ประวัติ วัดปากน้ำ - แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร - webpra

วัดปากน้ำ

ประวัติ แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

 

วัดปากน้ำ
สถานที่ตั้ง

          วัดปากน้ำ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ปัจจุบัน (๒๕๕๑) ตั้งอยู่เลขที่ ๓๐๐ ถนนรัชมงคลประสาธน์ (เดิมเลขที่ ๘ ถนนเทอดไท)  แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๖๐ มีเนื้อที่ ๒๐ ไร่เศษ โดยมีอาณาเขตดังนี้
- ทิศเหนือ จรดคลองบางกอกใหญ่
- ทิศตะวันออก จรดคลองด่าน
- ทิศใต้ จรดคลองโบราณขนาดเล็กที่แบ่งเขตกับวัดอัปสรสวรรค์
- ทิศตะวันตก ด้านเหนือจรดคลองภาษีเจริญและทางสาธารณะ
- ทิศตะวันตก ด้านใต้ติดกับโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ และโรงเรียนสุภาคมศึกษา 
    

ชื่อและการสร้างวัด

         วัดปากน้ำ ตั้งอยู่ ณ ที่ราบลุ่มบางกอกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ริมคลองหลวงหรือ คลองบางกอกใหญ่ อันเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาเดิม ก่อนที่จะมีการขุดคลองลัดหน้าวัดอรุณราชวรารามและ กลายเป็นลำแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน

         เนื่องจากวัดตั้งอยู่บริเวณปากคลองด่านที่แยกไปจากคลองบางหลวงอีกทีหนึ่ง ชื่อของวัดจึงถูกเรียกขานตามตำบลที่ตั้งว่า วัดปากน้ำ ซึ่งชื่อนี้มีปรากฏเรียกใช้ในจดหมายเหตุโบราณหลายฉบับ แต่ได้พบชื่อของวัดที่แปลกออกไปในแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๔๕๓ และ พ.ศ. ๒๔๗๔ ว่า วัดสมุทธาราม แต่ไม่เป็นที่นิยมเรียกขานกันอย่างนั้น คงเรียกว่า วัดปากน้ำ มา โดยตลอด    ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มีการขุดคลองภาษีเจริญที่ ข้างวัดด้านทิศตะวันตก วัดจึงมีลำน้ำหลักล้อมอยู่ทั้ง ๓ ด้าน ส่วนด้านใต้เป็นคลองเล็กแสดงอาณาเขตของวัดในสมัยก่อน

 
วัดปากน้ำ เป็นวัดโบราณสร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ( ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๑-๒๑๗๒) สถาปนาโดยพระราชวงศ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ปรากฏพระนามแน่ชัด เป็นวัดประจำหัวเมืองธนบุรี ปรากฏในตำนานเรื่องวัตถุสถานต่างๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง สถาปนาว่าเป็นพระอารามหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยา อันหมายถึงพระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินหรือพระมเหสีทรงสถาปนาตั้งแต่สมัยกรุง ศรีอยุธยานั้น หลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณสถานภายในวัดมีอายุย้อนไปถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง ได้พบร่องรอยคลองเล็กด้านทิศใต้และทิศตะวันตกของวัด ที่โบราณขุดไว้เป็นแนวเขตที่ดินของวัดหลวงสมัยอยุธยา ที่ตั้งของวัดปากน้ำจึงมีลักษณะเป็นเกาะรูปสี่เหลี่ยมมีน้ำล้อมอยู่ทุกด้าน สถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุที่อยู่คู่วัดมาเช่น หอพระไตรปิฏก ตู้พระไตรปิฎกทรงบุษบก ล้วนเป็นฝีมือช่างหลวงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และตัวพระอุโบสถก็ใช้เทคนิคการก่อสร้างในสมัยนั้น ได้ค้นพบนามเจ้าอาวาส ๑ รูป ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) คือ พระครูธนะราชมุนี วัด ปากน้ำ ได้มีบทบาทสำคัญมาแต่โบราณเพราะได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวงที่อยู่นอกกรุง ศรีอยุธยา เป็นวัดสำคัญประจำหัวเมืองหน้าด่านทางทะเล
 

ในจดหมาย เหตุสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคถวายผ้าพระ กฐินหลวง ณ วัดปากน้ำ ตลอดรัชกาลวัดปากน้ำได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด คือ ได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์จากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในการซ่อมหลังคา พระอุโบสถคราวหนึ่ง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และให้คงรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้

 
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕  ทางวัดได้รับพระบรมราชานุญาตให้พระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำพร้อมทั้งอุบาสกและอุบาสิกาบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เกือบ ทั้งอารามโดยให้อนุรักษ์ศิลปะเดิมไว้ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์นำพระกฐินหลวงมาถวายตลอดรัชกาล
 
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ วัดปากน้ำได้ชำรุดทรุดโทรมลง ไม่มีเจ้าอาวาสประจำพระอาราม มีแต่ผู้รักษาการที่อยู่ในอารามอื่น ทางเจ้าคณะปกครองได้ส่ง พระสมุห์สด จนฺทสโร จาก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งท่านได้กวดขันพระภิกษุสามเณรให้ปฏิบัติในพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญได้มีการสอนสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมตั้งสำนักเรียนทั้งนักธรรมและบาลี สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ทันสมัยที่สุดในสมัยนั้น ทำให้พระภิกษุสามเณร และสาธุชนเข้ามาขอศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก วัดจึงเจริญขึ้นมาโดยลำดับ กลายเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติธรรม และเป็นศูนย์กลางการศึกษาบาลี ท่านได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์มาโดยลำดับ สมณศักดิ์สุดท้ายในพระราชทินนามที่ พระมงคลเทพมุนี แต่ผู้คนทั่วไปรู้จัก และเอ่ยขานนามท่านว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำ
 
ในสมัยสมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณณสิริ)ดำรง ตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาส วัดปากน้ำได้รับการปรับปรุงทัศนียภาพและบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญ เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร ช่างได้เปลี่ยนสถาปัตยกรรมเครื่องบนเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์เกือบทั้ง อาราม แต่ตัวรากฐานและอาคารยังคงเป็นของโบราณแต่เดิมมา
 
ถึงสมัยเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ( ช่วง วรปุญโญ ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำรูปปัจจุบัน วัดปากน้ำได้พัฒนาอย่างมากในด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม มีพระภิกษุสามเณรสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยคในนามวัดปากน้ำเป็น จำนวนมาก และการปฏิบัติภาวนาตามแนวหลวงพ่อวัดปากน้ำก็ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้มี สถานที่ปฏิบัติ คือ หอเจริญวิปัสสนาเป็นเอกเทศ มีผู้เข้าปฏิบัติเป็นจำนวนมากทุกวัน และได้มีการสร้างพระมหาเจดีย์มหารัช มงคล บูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ปรับปรุงทัศนียภาพในหลายๆ ด้าน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของวัดปากน้ำ
 

ลำดับเจ้าอาวาส
          ในส่วนเจ้าอาวาสผู้ปกครองวัดปากน้ำตั้งแต่แรกเริ่มสร้างมาจนถึงปัจจุบันนั้น สามารถจำแนกออกตามสมัยต่าง ๆ ดังนี้

สมัยกรุงศรีอยุธยา
          เจ้าอาวาสในสมัยอยุธยาสืบค้นได้ยาก เนื่องจากเมืองธนบุรี เป็นเมืองลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยา การตั้งพระราชาคณะหรือพระครูหัวเมืองมีบันทึกไว้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม ในเอกสารโบราณสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุนิยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์ พ.ศ. ๒๓๐๑-๒๓๑๐) ได้ระบุนามพระครูหัวเมืองธนบุรีไว้ ๑ รูป เนื่องจากวัดปากน้ำเป็นพระอารามหลวงสมัยอยุธยา ในเมืองธนบุรีพระอารามหลวงสมควรเป็นสถิติของพระราชาคณะ หรือพระครูหัวเมือง ปรากฏนาม ดังนี้
พระครูธนะราชมุนี พ.ศ. ๒๓๑๐ - ?

สมัยกรุงธนบุรี
พระธรรมโฆษา (พระธรรมโกศา) พ.ศ. ? – ๒๓๒๕

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
๑. พระเทพกระวี (พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๕๒)
๒. พระบวรญาณมุนี (พ.ศ. ๒๓๕๒-๒๓๘๖)
๓. พระญาณโพธิ (พ.ศ. ๒๓๘๖-๒๔๐๖)
๔. พระครูสมณธรรมสมาทาน (มี) (พ.ศ. ๒๔๐๖-๒๔๒๖)
๕. พระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) (พ.ศ. ๒๔๒๖-๒๔๕๘)
๖. พระครูพุทธพยากรณ์ (เจริญ อุปติสฺโส) รักษาการ (พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๔๕๙)
๗. พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) (พ.ศ. ๒๔๕๙-๒๕๐๒)
๘. สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ) รักษาการ (พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๐๘)
๙. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ. ๙) (พ.ศ. ๒๕๐๘-ปัจจุบัน)

 
มัคนายก หรือ ไวยาวัจกร

กล่าว ถึง ไวยาวัจกร ผู้ทำกิจธุระแทนสงฆ์ หมายถึง คฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต และจะมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดได้ตามที่เจ้าอาวาสมอบ หมายเป็นหนังสือ คฤหัสถ์ผู้ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าอาวาสเป็นไวยาวัจกร ถือเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยเจ้าอาวาสจะแต่งตั้งไวยาวัจกรคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ บางวัดอาจจะมีมัคนายกและไวยาวัจกรเป็นคนละคนกัน หรือบางวัดมัคนายกอาจจะทำหน้าที่ไวยาวัจกรไปด้วย สำหรับวัดปากน้ำ ปรากฏนามของมัคนายกและไวยาวัจกร ดังนี้

๑. นายหลง (ไม่ปรากฏนามสกุล) พ.ศ. ?- ๒๔๕๓
๒. นายโฉม พร้อมลาภ พ.ศ. ๒๔๖๕ – ๒๔๗๑
๓. นายประยูร สุนทารา พ.ศ. ๒๔๗๒ – ๒๕๐๒
๔. นายกุล ผ่องสุวรรณ พ.ศ. ๒๕๐๓ – ๒๕๓๓
๕. นายถนอม ทรงสาละ พ.ศ. ๒๕๓๓ – ๒๕๔๖
๖. นายดำเกิง จินดาหรา พ.ศ. ๒๕๔๖ – ปัจจุบัน


ข้อมูลอ้างอิง : http://www.watpaknam.org
สำหรับท่านใดที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าลิ้งเว็บไซต์ทางวัดจากข้อมูลอ้างอิง

Top