ประวัติ หลวงปู่เรือง อาภัสสะโร - ปูชนียธรรมสถาน เขาสามยอด จ.ลพบุรี - webpra

หลวงปู่เรือง อาภัสสะโร

ประวัติ ปูชนียธรรมสถาน เขาสามยอด จ.ลพบุรี


หลวงปู่เรือง อาภัสสะโร เขาสามยอด

หลวงปู่เรือง อาภัสสะโร ชื่อเดิมว่า บุญเรือง นามสกุล สุขสันต์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 10 มกราคม 2457 (ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 2 ปีขาล) เวลา 08.00 น. ที่ ต.บ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ต่อมาได้ย้ายมาอยู่บ้านสระข่อย ต.โคกปีบ อ.ศรีมหาโพธิ์ (ได้แยกเป็น อ.โคกปีบ แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ อ.ศรีมโหสถ) จ.ปราจีนบุรี โยมบิดา ชื่อ นายคำพันธ์ สุขสันต์ โยมมารดา ชื่อนางศรี สุขสันต์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 8 คน ชาย 5 หญิง 3 หลวงปู่เป็นคนที่ 2

หลวงปู่เรือง อาภัสสะโร เขาสามยอด
เมื่อเข้าเกณฑ์ศึกษา หลวงปู่ได้เข้ารับการศึกษาชั้นประถม ที่โรงเรียนขุนโคกปีบปรีชา โดยมีคุณครูหลั่น ปราณี ผู้ทั้งเป็นครูสอนและครูใหญ่ (ต่อมาลาออกมาเป็นกำนัน ต.โคกปีบ) หลวงปู่เรียนจบจนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ท่านเก่งทั้งภาษาไทย และภาษาขอม เมื่อเรียนจบแล้วทางราชการได้ให้ท่านช่วยสอนหนังสือ เพราะเห็นว่า ท่านเรียนเก่งมาก และฉลาด ในสมัยนั้น (ปี พ.ศ.2468) คนที่เรียนหนังสือมีน้อยมาก และที่จะเรียนจนจบชั้นประถม 4 ยิ่งหาได้ยากยิ่ง แต่ท่านไม่รับสอน กลับมาช่วยโยมบิดามารดาทำไร่ทำสวนจนอายุครบอุปสมบท

หลวงปู่เรือง อาภัสสะโร เขาสามยอด

หลวงปู่เข้ารับการอุปสมบทตามประเพณีชายไทย เมื่ออายุครบบวชจะต้องบวชทดแทนคุณบิดามารดา ท่าานอุปสมบทเมื่อวันศุกร์ ที่ 6 ก.ค. 2477 (ตรงกับวันแรม 10 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ) เวลา 14.08 น. ณ วัดสระข่อย ต.โคกปีบ อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี อายุ 21 ปี (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 7) โดยมี พระสมุห์จำปา (ต่อมาเป็น พระครูวิมลโพธิ์เขต) วัดสระข่อย อันเป็นเจ้าคณะหมวด (เจ้าคณะตำบลโคกปีบ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพัด ธัมมะธีโร วัดโคกมอญ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโคกไทย) ต.โคกปีบ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ฉัตร คังคะปัญโญ วัดต้นโพธิ์ ต.โคกปีบ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อันมีพระครูพิบูล วัดท่าประชุม อ.ศรีมหาโพธิ์ เป็นเจ้าคณะแขวง (เจ้าคณะอำเภอศรีมหาโพธิ์) ได้รับฉายาว่า “อาภสสโร” (อาภัสสะโร)

 

ท่านได้จำพรรษาและศึกษาพระธรรมพระวินัยอยู่กับพระอุปัชฌาย์ที่วัดสระข่อย (อยู่ใกล้สระมรกตประมาณ 2 ก.ม.) เป็นเวลา 10 พรรษา โดยได้อยู่รับใช้ปฏิบัติพระอุปัชฌาย์พร้อมทั้งศึกษาวิชาต่าง ๆ จากพระอุปัชฌาย์ จนเป็นที่รักและไว้วางใจยิ่งจากพระอุปัชฌาย์

ด้านการศึกษาธรรมะ หลวงปู่ได้เรียนนักธรรมชั้นตรีและสอบได้นักธรรมชั้นตรีในพรรษาแรกนี้เลย (พ.ศ. 2477) จากสำนักเรียนที่วัดของท่าน พรรษาที่ 2 (พ.ศ.2478) สอบได้นักธรรมโท พรรษาที่ 3 สอบได้นักธรรมเอก จะเห็นได้ว่า หลวงปู่ให้ความสำคัญต่อการศึกษามาก และหาได้ยากยิ่ง ที่พระภิกษุเรียนเก่งขนาดสอบได้ปีละชั้น ทั้งที่พรรษายังน้อย อายุแค่ 23 ปีเท่านั้น


