ชีวประวัติหลวงพ่อตัด วัดชายนา จากหนังสือพระเกจิ เล่มที่ 243 , 244 ครับผม - webpra

ชีวประวัติหลวงพ่อตัด วัดชายนา จากหนังสือพระเกจิ เล่มที่ 243 , 244 ครับผม

บทความพระเครื่อง เขียนโดย trustnow

trustnow
ผู้เขียน
บทความ : ชีวประวัติหลวงพ่อตัด วัดชายนา จากหนังสือพระเกจิ เล่มที่ 243 , 244 ครับผม
จำนวนชม : 14880
เขียนเมื่อวันที่ : พ. - 12 ธ.ค. 2555 - 13:37.38
แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ : ศ. - 11 ม.ค. 2556 - 19:19.19
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)

สุดยอดคงกระพัน  มหายันต์ มหาอุด

ทั้งปลัดทั้งตะกรุด ขลังสุดๆ วัดชายนา

สุดยอดเกจิอาจารย์แห่งวัดชายนา จังหวัดเพชรบุรี

 

" พระพุทธวิริยากร " หรือ หลวงพ่อตัด ชื่อที่ลูกศิษย์ลูกหาและผู้คนทั่วประเทศ ต่างขนานนามให้ท่าน เป็นสุดยอดเกจิอาจารย์แห่งยุค  โดยเฉพาะสุดยอดเครื่องราง อย่างปลัดและตะกรุดของสำนักวัดชายนา ประสบการณ์เป็นที่ยอมรับ จนชื่อเสียงของหลวงพ่อตัดขจรกระจายไปทั่วประเทศ  ยอดเยี่ยมไม่แพ้สำนักใด  แม้ว่าปัจจุบันท่านจะมรณภาพไปแล้ว  แต่ชื่อเสียง เกียรติคุณ และประสบการณ์ในวัตถุมงคลที่หลวงพ่อได้ปลุกเสกไว้  ยังจารึกอยู่ในใจ ลูกศิษย์ลูกหา และพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ

หลวงพ่อตัด ปวโร อดีตเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดชายนา จังหวัดเพชรบุรี นามเดิมของท่านชื่อ นายตัด นามสกุล คำใส  เกิดเมื่อวันที่  ๒๘ เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ที่ หมู่บ้านกระจิว หมู่ ๖  ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี  บิดาของท่านชื่อ นายตอย คำใส มารดาท่านชื่อ นางเย็น คำใส หลวงพ่อตัดเป็นลูกคนโต มีพี่น้องร่วมบิดาแต่ต่างมารดาทั้งหมด ๕ คน

ชีวิตในวัยเยาว์ของหลวงพ่อตัด ท่านมีอุปนิสัยที่ขยันขันแข็ง และมีความเพียรตั้งแต่เด็กๆ  ท่านได้ศึกษาที่โรงเรียนวัดเขากระจิว จนจบประถมศึกษาปีที่ ๔ หลังจบการศึกษาท่านก็ช่วยงานบิดา มารดา อยู่ที่บ้านเกิดนี้เอง  จนกระทั่งอายุได้ ๒๐ ปี ท่านก็มีความประสงค์จะอุปสมบท ณ วัดเขากระจิว เพื่อสืบทอดพุทธศาสนาตามทำเนียมปฏิบัติ และอุทิศบุญกุศลให้ยายและมารดาของท่าน เมื่อเดือน พฤษภาคม ปี พ.ศ.๒๔๙๔  โดยมี

พระครูมหาสมณวงศ์  ( เล็ก ) วัดเขาวัง             เป็นพระอุปัชฌาย์

พระสมุห์               ล้อม         วัดเขาวัง             เป็นกรรมวาจาจารย์

พระอธิการ            ทอง         วัดเขากระจิว       เป็นอนุสาวนาจารย์

พระภิกษุตัด ได้รับฉายาทางพุทธศาสนาว่า " ปวโร " แปลว่า ผู้ประเสริฐ เมื่อบวชแล้ว ท่านได้จำพรรษาอยู่กับหลวงพ่อทองที่วัดเขากระจิว  หลวงพ่อตัดท่านเป็นพระที่ใฝ่ในการศึกษาหาความรู้ ตั้งใจเรียนทั้งปริยัติ และปฏิบัติ มีความขยันขันแข็ง ช่วยเหลืองานในวัดทุกอย่างด้วยความอุตสาหะ ทั้งงานทุบหินสร้างโบสถ์ใหม่ ทำถนนทางเดิน และทำงานทุกอย่างสุดแต่หลวงพ่อทองท่านจะมอบหมายให้ หลวงพ่อตัดท่านมีความอุตสาหะพากเพียร เรียนจนสอบนักธรรมเอกได้ ในปี ๒๕๐๓    หลวงพ่อตัดท่านเป็นพระที่มีตบะมาก ตั้งแต่ยังหนุ่ม ญาติของผู้เขียนเองในสมัยยังเด็กนั้น  ตอนที่หลวงพ่อยังอยู่ที่วัดเขากระจิว ได้เห็นหลวงพ่อตัดถือไม้กระบองมาคุมงานสร้างถนนเข้าวัดเขากระจิว เพียงแค่เห็นหลวงพ่อ ก็รู้สึกเกรงกลัวท่านมาก  ต่อมาได้มีชาวบ้านจากหมู่บ้านในดง มาหาหลวงพ่อทองเพื่อมานิมนต์พระไปสร้างวัด  หลวงพ่อทอง ก็เรียกประชุมพระลูกวัดรวมทั้งหลวงพ่อตัดด้วย  เพื่อถามความสมัครใจ  แต่ก็ไม่มีผู้ใดออกไปอยู่  เพราะเป็นถิ่นกันดาร ห่างไกลความเจริญสู้วัดเขากระจิวไม่ได้เพราะใกล้ อ.ท่ายาง  เมื่อเป็นเช่นนั้น  หลวงพ่อตัด ท่านก็เลยรับนิมนต์เอง  เพื่อไปสร้างวัดและอยู่จำพรรษา ณ ที่ว่าง ซึ่งเดิมทีเป็นป่าช้าเก่าของหมู่บ้านในดง ได้รับการ บุกเบิก โดยหลวงพ่อตัด ปวโร  พร้อมด้วยชาวบ้าน  ต.บ้านในดง และญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕  พื้นที่แปลงนี้อยู่ในความดูแลของอดีตกำนัน คำ ทองทา   ถวายไว้เพื่อให้สร้างวัด เนื่องด้วยหมู่บ้านในดงยังเป็นที่ห่างไกลความเจริญ ยังไม่มีไฟฟ้าและประปาใช้ ถนนหนทางก็ไม่ดี เดินทางไปไหนก็ลำบาก   ตั้งแต่ท่านสร้างวัดและจำพรรษาอยู่นั้น แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคมากมาย  แต่ด้วยความเพียรอย่างอุตสาหะ และปฏิปทาอันดีงามของท่าน วัดชายนาจึงเจริญรุ่งเรือง สวยงาม เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ สืบทอดพุทธศาสนาอย่างมั่นคงเข้มแข็ง อย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ก็เพราะบารมีของหลวงพ่อตัดโดยแท้

