ประวัติ วัดกลาง - ตำบลกาฬสินธุ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ - webpra

วัดกลาง

ประวัติ ตำบลกาฬสินธุ์ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

 

วัดกลาง จังหวัดกาฬสินธุ์

          วัดกลาง สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๗ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับผู้สร้าง และเจ้าอาวาสรูปแรกวัดกลางกาฬสินธุ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีพื้นที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๕๕ ตารางวา ลักษณะพื้นที่ของวัด เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แนวจากทิศเหนือจดใต้ เป็นด้านยาว ๑๒๖.๘๓ เมตร จากทิศตะวันออกจดตะวันตก เป็นด้านกว้าง ๙๙ เมตร วัดกลางกาฬสินธุ์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๐ เขต วิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๑ โดยเป็นวัดที่มีเฉพาะที่ตั้งวัดเท่านั้น ไม่มีที่ธรณีสงฆ์หรือที่กัลปนา วัดกลางกาฬสินธุ์ มีการเปลี่ยนแปลงและเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ จนกระทั่งถึงสมัย พระเทพวิสุทธาจารย์ (สุข สุขโณ) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ที่ได้มีการพัฒนาวัดทั้งในด้านวัตถุ การศึกษา และการปฏิบัติธรรม มีการปลูกสร้างเสนาสนะอย่างถาวรได้มาตรฐานและถูกต้อง ตามศิลปกรรมไทย เป็นพุทธสถาน แหล่งปฏิบัติศาสนากิจ ที่ได้รับการคัดเลือกและได้รับการยกย่องชมเชยจากกรมการศาสนาให้เป็นวัดพัฒนา ตัวอย่างเกียรตินิยมดีเด่น ในปีพ.ศ.๒๕๐๙ และ พ.ศ.๒๕๑๕ ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ ได้รับคัดเลือกจากกรมการศาสนาให้เป็น สำนักเรียนดีเด่นในด้านการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งได้เปิดสอน ๓ แผนก คือ
- แผนกบาลี เปิดสอนในระดับเปรียญธรรม ๑ ประโยค ถึง เปรียญธรรม ๕ ประโยค
- แผนกธรรม เปิดสอนตั้งแต่นักธรรมตรี ถึงนักธรรมเอก
- แผนกสามัญ เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดกลางกาฬสินธุ์ ซึ่งเปิดสอนมา ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๙ จนถึงปัจจุบัน

          วัดกลางกาฬสินธุ์ เป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนกิจสำคัญต่างๆ ของจังหวัด โดยมีพระธรรมวงศาจารย์ (สุข สุขโณ) เป็นเจ้าอาวาสวัดกลางกาฬสินธุ์มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๘ -ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๑) ภายในวัดกลางกาฬสินธุ์ ยังประกอบไปด้วยศาสนสถาน ศาสนวัตถุ และโบราณวัตถุที่สำคัญต่างๆ อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียง และยังเป็นศูนย์รวมแห่งสรรพวิทยาความรู้ ทั้งทางโลกและทางธรรม ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง

 

          พระอุโบสถวัดกลางกาฬสินธุ์ พระอารามหลวง มีพระอุโบสถที่งดงามประดับด้วยลวดลายปูนปั้นที่หน้าบัน บานประตู หน้าต่างแกะสลักด้วยไม้เป็นภาพพุทธประวัติ ผนังด้านบนภายในพระอุโบสถเป็นภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับมหาชาติหรือเวสสันดรชาดก ๑๓ กัณฑ์ ทั้ง ๓ ด้าน ส่วนผนังด้านตรงข้ามกับพระพุทธรูปพระประธานเป็นภาพมารผจญ ที่กำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ มีประติมากรรมนูนต่ำทั้งภายในและภายนอก ภายในเป็นนิทานพื้นบ้านอีสาน ส่วนภายนอกเป็นเรื่องเกี่ยวกับผญา คติพื้นบ้านต่างๆ มีคำอธิบายประกอบภาพ ซึ่งการปั้นภาพประติมากรรมนูนต่ำ และคำบรรยายประกอบภาพเหล่านี้เกิดจากความคิด และแรงบันดาลใจของ พระธรรมวงศาจารย์ (สุข สุขโณ) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

 

          นอกจากนี้วัดกลางกาฬสินธุ์ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณสำคัญ คือ พระพุทธรูปองค์ดำ พระพุทธสัมฤทธิ์นิรโรคันตราย (หลวงพ่อซุ่มเย็น) เป็นพระพุทธรูปที่ชาวกาฬสินธุ์เชื่อว่าเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ที่จะอัญเชิญออกมาแห่เพื่อขอฝนเสมอ นอกจากนี้ยังมีพระสังข์กัจจายญน์ รอยพระพุทธบาทจำลองสลักจากหินทราย ที่นำมาจากวัดแก่งสำโรงริมฝั่งลำน้ำปาว โดยพระยา ไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ในสมัยรัชกาลที่ ๕

ข้อมูลอ้างอิง :http://www.dhammathai.org/watthai/northeast/watklang-kalasin.php

Top