้กลับ • 

พ่อออกลุงแกพูดขึ้นว่า “คุณหลานพูดมานั้นถูก แต่เหตุใดธรรมที่พระองค์บัญญัติไว้ให้คนขึ้นคนเรียนเป็นแบบเป็นแผน คือมีมากเข้าเป็นธรรม ๔๐ ห้อง ก็คือ มีธรรมพระไตรลักขณญาณ ธรรมปีติ ๕ อนุตตริยะ ๖ ธรรมวิปัสสนาญาณ ๙ อย่างนี้ พ่อออกลุงก็คือว่ามีอยู่ คุณหลานเห็นจะต้องเรียนไปไม่ถึงดอกกระมัง แกก็พูดไปในเรื่องธรรมที่กล่าวมานั้นเป็นสิ่งเป็นอัน ใครเรียนธรรมวิเศษมีฤทธิ์มีเดชไปอย่างนั้น ดังธรรมปีติ๕ ผู้ว่าเรียนก็เกิดรู้เห็นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นอย่างนั้นนะคุณหลาน อย่าไปว่าแต่ธรรมพระไตรสรณคมน์ดีวิเศษหลาย แหมคุณหลานข้ามองดูคนทั้งหลายที่เขามาฟังเขาเพลินจนเขาอยากปีบอยากโฮเป็นส่วนมาก” 


• จิตต้องรวมก่อน • 

พ่อออกลุงแกอธิบายของแกไปจนชั่วโมงกว่าโน้นแหละจึงได้ขดกับพ่อออกลุงขึ้นว่า 

“พ่อออกลุงว่าธรรมของพระองค์มีมากนั้นก็จริงละ ไม่ใช่มีเท่าพ่อออกลุงว่าเลย หลานได้ยินท่านผู้รู้พูดให้ฟังมาว่า ธรรมของพระองค์มีมากตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์โน้น แต่หลานก็ยังไม่รู้ดอกว่าธรรมอะไรต่ออะไรรวมกันบ้างจึงพอ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ 

แต่ว่าหลานได้ศึกษากับพระอาจารย์เสาร์พระอาจารย์มั่นมาท่านสอนหลานว่า ธรรมทั้งหลายตลอด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น พระองค์แจกออกไปจากพระไตรสรณคมน์สามนี้ทั้งนั้น พระไตรสรณคมน์สามนี้เป็นที่รวมไว้ซึ่งธรรมทั้งหลายหมด 

พระอาจารย์ทั้งสอง ท่านสอนให้หลานเข้าใจมาเช่นนี้ หลานจึงว่าธรรมพระไตรสรณคมน์เป็นหลักฐานเป็นธรรมอันมีสาระแก่นสารกว่าธรรมทั้งหลายอื่น 

เพราะการขึ้นเรียนธรรมทั้งหลายนั้น ท่านอาจารย์ใหญ่เสาร์ท่านได้ประกาศลูกศิษย์ของท่านมีอาตมาองค์หนึ่ง ได้ยินว่าท่านได้เรียนธรรมทั้งหลาย ได้ยกเครื่องบูชา เรียนกับครูมามาก 

ธรรม ๔๐ ห้อง และธรรมทั้งหลายดังพ่อออกลุงพูดไปเมื่อตะกี้นี้ พระอาจารย์ใหญ่เสาร์ก็ได้เรียนยกครูด้วยเครื่องบูชามากับครูของท่านมาหมดแล้ว 

แต่พระอาจารย์ทั้งสอง คือพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ และพระอาจารย์ใหญ่มั่น ได้มาพิจารณาดูกัน 

พระอาจารย์มั่นท่านรู้ว่าธรรมอื่นไม่เป็นของจำเป็นจะแต่งเครื่องบูชาขึ้นกับอาจารย์ให้อาจารย์สอนเลย 

เพราะเป็นธรรมอุบายอันพระองค์รับเอาสาวกด้วย เอหิ ภิกขุให้เข้ามาอยู่ในสำนักของพระองค์แล้ว 

ท่านแนะอุบายกรรมฐานให้สาวกลูกศิษย์ของท่านนำไปปฏิบัติกันให้จิตเป็นสมาธิสมาบัติกันขึ้นเท่านั้น ขึ้นกับอาจารย์ อาจารย์สอนให้ศิษย์ไม่มีอาราธนาอย่างธรรมปีติ ธรรมพระไตรสรณคมน์ ธรรมสารพัดธรรม ธรรมจะไปขอเอาได้ง่ายๆ ความพ้นทุกข์มันไม่อดแหละ 

เช่นธรรมปีติจะเกิดขึ้นในบุคคลได้ก็ต้องอาศัยคนนั้นตั้งใจปฏิบัติธรรม คุณพระไตรสรณคมน์ให้จิตรวมเป็นสมาธิลงได้เสียก่อน ปีติ ๕ อันใดอันหนึ่งก็จะเกิดขึ้นในจิตของบุคคลผู้รวมอยู่นั้นขึ้นมาได้ เมื่อใครทำจิตยังไม่รวมเป็นสมาธิได้แล้ว จะไปอาราธนาขอเรียกเอาปีติใดให้มันเกิดจนตายเท่าใดชาติ ปีติมันก็ไม่เกิดขึ้นมาให้ดอก 

อันธรรมปีตินี้ก็หากมีแบบว่าให้บุคคลขึ้นกันเรียนกัน แต่ไม่เห็นมีบอกคำภาวนากันว่าอย่างไร คำสอนให้ผู้ขึ้นธรรมปีติภาวนาก็ว่า อะระหังๆ หรือว่า สัมมาอะระหัง ในพุทธานุสติ เอาคุณพระพุทธเจ้าเป็นหลักจำอยู่ จึงว่าธรรมใดจะนอกเหนือไปจากธรรมพระไตรสรณคมน์นี้ไม่มีเลย 

แบบของพระองค์และพระสาวกของพระองค์ท่านสอนกันมา ก็มีแต่สอนให้ถึงพระไตรสรณคมน์กันเท่านั้นก็พอแล้ว ธรรมอื่นเป็นแต่แนะสอนให้ลูกศิษย์ของท่านไปเลย 

อันแบบขึ้นกันเรียนกันมานี้แบบเดิมของพระองค์สอน ไม่เห็นมีในผูกในมัดใดเลย 

เห็นจะเป็นด้วยอาจารย์ต้องการสอนศิษย์เพื่อเป็นอาชีพกับลูกศิษย์ เพื่อเป็นการเลี้ยงตัวใช้สอยสิ่งในตัวให้ง่ายกันนั้นเสียโดยมาก จึงตั้งแบบสอนให้มีขึ้นกันกับพระอาจารย์มานั้น 

พระอาจารย์ใหญ่ทั้งสองสอนอาตมาให้รู้มาว่าดังนี้แหละ พ่อออกลุง พ่อออกลุงจะว่าอย่างไรก็ขอให้ว่าไปเลย” 


• ยอมให้แม่ • 

เวลาพูดและอธิบายธรรมอยู่นั้น มองดูหน้าพ่อออกลุงหน้าตายมาแต่นานแล้ว เมื่อแกจะพูดต่อไปดูเหมือนมีตัวสะเดิด (สะดุ้ง) ตื่นนอนหลับทั้งแรงเลย 

แกพูดกับหมู่ขึ้นว่า “หมู่ทั้งหลายคุณหลานได้พูดอธิบายธรรมมานี้ เป็นธรรมมีแบบแผน เป็นธรรมมีหลักฐานเป็นของพวกเราผู้หวังความพ้นทุกข์ ควรจดจำเอาไว้ปฏิบัติแท้ทีเดียว” 

แกพูดกับแม่ออกว่า “แม่เฒ่านี้มีบุญมาก ลูกของแม่เฒ่าคนนี้เป็นลูกอันประเสริฐทีเดียว ได้ไปเที่ยวแสวงหาธรรมของดีอันประเสริฐมาโปรดสอนพ่อแม่และพวกญาติใครๆ ให้เข้าใจสิ้นความสงสัย ความข้องใจ ได้ปฏิบัติเอาตนให้พ้นทุกข์ด้วย แม่เฒ่าจะออกจากธรรมปีติทั้ง ๕ ของลุงไปขึ้นอยู่กับธรรมพระไตรสรณคมน์ คุณลูกของเฒ่าก็ดีแล้ว ส่วนลุงเวลาต่อไปจึงจะขึ้นธรรมพระไตรสรณคมน์ภายหลังดอก” 


• ใจรู้สว่าง • 

หลวงปู่อ่อนจึงว่า “นั้นแหละพ่อออกลุง พระอาจารย์ใหญ่ทั้งสองท่านได้เรียนธรรมปฏิบัติมามาก ท่านได้พิจารณาตรองดูเห็นว่าธรรมอื่นไม่จำเป็นจะขึ้นจะเรียนกันมีพิธีการยกครูยกทะลาย ให้เป็นการลำบากชักช้าแก่การปฏิบัติดำเนินใจเข้าสู่วิปัสสนาธรรมชั้นสูง 

ครั้นผู้ปฏิบัติเอาตนให้พ้นทุกข์เสียเปล่าดอก ท่านจึงได้หยุดพิธีการสอนธรรมทั้งหลายนั้นเสีย ท่านจึงมาสอนแต่ธรรมพระไตรสรณคมน์กันอยู่เท่านั้น 

อันธรรมพระไตรสรณคมน์นี้ คือ พุทโธ ธมฺโม สงฺโฆ 

คำพวกเราว่า ใจรู้สว่าง ดังนี้ คำพระพุทธเจ้าว่า ธมฺโม 

คำพวกเราว่า ใจรู้สว่าง คำพระพุทธเจ้าว่า สงฺโฆ 

คำพวกเราว่า ใจรู้ข้อปฏิบัติดี รู้ปฏิบัติเอาตนพ้นทุกข์ จึงว่าใจดวงเดียวมีพร้อมบริบูรณ์ทั้ง ๓ รัตนะ 

ให้ผู้ขอถึงไตรสรณคมน์แล้วให้ปฏิบัติเอาตนของตน คือ ให้เอาใจรู้ของตนนั้น รักษา กายวาจา ของตนให้เป็นศีล 

เอาใจรู้ของตนนั้นระลึกคำภาวนาขึ้น เข้าใจรู้จับจดจ่ออยู่กับคำภาวนานั้น จนใจรู้นั้นรวมอยู่เป็นหนึ่ง เกิดเป็นแสงสว่างขึ้นมาได้ 

ชื่อว่าผู้นำเอาคำภาวนาฟอกใจรู้ของตนให้สะอาดขึ้นมาได้แล้วจึงจับเอาใจรู้นั้นกำหนดพิจารณาดูกายของตน อันเป็นรูปธรรมรวมอยู่แล้ว ซึ่งสมมติธรรมทั้งหลาย มีขันธธรรม อายตนธรรม เป็นต้น ให้เห็นแจ้ง 

จะได้อาศัยเห็นแจ้งในธรรมคือรูปธรรมนี้ เข้าไปฟอกใจรู้ของตนให้ใสยิ่งขึ้นได้อีก 

ใจรู้นั้นก็จะได้ถอนอุปาทานการยึดถือมั่นของตน ออกจากความเป็นปุถุชนของตนก็จะได้หมดไป ความเป็นอริยชนของตนก็จะเกิดขึ้นมาในใจรู้ของตนดังนี้แล้ว จึงได้ชื่อว่าปฏิบัติธรรมพระไตรสรณคมน์ 

หากเกิดรู้เองเห็นเองเพราะตัวรู้เป็นตัวจิต คิดหาอุบายน้อยความรู้อันรู้อยู่ ตามตารู้หูได้ยินเป็นต้นนี้รวมเข้าไปในใจได้หมดแล้ว ผู้นั้นหากเกิดรู้เองเห็นเองขึ้นมา 

เหมือนพระองค์ท่านแสวงหาความรู้ทางอื่นอยู่ ๖ ปี ก็ไม่รู้เห็นอันใดขึ้นในใจท่าน เมื่อท่านคิดหาทางได้ อานาปานสติกรรมฐานน้อมความรู้ของท่านเข้าไปรวมอยู่ในใจได้ แล้วท่านก็เข้าไปรู้ถึงฐานความรู้ของท่าน ท่านก็ได้ตรัสรู้ของท่านขึ้นมาในใจท่าน เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาเท่านั้นแหละพ่อออกลุง” 

 

  รูปภาพ...หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโคธาราม จ.อุดรธานี  กำลังทักทายหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่บริเวณวัดถ้ำกองเพล จ.หนองบัวลำภู

รูปภาพ...หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโคธาราม จ.อุดรธานี 
กำลังทักทายหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่บริเวณวัดถ้ำกองเพล จ.หนองบัวลำภู

 

• วัดหก • 

ขณะนั้นก็เป็นเวลาบ่ายสามโมงแล้ว จะค่ำหมดเวลาไปก่อนจึงถามแกว่า “อันว่าพ่อออกลุงว่าปฏิบัติธรรมปีติมา ได้ค้นหาวัดหก กกห้า สีมาแปด พ่อแม่นอก พ่อแม่ใน อุปัชฌาย์อาจารย์สวดขวาซ้ายนอก อุปัชฌาย์อาจารย์สวดขวาซ้ายใน เป็นต้น ตลอด 

พ่อออกลุงค้นหาได้แล้ว ผู้รู้จริงอยู่ในพ่อออกลุงนั้นว่า พ่อออกลุงไม่ควรบอกให้ใครรู้ด้วยเป็นอันขาด เป็นของรู้เฉพาะตน ใครอยากรู้ให้พิจารณาค้นหาให้รู้เห็นด้วยตนเอง 

เมื่อใครได้พิจารณาเห็นแล้วผู้นั้นเป็นพระผู้ประเสริฐขึ้นในตัวเลย ไม่ต้องมีการบวชกับพระอุปัชฌาย์ใดเลย เมื่อพ่อออกลุงบอกให้คนอื่นรู้ไม่ได้ เล่าให้อาตมาฟังได้ไหม” 

ถามแกไปอย่างนี้ พ่อออกลุงแกพูดว่า “จะประหารคอขาดไปเดี๋ยวนี้ ให้บอกดังนี้พ่อออกลุงก็บอกไม่ได้เลย” 

จึงพูดกับแกว่า “พ่อออกลุงท่านพระอาจารย์มั่นท่านไม่เห็นจะขัดข้อง อาตมาเรียนถามท่าน ท่านได้แสดงให้ฟังเลย อาตมาจะเล่าคำที่ได้ยินพระอาจารย์เทศน์สอนอาตมา ให้พ่อออกลุงฟังจะถูกตามพ่อออกลุงรู้มาไหม 

คือ วัตร ๖ นั้น ได้แก่ 

จักขุวัตตัง ตาเป็นวัตรอันหนึ่ง ใครจะทำการงานด้วยรูปทั้งหลายแล้วต้องเอาตาดูจึงจะเป็นผลสำเร็จตามความประสงค์ได้ 

โสตะวัตตัง หูเป็นวัตรในการฟังเสียง ใครจะสำเร็จในเรื่องราวต่างๆ ต้องเอาหูฟัง 

ฆานะวัตตัง จมูกเป็นวัตรในการรู้จักกลิ่น ให้สำเร็จดังใจประสงค์ได้ 

ชิวหาวัตตัง ลิ้นเป็นวัตรในการรู้จักรส ให้สำเร็จดังใจประสงค์ได้ 

กายะวัตตัง กายเป็นวัตรในการสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ให้สำเร็จดังใจประสงค์ได้ 

มะโนวัตตัง ใจเป็นวัตรในการรู้ธรรมารมณ์ ให้สำเร็จดังใจประสงค์ได้ 

ใครไม่เอาอายตนะภายในทั้ง ๖ อย่างนี้ทำธุรกิจการงาน ให้สำเร็จผลเป็นบุญหรือเป็นบาปขึ้นมาแล้วไม่มีอันจะทำเลย ต้องหกอย่างนี้เป็นวัตร ใครจะปฏิบัติดีชั่วอย่างไรก็ต้องเอาหกอย่างนี้ปฏิบัติให้เป็นขึ้นมาทั้งนั้น” 


• กกห้า • 

“ส่วนกกห้านั้นพระอาจารย์สอนอาตมาว่า ได้แก่ ขา ๒ แขน ๒ รวมเป็นสี่ ห้ากับหัว ๑ เพราะวัตรหกก็ได้องอาศัยพวกนี้ตั้งอยู่ จึงเป็นอยู่ได้” 


• สีมาแปด • 

“สีมาแปดนั้น ได้แก่ หู ๒ ตา ๒ รวมเป็น ๔ จมูก ๒ รวมเป็น ๖ ลิ้นหนึ่ง กายหนึ่ง รวมเป็นสีมาแปด ใจเป็นลูกนิมิตอยู่ตรงกลาง พระองค์ท่านบัญญัติให้ทำสีมา บอกให้เป็นที่สำเร็จสังฆกรรมอยู่ตามวัดทั้งหลายนั้น พระองค์ก็บัญญัติให้เป็นการถูกต้อง ตามสีมาภายในตัวดังนี้ จึงว่าเป็นการทำถูกต้องได้ส่วนทำการผูกสีมาภายใน ก็ให้อาจารย์ผู้ฉลาดจับเอาสัจจะ ๔ ของจริงเป็นหลักพิจารณาทักรู้ทักเห็นแล้วๆ เล่าๆ จนกว่าให้ใจตกลงว่าสัจธรรมของจริง ๔ อย่างนี้ จริงแน่ทีเดียวขึ้นมาในใจตามนั้นเป็นการสำเร็จผูกสีมาภายในได้เท่านั้น เหมือนกันกับผูกสีมาภายนอก ก็มีอาจารย์ผู้ฉลาดนำพระสงฆ์ออกไปทักข้างนอก ใบสีมาภายนอกพระก็รู้ว่าเป็นหินเป็นใบสีมา พวกโยมก็รู้ว่าหิน ก็ยังมีการให้ทัก ให้บอกกัน อยู่เป็นหนสองหน มีทักอยู่อย่างนี้ ไปจนรอบสีมาหลังนั้น แล้วจึงเข้าไปสวดลูกนิมิตอีก ทักลูกนิมิตอีก จน ๔ รอบ ๔ จบ ให้เหมือนพระองค์สอนไว้ หรือแสดงไว้ว่า มรรคผล ๔ ดังนี้จึงจะเป็นการสำเร็จกิจวัตรเป็นกกเป็นต้นของการปฏิบัติธรรมเอาตนให้พ้นทุกข์ได้จริงดังนี้” 