เมื่อท่านเรียนจบนักธรรมแล้ว พระอาจารย์ฉัตร วัดต้นโพธิ์ อันเป็นพระคู่สวดของท่าน ได้มาขอท่านจากพระอุปัชฌาย์ให้ไปช่วยสอนธรรมะที่วัดต้นโพธิ์ ท่านก็ไปช่วยสอนอยู่ระยะหนึ่ง พร้อมกันนี้ท่านได้ศึกษาวิชาบาลีมูลกัจจายน์ และวิชาโหราศาสตร์สมุนไพรใบยาพร้อมด้วยวิชาคาถาอาคมต่าง ๆ ไปด้วย จนพรรษาพ้น 10 พรรษาแล้ว ท่านเห็นว่าได้ศึกษาวิชาการพอที่จะปกครองตนเองได้แล้ว จึงกราบลาพระอุปัชฌาย์เพื่อออกธุดงค์แสวงวิเวกประพฤติปฏิบัติธรรมไปในที่ ต่าง ๆ โดยก่อนจากไป หลวงปู่ได้ขอผ้าจีวรจากพระอุปัชฌาย์ไปเพียง 1 ชุด พระอุปัชฌาย์ทั้งรักทั้งห่วงลูกศิษย์รูปนี้มาก แต่เพื่ออนาคตของศิษย์ท่านอนุญาตให้ไปได้ โดยได้ยกผ้าครองให้ทั้งชุด หลวงปู่กราบลาพระอุปัชฌาย์อันเป็นที่เคารพยิ่ง พร้อมทั้งกล่าวว่า “ผมไปแล้ว ผมจะไม่กลับมาอีก จะแสวงหาวิมุตติธรรมไปเรื่อย ๆ” จนทุกวันนี้ (ข้อมูลหนังสือเล่มนี้ ปี41) เป็นเวลากว่า 50 ปี แล้ว หลวงปู่ก็ยังไม่ได้กลับไปวัดบ้านเดิมอีกเลย


หลวงปู่ตัดสินใจเด็ดขาด สะพายย่ามแบกกลดเดินทางออกจากวัดไปเรื่อย ๆ ค่ำไหนนอนนั่น เช้าก็ออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ หนทางสมัยก่อนยังไม่เจริญเหมือนสมัยนี้ ต้องใช้เกวียนเป็นส่วนมาก เดินทางธุดงค์ไปตามที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคอีสาน หลวงปู่เดินทางธุดงค์ไปจนทั่ว มีอยู่ครั้งหนึ่งหลวงปู่เดินทางธุดงค์มาที่กรุงเทพฯ แล้วแวะจำพรรษาที่วัดท่าหลวง จ.นนทบุรี (ปัจจุบันไม่ทราบว่าเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอะไร) พอดีช่วงนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ในเมืองไทยมาก ทำให้ฝ่ายพันธมิตร ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา ได้มาทิ้งระเบิดแถว ๆ กรุงเทพฯ และเขตปริมณฑลเป็นจำนวนมาก ที่ท่านอยู่ก็ใกล้กองกำลังญี่ปุ่นจึงพลอยฟ้าพลอยฝน โดนระเบิดหล่นใส่ใกล้วัดเป็นประจำ ชาวบ้านในเขตนั้นก็ย้ายอพยพไปอยู่ยังต่างจังหวัดกันเกือบหมด มีญาติโยมมาถามหลวงปู่ด้วยความเป็นห่วงว่า หลวงปู่ไม่ย้ายไปต่างจังหวัดหรือ ? ไม่กลัวโดนระเบิดหล่นใส่หรือไง ? หลวงปู่บอก คนเราเมื่อถึงที่ตาย อยู่ตรงไหนก็ตาย ไม่มีใครหนีพ้นหรอก ตอนเครื่องบินมาทิ้งระเบิด หวอก็เปิดดังลั่นไปหมด เพื่อให้คนหลบภัยในที่กำบัง หลายคนวิ่งเข้าวัดหลบในอุโบสถบ้าง ทั่ว ๆ ไปบ้าง แต่หลวงปู่กลับนั่งภาวนาอยู่บนศาลาเฉย ๆ ไม่ไปหลบที่ไหน พระเณรอยู่ในวัดก็หลบกันหมด แต่ที่น่าแปลกคือ ระเบิดที่มาทิ้งเที่ยวแล้วเที่ยวเล่ากลับตกแค่รอบ ๆ วัด ไม่ตกในวัดเลย (ทิ้งตอนกลางคืน)

 

