
ประวัติ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า
บทความพระเครื่อง เขียนโดย sirapopch
หากเอ่ยชื่อ พระครูวิมลคุณากร คนทั่วไปอาจจะยังไม่คุ้นหูเท่าใดนัก แต่ถ้าเอ่ยชื่อ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าแล้วล่ะก้อ ไม่มีใครปฎิเสธได้ว่าไม่รู้จัก โดยเฉพาะนักนิยมพระเครื่องแล้ว แทบทุกคนต่างใฝ่หาพระเครื่องของหลวงปู่ศุข มาใช้เพราะเชื่อกันว่าพระหลวงปู่ศุขนั้นให้พุทธคุณ ทั้งด้านเมตตามหานิยม และ ด้านแคล้วคลาด คงกระพัน ภูมิลำเนา - ชีวิตก่อนบวช หลวงปู่ศุข ท่านอยู่ในละแวก วัดมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ปัจจุบันยังมี ลูกหลานของท่านอยู่ที่บ้านใต้วัดปากคลองมะขามเฒ่าอีกหลายคน หรือแม้แต่ร้านค้าขายภายในบริเวณวัดเองก็ยังมี หลวงปู่ศุข ท่านใช้นามสกุลเกศเวชสุริยา อีกสกุลหนึ่ง ท่านเป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 9 คน ด้วยกัน เมื่อหลวงปู่ศุข อยู่ในวัยฉกรรจ์ท่านได้เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ทำมาหากินค้าขายเล็กๆน้อยๆ โดยยึดลำคลองบางเขนซึ่งมีปากคลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้จังหวัดนนทบุรีลงมา ปัจจุบันอยู่ข้างทางเข้าวัดทางหลวงเป็นที่ทำมาหากิน คลองบางเขนนี้ทอดขึ้นไปเชื่อมกับคลองรังสิต เมื่อก่อนนี้เป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมทางน้ำ ที่สำคัญ และกว้างขวางเป็นอย่างมาก เมื่อการคมนาคมทางบกเจริญขึ้น การสัญจรทางน้ำก็หมดความสำคัญลง ปัจจุบันคงจะตื้นเขินไปแล้วก็ได้ เพราะขาดการทนุบำรุงที่ควร หลวงปู่ศุข ท่านทำมาหากินอยู่ในคลองบางเขนอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งได้ภรรยาชื่อนางสมบูรณ์ และกำเนิดบุตรชายคนหนึ่งชื่อ สอน เกศเวชสุริยา บวช หลวงปู่ศุข ท่านครองเพศฆาราวาสอยู่ไม่นาน พออายุท่านครบ 22 ปี ท่านได้ลาไปอุปสมบท ณ วัดโพธิ์บางเขน หรือปัจจุบันชื่อว่า วัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งอยู่ปากคลองบางเขนตอนล่าง ส่วนวัดโพธิ์ทองบน อยู่ตอนเหนือของปากคลองบางเขน ตอนบนบริเวณจังหวัดปทุมธานี พระอุปฌาย์ท่านชื่อ หลวงพ่อเชย จันทสิริ อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งเป็นพระสงฆ์ ฝ่ายรามัญที่ถือเคร่งในวัตรปฎิบัติและพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงพ่อเชยท่านยังเป็นอาจารย์ ฝ่ายวิปัสสนาธุระมีความรู้และความชำนาญรู้แจ้งแทงตลอด อีกทั้งทางด้านวิทยาคม ก็แก่กล้าเป็นยิ่งนัก