• พ่อแม่นอก พ่อแม่ใน • 

“ส่วนพ่อแม่นอก พ่อแม่ในนั้น พระอาจารย์สอนอาตมาว่า 

พ่อแม่นอกได้แก่พวกเราได้เกิดร่วมท่านมาได้แก่พ่อแม่อันหมู่พวกเราได้เรียกพ่อแม่กันมาอยู่ทุกวันนี้ 

พ่อแม่ในนั้นได้แก่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก อันให้ชีวิตของพวกเราเป็นอยู่ทุกวันนี้ เหมือนพ่อแม่มีความอุตสาหะเลี้ยงดูจนให้พวกเรามีชีวิตเติบโตขึ้นมานี้เหมือนกัน” 


• อุปัชฌาย์สวดขวา-ซ้าย นอกใน • 

“ส่วนพระอุปัชฌาย์อาจารย์สวดขวาซ้ายนอกในนั้น พระอาจารย์สอนว่า 

พระอุปัชฌาย์ได้แก่ จมูกมันให้ชีวิตเป็นอยู่ได้นี้ 

พระอาจารย์สวดขวาได้แก่ ตาข้างขวา 

พระอาจารย์สวดซ้ายนั้นได้ แก่ตาเบื้องซ้ายนี้ยังเป็นนอกอยู่ เพราะว่าตามหนังสือธรรมสามไตรกล่าวไว้ดอก 

ถ้าพูดพระอุปัชฌาย์อาจารย์ขวาซ้ายกันจริงๆ แล้วพระอุปัชฌาย์ในได้แก่สติตัวรู้ คือ ดวงใจอยู่ในท่ามกลางอกนั้น พระอาจารย์สวดขวาได้แก่ตัวรักของใจ ความชังของใจเป็นอาจารย์สวดซ้าย พระองค์จะได้ตรัสรู้ ก็เพราะท่านเอาสติจับเอารักเอาชังขึ้นมาพิจารณาจนรู้รักรู้ชังเห็นแจ้งชัดว่าความรักเป็นการเนิ่นช้าไม่เป็นประโยชน์ ความชังเป็นทุกข์เปล่าไม่เป็นประโยชน์ 

ท่านจึงเอาคติทางเงื่อนสองคือรักกับชังนั้นออกจากดวงใจสติความรู้ของท่านนั้นขาดไป ไม่เข้าไปยึดถืออยู่ ท่านจึงได้ตรัสรู้มีดวงตาทิพย์เกิดขึ้นได้เห็นธรรมทั้งหลาย จนได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา 

ก็เป็นอันว่าพระองค์ได้บวชตัวเอง ด้วยมีพระอุปัชฌาย์อาจารย์สวดขวาซ้าย บริบูรณ์ขึ้นในตัวของท่าน พระองค์ได้มาตั้งพิธีการบวชกุลบุตรให้เป็นการถูกต้อง ดังพระองค์บวชท่านเองดังนั้น ไว้ประจำพระพุทธศาสนาของท่านมาจนตลอดทุกวันนี้แล 

อย่างนี้แหละพ่อออกลุง พระอาจารย์ใหญ่มั่นท่านเทศน์สอนอาตมาจำได้ว่า ท่านบอกถึงที่สอนว่าอาจารย์ผู้สอนธรรมปีติ เป็นคฤหัสถ์ เป็นคนเขมร เขาสอนกันอยู่จังหวัดสุรินทร์ สอนพวกลูกศิษย์เป็นบ้า เสียคนกันมาตั้งมากๆ เขาเอาหนังสือธรรมสามไตร เป็นหลักสอนกันดอกดังนี้ พ่อออกลุงถูกดังพ่อออกลุงรู้มาไหม” 

พ่อออกลุงถูกถามแกก็เดินไปอย่างแรง แล้วแกตั้งตัวเที่ยงดีแล้ว แกจึงพูดตอบว่า “แหม แม่เฒ่า คุณหลานลูกแม่เฒ่านี้ เป็นผู้มีวาสนามาก ปฏิบัติไปจะต้องได้สำเร็จพระอรหันต์แน่ๆ ทั้งจะได้มาโปรดพวกญาติๆ ให้พ้นทุกข์ด้วยเสียอีก ไปศึกษาความรู้ไม่นานเลย จำความรู้อาจารย์สอนได้ลึกซึ้ง ได้อย่างละเอียดลออเอาเสียจริงๆ” 


• ผู้รู้ • 

พ่อออกลุงได้อนุโมทนากับหลาน ได้นำคำสอนของครูบาอาจารย์มาสอนให้หมู่ญาติได้รู้และเข้าใจดีมากดีมาก มันถูกเอาเสียทุกอย่างไม่มีผิดเลยดังนี้ ต่อไปได้ถามพ่อออกลุงอีกว่า 

“อันที่ว่าพ่อออกลุงได้ปฏิบัติธรรมปีติมาว่าได้เห็นผู้รู้ของตน คำว่าได้ผู้รู้แล้วนั้น ผู้รู้เป็นอย่างไร วัตร ๖ กก ๕ ที่พ่อออกลุงได้นั้นเป็นอย่างไร พ่อออกลุงว่าพูดให้ใครฟังไม่ได้นั้น อาตมาก็พูดให้พ่อออกฟังได้แล้ว ทั้งพ่อออกลุงก็ได้พูดรับรองว่า อาตมาอธิบายถูก็ได้องดีแล้ว อันผู้รู้นี้พูดให้อาตมาฟังได้ไหม” 

พ่อออกลุงแกพูดว่า มันได้พูดกันมาแล้วก็พูดกันไปเสียเถอะดังนี้แกจึงพูดขึ้นว่า “ผู้รู้ที่พ่อออกลุงได้รู้ได้เห็นและที่ว่าพ่อออกได้นั้นคือ พ่อออกภาวนากำหนดจิตรวมเข้าไป จิตสงบเกิดความสว่างขึ้นดีแล้ว เกิดเห็นเบ้าทองคำอันหนึ่งมีฝาปิด มีน้ำเต็มอยู่ในเบ้านั้น ในเบ้านั้นจะใสแสนที่จะใส 

เมื่อตนเองอยากรู้อยากเห็นอันใดก็ดี หรือคนอื่นมาถามอยากรู้อยากเห็นของเสียหาย ถ้านอนไม่สบายอย่างนี้เป็นต้น เมื่ออยากรู้เปิดฝาเบ้าออกดูลงไปในน้ำ อันอยู่ในเบ้านั้น เห็นอันตนอยากรู้และสิ่งของที่เขามาถามอยากรู้นั้นอย่างแจ่มแจ้งชัดเลยทีเดียว นี้แหละพ่อออกเห็น พ่อออกรู้ และได้ผู้รู้นั้นถูกไหมคุณหลาน” 

จึงตอบว่า “พ่อออกลุง เบ้าที่พ่อออกลุงเห็นนั้น ว่าเป็นผู้รู้นั้นมันเป็นนิมิตต่างหาก ไม่ใช่เป็นผู้รู้อันผู้รู้นั้น ได้แก่ผู้เห็นเบ้าและรู้เบ้านั้น และผู้เปิดฝาเบ้าแลลงไปในน้ำเห็นนิมิตอยู่น้ำนั้น รู้จักนิมิตว่าเป็นอันใดได้แน่นั้น เป็นผู้รู้ ไม่ใช่เบ้า เป็นผู้รู้เห็นแต่นิมิตให้ผู้รู้เห็นและรู้เท่านั้นเอง” 

พ่อออกลุงแสดงตัวแกนิ่งอยู่เหมือนใจจะขาด นั่งอยู่หน่อยหนึ่งแล้วแกจึงพูดขึ้นว่า 

“แหม บาดนี้ (ทีนี้) ละเอียดจริงๆ” 

แล้วแกพูดว่า “ที่พ่อออกพูดให้คุณหลานฟังแล้วนี้ไม่ใช่ผู้รู้จริงๆ แต่ก่อนพ่อออกว่าเป็นผู้รู้ ครั้นต่อมามันได้หายไปแล้ว จึงว่าเบ้านี้ไม่ใช่ผู้รู้อย่างคุณหลานว่า แต่มาเวลานี้มันมีเกิดขึ้นดังนี้ เป็นผู้รู้ขึ้นมาในใจของพ่อออก พ่อออกเห็นว่าเป็นผู้รู้อย่างแน่นอนของพ่อออกเลยทีเดียว 

คือเมื่อพ่อออกทำจิตให้รวมดีแล้วเกิดความสว่างขึ้นมา มองเห็นตู้แก้วสูงศอกคืบ กว้างหนึ่งศอก ตู้แก้วนี้ใสแสนที่จะใส จนเอาจิตรวมอยู่นั้นเพ่งดูเกือบจะไม่เห็น ในตู้นั้นมีพระพุทธรูปแก้วอยู่องค์หนึ่ง สูงราวหนึ่งคืบสี่นิ้วสุกใสเหลือประมาณ จนจะนำพูดให้ใครฟังไม่ได้ทีเดียว 

เมื่อคนมีความรู้อันใดก็ดี หรือมีใครมาถามอยากรู้อันใดก็ดีเปิดฝาตู้แก้วออกแล้ว พระพุทธรูปอยู่ในตู้แก้วนั้นท่านเทศนาบอกมาให้รู้ทุกอย่างเลย 

อันนี้จะใช่เป็นความรู้ไหม คุณหลาน ถ้าไม่ใช่พระพุทธรูปแล้วและตู้แก้วอันพ่อออกลุงค้นหามาได้หลังนี้ที่ได้เล่าให้ฟังมานี้ก็ไม่ใช่ผู้รู้อีก พ่อออกหมดปัญญาที่จะค้นหาต่อไปอีกแล้ว” 

จึงได้ตอบลุงอีกว่า “อันตู้นี้ก็เป็นเพียงนิมิตเหมือนเบ้าทองคำอันพ่อออกลุงได้พูดให้หลานฟังมาแล้วนั้นเหมือนกัน ใครเป็นผู้มองเห็นตู้ ใครเป็นผู้เปิดตู้นั้น ใครเป็นผู้เห็นพระพุทธรูปแล้วและได้ยินพระพุทธรูปเทศนา และจำได้ว่าเป็นพระพุทธรูปแก้วเทศนาอย่างนี้ ใครรู้อย่างนี้มิใช่จิต คือผู้รู้ของพ่อออกลุง 

วันใดมองเห็นตู้แก้วและพระพุทธรูปแก้วนี้หรือเป็นผู้รู้ เป็นผู้เข้าใจในการที่พระพุทธรูปเทศนาบอกให้รู้” พ่อออกลุงจารย์อ่อนสีแกหมดปัญญายอมแพ้หลวงปู่อ่อนเลยยอมให้แม่ออก ออกจากธรรมปีติของแก 

แกบอกว่า “แม่เฒ่าจะออกจากธรรมของฉันไปขึ้นอยู่กับพระธรรมพระไตรสรณคมน์ของคุณลูกของแม่เฒ่าก็ไปได้ ฉันยินดีด้วย” พูดกันมาถึงนี่บ่าย ๕ โมงจึงลงเอยกันได้ และก็หยุดพักพอควรก็เลิกกันไป 

แต่พ่อออกลุงได้ขอตัวไปภาวนาค้นหาตัวรู้ของแกว่าจะให้เห็นให้จนได้ สิ้นการโต้วาทีกับพ่อออกอาจารย์อ่อนสีเพียงเท่านี้ 

 

• บวชโยมแม่ • 

ครั้นวันหลังแม่ออกได้ออกมาเล่าเรื่องได้ปฏิบัติธรรมปีติมากับพ่อออกลุงนั้นว่าจิตรวมได้ดีแล้ว เกิดรู้นิมิตขึ้นมาที่ใจรวมอยู่นั้นว่าหลวงปู่อ่อนและท่านพี่เท่านั้นเป็นลูก อีก ๑๘ คนนอกนั้นเป็นแต่เขามาเกิดร่วมเท่านั้น 

จึงรู้ขึ้นมาว่ากุศลของแม่คงมาถึงแล้ว แม่จึงได้พูดอย่างนี้จึงได้พูดกับโยมแม่ขึ้นว่า “แม่ออกว่ามีแต่อาตมาสองคนเท่านั้นเป็นลูกของแม่ก็ดีแล้ว แต่อาตมากับท่านพี่สองคนนี้บวชแล้วว่าจะไม่สึก แม่ออกจะทำอย่างไรเล่า” 

แม่ออกจึงพูดว่า “ก็แล้วแต่ลูกทั้งสอง ถ้าไม่สึกก็อนุโมทนา” 

“อาตมาทั้งสองไม่สึกแล้วแม่ออกก็ต้องบวชเป็นแม่ชีปฏิบัติอยู่ เป็นผู้มีศีลธรรมอยู่ด้วยลูกทั้งสองอันแม่ออกว่าเป็นลูกแท้จึงจะถูก ถ้าแม่ออกไม่บวช นิมิตที่แม่ออกเห็นนั้นก็ไม่เป็นของจริง เป็นนิมิตหลอกแม่ออกเท่านั้นเอง แม่ออกจะว่าอย่างไร” 

แม่ออกจึงว่า “แม่ไม่ว่า ลูกจะให้บวช แม่ก็ยินดีบวชตามลูกเห็นดีทุกอย่าง” 

แม่ออกจึงปรึกษาเรื่องน้องสาวสองคนยังไม่มีครอบครัว 

“น้องสาวของคุณลูกทั้งสองคนยังไม่มีผัวอยู่นั้นจะให้แม่ทำอย่างไร” 

ก็ตอบแม่ว่า “แม่ก็ว่าไม่ใช่ลูกของแม่ เป็นแต่เขามาอาศัยเกิดร่วมเท่านั้น ก็ยังจะไปเป็นห่วงเขาอยู่หรือ” 

“แม่ก็ไม่เป็นห่วง แต่ถ้าเขามีความประพฤติเสียไปเป็นคนไม่ดีแล้วชาวบ้านเขาก็จะรังเกียจติเตียนแม่ก็จะไม่มีความสุขต่อไปข้างหน้า” 

“เป็นแต่ให้แม่ออกบวชในเวลาอาตมาทั้งสองได้มาร่วมอยู่ด้วยกับแม่ออกเท่านั้นก็เอาดอก ส่วนการอยู่ของแม่ออกนั้นเวลาน้องทั้งสองเขายังไม่มีครอบครัวอยู่นี้ แม่ออกบวชแล้วก็ให้แม่ออกอยู่กับเขานั้นก่อน 

ต่อเมื่อน้องเขามีครอบครัวหมดแล้ว จึงให้เขาและผัวของน้องและพี่ๆ ไปทำกุฏิอยู่ริมวัด ข้างใดข้างหนึ่ง แล้วแม่ออกจึงไปอยู่กุฏิที่เขาทำให้นั้นต่อภายหลังก็ได้ดอก” 

วันหลังหลวงปู่อ่อนและท่านพี่ก็ให้แม่ออกรับพระไตรสรณคมน์ และบวชเป็นชีรักษาศีล ๘ เสร็จเลย ท่านพี่เมื่อได้ให้แม่ออกรับพระธรรมไตรสรณคมน์ บวชชีเสร็จแล้ว อยู่ร่วมกันไปอีก ๘ วันท่านพี่ได้ลาไปเที่ยววิเวกทำความเพียรเพื่อประโยชน์ตนต่อไป 

ส่วนหลวงปู่อ่อนได้อยู่สอนแม่ออกและพวกญาติให้เข้าใจในข้อปฏิบัติธรรม และพระไตรสรณคมน์ และศีลอันเป็นของเกี่ยวเนื่องกันกับการปฏิบัติธรรมพระไตรสรณคมน์ให้ถูก็ได้องทางพ้นทุกข์อยู่ในระยะ ๒๐ วัน เห็นว่าแม่ออกและพวกญาติเข้าใจดีในข้อปฏิบัติแล้วได้ลาไปเที่ยวธุดงค์ทำความเพียร เพื่อให้ประโยชน์ตนเกิดขึ้นต่อไป 

และต่อมาหลวงปู่อ่อนก็ได้เดินทางมาเยี่ยมแม่ออกปีละหน อยู่สอนแม่ออกและพวกญาติเห็นว่าเข้าใจธรรมดีพอสมควรแล้ว จึงได้ลาไปเที่ยวธุดงค์ตามเคย 


• ทิพย์โอสถ • 

เมื่อได้ลาแม่ออกไปธุดงค์แล้วได้เดินเข้าไปในดงอีกแต่องค์เดียวปฏิบัติอยู่บ้านนายุง ของเก่าที่เคยอยู่มาแล้ว ถึงเดือน ๖ ข้างขึ้น พวกโยมบ้านนาหมีเกิดโรคอหิวาต์ลงท้องกันมาแต่เดือน ๔ แก้กันด้วยยาไม่หาย 

ไปนิมนต์พระอาจารย์ใหญ่มั่น ให้มาสวดมนต์ระงับให้โรคหายท่านก็ไม่มา ท่านดุเขาว่าไม่ฟังความที่ท่านสอนไว้ 

ท่านสั่งเขาผู้ไปนิมนต์ว่าให้ไปนิมนต์เอาท่านหลวงปู่อ่อนมาสวดให้ เขาไม่ไป เขาได้นิมนต์พระอาจารย์ใหญ่ถึง ๗ ครั้ง ท่านก็ไม่มาให้เขา 

แต่ท่านก็สั่งให้เขาไปนิมนต์หลวงปู่อ่อนอยู่อย่างนั้น ถึงครั้งที่ ๗ พวกโยมเขาจึงไปนิมนต์บอกว่าพระอาจารย์สั่งมาให้นิมนต์ท่านไปสวดมนต์ 

หลวงปู่อ่อนจึงพิจารณาว่าจะไปดีหรือจะไม่ไปดี เขาจะมีใจเคารพเราสวดมนต์พอให้โรคเขาหายได้หรือประการใด จึงได้ถามเขาทุกประการ 