ระยะปลาย ๆ สงครามโลกครั้งที่ 2 หลวงปู่ได้เดินธุดงค์ขึ้นอีสาน แล้วกลับมาอยู่ที่ จ.ลพบุรี ที่ถ้ำพิบูลย์ในปี พ.ศ.2489 (พรรษาที่ 13) (ถ้ำพิบูลย์อยู่ใกล้วัดพระบาทน้ำพุ ที่ดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ในปัจจุบัน) หลวงปู่เรืองได้จำพรรษาที่ถ้ำพิบูลย์ 5 พรรษา ต่อมาทางทหารได้มานิมนต์ให้ท่านไปอยู่วัดที่สร้างใหม่ เป็นที่เจริญ และใหญ่โตกว่าที่เดิม อีกทั้งไม่กันดาร เพราะที่ท่านอยู่นี้เป็นเขตของทหาร และทหารซ้อมยิงอาวุธอยู่บ่อย ๆ กลัวว่าจะเป็นอันตรายได้ อีกอย่างในหน้าแล้งกันดารน้ำมาก จึงขอให้ไปอยู่ที่วัดที่สร้างใหม่ แต่หลวงปู่ไม่ไป กลับเก็บกลดสะพายย่าม ธุดงค์เข้าป่าลึกไปเลย
หลวงปู่เรือง อาภัสสะโร เขาสามยอด
ท่านเดินธุดงค์อยู่ในป่า เดินตามหลังเขาไปเรื่อย ๆ ไม่ยอมลงจากเขา จนมาพบ ถ้ำพระอรหันต์ที่เขาสามยอด (เมื่อ พ.ศ.2493) หลวงปู่จึงตัดสินในอธิฐานจิตว่า จะไม่ไปไหนอีก จะอยู่จำพรรษาที่นี่ตลอดไป และจะไม่ลงไปจากเขานี้อีกด้วย ซึ่งเมื่อ 40 ปีกว่าก่อน ที่แถว ๆ นี้ยังมีเสือ มีช้าง และสัตว์ป่าชุกชุมอยู่ รวมถึงไข้ป่ารุนแรงด้วย

 

ในระยะแรกที่หลวงปู่อยู่ ท่านไม่ลงไปไหนเลย รวมทั้งไม่ได้บิณฑบาตด้วย แต่ท่านก็อยู่ได้ ผู้เขียนได้สอบถามหลวงปู่ว่า 2-3 ปีแรก หลวงปู่ไม่ได้บิณฑบาตเลย ท่านอยู่องค์เดียวมาตลอด ไม่มีใครมาพบเห็นท่านเลย หลวงปู่อยู่ได้อย่างไร? และฉันอะไร? จึงอยู่ได้ หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ฉันยอดไม้ ใบไม้ โดยเฉพาะยอดโสมซึ่งขึ้นอยู่บนเขามากมายก็ฉันมาตลอด อิ่มแทนข้าวก็อยู่ได้ ส่วนหน้าแล้งบนเขาไม่มีน้ำ แล้วหลวงปู่เอาน้ำที่ไหนดื่มและมาสรง (อาบ) หลวงปู่บอกว่า ก็ตัดเถาวัลย์ให้น้ำไหลจากเถาวัลย์ เอากระติกรอง แล้วนำมาฉัน วันละนิดเดียวพอแก้กระหาย เพราะอยู่ในถ้ำอากาศเย็นจึงไม่ต้องฉันบ่อย ๆ ส่วนน้ำสรง ก็ไม่ต้อง เพราะอะไร ก็เพราะเหงื่อไม่ค่อยออก กลิ่นตัวจึงไม่ค่อยมี ฝนตกทีก็ได้สรงกันที

 

หลวงปู่อยู่ที่บนเขามา 40 กว่าปีแล้ว โดยไม่ยอมลงไปไหน ระยะหลังค่อยดีขึ้นมาหน่อย เพราะมีผู้คนมาเจอท่านแล้วพากันบอกต่อ ๆ ไป จึงมีคนมากราบเยี่ยมเยียนบ่อยขึ้น พร้อมทั้งมีผู้ศรัทธาและทหารได้มาสร้างกุฏิให้พออยู่ได้ พร้อมทั้งถังใส่น้ำ แต่ก็พอใช้ระยะหนึ่งเท่านั้น พอหนาแล้งน้ำไม่ค่อยพอใช้เช่นเดิม ในปีที่ผ่านมามีพระเณรมาจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่อีก 2 รูป อีกทั้งมีสัตว์ป่ามาร่วมใช้ร่วมดื่มด้วย เช่น กระรอก กระแต นก สุนัข ไก่ป่า ฯลฯ ที่สำคัญมีลิง 2 ฝูงใหญ่ เป็นลิงป่าประมาณ 100 กว่าตัว จะมาทุกวัน วันละหลาย ๆ หน จนเชื่องขนาดจับเล่นได้ เพราะฝูงลิงมาอาศัยบารมีหลวงปู่อยู่ตั้งแต่แรกที่ท่านมาอยู่ จึงเป็นภาระให้หลวงปู่พอสมควร ทั้งเรื่องอาหารและน้ำ

