ประวัติ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร - วัดประจำรัชกาลที่ ๖ - webpra

วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร

ประวัติ วัดประจำรัชกาลที่ ๖

 

วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร

          วัดบวรนิเวศวิหาร   เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก   ชนิดราชวรวิหาร  ฝ่ายธรรมยุต  ตั้งอยู่ริมถนนบวรนิเวศ  และถนนพระสุเมรุ  ในท้องที่แขวงวัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุเทพมหานคร    สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๓ทรงสร้างใหม่ในรัชกาลนั้น ที่ทำการปลงศพเจ้าจอมมารดา(น้อย) ซึ่งเป็นเจ้าจอมของพระองค์เจ้าดาราวดี พระราชชายา  ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๗ และพ.ศ. ๒๓๗๕ (ปีระหว่างอุปราชาภิเษกและสวรรคตของสมเด็จพระบวรราชเจ้าพระองค์นั้น) ใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาสที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๖ ซึ่งต่อมาภายหลังพระบาทสมเด็จมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าร่วงโรยมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกับวัดบวรนิเวศวิหารเสีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ซึ่งในปัจจุบันยังคงเรียกส่วนที่เป็นวัดรังษีสุทธาวาสมาเดิมว่า "คณะรังษี"

          วัดนี้ เดิมเรียก "วัดใหม่" น่าจะได้รับพระราชทานชื่อวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุราชาธิราส เจ้าฟ้ามงกุฏฯ ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุประทับอยู่วัดสมอราย (คือวัดราชาธิวาสในปัจจุบัน) เสด็จมาอยู่ครองเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ สมเด็จพระบวรราชเจ้าพระองค์นั้น เสด็จสรรคตเมื่อต้น พ.ศ. ๒๓๗๕ เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ได้ทรงตั้งเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวร (ไม่ได้ทรงตั้งจนตลอดรัชกาล)

          เมื่อทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุราชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฏฯ เสด็จมาครองวัดใหม่ ก็ได้โปรดให้เสด็จเข้าไปทรงเลือกของในพระบวรราชวังก่อน มีพระประสงค์สิ่งใด พระราชทานให้นำมาได้ ข้อนี้มีหลักฐานสมจริง พระไตรปิฎกฉบับวังหน้าที่วัดนี้ มีกรอบและผ้าห่อสายรัดอันวิจิตร กรอบเป็นทองคำลงยาก็ เป็นถมตะทองก็มี เป็นงาสลักก็มี ประดับมุกก็มี  เป็นของประณีตเกินกว่าทำถวายวัด เข้าใจว่าเป็นหนังสือที่ทรงสร้างไว้สำหรับพระราชวังบวร แม้เหล่านี้บางทีจะทรงเลือกเอามาในครั้งนั้นก็ได้ การที่โปรดให้เข้าไปทรงเลือกของในพระราชวังบวรและพระราชทานชื่อวัดที่เสด็จประทับอยู่ว่า "วัดบวรนิเวศวิหาร" ย่อมเป็นเหมือนประกาศให้รู้ว่า ทรงเทียบสมเด็จพระอนุราชาธิราส เจ้าฟ้ามงกุฏฯ ไว้ในฐานะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำแหน่งมหาอุปราช เพื่อป้องกันความสำคัญในการสืบราชสมบัติ  เพราะคำว่า "บวรนิเวศ" เทียบกันได้กับ "บวรสถาน" ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเทียบได้กับ "วังบน" อันเป็นคำเรียกพระราชวังบวรอีกชื่อหนึ่ง มีคำเล่ากันว่า เมื่อสมเด็จพระอนุราชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฏฯ ทรงเลือกเอาหนังสือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงทราบว่ายังไม่ทรงลาผนวช  และได้เชิญเสด็จสมเด็จพระอนุราชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฏฯ มาครองวัดนี้ในพุทธศักราช ๒๓๗๙ โดยจัดขบวนแห่เหมือนอย่างพระมหาอุปราช

ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่  ทรงได้ปรับปรุงวางหลักเกณฑ์ความประพฤติ  ปฏิบัติของพระสงฆ์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามพระธรรมวินัย  โดยมีพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระองค์เป็นอันมาก  ในคราวที่พระองค์เสด็จมาครองวัดก็ได้นำเอาการประพฤติ ปฏิบัตินั้นมาใช้ในการปกครองพระสงฆ์ ณ วัดนี้ด้วย ซึ่งในครั้งเดิมเรียกพระสงฆ์คณะนี้ว่า บวรนิเวศาทิคณะ”  อันเป็นชื่อสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาจึงได้ชื่อว่า คณะธรรมยุติกนิกาย  ซึ่งแปลว่าคณะสงฆ์ผู้ซึ่งปฏิบัติตามพระธรรมวินัย  จึงถือว่าวัดบวรนิเวศวิหาร  เป็นสำนักเอกเทศแห่ง  คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายเป็นวัดแรก

         ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า วัดรังษีสุทธาวาสซึ่งอยู่ติดกับวัดบวรนิเวศวิหารนั้นมีสภาพทรุดโทรมมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมเข้าเป็นวัดเดียวกับวัดบวรนิเวศวิหาร เรียกว่า คณะรังษี  และหลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสรีรังคารมาบรรจุไว้   ณ ใต้บัลลังก์พระพุทธชินสีห์ในพระอุโบสถ เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘    


     
   วัดบวรนิเวศวิหาร มีเจ้าอาวาสปกครอง นับแต่พุทธศักราช ๒๓๗๙ มาโดยลำดับตามนี้
๑. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทววงศ์  ทรงครองวัดระหว่างพุทธศักราช ๒๓๗๙ ๒๓๙๔

๒. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 
(พระองค์เจ้าฤกษ์พระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑)   สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๘  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์   ทรงปกครองวัดระหว่าง พุทธศักราช ๒๓๙๔ ๒๔๓๕

๓. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ พระราชโอรส ลำดับที่ ๔๗ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)  สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่  ๑๐  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์   ทรงปกครองวัดระหว่าง พุทธศักราช ๒๔๓๕ ๒๔๖๔

๔. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ 
(หม่อมราชวงศ์ชื่น  สุจิตฺโต  นภวงศ์)  สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงปกครองวัดระหว่าง พุทธศักราช ๒๔๖๔  ๒๕๐๑ 

. พระพรหมมุนี (ผิน  สุวโจ  ธรรมประทีป ปกครองวัดระหว่าง พุทธศักราช ๒๕๐๑ ๒๕๐๔


๖. สมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ  สุวฑฺฒโน คชวัตร สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่  ๑๙  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ทรงปกครองวัดตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๔ จนถึงปัจจุบัน  

วัดบวรนิเวศวิหาร  นับเป็นพระอารามที่มีความสำคัญทั้งในทางคณะสงฆ์และในทางบ้านเมือง  กล่าวคือ

           ในทางคณะสงฆ์  วัดบวรนิเวศวิหาร  เป็นจุดกำเนิดของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย  เพราะเป็นที่เสด็จสถิตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ขณะยังทรงผนวชอยู่และทรงดำริริเริ่มปรับปรุงวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์อันเป็นเหตุให้เกิดเป็นพระสงฆ์คณะธรรมยุตขึ้นในเวลาต่อมา วัดบวรนิเวศวิหารจึงนับว่าเป็นวัดแรกและวัดต้นแบบของคณะธรรมยุต  ธรรมเนียมประเพณีและแบบแผนต่าง ๆ  ของคณะธรรมยุตได้เกิดขึ้น  ณ  วัดนี้

           วัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่เสด็จสถิตของสมเด็จพระสังฆราช  องค์ประมุขของคณะสงฆ์ไทยถึง    พระองค์คือ  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  กรมหลวงวชิรญาณวงศ์  สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช

          วัดบวรนิเวศวิหาร  เป็นแหล่งกำเนิดการศึกษาของคณะสงฆ์คือ  เป็นที่กำเนิด  มหามกุฏราชวิทยาลัย  สถานศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร  ซึ่งได้พัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทยในปัจจุบัน  เป็นที่กำเนิดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม  ที่เรียกกันสั้น ๆ  ว่า  นักธรรม”  อันเป็นการศึกษาขึ้นพื้นฐานของคณะสงฆ์ไทย

          วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของไทย  ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักคือพระพุทธชินสีห์  และพระศรีศาสดา  ซึ่งสร้างโดยพระมหาธรรมราชาลิไทย  สมัยกรุงสุโขทัย                  สมัยเดียวกับพระพุทธชินราช  และทั้ง  ๓  องค์เคยประดิษฐานอยู่ด้วยกัน  ณ  วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ                  จังหวัดพิษณุโลก  นอกจากนี้  ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทคู่บนศิลาแผ่นใหญ่สมัยสุโขทัย  และพระไสยา  (คือพระนอน)  ที่งดงามสมัยสุโขทัยด้วย

           ในทางบ้านเมือง  วัดบวรนิเวศวิหารได้เคยเป็นที่ตั้งกองบัญชาการศึกษาหัวเมือง  เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดให้มีการจัดการศึกษาหัวเมืองทั่ว    พระราชอาณาจัก  เมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๔๑  โดยทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส  ให้ทรงอำนวยการในการจัดการศึกษาในหัวเมือง  อันเป็นการวางรากฐานการประถมศึกษาของไทย

           วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่เสด็จออกทรงผนวชทุกพระองค์              คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  ๔  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  ๕  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๖  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  ๗  และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่  รัชกาลที่  ๙  ตลอดถึงพระบรมวงศ์ชั้นสูงที่ทรงผนวชเกือบทุกพระองค์  ตั้งแต่รัชกาลที่  ๔  ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

ข้อมูลอ้างอิง : http://www.watbowon.com/
สำหรับท่านใดที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าลิ้งเว็บไซต์ทางวัดจากข้อมูลอ้างอิง

Top