เขาก็รับว่าจะตั้งใจฟัง และเคารพธรรม จึงได้เกิดความสงสารเขาขึ้นมาในใจ 

จึงได้มาสวดมนต์บ้านนาหมีได้สวดมนต์ให้เขา เวลาสวดมนต์อยู่นั้นมีคนลงท้องมาก จวนจะตายอยู่ ๔ คน ผู้หญิงหนึ่งคนผู้ชายสามคน สวดมนต์องค์เดียวเสร็จประมาณสามทุ่ม หนทางไปตามดงไกลหน่อยหนึ่งถึงวัด จึงได้รีบกลับวัด พวกโยมที่เป็นญาติคนป่วยเอาน้ำมนต์ที่สวดไว้นั่น ไปให้คนป่วยกินก็หายจากลงท้องทันที (เป็นท้องร่วง) เหมือนทิพย์โอสถหายขาดเหมือนปลิดทิ้งเสีย เขาจึงนิมนต์ไปสวดมนต์ให้สามคืน 

 

     พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก 

 

  ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)

ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) 

 

• ท่านพี่มรณภาพ • 

เสร็จจากนั้นแล้ว ก็เดินทางออกจากดงมากราบนมัสการพระอาจารย์ใหญ่มั่น 

อยู่ต่อมาเกิดเป็นไข้ดงจับอย่างหนักรักษาอยู่ประมาณเดือนกว่าๆ จึงหายดีเป็นปกติ 

ต่อมาไม่นานท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นท่านออกธุดงค์เดินวิเวกไปในเขต อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ไปเรื่อย ไปทาง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม จัดเสนาสนะที่บ้านสามผง 

พระอาจารย์ใหญ่มั่นรับเอา พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก อาจารย์ฝ่ายมหานิกายอยู่บ้านสามผง ท่านยาครูสีลา อยู่บ้านวา ท่านยาครูดี อยู่บ้านม่วงไข่ อ.พรรณานิคม พร้อมด้วยหมู่ลูกศิษย์ ให้ญัตติเป็นพระธรรมยุติกับ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ 

พระอาจารย์สิงห์จัดเสนาสนะบ้านอากาศอำนวยอยู่จำพรรษา 

หลวงปู่อ่อนได้นำท่านพี่คำมี ที่เป็นไข้ดงจับอย่างแรง ไปรักษาอยู่จำพรรษากับพระอาจารย์สิงห์ วัดป่าบ้านอากาศ เดือน ๘ แรม ๘ ค่ำ แต่ท่านพี่ได้มรณภาพไป 

 

 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน ป.ธ. ๕)

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน ป.ธ. ๕)

 

• ตามไปกับพระอาจารย์ • 

ออกพรรษาแล้วหลวงปู่อ่อนได้เดินทางไปบ้านสามผง เพื่อกราบท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น แต่ไม่พบท่าน เพราะเมื่อออกพรรษาได้ ๑ วัน ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นท่านได้เดินทางไปพักสำนักวัดป่าบ้านโนนแดงและบ้านเสี้ยว อ.ท่าอุเทน โน้น หลวงปู่อ่อนพักเอาแรงอยู่สำนักวัดป่าบ้านสามผงนั้นได้ ๒ คืน จึงได้เดินทางไปสำนักบ้านโนนแดงทันท่านพระอาจารย์ใหญ่ 

ท่านเลยสั่งให้มีการประชุมหมู่ มีพระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่นเข้าในการประชุมด้วย 

ท่านพระอาจารย์ใหญ่ท่านปรารภว่า เรื่องจะนำแม่ออกท่านไปส่งมอบให้หมู่น้องสาวท่านเพราะท่านเห็นว่าแม่ออกท่านแก่มากอายุ ๗๘ ปีแล้ว เกินความสามารถท่านผู้เป็นพระปฏิบัติได้แล้ว 

พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น ก็ต่างรับรองเอาแม่ออกท่านไปส่งด้วย เพราะแม่ออกของพระอาจารย์แก่มาก หมดกำลังต้องไปด้วยเกวียนจึงจะไปถึงเมืองอุบลฯ ได้ 

ฉะนั้นหมู่พวกทั้งหลายและเณรรวมกันทั้งหมด ๖๐ รูป ก็ต่างพากันตกลงใจไปเมืองอุบลฯ กับพระอาจารย์ด้วย 

ไปถึงบ้านหัวตะพาน บ้านหนองขอนเป็นบ้านเดิมของท่านพระอาจารย์สิงห์ อาจารย์มหาปิ่นซึ่งอยู่ในเขต อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี ได้จัดตั้งสำนักป่าจำพรรษากันอยู่นั้นก่อน 

พระอาจารย์อุ่นไปจัดสำนักป่าบ้านโนนเมือง ได้มหาปิ่น มุทุกันต์ มาบวชเป็นศิษย์ปฏิบัติอยู่ด้วยท่าน ออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์ใหญ่ได้นำแม่ออกท่านไปมอบให้น้องสาวท่านในเมืองอุบลฯ หมู่พวกจึงค่อยทยอยกันอยู่วัดบูรพาตามพระอาจารย์ใหญ่มั่น เพราะ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน ป.ธ. ๕) ให้ท่านไปจำพรรษา 

พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น ได้จัดสำนักป่าจำพรรษาอยู่ท่าวังหินคุ้มบ้านสว่าง 

หลวงปู่อ่อนพร้อมด้วยหมู่จำพรรษาบ้านหัวงัว อ.ยโสธร ออกพรรษาแล้วถึงเดือน ๓ หรือเดือน ๔ ไม่แน่ใจ 

พระอาจารย์ใหญ่มั่นได้มอบหมู่พวกไว้กับพระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น ส่วนตัวท่านได้ไปกับเจ้าคณะ พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปัญโญ) จำพรรษาอยู่วัดสระประทุม 


• แสวงหาและเผยแพร่ • 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พระปฏิบัติผู้ยิ่งยงในสายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บิดาพระกรรมฐานแห่งยุค ภายหลังจากที่ท่านได้รับอุบายธรรมจากพระบุพพาจารย์ใหญ่มาแล้ว ในประวัติของท่านได้กล่าวไว้ว่า 

หลวงปู่มั่น ท่านมอบหมายภาระศิษย์ไว้แก่ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม แล้ว หลวงปู่มั่นได้เดินธุดงค์ไปยังภาคเหนือ ส่วนหลวงปู่อ่อนนั้น ท่านได้ออกติดตามท่านพระอาจารย์สิงห์ เดินธุดงค์ไปยังจังหวัดขอนแก่น เพื่อแสวงหาวิเวกในป่าดงอันสงบเงียบเร่งความเพียรอย่างยิ่งยวด 

ต่อจากนั้น ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้ให้หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ แยกทางไปหาวิเวกพร้อมกับปฏิบัติธรรมเผยแพร่ปฏิบัติธรรมต่อไปยังเขตบ้านกิ่งไผ่ หรืออำเภอบ้านไผ่ในปัจจุบัน 

เป็นครั้งแรกที่หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เดินธุดงค์มายังป่าช้าแห่งหนึ่ง แล้วท่านได้ปักกลดอยู่โดยมีพระภิกษุสงฆ์ติดตามไปอีก ๕-๖ องค์ ซึ่งท่านได้มาพำนักปฏิบัติธรรมด้วยกันในพรรษานั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๔๗๓ 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านได้ปฏิบัติและเปิดอบรมสั่งสอนประชาชนในเขตท้องที่ต่างๆ นั้นไปด้วย การมาของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นการมาอย่างมีผลในทางพระพุทธศาสนามากเพราะบรรดาชาวบ้านทุกครอบครัวที่เข้าใจหลักธรรมพากันเลื่อมใสศรัทธา หลวงปู่อ่อนและคณะเป็นอย่างมาก 


• เสนามาร • 

อีกส่วนหนึ่ง ผู้เป็นเสนามารส่งมาเกิด ทำให้ไม่ชอบพระไม่ชอบพระศาสนา พากันเกลียดอุบายธรรมเทศนาคำสั่งสอนของท่าน ก็ได้เริ่มก่อตัวเป็นปฏิปักษ์แก่หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และคณะเผยแพร่พระสัจธรรม 

ในทันที พอรุ่งเช้าก็ได้ผลเลยทีเดียว ! 

คณะผู้เผยแพร่ธรรมโดยมีหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นหัวหน้า ได้พาคณะพระภิกษุสงฆ์ออกบิณฑบาต ท่านได้โคจรไปยังหมู่บ้านด้วยอาการสงบ สำรวมยิ่ง 

แต่...ก็มีเสนามารกลุ่มหนึ่งเป็นบุคคลใจบาปหยาบช้า ที่ได้ออกมายืนใส่บาตรเช่นกัน คอยรอกลุ่มพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบด้วยความสงบ 

อาการสงบที่ชาวบ้านกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อพระพุทธศาสนาและคณะพระธุดงคกรรมฐาน โดยมีท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นหัวหน้านั้น มีเลศนัยความชั่วร้ายแรงอยู่อย่างมั่นคง 

 

 หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโคธาราม จ.อุดรธานี  กำลังทักทายหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่บริเวณวัดถ้ำกองเพล จ.หนองบัวลำภู

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโคธาราม จ.อุดรธานี 
กำลังทักทายหลวงปู่ขาว อนาลโย ที่บริเวณวัดถ้ำกองเพล จ.หนองบัวลำภู 

 

• จำได้บ่ • 

เมื่อคณะพระธุดงค์ผ่านมาถึง พวกเขาก็ได้นำเอาสิ่งที่ห่อใบตองอย่างประณีตบรรจงนั้นใส่ลงไปในบาตร จนครบทุกบาตรทุกองค์แล้วเขาก็หายหน้าไป คณะของหลวงปู่อ่อนกลับมายังป่าช้าที่พักปักกลดอยู่ ต่างองค์ก็ค่อยนำอาหารบิณฑบาตนั้นออกจัดเสียใหม่แล้วค่อยๆ แก้ห่ออาหาร 

แต่มีอยู่ห่อหนึ่ง ! พอแก้ออกมา อุจจาระของพวกมารก็ส่งกลิ่นอย่างรุนแรง 

ทุกองค์เจออุจจาระกันองค์ละห่อ หลวงปู่อ่อนเห็นอุจจาระแทนที่จะโกรธหรือว่าอย่างไร กลับมีสติอย่างมั่นคง วางเฉยกับสิ่งที่เห็น แล้วท่านกลับหัวเราะด้วยเสียงอันดังแล้วพูดว่า 

“เฮ้ย...! เจ้าจำได้บ่บ้านไหน ?” 

หลวงปู่อ่อน ท่านถามพระหมู่คณะขึ้นด้วยภาษาอีสาน ทุกองค์ไม่สามารถจะจำได้ เพราะต่างองค์ต่างก็สำรวมอยู่ในอาการเดินในอิริยาบถนั้น 

หลวงปู่อ่อน ท่านเป็นพระที่มีแต่ความเมตตา กระแสจิตของท่านเยือกเย็นยิ่งนัก 

ท่านได้ปลอบใจหมู่คณะให้รักษาสติให้มั่นคง ไม่หวั่นไหวกับอุปสรรค ไม่โกรธไม่เกลียดผู้ใด เพราะมันจะทำให้กำลังจิตกำลังใจแห่งการปฏิบัติท้อถอยไปได้ หรือย่อหย่อนลง 

จากนั้นท่านได้ทำจิตใจเป็นปกติ พาคณะออกปฏิบัติ เดินจงกรม กำหนดจิตสู่องค์สมาธิภาวนา ยกเอาคุณงามความดีถือเป็นข้อปฏิบัติดำเนินจิตใจสู่แดนบรมสุขต่อไป 

หลวงปู่อ่อน และหมู่คณะพำนักอยู่ในบริเวณป่าช้าแห่งนั้นได้ประมาณ ๗ วัน กรรมเก่าขอมนุษย์อุบาทว์ก็ปรากฏผลขึ้นผลของกรรมนั้น ทำให้เป็นโรคท้องร่วงกันทั้งบ้าน แม้จะรักษาอย่างไรๆ ไม่หาย จนมีชาวบ้านคนหนึ่ง รู้เรื่องราวของพวกเขาไปแนะนำให้ว่า 

พวกเจ้าทำบาปกรรมไว้กับพระผู้วิเศษ เจ้าจงไปขอขมาโทษท่านเสีย มิเช่นนั้นพวกเจ้าจะตายกันหมด เมื่อได้ฟังและเห็นภัยจวนตัวและชีวิตจะหาไม่นั้นแล้ว ก็จำใจต้องรับฟังในเหตุผลนั้น 

ทั้งกลัว ทั้งอาย แต่จะทำอย่างไรได้ ก็ตัวเองและครอบครัวจะตายเอาเสียให้ได้แล้ว 

ได้พากันไปหมดทั้งครอบครัว มุ่งไปยังป่าช้า มองดูแล้วน่าสมเพช บางคนโดนหนักพอประมาณ ก็เดินไปอย่างระโหยโรยแรง บางคนโดนหนักหน่อยก็ถึงกับใส่เปลหามกันไปก็มี 

ทั้งนี้ก็เพื่อไปขอขมากรรมที่ตนได้กระทำไว้กับพระคณะหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ 

เมื่อไปถึงต่างคนต่างก็ได้ก้มลงกราบ หลวงปู่อ่อนได้ถามเป็นภาษาอีสานขึ้นว่า 

“มาเฮ็ดหยังกันเหอ...?” 


• เพราะหลงผิด • 

คนที่พอมีกำลังพูดได้ กราบเรียนให้ท่านทราบว่า 

“โอ้ย ! พวกกระผมได้ทำผิดไปแล้ว พวกกระผมทำกรรมไว้กับพระอาจารย์ คือ เอาอุจจาระใส่บาตรให้ท่านอาจารย์ พวกกระผมก็ป่วยลงท้องจะตายกันหมดตั้งแต่วันนั้นมา 

พวกกระผมจึงต้องพากันมาขอขมาโทษกับท่านพระอาจารย์และพระสงฆ์ทุกๆ องค์” 

หลวงปู่อ่อนได้ฟังคำสารภาพแทนที่จะว่ากระไร ท่านกลับหัวเราะด้วยเสียงอันดัง พร้อมกับอุทานขึ้นมาว่า “โอย ! จับตัวได้แล้ว...ถามพระเทิ่นก็บ่ฮู้...แล้วเป็นอย่างได๋ล่ะ” 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านถามพวกนั้น...ชาวบ้านต่างก็บอกว่า 

“พวกกระผมกลัวแล้วจะไม่ทำอีกต่อไป ที่ทำไปในวันนั้นก็เพราะหลงผิด เนื่องจากพระบางองค์ท่านมายยุยงให้พวกกระผมทำ ก็เพื่อหาวิธีไล่ท่านพระอาจารย์หนีจากที่นี่ไป” 

หลวงปู่อ่อนท่านพูดด้วยอารมณ์ดีพร้อมกับหัวเราะ “ยังงั้นเร๊อะ สั้นบ่ !” 


• หายดังปลิดทิ้ง • 

ท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ก็หัวเราะอีกอย่างอารมณ์ดี แล้วท่านก็เมตตา อธิบายธรรมอบรมจิตใจจนพอสมควรว่า อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นบาป อะไรผิด อะไรถูก 

ฝ่ายพวกคนป่วยเหล่านั้นก็เข้าขอขมากรรมของตนที่ได้ล่วงละเมิดพระสุปฏิบัติ เป็นที่น่าอัศจรรย์ เมื่อทุกคนได้รับอโหสิกรรมจากท่าน อาการป่วยทั้งปวง โรคท้องร่วงก็หายกันอย่างปลิดทิ้ง โดยไม่ต้องกินยาแต่อย่างใดเลย ความอัศจรรย์นี้เอง พวกเขาเหล่านี้ต่างก็เกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างมากในตัวหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ 


• อภัยให้กันนั่นเกิดสุข • 

หลวงปู่อ่อน ท่านเคยแสดงพระธรรมเทศนาอบรมสั่งสอนอยูเสมอๆ แม้ผู้เขียนเองท่านก็ยังเคยเตือนจิตใจให้สังวรระวังว่า “เราได้ชื่อว่า ผู้นับถือพระพุทธศาสนาประจำใจ ต้องให้เข้าใจในหลักธรรมจริงๆ จึงจะถูกต้อง การเปิดจิตใจให้กว้างสว่างไสวนั้นเป็นนิสัยของชาวพุทธโดยตรง เราเชื่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทาน...ศีล...ภาวนา หรือการทำดีได้ดี การทำชั่วได้ชั่วจริง ก็ควรที่จะรีบขวนขวายหาทางสร้างความดีเสีย จะได้มีกำลังของจิตใจต่อไป คนเราในโลกนั้นเกิดมาแล้วย่อมมีความดีและความชั่วปะปนกันไป ไฉนเราจึงจะพบกับความดีเพียงอย่างเดียว อะไรๆ ก็ไม่สู้การสร้างความดีนะ ความดีนี้ผู้ใดสร้างขึ้นนั้นย่อมมีความสุขเห็นอกเย็นใจ การให้อภัยนี่ก็เป็นสิ่งสำคัญ 

ปัจจุบันนี้ โลกเราต้องการคนดี โลกต้องการให้อภัย เพราะนั่นเป็นทางแห่งความสันติสุขนะ ต้องให้อภัยทำใจให้กว้างขวาง จึงจะได้ชื่อว่า เธอฟังคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้จริง ก็เพราะเหตุนี้แหละ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของพวกเรา ท่านจึงวางใจของท่านเป็นปกติ ไม่เอนเอียง ไม่หวั่นไหวกับสิ่งที่มากระทบจิตท่าน ท่านปล่อยวางลงได้ ยิ่งเพิ่มความเคารพบูชาแก่ผู้ที่เป็นศัตรูในเบื้องต้น 

และในที่สุด ! พวกชาวบ้านที่นำอุจจาระมาใส่บาตร เขามีความคิดว่า “ทีแรกพวกเขาต่างก็นึกว่าพระอาจารย์ท่านจะโกรธ แต่ท่านกลับหัวเราะชอบใจ เป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง” 

ความดีในครั้งนั้นเป็นที่กล่าวขวัญถึง น้ำใจที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาปรานีดุจไฟลามทุ่ง ชาวบ้านในบริเวณใกล้-ไกลต่างได้หลั่งไหลกันเข้ามาฟังธรรมจากท่านทุกวันๆ 

เยี่ยงอย่างนี้ ชาวบ้านทุกคนได้นำไปปฏิบัติจนบังเกิดความผาสุกโดยทั่วหน้า พวกชาวบ้านต่างก็ได้พร้อมใจกัน โดยมาสร้างเสนาสนะหลวงปู่อ่อนและหมู่คณะ ทีละหลังสองหลังจนเป็นวัดใหญ่โต มีพระภิกษุสงฆ์องค์สามเณรจากแหล่งต่างๆ พากันมาปฏิบัติธรรมกับท่านมากขึ้น จนเกิดเป็นวัดป่าที่ถาวรสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

