ประวัติ วัดพนัญเชิงวรวิหาร - ตำบลคลองสวนพลู ริมลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา - webpra

วัดพนัญเชิงวรวิหาร

ประวัติ ตำบลคลองสวนพลู ริมลำน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

 

 ประวัติพระพุทธไตรรัตนนายก  : คลิ๊ก

วัดพนัญเชิงวรวิหาร

 

วัดพนัญเชิง เป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนาน ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามหนังสือพงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง และพระราชทานนามว่า วัดเจ้าพระนางเชิง  และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์กล่าวไว้ว่า ได้สถาปนาพระพุทธรูปพุทธเจ้าพแนงเชิง เมื่อปี พ.ศ. 1867 ซึ่งก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี


เหตุที่ได้นามว่า "วัดพนัญเชิง"

๑. คำว่า “พแนงเชิง” มีความหมายว่า  “นั่งขัดสมาธิ” ฉะนั้น คำว่า “วัดพนัญเชิง” “วัดพระแนงเชิง” หรือ  “วัดพระเจ้าพแนงเชิง” จึงหมายความถึงวัดแห่งพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย คือ “หลวงพ่อโต” หรือ “พระพุทธไตรรัตนนายก” นั่นเอง

๒. เพราะการสร้างพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยเป็นประธานของวัด อาจเป็นลักษณะพิเศษจึงขนานนามวัดตามพระพุทธลักษณะที่สร้างเป็นปางมารวิชัยก็ อาจเป็นได้  โดยเฉพาะพระประธานของวัดนี้เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัยที่มีขนาดใหญ่ที่ สุดในประเทศไทย

๓. เพราะสืบเนื่องมาจากตำนานเรื่องพระนางสร้อยดอกหมาก คือ เมื่อพระนางสร้อยดอกหมากกลั้นใจตายนั้น  พระนางคงจะนั่งขัดสมาธิ   เพราะชาวจีนนิยมนั่งขัดสมาธิมากกว่านั่งพับเพียบจึงนำมาใช้เรียกชื่อวัด  บางคนก็เรียกว่า วัดพระนางเอาเชิง  ตามสาเหตุที่ทำให้พระนางถึงแก่ชีวิต

ฉะนั้น   ถ้าเรียกนามวัดตามความหมายของคำแล้ว    คำว่า  “ วัดพนัญเชิง” ก็ย่อมหมายความถึงวัดที่มีพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ คือหลวงพ่อโต  หรือพระพุทธไตรรัตนนายกนั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  ทรงอาศัยเหตุที่เรียกชื่อวัดนี้ไปต่าง ๆ กัน  จึงโปรดให้ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาเกี่ยวกับชื่อวัดพนัญเชิงไว้ดังนี้

วัดพนัญเชิง” อีกคำหนึ่งว่า  “วัดพระเจ้าพนัญเชิง”  ให้คงเรียกอยู่อย่างเดิมอย่าอุตริเล่นลิ้น  เรียกว่าผนังเชิง เพราะเขาเรียกอย่างนั้นทั้งบ้านทั้งเมืองมาแต่ไหนๆมาแปลงว่าผนังเชิงก็ไม่ เพราะ  จะเป็นยศเป็นเกียรติอะไร  สำแดงแต่ความโง่ของผู้แปลงไม่รู้ภาษาเดิมว่าเขาตั้งว่า “พนัญเชิง” ด้วยเหตุไรประการหนึ่ง วัดนั้นเป็นวัดราษฎรไทยจีนเป็นอันมากเขาถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ ก็เจ้าของเดิมตั้งชื่อนั้นไว้จะเป็นผีสางเทวดาสิงสู่อยู่อย่างไรก็ไม่รู้ มาแปลงขึ้นใหม่ ๆ ดูเหมือนผู้แปลงก็ไม่สู้จะสบาย ไม่พอที่ย้ายก็อย่ายกไปเลย  ให้คงไว้ตามเดิมเถิด”


พระพุทธไตรรัตนนายก วัดพนัญเชิง

ลำดับเจ้าอาวาสวัดพนัญเชิงวรวิหาร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยต้น ๆ ไม่พบหลักฐานว่า มีพระสงฆ์รูปใดเป็นเจ้าอาวาสมาบ้าง  มาปรากฏหลักฐานในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓  จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๔๙)  มีเจ้าอาวาสจำนวน ๑๓ รูป คือ