หลวงปู่เรือง อาภัสสะโร เขาสามยอด

ประสบการณ์ที่เกี่ยวกับตัวหลวงปู่ และวัตถุมงคล

ต่อไปนี้เป็นเรื่องต่าง ๆ ที่ผู้เขียน (อรรถพรรักษา - พระมหาเสรี) ได้ฟังจากปากหลวงปู่เอง รวมทั้งฟังเล่าจากคนอื่น ๆ ที่ได้ประสบมา บุคคลที่เล่าให้ฟังนี้ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งพยานบุคคลและสิ่งของ ขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเอาเอง โดยไม่ได้ลำดับตอนแต่อย่างใด (ทางเว็บไซต์ได้นำมาลงเพียงบางเรื่อง บางส่วนเท่านั้น)

 

โดนรุมยิง 30 นัด รอดตายปาฏิหาริย์ ลูกศิษย์หลวงปู่ที่ถือได้ว่าใกล้ชิดมาก ไปโดนรุมยิงด้วยปืนลูกซอง 10 กว่านัด ชนิดถูกรุมยิง โดนเข้าเต็ม ๆ 30 กว่านัด แต่รอดตายมาได้อย่างปาฏิหาริย์เหลือเชื่อ คือไม่เข้าแม้แต่นัดเดียว คน ๆ นั้นคือ นายสมใจ จันทร์สีดา บ้านโนนหัวช้าง 101/1 ม.7 ต.เขาสามยอด อ.เมือง จ.ลพบุรี เป็นประสบการณ์ที่นายสมใจไม่เคยลืมเลยชั่วชีวิต เพราะยังมีบาดแผลเป็นจุดดำ ๆ ถ้าไม่ได้หลวงปู่ช่วยป่านนี้คงไม่รู้อยู่ภพไหนแล้ว

 

นายสมใจได้เล่าว่า เขาเองเป็นคนไม่กลัวใคร เป็นคนเอาจริง ไม่ก้มหัวให้ใคร เขาได้ไปชอบหญิงสาวคนหนึ่ง ที่บ้านหมี่ ตามประสาลูกชาวไร่ชาวนา เมื่อชอบสาวก็ต้องหมั่นไปหา เพราะไม่มีเงินทุ่มเหมือนคนรวย ๆ ที่ซื้อหาความรักด้วยเงินทองได้ แต่ด้วยระยะทางจากบ้านใน อ.เมืองลพบุรี ไป อ.บ้านหมี่ ไกลพอสมควร จึงต้องขึ้นรถเมล์ ไปหาสาวบ้านหมี่ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านความงามอยู่แล้ว หญิงสาวที่นายสมใจไปชอบ ก็เป็นคนสวยมาก เรียกว่าไม่เป็นรองใครในหมู่บ้านเลยทีเดียว มีหนุ่ม ๆ จากต่างถิ่นในถิ่นมาชอบพอสาวคนนี้กันมาก จึงมักมีเรื่องมีราวกระทบกระทั่งกันอยู่บ่อย ๆ แต่ก็ไม่รุนแรงอะไร

 

นาย สมใจอาศัย “ดักลอบต้องหมั่นกู้ เจ้าชู้ต้องหมั่นเกี้ยว” จึงเดินทางไปบ้านหมี่บ่อย ๆ และด้วยเป็นคนขยันเอาจริงเอาจัง ไม่กลัวใคร ใจนักเลงดี จึงเป็นที่ชอบใจของญาติทางฝ่ายหญิง โดยเฉพาะตัวสาวเองชอบนายสมใจมาก ๆ เสียด้วย ทำให้ไอ้หนุ่มในหมู่บ้านไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือว่าเป็นการหยามกัน จึงได้วางแผนที่จะเล่นงานนายสมใจ ได้ปรึกษากับพรรคพวก จะเก็บนายสมใจเสีย โดยไปดักรอที่ทางเข้าหมู่บ้าน มีปืนลูกซองไปคนละกระบอก ประมาณสามสี่คน

