ประวัติ เมืองนครราชสีมา - พระกรุ - webpra

เมืองนครราชสีมา

ประวัติ พระกรุ


เมืองนครราชสีมา

                โคราช หรือ เมืองนครราชสีมา เป็นดินแดนเมืองเก่า ซึ่งสร้างขึ้นสมัยขอมเข้ามา เป็นแผ่นดินที่ราบสูงแห่งนี้ โดยมีเมืองเก่าสองเมืองคือ เมืองเสมา และเมืองโคราฆะปุระ (เมืองโบราณทั้งสองแห่งนี้ ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสูงเนิน ริมน้ำฝั่งลำตะคองคนละฟาก)

                จากการสำรวจเมืองโบราณทั้งสองแห่งของนักโบราณคดี พบว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในสมัยทวาราวดี โดยเฉพาะเมืองเสมา สามารถมองเห็นกำแพงเมืองที่มีลักษณะเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่ อันเป็นลักษณะของกำแพงเมืองสมัยทวาราวดี เช่น เมืองโบราณศรีมโหสถ ที่ อ.ศรีมโหสถ (อ.โคกปีบเดิม) จังหวัดปราจีนบุรี และเมืองโบราณดงละคร จังหวัดนครนายก ซึ่งมีคูกำแพงเมืองเป็นรูปค่อนข้างจะกลม

                ส่วนเมืองโคราฆะปุระ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเสมาราว 6 กิโลเมตร คนละฝั่งน้ำลำตะคองใกล้เทือกเขาและป่าดงพญาเย็น อันเป็นป่าดงดิบที่มักมีอันตรายอยู่ทั่วไปทั้งสัตว์ป่าและไข้ป่า ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนที่ย่างกรายเข้าไปในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองเสมาและเมืองโคราฆะปุระร้างไปในที่สุด

                ต่อมาเกิดชุมชนใหม่ขึ้นที่บ้านดอนห่างจากเมืองโบราณทั้งสองนี้ออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 32 กิโลเมตร คือเมืองโคราชหรือเมืองนครราชสีมาในปัจจุบัน ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะนำชื่อเมืองโคระฆะปุระและชื่อเมืองเสมา มารวมกัน จนกลายเป็นโคราชหรือนครราชสีมา

                อย่างไรก็ตาม เมืองนครราชสีมาในปัจจุบันก็มิอาจจะบอกได้ว่าใครเป็นผู้สร้างเพราะยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ชื่อนครราชสีมาก็ปรากฏขึ้นแล้ว เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองนครราชสีมาขึ้นใหม่ให้เป็นเมืองหน้าด่านที่มั่นคง และได้กลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทางภาคอีสาน

                นครราชสีมาหรือเมืองโคราช เป็นเมืองหน้าด่านแรกแห่งดินแดนที่ราบสูงหรือประตูเปิดเข้าไปสู่อีสาน ดินแดนอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ และเป็นเมืองที่มีความใหญ่โตสมกับเป็นเมืองเจ้าพระยามหานครในอดีตจริงๆ ดังได้กล่าวมาแล้วว่า นครราชสีมาเป็นเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นจากเมืองโบราณสองเมือง ในสมัยทวาราวดี คือเมืองเก่าเสมาและเมืองโคราฆะปุระ กลายมาเป็นเมืองใหม่โคราชในปัจจุบัน

                เมืองโคราชหรือนครราชสีมาได้กลายมาเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า เมืองย่าโม ก็เพราะว่าต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เกิดเหตุการณ์สำคัญในบ้านเมือง เจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นประเทศราชของไทย ได้ก่อกบฏยกทัพเข้ามาในภาคอีสาน โดยปลอมสาส์นอ้างว่าจะเข้ามาช่วยรบกับอังกฤษ เมื่อความลับถูกเปิดเผยขณะที่เข้าเมืองนครราชสีมา เมื่อรู้ข่าวว่าทางกรุงเทพฯ ได้ส่งทัพขึ้นมาปราบ เจ้าอนุวงศ์จึงกวาดต้อนเชลยชาวโคราชกลับไปเวียงจันทน์ด้วย

                ดังนั้น คุณหญิงโมจึงรวมผู้คนที่ตกเป็นเชลยกระทำการสู้รบกับทหารของเจ้าอนุวงศ์เจ้าเมืองเวียงจันทน์จนทหารเวียงจันทน์แตกพ่ายไปจนหมดสิ้น ที่ทุ่งสำริด

                จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ทำให้คุณหญิงโมแห่งเมืองโคราชได้กลายเป็นวีรสตรีผู้กล้าหาญและได้รับการยกย่องถึงวีรกรรมอันห้าวหาญเด็ดเดี่ยวเยี่ยงบุรุษเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยทั้งมวล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโมขึ้นเป็น ท้าวสุรนารี วีรสตรีของชาติมาจนถึงทุกวันนี้

                ศิลปวัตถุของเมืองนครราชสีมา ส่วนใหญ่จะเป็นพระยุคขอมหรือเขมร มีสมัยทวาราวดีบ้าง ด้านพระเครื่องที่เป็นพระกรุนั้นมีน้อย ที่สำคัญและมีชื่อเสียงได้แก่ พระกรุวัดสะแก ดังจะได้อธิบายพอเป็นสังเขป


ข้อมูลอ้างอิง : คัดลอกมาจาก "หนังสือ อมตพระกรุ"
ทางทีมงานขอขอบคุณทางเจ้าของหนังสือมา ณ โอกาสนี้



Top