ประวัติ พระญาณวิศิษฏ์ (หลวงพ่อทอง จนฺทสิริ) - วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ - webpra

พระญาณวิศิษฏ์ (หลวงพ่อทอง จนฺทสิริ)

ประวัติ วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

 

 

พระญาณวิศิษฏ์ (หลวงพ่อทอง จนฺทสิริ)   วัดอโศการาม  ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

ประวัติและปฏิปทา 
พระญาณวิศิษฏ์ (หลวงพ่อทอง จนฺทสิริ) 

วัดอโศการาม 
ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 


๏ วัดอโศการาม 

“ทะเลไทยทั่วแคว้น แลงาม 
วัดอโศการาม พรั่งพร้อม 
สันติทุกโมงยาม ตามป่า เลนแฮ 
ธรรมชาติยังห้อมล้อม นก-ไม้แลสลอน” 

โคลงสี่สุภาพบทนี้ บรรยายให้คนทั่วไปรับรู้แลเห็นถึงสภาพสิ่งแวดล้อมอันร่มรื่นภายใน “วัดอโศการาม” ซึ่งเป็นวัดสังกัดธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 136 หมู่ที่ 2 ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เป็นอย่างดี 

ปัจจุบันมี “ท่านเจ้าคุณพระญาณวิศิษฏ์” หรือที่ชาวบ้านญาติโยมทั่วไปขานนามท่านว่า “พระอาจารย์ทอง จนฺทสิริ” ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอโศการาม อันดับที่ 3 เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน สืบต่อจาก พระเทพโมลี (สำรอง คุณวุฑฺโฒ) อดีตเจ้าอาวาสที่ได้มรณภาพไป 

พระอาจารย์ทอง จนฺทสิริ ท่านมีศีลาจารวัตรอันงดงาม เรียบร้อยโดยจริตธรรม ฉันภัตตาหารมื้อเดียวเป็นอาจิณ กิริยาสงบนิ่งเยือกเย็น วาจาชัดถ้อยคำเปี่ยมด้วยเมตตา พูดน้อยแต่หนักแน่น เทศนาปาฐกถาธรรมจับใจบรรดาคณะญาติโยมผู้ศรัทธา เป็นที่เลื่องลือของสาธุชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง 


๏ ชาติภูมิ 

ภูมิหลังของท่านก่อนเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ พระอาจารย์ทอง จนฺทสิริ มีนามเดิมว่า ทอง นารีวงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน พุทธศักราช 2475 ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก พื้นเพเดิมครอบครัวเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกันทั้งหมด 9 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 5 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 6 ต่อมาครอบครัวอพยพย้ายถิ่นฐานมาปักหลักอยู่ ณ ต.วังใหญ่ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ 

ชีวิตในวัยเด็กของ ด.ช.ทอง นารีวงษ์ ค่อนข้างมีชีวิตยากลำบาก ด้วยความเป็นอยู่ของทางบ้านที่มีฐานะยากจน ครอบครัวประกอบอาชีพทำนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ท่านเรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต้องเลิกเรียนกลางคันเพื่อมาช่วยเหลือทางบ้านทำนาหาเลี้ยงปากท้อง 

 

 หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต 

 

 พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)

พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) 

 

 

๏ การบรรพชาและอุปสมบท 

แต่ด้วยความเป็นคนใฝ่รู้ แสวงหาหลักยึดเหนี่ยวชีวิต มีใจเอนเอียงทางพุทธะ ประกอบกับโยมบิดามีความปรารถนาอันแรงกล้าให้บุตรชายได้บวชเรียนศึกษาตามธรรมเนียมชีวิตลูกผู้ชาย ทั้งนี้ ผู้ที่คอยชี้ทางส่งเสริมให้ท่านได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ไม่ใช่ใครอื่นที่ไหน คือ พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมฺมธโร) หรือท่านพ่อลี ธมฺมธโร เทพธรรมแห่งจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาแท้ๆ นั่นเอง 