นายสมใจเล่าว่า ก่อนเกิดเหตุ ตอนกลางคืนหลวงปู่เรืองมาหาในฝัน บอกวาให้ไปหาที่ถ้ำหน่อย แต่นายสมใจไม่ได้ไปเพราะว่ามีนัดกับสาวที่บ้านหมี่ พอทำธุระเสร็จก็นั่งรถเมล์ไปบ้านหมี่ ไปเจอเพื่อนจึงแวะไปเที่ยวบ้านเพื่อนก่อน พอตกเย็นจึงเดินทางไปบ้านสาว เวลานั้นใกล้ค่ำแล้ว ลงรถเมล์ที่ทางเข้าหมู่บ้านสาว เดินทางด้วยเท้าเข้าหมู่บ้าน ระยะทางประมาณ 500 เมตร เป็นที่เปลี่ยว

 

ขณะนั้นเอง มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น คือมีคนกลุ่มที่นั่งอยู่โคนต้นไม้ ระยะห่างประมาณ 30 เมตร ได้ลุกขึ้น แล้วร้องเรียกนายสมใจ เวลานั้นเริ่มมืดแล้ว จึงมองไม่ค่อยเห็นกัน พอนายสมใจได้ยินเสียงเรียก ก็ตอบว่า “ใครเรียกวะ” พูดยังไม่ทันขาดคำเสียงปืนก็ดังขึ้น 2-3 นัดพร้อมกัน แรงปะทะทำเอานายสมใจเซไปเกือบล้ม แต่ยังไม่รู้ว่าโดนยิง พอได้สติขยับจะวิ่งหาที่กำบังเสียงปืนก็ดังขึ้นอีกหลายนัด นายสมใจได้ล้มลงทั้งยืน เพราะแรงปะทะของลูกปืน

สักพักมีเสียงพูดว่า “เรียบร้อย กลับเถอะ” นายสมใจพอรู้สึกตัวก็ชาไปหมด แขนข้างซ้ายยกไม่ขึ้น เอามือขวาลูบ ๆ ดู รู้สึกแสบ ๆ ร้อน ๆ แต่ไม่มีเลือดออกเลย จึงใจดีขึ้น รู้ว่าโดนยิง แต่ไม่เข้า เท่านั้นเองก็นึกถึงพระที่ห้อยคอมา รู้สึกสบายใจขึ้นมาก กำพระที่มีอยู่องค์เดียวคือ พระหลวงปู่เรือง นั่นเอง พยายามลุกขึ้นแต่ลุกไม่ค่อยได้ เพราะขัดยอกไปหมด จึงตัดสินใจคลานมาที่ถนนใหญ่ โบกรถมาโรงพยาบาลเมืองใหม่ลพบุรี พักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 2-3 วัน เพราะช้ำในจากพิษกระสุน เขียวช้ำเป็นจ้ำ ๆ นับได้ 32 แผล ซึ่งยังเป็นแผลเป็นอยู่ทุกวันนี้ ขอดูได้ทุกเวลา หากไม่ได้บารมีหลวงปู่เรืองช่วยวันนั้นแล้ว นายสมใจบอกว่าคงไม่มีชีวิตกลับมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังเป็นแน่

หลวงปู่เรือง อาภัสสะโร เขาสามยอด

โดนถล่มถ้ำ ไม่เป็นไร เรื่องนี้หลวงปู่เล่าให้หลายคนฟัง คือเมื่อ ปี พ.ศ.2500 มีผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินท่านหนึ่ง ขึ้นมาหาท่านที่ถ้ำ พร้อมกับผู้ติดตามอีกหลายนาย มาพบหลวงปู่ นิมนต์หลวงปู่ออกมาคุยนอกถ้ำ ตอนนั้นหลวงปู่เป็นไข้ป่ารุนแรงมาก เลยไม่ได้ออกมา ท่านผู้นั้นไม่พอใจ ก่อนจากไปได้สลักรูปพญาลิงไว้ที่ต้นไผ่หน้าถ้ำด้วย ต้นไผ่ต้นนี้อยู่มาจนปี 2536 จึงตาย นอกจากนี้ท่านผู้นั้นยังได้ยิงปืนใหญ่มาตกใกล้ ๆ ถ้ำ แต่ไม่ระเบิด ทุกวันนี้ยังปรากฏหลักฐานอยู่

 