หลวงปู่ศุข ท่านได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้จากพระอุปฌาย์ของท่านมาพร้อมกับพระอาจารย์ เปิง วัดชินวนาราม และหลวงปู่เฒ่าวัดหงษ์ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นศิษย์ในสายหลวงพ่อเชย วัดโพธิ์ทองล่างเหมือนกัน ผีสมภารวัดร้าง "ผีสมภารวัดร้าง" ซึ่งนายยอด สุขทอง ลูกศิษย์คนหนึ่งของท่านรับฟังมาและนำมาเล่าต่อ ดังมีรายละเอียดดังนี้ ครั้งนั้นหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จาริกธุดงค์ ไปนมัสการพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี เมื่อท่านได้ถวายอภิวาทต่อรอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความปิติอิ่มใจแล้วจึงได้เดินธุดงค์กลับวัดปากคลองมะขามเฒ่าของท่าน ระหว่างเดินทางกลับท่านได้จากริมาพบวัดร้างแห่งหนึ่งในเวลาเย็นย่ำสนธยา ซึ่งถึงกาลอันสมควรหาสถานที่เหมาะสมเพื่อปักกลด หลวงปู่ศุข พิจารณาวัดร้างแห่งนี้เห็นว่า พอจะอาศัย เป็นสถานที่พักผ่อนในราตรีกาลที่จะมาถึงได้ ท่านจึงแบกกลดเข้าไปในเขตธรณีสงฆ์แห่งนั้น บริเวณทั่วไปของวัดร้างสงัดเงียบ มีโบสถ์ ศาลาการเปรียญและกุฎิ พระครบสมบูรณ์ เพียงแต่ปราศจากพระเณรจำพรรษาคอยดูและรักษาทำนุบำรุง เสนาสนะต่างๆ ดังนั้นศาสนสถานโดยทั่วไปจึงชำรุดทรุดโทรมผุพังเป็นที่น่าสังเวช หลวงปู่ศุขรู้สึกแปลกใจระคนสงสัยทีวัดนี้ ไม่ควรจะปล่อยร้างวังเวงดังที่เห็น เพราะสังเกตดูที่ตั้งขอวัดก็อยู่ในพื้นภูมิทำเลที่เหมาะสม ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้านชุมชนเท่าไหรนัก เหตุใดจึงขาดผู้มีจิตกุศลศรัทธาอุปัฎฐากพระเณรถึงเพียงนี้ หลวงปู่เพียงแค่สงสัย แต่ไม่คิดใฝ่ใจใคร่รู้สาเหตุที่มาของวัดร้าง ท่านจึงมองหาที่พักสำหรับคืนนี้ เห็นบริเวณระเบียงด้านหน้ากุฎิหลังใหญ่ดูกว้างขวาง และเปิดโล่งโปร่งสบายก็ตรงไปยังที่น้น วางอัฐบริขารลง แล้วไปเก็บแขนงไม้มารวมกันปัดกวาดพื้นให้สะอาดพอปูอาสนะได้ ขณะที่หลวงปู่ศุข กำลังปัดกวาดอยู่นั้น มีชาวบ้านเป็นชาย 2 - 3 คน เดินมาหาท่านแล้วนังยกมือไหว้นมัสการ คนที่มีอาวุโสที่สุดถามขึ้นว่า "หลวงพ่อมาจากไหนขอรับ" พวกกระผมเห็นหลวงพ่อเดินลัดตัดทุ่งตรงมาที่นี่ จึงรีบมาพบ" "อาตมาไปนมัสการพระพุทบาทสระบุรีมา กำลังจะกลับวัดปากคลองมะขามเฒ่า คืนนี้คงต้องพักที่วัดนี้ชั่วคราว พวกโยมเป็นคนบ้านนี้กระมัง""ใช่ขอรับ กระผมเองอยูเลยหลังวัดนี้ไปไม่เท่าไหร่ เอ้อ หลวงพ่อขอรับ ท่านพักอยู่ตรงระเบียงหน้ากุฎินี้เห็นทีจะไม่เหมาะสมกระมังครับ" "ทำไมหล่ะโยม