ภาคสาม หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ช่วงอาพาธหนักครั้งที่สอง ในปีพศ.๒๕๒๖ เข้าพักรักษาตัวที่รพ.จุฬา - webpra

ภาคสาม หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ช่วงอาพาธหนักครั้งที่สอง ในปีพศ.๒๕๒๖ เข้าพักรักษาตัวที่รพ.จุฬา

บทความพระเครื่อง เขียนโดย question

question
ผู้เขียน
บทความ : ภาคสาม หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ช่วงอาพาธหนักครั้งที่สอง ในปีพศ.๒๕๒๖ เข้าพักรักษาตัวที่รพ.จุฬา
จำนวนชม : 1080
เขียนเมื่อวันที่ : ศ. - 05 มี.ค. 2553 - 19:41.41
แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ : พ. - 16 มิ.ย. 2553 - 16:01.00
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)

 

๑๒๒. วันแรกของงาน 

          ต่อมาท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ คือ นายเสนอ มูลศาสตร์ พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด ๔-๕ คน ได้มากราบเยี่ยมอาการของหลวงปู่ จึงได้ปรึกษากันว่า ควรจะนำหลวงปู่เดินทางเข้าไปรักษาที่กรุงเทพฯ หรือไม่

            ทุกคนที่เห็นหลวงปู่มักจะเข้าใจว่าท่านไม่เป็นอะไรมาก เมื่อเห็นว่าท่านไม่อยากไปด้วยแล้ว ก็พากันวางเฉยตามท่านไปด้วย

            โดยปกติชีวิตของหลวงปู่ ท่านไม่เคยเรียกหาหมอยาเลย เท่าที่เคยเข้ารักษาในโรงพยาบาล ๒ ครั้ง ก็เมื่อท่านมีอาการหนักแล้ว คณะศิษย์จึงพาท่านไป ท่านไม่อยากขัดใจจึงต้องปล่อยตาม

            อาการป่วยไข้ที่จะแสดงให้คนอื่นกังวลหนักใจในการรักษาพยาบาลนั้นไม่มี เพราะท่านมีความอดทนเป็นเยี่ยม ตั้งแต่สมัยออกบำเพ็ญเพียรตามป่าเขาท่านเคยต่อสู้กับความเจ็บป่วยและความตายมาอย่างโชกโชน

            เท่าที่ผู้เขียนอยู่ใกล้ชิดกับหลวงปู่มาตลอด ไม่เคยได้ยินเสียงท่านครวญครางโอดโอย หรือถอนหายใจแม้แต่ครั้งเดียว เวลาท่านลุก นั่ง เปลื่ยนอิริยาบทต่างๆ เป็นไปด้วยความคล่องแคล่วกระฉับกระเฉงเสมอ

            วันนี้วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๖ เป็นวันเริ่มทำบุญครบรอบอายุของท่านการจัดงานครั้งนี้ก็จัดกันเป็นพิเศษ ศิษยานุศิษย์ฝ่ายสงฆ์มากันอย่างพรั่งพร้อมพุทธศาสนิกชนทั่วไปทั้งในจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดอื่นต่างหลั่งไหลกันมาอย่างมากมาย มีสุภาพสตรีมาร่วมบวชชีปฏิบัติธรรมจำนวนมากกว่าหนึ่งพันคน

            ทางฝ่ายท่านพระครูนันท์ฯ ท่านคิดว่า รออยู่ให้เสร็จงานเสียก่อน หากอาการของหลวงปู่ยังไม่ดีขึ้น จะต้องพาท่านเข้าไปรักษาในกรุงเทพฯ อย่างแน่นอนได้ปรึกษาและตกลงกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดว่าอย่างนั้น ท่านผู้ว่าฯ จึงได้แต่งตั้งนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ พร้อมทั้งนายแพทย์อีก ๒ ท่านเป็นกรรมการถวายการรักษาพยาบาลหลวงปู่