จากการได้ออกติดตามท่านพ่อลี ธมฺมธโร ผู้มีศักดิ์เป็นหลวงอา ไปทุกหนแห่งเวลาออกธุดงค์และพำนักจำพรรษาตามวัดต่างๆ ท่านต้องคอยปรนนิบัติรับใช้หลวงอาและต้องนอนอยู่หน้าโบสถ์ ความยากลำบากแทนที่จะกัดกร่อนจิตใจให้ท่านย่อท้อ แต่กลายเป็นความศรัทธาเลื่อมใสต่อวัตรปฏิบัติของหลวงอา ที่ดำรงตนด้วยความเรียบง่าย มักน้อย สันโดษ แต่เพียบพร้อมด้วยความวิริยะอุตสาหะ ดังนั้น ท่านจึงตัดสินใจบรรพชาเป็นสามเณร ในปี พ.ศ.2494 เมื่ออายุครบ 19 ปี ณ วัดป่าคลองกุ้ง ต.ตลาด อ.เมือง จ.จันทบุรี 

เวลาผ่านไป 2 ปี เมื่อมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในปี พ.ศ.2496 ก่อนย้ายไปพักจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาแก้ว ต.หนองตาคง อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี 


๏ การศึกษาพระปริยัติธรรม 

หลังจากนั้น ได้หวนกลับมาอยู่วัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก 

ความตั้งใจเดิมที่ต้องการบวชเรียนก็เพื่ออุทิศผลบุญส่วนกุศลให้แก่โยมบิดา เพียง 1-2 พรรษาเท่านั้น แล้วจะลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตตามปกติทั่วไป ได้พลันแปรเปลี่ยนเมื่อท่านได้ลงลึกในรายละเอียด ศึกษาค้นคว้าหลักธรรมแห่งพระพุทธองค์จนถึงแก่น ความเลื่อมใสศรัทธาจึงเพิ่มทวีคูณ 

พ.ศ.2499 พระอาจารย์ทองได้มาจำพรรษาที่วัดอโศการามกับท่านพ่อลี ธมฺมธโร ในพรรษาที่ 6 ท่านได้ไปเรียนวิชาภาษาบาลีที่วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ แม้จะเคยเรียนบาลีมาบ้างแล้ว แต่ท่านมิได้อวดรู้วิชา ยังฟังคำชี้แนะจากครูบาอาจารย์ให้ไปเรียนเพิ่มเติมอีก 

จนมาถึงปี พ.ศ.2500 ไปจำพรรษาที่สำนักสงฆ์บ้านสันกอเก็ด ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เป็นเวลา 3 ปี กระทั่งท่านพ่อลีได้มรณภาพลง ท่านจึงได้กลับมาอยู่ที่วัดอโศการาม 

 

ในหลวงและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเพื่อทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  ณ พระธุตังคเจดีย์ วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2509  โดยมี พระเทพโมลี (สำรอง คุณวุฑฺโฒ) เจ้าอาวาสวัดอโศการาม (ในขณะนั้น) เฝ้ารับเสด็จฯ

ในหลวงและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเพื่อทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 
ณ พระธุตังคเจดีย์ วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2509 
โดยมี พระเทพโมลี (สำรอง คุณวุฑฺโฒ) เจ้าอาวาสวัดอโศการาม (ในขณะนั้น) เฝ้ารับเสด็จฯ 

 

 พระญาณวิศิษฏ์ (หลวงพ่อทอง จนฺทสิริ)

พระญาณวิศิษฏ์ (หลวงพ่อทอง จนฺทสิริ) 

 

๏ ตำแหน่งงานปกครองและสมณศักดิ์ 

พ.ศ.2518 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี 

ล่วงเข้าปี พ.ศ.2534 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอโศการาม 

รุ่งขึ้นอีกปี ในปี พ.ศ.2535 เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เวียนมาบรรจบครบ 5 รอบ 60 พรรษา ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในพระราชทินนามที่ “พระญาณวิศิษฏ์” 