๑) พระครูมงคลเทพมุนี (ปิ่น)

  • ชาติภูมิอยู่  ต.สำเภาล่ม  อ.พระนครศรีอยุธยา  จ.พระนครศรีอยุธยา
  • มีอายุอยู่ในระหว่างรัชกาลที่ ๓ และ ๔
  • เดิมเป็นพระอธิการอยู่วัดรอ เมื่อได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูแล้ว จึงมาครองวัดพนัญเชิงฯ
  • ท่านมีคุณวุฒิชำนาญในด้านช่างไม้ จนเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว   จนได้โปรดให้เป็นผู้กำกับดูแลการซ่อมพระมณฑปพระพุทธบาท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐
  • พ.ศ. ๒๔๔๔  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ

๒) พระครูจันทรรังษี (เอี่ยม)

  • ชาติภูมิอยู่บ้านปากคลองข้าวสาร ต.สวนพลู  อ.พระนครศรีอยุธยา  จ.พระนครศรีอยุธยา
  • เดิมเป็นพระครูเอี่ยม ฐานาของพระมงคลเทพมุนี (ปิ่น)
  • ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีอายุและปกครองวัดอยู่กี่ปี

๓) พระสมุห์ (เนียม) *

  • เมื่อพระครูจันทรรังษี (เอี่ยม) มรณภาพแล้ว วัดพนัญเชิงว่างเจ้าอาวาสอยู่นานได้มีพระสมุห์เนียม รูปนี้ ซึ่งเป็นพระฐานานุกรม  เป็นผู้รักษาการวัดพนัญเชิง อยู่หลายปี

๔) พระครูจันทรรังษี (สะอาด)

  • ชาติภูมิอยู่บ้านกระเดื่อง  อ.บางบาล  จ.พระนครศรีอยุธยา
  • เดิมเป็นพระปลัดอยู่วัดสุวรรณดาราราม เมื่อได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูแล้ว จึงย้ายมาปกครองวัดพนัญเชิง ฯ
  • ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีอายุและปกครองวัดอยู่กี่ปี

๕) พระครูจันทรรัศมี (แสง)

  • ชาติภูมิอยู่  ต.สำเภาล่ม  อ.พระนครศรีอยุธยา  จ.พระนครศรีอยุธยา
  • เดิมท่านปกครองวัดรอ เมื่อได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูแล้ว จึงย้ายมาปกครองวัดพนัญเชิง ฯ
  • ปกครองวัดต่อมาจนอายุ ๖๐ ปี จึงมรณภาพ

๖) พระครูจันทรรัศมี (พลอย)

  • ชาติภูมิอยู่ ต.สวนพลู  อ.พระนครศรีอยุธยา  จ.พระนครศรีอยุธยา
  • อุปสมบท ณ วัดพนัญเชิง แล้วไปศึกษาบาลีที่วัดบพิตรพิมุข จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค แล้วย้ายกลับมาอยู่วัดพนัญเชิง  จนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูแล้วจึงเป็นเจ้าอาวาส
  • ปกครองวัดพนัญเชิงอยู่เป็นเวลารวม ๑๓ ปี (พ.ศ. ๒๔๕๕–๒๔๖๖ )  แล้วลาสิกขา

๗) พระครูจันทรรัศมี (สอน)

  • ชาติภูมิอยู่ ต.สวนพลู  อ.พระนครศรีอยุธยา  จ.พระนครศรีอยุธยา
  • อุปสมบท ณ วัดพนัญเชิง  ได้เป็นพระใบฎีกาฐานาของพระครูจันทรรัศมี (แสง)
  • ภายหลังได้สมณศักดิ์เป็นพระครูโยคานุกู ล แล้วย้ายไปอยู่วัดสุวรรณดาราราม และได้เลื่อนเป็น พระครูจันทรรัศมี จึงย้ายกลับมาครองวัดพนัญเชิงวรวิหาร
  • ปกครองวัดพนัญเชิงอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๖๖–๒๔๗๐   จึงมรณภาพ