 

   รูปหล่อและรูปภาพของหลวงปู่มหาปราโมทย์ ปราโมชฺโช  ภายในวิหารปาโมชโชอนุสรณ์ วัดป่านิโครธาราม  บ้านหนองบัวบาน ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

รูปหล่อและรูปภาพของหลวงปู่มหาปราโมทย์ ปราโมชฺโช 
ภายในวิหารปาโมชโชอนุสรณ์ วัดป่านิโครธาราม 
บ้านหนองบัวบาน ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี 

 

  หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ 

 

• เป็นแบบอย่าง • 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านได้อยู่จำพรรษาที่ป่าช้า อ.บ้านไผ่ ได้หนึ่งพรรษา พอออกพรรษาแล้ว ก็พอดีท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ท่านได้บอกสั่งพระมาว่า 

“ให้ท่านอ่อนไปช่วยเผยแผ่ธรรมกับท่านมหาปิ่น ปัญญาพโล ที่ อ.พลับ จ.ขอนแก่น” 

เมื่อหลวงปู่อ่อนได้รับทราบแล้ว ท่านได้ออกเดินธุดงค์ โดยให้พระสงฆ์ที่เป็นหมู่คณะอยู่สอนธรรมแก่ชาวบ้านไปก่อน ส่วนตัวท่านต้องออกธุดงค์ไปช่วยท่านพระอาจารย์มหาปิ่นตามคำสั่งของท่านพระอาจารย์สิงห์ทันที 

พ.ศ. ๒๔๗๑ ไปจำพรรษาที่วัดป่าตำบลสาวัตถี อ.พลับ จ.ขอนแก่น 

พ.ศ. ๒๔๗๒ ไปจำพรรษาที่วัดป่าตำบลสาวัตถี เช่นเดียวกัน 

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้เดินธุดงค์มาพบกับท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ที่ อ.พลับ จ.ขอนแก่น โดยท่านได้มาพำนักอยู่ที่วัดป่าบ้านพระ 

ณ แห่งนี้ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้ทำการอบรมสั่งสอนชาวบ้านให้เข้าถึงพระรัตนตรัย ท่านได้แสดงธรรมปฏิบัติ ตลอดจนการชี้เหตุผลสิ่งที่ควรและไม่ควรแก่ชาวบ้าน ประกอบกับปฏิปทาอันงดงาม เป็นแบบอย่างให้แก่ชาวบ้าน จนมีชาวบ้านมีความศรัทธาเลื่อมไสเป็นอันมาก 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเป็นศิษย์สายพระกรรมฐาน หรือที่เราเรียกว่า “พระป่า” ก็จริงอยู่ จะมีใครเถียงก็หาไม่ แต่บรรดาพระป่าทั้งหลาย ท่านมีปฏิปทาที่เปรียบเหมือนประดับยศ หรือเหรียญเชิดชูเกียรติของนักปฏิบัติและผู้สนใจหันมาประพฤติปฏิบัติกรรมฐาน 

ปฏิปทาแสดงถึงความงดงามสง่าสมกับจิตใจของนักไขว่คว้าธรรม เพราะปฏิปทาเป็นผลมาจากจริตนิสัยของผู้หนักแน่นในทางปฏิบัติธรรม 

ดังนั้น หลวงปู่อ่อนจึงเป็นแบบอย่างให้กับชาวบ้าน อ.พลับ แห่งนี้เป็นอย่างดี ชาวบ้านโดยทั่วไปในละแวกใกล้เคียง ต่างได้พากันหลั่งไหลมาฟังธรรมกันมากตลอดทุกวัน 


• โจรไพรใจโหด • 

เมื่อนิมิตหมายอันดีงามสว่างไสวขึ้น ประชาชนต่างก็มากันมากหน้าหลายตาด้วยกัน คนดีมีมากคนชั่วก็ย่อมปะปนอยู่ด้วยเช่นกัน ณ บริเวณป่าบ้านพระแห่งนี้มีโจรไพรใจโหดอยู่คนหนึ่ง โจรคนนี้ได้หลบหนีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาอาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ เขาคอยสังเกตดูคนมากหน้าหลายตาที่หลั่งไหลเข้านมัสการหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และเป็นพระที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาก เมื่อมีผู้คนมากันมากๆ เช่นนี้จอมโจรใจเหี้ยมก็คิดว่า อย่างไรเสียหลวงปู่อ่อนคงจะมีเงินทองมาก เพราะพวกชาวบ้านต้องมาทำบุญกับท่าน 

จอมโจรใจโหดคิดได้ดังนี้ ก็ได้เตรียมอาวุธคิดจะทำร้ายท่าน จอมโจรไปดักซุ่มคอยจะทำร้ายหลวงปู่อ่อนที่กุฏิ ในคืนหนึ่ง จอมโจรคอยสังเกตเห็นว่าท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ จะต้องลงมาจากกุฏิ แล้วท่านก็มานั่งหลับตาอยู่เพียงลำพัง หรือมิเช่นนั้น หลวงปู่อ่อนจะต้องลงมาเดินไปมา ก้มหน้าลงดินเหมือนกับว่า กำลังมองหาสิ่งของตกหายอย่างนั้นแหละ 

โจรใจโหดคนนี้หารู้ไม่ว่า นั่นพระธุดงคกรรมฐาน กำลังเร่งความเพียรภาวนา และเดินจงกรมเพื่อกำหนดสติสู่ทางบรรลุธรรม มันไม่ได้สนใจอะไรทั้งสิ้น มันรู้เพียงอย่างเดียวว่า “ต้องการสมบัติจากพระ ต้องการเงินทองจากพระ” 

มันจึงย่องขึ้นไปบนกุฏิเพราะความอดรนทนไม่ไหว เมื่อย่องขึ้นไปสายตาก็พบกับห้องว่างเปล่า มีเพียงกลดกางอยู่อย่างเดียว โจรก็เข้าใจว่า หลวงปู่อ่อนคงจะซ่อนทรัพย์สมบัติไว้ในกลด จึงค่อยๆ ย่องเข้าไปใกล้กลด 


• หัวกะโหลกผี • 

จอมโจรกระหยิ่มใจมาก คิดในใจว่า คราวนี้คงจะต้องรวยแน่ๆ สมบัติคงจะมากมาย 

พระสงฆ์องค์เจ้าจะไปใช้อะไรมาก เงินทอง อาหารเหลือเฟือ ชาวบ้านนำมาถวายทุกวัน เงินทองไม่จำเป็นต้องใช้อะไร เราจะเอาไปให้หมด คิดได้ดังนั้นแล้ว จอมโจรก็จับชายมุ้งกลดค่อยๆ เลิกกลดขึ้น 

ทันใดนั้น ความตระหนกตกใจเข้ามาแทนที่ ส่วนความกระหยิ่มย่ามใจพลันหายไปสิ้น จอมโจรตกใจสุดขีด ตัวชาไปหมด เพราะสิ่งที่กลิ้งออกมาจากกลดนั้น เป็นหัวกะโหลกผี ! จอมโจรเห็นอย่างชัดเจนว่า...กะโหลกผีแน่นอน อย่างอื่นไม่เห็นมีอะไรอีกเลย ทำไมจึงต้องเป็นเช่นนั้น 

จอมโจรใจชั่ว...ถอยออกมาทั้งโกรธ ทั้งตกใจ ระคนกัน ตกใจก็เพราะหัวกะโหลกที่กลิ้งออกมา ที่โกรธนั้นก็เพราะผิดหวังอย่างแรง เมื่อสมบัติที่คิดว่ามีมากมาย กลับว่างเปล่าเสียได้ 


• เอ๊ะ...อะไรกันนี่ • 

จอมโจรจึงลงมาดักรออยู่หน้ากุฏิของท่านอีกครั้ง ในใจของมันก็ยังเข้าใจว่าหลวงปู่อ่อนไม่อยู่ในกลด ไม่อยู่บนกุฏิ ก็ต้องเข้าหมู่บ้านไปแสดงธรรมแน่ๆ 

ความมานะพยายามที่จะทำร้ายพระสงฆ์องค์เจ้าของคนจิตใจบอดมิดเช่นมันยังดำเนินไปเรื่อยๆ แทนที่จะเกรงกลัว เพราะกะโหลกมาเตือนในการกระทำของมัน ก็หาได้สำนึกไม่ 

มันนั่งรอตั้งแต่หัวค่ำ จนดึกดื่นใกล้จะสว่างเสียให้ได้ 

ทันทีนั้น...มันก็เห็นหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ห่มผ้าเป็นปริมณฑลกำลังเดินลงมาจากกุฏิ 

“เอ๊ะ...อะไรกันนี่...ก็เรานั่งเฝ้าท่านอยู่ตั้งแต่หัวค่ำจนใกล้รุ่งแล้วและที่บนกุฏิท่านก็ไม่อยู่ จู่ๆ ท่านกลับเดินลงมายังลานข้างล่าง น่าแปลกใจเหลือเกิน แต่ความอยากได้ความโลภยังมีอยู่” 


• ยกอาวุธทีไร ร่างหายทุกที • 

ฝ่ายทางหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านก็รู้การมาของโจรใจชั่วคนนี้ เพราะท่านมิได้ไปไหน ก็ท่านนั่งภาวนาอยู่ในกลดนั่นเอง ก็เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ เดินจงกรมไปตามปกติของท่าน ท่านมิได้สนใจกับโจรเลยแม้แต่น้อย ท่านเดินจงกรมไปจนสุดทาง แล้วก็เดินกลับมาอยู่อย่างนั้น 

จอมโจรไม่เข้าใจการกระทำของหลวงปู่ท่าน เพราะเห็นท่านเดินไปเดินมาอยู่เช่นนั้น มันจึงค่อยๆ ย่องเข้าไปใกล้ๆ ท่าน พอท่านหันหลังเดินกลับไปทางเก่า มันก็ยกอาวุธขึ้นที่จะทำร้าย เป็นที่น่าอัศจรรย์ แสดงปาฏิหาริย์ ร่างของหลวงปู่อ่อนค่อยเลือนลางหายไป 

จอมโจรก็พยายามที่จะทำร้ายท่านหลายครั้งหลายหน ครั้นพอเห็นร่างของท่าน จอมโจรชั่วก็เงื้ออาวุธจะทำร้าย ร่างก็เลือนหายไปๆ เป็นอยู่อย่างนี้ 

จนที่สุดจอมโจรร้ายเหน็ดเหนื่อย เพราะเวียนตามที่จะฆ่าท่านหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลายเที่ยว จึงทรุดกายลงนั่งอย่างอ่อนกำลังเต็มทน 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้ใช้อำนาจอภิญญาอันเร้นลับภายในของท่านเพื่อทรมานโจรร้ายคนนี้ 


• อาตมารวยธรรมะ • 

ท่านบังคับจิตใจของจอมโจรร้ายให้อ่อนลงจนพอควรแล้ว หลวงปู่อ่อนจึงได้เรียกชื่อยู่องโจรร้ายอย่างถูกต้องและให้เข้าไปหาท่าน 

ประโยคแรกที่ท่านเรียก จอมโจรต้องตกใจตัวสั่นหันไปทางเสียงบนกุฏิ มันค่อยๆ คลานไปหาอย่างคนที่จิตใจเลื่อนลอย พอไปถึงหลวงปู่อ่อนท่านพูดขึ้นว่า “อาตมานั้น เป็นคนรวยจริง แต่รวยธรรมะ ส่วนทรัพย์สมบัตินั้น อาตมาไม่มีหรอก สมบัติของอาตมาก็มีผ้าที่ครองอยู่ คือ ผ้า ๓ ผืน กับนี่ บาตรลูกเดียวเท่านั้น” 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พูดจบก็หยิบบาตรส่งให้จอมโจรดู 

จอมโจรใจหายวาบ เพราะครั้งแรกตนเองเห็นอย่างชัดแจ้งว่าเป็นกะโหลกผี 


• ดีกว่าสมบัติอื่นใด • 



จอมโจรผู้มีชนักติดตัวคนนั้น มองดูบาตรที่อยู่ในมือ ของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ด้วยหัวใจเลื่อนลอย พยายามทบทวนการกระทำของตนอยู่พักหนึ่ง ก็บังเกิดความละอายใจที่ตนคิดร้ายก่อกรรมทำชั่วไว้ในครั้งนี้ 

จอมโจรสำนึกผิดกลับจิตใจด้วยการ ก้มลงกราบแทบเท้าสารภาพความผิดแก่หลวงปู่อ่อน และได้ให้สัจจะกับหลวงปู่อ่อนว่า “ท่านพระอาจารย์ครับ กระผมเป็นคนบาปที่คิดไม่ดีกับพระอาจารย์ บัดนี้ตาสว่าง ใจสว่างได้แล้ว กระผมจะขอให้สัจจะ ณ บัดนี้ว่า กระผมจะขอเลิกจากการเป็นโจรคนพาล จะขอกลับตนเป็นคนดีหากินอย่างสุจริต ไม่ขอก่อกรรมอีกต่อไปและขอท่านพระอาจารย์โปรดอโหสิกรรม ยกโทษให้แก่กระผมด้วยเถิด” 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ยิ้มรับด้วยความเมตตายิ่ง ท่านได้พูดกับโจรกลับใจพร้อมกับกล่าวตักเตือนดุจบิดาตักเตือนบุตร ด้วยความอ่อนโยนว่า “เธอได้สำนึกผิด เพราะความหลงผิดของเธอได้แล้วนั้น นับได้ว่า เธอยังเป็นบุคคลที่มีบุญมีวาสนาอยู่บ้าง เราจะขออวยพรให้เธอจงสำเร็จผลดังตั้งใจไว้นะเธอจงจำไว้นะ ผู้มีธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่กับจิตใจ อยู่กับตัว ดีกว่ามีทรัพย์สมบัติอื่นๆ ในโลก...” 

 

  กองทัพธรรมคณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต  จากภาพ..แถวหลังสุดองค์ที่ ๒ จากขวามือ คือ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

กองทัพธรรมคณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต 
จากภาพ..แถวหลังสุดองค์ที่ ๒ จากขวามือ คือ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ 

 

• ศูนย์พระป่า • 

พ.ศ. ๒๔๗๔ ไปจำพรรษาที่วัดป่าเหล่างา คือวัดป่าวิเวกธรรม อยู่ติดกับโรงพยาบาลโรคปอด อ.เมือง จ.ขอนแก่น ถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน ป.ธ. ๕) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็น พระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา มีบัญชาเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๗๕ ให้พระกรรมฐานที่มีอยู่ใน จ.ขอนแก่น ไปที่ จ.นครราชสีมา เพื่ออบรมเทศนาสั่งสอนประชาชนร่วมกับข้าราชการ 

ดังนั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ พระคณะกรรมการ มีพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล (เปรียญ ๕ ประโยค) เป็นต้น พร้อมทั้งพระสหจรไปร่วมหลายรูป มีพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เดินทางไปร่วมด้วย 

ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ นี้เอง นายพันตำรวจตรีหลวงชาญนิยมเขต กองเมือง ๒ ได้ถวายที่ดินกรรมสิทธิ์ให้พระคณะกรรมฐานสร้างวัด มีเนื้อที่ ๘๐ ไร่ จึงได้ลงมือสร้างวัดขึ้นในที่ดินแปลงนี้ ทั้งได้จำพรรษาอยู่วัดนี้ด้วย ตั้งชื่อวัดว่า“วัดป่าสาลวัน” จนถึงทุกวันนี้ 

ได้อบรมศีลธรรมให้แก่ประชุมชนเกิดความเลื่อมใสและตั้งตนอยู่ในพระไตรสรณคมน์ จึงได้เอาวัดป่าสาลวันเป็นจุดศูนย์กลางเป็นที่อบรมกรรมฐานและเป็นสถานที่ประชุมประจำ เช่นเมื่อจะเข้าพรรษา ได้แยกย้ายพระไปวิเวกจำพรรษาในวัดต่างๆ ที่ได้ตั้งขึ้น ส่วนพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ประจำอยู่ศูนย์กลางคือ วัดป่าสาลวัน 

ให้พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ไปสร้างวัดป่าศรัทธาราม ข้างกรมทหาร ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา 

ให้พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธัมโม ไปสร้างวัดป่าคีรีวัลย์ อ.ท่าช้าง (สมัยนั้นยังเป็นกิ่งอำเภออยู่) และให้ไปสร้างวัดป่า อ.จักราช 

ให้ พระอาจารย์ลี ธัมมธโร ไปสร้างวัดป่า อ.กระโทก 

ต่อมาพระอาจารย์ลี ธัมมธโร ไปจำพรรษาที่ป่าอิสิปปัตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ซึ่งเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมจักรโปรดพระปัญจวัคคีย์ ประเทศอินเดีย ๑ พรรษา 

ต่อมาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน ป.ธ. ๕) จึงมีบัญชาให้พระอาจารย์ลี ธัมมธโร กลับมาประเทศไทย เพื่อให้ท่านฝึกหัดภาวนาในบั้นปลายชีวิตท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ 

ต่อมาอีกพระอาจารย์ลี ธัมมธโร ไปสร้างวัดขึ้นที่วัดบางปิ้ง ต.ท้ายบ้าน จ.สมุทรปราการ และได้เป็นพระราชาคณะที่พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ และได้มรณภาพที่วัดนี้ 

ให้พระอาจารย์ตา ไปสร้างวัดป่าบ้านดอนคู่ อ.ปักธงชัย 

ให้ พระอาจารย์คำดี ปภาโส คือ พระครูญาณทัสสีฯ วัดถ้ำผาปู่ จ.เลย ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของ พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. ๓, นธ. เอก) วัดศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น ไปสร้างวัดป่าสะแกราช อ.ปักธงชัย 

ให้พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ไปสร้างวัดป่าบ้านใหม่สำโรง อ.สีคิ้ว ตั้งชื่อ วัดป่าสว่างอารมณ์ 

และให้พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ไปสร้างวัดป่าบ้านมะรุม อ.โนนสูง 

