ประวัติวัด หลวงพ่อเงิน อินทสโร - วัดอินทรวิหาร แขวงบางขุนพรหม พระนคร กรุงเทพมหานคร - webpra

หลวงพ่อเงิน อินทสโร

ประวัติวัด วัดอินทรวิหาร แขวงบางขุนพรหม พระนคร กรุงเทพมหานคร

วัดอินทรวิหาร
ประวัติวัดอินทรวิหาร

เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ปี พ.ศ. 2295 เดิมชื่อ "วัดไร่พริก" อยู่ในบริเวณสวนผักของชาวจีน อุโบสถก่ออิฐสร้างแบบเตาเผาปูน ไม่ปรากฏนามผู้สร้างวัด

ต่อมาสมัยกรุงธนบุรี ปี พ.ศ. 2321 พระเจ้าสิริบุญสาร ผู้ครองนครศรีสัตนาคนหุต ได้ยกทัพรุกรานมาถึงบ้านดอนมดแดง (จังหวัดอุบลราชธานี-ปัจจุบัน) ได้จับพระลอ ผู้สวามิภักดิ์ในพระบรมโพธิสมภารของพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วทำการประหารเสีย เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบก็ขัดเคืองพระทัย จึงโปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพ พร้อมด้วยพระยาสุรสีห์ กรีฑาทัพขึ้นไปปราบปราม และสามารถตีเมืองเวียงจันทน์แตก ส่วนพระเจ้าสิริบุญสารได้ลี้ภัยไปอาศัยในแดนญวน ภายหลังเสร็จศึกสงคราม สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้นำตัวเจ้าอินทวงศ์ โอรสในพระเจ้าสิริบุญสาร ลงมากรุงธนบุรีด้วย และโปรดเกล้า ฯให้เจ้าอินทวงศ์และคณะพำนักตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ ณ บริเวณ ตำบลไร่พริก

(แขวงบางขุนพรหม-ปัจจุบัน) เจ้าอินทวงศ์มีศักดิ์เป็นน้าชายของเจ้าน้อยเขียว เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ธิดาคนหนึ่งของเจ้าอินทวงศ์ นามว่า เจ้าทองสุก กับ เจ้าน้อยเขียว ได้เป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เจ้าอินทวงศ์เป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เมื่อได้มาอยู่ใกล้วัดอินทรวิหาร จึงได้เข้าดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์เปลี่ยนรูปทรงเสียใหม่ ก่อด้วยอิฐถือปูน ดังแบบที่ปรากฏมาถึงปัจจุบัน ได้สร้างศาลาการเปรียญ ขุดคลองเหนือ-ใต้วัด และด้านหลัง เมื่ออารามมั่นคงดีแล้ว จึงได้อาราธนาท่านเจ้าคุณอรัญญิก(ด้วง) ผู้เรืองในวิปัสสนาธุระและใจดี มาช่วยเป็นธุระในกิจการของคณะสงฆ์ และถือเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกที่มีหลักฐานปรากฏยืนยัน ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 พระองค์เจ้าอินทร์ ในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ซึ่งปรากฏมากระทั่งปัจจุบัน

วัดอินทรวิหาร

งานประจำปีของวัด ทุกปี

- นมัสการหลวงพ่อโต : วันที่ ๑-๑๐ มีนาคม
- บำเพ็ญกุศลเนื่องในวันมรณภาพท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหมรํสี) : วันที่ ๒๒ มิถุนายน



สถานที่ตั้ง เบอร์โทรติดต่อ


อยู่บนถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้สี่แยกบางขุนพรหม แขวงบางขุนพรหม พระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐
โทร. ๐๒-๒๘๑-๗๘๑๐, ๐๒-๒๘๒-๐๔๖๑


การเดินทาง รถเมล์สาย

3,6,9,19,30,32,33,43,49,53,64,65, ปอ.3 ปอ.6 ปอ.17 ป.23 ปอ.พ.8

ข้อมูลอ้างอิงจาก : p.moohin.com

Top