๏ แนวทางการปฏิบัติธรรม 

ด้านหลักธรรม พระอาจารย์ทอง จนฺทสิริ ท่านเน้นหนักด้านวิปัสสนากรรมฐาน ศึกษาพระปริยัติธรรมแต่พอประมาณ เน้นหนักการปฏิบัติเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องจิตตามหลักสากลทั่วไป สมถะอุบายให้สงบใจ วิปัสสนาอุบายให้เกิดปัญญา ถือเป็นหลักกรรมฐาน เป็นข้อวัตรปฏิบัติที่สำคัญอย่างยิ่ง พระอาจารย์ทองเคยปรารภว่า สาย หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านสอนเจริญบริกรรมพุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือยึดพุทโธเป็นหลัก ต่อมาท่านพ่อลี ธมฺมธโร ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เกิดความรู้ความชำนาญ ท่านมีปัญญาแตกฉานในนามานุสติด้วยการมาใช้ลมหายใจ กำหนดลมหายใจเป็นหลักควบคู่กับพุทโธ หายใจเข้า “พุท” หายใจออก “โธ” นี่คือหลักปฏิบัติ 

“จริงๆ แล้วตามหลักของการเจริญธรรมะ การสงบใจ ไม่มีอะไรมาก คนเรามันโลภมาก มันหิวกระหาย เพราะฉะนั้นพอไปเห็นอาหารการกินเข้า อำนาจความอยากมันล้น เพราะเรื่องของจิตใจจริงๆ” 

“ขอให้เราผูกจิตผูกใจไว้อะไรจริงๆ ไม่ว่าสิ่งนั้นมันจะเป็นมงคล ขอให้ใจมันยึดแน่ๆ ให้ถึงเถอะมันสำเร็จทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องพุทโธ ธัมโม สังโฆ หรอก พุทโธ ธัมโม สังโฆ มันเป็นหลักเท่านั้น ผูกจิตใจอันฟุ้งซ่านด้วยอำนาจของกิเลส ให้มันเป็นใจที่มีหลักปักปักเพื่อจะไปสังหารกิเลส” 

“มนุษย์โลกที่ไม่มีหลักเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ไม่มีจุดยืน จะไปใช้สติปัญญาสังหารกิเลสของตน การบำเพ็ญวิปัสสนาเพื่อให้รู้แจ้งชำระกิเลสได้ กว่าจะไปถึงขั้นนั้นต้องทำให้จิตสงบลงก่อน ให้จิตสว่าง มันยังไม่ถึงวิปัสสนา เป็นสมถะ วิปัสสนามันมาคิดก็จริงอยู่ คิดไปคิดมาจิตหยุดความคิด เมื่อสมาธิเป็นสมถะจิตจะบังเกิดความสงบ อย่างบางคนบอกอะไรอนิจจัง อะไรไม่เที่ยง อะไรก็อยู่ไม่ได้ อะไรแตกดับ ทำไมไม่ถึงวิปัสสนา เพราะใจมันยังไม่มีสมถะ ใจมันไม่นิ่ง ใจมันส่ายไปมา พอใจหยุดนิ่ง สิ่งที่เห็นคือพระ สิ่งที่เห็นด้วยใจ ไม่ได้เห็นจากดวงตา สิ่งที่มันเกิดคือผู้รู้แท้ ถ้ารู้ใจเจ้าของคือผู้รู้ตน ใจก็อยู่ที่ใจ ไม่ใช่เอาใจไปไว้ที่หัวหรือบนผม รู้จักที่มาที่ไป ไม่ใช่ไปรู้ตามหนังสือที่เขียน แล้วก็หอบสังขารไป” 

ทุกวันนี้ พระอาจารย์ทอง จนฺทสิริ ในวัย 79 ปี (เมื่อปี พ.ศ.2554) ยังคงเดินหน้าพัฒนาวัดและจิตใจของชาวบ้านญาติโยมอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ท่านเป็นพระนักเทศน์ที่ติดรับกิจนิมนต์ตลอดเวลา และเป็นศูนย์รวมใจของชาวชุมชนโดยมิเสื่อมถอย วัดอโศการามแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติอันร่มเย็นสำหรับเป็นที่พักพิงแก่มวลสรรพสัตว์ฉันใด พระอาจารย์ทองก็เป็นธงธรรมให้ร่มเงาจิตใจแก่ชาวบ้านญาติโยมฉันนั้น

 

 วิหารสุทธิธรรมรังสี ณ วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ  เป็นอาคารจตุรมุข 3 ชั้น ส่วนยอดของวิหารเป็นมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  ภายในวิหารได้ประดิษฐานสรีระพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)