เมื่อพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้ทำกิจพระพุทธศาสนาช่วยครูบาอาจารย์ได้ผลเป็นที่พอใจของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน ป.ธ. ๕) สมัยเมื่อดำรงตำแหน่งเป็น พระธรรมปาโมกข์ และ พระโพธิวงศาจารย์ (สังข์ทอง พันธุ์เพ็ง) เจ้าคณะภาค ๔ สมัยนั้น 

ในระยะนี้บางปี พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ไปจำพรรษาที่วัดบรมนิวาส ช่วยอบรมภาวนาให้แก่คณะสัปบุรุษแทนเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ท่าน และได้สร้างกุฏิไม้แบบถาวร ๒ ชั้น ๑ หลัง 

สำหรับพระอาจารย์อ่อนได้ทำกิจพระศาสนาอยู่ที่วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา เป็นเวลา ๑๒ ปี เท่ากันกับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าสาลวัน แห่งนี้ หลวงปู่อ่อนได้ปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมแก่กล้ายิ่งขึ้น จนเป็นกำลังอย่างดียิ่งแก่คณะกองทัพธรรมเป็นอันมาก 

 

  พระอาจารย์ลี ธัมมธโร

พระอาจารย์ลี ธัมมธโร 

 

  พระอาจารย์คำดี ปภาโส

พระอาจารย์คำดี ปภาโส 

 

 พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ 

พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ 

 

  พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี

พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี

 

• ช่วยกันเผยแผ่ธรรม • 

สมัยนั้นพระเถรานุเถระฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานมีหลายรูปที่ไปทำประโยชน์เผยแผ่พระพุทธศาสนา จ.นครราชสีมา นอกจากที่ระบุชื่อมาแล้วก็มี เช่น พระอาจารย์อุ่น อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์กว่า พระอาจารย์ดี อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร พระอาจารย์ดี จ.อุบลราชธานี พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี อ.ผือ จ.อุดรธานี แต่ต่อมาพระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ไปวิเวกทางภาคใต้ และได้ไปจำพรรษาจังหวัดภูเก็ต จนได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต (ธ) มาหลายปี และได้เป็นพระราชาคณะที่ พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ ต่อมาอีกท่านมาภาคอีสานถิ่นเดิมของท่าน จำพรรษาอยู่หลายแห่ง ปัจจุบันนี้เห็นว่าท่านมีอายุมากแล้ว จึงอยู่จำพรรษาประจำที่วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย จนกระทั่งมรณภาพ 

ส่วนพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้ทราบกิตติศัพท์ว่า พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปจำพรรษาที่ จ.เชียงใหม่ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เดินทางไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ถึงหมู่บ้านแม้วและมูเซอแล้วกลับมาวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา 

พ.ศ. ๒๔๙๖ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้ขอลาพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม มาจำพรรษาที่วัดป่าไผ่ บ้านดอนเงิน (ได้สร้างขึ้นชั่วคราว) เพื่อโปรดญาติโยมของท่านซึ่งเป็นปีที่สุดท้ายแห่งการไปจำพรรษาในหมู่บ้านดอนเงิน ครั้นออกพรรษาแล้วท่านเดินทางกลับไปวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา 

พ.ศ. ๒๔๘๓ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี เดินทางไปเองกับคุณนายทิพย์ กฤษณะกลัศ ภรรยาของ พ.ต.ท.พระยงพลพ่าย ได้ขออาราธนาพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มาจาก จ.เชียงใหม่ ให้จำพรรษาที่วัดโนนนิเวศน์ วัดป่าบ้านหนองน้ำเค็ม จ.อุดรธานี รวมเป็นเวลา ๓ ปี 

พ.ศ. ๒๔๘๕ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ออกจาก จ.อุดรธานี ไปจำพรรษาอยู่บ้านโคกและบ้านนามน ต.ตองโขบ อ.เมือง จ.สกลนคร รวมเป็น ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปจำพรรษาวัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร 

พ.ศ. ๒๔๘๘ นั้นเอง พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ออกจากวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา ไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ แล้วได้สร้างวัดขึ้นที่บ้านหนองโคก อ.พรรณานิคม ให้เป็นคู่กับวัดป่าบ้านหนองผือ ทางที่จะไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ทั้งให้ถูกตามอัธยาศัยของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ด้วยว่าให้พระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระสร้างวัดขึ้นในรัศมีของวัดป่าบ้านหนองผือ เพื่อจะได้ฝึกหัดพระที่มาศึกษาภาวนาเป็นการแบ่งเบาภาระของท่าน และได้ไปนมัสการพระอาจารย์มั่นเป็นประจำ เพราะเป็นห่วงท่านพระอาจารย์ เพราะท่านมีอายุมากแล้ว 

พ.ศ. ๒๔๙๒ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อาพาธหนัก จึงได้นำท่านไปที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร และได้มรณภาพที่วัดนี้ด้วย 

พ.ศ. ๒๔๙๓ เมื่อจัดการถวายเพลิงศพพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แล้ว พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้เที่ยววิเวกไปถึงเขาย้อย จ.เพชรบุรี และได้จำพรรษาอยู่วัดนี้ด้วย ๑ ปี 

จากนั้นก็ได้กลับคืนมาที่วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา ได้สร้างกุฏิขึ้นช่วยพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ทั้งได้หล่อพระประธานขึ้นอีก ๒ องค์ 

ต่อมาพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์” ต่อมาหลายปีท่านกลับจาก จ.ปราจีนบุรี จึงได้มรณภาพที่วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา นี้เอง เมื่อพระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม) ได้มรณภาพแล้ว ทางการคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นเจ้าอาวาสแทน อยู่ประมาณ ๑ ปี แต่ท่านไม่ชอบ จึงได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาส ท่านเห็นว่าขัดข้องต่อการออกรุกขมูลวิเวกไปตามสถานที่ต่างๆ 


• สายเสียการเน้อ • 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเคยเล่าถึงการปฏิบัติทางจิตแก่ผู้เขียน เมื่อสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่พอเป็นกำลังใจได้ดังนี้ “พระอาจารย์มั่น และพระอาจารย์สิงห์ ท่านเป็นครูอาจารย์ที่สำคัญยิ่งสำหรับพวกเรา ท่านเป็นครูเป็นแบบอย่าง ชนิดหาที่ติมิได้เลย สมัยนั้น พวกเราก็ปฏิบัติกันอย่างเอาเป็นเอาตายเลยทีเดียว เรียกว่ามอบกายถวายชีวิตพวกเราจะเป็นจะตายนี่ ไม่เคยมีใครพูดถึงมัน ตายก็ดี อยู่ก็ดีขอให้มีธรรมเกิดขึ้นกับการภาวนาก็ใช้ได้สมัยนั้นพวกเราไม่เคยทำอะไรให้ครูบาอาจารย์หนักใจเพราะทุกคนก็เข้าใจจิตใจของตนดีกันหมด 

พวกเราก็เช่นกันนะ เอาจิตใจเราไว้ ทำให้ดีขณะครูบาอาจารย์ท่านยังมีชีวิตอยู่ ถ้าเผลอไปก็จะสายเสียการเน้อ...” 


• เผยแผ่ธรรม • 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านได้สนองคุณของครูบาอาจารย์ที่ท่านได้ทอดธุรกิจให้อย่างเข้มแข็ง 

ท่านไม่เคยเบื่อหน่ายต่อการอบรมสั่งสอนคณะญาติโยม ท่านมีเมตตาให้แก่ทุกคนที่ได้มาแอบอิงไอเย็นในทางพระพุทธศาสนา ท่านเคยกล่าวอยู่เสมอๆ ว่า “ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เป็นของเย็นเป็นของบริสุทธิ์ บุคคลผู้มีปัญญาจะไม่ปฏิเสธธรรมะของพระพุทธเจ้า เพราะธรรมะถ้าอยู่ในจิตใจของของใด ผู้นั้นย่อมมีความสุขความเจริญ” 

ดังนั้น หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านจะเดินธุดงค์ไปในท้องที่ต่างๆ หลายแห่งจนเป็นที่รู้จักกิตติศัพท์ของท่านมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่ อ.สีคิ้ว นั้น ท่านได้รับอาราธนาจากนายอำเภอสีคิ้วโดยเฉพาะก็เพื่อเผยแผ่ธรรมะที่นั้นบ้าง ดังนั้นคณะของท่านโดยมี 

๑. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ 
๒. หลวงปู่ฝั้น อาจาโร 
๓. หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ 

จึงได้ออกเดินธุดงค์ไปพำนักอยู่ที่ วัดสว่างอารมณ์ บ้านใหม่สำโรง 

เมื่อพระอาจารย์ฝ่ายธุดงคกรรมฐานเดินทางไปถึง ท่านก็ได้ช่วยกันเผยแผ่อบรมบรรดาชาวบ้านทุกตำบล โดยท่านแยกย้ายกันไปสั่งสอนประชาชนในท้องที่ต่างๆ จนปรากฏว่าประชาชนต่างก็มีความเลื่อมใสศรัทธาพระธุดงคกรรมฐานชุดดังกล่าวเป็นอย่างมาก ต่างก็มารับการฝึกอบรมจากครูบาอาจารย์อยู่เสมอๆ ทุกวัน

 

  พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธัมโม

พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธัมโม 

 

• ความดีนั้นมีมาก • 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ดำเนินรอยตามเยี่ยงพระอริยเจ้าทั้งหลายมาเป็นแบบอย่างดีเยี่ยม ผู้เขียนเคยได้ยินคำสรรเสริญจากครูบาอาจารย์หลายๆ องค์ท่านมักกล่าวเสมอว่า 

“หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ นี่ท่านเป็นพระชั้นเยี่ยมองค์หนึ่งท่านเป็นพระนักต่อสู้จริงๆ การปฏิบัติของท่านเด็ดขาด ตายก็ยอมตายกันเลยทีเดียว จิตใจของท่านเข้มแข็งมาก ยิ่งกระแสจิตด้วยแล้วเข้มข้นเหลือเกิน ศิษย์ของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต จะมีกำลังจิตที่ไม่ค่อยจะซ้ำแบบกัน เพราะบางองค์ท่านมีจิตโลดโผน บางองค์ท่านมีจิตแบบเรียบๆ แต่ละแบบก็แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งนี้ท่านเป็นเลือดอาชาไนยทั้งนั้น หาไม่ได้แล้วในยุคนี้” 

ผู้เขียนได้สอบถามท่านผู้รู้บางท่าน ก็มีคำตอบอย่างเดียวกัน 

“หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ นี้ ท่านไม่ค่อยสนใจกับประวัติ เมื่อพบกันก็คุยกันในเรื่องสมาธิภาวนาเพียงอย่างเดียว การเดินธุดงค์นี้ ท่านก็ได้ออกเที่ยวมาหลายแห่ง เมื่อมารวมกันแล้ว ก็นับได้ว่าเป็นเวลาหลายสิบปีเหมือนกัน 

แต่ท่านได้ผ่านประสบการณ์อย่างไรบ้างนั้น ไม่มีคนกล้าถามท่าน เพราะถ้าถามดีก็ดีไป ถ้าถามไม่ดีหรือท่านเห็นว่าไร้ประโยชน์ท่านก็จะดุเอาด้วย 

ความดีของท่านนั้นมีมาก การภาวนาก็เป็นเยี่ยมเลยทีเดียว” 


• นึกว่าสว่างอันหยัง • 

สมัยก่อนเมืองไทยเรานี้ไปด้วยไม้นานาชนิดอีกทั้งยังเกลื่อนกลาดไปด้วยฝูงสัตว์ป่าหลายๆ จำพวกแต่หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ สมัยเป็นสามเณรอ่อน ท่านก็มีความกล้าหาญเกินเด็ก 

ท่านได้ยินข่าวบอกว่า “โน้น...เมืองลาว สว่างไสวเจริญรุ่งเรืองมาก น่าไปเที่ยว” 

หลวงปู่อ่อนสมัยเป็นเณรก็คิดไปตามประสาว่า “เออ...เขาว่าฝั่งลาวสว่างไสวงดงามเหลือกำลัง เราน่าจะไปดูให้เป็นบุญตาสักครั้ง ว่ามันสว่างไสวอย่างไร ?” 

เมื่อท่านคิดได้ดังนั้น ท่านสามเณรอ่อน ได้แบกกลดบาตรออกธุดงค์ไป บุกป่าฝ่าดง ข้ามน้ำข้ามท่าไป ดั้นด้นไปจนถึงเวียงจันทร์เลยทีเดียว 

เพราะเขาพูดกันหนาหูว่า “มันสว่างไสวน่าดู” 

ครั้นเมื่อไปถึงก็หายสงสัย ถึงกับอุทานว่า “ฮ่วย...โอยก็มันมีไฟฟ้าซิเล่า มันก็สว่างล่ะน้อ เปิดไฟฟ้าก็สว่างละซิ นึกว่ามันสว่างอันหยัง !” 

เป็นอันว่า สามเณรอ่อนรู้ชัดแล้วว่า ที่มันสว่างๆ นั่น ก็เพราะแสงไฟฟ้านั้นหรอก มิใช่สว่างอะไรเลย เพราะคนโบราณสมัยก่อนเขาอยู่กลางป่ากลางดง ห่างความเจริญ ไม่มีไฟฟ้าจะใช้ มีแต่ตะเกียงและได้เท่านั้น ครั้นไปเห็นของใหม่ของแปลกก็เล่าลือกันไป 

แต่การเดินธุดงค์ไปยังประเทศลาวของท่านนั้น มิใช่ไร้ผลแม้แต่น้อย 

สามเณรอ่อน ยังได้ประสบการณ์ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร อีกทั้งการปฏิบัติธรรม ท่านก็มีความชำนาญมากยิ่งขึ้น จิตใจก็แก่กล้าขึ้นโดยลำดับ 

อย่างไรก็ตาม ในกาลต่อมาสามเณรอ่อนตัวน้อยๆ ได้มากลับกลายเป็นหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่พวกเราทุกคนต่างก็ได้ยึดถือแนวทางปฏิบัติภาวนาของท่านมาสู่จิตใจของเราทุกคน ซึ่งยากที่จะถ่ายถอนออกไปได้ เพราะแนวทางธรรมของท่านที่ได้สอนนั้น เป็นแนวทางให้เราพ้นทุกข์ พ้นโศก พ้นภัยได้จริงๆ 


• เป็นต้นโพธิ์ต้นไทร • 

เป็นความจริงที่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านได้สร้างบรรดาลูกศิษย์จนได้ดี มีดวงตาเห็นธรรมอย่างมากมาย สิ่งเหล่านี้ก็เพราะว่า หลวงปู่มั่นท่านมีความรู้ความสามารถประสาทธรรมะให้แก่บรรดาลูกศิษย์ท่านอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนนั่นเอง ครั้นเมื่อหลวงปู่มั่นท่านได้ล่วงลับดับธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไปแล้ว บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายของท่านได้ดำเนินรอยตามในปฏิปทาข้อวัตรต่างๆ ที่ท่านสอนไว้นั้น จนมาเป็นต้นโพธิ์ต้นไทร พอให้พวกเราได้แนบแอบอิงเป็นจำนวนมากมายหลายร้อยองค์ 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นลูกศิษย์ที่มีอันดับดังกล่าวมาแล้วองค์หนึ่งเช่นกัน ท่านมีความรู้ความฉลาดที่จะอบรมสั่งสอนบรรดาลูกศิษย์ที่เป็นพระภิกษุและฆราวาสให้ได้เข้าถึงคุณธรรม 

หลวงปู่อ่อน ท่านได้ออกไปเผยแผ่ธรรมะในครั้งโน้นก็นับว่าเป็นความสามารถพิเศษในองค์ท่าน ด้วยที่ผู้เขียนกล่าวเช่นนี้ ก็เพราะว่า “การที่จะปลูกฝังคุณธรรมให้ฝังลึกลงสูจิตใจของมนุษย์ ที่มากหน้าไปด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทานนั้น เป็นงานที่มีภาระมากที่สุด และยากที่สุด ! 