ดูดวงได้แม่นยำมาก หลวงปู่ดูดวงให้ฟรีทุกคนโดยเน้นหลักธรรม ตามที่ลูกศิษย์ประสบกันเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่าหลวงปู่ดูแม่น ... มีครั้งหนึ่ง มีอาแป๊ะคนหนึ่ง อาชีพ ค้าขายอยู่ที่หน้าศาลพระกาฬ ลพบุรี ขึ้นมากราบหลวงปู่บนเขาตอนเช้า พร้อมกับขอโชคขอลาภ หลวงปู่ถามถึงวันเดือนปีเกิดสักพัก ก็บอกว่า เอ็งไม่มีดวงทางโชคลาภหรอก ตอนนี้แทงอย่างไรก็ไม่ถูก เก็บเงินไว้เลี้ยงลูกเลี้ยงเมียดีกว่า อาแป๊ะตอบว่า ไม่เป็นไรหรอกหลวงปู่ ลองดู ขอสักสองตัวเถอะ เดี๋ยวตอนบ่ายหวยจะออกแล้ว ผมจะลองไปแทงสักหน่อย หลวงปู่ย้ำอีกว่า เอ็งไม่มีดวง แล้วจะแทงถูกอย่างไร อย่าแทงเลย อาแป๊ะไม่ฟัง ขอลูกเดียว หลวงปู่รำคาญ ก็เลยบอกเล่น ๆ ให้ไป อาแป๊ะดีใจใหญ่ ลงจากเขาทันที ขณะกลับบ้านพอดีเจอเพื่อนที่ตีนเขา เลยชวนกันไปกินข้าวที่บ้านเพื่อน คุยกันจนบ่าย นึกได้ว่ายังไม่ได้แทงหวย จึงรีบไปซื้อหวย แต่ไม่ทันเวลา เขาเลิกขายหมดแล้ว

 

พอดีหวยออก เลขตรงตามที่หลวงปู่ให้ อาแป๊ะแทบลมใส่ เสียใจที่ไม่ได้ซื้อ อีกสองวันต่อมา อาแป๊ะขึ้นมากราบหลวงปู่บนเขาอีก ต่อว่าหลวงปู่ว่า ไม่น่าบอกว่าไม่ถูกเลย เลยไม่ได้ด่วนซื้อ เสียดายจัง หลวงปู่หัวเราะ แล้วพูดว่า ก็กูบอกแล้วมึงก็ไม่เชื่อ อาแป๊ะเลยของวดต่อไปอีก หลวงปู่หัวเราะ ว่ามึงขนาดนี้ มึงยังไม่เชื่อกูอีกเรอะ อาแป๊ะเลยไม่กล้าขออีก หลวงปู่สอนว่า มึงดวงยังไม่มีโชค หมั่นทำบุญทำกุศลความดีไว้เถอะ เดี๋ยวความดีจะช่วยมึงเอง ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่วเสมอ ใครทำอย่างไรย่อมได้อย่างนั้น หนีไม่พ้นหรอก จะเร็วหรือช้าก็ต้องได้แน่นอน มึงไม่เชื่อกูก็ไม่เป็นไร แต่มึงเชื่อพระพุทธเจ้าเถอะ พระพุทธเจ้าท่านไม่โกหกใครหรอก

 

หลวงปู่เรือง อาภัสสะโร เขาสามยอด

วัตถุมงคล ทุกรุ่นทุกพิมพ์ที่หลวงปู่เรือง อาภัสสะโร อนุญาตให้จัดสร้างลงชื่อไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการมี 2 ช่วง ช่วงแรกเริ่มจัดสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538-2540 ทั้งหมดมีเพียง 4 รุ่น มีรุ่นดังนี้

1.รุ่นบารมีรุ่งเรือง(สุริยปราคา วันที่ 24-10-2538)
2.รุ่นรุ่งเรืองบารมี(แช่น้ำมนต์ วันเกิด 10-03-2538)
3.รุ่นเจริญรุ่งเรือง(เสาร์ 5 23-03-2539)
4.รุ่นทิ้งทวนรุ่งเรืองจงเจริญ(รุ่นสุดท้าย 01-01-2540)

การสร้างพระเครื่องครั้งแรก ปี 2538 ทั้งหมดมี 7 พิมพ์เรียกว่ารุ่น บารมีรุ่งเรือง(สุริยปราคา วันที่ 24-10-2538) มีพิมพ์ดังนี้..
1.พระสมเด็จเนื้อผงว่านพิมพ์ใหญ่(บูชา)ฝังตะกรุด         จำนวนสร้าง    99 องค์
2.พระสมเด็จหลังรูปเหมือน ฝังตะกรุดและไม่ฝัง            จำนวนสร้าง  999 องค์
3.พระสมเด็จปรกโพธิ์ ฝังตะกรุด ฝังพลอย ไม่ฝัง           จำนวนสร้าง  999 องค์
4.พระสมเด็จนางพญาหลังรูปเหมือน ฝังตะกรุดใต้ฐาน     จำนวนสร้าง  999 องค์
5.พระสมเด็จ พิมพ์พระแก้วมรกต เนื้อดินไหลผสมว่าน    จำนวนสร้าง  559 องค์
6.เหรียญรุ่นแรก สร้างมี 4 เนื้อ
-ทองคำ                                                             
จำนวนสร้าง  3 องค์
-เงิน                                                                   จำนวนสร้าง  199 องค์
-นวโลหะ                                                             จำนวนสร้าง  199 องค์
-ทองแดงรมดำ                                                      จำนวนสร้าง  999 องค์
7.พระหล่อรูปเหมือน มี 2 เนื้อ
-เนื้อเงิน                                                              จำนวนสร้าง   59 องค์