 วิหารสุทธิธรรมรังสี ณ วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ  เป็นอาคารจตุรมุข 3 ชั้น ส่วนยอดของวิหารเป็นมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  ภายในวิหารได้ประดิษฐานสรีระพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)

 วิหารสุทธิธรรมรังสี ณ วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ  เป็นอาคารจตุรมุข 3 ชั้น ส่วนยอดของวิหารเป็นมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ  ภายในวิหารได้ประดิษฐานสรีระพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)

วิหารสุทธิธรรมรังสี ณ วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 
เป็นอาคารจตุรมุข 3 ชั้น ส่วนยอดของวิหารเป็นมณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ 
ภายในวิหารได้ประดิษฐานสรีระพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร) 

 “พระธุตังคเจดีย์” เจดีย์แห่งพระอรหันต์ ณ วัดอโศการาม เป็นเจดีย์หมู่รวม 13 องค์  ซึ่งเจดีย์แต่ละองค์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อันเป็นที่ระลึกถึงธุดงควัตร 13 ประการ

“พระธุตังคเจดีย์” เจดีย์แห่งพระอรหันต์ ณ วัดอโศการาม เป็นเจดีย์หมู่รวม 13 องค์ 
ซึ่งเจดีย์แต่ละองค์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อันเป็นที่ระลึกถึงธุดงควัตร 13 ประการ 

 

พระธรรมเทศนาเรื่อง “บุญกุศล” 

ณ ศาลากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (ศาลาลุงชิน) 
เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พุทธศักราช 2543 


วันนี้เราทั้งหลายได้พักจากกิจกรรมหาเลี้ยงชีพและการแสวงหาความสุขและความเพลิดเพลินตามที่หัวใจต้องการ และพากันมาประชุมร่วมกัน ณ สถานที่นี้ เรียกว่าเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศล เป็นสถานที่กระทำความดี (ความดี เรียกว่า บุญกุศล) คำว่า บุญกุศล หรือวิธีทำการกุศลให้แก่ตัวมีมาก บุญกุศลเป็นคำสืบเนื่องมาจากพระพุทธศาสนา เพราะมีพระศาสนาเกิดจึงมีคำนี้เกิด ภาษาโลกไม่มีคำนี้ ในหลักสูตรการเรียนไม่มีคำว่า “บุญกุศล” คำนี้มีก็เพราะมีพระศาสนา มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตมีเจตนารมณ์ดี มองเห็นการณ์ไกล มองเห็นความสำคัญของคำว่าพระศาสนา คือศีลและธรรม ก็หาวิธีนำศีลธรรมมาผนวกกับวิชาทางโลก 

คนในโลกที่อายุ 60 ปี จะได้ศึกษารู้เห็นว่าวิชา “ศาสนา” มีอยู่ในหลักสูตรทางโลกในระดับชั้นประถม หลังจากนั้นไม่กี่สิบปีก็ไม่มี 

นักหลักวิชาการชั้นสูงระดับดอกเตอร์ หรือผู้ที่สะสมความดีให้แก่สังคมมากจนได้เป็นศาสตราจารย์ ก็คิดวางหลักสูตรขึ้นมาใหม่ หลวงพ่อเป็นคนโบราณ ไม่นิยมสมัย-สมัยใหม่ เพราะสมัยหรือสมัยใหม่นี้ “บอบบาง” 

สมัยนี้อะไรก็บอบบาง ไม่คงทนนัก คนสร้างเมื่อโลกพัฒนาสูงสุด ทุกคนก็จะสบายมาก บ้านไม่ต้องมีโรงครัว หม้อข้าวก็ไม่ต้องมี หุงแล้วทิ้งเลย ช้อน ชาม แก้วน้ำ กินแล้วทิ้งไปเลย แทนที่จะต้องล้าง เก็บ รักษา เพราะทุกข์ จะทิ้งก็ทุกข์ จะเก็บก็ทุกข์ ผู้มีมันสมองก็ต้องคิดเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกาย 