            เมื่อถึงเวลาตามหมายกำหนดการ ประชาชนต่างหลั่งไหลกันมาเป็นจำนวนมาก

            เวลา ๑๐.๐๐ น. พระสงฆ์ ๑๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์

            เวลา ๑๑.๐๐ น. ถวายภัตตาหารเพล

            เวลา ๑๓.๐๐ น. ท่านนเจ้าคุณพระพุทธพจน์วราภรณ์ วัดราชบพิธ แสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง "ปูชนียบุคคลประยุกต์กับคุณธรรมความดีของหลวงปู่"

๑๒๓. เรารออย่างนี้อยู่แล้ว 

          ขณะที่การแสดงพระธรรมเทศนากำลังดำเนินอยู่ ก็มีพระมากระซิบบอกท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์ว่า "หลวงปู่เรียกให้ไปปพบ"

            ท่านพระครูฯ รู้สึกตกใจเล็กน้อย รีบไปหาหลวงปู่ พอไปถึงเห็นท่านนอนหงายหนุนหมอนสูงอยู่ ดูอาการท่านยังสดใสเป็นปกติ

            เมื่อเข้าไปใกล้ หลวงปู่ก็ถามถึงการจัดงานว่าเป็นอย่างไร ฟังเสียงท่านคล้ายกับปากคอแห้งไม่มีน้ำลาย

            ท่านพระครูฯ รายงานท่านให้ทราบว่า งานทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามที่กำหนดไว้ ปีนี้ผู้มาบวชเป็นแม่ชีพราหมณ์มากกว่าทุกครั้ง จนศาลาใหม่เต็มหมดทั้งชั้นบนและชั้นล่าง

            หลวงปู่จึงถามถึงศิษย์ฝ่ายสงฆ์ ว่าครบหมดทุกองค์แล้วยัง ท่านพระครูฯ กราบเรียนว่ามาแล้ว แต่กำลังอยู่ในพิธีแสดงพระธรรมเทศนาอยู่บนศาลาเมื่อจบพิธีแสดงธรรมแล้ว ทุกองค์จะเข้ามานมัสการถวายสักการะหลวงปู่ในที่นี้

            หลวงปู่พูดว่า "เออ! เรารออย่างนี้อยู่แล้ว"

            ต่อจากนั้นหลวงปู่พูดอะไรก็ไม่ทราบ เพราะท่านพูดเบามาก ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์เอียงหูไปฟังชิดกับท่านมาก ท่านจับแขนไว้แล้วนิ่งเฉย ท่านพระครูฯ สะดุ้งตกใจนึกว่าหลวงปู่สิ้นลมแล้ว

            เมื่อพิจารณาดูโดยละเอียดเห็นว่าหลวงปู่หายใจเป็นปกติ แต่แผ่วเบามากเห็นท่านอยู่ในอาการสงบนิ่ง จึงแน่ใจว่าท่านไม่เป็นไร ได้ผละห่างจากท่านเล็กน้อยหลวงปู่นิ่งเฉยอยู่ค่อนข้างนาน เข้าใจว่าท่านคงเข้าสมาธิอยู่

            เมื่อหลวงปู่ลืมตาขึ้นมา เห็นว่าท่านมีอาการผ่องใสสดชื่นเป็นพิเศษท่านพระครูฯ จึงปรารภเรื่องงานให้หลวงปู่ฟัง เพื่อท่านจะได้ไม่ต้องเป็นกังวล

            ต่อมาได้เรียนถามท่านว่า "หลวงปู่หลับหรือเข้าสมาธิขอรับ"

            หลวงปู่ตอบว่า "พิจารณาลำดับฌาณอยู่"

            พอดีจังหวะนั้นมีศิษย์อาวุโสหลายองค์เข้ามานมัสการหลวงปู่ บางองค์สงสัยในข้อปฏิบัติก็ได้กราบเรียนถามท่าน ท่านอธิบายลำดับข้อปฏิบัติธรรมให้ฟังตลอดสายอย่างชัดเจนไม่ติดขัด