-เนื้อทองเหลืองรมดำ..                                           จำนวนสร้าง  599 องค์
 รวมทั้งหมดมีเพียง 7 พิมพ์ เป็นการสร้างทีเดียว...ปลุกเสกพิธี สุริยปราคาปี 2538


การจัดสร้างครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2539 เป็นวันครบรอบ 82 ปีวันเกิดหลวงปู่เรือง ได้สร้าง รุ่น"รุ่งเรืองบารมี"ทั้งหมดมีดังต่อไปนี้
1.พระกริ่ง รุ่งเรืองบารมี มีเนื้อ นวโลหะ 482 องค์ ทองเหลือง 782 องค์
2.เหรียญรุ่น 2 เหรียญรุ่งเรืองบารมี มีด้วยกัน 3 เนื้อ เนื้อเงิน 282 องค์ นวโลหะ 282 องค์และทอง 1,982 องค์
3.พระปิดตามหาลาภ เนื้อผง มีฝังตะกรุด ทอง เงิน นาค รวมจำนวน 982 องค์ และฝังตะกรุดใต้ฐาน มี 82 องค์
4.ล็อกเกตรุ่นแรก รุ่น"รุ่งเรืองบารมี"บรรจุเส้นเกศาและผงพุทธคุณ สร้างตามอายุหลวงปู่ 82 องค์
5.ผ้ายันต์ 5000 ผืน
6.สติกเกอร์ 10000 แผ่น
จะ สังเกตุได้ว่าพระเครื่องที่หลวงปู่อนุญาตให้จัดสร้างแต่ละครั้ง มีจำนวนไม่มาก สืบเนื่องจากการสร้างล้วนเป็นลูกศิษย์ช่วยกันหาลงขันจัดสร้าง เพื่อหาปัจจัยสร้างสิ่งอำนวยความสดวก สำหรับลูกศิษย์ขึ้นเขามากราบหลวงปู่ ตั้งแต่รุ่นแรกถึงรุ่นสองพระเนื้อผงทุกองค์ทำการกดพิมพ์บนเขาทั้งสิ้น โดยหลวงปู่ ท่านเมตตาจะกดพิมพ์เป็นปฐมฤกษ์ก่อนทุกครั้ง

 


การจัดสร้างครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2539 ในปีเดียวกัน เป็นพิธีเสาร์ 5 สร้างรุ่น "เจริญรุ่งเรือง"มีดังนี้
1.(พระบูชา)พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ หลังรูปเหมือน ฝังตะกรุด 3 ดอก จำนวน 499 องค์
2.(พระบูชา)พระบูชารูปเหมือน 5 นิ้ว รุ่นแรก รุ่น"เจริญรุ่งเรือง" จำนวน 583 องค์
3.พระรูป หล่อรูปเหมือน ลอยองค์ รุ่น 2 มีเนื้อทองคำ 9 องค์ (ไม่อุดกริ่ง) เนื้อเงิน 299 องค์ เนื้อนวโลหะ 299 องค์ เนื้อทองเหลืองรมดำ 3,999 องค์ ทุกเนื้อมีทั้งอุดกริ่งและไม่อุดกริ่ง
4.พระสมเด็จปรกโพธิ์ เนื้อว่าน พิมพ์คะแนน ฝังตะกรุด 1 ดอก 2,000 องค์ ไม่ฝัง 10,000 องค์ ฝังตะกรุด 3 ดอก 1,000 องค์ ฝังตะกรุด 9 ดอก 99 องค์
5.เหรียญรุ่น 3 พิมพ์ 4 เหลี่ยม เนื้อทองคำ 29 องค์ เนื้อเงิน 300 องค์ เนื้อนวโลหะ 300 องค์และเนื้อทองแดงรมมันปู 9,999 องค์
6.พระ ปรกใบมะขามรุ่นแรก เนื้อทองคำ 50 องค์ เนื้อเงิน นวโลหะ ทองแดง 500 ชุด และเนื้อทองแดง 9,999 องค์(คุณ แล่มปรกโพธิ์ จัดสร้าง)ทั้งหมด
7.พระผง ศิลป์ลพบุรี หลังรูปเหมือน ฝังตะกรุด 1 ดอก 5,000 องค์ ฝัง 3 ดอก 1,000 องค์ ฝัง 9 ดอก 100 องค์(เนื้อขาว 300 องค์) มีเนื้อดำ ฝังตะกรุด 250 องค์ ฝังตะกรุดด้านหลัง 50 องค์...
8.ล็อกเกต รุ่น 2 สร้าง 299 องค์ บรรจุเส้นเกศา และผงพุทธคุณ
9.พระผงรูปเหมือน พิมพ์กนก วัดอนุญาตให้คุณ มลชัย ผลิตพัธ์พานิช สร้าง ไม่ทราบจำนวน