สิ่งที่กลัวกันอีกอันก็คือ ความไม่แข็งแรง โรคง่อย โรคเปลี้ยจะเกิดง่าย เพราะว่าร่างกายไม่ได้บริหารพอสมควร ในที่สุดจะขี้เกียจจับหัวใจ เห็นเป็นทุกข์เป็นร้อนไปหมด กินอย่างไรให้เป็นสุข กินแล้ว ทิ้งเลย กินแล้วเก็บไม่เอา กินแล้วเก็บเหมือนคนมีกิเลส แต่ที่จริงนั้น เรายึดตัวขี้เกียจ โรคขี้เกียจ เมื่อโรคขี้เกียจเข้าไปยึดใจแล้ว คนคนนั้น จะได้อะไร ก็ได้หัวใจโง่ หัวใจขี้เกียจ ไม่รู้จักคุณค่า ไม่รู้จักสิ่งที่มีคุณ แก่ตน ไม่รู้จักรักษา คนเช่นนั้นถึงแม้จะปฏิบัติธรรมก็คงไม่ได้ธรรม เพราะธรรมะของพระพุทธองค์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ 

การทำความดี พระพุทธองค์ทรงบอกไว้แล้วว่า “คนชั่วย่อมทำความดีได้ยาก ทำความชั่วได้ง่าย คนดีย่อมทำความดีได้ง่าย ทำความชั่วได้ยาก” 

ขึ้นชื่อว่าความดี ไม่ใช่เราจะทำความดีส่วนเดียว ไม่เหลียวแลความชั่ว เพราะว่าดีชั่วอยู่ด้วยกันอยู่แล้ว มองลงไปมีเต็มในกาย ในวาจา ในใจ ความรู้สึกนึกคิด (ความรู้) ก็มีทั้งดีและชั่ว ทั้งไม่ดี และไม่ชั่ว 

 

ดังนั้น จะดู ดี ชั่ว ถูก ผิด บุญ บาป ทุจริต สุจริต อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ก็ค้นลงไปที่กาย ที่วาจา (ปาก) และจิตของเรา คือ ผู้รู้ นี่แหละ ค้นลงไปที่กาย วาจา ใจ เราเอง ไม่ใช่ที่อื่น ค้นที่อื่นไม่เห็นหรอก 

ความตายเราก็เคยเห็น คนตาย สัตว์ตาย แต่เราไม่เคยเห็น ความตายของตัวเอง เห็นแล้วก็ไม่ได้น้อมมาให้เกิดความคิด เกิดสลดสังเวช 

อยากได้-อยากไม่ได้ อยากเห็น-ไม่อยากเห็น อยากมี-ไม่อยากมี เราไม่เคยน้อมเข้ามา 

ทำบุญทำยากหรือ...วันนี้เรามาทำทาน การบริจาค การเสียสละ ก็เป็นบุญกุศล เป็นการทำความดีแก่ตัวของเราอย่างหนึ่ง บางคนก็ทำได้ทุกวัน บางคนก็ไม่สามารถทำได้ทุกวัน บางคนก็ทำได้ทุกวันพระ บางคนก็ทำได้ตลอดเวลา 3 เดือน ตลอดไตรมาส ฯลฯ บางคนก็ทำไม่ได้ 

นี่คือลักษณะเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกใบเดียวกัน มีสภาวะและต่างฐานะกันไป สิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่แสดงสภาวะ และความเป็นจริงทั้งหลาย ให้เราได้รู้และเห็น 

แสดงให้เห็นวิบาก ทำไมมีหญิงชาย รูปร่าง ทรวดทรง ผิว ทำไมไม่เหมือนกัน อะไรไปสร้าง อะไรไปกำหนด บางคนก็อาการไม่ครบ 32 ทำไม ทั้งที่ทุกคนก็อยากสวย อยากมี แสดงว่าที่ได้มาไม่ใช่ เพราะความอยาก ความปรารถนา อยากได้ดีแต่ไม่ยอมทำดี อยากได้บุญแต่ไม่ยอมทำบุญ อยากมั่งมีศรีสุขแต่เกียจคร้าน ถูกแดดหน่อยก็ไม่ไหว ถูกละอองฝนก็ไม่ไหว อยากเห็นธรรม อยากรู้ธรรม อยากได้บุญจากการปฏิบัติธรรม...ไม่ใช่จะได้ง่ายๆ หรอก พระพุทธองค์กว่าจะทรงรู้ได้สมปรารถนา ก็ทรง เอาชีวิตเข้าเป็นเดิมพันมาแล้ว นักบวช ฤๅษีชีไพร นิยมลัทธิ ทรมานธาตุขันธ์ นุ่งลมห่มฟ้า ฯลฯ นักพรต กินใบไม้ ใบหญ้า ผลหมากรากไม้ นอนบนหนาม พระพุทธองค์ก็ทรงทำสิ่งเหล่านี้ ด้วยความอยากรู้ อยากให้เกิดปัญญา 