 

วัตรปฏิบัติ และปฏิปทาของหลวงพ่อตัด             

 

หลวงพ่อตัดนั้นท่านเคร่งครัดในพระธรรมวินัย  และมีเมตตาสูง ไม่ยึดติดกับลาภสักการะ  ความเมตตาของหลวงพ่อตัดนั้น ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง  เด็กหรือผู้ใหญ่  คนรวยคนจน ท่านเมตตาเสมอภาคกันหมด สังเกตได้ตอนท่านมีชีวิตอยู่ เมื่อมีญาติ โยมนำของกินของใช้มาถวายท่าน ท่านก็จะเดินแจกเณรและศิษย์วัดโดยเสมอภาคกัน  กับการไม่ยึดติดและสะสมนั้น หากท่านใดเคยเข้าไปในกุฎิของหลวงพ่อ ท่านก็จะเห็นที่นอนจำวัดของหลวงพ่อว่า  มี แค่เพียงจีวรหมอน และพื้นที่แค่เพียงซุกตัวนอนได้ท่ามกลางกระป๋อง และลังที่ใส่วัตถุมงคลที่พร้อมปลุกเสกเมื่อยามท่านตื่นจากจำวัดในยามดึกสงัด (หลวงพ่อชอบปลุกเสกตอนดึกๆ เงียบสงบ) กับการปฏิบัติอย่างสมถะเรียบง่ายของท่าน จึงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พระภิกษุสามเณรภายใต้การปกครองของท่านว่า  เมื่อมาบวชแล้วควรปฏิบัติตนให้สมกับสมณะเพศ ในกุฏิของท่านนั้นไม่มีเครื่อง อำนวยความสะดวกความสบาย  เช่น แอร์ ทีวี  เครื่องเสียง   ส่วนตู้เย็นนั้นมามีเมื่อปี ๒๕๕๑ ที่มีได้ก็เพราะมีผู้มีจิตศรัทธานำมาถวาย สำหรับแช่เครื่องดื่ม เพื่อรับญาติโยมที่มากราบหลวงพ่อและและทำบุญภายในวัด  และสิ่งยืนยันอีกอย่าง คือ เมื่อครั้งเปิดห้องหลวงพ่อหลังจากงานศพท่านลุล่วงแล้ว  เพื่อสำรวจทรัพย์สินของมีค่าของท่าน  ปรากฏว่าภายในกุฎิของท่าน นอกจากวัตถุมงคลของทางวัดแล้ว ก็มีเพียงสมุดบัญชีธนาคารที่มีเงินฝากสะสม เพียง ๔๐,๐๐๐ บาท เท่านั้นที่เป็นของท่าน ซึ่งก็เป็นเงินเดือนประจำตำแหน่งเจ้าอาวาสของท่าน เท่านั้นเอง 

         ดังที่กล่าวมาแล้วว่า หลวงพ่อตัดนั้น  ท่านเป็นผู้มีเมตตาสูง และไม่ยึดติดกับลาภสักการะ ปัจจัยที่ได้มาจากการทำบุญ  กฐิน  ผ้าป่า วัตถุมงคล  หรือจากญาติโยมและ ผู้มีจิตศรัทธา  ท่านจะนำไปสร้างถาวรวัตถุเสนาสนะภายในวัด  เช่น สร้างโบสถ์  สร้างกุฎิสงฆ์ สร้างหอฉัน  สร้างศาลาเอนกประสงค์  สร้างเมรุ สร้างโรงอาหาร และอื่นๆอีกมากมาย  ภายในวัด            ไม่เพียงแต่ในวัดชายนาของท่านเท่านั้น ท่านยังบริจาคทรัพย์เพื่อสังคมและชุมชน อันมีโรงเรียน หมู่บ้าน วัดทั่วไป หรือแม้กระทั่งหน่วยงานของราชการ สถานพยาบาล  ถ้ามีผู้มาร้องขอท่าน ถ้าท่านมีท่านไม่เคยขัดให้ได้ตามความเหมาะสม ดังเช่น บูรณะซ่อมแซมพระอุโบสถ วัดเขากระจิว บริจาคปัจจัยสร้างโบสถ์และกุฎิสงฆ์ วัดหนองหงส์พัฒนา อ.ชะ อำ ร่วมสร้างก่อตั้งมูลนิธิคณะสงฆ์ธรรมยุติเพชรบุรี  ณ วัดสนามพราหมณ์ และยังมีอีกหลายวัดที่ท่านร่วมสร้างบริจาคปัจจัยเพื่อการ นั้นๆ จนสำเร็จลุล่วงด้วยดี ผู้เขียนเคยได้ยินหลวงพ่อท่านพูดว่า "  เงินทำให้คนต้องเสียคนพระเสียพระ เมื่อมีเงินจึงต้องใช้ให้หมด ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ "

        ด้วยคุณงานความดีที่หลวงพ่อเพียรทำมาตลอดชีวิตของท่าน  และวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดในพระธรรมวินัย อีกทั้งผลงานด้านพัฒนาและการทำนุ บำรุงพระพุทธศาสนา  อันมีคุณต่อสาธารณประโยชน์ต่อส่วนรวมมากมายที่ท่านได้มอบไว้ให้ ด้วยความดีดัง กล่าวจึงทำให้ท่านเจริญด้วยสมณศักดิ์  ดังนี้ - พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดชายนา อย่างเป็นทางการโดย เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติ - ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น  พระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่  พระครูบวรกิจโกศล - พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับการแต่งตั้งเป็น พระอุปัชฌาย์  โดยเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุติ - เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์พัดยศในพระราชทินนามเดิม - และวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์พัดยศเทียบเท่าเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอาราม หลวงชั้นพิเศษ - วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้รับพระราชทานแต่งตั้งเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ในพระราชินนามว่า “พระพุทธวิริยากร” อันเป็นสมณศักดิ์ครั้งสุดท้าย ของท่าน... 

 

 

 

 การศึกษาพุทธาคม

 

หลวงพ่อตัด ท่านสนใจใคร่รู้ในเรื่องวิชาอาคม เครื่องราง ของขลังต่างๆ เมื่อท่านบวชแล้ว ท่านก็เพียรพยายาม ไปเล่าเรียนวิชาต่างๆ ใครว่าที่ไหนมีวิชาดี อาจารย์ที่ไหนดัง ท่านดั้นด้นไปขอเรียนมาจนหมด ดังรายนามอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาของหลวงพ่อ ตามที่มีการสอบถามและบันทึกไว้ได้มีดังนี้

 

- หลวงพ่อทอง วัดเขากระจิว อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

หลวงพ่อทองท่านก็สืบทอดวิชามาจากหลวงพ่อกริช เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดเขากระจิว หากกล่าวถึงหลวงพ่อกริชนั้น  ท่านก็ได้สืบทอดวิชามาจาก หลวงพ่อกุน วัดพระนอน จ.เพชรบุรี เจ้าของตำนานตะกรุดไมยราพสะกดทัพอันโด่งดังอันดับต้นๆของเมืองไทย นอกจากวิชาทำตะกรุดของวัดเขากระจิว หลวงพ่อตัดท่านยังได้ศึกษาวิปัสสนา กัมมัฏฐานกับหลวงพ่อทอง ซึ่งหลวงพ่อทองท่านมีความสนิมสนมกับท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส ในฐานะเคารพเป็นครูบาอาจารย์ อีกทั้งตำราเก่าๆที่รวบรวมสรรพวิชาต่างๆมากมาย ที่ตกทอดสืบมาจากหลวงพ่อกริช หลวงพ่อก็ได้ศึกษาจนแตกฉานหมดสิ้น

 

- หลวงพ่อชุ่ม วัดกุฏิ บางเค็ม  อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี

พระอาจารย์องค์สำคัญอีกองค์หนึ่ง หลวงพ่อท่านมีความศรัทธาหลวงพ่อชุ่มมาก หลังจากที่ได้เห็นปาฏิหาริย์กับตาท่านเอง เมื่อครั้งที่หลวงพ่อชุ่มท่านได้มาพุทธาภิเษก วัตถุมงคลที่วัดเขากระจิว เมื่อปี ๒๔๙๖ หลวงพ่อตัดจึงตามไปขอเรียนวิชาทำปลัดขิกจากหลวงพ่อชุ่มจนสำเร็จ

 

- พระเทพวงศาจารย์หลวงพ่ออินทร์ วัดยาง

หลวงพ่ออินทร์ ช่วงวัยเด็กท่านศึกษาวิชาอยู่กับหลวงพ่อกุน วัดพระนอน และเคยจำพรรษาเพื่อเล่าเรียนวิชากับหลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม หลวงพ่อตัดท่านได้ไปกราบท่านเจ้าคุณอินทร์เพื่อปรึกษาเรื่องการสร้างวัด และขอเรียนวิชาทำตะกรุดไร้โรคา วิชาโภคทรัพย์และเคล็ดวิชาอีกบางประการ

 

- หลวงพ่อเทพ วัดถ้ำรงค์

หลวงพ่อเทพท่านเป็นเกจิอาจารย์ที่คนในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรีนับถือมาก โดยเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีน ท่านเชี่ยวชาญเรื่องการดูฤกษ์ยาม การเจิมรถ วิชาเกี่ยวกับการค้าขายเรียกคนเรียกทรัพย์ หลวงพ่อตัดท่านได้ไปเรียนวิชา นะเมตตา วิชาประสบเนตรและเกร็ดวิชาอื่นๆเกี่ยวกับเมตตามหานิยม

 

- หลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร

ท่านเป็นเกจิยุคเก่าที่เชี่ยวชาญเรื่องการปลุกเสกปลัดขิกมาก เวลาท่านทำปลัดเสร็จ ท่านจะให้ลูกศิษย์ยกไปเทใส่กองไฟ ตัวไหนไม่ไหม้ไฟจึงจะใช้ได้  หลวงพ่อตัดท่านได้ไปเรียนวิชาทำปลัดขิกเพิ่มเติมจากศิษย์หลวงพ่อบุศย์ ที่เป็นฆารวาสที่สืบทอดวิชา รวมทั้งตำราเก่าต่างๆ  

 

- หลวงพ่อเทียบ  วัดมาบปลาเค้า 

ท่านเป็นศิษย์อธิการชัน เกจิยุคเก่าอีกองค์ที่ไม่ธรรมดา สายวิชาหลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว หลวงพ่อตัดได้เรียนวิชาตะกรุดทองคำและเคล็ดวิชาอื่นๆ

 