 

การจัดสร้างครั้งที่ 4 อยู่ในระหว่างปี 2539-2540 สร้างรุ่น "รุ่งเรืองจงเจริญ"(รุ่นทิ้งทวน)มีดังนี้
1.พระรูปเหมือนลอยองค์(ตั้งหน้ารถ) สร้างจำนวน 2,900 องค์
2.ผ้ายันต์รอยมือคู่ สร้างจำนวน 500 ผืน ผ้ายันต์รอยเท้าคู่ สร้างจำนวน 500 ผืน
3.เหรียญรุ่น 4 มีเนื้อทองคำ 35 องค์ เนื้อเงิน 2,000 องค์ เนื้อนวโลหะ 3,000 องค์และเนื้อทองแดงรมดำ 30,000 องค์
4.รูป เหมือนปั๊ม มีเนื้อทองคำ 84 องค์ เนื้อเงิน 1,000 องค์ เนื้อนวโลหะ 2,000 องค์ เนื้อตะกั่ว 84 องค์ เนื้อทองแดง 84 องค์ และเนื้อทองเหลือง 13,000 องค์ เนื้อผงสีขาว    5,000 องค์ เนื้อผงใบลาน 5,000 องค์
5.พระปิดตาเม็ดแตง ทองคำ เงิน นวโลหะ ทองแดง 799 ชุด(มี 4 องค์)
6.พระเม็ดกระดุมมี เนื้อทองคำ เงิน ทองแดง 84 ชุด มีเนื้อเงิน 1,200 องค์ เนื้อทองแดง16,000 องค์ ตอกโค๊ดทุกองค์
7.ล็อกเกตรุ่น 3 รูปใข่ สร้าง 3,000 องค์ รูปกลม สร้าง 3,000 องค์
8.มีดหมดด้ามใหญ่ 4 เล่ม ด้ามเล็ก 84 เล่ม
9.พระ กริ่งลพบุรี มีเนื้อทองคำ 39 องค์ เนื้อเงิน 399 องค์ เนื้อนวโลหะ 2,110 องค์ เนื้อทองแดง 679 องค์ เนื้อทองเหลือง 7,090 องค์ เบ้าทุบ 199 องค์ ฝังผงใต้ฐาน 179 องค์ เป็นช่อมี 9 องค์รวม32 ช่อ
10.ล็อกเกต รุ่น 4 หลังอุดเนื้อผง มี 6 พิมพ์ 2,000 ชุด และหลังเป็นพระปิดตา อีก 3,000 องค์
11.พระบูชาขนาด 9 นิ้ว 35 องค์ และขนาด 5 นิ้ว 9องค์

ในระยะแรกที่หลวงปู่อยู่ ท่านไม่ลงไปไหนเลย รวมทั้งไม่ได้บิณฑบาตด้วย แต่ท่านก็อยู่ได้ ผู้เขียนได้สอบถามหลวงปู่ว่า 2-3 ปีแรก หลวงปู่ไม่ได้บิณฑบาตเลย ท่านอยู่องค์เดียวมาตลอด ไม่มีใครมาพบเห็นท่านเลย หลวงปู่อยู่ได้อย่างไร? และฉันอะไร? จึงอยู่ได้ หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ฉันยอดไม้ ใบไม้ โดยเฉพาะยอดโสมซึ่งขึ้นอยู่บนเขามากมายก็ฉันมาตลอด อิ่มแทนข้าวก็อยู่ได้ ส่วนหน้าแล้งบนเขาไม่มีน้ำ แล้วหลวงปู่เอาน้ำที่ไหนดื่มและมาสรง (อาบ) หลวงปู่บอกว่า ก็ตัดเถาวัลย์ให้น้ำไหลจากเถาวัลย์ เอากระติกรอง แล้วนำมาฉัน วันละนิดเดียวพอแก้กระหาย เพราะอยู่ในถ้ำอากาศเย็นจึงไม่ต้องฉันบ่อย ๆ ส่วนน้ำสรง ก็ไม่ต้อง เพราะอะไร ก็เพราะเหงื่อไม่ค่อยออก กลิ่นตัวจึงไม่ค่อยมี ฝนตกทีก็ได้สรงกันที
Top