อาตมาเห็นว่าเป็นวัดร้างไม่มีใครดูแลเป็นเจ้าของจึงไม่ได้ขออนุญาตใคร" " ไม่ใช่เรื่องขออนุญาต หรือไม่ขออนุญาตหรอกขอรับ แต่พวกกระผมเป็นห่วงหลวงพ่อ กลัวว่าหลวงพ่อจะเจอเรื่องไม่ดีไม่งามเข้าตอนกลางค่ำกลางคืน " "เรื่องไม่ดีไม่งามที่โยมว่านั่นน่ะ มันเรื่องอะไร" ชายสูงวัยทำท่าอึกอักก่อนจะตัดสินใจไปกราบเรียน "ผีที่นี่เฮี้ยนเหลือกำลังขอรับหลวงพ่อสาเหตุที่วัดนี้กลายเป็นวัดร้าง ก็เพราะผีดุนี่แหละครับ กระผมเองเคยเป็นมัคทายกวัดนี้รู้เรื่องดีเชียวละ"แล้วอดีตมัคทายกก็เล่าเรื่องผีวัดร้างให้ปลวงปู่ศุข ฟังว่า เมื่อก่อนวัดนี้มีพระเณรจำพรรษาไม่เคยขาด ชาวบ้านร้านตลาดมาทำบุญทำทานกันตลอดเวลา ต่อมาสมภารเจ้าวัดมรณภาพ ยังไม่ทันจะหาสมภารรูปใหม่มาปกครองดูแลวัด ผีสมภารเปิดฉากออกอาละวาดหลอกหลอนแทบทุกคืนจนพระเณรอกสั่นขวัญหาย แม้ชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญแผ่กุศลสักเท่าไหร่ ผีสมภารก็ไม่ยอมไปผุดไปเกิด ยังคงหลอกหลอนเหมือนเดิม กระทั่งพระเณรทนไม่ไหวพากันหนีหายย้ายไปอยู่วัดอื่นหมดเคยมีพระใหม่ใจกล้ารับอาสาจะมาช่วยบูรณะวัดฟื้นฟูวัด แต่อยู่ได้ไม่กี่วันก็หอบอัฐบริขารจากไป เพราะผีสมภารเล่นงานหลวงปู่ศุขรับฟังอดีตมัคทายกวัดเล่าเรื่อผีสมภารโดยสงบ มิได้แสดงความคิดเป็นแต่ประการใด เมื่อมัคทายกกราบเรียนแนะนำให้ท่านย้ายที่ปักกลดไปอยู่นอกเขตวัดจะดีกว่า ท่านก็เฉยเสีย บอกแต่เพียงว่าคงไม่เป็นไร เพราะท่านมาอาศัยคืนเดียวแล้วก็ไป ผีสมภารคงไม่ทำอะไร เมื่อหลวงปู่ยืนยันเช่นนี้ ชาวบ้านก็จำต้องนมัสการกราบลากลับไป ทั้งที่ห่วงใยท่านจะทานวิญญาณร้ายของสมภารเจ้าวัดที่ตายไปไม่ไหว หลวงปู่กางกลด จัดวางบริขารและปูอาสนะเรียบร้อย เมื่อความมืดของราตรีมาเยือน วัดก็ยิ่งวังเวงหนักขึ้น หลวงปู่ไหว้พระสวดมนต์ทำวัตรเย็นตามกิจของท่านแล้วเข้ากลด เจริญสมาธิภาวนาเช่นที่เคยปฎิบัติมา โดยไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น ตราบกระทั่งดึกสงัด ก็ปรากฎเสียงบานหน้าต่างของกุฎิหลังใหญ่กระแทกเปิดปิดดังสนั่น ทั้งๆ ที่ประตูหน้าต่างใส่ดาลลั่นกลอนปิดสนิท จะเป็นเพราะลมก็ไม่ใช่เพราะเวลานั้นลมสงบเงียบเชียบ หลวงปู่ศุข กำลังพักผ่อนต้องลุกขึ้นมานั่ง คอยดูว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไปอีก ท่านก็ไม่ต้องคอยนาน เมื่อตรงหน้ากลดนั้นร่างดำมึนดูทะมึนของสมภารวัดได้ผุดวูบขึ้นมา ให้เห็นถนัดชัดเจน พร้อมกับพูดขึ้นด้วยเสียงแหบห้าวดุจไม่พอใจ " มาทำไม?" "ผมไปรุกขมูลมา