ในที่นี้ผู้เขียนขอเล่าถึงหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง ซึ่งขณะนั้นหลวงพ่อทองศุขท่านถือได้ว่าเป็นเกจิอาจารย์ใหญ่แห่งยุคในจังหวัด เพชรบุรี ผู้เขียนได้เรียนถามกับหลวงพ่อตัดท่านโดยตรงว่าท่านได้ศึกษาวิชาจากหลวงพ่อ ทองศุขหรือไม่ หลวงพ่อตัดท่านเล่าว่าท่านไม่ได้ศึกษากับหลวงพ่อทองศุขโดยตรง เพียงแต่ได้ไปกราบนมัสการ และสอบถามเคล็ดวิชาบางประการเท่านั้น ซึ่งหลวงพ่อทองศุขก็เมตตาบอกเคล็ดวิชาบางประการให้ พร้อมพูดกับหลวงพ่อตัดด้วยประโยค ซึ่งหลวงพ่อท่านจำได้ดี

หลวงพ่อทองศุข ท่านพูดว่า  "  ถ้ามึงทำได้จริงเมื่อไหร่  มึงจะเดือดร้อน " ซึ่งในภายหลังก็ตรงกับกับพูดของหลวงพ่อทองศุขจริงๆ  เพราะช่วงหลังในบั้นปลายชีวิตของหลวงพ่อตัด ท่านก็มีลูกศิษย์มากราบนมัสการมากมายตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เช้ายันดึกดื่น แทบไม่มีเวลาพักผ่อนเลย

 

 

 - โยมพุฒ  บ้านบางเก่า อ.ชะอำ 

หลวงพ่อได้เรียนวิชามนต์จินดามณี หรือมนต์พระสังข์เรียกเนื้อเรียกปลา และวิชาการทำพระขรรค์ ได้รับ การถ่ายทอดจากโยมพุฒ เป็นอาจารย์ฆราวาส  บ้านอยู่เขต อ.ชะอำ  วิชามนต์จินดามณีวิชานี้เด่นทางเรียกคน เรียกทรัพย์  วิชานี้เป็นวิชาอาถรรพ์  สืบทอดกันได้แค่คนต่อคนเท่านั้น คือเมื่อเจ้าของเดิมเลือกที่จะถ่ายทอดให้ใครไปแล้ว ก็ต้องเสียชีวิตลงภายในเวลาไม่นานนัก  และโยมพุฒ ก็เสียชีวิตลงภายใน ๓ วัน หลังจากมอบให้กับหลวงพ่อตัด 

 

- อาจารย์พงษ์ บ้านหนองจอก

เป็นอาจารย์ฆราวาสที่มีชื่อเสียงทางด้านการสักยันต์  บ้านอยู่ที่ ต.หนองจอก วิชานางโลมของอ.พงษ์นี้เป็นสรรพวิชาที่รวมเอาทั้งคงกระพัน  มหาอำนาจ แคล้วคลาด  และเมตตาอยู่ในหนึ่งเดียว  ซึ่งอาจารย์พงษ์ หวงวิชานี้มาก แต่ถ่ายทอดให้กับหลวงพ่อตัดมา อาจารย์พงษ์ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง และลูกศิษย์หลวงพ่อเพลิน วัดหนองไม้เหลือง ก่อนที่อาจารย์พงษ์จะเสีย ท่านได้ให้คนไปตามหลวงพ่อเพื่อจะถ่ายทอดวิชาฝังเข็มทอง แต่หลวงพ่อท่านไม่ขอไปเรียน ตำราฝังเข็มทองในเพชรบุรีจึงขาดการถ่ายทอดไป

 

- โยมมอญ

 เรียนวิชานะมหาอ่อนใจ ซึ่งโยมมอญท่านหวงมาก  หลวงพ่อตัดใช้ความพยายามเรียนอยู่ถึง ๓ ปี จึงจะสำเร็จ โยมมอญเป็นอาจารย์ฆราวาสและท่านเป็นอาจารย์หญิงท่านเดียว ที่หลวงพ่อตัดไปขอเรียนวิชาด้วย  ซึ่งวิชานี้หลวงพ่อตัด  ท่านใช้สร้างและปลุกเสกสีผึ้งเมตตาค้าขายของท่าน 

 

-  อาจารย์หวั่น บ้านปราณบุรี

หลวงพ่อท่านไปเรียนวิชาขุนแผนชมตลาด  ทั้งบทย่อและบทเต็ม วิชานี้เด่นทางมหาเสน่ห์กับเพศตรงข้าม  มหานิยม เมตตาค้าขาย และหลวงพ่อตัดท่านได้ใช้วิชานี้ มาสร้างและปลุกเสกพระขุนแผนของท่านด้วย

 

- หมอพรหม บ้านเขากระจิว

ท่านเป็นอาจารย์ฆราวาสที่มีเชื้อสายลาวโซ่ง ซึ่งมีวิถีชีวิต วัฒนธรรมเกี่ยวกับภูตผี   หลวงพ่อท่านได้เรียนวิชา กันคูณไสย ลมเพลมพัด วิชาขับไล่ผี

 

 

อันวิชาที่ท่านเรียนมานี้ ยังมีอีกมากที่เราไม่ทราบว่าท่านเรียนมา จากที่ใด  อาจารย์องค์ไหน และรวมไปถึงการไปขอต่อวิชาเพิ่มเติมกับอาจารย์ท่านอื่นๆ  อีกแต่คิดว่ามีแน่ เพราะหลวงพ่อท่านชอบศึกษาเรียนรู้ในทางนี้มาก ตำรับตำราเก่าๆสายเพชรบุรีทั้งหลวงพ่อกุน วัดพระนอน หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวงและอื่นๆท่านก็ศึกษามาหมด แต่ท่านไม่ชอบพูดคุยหรือโอ้อวดให้ใครฟัง ทำให้เรารู้แต่เพียงคร่าวๆ  เท่านี้ครับผม 

 

 

บทสรุป            

 

