ประวัติวัด หลวงปู่ไข่ อินทสโร - วัดบพิตรพิมุข แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพมหานคร - webpra

หลวงปู่ไข่ อินทสโร

ประวัติวัด วัดบพิตรพิมุข แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพมหานคร

วัดบพิตรพิมุข

วัดบพิตรพิมุข(เชิงเลน)

              วัดบพิตรพิมุข มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วัดเชิงเลน ประมาณ พ.ศ.2328 สมเด็จพระเจ้าหลายเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ทรงสถาปนาใหม่หมดทั้งพระอาราม และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นพระอารามหลวงและพระราชทานนามว่า "วัดบพิตรพิมุข" เพื่อเฉลิมพระเกียรติกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขพระองค์นั้น วัดบพิตรพิมุขได้รับการสมโภช พร้อมกับการสมโภชพระมหานคร สมโภชวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และสมโภชอารามอื่น ๆ

ผู้สร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์

              วัดบพิตรพิมุข เดิมเป็นวัดราษฎร์ และเป็นวัดโบราณมีมาแต่สมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้สร้าง มีการสันนิษฐานกันว่า คงสร้างภายหลังรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.๒๒๓๑) เพราะไม่ปรากฏในแผนที่ป้อมเมืองธนบุรี ที่เมอชิเออร์ วอลสันเดส เวอร์เกนส์ ได้เขียนไว้ใน พ.ศ.๒๒๓๑

               รัชการที่ ๑ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้า กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงสถาปนานาใหม่ทั้งอาราม เช่น ทรงสร้างศาลาการเปรียญ กุฏิและถาวรวัตถุอื่น ๆ ด้วยเครื่องไม้ ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและพระวิหารเป็นต้น

               รัชกาลที่ ๒ คงไม่มีการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์มากนัก ในรัชการนี้ชื่อของวัดบพิตรพิมุขได้ปรากฏในพระราชวงศาวดาร เพราะใช้เป็นที่เผาศพราษฎรที่ถึงแก่กรรมด้วยอหิวาตกโรค ซึ่งเผาและฝังไม่ทัน ต้องนำศพมากองสุ่มก่ายกันไว้ตามป่าช้า และศาลาด้นราวกับกองฟืน น่าสังเวชยิ่งนัก

               รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อเสนาสนะและถาวรวัตถุที่เป็นเครื่องไม้และสร้างใหม่ด้วยก่ออิฐถือปูนทั้งหมด การก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ คือ พระอุโบสถ พระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ กุฏีเก๋งจีน (กุฏีเก๋งจีน พระยาโชฎึกราชเศรษฐีจีน (ทองจีน) เจ้ากรมท่าซ้าย สร้างถวายเดิมสร้างแบบศิลปะจีนทั้งหมด ต่อมาได้ซ่อมปนศิลปะไทยเข้าไปบ้าง โดยเฉพาะเครื่องบนเปลื่อยให้เป็นการเข้าไม้ตามแบบเก่าของจีน)

               รัชกาลที่ ๔ สมัยหม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ (หม่อมเจ้ารอง) มีการสร้างหอไตร กุฏิตำหนักและกุฏิสงฆ์ โดยจัดเป็นกลุ่มกุฏิ ๔ หลัง แต่ละกลุ่มมีหอไตรด้วยสำหรับกุฏิตำหนักนั้นเป็นที่ประทับของหม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์

               รัชกาลที่ ๕ สมัยพระธรรมวโรดม (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ธมฺมสิริ ฤทธิ์) พระธรรมวโรดมเป็นเจ้าอาวาสเป็นผู้เอาใจใส่ในกิจการพระศาสนา และขวนขวายบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุให้อยู่ในสภาพดีเสมอ จนเป็นทีโปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงมีพระราชกระแสชมเชยว่า
              “สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นสมภารมีสิริ อยู่วัดไหนก็เจริญวัดนั้น เช่น วัดบพิตรพิมุขก็เคยเจริญมาครั้งหนึ่งแล้ว จึงได้นิมนต์มาไว้วัดอรุณฯ ก็มาทำความเจริญให้แก่วัดอรุณฯ เป็นที่เจริญความเลื่อมใส ให้บอกอนุโมทนาด้วยความยินดีไปให้ท่านทราบ”

              ต่อมาในสมัยของพระราชเมธี (พระธรรมดิลก จนฺทสิริ อิ่ม) และพระราชโมลี (พระธรรมปิฎก จนฺทสุวณฺโณ น่วม) มีการบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุหลายประการเช่นกัน

              รัชกาลที่ ๖-๗-๘ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุและเสนาสนะหลายประการเช่นกัน

วัดบพิตรพิมุข

สถานที่ตั้ง

              วัดบพิตรพิมุข เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิด วรวิหาร ตั้งอยู่ที่เลขที่ 266 ถนนจักรวรรดิ แขวง จักรวรรดิ เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพมหานคร

ข้อมูลอ้างอิงจาก : p.moohin.com

Top