ประวัติวัด 01.สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) - วัดระฆังโฆสิตาราม แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย จังหวัดกรุงเทพมหานคร - webpra

01.สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)

ประวัติวัด วัดระฆังโฆสิตาราม แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย จังหวัดกรุงเทพมหานคร

 

วัดระฆังโฆสิตาราม ทัศนียภาพเมื่อมองจากกลางลำน้ำเจ้าพระยา

วัดระฆังโฆสิตาราม ทัศนียภาพเมื่อมองจากกลางลำน้ำเจ้าพระยา

 

ประวัติและความสำคัญของวัดระฆังโฆสิตาราม 

วัดระฆังโฆสิตาราม หรือ วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร 
เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๒๕๐ 
ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 

เดิมเป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดบางว้าใหญ่ (หรือบางหว้าใหญ่) 
ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ทรงสร้างพระราชวังใกล้วัดบางว้าใหญ่ 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ และขึ้นยกเป็นพระอารามหลวง
และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชในสมัยรัตนโกสินทร์ 
และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก
ซึ่งอัญเชิญมาจากนครศรีธรรมราชขึ้นที่วัดนี้

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ 
วัดบางว้าใหญ่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้านายวังหลัง 
คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (สา) 
พระเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
และเป็นพระชนนีของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงมีตำหนักที่ประทับอยู่ติดกับวัด 

ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดร่วมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 
และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้
ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ ๕ ลูก

 

จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม” 
นอกจากจะเป็นเพราะขุดพบระฆังที่วัดนี้ 
และเพื่อเป็นการฟื้นฟูแบบแผนครั้งกรุงศรีอยุธยาที่มีวัดชื่อวัดระฆังเช่นกัน 

ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “วัดระฆังโฆสิตาราม” 
เป็น “วัดราชคัณฑิยาราม” (คัณฑิ แปลว่าระฆัง) 
แต่ไม่มีคนนิยมเรียกชื่อนี้ จึงยังคงเรียกว่าวัดระฆังต่อมาจนถึงทุกวันนี้

 

พระอุโบสถ วัดระฆังโฆสิตาราม

พระอุโบสถ วัดระฆังโฆสิตาราม

ศาสนสถานและศาสนวัตถุสำคัญภายในวัด

พระอุโบสถ 

สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ หลังคาลดมุข ๓ ชั้น ประดับช่อฟ้า 
ใบระกา หางหงส์ และคันทวยที่สลักเสลาอย่างประณีตงดงาม 

สำหรับพระประธานที่ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดระฆังฯ นี้ 
เป็นพระพุทธรูปหล่อประทับนั่งปางสมาธิกั้นด้วยเศวตฉัตร ๙ ชั้น 
เดิมเป็นฉัตรกั้นเมรุของรัชกาลที่ ๑ 
ซึ่งพระองค์ขอให้นำไปถวายประธานวัดระฆังฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒

 

“พระประธานยิ้มรับฟ้า” พระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังฯ

“พระประธานยิ้มรับฟ้า” พระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังฯ

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเศวตฉัตรจากผ้าตามขาว
มาเป็นผ้าขาวลายฉลุปิดทองโดยใช้โครงของเก่า 
และมีการเปลี่ยนผ้าอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ โดยรัชกาลปัจจุบัน 

สำหรับพระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังฯ นี้มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เคยตรัสว่า

“ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที...” 

