ประวัติ พระพุทธไตรรัตนนายก - วัดพนัญเชิง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา - webpra

พระพุทธไตรรัตนนายก

ประวัติ วัดพนัญเชิง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

 

ประวัติวัดพนัญเชิงวรวิหาร  : คลิ๊ก

พระพุทธไตรรัตนนายก

๑. พระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) เป็นชนิดพระปูนปั้นปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง ๗ วา ๑๐ นิ้ว สูงตลอดรัศมี ๙ วา ๒ ศอก ประดิษฐ์อยู่ในพระวิหารใหญ่ตามฝาผนังพระวิหารใหญ่ทั้ง ๔  ด้าน ทำเป็นช่องๆ ไว้บรรจุพระพุทธรูป ๘๔,๐๐๐ องค์  เป็นพระขนาดเล็กตามภาษาชาวบ้านว่า  “พระงั่ง”  ในทำเนียบพระพุทธรูปกล่าวว่า  สร้างเมื่อปีชวด  พ.ศ.๑๘๖๗  ก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  ๒๖ ปี  แต่ไม่ได้ความว่าใครเป็นผู้สร้าง ได้รับการปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑  เนื่องจากไฟไหม้ผ้าห่มพระพุทธไตรรัตนนายก  ในพ.ศ.๒๔๔๔ ทำให้ชำรุดหลายแห่ง และซ่อมแซมเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๗๒  มีการทำอุณาโลมเปลี่ยนใหม่ยกขึ้นติดตามเดิมเมื่อวันที่  ๑๕  พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๒  ในปัจจุบัน ปี พ.ศ.๒๕๔๙  กำลังจะดำเนินการบูรณะครั้งใหญ่โดยจะทำการปิดทองใหม่ทั้งองค์  เพื่อให้เกิดความสวยงามเป็นที่น่าศรัทธาของพุทธศาสนิกชน

พระพุทธรูปองค์นี้ มีเรื่องอัศจรรย์อย่างหนึ่ง ซึ่งควรนำมากล่าวไว้ในนี้ด้วย คือ ตามคำให้การชาวกรุงเก่าเล่าว่า เมื่อใกล้จะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าข้าศึกนั้น  พระพุทธปฏิมากรองค์ใหญ่ในพระวิหารหลวง   วัดพนัญเชิง มีน้ำพระเนตรไหลออกทั้งสองข้างจรดพระนาภี  เหตุนี้ประชาชนจึงมีความเคารพนับถือมาก ถึงหน้าเทศกาลได้ไปประชุมกันนมัสการเป็นประจำทุกๆ ปี

๒. ภายในพระอุโบสถวัดพนัญเชิงนี้ มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ ๓ องค์ เรียงจากซ้ายไปขวา ดังนี้
๒.๑ พระพุทธรูปทอง สมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๓ นิ้ว สูงจากฐานถึงยอดพระเศียร ๔ ศอก ๓ นิ้ว
๒.๒ พระพุทธรูปปูนปั้น สมัยอยุธยาปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ ศอก สูงจากฐานถึงยอดพระเศียร ๕ ศอก ๑๑ นิ้ว
๒.๓ พระพุทธรูปนาก สมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๑๓ นิ้ว สูงจากฐานถึงยอดพระเศียร ๕ ศอก

พระพุทธรูปทองและนาคนั้น สันนิษฐานว่าสร้างสมัยตอนปลายสุโขทัยราว พ.ศ. ๑๙๐๐ เดิมทีเดียวหุ้มปูนลงรักปิดทองไว้  เข้าใจว่าคงหุ้มมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งสุดท้าย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐  ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙  ทางวัดจัดทำความสะอาดจึงได้พบรอยปูนกระเทาะออก เห็นว่าเป็นทองและนาค จึงได้กระเทาะปูนออกดังปรากฏเห็นอยู่ในทุกวันนี้

 

ข้อมูลอ้างอิงเว็บไซต์ทางวัด : http://www.watphananchoeng.com


 

เรื่องเล่าจากหนังสือไหว้พระประธาน 76 จังหวัด
 ( กองบรรณาธิการข่าวสด สำนักพิมพ์มติชน )

พระพุทธไตรรัตนนายก

‘พระพุทธไตรรัตนนายก’
วัดพนัญเชิง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

“วัดพนัญเชิงวรวิหาร” เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก
ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
เป็นวัดที่สร้างมาก่อน สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง
ก่อนการสร้างกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง

ตามหนังสือพงศาวดารเหนือ ระบุว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง
ณ บริเวณที่พระราชทานเพลิงศพพระนางสร้อยดอกหมาก
ส่วนที่มาของคำว่า พนัญเชิงนั้น ตามตำนานมูลศาสนา กล่าวว่า
เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า พะแนงเชิง ซึ่งแปลว่า การนั่งพับเพียบ
ซึ่งเป็นอาการที่พระเจ้าสายน้ำผึ้ง
และพระนางสร้อยดอกหมากใช้ในวาระสุดท้ายของเรื่อง

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ศัพท์ที่ใกล้เคียงพบว่า
คำว่าพะแนงเชิง ทางภาษาปักษ์ใต้หมายถึงอาการนั่งแบบขัดสมาธิ