จะขออาศัยนอนที่นี่สักคืน" หลวงปู่ศุขตอบผีสมภารนิ่งแล้วหายวับ คราวนี้เกิดเสียงดังโครมครามสนั่นหวั่นไหว ภายในกุฎิไม่ยอมหยุด ประหนึ่งต้องการขับไล่หลวงปู่ศุขทว่าหลวงปู่มิได้หวั่นไหวต่อการแสดงฤทธิ์ของผีสมภาร ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังรู้สึกสงสารเวทนาต่อดวงวิญญาณมิจฉาทิฐิ ที่หลงวนเวียนยึดเหนี่ยวในสถานที่นี้ไม่ยอมไปผุดไปเกิดในภพภูมิที่ดีกว่า ทั้งๆที่บวชเรียนในพระพุทธศาสนามานานถึงขึ้นเป็นสมภารเจ้าวัด หลวงปู่ศุขสำรวมจิตแผ่เมตตาไปให้ แต่เสียงสนั่นหวั่นไหวภายในกุฎิ ก็ไม่ยอมหยุด สวดมนต์อีกหลายบท ผีสมภารก็ยังไม่รับรู้ มิหนำซ้ำ ผีสมภารยังมาปรากฎร่างยืนตระหว่างตรงหน้ากลด แผดเสียงหัวเราะเย้ยหยันแล้วคำรามลั่นบอกว่า "ไม่กลัวหรอก มีคาถาอะไรก็ว่ามาอีกซิ" หลวงปู่ศุข เห็นผีสมภารดื้อด้านถึงเพียงนี้ ท่านจึงกล่าวออกมาดังๆว่า "อนิจจาเอ๋ยไม่เคยเห็น ผีตายหรือจะสู้กับผีเป็น นะโมพุทธายะ"ด้วยถ้อยคำประโยคนี้ ผีสมภารก็หายวับไป ไม่มีเสียงโครมครามใดๆ ตามมาอีก และหลวงปู่ศุขก็ไม่ใส่ใจสนใจอีกต่อไป เอนกายลงพักผ่อนตามปกติของท่าน เช้าวันรุ่งขึ้นอดีตมัคทายกและชาวบ้านกลุ่มใหญ่รีบมาที่วัดแต่เช้า เห็นหลวงปู่ศุขเป็นปกติดีไม่มีอะไร ต่างปีตีดีใจเข้ามากราบไหวันมัสการสอบถาม ว่าเมื่อคืนมีเหตุการณ์ร้ายๆอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ หลวงปู่ไม่ตอบ ได้แต่ยิ้มๆ ทำนองมิให้ซักไซร้ให้มากความ ชาวบ้านจึงไม่กล้าละลาบละล้วงถามอีก จากนั้นก็กลับไปจัดหาภัตราหารเช้ามาถวาย เมื่อท่านกระทำภัตกิจเรียบร้อย ชาวบ้านนิมนต์ให้ท่านพักอยู่ที่นี่ก่อน เพื่อพวกเขาจะได้มีโอกาสทำบุญสร้างกุศลกันบ้าง หลวงปู่ศุขก็เมตตารับนิมนต์ หลวงปู่พำนักอยู่ที่กุฎิร้างของสมภารเก่า ๕ คืน ไม่กรากฎมีผีสมภารออกอาละวาดอีกเลยท่านเห็นว่าสมควรแก่เวลาแล้วจึงเก็บอัฐบริขารเพื่อเดินทางต่อไปชาวบ้านอ้อนวอนให้ท่านเป็นสมภารวัดร้างแห่งนี้ แต่หลวงปู่ไม่อาจรับศรัทธาญาติโยมข้อนี้ได้ กลับภูมิลำเนา หลวงปู่ท่านเพลินอยู่ในธรรมเสียหลายปี จนกระทั่งมารดาที่วัดปากคลองมะขามเฒ่าได้ชราภาพลงตามอายุขัยด้วยความเป็นห่วงใยในมารดาและบิดา ท่านจึงได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม และได้อยู่จำพรรษาปีแรกๆที่วัดอู่ทองคลองมะขามเฒ่าซึ่งเป็นวัดเก่าแก่แต่โบราณที่อยู่ลึก เข้าไปในคลองมะขามเฒ่าหรือบริเวณต้นแม่น้าท่าจีนในปัจจุบัน แต่ทว่าสภาพวัดในขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมลงตามสภาพ เกินกว่าที่จะบูรณะให้กลับคืนในสภาพที่ดีได้ต่อไป