            เมื่อเห็ฯเหตุการณ์เป็นดังนี้ ท่านพระครูฯ ค่อยรู้สึกเบาใจ จึงผละจากหลวงู่ออกไปที่งานบนศาลา ซึ่งมีญาติโยมสนใจมาบำเพ็ญกุศลบวชเป็นชีอย่างมากมาย

๑๒๔. สวดมนต์ให้ฟัง

           ครั้น ๔ โมงเย็นล่วงแล้ว หลวงปู่สามารถออกมานั่งรับแขกข้างนอกได้ญาติโยมจำนวนมาก ได้ถือโอกาสรีบมากราบหลวงปู่

            สักครู่ใหญ่ต่อมาหลวงปู่ก็กลับเข้าห้อง พระเณรถวายน้ำสรงแก่ท่านเช็ดตัวและนุ่งห่มเรียบร้อย ก็ถวายน้ำผึ้งผสมมะนาว และสมอตำละเอียด ท่านฉันน้ำผึ้งอย่างเดียว ไม่ฉันสมอ

            แล้วหลวงปู่นอนพัก่อนท่ามกลางสงฆ์ฝ่ายอรัญญวาสี ซึ่งนั่งห้อมล้อมเป็นจำนวนมาก อยู่ในอิริยาบทนอนหงาย หนุนหมอนสูง หลับตาลง ดูสีผิวของท่านเปล่งปลั่งผิดธรรมดา

            ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์บอกว่าช่วงนั้นทำให้ท่านคิดสังหรณ์ใจไปต่างๆ นานา แทนที่จะรู้สึกสบายใจเหมือนกับคนอื่น ๆ พระลูกศิษย์ทุกรูปที่นั่งอยู่ ณ ที่นั้น เห็นหลวงปู่นอนนิ่งเฉยอยู่ ก็พากันเงียบกริบไม่มีการพูดจากันแต่อย่างใด

            หนึ่งทุ่มผ่านไป หลวงปู่ลืมตาขึ้นมองไปตรงช่องว่างที่เป็นกระจกที่มีผ้าม่านปิดอยู่ ท่านยกแขนขวาขึ้นบอกท่าทางให้รูดม่านออก สักครู่ต่อมาท่านบอกให้พระเณรออกจากห้องไปได้ ยังเหลือพระคอยดูแลรับใช้ ๘-๙ องค์

            หลังจากนั้นสักพักท่านก็สั่งให้พระที่อยู่สวดมนต์ให้ท่านฟัง ดูสีหน้าของพระเหล่านั้นเริ่มฉงนสนเท่ห์ใจ พร้อมใจกัน สวดมนต์เจ็ดตำนาน ให้หลวงปู่ฟังจนจบ

            แล้วหลวงปู่บอกให้สวดเฉพาะ โพชฌงคสูตร อย่างเดียว ๓ จบ

            แล้วให้สวด ปฏิจจสมุปบาท อีก ๓ รอบ

            พอสวดจบหมอก็เข้าไปตรวจอาการ ตอนนั้นเป็นเวลา ๔ ทุ่มล่วงแล้วหมอและพยาบาลคงรู้สึกถึงบรรยากาศของการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ทุกคนต่างอยู่ในอาการสงบนิ่ง ไม่มีใครพูดอะไร

            ทุกคนที่อยู่ในที่นั้น ต่างประจักษ์ชัดด้วยกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น หมอก็กราบลาหลวงปู่กลับออกไป เชื่อว่าทุกคนคงจะรู้ว่าเป็นการกราบลาหลวงปู่เป็นครั้งสุดท้าย บรรยากาศ ณ ที่นั้น อยู่ในความสงบนิ่ง ไม่มีใครปริปากพูดอะไร