กล่าวกันว่าอาจจะเป็นเพราะพระพักตร์ของพระพุทธรูป
ที่อ่อนโยนและเมตตา ทำให้เห็นเป็นเช่นนั้น

 

“พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที...”  รัชกาลที่ ๕ ตรัสถึงพระประธานในพระอุโบสถ

“พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที...” 
รัชกาลที่ ๕ ตรัสถึงพระประธานในพระอุโบสถ

 

ในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมผนังด้านหน้าพระประธาน
เป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ 
และภาพเดียรถีย์ที่กำลังท้าทายอยู่กับพระพุทธองค์ 

ส่วนด้านหลังเป็นภาพพระมาลัย
ขณะขึ้นไปนมัสการพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ 

ส่วนผนังด้านข้างเบื้องบนเขียนเป็นรูปเทพชุมนุม 
ตอนล่างเขียนภาพทศชาติชาดก 
ฝีมือของ พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง) จารุวิจิตรบ
ซึ่งเป็นจิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕

 

หอระฆังที่รัชกาลที่ ๑  ทรงสร้างพระราชทานให้พร้อมกับระฆังอีก ๕ ลูก

หอระฆังที่รัชกาลที่ ๑ 
ทรงสร้างพระราชทานให้พร้อมกับระฆังอีก ๕ ลูก

หอระฆัง 

ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของวัด สร้างแบบจัตุรมุข
เป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ตอนต้น 

ในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ได้มีการขุดพบระฆังลูกหนึ่งซึ่งมีเสียงไพเราะมาก ซึ่งต่อมารัชกาลที่ ๑
ก็ได้นำระฆังลูกนั้นไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และโปรดให้
สร้างหอระฆังพร้อมทั้งระฆังอีกจำนวน ๕ ลูกไว้ให้แทน จึงเป็นที่มาของชื่อวัดระฆัง

 

หอพระไตรปิฎก (ตำหนักจันทร์)

หอพระไตรปิฎก (ตำหนักจันทร์)

หอพระไตรปิฎก (ตำหนักจันทร์) 

เดิมอยู่กลางสระที่ขุดขึ้นด้านหลังพระอุโบสถ 
สร้างเป็นเรือนแฝด ๓ หลัง ด้วยไม้ที่รื้อพระตำหนักและหอนั่งเดิมของรัชกาลที่ ๑ 
เมื่อครั้งยังทรงรับราชการอยู่กรุงธนบุรี 

ฝาผนังด้านนอกทาสีดินแดง มีระเบียงด้านหน้า หลังคามุงกระเบื้อง 
ชายคามีกระจกรูปเทพนมเดิมเป็นพระตำหนักและหอประทับ
ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาถวายวัด 

เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว มีพระราชประสงค์จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้สวยงาม
เพื่อเป็นหอพระไตรปิฎก กล่าวกันว่าถือเป็น 
“ปูชนียสถานชั้นเอกของสถาปัตยกรรมไทย” 

ด้านในเขียนภาพฝีมือ อาจารย์นาค เป็นภาพแสดงวิถีชีวิตประจำวันของคนสมัยนั้น 
บานประตูตกแต่งด้วยการเขียนลายรดน้ำและแกะสลักอย่างงดงาม

 

 

ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำขนาดใหญ่สมัยกรุงศรีอยุธยา
ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำขนาดใหญ่สมัยกรุงศรีอยุธยา

นอกจากนั้นยังมี ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ ขนาดใหญ่สมัยกรุงศรีอยุธยา 
อยู่ในห้องด้านเหนือและห้องด้านใต้

หอพระไตรปิฏกนี้ได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่เมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี
และยังเคยเป็นโบราณสถานที่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๐ 
จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกด้วย 


พระปรางค์ใหญ่ 

สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้รับการยกย่องว่า “ทำถูกแบบแผนที่สุด” 
จนถือเป็นแบบฉบับของพระปรางค์ที่สร้างในยุคต่อมา 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ 
ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระปรางค์ พระราชทานร่วมพระกุศล
กับสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ สมเด็จกรมพระยาเทพสุดาวดี

พระปรางค์ใหญ่

พระปรางค์ใหญ่

เจดีย์เจ้าสามกรม 

คือ พระเจดีย์นราเทเวศร์ 
พระเจดีย์นเรศร์โยธี และพระเจดีย์เสนีย์บริรักษ์ 

เป็นพระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ๓ องค์ 
สร้างเรียงกันอยุ่ภายในบริเวณกำแพงแก้วด้านทิศเหนือ 
สร้างโดย กรมหมื่นนราเทเวศร์ 
กรมหมื่นนเรศร์โยธี และกรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์
 

พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ 

พระวิหารเดิม

เป็นพระอุโบสถเก่าของวัดบางหว้าใหญ่

ศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญ 

เดิมเป็นศาลาการเปรียญสำหรับแสดงธรรม 
ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ฝึกกรรมบานของแม่ชีและอุบาสิกา 
ภายในมีพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ 

ตำหนักทอง 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ 
ทรงรื้อตำหนักทองอันเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี 
ซึ่งตั้งอยู่ในพระราชวังเดิมมาปลูกที่วัดระฆังทางด้านใต้ของพระอุโบสถ 
ทรงอุทิศเป็นสังฆบูชา ถวายให้เป็นที่ประทับของ 
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) 
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ตำหนักแดง

ตำหนักแดง

ตำหนักแดง 

กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษเทเวศร์ 
พระนามเดิมว่า “ทองอิน” เป็นพระราชโอรสใน 
สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระยาเทพสุดาวดี 
ทรงถวาย ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของพระอุโบสถหลังใหม่ 

ฝารูปสกลกว้างประมาณ ๔ วาเศษ ระเบียงกว้างประมาณ ๑ วา ๒ ศอก 
ยาวประมาณ ๘ วาเศษ ฝาประจันห้อง เขียนรูปภาพอสุภะต่างๆ ชนิด
มีภาพพระภิกษุเจริญอสุภกรรมฐาน
เดิมเป็นที่ประทับทรงกรรมฐานของพระเจ้ากรุงธนบุรี 

ตำหนักเก๋ง 

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ อยู่ทางทิศใต้ของวัด 
ปัจจุบันเหลือแต่รากฐานใต้ดิน ตำหนักนี้พระองค์ใช้ประทับขณะผนวช

พระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (ศรี)

พระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (ศรี)

พระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) 

ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ 
หลังคามุงกระเบื้องเคลือบติดคันทวยตามเสาอย่างสวยงาม 
หน้าบันทั้งสองด้านจำหลักรูปฉัตร ๓ ชั้น
อันเป็นเครื่องหมายพระยศสมเด็จพระสังฆราช 
วิหารหลังนี้เดิมหลังคาเป็นทรงปั้นหยา เรียกว่า ศาลาเปลื้องเครื่อง 

ต่อมา พระราชธรรมภาณี (ละมูล) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐ 
ได้เปลี่ยนเป็นหลังคาทรงไทย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ 
เพื่อประดิษฐานพระอัฐิ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) 
ซึ่งเดิมบรรจุอยู่ในรูปพระศรีอาริยเมตไตรย 
ประดิษฐานในซุ้มพระปรางค์ของวัดระฆังโฆสิตาราม 
ต่อมาได้ย้ายมาไว้ที่พระวิหารที่ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เพื่อยกย่องพระเกียรติของพระองค์
พระรูปองค์นี้เดิมประดิษฐานอยู่บนมุขพระปรางค์ทิศตะวันออก

 

พระวิหารสมเด็จ

พระวิหารสมเด็จ

พระวิหารสมเด็จ 

ภายในประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระราชาคณะของวัดนี้ไว้ ๓ องค์คือ 
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี), 
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีย์วงศ์) 
และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) 

ซึ่งทั้งสามองค์นี้เป็นพระภิกษุที่มีคนเคารพนับถืออย่างมาก

 

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก :: 
หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ : 
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
วัดระฆังโฆสิตาราม, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑. 
http://www.dharma-gateway.com/ 
http://www.mbu.ac.th/ 
http://mahamakuta.inet.co.th/
http://www.watrakang.com/

 

นำมาจากเว็บธรรมจักร www.dhammajak.net

Top