ตลอดเวลา ๕๗ พรรษา  ในเพศบรรพชิตของหลวงพ่อตัด  วัตรปฏิบัติของท่านนั้นเรียบง่าย  สมถะ แต่จริงจัง ยึดถือความถูกต้องเป็นที่ตั้งให้ความเสมอภาคกับศิษย์ทุกคน  ไม่เลือกจนรวย เป็นต้นว่า ถ้าท่านรับนิมนต์ญาติโยมท่านใดแล้ว เมื่อมีคนมา นิมนต์ท่านไปอีกงานหนึ่งซึ่งเป็นงานคนรวย  ท่านไม่มีทางรับไปหรอกครับ  และไม่มีใครเหมือนคือ  ท่านจะล่วงหน้าไปก่อนพระลูกวัด เพื่อที่จะได้พูดคุยกับญาติโยมแบบเป็นกันเอง และสนุกสนาน  หลวงพ่อท่านพูดเสียงดัง  ตรงไปตรงมา แลดูเหมือนท่านดุ  แต่จริงๆท่านเป็นพระที่มีเมตตามากยืนยันได้จาก คำพูดที่ท่านพูดบ่อยๆคือ คนขอคนอยากได้ คนไม่ให้คนหน้าด้าน ส่วนที่ท่านพูดจาโผงผาง  เอ็ดตะโรดุด่าลูกศิษย์นั้น  เป็นการทดสอบจิตใจและศรัทธาของศิษยานุศิษย์มากกว่า ท่านมีกิจวัตรประจำของ ท่านอีกอย่างหนึ่งคือ  ตอนเช้ามืดและตอนบ่าย ท่านจะต้องเดินสำรวจบริเวณวัดโดยรอบและไม่เดินตัวเปล่า ท่านต้องมีกระป๋อง ติดมือไปด้วยเพื่อเก็บขยะ  ท่านจะเก็บทุกอย่าง ถุงพลาสติก  ขวดน้ำ กระดาษ หรือแม้แต่ก้นบุหรี่ที่มีคนทิ้งไว้ไม่เลือกที่  ท่านปฏิบัติแบบนี้มาโดยตลอด จนเป็นภาพชินตาของญาติโยมที่ไปที่วัดตลอดมา  และด้วยสังขารที่ตรากตรำทำงานหนักมาตลอดชีวิตของท่าน  รวมทั้งโรคประจำตัวที่ท่านเป็นมานาน คือ เบาหวาน โรคหัวใจ  และโรคปอด  ปลายปี ๒๕๕๑ ท่านอาพาตลงอย่างกะทันหัน  ขณะฉันภัตราหารเช้า  ศิษย์พาท่านส่งโรงพยาบาล  หมอวินิจฉัยว่าเส้นเลือดในสมองแตก  และมีอาการของอัมพฤกษ์  เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล พญาไท ๒ กรุงเทพฯ  เป็นเวลา ๘ วัน  เมื่อมีอาการดีขึ้นจนเกือบจะปกติดีแล้วท่านก็กลับมารักษาตัวที่วัด แม้ท่านยังไม่หายดีก็ตามท่านก็ยังคงทำวัตรปฏิบัติเรื่อยมา ทั้งเริ่มงานก่อสร้างเจดีย์ งานต่างๆภายในวัด และวันที่ ๒ พฤษภาคม   ท่านได้เดินทางไปวางศิลาฤกษ์  พระอุโบสถ วัดหนองหงส์พัฒนา ซึ่งเป็นวัดที่ท่านอุปถัมภ์            

ในวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒ หลวงพ่อตื่นจากจำวัดตอนเช้าตรู่ คว้ากระป๋องออกสำรวจวัดและเก็บขยะอันเป็นกิจวัตรประจำวันของท่าน  เมื่อเสร็จกิจวัตรก็กลับเข้ากุฏิล้างมือ  เป็นเวลาประมาณ ๐๗.๐๐ นาฬิกาเศษ  อาการโรคหัวใจของหลวงพ่อก็กำเริบ ทำให้ท่านเกิดอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน กรรมการและศิษย์ที่อยู่ใน เหตุการณ์ ได้เริ่มพาท่านส่งโรงพยาบาลท่ายาง  แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน  หลวงพ่อท่านได้ละสังขารลงอย่างสงบเมื่อเวลาประมาณ ๐๘.๐๐ น. ของวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ในวัย ๗๗ ปี ๑๑ เดือนกับ  ๓ วันพรรษา ๕๘ พรรษา ยังความโศกเศร้าเสียใจแก่บรรดาศิษยานุศิษย์  และญาติโยมทุกคน             คณะกรรมการได้ประชุมการจัดงานศพของหลวงพ่อ  โดยปฏิบัติตามคำสั่งของหลวงพ่อ  ที่ท่านได้เขียนสั่งเสียไว้เมื่อปี ๒๕๔๑ ว่า

 

    ศพของเรา              ห้ามฎีกา            ออกหาทุน           เกณฑ์ชาวบ้าน                     มาร่วมหุ้น             ให้วุ่นวาย           มีเท่าไร            ทำเท่านั้น                

ตามสบาย           ไม่มีข้อ             ควรละลาย            อย่างไรเลย            

 

หลวงพ่อสั่งให้สวดเพียง ๗ วัน  และเผาเลย  โดยให้เผาบนเชิงตะกอนกลางแจ้ง  แบบโบราญ ห้ามเก็บศพท่านไว้

โดยเด็ดขาด             ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ซึ่งเป็นวันฌาปนกิจประชุมเพลิงสังขาร หลวงพ่อตัด  ณ บริเวณวัด  โคนต้นไม้ บนศาลา  เต็มไปด้วยศิษยานุศิษย์  และญาติโยมผู้เลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงพ่อ ที่มาจากทั่วประเทศประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน และเริ่มทำพิธีเผาเมื่อเวลา ๒๑.๐๐ น. คณะศิษย์ก็ยังเฝ้ารอจวบจนพิธีกรรมเสร็จสิ้นจึงทยอยกลับ           หลวงพ่อตัด จากพวกเราไปแล้วสู่ซึ่งภพภูมิที่สูงส่ง คงเหลือไว้ซึ่งคุณงามความดี ให้ ศิษย์ได้จดจำเอาไว้เป็นแบบอย่าง และปฏิบัติตามควบคู่กับการประกอบสัมมาอาชีพ  เพื่อเป็นความมงคลแก่ชีวิตต่อไป     ขอบารมีแห่งพระรัตนตรัยและพระเดชพระคุณพุทธวิริยากร  หลวงพ่อตัด ปวโร  โปรดดลบันดาลให้ท่านทั้งหลายจงพบกับความสุข ความเจริญ  ความก้าวหน้า  ความสมหวังในชีวิต  และหน้าที่การงานด้วยเทอญ