แต่ครูบาอาจารย์สมัยนั้นก็ดี หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ สั่งสอนบุคคลในปัจจุบันนี้ก็ดี ท่านสามารถกระทำได้อย่างมีเหตุมีผล นั่นย่อมแสดงว่า 

หลวงปู่อ่อนท่านต้องมีอำนาจจิต ที่เหนือกิเลสได้แล้วด้วยประการทั้งปวง 

ท่านจึงพอที่จะเป็นทางนำให้พวกเราทั้งหลาย ได้รับความซาบซึ้งตรึงใจเชื่ออย่างสิ้นเชิงได้ และเต็มใจที่จะปฏิบัติตามท่านได้สั่งสอนไว้ 

เมื่อได้พิจารณาหาเหตุผลนี้แล้ว เชื่อว่าหลักฐาน มารยาท ความรู้ ตลอดจนถึงข้อวัตรปฏิบัติธรรมในองค์ของหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นคุณธรรมของพระสุปฏิบัติโดยแท้แน่นอน-ผู้เขียน” 

ธรรมะจงตั้งใจปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ โดยสมบูรณ์แล้ว ธรรมไม่ว่าหยาบหรือละเอียด จะปรากฏเห็นแจ้งขึ้นมาด้วยตนเอง ไม่ต้องร้องเรียก 

 

  พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน

พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน 

 

• แห่งสุดท้าย • 

พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ เห็นว่าหลวงปู่อ่อน ได้ลาออกจากเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา แล้ว จึงมีบัญชาให้กลับมา จ.อุดรธานี เพื่อให้แสวงหาสถานที่สร้างวัดป่าที่เห็นว่าเหมาะสมให้เป็นสถานที่หลบภัยสงครามที่จะเกิดขึ้นอึก เพราะสมัยนั้นกลิ่นสงครามยังกรุ่นอยู่ ดังนั้น หลวงปู่อ่อนได้เดินทางกลับถิ่นฐานเดิมเป็นครั้งแรก และในครั้งนี้ท่านได้มีพระคณาจารย์ผู้ร่วมเดินทางมาด้วย 

๑. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ 
๒. พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธัมโม 
๓. พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน 

เมื่อท่านมาถึง จ.อุดรธานี แล้ว ท่านต่างได้แยกทางกันไปเผยแผ่ปฏิบัติธรรม พำนักปักกลดอยู่ตามสถานที่ต่างๆ แต่ละองค์ก็ได้มีพระภิกษุสามเณรติดตามไปอยู่ด้วยหลายองค์ แต่ละพระอาจารย์ต่างก็มี บทบาทที่น่าเคารพกราบไหว้บูชาทั้งสิ้น 

พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธัมโม ท่านได้นำคณะที่มีด้วยกัน ๗ องค์ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าโนนนิเวศน์ และพระอาจารย์ภุมมี ต่อมาท่านได้สมณศักดิ์เป็น พระครูวินัยธร 

พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านได้นำคณะธุดงค์ไปเผยแผ่ธรรมในที่ต่างๆ หลายแห่ง แห่งสุดท้ายท่านได้นำคณะของท่านมาอยู่จำพรรษาที่ป่าแห่งหนึ่ง จนมาเป็น วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี 


• บ้านหนองบัวบาน • 

ส่วนหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ จึงได้แสวงหาสถานที่สร้างวัดป่าไม่ให้ไกลนักจากวัดโพธิสมภรณ์ เพื่อความสะดวกให้แก่ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) 

ท่านจึงคัดเลือกเอาได้ที่ดงป่าช้า (พื้นบ้านเรียกป่าช้า) เป็นที่รมนียสถานอันรื่นรมย์สมควรวิเวก ประกอบทำความเพียรภาวนาที่บ้านหนองบัวบาน ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จึงได้นำความมากราบเรียนท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) ท่านเห็นชอบด้วย 

พ.ศ. ๒๔๙๖ นี้เอง หลวงปู่อ่อนจึงได้เริ่มลงมือสร้างวัดนี้ ได้ปลูกกุฏิ ศาลาการเปรียญ โบสถ์ขนาดใหญ่ ๒ ชั้น พระประธานปางเชียงแสนขนาดใหญ่ สร้างด้วยโลหะ (ทอง) ประดิษฐานตระหง่านอยู่ในโบสถ์ 

โบสถ์ก็ดี พระประธานก็ดี ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานและทั้งสวยงามที่สุด 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านก็ได้เที่ยวธุดงค์ไปในที่ต่างๆ มากแห่งด้วยกัน สถานที่อันเป็นสัปปายะแห่งสุดท้าย คือ ที่บ้านหนองบัวบาน ต่อมาท่านได้บำรุงสถานที่แห่งนั้นจนเป็น วัดป่านิโครธาราม ที่สงบระงับดับจากกิเลสทั้งปวง นอกจากนี้แล้วท่านยังได้ออกเผยแผ่อบรมธรรมในท้องที่ต่างๆ อีกมาก แม้ว่าสังขารของท่านจะเข้าสู่วัยชรามากแล้ว ท่านไม่เคยลดละหรือเบื่อหน่ายที่จะเปิดการอบรมสอนธรรมแก่คณะศรัทธาผู้ใคร่ในธรรมปฏิบัติ 

 

  พระประธานปางเชียงแสนขนาดใหญ่ สร้างด้วยโลหะ (ทอง)  ประดิษฐานตระหง่านอยู่ภายใน อุโบสถ วัดป่านิโครธาราม  บ้านหนองบัวบาน ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

พระประธานปางเชียงแสนขนาดใหญ่ สร้างด้วยโลหะ (ทอง) 
ประดิษฐานตระหง่านอยู่ภายใน อุโบสถ วัดป่านิโครธาราม 
บ้านหนองบัวบาน ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี 

 

  ครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐานสานุศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต  จากภาพ...แถวหน้าขวามือสุด คือ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ  แถวหน้าองค์ที่ ๓ จากขวามือ คือ พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)

ครูบาอาจารย์พระป่ากรรมฐานสานุศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต 
จากภาพ...แถวหน้าขวามือสุด คือ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ 
แถวหน้าองค์ที่ ๓ จากขวามือ คือ พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) 

 

• ต้องพิจารณา • 

นอกจากนี้แล้ว ท่านมีเวลาท่านจะปลีกตัว พาพระภิกษุและสามเณรออกไปเที่ยวบำเพ็ญเพียรตามป่าดงอยู่เสมอๆ สถานที่ที่ท่านพาคณะดำเนินไปนั้น คือ ที่สำนักสงฆ์ถ้ำเอราวัณ บนเทือกเขาภูพาน หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านสอนศิษย์ของท่านให้เข้าใจธรรมชาติป่าเขา ทำความรู้จักกับสภาพแวดล้อมของสังคม ท่านให้พึงระวังกิเลสมารที่เข้ามารบกวนจิตใจในทุกรูปแบบ โดยท่านสอนว่า 

“ธรรมให้รู้ตามความจริงเหมือนดังว่า คนก็คือคน ธรรมก็คือธรรม เราต้องพิจารณา หลักของพระอาจารย์มั่น ท่านเคยสอนศิษย์ ท่านจะสอนให้เรามีปัญญาพิจารณา คนที่ไม่พิจารณา ก็เพราะขาดปัญญา กลายเป็นความประมาท ประมาทแล้วกิเลสก็เข้ามานอนเนื่องในจิตใจของเรา 

กิเลส ก็คือ หนี้สินที่พะรุงพะรังทางใจนั่นเองถ้าเราปฏิบัติขัดเกลาออกไปด้วยสติปัญญาแล้ว หนี้สินเหล่านี้ (กิเลส) ก็จะหมดไป เราจึงเป็นสุขในทุกอิริยาบถ ให้เหลือแต่ความบริสุทธิ์ คือ พุท-โธ เป็นสิ่งที่ติดจิตใจ เป็นสมบัติทั้งดวง คือ ความสิ้นทุกข์สิ้นกาลและเป็นกาลที่มีคุณค่ามหาศาล อย่างนี้พระพุทธเจ้าและพระสาวกเจ้าของเราพระองค์ได้ประโยชน์มาแล้วทั้งสิ้น” 

ธรรมที่หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านได้แสดงโปรด เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเดินทางไปนมัสการท่านที่วัดป่านิโครธาราม มีใจความตอนหนึ่งว่า “หลวงพ่ออาจารย์ใหญ่มั่น ท่านเทศน์เรื่องขันธ์ ๕ ท่านว่า มาหารูป รูปนี้ปลายมันหรอก ไม่ใช่เป็นต้น ต้นมัน ได้แก่ วิญญาณ ท่านเลยว่าแต่วิญญาณมาหาสังขาร เพราะวิญญาณมันมาปรุงมันก็เลยเป็นตัวสังขาร นั่นแหละตัวปรุงนี้มันจึงมาหาสัญญา จึงมาหาเวทนา มาหารูป ท่านพูดอย่างนี้ เราต้องพิจารณา ท่านพูดตามบุคคลที่เกิดมามันเป็นอย่างนั้นแน่” 

หลวงปู่อ่อนท่านว่า นี่เป็นธรรมชั้นสูงที่หลวงพ่ออาจารย์ใหญ่มั่นท่านแสดง 


• คำเตือน • 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่บรรดาคณะศรัทธาญาติโยมโดยแท้ ยามที่หลวงปู่ท่านมีชีวิตอยู่ความเมตตากรุณาของหลวงปู่ท่านมีเต็มเปี่ยมพอให้เราได้ดื่มกินได้ทุกเมื่อเชื่อวัน ใครก็ตามที่เดินทางไปถึง วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี ก็จะพบกับความเย็นอกเย็นใจในทุกเมื่อ 

ท่านเคยกล่าวอยู่เสมอว่า “ธรรมชาติของธรรมนั้น ปฏิบัติผู้บำเพ็ญเท่านั้นจึงจะรู้ได้ ครูบาอาจารย์หลายองค์ท่านไม่เคยลดละในการปฏิบัติธรรมเพราะการปฏิบัติธรรมที่เรากระทำอยู่เรื่อยๆ เป็นนิจ โดยไม่หยุดยั้งผลย่อมเกิดขึ้นได้ทุกครั้งไปและจะสืบเนื่องกันไม่ขาคระยะ ตราบเท่าที่เราไม่ทิ้งการปฏิบัติธรรมนั้น เราเป็นฆราวาส ต้องพยายามทำคุณงามความดี ทำทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนาให้เจริญแล้ว ปัญญาก็ย่อมเกิดตามมาเอง” 


• อวสาน • 


พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้เริ่มอาพาธด้วยโรคกระเพาะอาหารเป็นต้นมา จนได้รับการผ่าตัดไปครั้งหนึ่ง ในปีเดียวกันนั้น ก่อนเข้าพรรษาได้รับการผ่าตัดอีกเกี่ยวกับลำไส้อุดตัน รวมเป็น ๒ ครั้ง ต่อนั้นไปก็ได้ทำการรักษามาตลอดปี ก็พอทรงตัวอยู่ได้ สังขารร่างกายของท่านก็ทรุดโทรมมาก สุขภาพร่างกายก็ไม่แข็งแรงเท่าที่ควร ถึงอย่างนั้นท่านก็ยังพยายามอุตสาหะ พยายามทำกิจของพระพุทธศาสนาเป็นปกติธรรมดา อีกทั้งยังสงเคราะห์คณะศรัทธาญาติโยม ตลอดถึงพระภิกษุ สามเณร ที่เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัย อบรมสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานตลอดมา จนถึงวาระสุดท้าย 

รวมระยะหลวงปู่อ่อน ท่านไม่แข็งแรงเป็นเวลา ๕ ปี ผ่านมา การอยู่ฉันภัตตาหารของท่านก็เปลี่ยนแปลงไป โดยมากท่านจะฉันภัตตาหารเผือกมันเป็นส่วนมาก หลังจากทำการผ่าตัด การฉันภัตตาหารไม่เต็มส่วน ถ้าฉันภัตตาหารที่ไม่ถูกธาตุหรือผิดเวลา เหล่านี้มักมีอาการท้องร่วงตลอดมา แต่นั้นท่านก็ได้พยายามรักษามาทั้งภายในและภายนอก พอทรงตัวอยู่ 

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เดือนพฤษภาคม วันที่ ๒๓ ท่านก็เริ่มอาพาธ วันที่ท่านอาพาธนั้นตอนเช้าท่านก็ยังไปบิณฑบาตมาฉันภัตตาหารตามปกติธรรมดาเหมือนทุกวัน 

พอฉันภัตตาหารเสร็จ ท่านก็ได้เข้าพักผ่อนตามที่เคยปฏิบัติมาประจำ เวลาประมาณเที่ยงวัน ท่านก็เคยออกมาต้อนรับแขกที่มานมัสการประจำ 

วันนั้นเห็นผิดสังเกต ท่านไม่ออกจากห้องพักตามปกติลูกศิษย์ที่คอยปฏิบัติอยู่ใกล้ชิดจึงไปดู และเรียก แต่ท่านไม่ขานตอบ จึงได้เปิดประตูเข้าไปดู เห็นอาการนอนเพียบอยู่ ถึงถามก็พูดไม่ได้ตั้งนั้นมา จึงได้เอาท่านออกมาข้างนอกทำการพยาบาลกันเต็มความสามารถ เห็นอาการไม่ดีขึ้นจึงไปตามเอาหมอที่โรงพยาบาลมาตรวจรักษา 

นายแพทย์ตรวจอูอาการพบว่าเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองอุดตัน หรือ เส้นโลหิตในสมองตีบ แพทย์ก็แนะนำให้เอาไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลอุดรธานี 

วันต่อมา วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ จึงได้ติดต่อขอรถพยาบาลนำส่งโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม อุดรธานี แพทย์ก็ให้การรักษาจนสุดความสามารถอาการก็ไม่ดีขึ้น 

วันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ จึงได้นำขึ้นเครื่องบินจากอุดรธานี ส่งโรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ ให้แพทย์รักษาจนสุดความสามารถ อาการยังไม่ดีขึ้น 

วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้นำท่านไปตรวจสมองที่โรงพยาบาลรามาฯ แล้วก็นำกลับโรงพยาบาลศิริราชอีก แพทย์ให้การรักษาเป็นอย่างดี เช่น นายแพทย์ประวัติ หงษ์ประภาส และนายแพทย์ ประกิจ เหล่านี้ เป็นต้น แต่อาการยังไม่ดีขึ้น 

วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ เวลากลางคืนวันพุธ ๐๔.๐๐ น. ท่านก็ได้มรณภาพไปด้วยอาการอันสงบต่อหน้านายแพทย์ และคณะลูกศิษย์ที่ติดตามรักษา 

รุ่งเช้าวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้ทำพิธีรดน้ำศพที่โรงพยาบาลศิริราช แล้วก็นำศพท่านกลับวัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี โดยรถพยาบาลของโรงพยาบาลแพทย์ปัญญานำส่งถึงวัดและตั้งบำเพ็ญกุศล ๗-๕๐-๑๐๐ วัน ตลอดมา 


• ส่งท้าย • 

บรรดาผู้เป็นศิษยานุศิษย์ และผู้เคารพนับถือในพระคุณท่าน ใครๆ ทั้งหมดหาได้ระลึกไม่ว่า ท่านมาด่วนรีบมรณภาพจากพวกเราไปเสียโดยเร็ว จึงไม่ได้สอบถามประวัติของท่านโดยละเอียดว่าปีไหนจำพรรษาที่ไหน และได้ทำกิจพระพุทธศาสนาที่ไหนบ้างโดยละเอียด 

และในการถวายเพลิงศพของท่าน เมื่อวันที่ ๒๖-๒๗-๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๕ ถือว่าการทำบุญทักษิณานุปทานอุทิศถวายท่านเป็นการใหญ่ บรรดาท่านผู้เป็นสหธรรมิกและศิษยานุศิษย์ตลอดถึงสาธุชนผู้เคารพในพระคุณท่านก็มากันอย่างพร้อมเพรียง 

ท่านพระอาจารย์ของพวกเราได้สละชีพเพื่อพระพุทธศาสนา เริ่มแต่อายุ ๑๖ ปี หันหน้าเข้าวัดได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและเดินตรงต่อสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานโดยเฉพาะ จนถึงวันมรณภาพ รวมชนมายุได้ ๘๐ ปี เป็นสามเณร ๓ พรรษา เป็นพระภิกษุ ๕๘ พรรษา 


• บั้นปลาย • 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านเป็นปูชนียบุคคล ที่เราท่านไม่ควรลืมเลือน เพราะในยามที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ หลวงปู่ได้ดำเนินชีวิตในเพศสมณะผู้บำเพ็ญเพียรเพื่ออรหัตผล มุ่งพระนิพพานโดยแท้ หลวงปู่อ่อนท่านได้เป็นผู้เติมแต่งบ้านหนองบัวบาน ให้มีคุณค่าเป็นที่รู้จักของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ 

และในถิ่นนี้ อดีตเคยเป็นสถานที่จำพรรษาของพระอริยเจ้าองค์หนึ่งนั่นคือ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแห่งยุค และเป็นกำลังอันสำคัญยิ่งของกองทัพธรรม 

บัดนี้ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้ละซึ่งสังขารอันไม่เที่ยงนี้ไปแล้ว นอกจากคุณงามความดีที่ท่านมอบไว้แก่ลูกหลานได้ระลึกถึง เจริญรอยตามแบบอย่าง ซึ่งเป็นแนวทางตรงมุ่งสู่พระนิพพานอย่างแท้จริง 



............................................................. 

♥ คัดลอกเนื้อหามาจาก :: อัตโนประวัติ และชีวประวัติ สกุลวงศ์ 
ของพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ของพระจันโทปมาจารย์ 
นิตยสารโลกทิพย์ ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๓ เดือนพฤษภาคม (ฉบับหลัง) ๒๕๒๗ 
รวบรวมโดย นิรุตติ และนิโรธ เกษรสิริ 
เว็บไซต์ http://www.dharma-gateway.com/

 

 ประวัติและปฏิปทา (โดยย่อ)  หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ   วัดป่านิโครธาราม  ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา (โดยย่อ) 
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ 

วัดป่านิโครธาราม 
ต.หมากหญ้า อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี 


๏ ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ มีนามเดิมว่า อ่อน กาญวิบูลย์ เกิดเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีขาล พ.ศ. ๒๔๔๕ (ตามพ่อแม่ของท่านบอก) หรือเกิดวันอังคาร ขึ้น ๕ ค่ำ หรือ ๑๒ ค่ำ (ตามปฏิทิน ๑๐๐ ปี) ณ บ้านดอนเงิน ตำบลแซแล อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรของนายเมืองกลาง (ภูมีใหญ่) และนางบุญมา กาญวิบูลย์ ซึ่งมีบุตรด้วยกันทั้งหมด ๒๐ คน เลี้ยงจนเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่เพียง ๑๐ คน ตายเสียแต่เด็ก ๑๐ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๘ ของผู้ที่ยังมีชีวิตรอดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ 

ท่านเกิดและอาศัยอยู่ในท่ามกลางสภาพของธรรมชาติป่าดงอันอุดมสมบูรณ์ มีความอบอุ่นอยู่กับพ่อแม่ มีความเป็นอยู่พอมีความสุขตามสมควรจากอาชีพทำนา เลี้ยงโคฝูง ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และค้าขายเบ็ดเตล็ดต่างๆ อาชีพทำนาอาศัยฟ้าฝน ถ้าปีไหนฟ้าฝนดี ไม่เกิดโรค ก็จะได้ผลผลิตเกิน ๑,๐๐๐ ถังจากที่นาทั้งหมด ๘ ทุ่ง (แปลง) เป็นการผลิตเพื่อบริโภคกันทุกครัวเรือน มีวัวฝูงกว่า ๒๐๐ ตัว กลางวันต้อนออกคอกปล่อยไปหากินเอง ตอนเย็นกลับเข้าคอกเอง ถ้าวัวไม่เข้าคอกเกิน ๔-๕ วันจึงออกตามไล่ต้อนเข้าคอกสักทีหนึ่ง ถ้าวัวหายไปตามหาก็ลำบากป่าดงมันรก เสือและงูร้ายก็ชุกชุม 

หลวงปู่ได้เล่าถึงประวัติตนเองเมื่อครั้งช่วยพ่อแม่ทำงานด้วยความทุกข์ใหญ่ว่า ครั้งหนึ่งเดือนเมษายน วัวไม่กลับเข้าคอกจึงออกติดตาม ไม่ได้เตรียมน้ำดื่มไปด้วย กว่าจะเห็นฝูงวัวก็บ่าย ๒ โมงเข้าไปแล้ว เดินเท้าเปล่าไม่มีรองเท้า ตอไม้ทิ่ม หิวน้ำก็หิว ก่อนเข้าหมู่บ้านหัวเข่าอ่อนล้าฮวบลง ลุกขึ้นหาไม้เท้า ใช้สองมือยืนไปจนถึงบ้านได้ ครั้นถึงบ้านด้วยความกระหายน้ำอย่างมากจึงรีบดื่มน้ำไป ๑๒ กระบวยใหญ่ จุกน้ำเกือบตาย นี่คือทุกข์ใหญ่ 