ท่านจึงได้ ขยับขยายออกมาที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและได้สร้างกุฎิขึ้นครั้งแรกหนึ่งหลังพอเป็นที่อยู่อาศัย ไปพลางก่อน กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อาจจะเป็นด้วย บุญกุศลของหลวงปู่ศุข กับเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งราชนาวี ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นับลำดับราชสกุลวงศ์ เป็นพระโอรสพระองค์ที่ 28และเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ ที่1 ในเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ได้สร้างสมกันมาแต่ชาติปางก่อนดลบันดาลให้เสด็จในกรมฯ ซึ่งทรงศรัทธาเลื่อมใสในทางมหาพุทธาคมอยู่แล้ว ได้เสด็จประพาสไปในภาคเหนือ จึงเป็นเหตุให้หลวงปู่ศุขและพระองค์ท่านได้พบกัน จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์-อาจารย์เพื่อจะได้ศึกษาทางมหาพุทธาคมและปรากฎว่าพระองค์เป็นศิษย์ที่มีความรู้ความ สามารถได้ศึกษาแตกฉานจนกระทั่งหลวงปู่ศุขเองก็หมดความรู้ที่จะถ่ายทอดจึงแนะนำให้เสด็จในกรมฯไปศึกษาเคล็ดวิชากับหลวงพ่อเงินวัดบางคลาน จังหวัดพิจิตรต่อ ดังเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วนั้น เมื่อหลวงปู่ศุขท่านมีลูกศิษย์อย่างเสด็จในกรมฯ จึงเป็นกำลังสำคัญให้ท่านสามารถที่จะสร้างวัดปากคลองมะขามเฒ่าให้เสร็จสมบูรณ์ถาวรวัตถุทางพุทธศาสนาที่คงเหลือเป็นประจักษ์พยานในปัจจุบันนี้คือ ภาพเขียนฝีมือเสด็จในกรมฯบนฝาผนังพระอุโบสถ วัดปากคลองมะขามเฒ่าที่ยังรักษาไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นภาพเขียนสีน้ำที่กรมศิลปากรยกย่องว่า เสด็จในกรมหลวงชุมพร ทรงมีฝีมือทางการเขียนภาพเป็นอย่างมากและทรงสอดแทรกอารมณ์ขันในภาพพระพุทธ-เจ้าชนะมารในกระแสน้ำที่พระแม่ธรณีบิดมวยผมทำให้เกิดอุทกธาราหลากไหลพัดพาเอาทัพพระยามารไปนั้น พระองค์ท่านเขียนเป็นภาพลิงใส่นาฬิกาและหนีบขวดวิสกี้ กำลังเดินตุปัดตุเป๋ไปเลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งฤาษีปัญจวัคคี โดยสอดใส่อารมณ์ที่ยิ้มเยาะเย้ยหยัน อย่างไม่อะไรไยดีต่อพระองค์เน้นความรู้สึกได้เด่นชัดมาก ฝีมือของเสด็กในกรมฯ อีกชิ้นหนึ่งก็คือ ภาพเขียนสีน้ำมันเป็นรูปหลวงปู่ศุขยืนเต็มตัวและถือไม้เท้า ภาพนี้เขียนในขณะที่หลวงปู่ศุข ชราภาพมากแล้ว ท่านจึงต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงในการเดิน ซึ่งภาพนี้ก็ยังปรากฎให้เห็นอยู่ที่วัดปากคลอง มะขามเฒ่าจวบจนทุกวันนี้ ความสัมพันธ์ ระหว่างอาจารย์ กับ ลูกศิษย์นอกจากจะถูกอัธยาศัยกันเป็นยิ่งนัก จักเดินทางไปมาหาสู่กันเสมอแล้ว ถ้าเสด็จในกรมฯติดราชการงานเมือง หลวงปู่ก็จะลงมาหาโดยเสด็จในกรมฯได้สร้างกุฎิอาจารย์ ไว้กลางสระที่วัดนางเลิ้ง ซึ่งเต็มไปด้วยดอกบัววิค ตอเรีย มีใบกลมใหญ่ขนาดถาด และรู้สึกว่ากลางใบจะมีหนามคมด้วย อันนี้ได้รับคำบอกเล่า จาก ลุงผล ท่าแร่ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ ติดสอยห้อยตามหลวงปู่ศุขมาแต่เล็กท่านเป็นชาวอุตรดิตถ์ หรือพิษณุโลก จำได้ไม่ถนัดนัก หลวงปู่ท่านขอพ่อแม่เขามาเลี้ยงเป็นบุตร บุญธรรม เมื่อสิ้นบุญหลวงปู่ศุข ท่านก็เลยลงหลักปักฐานได้ภริยาอยู่ที่ตำบลท่าแร่ อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท เลยเรียกกันติดปากว่า ลุงผล ท่าแร่ แต่อย่างไรก็ตาม ภายในกำหนด 1 ปีหลวงปู่ท่านจะต้องลงมากรุงเทพฯ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย เพราะเสด็จในกรมฯท่านจะทำวิธีไหว้ครูราวๆ เดือนเมษายน งานจะจัดเป็น 3 วันวันแรกไหว้ครูกระบี่กระบอง วันที่สองไหว้ครูหมอยาแผนโบราณ และวันที่สามไหว้ครูทางวิทยายุทธ์ พุทธาคมและไสยศาสตร์จัดเป็นงานใหญ่มีมหรสพสมโภชทุกคืน กับมีการแจกพระเครื่องรางของขลังจากหลวงปู่ศุขอีกด้วย แต่ในระยะหลังๆ หลวงปู่ศุขท่านมีอายุ มากแล้วสุขภาพไม่ค่อยจะสมบูรณ์เท่าใดนัก ท่านจึงไม่ค่อยได้ลงมา วัตถุมงคลรุ่นแรก สืบต่อมามารดาของหลวงปู่ได้ถึงแก่กรรมและได้จัดฌาปนกิจศพ และในงานนี้เองหลวงปู่ท่านได้สร้างวัตถุมงคลในรูปพระพิมพ์สี่เหลี่ยมซุ้มรัศมีออกแจกเป็นของที่ระลึกเป็นครั้งแรกเมื่อผู้ที่ได้รับแจกพระเครื่องจากท่านไปได้ปรากฎอภินิหารทางอยู่ยงคงกระพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกันเขี้ยวงา คือสุนัขกัดไม่เข้า ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่บังเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะบ้านนอกอย่างใน ชนบทสมัยก่อนนั้นไม่ค่อยจะมีรั้วรอบขอบชิดเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็ได้อาศัยสุนัขที่เลี้ยงไว้เป็นยามเฝ้าบ้าน ฉะนั้น การที่แวะเวียนไปบ้านหนึ่งบ้านใดนั้นจะต้องระวังเรื่องสุนัขลอบกัดให้ดี มิฉะนั้นท่านจะถูกสุนัขกัดเอาง่ายๆพระเครื่องของหลวงปู่จึงมีชื่อเรื่องสุนัขกัดไม่เข้า เป็นปฐมเหตุก่อน จึงเกิดความนิยมไปขอท่านมาแขวนคอบุตรหลานเพื่อกันเขี้ยวงาและภยันตรายต่างๆ สมัยก่อน พระวัดปากคลองเนื้อตะกั่วจะมีแขวนอยู่ในคอเด็กในท้องถิ่นเกือบจะทุกคน แล้วถ้าไปขอพรหลวงปู่ศุข