พระประธานในพระอุโบสถ เรียกกันว่า “พระโต” หรือ “หลวงพ่อโต”
หรือ “หลวงพ่อพนัญเชิง” ชาวจีนเรียกว่า “ซำปอกง”
โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก”

เป็นพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองตอนปลาย ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ
มีพัดยศขนาดใหญ่ตั้งอยู่เบื้องหน้า องค์พระปั้นด้วยปูนลงรักปิดทอง
มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑๔.๒๐ เมตร สูง ๑๙.๒๐ เมตร
ในพงศาวดารระบุว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์แห่งอโยธยา
เป็นผู้สร้างไว้ และพระราชทานนามว่า วัดพระเจ้าพระนางเชิง
เข้าใจว่าพระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นพร้อมกับวัด และสร้างไว้กลางแจ้ง

ในจดหมายเหตุของแคมเฟอร์เขียนครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า
พระพุทธรูปองค์นี้เป็นของมอญ
ในหนังสือภูมิสถานอยุธยาว่าเป็นของพระเจ้าสามโปเตียน
ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากภาษาจีนว่า ซำปอกง แปลว่า รัตนตรัย

พระพุทธรูปองค์นี้ คนไทยเรียกทั่วไปว่า หลวงพ่อโตหรือหลวงพ่อพนัญเชิง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงซ่อมครั้งหนึ่ง
และต่อมาพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาคงจะซ่อมแซมกันต่อมาอีกหลายพระองค์

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระปฐมบรมราชจักรีวงศ์ รัชกาลที่ ๑
ได้ทรงปฏิสังขรณ์และได้รับการบูรณะต่อมาหลายพระองค์
โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะใหม่ทั้งองค์ เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๓๙๗
แล้วพระราชทานนามพระพุทธรูปว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก”

พ.ศ.๒๔๔๔ เกิดเพลิงไหม้ผ้าห่มพระเจ้าพนัญเชิง
ทำให้องค์พระชำรุดร้าวแตกรานหลายแห่ง
โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมกลับคืนดังเดิม
เสด็จพระราชดำเนินทรงปิดทองแล้วมีสมโภช

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
องค์พระส่วนพระหนุ (คาง) พังทลายลงมาจนถึงพระปรางค์ทั้งสองข้าง
ได้ซ่อมแซมจนเสร็จเรียบร้อยภายในเวลา ๑ ปี
ครั้งนั้นได้เปลี่ยนพระอุณาโลมจากทองแดงเป็นทองคำด้วย

ในรัชกาลปัจจุบันมีการปฏิสังขรณ์ ลงรักปิดทองใหม่ทั้งองค์
๒ ครั้งแล้ว คือ ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ กับปี พ.ศ.๒๕๓๔-๒๕๓๖

ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่า
ครั้งที่สองนั้นพระพุทธรูปองค์นี้มีน้ำพระเนตรไหลออกมาทั้งสองข้าง

หลวงพ่อโต เป็นที่นับถือของชาวไทยและชาวจีน มักจะมากราบไหว้
โดยเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้น การค้าขายเจริญก้าวหน้า
พุทธศาสนิกชนส่วนมากจะนำผ้ามาห่มองค์พระ
มักนิยมนำผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ อาหารคาวหวานมาสักการะ

งานประจำปีใหญ่ๆ ๔ งาน ก็เป็นงานที่เนื่องด้วยประเพณีจีน ๒ งาน
คือ งานสงกรานต์ วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นงานใหญ่มีการนมัสการ
และเวียนเทียนประทักษิณรอบองค์พระติดต่อกันถึง ๕ วัน

งานสรงน้ำและห่มผ้าถวาย วันแรม ๘ ค่ำ เดือนเมษายน
มีการสรงน้ำและเปลี่ยนผ้าห่มผืนใหม่ ส่วนผืนเก่าที่ใช้มาตลอด ๑ ปี
จะฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ แจกจ่ายให้ผู้คนนำไปบูชา

งานทิ้งกระจาดหรืองานงิ้ว เดือน ๙ จะมีงิ้วและมหรสพอื่นๆ
เล่นประชันกันอย่างครึกโครม จะมีผู้คนนับหมื่นหลั่งไหลกันมานมัสการ
นับเป็นงานทิ้งกระจาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยทีเดียว

งานตรุษจีนเป็นงานใหญ่อีกงานหนึ่ง
จะมีการเปิดประตูพระวิหารหลวงไว้ทั้งวันทั้งคืนตลอด ๕ วันที่จัดงาน

คาถาบูชาพระพุทธไตรรัตนนายก (หลวงพ่อโต) วัดพนัญเชิง มีดังนี้
“ตั้งนะโม ๓ จบ อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ,
ทุติยัมปิ อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ,
ตะติยัมปิ อิมินา สักกาเรนะ พุทธัง อะภิปูชะยามิ”

วัดแห่งนี้มีผู้เดินทางมาสักการะตลอดทั้งปี
ทางกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ และโบราณสถานแห่งชาติ

ปัจจุบันมี พระราชรัตนวราภรณ์ (นพปฎล (แวว) กตสาโร) เป็นเจ้าอาวาส
พัฒนาวัดเป็นศูนย์รวมทางการศึกษาของพระสงฆ์และสามเณร
เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้มาชมและกราบไหว้พระพุทธรูป
มากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

ข้อมูลอ้างอิง : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=16708

Top