สมัยที่หลวงปู่อ่อนอายุ ๑๑ ปี พ่อแม่ของท่านได้นำไปฝากให้อยู่วัดใกล้บ้าน ซึ่งสมภารมีความรู้ทางด้านภาษาลาว ภาษาขอม และภาษาไทย เป็นอย่างดี โดยหวังให้ลูกชายได้รับการศึกษา มีอนาคตสามารถเลี้ยงพึ่งพาตนเองได้ 

พออายุได้ ๑๖ ปี พ่อของท่านได้อบรมว่า การบวชนี้เป็นบุญมาก ในที่สุดท่านก็ใคร่จะบวช จึงบอกเล่าและลาพ่อแม่ว่าต้องการบวช เมื่อได้บวชแล้วจะไม่สึก พ่อแม่จึงนำท่านไปฝากให้เป็นศิษย์วัดกับ ท่านพระครูพิทักษ์คณานุการวัดจอมศรี บ้านเมืองเก่า อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ต่อมาท่านก็ได้บรรพชาให้เป็นสามเณรอ่อน ให้ศึกษาเล่าเรียนสวดมนต์ไหว้พระ การบวชเป็นสามเณรนี้ก็เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียน ให้มีความรู้มากขึ้น สามเณรอ่อนได้ศึกษาพระธรรมวินัยพอเป็นนิสัย เข้าใจถึงชีวิตสมณเพศเท่านั้น 


๏ ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา 

เด็กชายอ่อนได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๗ ปี (พ.ศ. ๒๔๖๒) สามเณรอ่อนได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย เมื่อเลิกจากเวลาเรียนแล้วก็ต้องเข้าไปรับใช้อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ปัดกวาด ทำความสะอาด ล้างกระโถน รุ่งเช้าก็ออกบิณฑบาต ท่านมีฝีมือด้านการช่าง ได้ร่วมกับพระอาจารย์นำดินมาสร้างพระพุทธรูป แกะสลักไม้ ทำบานประตูหน้าต่างที่สวยงามมาก ท่านมีมานะ อดทน ขยันหมั่นเพียร 

ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดจอมศรีกับท่านพระครูพิทักษ์คณานุการ ผู้เป็นอุปัชฌาย์ ๓ ปี ท่านมีอายุ ๑๙ ปี จึงเข้าอำลาอาจารย์ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ท่านอุปัชฌาย์หาว่าอวดดี จึงขับออกจากวัดจอมศรีไปพักอยู่ที่วัดดอนเงิน ไปลาโยมพ่อโยมแม่ แต่ไม่ได้รับอนุญาต อ้างว่าคิดถึง 

เมื่อสามเณรอ่อนอายุครบ ๒๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในคณะมหานิกาย ที่วัดบ้านปะโค ตำบลปะโค อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี โดยมี พระครูจันทา (เจ้าอธิการจันทา) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านดอนเงิน ๑ พรรษา 

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ ได้ขอลาโยมพ่อโยมแม่ ออกธุดงค์กรรมฐานไปอยู่กับ พระอาจารย์สุวรรณ วัดป่าอรัญญิกาวาส อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ตามความตั้งใจของท่านมาแต่เดิม คือ 

(๑) ยึดมั่นต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยการบริกรรมว่าพุทโธ 

(๒) ถือผ้าบังสกุลเป็นวัตร 

(๓) บิณฑบาตเป็นวัตร 

(๔) ไม่รับอาหารที่ตามมาส่งภายหลัง รับเฉพาะที่ได้มาในบาตร 

(๕) ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร 

(๖) ฉันในบาตร คือมีภาชนะใบเดียวเป็นวัตร 

(๗) อยู่ในป่าเป็นวัตร คือเที่ยวอยู่ตามร่มไม้บ้าง ในป่าธรรมดาบ้าง บนภูเขาบ้าง ในหุบเขาบ้าง ในถ้ำบ้าง ในเงื้อมผาบ้าง 

(๘) ถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร คือมีผ้า ๓ ผืน ได้แก่ ผ้าสังฆาฏิ ผ้าจีวร ผ้าสบง (รวมผ้าอาบน้ำฝนด้วย) 

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้ออกธุดงค์แสวงหาความสงบวิเวก ปฏิบัติธรรม ได้ไปฝึกหัดเรียนพระกรรมฐานอยู่กับ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ยอมมอบกายถวายชีวิตเป็นศิษย์อยู่ที่วัดป่าบ้านค้อ อำเภอผือ จังหวัดอุดรธานี และได้ขอให้สวดญัตติแปรจากมหานิกายมาเป็นธรรมยุต พระอาจารย์ยังไม่ยินยอม ให้ฝึกภาวนาไปอีก ๑ ปี แล้วได้ขอให้ญัตติเป็นธรรมยุตอีก ท่านจึงยินยอมแต่ต้องให้ท่องหนังสือนวโกวาทและพระปาติโมกข์ให้จบเสียก่อน 

หลวงปู่อ่อนจึงตั้งใจท่องนวโกวาท ๔ วันจบ ท่องปาติโมกข์ ๗ วันจบ จึงได้รับทำการญัตติเป็นธรรมยุต เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ อายุได้ ๒๓ ปี โดยมี พระครูชิโนวาทธำรง (พระมหาจูม พนฺธุโล หรือพระธรรมเจดีย์) รักษาการตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอุดร เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระครูอดิสัยคุณาธาร (คำ อรโก) เจ้าคณะจังหวัดเลย วัดศรีสะอาด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ แล้วกลับไปจำพรรษาที่วัดป่าอรัญญิกาวาส อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย 

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้ไปจำพรรษาปฏิบัติธรรมอยู่กับ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ที่วัดป่าอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ในปีนี้ หลวงพ่อคำมี ผู้เป็นพี่ชายของหลวงปู่อ่อนบวชสังกัดมหานิกาย มาขออยู่ปฏิบัติธรรม ฝึกหัดภาวนากับท่านด้วย แต่ได้เกิดไข้ป่าอย่างแรง มรณภาพเมื่อเดือน ๘ แรม ๘ ค่ำ 

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้ธุดงค์ไปจำพรรษากับ พระอาจาย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ที่เสนาสนะป่า ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานีปี 

พ.ศ. ๒๔๗๐ จำพรรษาที่ป่าช้าบ้านหัวงัว ตำบลไผ่ช้าง อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี 

ปีถัดมา พ.ศ. ๒๔๗๑-๒๔๗๒ ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านสาวะถี ตำลบสวะถี อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น (ในสมัยนั้น) 

ถัดมาอีกปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ธุดงค์ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านพระคือ อำเภอพระลับ จังหวัดขอนแก่น 

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ หลวงปู่อ่อนได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าวิเวกธรรม บ้านเหล่างา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 

และในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ขณะดำรงตำแหน่ง พระเทพเมธี เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา มีบัญชาเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๗๕ ให้พระกรรมฐานที่มีอยู่ในจังหวัดขอนแก่นไปร่วมอบรมประชาชน ร่วมกับทางราชการที่จังหวัดนครราชสีมา มีพระกรรมฐานไปชุมนุมกันจำนวนมาก เช่น พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นต้น 

ณ ปีนี้เอง พ.ต.ต.หลวงชาญนิยมเขต ได้ยกที่ดิน ๘๐ ไร่ถวายพระกรรมฐานที่มาชุมนุม เพื่อสร้างสำนักปฏิบัติธรรมอบรมศีลธรรม ตั้งชื่อให้สถานที่แห่งนี้ว่า วัดป่าสาลวัน ในครั้งนี้คณะพระกรรมฐานได้แยกย้ายกันออกอบรมศีลธรรมและสร้างวัดอื่นๆ อีกมากมาย 

ส่วนพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ได้ไปสร้างวัดป่าบ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว ชื่อ วัดสว่างอารมณ์ พระอาจารย์อ่อน ณาณสิริ ได้อยู่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่วัดป่าสาลวัน เป็นเวลา ๑๒ ปีเท่ากับพระอาจาย์ฝั้น อาจาโร 

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้ออกจากวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ได้สร้าง วัดป่าบ้านหนองโดก อำเภอพรรณานิคม ให้เป็นคู่กับ วัดป่าบ้านหนองผือ ทางที่จะไปนมัสการพระอาจารย์มั่น เพื่อให้ถูกกับอัธยาศัยของพระอาจารย์มั่น ด้วยว่าให้พระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระสร้างวัดขึ้นในรัศมีของวัดป่าบ้านหนองผือ จะได้ฝึกหัดพระที่มาศึกษาภาวนา เป็นการแบ่งเบาภาระของท่าน เมื่อพระอาจารย์อ่อนได้สร้างวัดนี้แล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาหลายปีและได้เดินทางไปนมัสการพระอาจารย์มั่น เป็นประจำเพราะท่านอายุมาก 

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อาพาธหนัก ได้รับการนำตัวไปรักษาที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และมรณภาพที่นี่ 

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เมื่อพิธีถวายเพลิงศพพระอาจารย์มั่นผ่านไปแล้ว พระอาจารย์อ่อนได้เที่ยวธุดงค์ไปถึงเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี อยู่จำพรรษา ๑ พรรษา แล้วกลับมาช่วยพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม สร้างกุฏิและหล่อพระประธานที่วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาพระอาจารย์สิงห์ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ มาอีกหลายปีท่านได้มรณภาพ ทางคณะสงฆ์จึงได้ขอแต่งตั้งให้พระอาจารย์อ่อน เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวันแทนท่านเจ้าคุณ อยู่ประมาณ ๑ ปีจึงลาออก เพราะเห็นว่าขัดต่อการออกรุกขมูลวิเวก 

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านได้มาสร้างวัดป่าบ้านหนองบัวบาน ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนวงวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ตามคำบัญชาของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ สิ้นเงินหลายล้านบาท 

ครั้นปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เริ่มอาพาธด้วยโรคกระเพาะอาหาร ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดหลายครั้ง อาการพอทรงตัวอยู่ได้ ร่างกายทรุดโทรม แต่ท่านก็ยังปฏิบัติกิจด้วยความอุตสาหะ สงเคราะห์พุทธบริษัท ปฏิบัติธรรม ตลอดมิได้เว้น วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ อาการอาพาธทรุดหนัก จึงได้นำเข้ารักษาที่โรงพยายบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม อุดรธานี (๒๔ พฤษภาคม) โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ (๒๕ พฤษภาคม) โรงพยาบาลรามาธิบดี (๒๖ พฤษภาคม) อาการไม่ดีขึ้น ครั้นวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ คืนวันพุธ เวลา ๐๔.๐๐ น. ท่านก็ได้มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ท่ามกลางนายแพทย์และคณะศิษยานุศิษย์ที่ติดตาม สิริรวมอายุได้ ๘๐ ปี เป็นสามเณร ๓ พรรษา เป็นพระภิกษุ ๕๘ พรรษา 

 

  หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ กราบนมัสการหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ กราบนมัสการหลวงปู่ดูลย์ อตุโล 

 

  หลวงปู่ดูลย์ อตุโล กับ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล กับ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ 

 

๏ ธรรมโอวาท 

จิตเป็นสิ่งสำคัญ สัมมาทิฐิ คือ ความเห็นชอบ คือตัวปัญญามันเกิดขึ้น พอปัญญาเกิดขึ้นเท่านั้นแหละ สัมมาทิฐิตัวเดียวชัดเจนขึ้นมา นั่นเป็นอาการของมัน ปัญญาสัมมาทิฐิ เกิดขึ้นมา มันเป็น องค์มรรค ๘ สมบูรณ์เลย เบื้องต้นเรายังฟุ้งซ่านอยู่ก็ต้องมาแก้ เราจะเข้าใจสงบระงับด้วยอุบายนี้ ความฟุ้งขณะปฏิบัติเพราะเราไปยึดมั่น เรายังยึดเท่าไรมันก็ยิ่งฟุ้งซ่าน ดังนั้น ท่านเรียกว่า สมุทัย ยุ่งไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง พอปัญญาสัมมาทิฐิเกิดขึ้น สมุทัยก็หาย นิโรธก็เกิดขึ้น 

การที่เรามาเห็นว่านี้เป็นสัมมาทิฐิ คือ ตัวมรรคทั้ง ๘ มารวมกันอยู่ ณ ที่เดียวกันนี้ เมื่อจิตรวมกันในสมาธิแน่วแน่เต็มที่แล้ว สัมมาทิฐิความเห็นชอบก็เกิดขึ้น ณ สัมมาทิฐินั่นเอง คือ เห็นทุกข์ เห็นสมุทัย ส่วนจะละได้มากน้อยขนาดไหนก็แล้วแต่กำลังของปัญญาสัมมาทิฐิของตน เมื่อละได้แล้ว นิโรธ ความดับเย็นสนิทขนาดไหนก็จะปรากฏขึ้นเฉพาะตนในที่นั้น 

ธรรมะเป็นทางแก้ทุกข์ เมื่อจะแก้ก็ต้องสอบทุกข์ก่อน ให้เห็นทุกข์ก่อน เหมือนกับเราทำงานอะไร เราต้องเห็นงานก่อน จึงจะทำได้ ทุกข์อันหนึ่งที่เป็นงานของพวกเราควรทำ ถ้าไม่ทำเราก็ไม่พ้น 

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนพวกเราให้รู้ทุกข์ เราได้ชื่อว่าผู้นับถือพระพุทธศาสนาประจำใจ ต้องให้เข้าใจหลักธรรมจริงๆ จึงจะถูกต้อง การเปิดจิตใจให้กว้างสว่างไสวนั้น เป็นนิสัยของชาวพุทธโดยตรง เราเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ทาน ศีล ภาวนา หรือ การทำดีได้ดี การทำชั่วได้ชั่วจริง ก็ควรที่จะรีบขวนขวายหาทางสร้างความดีเสีย จะได้มีกำลังใจของจิตใจต่อไป คนเราในโลกนี้เกิดมาแล้วย่อมมีความดีและความชั่วปะปนกันไป ไฉนเราจึงจะพบกับความดีเพียงอย่างเดียว อะไรๆ ก็ไม่สู้การสร้างความดีนะ ความดีนั้นผู้ใดสร้าง ผู้นั้นย่อมมีความสุข เย็นอกเย็นใจ การให้อภัยนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ 

ปัจจุบันโลกเราต้องการคนดี โลกต้องการให้อภัย เพราะนั่นเป็นทางแห่งความสันติสุขนะ ต้องให้อภัยทำให้ใจกว้างขวาง จึงจะได้ชื่อว่า เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแท้จริง 

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เป็นของเย็น เป็นของบริสุทธิ์ บุคคลผู้มีปัญญาจะไม่ปฏิเสธธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะธรรมถ้าอยู่ในจิตใจของผู้ใด ผู้นั้นย่อมมีความสุขความเจริญ ธรรมชาติของธรรมนั้น ผู้ปฏิบัติผู้บำเพ็ญเท่านั้นจึงจะรู้ได้ ครูบาอาจารย์หลายองค์ท่านไม่เคยลดละในการปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมที่เรากระทำอยู่เรื่อยๆ เป็นนิจโดยไม่หยุดยั้ง ผลย่อมเกิดขึ้นได้ทุกครั้งไป และจะสืบเนื่องกันไม่ขาดระยะ ตราบเท่าที่เราไม่ทิ้งการปฏิบัติธรรมนั้น เราเป็นฆราวาสต้องพยายามทำคุณงามความดี ทำทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนาให้เจริญ แล้วปัญญาก็ย่อมเกิดตามมาเอง 

ท่านผู้รู้พูดเป็นปัญหาว่า กล้วย ๔ หวี สำรับอาหาร ๔ สำรับ สามเณรนั่งเฝ้า พระเจ้านั่งฉัน ปัญหานี้เป็นปัญหาธรรมะเปรียบเทียบกับการปฏิบัติของบุคคล ส่วนมากคนจะไม่นำไปคิดกัน 

ข้อธรรมะที่ท่านให้ไว้แล้วให้นำไปตีความหมายให้ละเอียด กล้วย ๔ หวี ได้แก่ ธาตุ ๔ เณรน้อยนั่งเฝ้า ได้แก่คนโง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้เท่าทันตามหลักของพระธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นั่งเฝ้าตัวเองอยู่ ไม่รู้ในตัวของตนนั้นมีอะไรบ้าง กินแล้วก็นอน เลี้ยงร่างกายให้อ้วนท้วนสมบูรณ์ ไม่ได้ทำอะไรที่ดีให้เกิดขึ้นแก่ตัวเองเลย อันนี้แหละชื่อว่าโง่เขลาเบาปัญญา ได้แต่นั่งเฝ้าตัวเองอยู่, สามเณรนั่งเฝ้าสำรับที่มีอยู่แล้วโดยไม่ฉัน ก็หมายถึงบุคคลที่ไม่รู้ธาตุ ๔ ตามความเป็นจริงว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นอย่างไร ไม่ยอมกำหนด รู้แบบชนิดที่ให้เกิดปัญญา, พระเจ้านั่งฉัน หมายความว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายที่รู้หลักความจริงอันประเสริฐ เมื่อภาวนาได้ที่แล้วก็ยกธาตุ ๔ (เปรียบด้วยกล้วย ๔ หวี) มาพิจารณาตามหลักแห่งความเป็นจริง จนท่านเหล่านั้นสำเร็จคุณเบื้องสูง คือ พระอรหันต์ ก็เพราะพระอริยเจ้าท่านเป็นผู้ฉลาดในอรรถและพยัญชนะ จึงไม่นั่งเฝ้าอยู่เฉยๆ 