๑๒๕. สวดมหาสติปัฏฐานสูตร

           หลังจากหมอกลับออกไปแล้ว หลวงปู่ลืมตาขึ้น บอกให้พระสวด มหาสติปัฏฐานสูตร ให้ฟัง ปรากฏว่าพระที่อยู่ ณ ที่นั้น ๘-๙ องค์ ไม่มีใครสวดได้เพราะเป็นพระสูตรที่ยาวกว่าสูตรอื่นๆ ทั้งหมด

            หลวงปู่บอกให้เปิดหนังสือสวด เผอิญหนังสือก็ไม่มีอีก

            พอดีพระอาจารณ์พูนศักดิ์ ซึ่งเฝ้ารักษาหลวงปู่มาโดยตลอด มีหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวงเล่มใหญ่ติดมาด้วย จึงหยิบมาเปิดค้นหาพระสูตรนั้น กำลังพลิกไปพลิกมาเปิดหาอยู่

            หลวงปู่สั่งว่า "เอามานี่"

            พระอาจารณ์พูนศักดิ์รีบยื่นถวาย หลวงปู่รับไป แล้วเปิดหนังสือขึ้นโดยไม่ต้องดู บอก ว่า "สวดตรงนี้"

            ทุกองค์ที่อยู่ในที่นั้นต่างตะลึง เพราะหน้าที่หลวงปู่เปิดเป็นหน้าที่ ๑๗๒ เป็นบทสวด มหาสติปัฏฐานสูตร พอดี

            พระอาจารณ์พูนศักดิ์รับหนังสือจากหลวงปู่มานั่งสวดองค์เดียว หลวงปู่นอนฟังโดยตะแคงข้างขวา อยู่ในอาการสงบนิ่ง

            พระสูตรนี้มีความยาวถึง ๔๑ หน้า ใช้เวลาสวดเกือบ ๒ ชั่วโมง เพราะ หลวงปู่บอกให้สวดแบบช้าๆ

            ระหว่างนั้นพระบางองค์ทะยอยออกไปบ้าง

            หลังจากที่สวด มหาสติปัฏฐานสูตร จบลง หลวงปู่ยังอยู่ในอาการปกติ ท่านพูดธรรมะกับพระที่เฝ้าอยู่เป็นครั้งคราว ลุกขึ้นนั่งบนเก้าอี้บ้าง นอนบ้าง

            มีตอนหนึ่งหลวงปู่ให้พาออกไปนอกห้อง และออกไปนอกกุฏิเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ภายนอก หลวงปู่เพ่งมองไปที่ศาลาที่อยู่ตรงหน้ากุฏิของท่าน ซึ่งในขณะนั้น ทั้งพระเณรและฆราวาสเป็นจำนวนมากต่างชุมนุมปฏิบัติธรรมกันอยู่มีการสวดมนต์ ฟังเทศน์ ปฏิบัติสมาธิภาวนากันอยู่

            อากัปกิริยาที่หลวงปู่ออกมานอกกุฏินี้ ท่านได้กวาดสายตามองดูไปรอบ ๆ บริเวณวัด ไม่มีใครทราบว่าเป็นการมองดูครั้งสุดท้าย คล้ายกับเป็นการให้ศีลให้พร และเป็นการลาสถานที่และสานุศิษย์ของท่านทุกคน

            ไม่มีใครเฉลียวใจ เพราะเห็นว่าท่านยังมีอาการเป็นธรรมดา มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์และพูดธรรมปฏิบัติให้พระเณรฟังได้อย่างชัดเจน

๑๒๖. แสดงธรรมครั้งสุดท้าย

          ผ่านเข้ามาถึงตี ๓ ของวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖ หลวงปู่ได้แสดงธรรมให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาที่อยู่ในห้องนั้นได้รับฟัง

            ธรรมที่หลวงปู่แสดงเป็นธรรมว่าด้วย ลักษณาการแห่งพุทธปรินิพพาน ท่านแสดงด้วยน้ำสียงปรกติธรรมดา และอยู่ในอิริยาบถนอนหงาย มีเนื้อหาดังนี้