หลังจากไม่เสวย 49 วัน สลบไปหลายหน จนเด็กเลี้ยงแกะเอา ข้าวเอาน้ำมาถวาย จึงทรงรอดชีวิต และทรงค้นพบทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) พบว่าคนมีทุกข์ครอบงำไปทางสายกลางไม่ได้ ต้องเป็นคนปกติ หลักของมัชฌิมาคือ ลมหายใจ ตัวชีวิต เรามีชีวิตอยู่ได้เพราะหายใจเข้าออกสลับกันไป ดิน น้ำ ไฟ ก็อยู่ได้ เพราะ ลม เป็นตัวปัจจัยสำคัญ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงดำรงทรงอยู่ได้ ก็อาศัยลม ถ้าไม่มีลมทุกอย่างก็ดับ เรียกว่า ตาย อันอื่นดับแต่ยังมีลมอยู่ก็ยังมีหวัง ประสาท หู ประสาทตา ฯลฯ ตายไปเกือบหมด แต่ลมยังมีก็โอเค แต่ถ้าทุกอย่างยังดีแต่ลมหมด ก็จบ 

พุทโธ-ธัมโม-สังโฆ ไม่มีสำหรับพระพุทธเจ้า (เพราะทรงตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง) มีแต่สำหรับพวกเราพระสาวก เรามีพุทโธ ธัมโม สังโฆ บริสุทธิ์ เป็นสรณะ คือ สังโฆ ผู้เป็นพระจริงๆ ได้ดวงตาเห็นธรรม รู้ธรรมเห็นธรรมตามความเป็นจริง เป็นพระจริงๆ คือ พระอรหันต์ไปจนถึงพระโสดาบันเป็นอย่างต่ำ พระโสดาบันเหลือต้องเวียนว่ายอีก 7 ชาติอย่างสูงสุด 

 

“ธรรมทั้งหลายที่เราแสดงไว้ดีแล้ว จะเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อตถาคตล่วงลับไปแล้ว” 

เพราะฉะนั้น การละความชั่ว และการบำเพ็ญบุญกุศลจึงต้องทำ การสร้างความดีนั้นไม่สู้กระไร เพราะมีความดีอยากได้ความดีล่อใจอยู่แล้ว แต่การละความชั่วนี่ยากเหลือเกิน ยิ่งคนที่ติดความชั่ว เช่น ติดยาอี ติดยาบ้า เฮโรอีน บุหรี่ เหล้า เป็นต้น ติดอะไรก็ตาม ก็ติดทั้งนั้น ล้วนให้โทษแก่สังขาร ทำลายทรัพย์โดยไม่มีอะไรขึ้นมา ทำสุขภาพธาตุขันธ์ที่สมบูรณ์ให้ย่อยยับลงไป เรียกว่าตายผ่อนส่ง ไปเร่งความชราอันเป็นปกติของตนอยู่แล้ว เร่งความตายให้มาเร็วขึ้น นี่เราไม่เห็น ถึงเห็นก็มองว่าไม่สำคัญ มองว่ารสชาติที่ติดอยู่สำคัญกว่า บางคนก็ยอมตาย ยอมติดคุกตาราง แต่ไม่ยอมเลิกสิ่งเหล่านี้ 

มรรคผลนิพพานมีจริง พระพุทธองค์ก็ทรงพ้นไปแล้ว พระสาวกมากมาย เช่น หลวงปู่มั่น ก็พ้นไปแล้ว มีให้เห็นจริง 