ท่านมักจะถามว่า "เอ็งมีลูกกี่คน?" ท่านจะให้ครบทุกคน กิตติศัพท์ในความขลังประสิทธิในพระพิมพ์สี่เหลี่ยมของท่านจึงค่อยๆ เผยแพร่จากปากหนึ่งไปสู่อีกปากหนึ่ง ในเวลาไม่ช้าไม่นาน คุณวิเศษของท่านจึงค่อยๆ โด่งดังขจรขจายไปทั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดปากคลองมะขามเฒ่าซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลัก การขนส่งสินค้า ตลอดจนการทำมาค้าขาย จะขึ้นล่องจะต้องอาศัยสายน้ำเจ้าพระยาเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เพราะในสมัยนั้นถนนหนทางทางบกยังทุรกันดารพอตกเพลาพลบค่ำพ่อค้าพ่อขายเรือเล็กเรือใหญ่จะมาอาศัยนอนค้างแรมที่แพหน้าวัดของท่าน เพื่ออาศัยบารมีของท่านช่วยป้องกันขโมยขโจร ที่จะมาประทุษร้ายต่อเลือดเนื้อชีวิตและทรัพย์สิน ถ้าจะเปรียบไปแล้วหน้าวัดของท่านจึงเป็น เสมือนหนึ่งเป็นชุมทางที่สำคัญนี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ช่วยเสริมส่งให้เกียรติคุณของท่านแผ่ขยายไปทั่วทุกภาคของประเทศชื่อเสียงของท่านจึงเป็นที่รู้จักกันดี"หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า" พระเครื่อง-เครื่องรางของขลัง การที่ท่านทำพระเครื่องรางของขลัง ได้ประสิทธิ์ มี ฤทธิ์ มีเดช ทั้งๆที่อักษรเลขยันต์พื้นๆนั้น เป็นเพราะอำนาจจิตที่ท่านได้ฝึกฝนมานั้นกล้าแกร่งยิ่งนัก โดยเฉพาะกสิณธาตุทั้งสี่ มี ดิน น้ำ ลม ไฟ นั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญ เป็นบ่อเกิดแห่งอำนาจอิทธิฤทธิ์ทางใจเลยทีเดียวสำหรับการสำเร็จวิชาชั้นสูงเรียกว่า มายาการ คือความเชื่อถือและการปฏิบัติ ที่มุ่งหมายให้เกดิผลด้วยการ ใช้พลังหรืออำนาจเหนือธรรมชาติ เช่นของขลัง พิธีกรรม หรือ หลีกลี้ลับ บังคบให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ เช่น ท่านเสกใบมะขาม ให้เป็น ตัวต่อ ตัวแตน เสกหัวปลีให้เป็นกระต่าย ตลอดจนการผูกหุ่นพยนต์ด้วยฟางข้าว เสกคนให้เป็นจระเข้เป็นต้น มันเป็นมายาการชั้นสูง คือการบังคับให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ แท้ที่จริงแล้วใบมะขามก็ยังคงเป็นใบมะขาม หัวปลี ก็ คงเป็นหัวปลี และหุ่นฟาง ก็คงเป็นหุ่นฟางเหมือนเดิมเว้นแต่อำนาจจิตของท่านทำให้เราเห็นไปเอง จากหนังสือ "พระกฐินพระราชทาน สมาคมศิษย์อนงคาราม ปี 2519 เรื่องพระใบมะขาม ท่านผู้เขียนอดีตเป็นพระมหา มีหน้าที่ไปอุปัฏฐากหลวงปู่ศุขขณะที่อาราธนาท่านมาปลุกเสกพระชัยวัฒน์ และพระปรกใบมะขาม (พ.