ประวัติ เมืองพระนครศรีอยุธยา - พระกรุ - webpra

เมืองพระนครศรีอยุธยา

ประวัติ พระกรุ


เมืองพระนครศรีอยุธยา

กรุงศรีอยุธยา
เป็นนครอันรุ่งโรจน์ของราชอาณาจักรไทย
เริ่มตั้งแต่ปี 1893 จนถึงปี 2310
มีพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น 34 พระองค์
แบ่งเป็นราชวงศ์ได้ 5 ราชวงศ์

 

            อยุธยาเป็นนครอันรุ่งโรจน์ของราชอาณาจักรไทย แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปี 1893 ซึ่งสถาปนาขึ้นโดย “พระเจ้าอู่ทอง” ปฐมกษัตริย์ จวบจนวาระวิบัติแตกทำลายโดยฝีมือ พม่าข้าศึกเมื่อปี พ.ศ.2310 เป็นเวลา 417ปี แม้จะเป็นระยะสั้นเกินไป แต่ก็เป็นเวลาอันยาวนานพอสมควร พอที่จะเนรมิตศิลปะอันวิจิตร ซึ่งฝากไว้บนผืนปฐพีที่ชนชาวไทย จักจดจำไว้ด้วยความภาคภูมิใจ สืบต่อกันมาชั่วกาลนาน

            กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทย เริ่มตั้งแต่ปี 1893 จนถึงปี 2310 มีพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น 34 พระองค์ แบ่งเป็นราชวงศ์ได้ 5 ราชวงศ์ คือ

  1. ราชวงศ์อู่ทอง มีกษัตริย์ปกครอง 3 พระองค์ รวมระยะปกครอง 41 ปี
  2. ราชวงศ์สุพรรณภูมิ มีกษัตริย์ปกครอง 14 พระองค์ รวมระยะปกครอง 178 ปี
  3. ราชวงศ์สุโขทัย มีกษัตริย์ปกครอง 7 พระองค์ รวมระยะปกครอง 60 ปี
  4. ราชวงศ์ปราสาททอง มีกษัตริย์ปกครอง 4 พระองค์ รวมระยะปกครอง 59 ปี
  5. ราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีกษัตริย์ปกครอง 6 พระองค์ รวมระยะปกครอง 79 ปี

            งานด้านศิลปะนั้น ในสมัยอยุธยาแรกๆนั้น รับศิลปะมาจากขอม ก็คือ ศิลปะจากลพบุรีนั้นเอง ดังจะเห็นได้ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง และสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสาพระยา) ก็คือการสร้างพระปรางค์ที่วัดราชบูรณะ การสร้างพระปรางค์ที่วัดพุทไธศวรรย์ พระปรางค์วัดมหาธาตุ ฯลฯ ซึ่งพระปรางค์เหล่านี้ได้นำศิลปะแบบลพบุรีมาจำลองแทบทั้งสิ้นนอกจากนี้เรื่องพระพุทธรูปและพระเครื่อง ก็รับอิทธิพลมาเช่นกัน แต่ก็ได้นำศิลปะของอยุธยามาผสมผสานเข้าไปด้วยดังเราจะได้เห็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยายุคต้นๆจะล้อพระสมัยลพบุรีกันมาก หรือพระเครื่องก็เป็นพระที่ล้อพระสมัยลพบุรีก็มีมาก เช่น พระหูยานของกรุวัดราชบูรณะ และกรุวัดมหาธาตุ พระนาคปรกกรุพระงั่วก็สร้างแบบศิลปะลพบุรีเลยทีเดียว หรือพระยอดขุนพลกรุวัดราชบูรณะ เป็นต้น

            ในสมัยกรุงศรีอยุธยายุคต้นๆนั้น พระมหากษัตริย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดก็คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ผู้ที่สร้างวัดราชบูรณะซึ่งเป็นแหล่งที่พบพระพุทธรูป และพระเครื่องมากที่สุดนอกจากนั้นตามหลักฐานโบราณคดี พระองค์เป็นผู้สร้างพระปรางค์ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยนำแบบศิลปะของลพบุรีมาผสมผสานนั่นเอง

            ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เราทราบดีอยู่แล้วว่าในสมัยของพระองค์เฟื่องฟู ในด้านการวางรากฐานแห่งการปกครองที่ดีที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระองค์ยังได้นำเอาสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยเข้ามาประยุกต์กับศิลปะของอยุธยาด้วย โดยเราจะเห็นพระพุทธรูปและพระเครื่องบางชนิดของกรุงศรีอยุธยา มีแบบอย่างศิลปะของสุโขทัยผสมอยู่ เช่น พระหลวงพ่อโต เป็นต้น

            ในยุคกลางของกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์นอกจากจะเป็นกษัตริย์นักรบแล้วยังได้ทำนุบำรุงศาสนาอีกด้วย ดังเราจะได้เห็นพระองค์สร้างวัดป่าแก้วหรือทุกวันนี้คือ “วัดใหญ่ชัยมงคล” นั่นเอง นอกจากนั้นยังได้สร้างพระพุทธรูปและพระเครื่องอีกเป็นจำนวนมากพระเครื่องที่มีชื่อเสียงของอยุธยาที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นก็คือ “พระขุนแผนเคลือบ” โดยได้นำศิลปะของสุโขทัยมาผสมผสานด้วย

            ในยุคปลายของกรุงศรีอยุธยา เริ่มจากสมัยพระเจ้าประสาททอง เริ่มจะมีศิลปะของอยุธยาล้วนๆ ดูจากการสร้างพระพุทธรูปที่มีพระเครื่องทรงต่างๆ แต่ก็นำต้นแบบของลพบุรีมาดัดแปลง ดูจากพระพุทธรูปที่เราเรียกว่าพระบูชาทรงเครื่อง หรือบางท่านก็เรียกว่าอยุธยาหูตุ้มบ้าง ตัวอย่างก็เช่น พระพุทธรูปในวิหารของวัดหน้าพระเมรุ

            เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีถึง 417 ปี ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะล่มสลาย และมีพระมหากษัตริย์ถึง 34 พระองค์ เพราะฉะนั้น ศิลปวัตถุ ตลอดจนพระบูชาและพระเครื่อง ของกรุงศรีอยุธยาจึงมีมากมาย เพราะพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ที่ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้พากันสร้างไว้ กรุงศรีอยุธยาจึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “เมืองพระ” ดังเช่นวัดราชบูรณะวัดเดียวก็มีพระเครื่องนับร้อยชนิด วัดมหาธาตุก็ไม่น้อย ถ้าจะมาจำแนกกันทั้งหมดคงจะเป็นไปไม่ได้

            พระเครื่องของกรุงศรีอยุธยานั้นจัดว่าเป็นพระร่วมสมัย เพราะว่าได้รับอิทธิพลของหลายยุคมาผสมผสานกัน และก็มีศิลปะของอยุธยาแท้ๆ ก็ไม่ใช่น้อย แต่เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของพระเครื่องอยุธยาก็คือเป็นพระที่ทำมาจากเนื้อชินถึง 80 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นก็จะเป็นพระเนื้อดิน

           

ข้อมูลอ้างอิง : คัดลอกมาจาก "หนังสือ อมตพระกรุ"
ทางทีมงานขอขอบคุณทางเจ้าของหนังสือมา ณ โอกาสนี้



Top