 

วัตถุมงคลหลวงพ่อตัด วัดชายนา

 

สำหรับทุกท่านที่สะสมและแสวงหาวัตถุมงคลเพื่อนำไปบูชาปกป้องคุ้มครองตัว  หากนึกย้อนไปในช่วงปี ๒๕๔๙ ถึง ๒๕๕๐ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่เคยได้ยิน หรือไม่เคยรู้จัก วัตถุมงคลที่ขึ้นชื่อเรื่องประสบการณ์คงกระพันชาตรีเป็นเลิศ จนได้ฉายาสุดยอดความเหนียว แน่นอนว่าในที่นี้ ต้องกล่าวถึง ตะกรุดของหลวงพ่อตัด ปวโร วัดชายนา จ.เพชรบุรี ตะกรุดหลวงพ่อตัด โด่งดังไปทั่วประเทศด้วยประสบการณ์ตรง ที่บอกกันปากต่อปาก ผู้คนหลั่งไหลเดินทางมาที่วัด เพื่อมากราบนมัสการและขอตะกรุดหลวงพ่อ ถึงขนาดว่าทางวัดต้องสั่งแผ่นตะกั่วเป็นพันๆกิโล เพื่อนำมาทำตะกรุดให้หลวงพ่อปลุกเสกแจกให้พอกับความต้องการของญาติโยมที่ อยากได้ตะกรุดไว้บูชาติดตัว หรือนำไปฝากญาติพี่น้องและคนใกล้ชิด ตะกรุดที่หลวงพ่อแจกไปมากมาย และท่านเองก็จะนำติดตัวไปทุกที่ที่ท่านไปงานพุทธาภิเษกตามที่ต่างๆ  เป็นตะกรุดเนื้อตะกั่วปั้มอักขระยันต์มหาอุดด้วยแท่นปั้มความยาว ๓ นิ้ว ซึ่งลูกศิษย์ลูกหารู้จักในในชื่อเรียกว่า ตะกรุดในบาตร  เหตุที่เรียกตะกรุดในบาตร เพราะหลวงพ่อมักจะนำตะกรุดที่สำหรับแจกนี้ใส่ไว้ในบาตรข้างตัวท่านเสมอเวลา มีญาติโยมมากราบนมัสการท่าน ท่านก็จะหยิบตะกรุดจากในบาตรแจกทุกคนไป 

 

ในบรรดาวัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียงให้แก่หลวงพ่อตัด วัดชายนา ต้องพูดถึงปลัดขิกและตะกรุดอันลือลั่นสนั่นเมือง ด้วยสาเหตุที่ผู้นำไปบูชาพบประสบการณ์อันฉกาจฉกรรจ์  ในยุคแรกของการสร้างเครื่องรางนั้น คนในพื้นที่และลูกศิษย์ลูกหาใกล้ชิดนิยมปลัดขิกของหลวงพ่อเป็นที่สุด ตั้งแต่แรกเริ่มของการสร้างปลัดขิก จากคำบอกเล่าของลูกศิษย์หลายๆท่านก็ยืนยันได้ว่าปลัดขิกที่หลวงพ่อตัดปลุก เสกนั้นขลังยิ่งนัก ใครก็อยากได้ปลัดหลวงพ่อไว้บูชา ทั้งเมตตาค้าขาย คงกระพันชาตรี มีครบ เป็นจุดเริ่มต้นความแห่งศรัทธาของคนในพื้นที่เลยทีเดียว ปลัดขิกของหลวงพ่อยุคแรกๆนั้นจะเป็นปลัดขิกที่พระในวัดและลูกศิษย์แกะไม้มา ถวายหลวงพ่อปลุกเสก ไม่ว่าจะเป็นไม้มงคลต่างๆ  ทั้งไม้รัก ไม้ขนุน ไม้มะยม  ไม้คูณ ไม้ซองระอา ไม้กันเกรา กัลปังหา และอื่นๆ แต่ที่ติดหูและกล่าวถึงมากที่สุดคือไม้คนผูกคอตาย คงเป็นด้วยชื่อที่แปลกหู ได้รับรู้แล้วอยากทราบที่มาปัจจุบันเลยเป็นที่แสวงหากันมาก  ส่วนการสะสมและเล่นหาปลัดขิกของหลวงพ่อตัดนั้น ถือว่าค่านิยมสูงมากโดยเฉพาะปลัดขิกที่เป็นลายมือหลวงพ่อตัด จัดว่าหายากเพราะมีน้อยและมีคนแสวงหากันมากที่สุด รองลงมาก็จะเป็นปลัดขิกลายมือมือลูกศิษย์เอกของท่านที่ถวายงานการสร้างและ จารวัตถุมงคลให้หลวงพ่อตั้งแต่ต้น  คือพระอาจารย์ทิน ท่านพระครูสารธรรมนิเทศ  เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันของวัดชายนา ปลัดที่จารโดยพระอาจารย์ทินนั้น เล่นหาสะสมง่ายเพราะท่านลายมือสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ชัดเจน ไม่เฉพาะปลัดเท่านั้น ตะกรุดโดยส่วนใหญ่ของวัดชายนาที่มีประสบการณ์มากมายนั้น ตั้งแต่ในยุคแรก พระอาจารย์ทินก็เป็นผู้จาร แล้วให้หลวงพ่อตัดปลุกเสก ก็พุทธคุณเข้มขลังโด่งดังมาถึงปัจจุบัน