๘) พระญาณไตรโลก (ฉาย)

  • ชาติภูมิอยู่ ต.บ้านธนู  อ.อุทัย  จ.พระนครศรีอยุธยา
  • อุปสมบทที่วัดกระสังข์  ต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูรัตนาภิรมย์ แล้วย้ายไปอยู่วัดตองปุ จนได้เลื่อนขึ้นเป็นพระครูจันทรรัศมี แล้วจึงย้ายกลับมาครองวัดพนัญเชิง
  • ภายหลังได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระญาณไตรโลก (ฉาย)
  • ปกครองวัดพนัญเชิงอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๐–๒๔๘๘

๙) พระเทพวงศาจารย์ (แกร สุมโน)

  • ชาติภูมิบ้านม่วง  หมู่ที่ ๘  ต.บ้านยาง  อ.เสาไห้  จ.สระบุรี
  • อุปสมบท ณ วัดพนัญเชิง ฯ   โดยมีพระญาณไตรโลก (ฉาย) วัดพนัญเชิง       เป็นพระอุปัชฌาย์     และสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี ป.ธ.๙) วัดมหาธาตุ กทม. (เมื่อครั้งเป็นพระศรีวิสุทธิวงศ์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
  • ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตองปุ เมื่อ ๑ ม.ค. ๒๔๗๕
  • และย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพนัญเชิง เมื่อวันที่ ๑๙ พ.ค. ๒๔๘๘
  • ปกครองวัดพนัญเชิงอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๘–๒๕๑๔
  • ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ ๑๕ พ.ย. ๒๕๐๖
  • มรณภาพเมื่อ ๒๖ ธ.ค. ๒๕๑๔   สิริรวมอายุได้ ๗๔ ปี  พรรษา ๕๔

๑๐) พระราชสุวรรณโสภณ (โกย การุณิโก)

  • ชาติภูมิอยู่ ต.  มหาพราหมณ์    อ.  บางบาล   จ. พระนครศรีอยุธยา
  • อุปสมบท ณ วัดสุวรรณดาราราม
  • เดิมอยู่วัดสุวรรณดาราราม  อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
  • ปกครองวัดพนัญเชิงอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๕ – ๒๕๒๒
  • ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๑๑) พระอดุลย์ธรรมเวที (ไวทย์  อินฺทวํโส) *

  • ชาติภูมิอยู่บ้านขนมจีน   อ.เสนา  จ.พระนครศรีอยุธยา
  • เดิมอยู่วัดสุธาโภชน์  อ.เสนา  จ.พระนครศรีอยุธยา  สอบได้เปรียญธรรม ๖  ประโยค
  • รักษาการเจ้าอาวาสวัดพนัญเชิง อยู่ในระหว่างปี  พ.ศ. ๒๕๒๒–๒๕๒๓
  • ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๑๒) พระธรรมญาณมุนี (ไวทย์ มุตฺตกาโม)

  • ชาติภูมิอยู่ตำบลบ่อโพง  อำเภอนครหลวง  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • อุปสมบท ณ  วัดบ้านดาบ   ต.บ่อโพง    อ.นครหลวง   จ. พระนครศรีอยุธยา พระอุปัชฌาย์ 

    พระครูนครวิหารคุณ  วัดปรีดาราม  อ.นครหลวง
    พระกรรมวาจารย์     พระครูโบราณคณิสสร  (พระเทพวงศาจารย์  แกร  สุมโน)
    พระอนุสาวนาจารย์  พระครูรัตนาภิรมย์  วัดโพธิ์ลอย
  • พ.ศ.  ๒๕๔๐     เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม  ที่  พระธรรมญาณมุนี
  • พ.ศ.  ๒๕๔๒     เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • พ.ศ.  ๒๕๔๖     มรณภาพเมื่อวันที่  ๑๐  พฤศจิกายน  ๒๕๔๖

๑๓) พระราชรัตนวราภรณ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อวันที่  ๕  เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน



ข้อมูลอ้างอิง : http://th.wikipedia.org/wiki/วัดพนัญเชิง
ข้อมูลอ้างอิงเว็บไซต์ทางวัด : http://www.watphananchoeng.com

Top