            "เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสร้างพระพุทธศาสนา ให้ก่อเกิดเป็นชีวิตอย่างบริบูรณ์ดังประสงค์แล้ว พระองค์จึงได้ละ วิภวตัณหา นั้น เสด็จเข้าสู่ อนุปาทิเสสนิพพาน คือ เป็นผู้หมดสิ้นทุกตัณหา เป็นผู้ดับรอบโดยลักษณาการแห่งอนุปาทิเสสนิพพานของพระองค์

            ลำดับแรกก็เจริญฌาณ ดิ่งสนิทไปจน สัญญาเวทยิตนิโรธ หมายความว่า เข้าไปลึกสุดอยู่เหนือรูปฌาณ

            ในวาระแรกนั้น พระองค์ยังมิได้ดับขันธ์ต่างๆ ให้สิ้นสนิทเด็ดขาดแต่อย่างใด เพียงเข้าไปเพื่อทรงกระบวนการแห่งการเข้าสู่นิพพาน หรือนิโรธ เป็นครั้งสุดท้ายแห่งชีวิต

            พูดง่ายๆ ก็คือ สู่สิ่งที่พระองค์ได้สร้างได้พากเพียรก่อเป็นทางเป็นแบบอย่างไว้เป็นครั้งสุดท้ายเสียหน่อย ซึ่งเรียกได้ว่า สิ่งอันเกิดจากการที่พระองค์ได้ยอมอยู่กับ ธุลีทุกข์ อันเป็นธุลีทุกข์ที่มนุษย์ธรรมดามีจิตหยาบเกินกว่าที่จะสัมผัสได้ว่ามันเป็นทุกข์

            นี่แหละกระบวนการกระทำจิตตนให้ถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นกระบวนการที่พระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นยอดศาสดาในโลกเท่านั้นที่ทรงค้นพบ ทรงนำมาตีเผยแผ่แจ้งออกสู่โลกให้พึงปฏิบัติตาม

            เมื่อทรงสิ่งสุดท้ายนี้แล้ว จึงได้ถอยกลับมาสู่สภาวะต้น คือ ปฐมฌาณ แล้วตัดสินพระทัยครั้งสุดท้ายเสด็จดับขันธ์ต่างๆ ไปทีละขันธ์

            วิญญาณขันธ์แห่งชีวิตและร่างกายนั้นได้ดับไปเสียตั้งแต่ก่อนจะเข้าสู่ปฐมฌาณนานแล้ว เพราะต้องการดบสังขารขันธ์ หรือสังขารธรรมขั้นแรกก่อนวิญญาณขันธ์จึงได้ดับ

            ดังนั้น จึงไม่มีเชื้อใดเหลืออยู่แห่งวิญญาณขันธ์ที่หยาบนั้น

            พระองค์เริ่มดับสังขารขันธ์ หรือสังขารธรรมชั้นในสุด อันจะส่งผลให้ก่อวิภวตัณหาได้ชั้นหนึ่งเสียก่อน แล้วจึงเลื่อนเข้าสู่ ทุติยฌาณ แล้วจึงดับสัญญาขันธ์เลื่อนเข้าสู่ ตติยฌาณ

            เมื่อพระองค์ทรงดับสังขารขันธ์ หรือสังขารธรรมชั้นในสุดอีกที ก็เป็นอันเลื่อนขึ้นสู่ จตุตถฌาณ คงมีแต่เวทนาขันธ์สุดท้ายแห่งชีวิต นั่นแลคือลักษณาการแห่งขั้นสุดท้ายของการดับสิ้นไม่เหลือ