ศ.2459)ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า เมื่อข้าพเจ้าไปอุปัฏฐากหลวงพ่อแล้ว มีชาวบ้านชาววัดมาขอให้หลวงพ่อลงกระหม่อมบ้าง ลงตะกรุดพิสมรบ้าง โดยยื่นแผ่น เงิน ทอง นาก ให้ลงคาถา บางคนขอเมตตา บางคนขอการค้าขาย หลวงพ่อให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ลง ข้าพเจ้าถามว่า การค้าขายจะให้ลงว่ากระไร ท่านบอกว่า "นะเมตตา โมกรุณา พุทธปราณี ธายินดี ยะเอ็นดู " ข้าพเจ้าจึงบอกว่า "หลวงพ่อครับ ผมไม่มีความขลังลงไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร " หลวงพ่อบอกว่า " มันอยู่ที่ผมเสกเป่านะคุณมหา" ข้อนี้ยืนยันว่าเป็นความจริงเพราะระหว่างนั้นข้าพเจ้าให้หลวงพ่อลงกระหม่อม และท่านเสกเป่าไปที่ศรีษะตั้งหลายครั้ง เมื่อท่านเป่าที่กระหม่อมทีไรข้าพเจ้าขนลุกชันทั่วทั้งตัวทุกครั้ง ทั้งที่ข้าพเจ้าฝืนใจไม่ให้ขนลุก ก็ ลุกซู่ทุกครั้งที่ท่านเป่า ข้อนี้เป็นมหัศจรรย์ จริงๆข้าพเจ้าคิดว่าจะเป็นแต่ข้าพเจ้าคนเดียว ไปสอบถามภิกษุอุปัฐาก รูปอื่นๆ ก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกัน ข้อนี้ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า"ท่านสำเร็จสมถะภาวนาแน่ๆ" อนึ่งท่านเป็นพระที่น่าเคารพนับถือ สำรวมในศีลเป็นอย่างดี ไม่ใคร่พูดจานั่งสงบอารมณ์ เฉยๆ ไม่ถามอะไร ท่านก็ไม่ตอบไม่พูดบางอย่างข้าพเจ้าถามหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ตอบเลี่ยงไปทางอื่น เช่น " เขาว่าหลวงพ่อเสกใบไม้เป็นต่อ และเสกผ้าเช็ดหน้าเป็นกระต่ายได้และแสดงให้กรมหลวงชุมพรฯเห็นจนท่านยอมเป็นศิษย์ " หลวงพ่อตอบข้าพเจ้าว่า ลวงโลก แล้วท่านก็นิ่งไม่ตอบว่า อะไรอีก หลวงพ่อพูดต่อไปว่า "เวลานี้ กรมหลวงชุมพรฯไปต่างประเทศ (เข้าใจว่าไปรับเรือพระร่วง ) ถ้าอยู่ก็ต้องมาหาท่าน และปรนนิบัติ ท่านจนท่านกลับวัด และว่ากรมหลวงชุมพรฯ นี้ ตกทะเลไม่ตาย แม้จะมีสัตว์ร้ายก็ไม่ทำอันตรายได้ " ท้ายบท การที่เราคนรุ่นหลังจักเขียนเรื่องราวและวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ศุขซึ่งท่านมรณะภาพล่วงไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษให้ได้ใกล้เคียงกับความจริงนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ยากมากๆ อาศัยหลักฐานทางเอกสารที่ยังหลงเหลืออยู่บ้าง จากการสอบถามบรรดาลูกศิษย์ ลูกหาของท่าน ซึ่งส่วนมากจะล้มหายตายจากกันไปเสียเป็นส่วนใหญ่ดังนั้นการที่ท่านได้รับรู้จากการเขียน ของ "ท่านมหา" ซึ่งเคยเป็นอุปัฏฐากหลวงปู่ จึงใกล้เคียงความจริงเท่าที่จะหาได้มากที่สุด
|