ธาตุ ๔ ก็อยู่ที่ตัวของเรา ขันธ์ ๕ ก็อยู่ที่ตัวของเรา มันไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย แต่คนที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ก็เลยต้องนั่งเฝ้าเฉยๆ เหมือนลิงนั่งเฝ้าเม็ดทองคำ ไม่รู้ค่าของทองคำ คนที่โง่เขลาเบาปัญญาก็ได้แต่นั้งเฝ้ารูปธรรม นามธรรมที่มันอยู่ในตัวของเรานี่แหละ ท่านหยิบยกเอาธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มาสับโขลกให้ละเอียด จนท่านรู้แจ้งเห็นจริง ให้อัตภาพร่างกายของท่านเอง และอัตภาพร่างกายของคนอื่น 

ท่านนั่งฉัน คือนั่งพิจารณาอัตภาพ คือธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เกิดมาแล้วมันเป็นอย่างไร เกิดมาแล้วก็เป็นทุกข์ คือความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย พวกท่านทั้งหลายอย่าได้นั่งเฝ้าร่างกายอยู่เฉยๆ มันไม่เกิดปัญญา ปัญญามันเกิดจากการภาวนา คือ การอบรมจิต เพื่อจะทำลายกิเลสให้หลุดหายไปในที่สุด หลักสำคัญก็คงจะมีกายนี่แหละสำคัญมาก กายก็คือขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามธรรมดาของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้อยู่กับตัวเรา คือ จิต ตกลงว่าขันธ์ ๕ กับจิตนี่อยู่ร่วมกัน แยกกันไม่ออก 

แต่ถ้าคนไม่รู้ไม่เข้าใจก็แยกแยะออกเป็นส่วนว่า ส่วนไหนเป็นรูป ส่วนไหนเป็นเวทนา และส่วนไหนเป็นสัญญา สังขาร วิญญาณ ยุ่งเหยิงกันไปหมด นอกจากปล่อยให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวพันกันกับใจ ให้มันผ่านไปตามธรรมชาติของมัน เราต้องพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในขันธ์ทั้ง ๕ สู้กิเลสที่มันย่ำยีตัวเราอยู่นั้น ก็เท่ากับว่าพวกเราได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ถึงแม้พวกเราจะบวชเข้ามาอยู่ใกล้พระพุทธองค์ ก็จะไม่มีความหมายนักบวชที่แท้จริงนั้น ต้องเป็นผู้ต่อสู้หรือปราบปรามกับกิเลส ถ้าเราไม่มีการต่อสู้กับมัน ปล่อยให้มันย่ำยีเราแต่ฝ่ายเดียวนั้น ตัวเราเองจะย่ำแย่ลงไปทุกที ผลสุดท้ายเราก็เป็นผู้แพ้ ยอมเป็นทาสรับใช้ของกิเลส ใช้การไม่ได้ 

สำหรับการสู้รบตบตีกับกิเลส จิตใจของเราจะรู้สึกว่า มีความทุกข์ยากลำบากเป็นกำลังอย่างมากทีเดียว แต่ก็ขอให้พวกเราทำต่อ และยอมรับความทุกข์ยากลำบากลำบนอันนั้น ยิ้มรับกับความลำบากเพราะความเพียรพยายามของเรา เมื่อเรามีความท้อถอยอิดหนาระอาใจต่อความเพียรของตนนั้น ให้พึงระลึกถึงพระพุทธองค์ผู้เป็นบรมครูของพวกเราว่า พุทโธ ธมฺโม สงฺโฆจาติ นานาโหนฺคมฺปิ วตฺถุโต คือ ให้ยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์ โดยเฉพาะพระพุทธเจ้าของพวกเรา ก่อนที่พระองค์จะทำลายรังของกิเลสได้อย่างราบคาบ พระองค์ก็ใช้อาวุธหลายอย่างหลายชนิดเข้าประหัตประหาร จนกิเลสยอมจำนนต่อหลักฐาน ยอมให้พระองค์โขกสับได้อย่างสบาย 

ขันติ พระองค์ก็นำมาใช้ เช่น พระองค์บำเพ็ญทุกรกิริยา คือการกระทำที่บุคคลทั้งหลายในโลกทำได้ยากยิ่ง เพราะต้องใช้ความอดทนอย่างใหญ่หลวง จนเอาชนะกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ พวกท่านทั้งหลายเมื่อเข้ามาอยู่ป่าแล้ว ก็ได้ชื่อว่าทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่นิยมอยู่บ้าน คลุกคลีด้วยหมู่ เพราะการคลุกคลีด้วยหมู่ จิตใจของเราก็จะไหลไปสู่อารมณ์ต่างๆ ได้ง่าย โอกาสที่จะทำให้จิตเป็นสมาธิ หรือทำให้จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งนั้นยากเหลือเกิน พระพุทธองค์เมื่อพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา พวกท่านปัญจวัคคีย์ ๕ รูป ไปเฝ้าปฏิบัติพระองค์อย่างใกล้ชิดด้วยตั้งใจว่า เมื่อพระองค์บรรลุธรรมแล้วจักบอกแก่เราก่อน 

เมื่อเรามาสันนิษฐานดูแล้วจะเห็นได้ว่าการคลุกคลีหรือการอยู่ร่วมกันหลายคนนั้น เป็นปฏิปักษ์ต่อการทำสมาธิ พระองค์ก็เลยต้องทำวิธีใดวิธีหนึ่งให้พวกปัญจวัคคีย์เกิดความเบื่อหน่าย แล้วจะได้หลีกหนีไปอยู่เสียที่อื่น พระองค์ต้องกลับมาเสวยพระกระยาหารอีก ทำให้ท่านเหล่านั้นไม่เชื่อมั่นในการกระทำความเพียร เลยต้องหลีกหนีไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อท่านปัญจวัคคีย์หนีจากท่านไปแล้ว พระองค์ก้ได้ทำความเพียรทางใจให้อุกฤษฏ์ยิ่งขึ้น จนสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยกาลไม่นาน 

อันนี้จะเห็นได้ว่า พระองค์ทำเป็นตัวอย่างไว้ให้เราดูแล้ว เราผู้เป็นศิษย์ของพระองค์ท่าน ก็ควรจะสำเหนียกและดำเนินตามการทำความเพียรเพื่อทำลายกิเลส มันจะต้องลำบากทุกสิ่งทุกอย่าง การกินก็ลำบาก อดมื้อฉันมื้อก็ต้องยอมอด อดมันทำไม อดเพื่อปราบกิเลส กิเลสมันก่อตัวมานานแสนนานหลายกัปป์หลายกัลป์มาแล้ว จากเราสาวหาตัว ต้นตอ โคตรเหง้าของมันไม่พบ นี่แหละท่านจึงสอนให้อยู่ป่าหาที่สงัด 

แม้แต่ในครั้งพุทธกาล มีท่านพระเถระหลายท่านที่มุ่งหมายต่อแดนพ้นทุกข์ ได้ออกปฏิบัติตนทรมานตนอยู่ในป่าในเขา และก็ได้บรรลุมรรคเป็นพระอริยบุคคลเป็นจำนวนมากนับไม่ถ้วน ท่านทำกันจริงจัง หวังผล คือ การหลุดพ้นจริงๆ ท่านสละเป็นสละตายมาแล้วทั้งนั้น ความทุกข์ยากลำบาก ทุกข์มากทุกข์น้อย ย่อมมีแก่ทุกคนในขณะปฏิบัติ เราต้องทำความเพียร ก็ไปทุกข์อยู่กับความเพียร ทำนา ทำไร่ ก็ไปทุกข์อยู่กับทำนาทำไร่ อันนี้เป็นของธรรมดา แต่จะทุกข์มากทุกข์น้อยก็ขึ้นอยู่กับการกระทำที่ฉลาด รู้วิธีการบ้างพอสมควร อย่างการทำความเพียรต้องเป็นผู้รักษาสัจจะ คือ ให้มีสัจธรรม ตั้งใจ อย่างไรอย่าทำลายสัจจะ สัจจะเมื่อตั้งให้ถูกต้องตามอรรถตามธรรมแล้ว จะเกิดเป็นพลังของจิตอย่างดีเยี่ยม 

พวกเราทั้งหลายตั้งหน้าตั้งตาเข้ามาสู่สมรภูมิรบด้วยกันเช่นนี้แล้ว ต้องตั้งหน้า ตั้งตาถอดถอนสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อตนด้วยกัน อย่าถือว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ถ้าถือว่าเป็นเรื่องง่ายแล้วกิเลสมันจะหัวเราะเยาะดูถูกพวกเรา ทุกข์เพราะการทำความเพียร มิใช่ทุกข์ที่ไม่มีผล เป็นทุกข์ที่ทำลงไปแล้วคุ้มค่า เราอย่าไปท้อถอยจงอดทนต่อสู้อุปสรรคต่างๆการปราบปรามกิเลส ก็คือ การแก้ความไม่ดีที่สถิตย์อยู่ภายในตัวของรา จึงต้องทำด้วยความเพียรของบุรุษ ทำด้วยความตั้งจิตตั้งใจจริงๆ ทำด้วยความพากเพียรจริงๆ หนักก็สู้เบาก็สู้ เช่นเดียวกับเราตกน้ำ เราต้องพยายามแหวกว่ายช่วยตัวเอง กำลังวังชามีเท่าไรเอามารวมกันหมดเพื่อจะเอาตัวรอด จนกว่าชีวิตจะหาไม่ เมื่อไม่ไหวจริงๆ จึงจะยอมจมน้ำตาย 

หากมีกำลังเพียงพออยู่ตราบใด จะไม่ยอมจมน้ำตายเป็นอันขาด อันนี้ก็เช่นเดียวกัน การจะทำความเพียรเพื่อหลุดพ้นนั้น จะทำเหลาะแหละไม่ได้ ต้องทำจริงๆ จังๆ จึงจะเห็นความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ เรามาอยู่ร่วมกันมาก จงประพฤติตามธรรมตามวินัยอย่างเคร่งครัด อย่าเป็นคนมักง่าย วันหนึ่งคืนหนึ่งผ่านไป ผ่านไปอยู่เรื่อยๆ สังขารร่างกายนับเวลาที่จะผ่านไปๆ โดยลำดับ พวกเราอย่าปล่อยให้วันคืนล่วงไปเฉยๆ ต้องให้มันผ่านไปด้วยการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมก็เพื่อจะกำจัดสิ่งปลอมแปลงนั้นออกให้เหลือแต่ของจริง คือ แก่นแท้ของธรรม เฉพาะอย่างยิ่งคือการหัดภาวนา ควรจะทำให้เกิดให้มีความแท้จริง งานอย่างอื่นเราก็เคยต่อสู้มาแล้ว ตั้งแต่ไหนแต่ไรก็ต่อสู้กับงานหนักงานเบามาแล้ว จนกระทั่งเวลาผ่านมาจนบัดนี้เราก็ทำได้มาเรื่อยๆ 

แต่เวลานี้เราจะฝึกหัดภาวนา คือ การทำจิตใจโดยเฉพาะ และการทำภาวนานี้ก็เป็นงานที่จำเป็นจะต้องทำเช่นเดียวกับงานชิ้นอื่นๆ หรือควรที่จะทำให้หนักยิ่งไปกว่างานอื่นๆ เสียอีก เพราะเป็นงานหนักและละเอียดกว่างานทั้งหลาย การทำภาวนาแรกๆ จิตของเราย่อมกวัดแกว่งดิ้นรน ล้มลุกคลุกคลาน เป็นของธรรมดา เพราะจิตยังไม่เคยกับการภาวนามาก่อน จึงถือได้ว่าการภาวนาเป็นงานใหม่ของจิต ถึงจะยากลำบากแค่ไหนเราต้องฝึก เพื่อที่จะฉุดกระชากลากจิตที่กำลังถูกกิเลสย่ำยีอยู่นั้นให้พ้นภัยอันตราย ให้เป็นจิตที่ปราศจากกิเลสเรื่องเศร้าหมอง จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทั้งหลายควรทำอย่างยิ่ง 

เพราะฉะนั้นในโอกาสต่อไปนี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเราจะพากันมาบำเพ็ญเพียรทางด้านจิตใจ อันเป็นจุดหมายปลายทางให้เกิดความสุขความสมหวังขึ้นภายในใจของตัวเองด้วยจิตตภาวนา เหนื่อยบ้าง ลำบากบ้างก็ทนเอา การปล่อยให้จิตคิดไปในแง่ต่างๆ ตามอารมณ์ของจิตนั้น ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดอะไรขึ้นมา นอกจากไปเที่ยวเก็บรวบรวมเอาความทุกข์ความร้อนจากอารมณ์ภายนอก มาเผาลนจิตใจของตนให้วุ่นวายเดือดร้อน ไม่ขาดระยะเท่านั้น ท่านกล่าวว่า สมาธิก็คือการทำใจให้สงบ สงบจากอะไร สงบจากอารมณ์ เครื่องก่อกวนทั้งหลาย เมื่อไม่มีอะไรมารบกวน ถ้าเป็นน้ำก็จะใสสะอาดดุจน้ำฝนที่ตกลงมาจากท้องฟ้า ยังไม่มีอารมณ์ภายนอกมารบกวน ก็จะเป็นจิตที่ใสสะอาดหมดจด 

แต่ขณะนี้จิตของเราถูกกิเลส หรืออารมณ์ภายนอกเล่นงานแทบจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว แต่เราจะมาฝึกเพื่อให้จิตสงบจากอารมณ์ภายนอกเหล่านั้น การทำนั้นต้องค่อยทำค่อยไป จะกำหนดเอาวันนั้นเวลานั้นจะเกิดผลแน่นอนนั้นย่อมไม่ได้ เพราะการทำจิตให้ปราศจากอารมณ์ภายนอกนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร ยิ่งถ้าเราไม่เคยฝึกมาก่อน จะเป็นการลำบากมากทีเดียว แต่ก็ไม่เหลือวิสัยที่เราจะทำ ในขั้นแรกของการอบรมจิตนั้น ท่านสอนให้ยึดเอาข้ออรรถ ข้อธรรมบทใดบทหนึ่งมาเป็นอารมณ์ บทใดก็ได้สำหรับเป็นเครื่องกำกับความคุมใจ ไม่เช่นนั้นจิตจะส่ายกวัดแกว่งไปสู่อารมณ์ต่างๆ ที่เราเคยชินกับอามรณ์นั้นๆ แล้วก่อความทุกข์ให้เป็นที่เดือดร้อนอยู่เสมอ 

ท่านจึงสอนให้นำบทธรรมะข้อใดข้อหนึ่งมาเป็นอารมณ์ เช่น เราภาวนาบริกรรมว่า พุทโธๆ ธัมโมๆ หรือสังโฆๆ หรือจะกำหนดให้มีอานาปานสติ คือการกำหนดลมหายใจ-เข้าออกควบคู่ไปด้วยก็ได้ เช่น จะบริกรรมว่า พุท เข้า โธ ออก ดังนี้ คำว่าเข้า-ออกก็คือหมายกำหนดกองลมนั่นเอง หายใจเข้าก็กำหนดว่า พุธ หายใจออกก็กำหนดว่า โธ ดังนี้ และในขณะที่บริกรรมเราต้องมี “สติ” ควบคู่ไปด้วย เมื่อเรามี “สติ” ตามระลึกอยู่โดยการเป็นไปติดต่อโดยลำดับ จิตก็ไม่มีโอกาสจะแวะไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ภายนอก จิตก็จะค่อยหยั่งเข้าสู่ความสงบโดยลำดับ จิตใจขณะนั้นจะมีความสงบมาก ในขณะที่จิตสงบไม่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย กาลเวลาและสถานที่จะไม่มีเลย ในขณะนั้นจิตจะสงบอย่างเดียว เพราะจิตที่สงบจะไม่สำคัญมั่นหมายติดอยู่กับสถานที่ กาลเวลาที่ไหนเลย มีแต่ความรู้ที่ทรงตัวอยู่เท่านั้น นี่เรียกว่าความสุขที่เกิดขึ้นจากการภาวนา จะเรียกว่าเป็นผลจากการภาวนาก็ได้ เราอยู่ในโลกนี้ เราต้องอยู่ให้ฉลาด ประกอบด้วยปัญญา ตัวเรารู้ว่าเราปฏิบัติผิด ไม่ถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ต้องพยายามแก้ไขที่ตัวเราให้ถูกต้อง คือเราต้องหาอุบายวิธีอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรตัวเองจึงจะอยู่ให้เป็นสุขไม่วุ่นวายใจ อันนี้สำคัญมากทีเดียว 

สิ่งทั้งปวงพระพุทธเจ้าสอนพวกเราว่า ถ้าใครละความโลภ ความโกรธ และความหลง หรือกำจัดความโลภ ความโกรธ และความหลงเสียได้ ผู้นั้นจะพบเห็นพระนิพพาน พระนิพพานอยู่เหนือความโลภ โกรธ หลง ท่านว่าอย่างนี้ ความโลภ โกรธ หลง เป็นรากเหง้าของโลก ชาติใด ภาษาใด ก็มีสิ่งทั้งสามนี้ ทุกคนหนีไม่พ้น มีปัญหาอยู่ ถ้าทุกคนมีกันแล้วอย่างนี้จะทำประการใดดี ไม่คิดจะละสิ่งเหล่านี้บ้างหรือ บางคนถ้าจะละมันออกไปก็ยังเสียดายมันอยู่ ถือว่ามันเป็นมิตรที่ดีต่อเราอยู่ ไม่ยอมให้มันตีตัวจากเราเลย อันนี้ก็ได้ชื่อว่า เราโง่กว่ากิเลส ปล่อยให้กิเลสเป็นนายเรา 


๏ ปัจฉิมบท 

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้ดำเนินชีวิตทุ่มเทให้กับพระพุทธศาสนามาโดยตลอด ตั้งแต่วัยเด็กได้เข้าถือเพศบรรพชิตเมื่ออายุ ๑๖ ปี ออกศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรมจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ได้ฝึกฝนอบรมศาสนิกชนให้ประพฤติปฏิบัติชอบตามท่านมากมาย ได้สร้างสถานปฏิบัติธรรมเพื่ออนุชนนับไม่ถ้วน ได้แต่งเติมพระพุทธศาสนาให้คงสีสัน นำหลักธรรมปฏิบัติให้เข้าสู่จิตใจของชาวพุทธ นับได้ว่าท่านเป็นปูชนียบุคคลที่ชาวพุทธมิอาจลืมเลือน ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติ บำเพ็ญเพียรเพื่อพระนิพพาน เป็นเนื้อนาบุญของโลกโดยแท้ 



............................................................. 

นำมาจากเว็บธรรมจักร www.dhammajak.net

Top