บางท่านปฏิบัติสมาธิได้แก่กล้า เข้านิโรธสมาบัติ รูป-เวทนา (สุขทุกข์)-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ ดับหมด จิตก็ดับไปจากธรรมารมณ์ ฟ้าผ่าก็ไม่ได้ยิน แผ่นดินไหวก็ไม่รู้เรื่อง สำเร็จรูปฌาน 4 อรูปฌาน 4 เข้านิโรธสมาบัติได้ (- อันนี้ไม่แน่ใจว่า จดมาถูกต้องหรือเปล่า ใครทราบข้อมูลที่แม่นยำ โปรดช่วยใส่ไว้ ให้ด้วยนะคะ - deedi) ไม่เนื่องด้วยโลก แต่พระพุทธองค์ก็ไม่เอา เพราะอะไร ก็เพราะเห็นว่าไม่ใช่ทาง ไม่หมดกิเลส 

รูปฌาน 4 อรูปฌาน 4 ก็เหมือนนิพพานน้อยๆ ไม่ทุกข์ แต่ไม่หมดกิเลส เหตุแห่งวัฏฏะไม่หมด 

การทำความดี แม้ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ทำได้ ขันติ สัจจะ วิริยะ เจริญสมาธิ ฝึกสติ ทำได้ทั้งนั้น ในทุกสถานที่ แต่พวกเราไม่เห็นความสำคัญกันเอง เพราะฉะนั้น การบำเพ็ญกุศลไม่ได้อาศัยเพียงวัตถุ เพราะว่าต้องอาศัยผู้รับ-วัตถุ-ความตั้งใจ จึงจะไปได้สมประสงค์ 

(หนึ่ง) ทานนี้ก็มีประโยชน์ คือ (1) ขจัดความเห็นแก่ตัว (2) แสดงความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (3) บรรเทาหรือเป็นอุบายคลี่คลายความละโมบ ตัณหา ความทะยานอยาก เป็นบรรทัดฐานเบื้องต้น 

(สอง) หัดเสียสละความรู้สึก สิ่งที่ไม่ดีที่มีอยู่ในตน ในจิตใจ ออกไปเสียบ้าง ความเคียดแค้น ความโกรธ ไม่พอใจ โกรธเล็กๆ น้อยๆ ขัดเคือง หัดสละออกไปจากในบ้าง ก็เป็นทาน เป็นยอดของทาน สิ่งชั่วเหล่านี้ยังติดแน่นเพราะเรานิยมพอใจในสิ่งเหล่านี้ จึงแกะยาก เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาให้เห็นโทษของสิ่งเหล่านี้ให้มาก วัตถุทานก็เป็นผลคือปัจจัย 4 ก็จะอำนวยให้เราสมบูรณ์พูนสุข ถ้าเราไม่ได้ทำไม่ได้สั่งสมไว้ เราก็ไม่สมบูรณ์พูนสุข 

(สาม) มีสติรู้ตัวเสมอ รู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกาย วาจา จิตของเรา รู้ว่าดี ชั่ว ถูก ผิด บุญ บาป ไม่บุญ ไม่บาป นั้น ล้วนเกิดมาเพื่อ ฝึกสติสัมปชัญญะของเรา เมื่อสติสัมปชัญญะของเราสมบูรณ์ เราก็เป็นคนสมบูรณ์ สามารถทำความดีได้สมบูรณ์ นี่คือแนวทาง 

 

 พระญาณวิศิษฏ์ (หลวงพ่อทอง จนฺทสิริ) มาร่วมเจริญพระพูทธมนต์ในงานลักขีบวชชีหมื่นคน  ณ วัดธรรมมงคล สุขุมวิท 101 เขตพระโขนง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2551

พระญาณวิศิษฏ์ (หลวงพ่อทอง จนฺทสิริ) มาร่วมเจริญพระพูทธมนต์ในงานลักขีบวชชีหมื่นคน 
ณ วัดธรรมมงคล สุขุมวิท 101 เขตพระโขนง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2551 

 

 

เรียบเรียงและคัดลอกเนื้อหามาจาก :: 
(1) หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 1 คอลัมน์ มงคลข่าวสด 
วันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2548 ปีที่ 14 ฉบับที่ 5176 
(2) พระธรรมเทศนา ถอดความโดย คุณ deedi 

 

นำมาจากเว็บธรรมจักร www.dhammajak.net

Top