 

   และถ้าจะพูดถึงตะกรุดวัดชายนาที่เป็นที่ต้องการสูงสุดของบรรดาศิษย์วัดชาย นา ซึ่งถือว่าเป็นตะกรุดในตำนานเลยทีเดียว ก็คือตะกรุดมหาอุด ๓  ดอก ตำรับลพ.กริช วัดเขากระจิว ซึ่งหลวงพ่อตัดท่านได้สร้าง และปลุกเสกไว้หลายวาระ วิชาสร้างตะกรุดชุดนี้เป็นวิชาเฉพาะของสายวัดเขากระจิว  และตกทอดมาที่หลวงพ่อตัด  มีอานุภาพโดดเด่นด้านมหาอุด ป้องกันภัย กันฟ้ากันไฟ เป็นที่เชื่อถือมานาน   ตะกรุดมหาอุดชุดนี้จะมีอยู่ด้วยกัน ๓ ดอก สามารถแยกใช้กันได้   ตะกรุดแต่ละดอกจะมีอานุภาพต่างกัน ดอกที่ ๑  ลั่นไกมิออก  ดอกที่ ๒ ลูกมิออกจากลำกล้อง ดอกที่ ๓  ลำกล้องแตก สำหรับยันต์ที่ลงในตะกรุดแต่ละดอกนั้นไม่ซ้ำกันเลย และไม่ซ้ำกับยันต์ของสำนักใดในประเทศ   วิธีการลงอักขระสร้างตะกรุดมหาอุด  ๓ ดอกนั้น อักขระบางตัวมีการกำหนดเคล็ดวิชาเฉพาะเอาไว้  เพื่อเพิ่มพุทธคุณให้ครบทุกๆด้าน คือนอกจากจะโดดเด่นด้านมหาอุดแล้ว ก็ยังมีพุทธคุณด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด  และเมตตามหานิยมครบเครื่อง นอกจากนั้นการสร้างตะกรุดชุดนี้ต้องดูฤกษ์ยามให้ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ ดังนั้นในบางปีจะมีฤกษ์ให้ประกอบพิธีเพียงวันเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ตะกรุดชุดนี้จึงมีจำนวนไม่มากนัก  และสำหรับผู้ที่จะลงตะกรุดชุดนี้ได้  ผู้ลงต้องรู้กลเม็ดเคล็ดวิชาด้วย จึงจะลงได้อย่างสมบูรณ์ มิใช่ว่ารู้เพียงอักขระแล้วลอกตามแบบเท่านั้น   ด้วยเหตุที่ตะกรุดมหาอุด ๓ ดอกชุดนี้มีอานุภาพมากมาย แต่สร้างยาก หลวงพ่อตัดท่านจึงย่อยันต์ในตะกรุดทั้ง 3 ดอกลงมา แล้วนำไปจัดสร้างเป็นตะกรุดมาตรฐานชุดแรกของวัดชายนาคือตะกรุดเตา นั่นเอง

    ตะกรุดเตานั้น   หากจะกล่าวถึงประวัติการสร้าง ต้องย้อนไปเมื่อปี ๒๕๓๔ ช่วงนั้นทางวัดมีโครงการจะจัดสร้างเตาเผาศพ หรือเมรุ หลวงพ่อจึงดำริให้ทำตะกรุดเพื่อแจกญาติโยมที่ช่วยกันออกกำลังทรัพย์หรือออก กำลังแรงกายในการสร้างเตาเผาศพครั้งนี้  ลักษณะเป็นตะกรุดเนื้อตะกั่วหนา มีความยาวประมาณสองนิ้วเศษ ด้านในจารมือโดยลูกศิษย์หลายท่านและบางส่วนหลวงพ่อท่านก็จะจารเอง  ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะเป็นยันต์แคล้วคลาดมหาอุด  รวมๆแล้วมีประมาณ ๑๘๐๐ ดอก ถือเป็นปฐมบทของตะกรุดวัดชายนา ที่รู้จักกันในนามว่า " ตะกรุดเตา "

 

ตะกรุดในยุคแรกๆที่มีการจัดสร้างที่จะกล่าวถึงอีกรุ่นหนึ่งก็คือตะกรุด เสาร์ ๕ ปี ๒๕๓๖ ชื่อที่เรียกตะกรุดเสาร์ ๕ นั้น มาจากในปีนั้นมีฤกษ์ดี ฤกษ์แข็งแห่งมงคล ทางวัดจึงจัดสร้างวัตถุมงคลหลายอย่างมากมายเพื่อจะนำเข้าพิธีปลุกเสกใหญ่ ขึ้น  แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงตะกรุดเท่านั้น ตะกรุดที่จัดสร้างเข้าพิธีปลุกเสกในพิธีใหญ่นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นตะกรุดเนื้อตะกั่ว ด้านนอกมีการเขียนกำกับ ว่า เสาร์ ๕ หรือเสาร์ 5 ยันต์ที่จารลงตะกรุดก็มีจัดสร้างไว้หลายยันต์ ทั้งมหาอุด , ยันต์นะหน้าทอง , ยันต์โสฬสมงคล , ยันต์เสาร์ ๕ , ยันต์ตรีนิสิงเห , ยันต์พระเจ้าสิบหกพระองค์ และอาจจะมียันต์อื่นๆอีก  บางส่วนก็จะเป็นวัสดุอื่นๆเช่นทองแดง เป็นต้น  จากที่กล่าวมาข้างต้น ตะกรุดของสำนักวัดชายนานั้น แต่ตะกรุดจารมือ จัดสร้างด้วยเจตนาเพื่อเป็นทานมอบให้ลูกศิษย์ลูกหา และญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด เป็นสิ่งตอบแทนให้ระลึกถึงการทำบุญและสิ่งมงคลเพื่อปกป้องคุ้มครองกาย จากที่กล่าวถึงตะกรุดที่จัดสร้างเป็นรุ่นๆไปแล้ว หลังจากนั้นก็ยังคงมีการจัดสร้างตะกรุดในการต่อมาอีกมากมาย ทั้งการจัดสร้างปลุกเสกตามฤกษ์ยามที่ดี วันที่ดี หรือจัดสร้างตามความต้องการของลูกศิษย์ที่บอกกล่าวเล่าถึงประสบการณ์  ก็ยังมีอีกหลายแบบหลายรุ่นด้วยกัน โดยในยุคแรกนั้นส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุพื้นฐานที่หาได้ทั่วไป  เช่นตะกั่ว  แผ่นทองแดง หรือแม้แต่กระป๋องเครื่องดื่มต่างๆ ก็นำมาตัดเพื่อทำตะกรุดไว้บูชา  ตะกรุดบางดอกอาจจะมีการม้วนทับ ๒ ชั้น  หรือ ๓ ชั้น ถักเชือกชุบรักปิดทองตามสูตรโบราณ นี่ก็ถือเป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของวัดชายนา ส่วนตะกรุดที่ทำตามฤกษ์ยาม วันดี วันแข็งก็ยังมีอีกมากมายหลายรุ่น เช่นที่วันที่เกิดสุริยะคราส ปี ๒๕๓๘  ฤกษ์แข็งเสาร์๕ ในปีต่างๆ ตะกรุดที่จัดสร้างตามวาระในพรรษา หรือทำไว้เพื่อแจกในงานบุญใหญ่ๆเช่นผ้าป่าหรือกฐินดีก็  ส่วนการสร้างตะกรุดในยุคหลังปี ๒๕๔๐ ขึ้นมา ก็มีการจัดสร้างตะกรุดเพิ่มขึ้นหลายแบบ หลายยันต์ แต่ที่กล่าวถึงให้ทราบในส่วนของตะกรุดที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่นิยม ในหมู่นักสะสม มีด้วยกันหลายรุ่น อาทิเช่นตะกรุดมหาอุดชุด ๓ ดอก , ตะกรุดยันต์มหาระงับ ,  ตะกรุดยันต์คู่ชีวิต  ,  ตะกรุดมนต์จินดามณี  , ตะกรุดยันต์โสฬสมงคล ตะกรุดในยุคหลังๆที่กล่าวมานี้ ถือเป็นตะกรุดที่มีค่านิยมสูง แม้จะมีการสร้างหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระ  แต่เป็นตะกรุดจารมือที่ทำได้ไม่มากนัก ในแต่ล่ะยันต์ จึงทำให้มีความต้องการสูงมากในปัจจุบัน การสะสมตะกรุดของวัดชายนานั้น ในยุคหลังปี ๒๕๔๖ ขึ้นมาก็มีมาตรฐานการสะสมอีกแบบหนึ่งคือ   การสะสมตามโค๊ดที่นำมาใช้ในการตอกตะกรุด โดยครั้งแรกที่นำมาใช้ในการตอกตะกรุด เรารู้จักกันในชื่อว่า  ตะกรุดโค๊ด วชน เรียงรุ่นแรก ซึ่งแต่เดิมนั้นโค๊ดตัวนี้   ใช้ในการตอกพระกริ่งรุ่นแรกของวัดชายนาในปี ๒๕๔๓ แต่นำมาเริ่มใช้ตอกตะกรุดในปี ๒๕๔๗ และยุติการใช้ตอกตะกรุดในปีเดียวกัน ตะกรุดที่ตอกโค๊ดนี้จะเป็นตะกรุดจารมือทั้งหมด มีหลายยันต์หลายแบบ หลายขนาด รวมๆแล้วก็หลายพันดอก  ส่วนตะกรุดในยุคต่อมาที่แพร่หลายและเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นก็คือ ตะกรุดที่ตอกโค๊ด โดยเรียกกันว่า  ตะกรุดโค๊ด วชน กระโดด รุ่น  ๒ เริ่มใช้ในปี ๒๕๔๘ จนถึงปี ๒๕๕๐ ในเดือนเมษายน โค๊ดนี้มีในตะกรุดหลากรุ่นหลากหลายยันต์หลากหลายวัสดุของวัดชายนา มีทั้งงานจารมือและตะกรุดปั้ม บางดอกอาจจะมีโค๊ดอื่นๆร่วมอยู่ด้วย อาทิเล่น  โค๊ด นะ ,โค๊ด ต.๗๕ , โค๊ดเฑาะว์เล็ก , โค๊ดเฑาะว์เมล็ดงา , โค๊ด ลพ.ตัด , โค๊ด เสาร์๕ , โค๊ดนะเศรษฐี  ส่วนหลังปี ๒๕๕๐ ก็มีตะกรุดที่ตอกโค๊ดต่างๆอีกหลายโค๊ด เช่น โค๊ด วัดชายนา , โค๊ด เพชรพญาธร  , โค๊ด ต ดอกจันทน์  , โค๊ดเฑาะว์กลางและเล็ก , โค๊ด เพชร เป็นต้น   ทั้งหมดนี้คือข้อมูลเบื้องต้นของตะกรุดวัดชายนา แถมท้ายข้อมูลให้ทราบกันอีกนิดสำหรับนักสะสม ตะกรุดส่วนใหญ่ที่กล่าวถึงนี้ ผู้ที่จารนั้นโดยส่วนใหญ่จะเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อ  ซึ่งมีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสเป็นผู้จารถวาย ให้หลวงพ่อตัดปลุกเสก ในส่วนของตะกรุดที่หลวงพ่อตัดจารเองนั้นมีน้อยมากด้วยเหตุนี้ตะกรุดที่เป็น ลายมือของหลวงพ่อตัดนั้น จึงเป็นที่แสวงหาและมีค่านิยมที่สูงมากในวงการ

ชีวประวัติหลวงพ่อตัด วัดชายนา จากหนังสือพระเกจิ เล่มที่ 243 , 244 ครับผม
ชีวประวัติหลวงพ่อตัด วัดชายนา จากหนังสือพระเกจิ เล่มที่ 243 , 244 ครับผม
Top