            เมื่อพระองค์ดับสังขาขันธ์ร หรือสังขารธรรมใหญ่สุดท้ายที่มีทั้งสิ้นแล้วก็มาดับ เวทนาขันธ์ เป็น จิตขันธ์ หรือนามขันธ์ที่ในจิตส่วนในคือ ภวังคจิตเสียก่อน แล้วจึงได้ออกจาก จตุตถฌาณ พร้อมทั้งมาดับจิตขันธ์หรือนามขันธ์สุดท้ายจริงๆ ที่ตรงนี้

            พระองค์ไม่ได้เข้าสู่พระนิพพานในโณสมาบัติอะไรที่ไหนหรอก เมื่อพระองค์ออกจากจตุตถฌาณแล้ว จิตขันธ์หรือนามขันธ์ก็ดับพร้อมไม่มีอะไรเหลือ ไม่ถูกภาวะอื่นใดมาครอบงำอำพรางให้หลงใหลใดๆ ทั้งสิ้น เป็น ภาวะแห่งตนเองอย่างบริบูรณ์ ภาวะอันนั้นจะเรียกว่า "มหาสุญญตา" หรือ "จักรวาฬเดิม" หรือว่าเรียก "พระนิพพาน" อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เราปฏิบัติมาก็เพื่อถึงภาวะอันนี้"

            วจีสังขารหรือวาจาของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล สิ้นสุดลงเพียงแค่นี้ หลังจากนั้น ไม่มีวาจาใดออกมาจากท่านอีกเลย

๑๒๗. หลวงปู่ละทิ้งสังขาร

           เวลาผ่านเลยถึงตี ๓ ของวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖

            หลวงปู่นอนสงบนิ่ง หายใจเบาๆ ดูอาการเป็นปกติคล้ายนอนหลับตามธรรมดา สังเกตเห็นลมหายใจท่านเบาลงมาก ทุกคนปล่อยให้ท่านอยู่ของท่านไม่มีการรบกวน รู้สึกจะเห็นตรงกันว่า ถ้าหากหลวงปู่จะปล่อยวางสังขาร ก็ให้ท่านปล่อยว่างตามสบาย ไม่ควรทำให้ท่านต้องลำบากจากการช่วยเหลือของแพทย์หรือพยาบาล

            หลวงปู่อยู่ในอาการสงบนิ่ง ไม่มีใครแน่ใจว่าท่านปล่อยวางสังขารในช่วงวินาทีใด

            ผู้เฝ้าพยาบาลอยู่ด้านซ้ายเชื่อว่าหลวงปู่หยุดการหายใจเมื่อเวลา ๐๔.๑๓ น. สำหรับผู้ที่เฝ้าอยู่ทางด้านขวา เข้าใจว่าเมื่อเวลา ๐๔.๔๓ น. (ทางวัดตกลงถือเวลา ๐๔.๑๓ น.)

            ความรู้สึกของศิษย์ทั้งสองฝ่าย ต่างกันถึง ๓๐ นาที ไม่มีใครทันสังเกตเห็นได้ เพราะหลวงปู่มิได้หายใจแรงให้เรารู้ได้ว่าเฮือกใดเป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายของท่าน

            นับเป็นลักษณะการมรณะภาพที่ไม่ปรากฏร่องรอย เป็นความงดงามบริสุทธิ์ และสงบย็นอย่างสิ้นเชิง

            สังขารธรรมที่อุบัติขึ้นเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๓๑ ณ บ้านปราสาทตำบลเฉนียง อำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ ได้พัฒนามาโดยลำดับ รุ่งเรือง สดใส มั่นคงและบริสุทธิ์ ปราศจากละอองธุลีอย่างแท้จริง ได้ท่องเที่ยวไปมาทั่วแดนแห่งพุทธจักรจนรู้แจ้งเห็นธรรม อย่าง "ไม่มีผู้ใดเทียบ" ตรงตามฉายา "อตุโล" ของท่านบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นอย่างมหาศาล เผยแพร่ดวงประทีบแก่ชาวโลกเป็นเวลานาน ก็ดับลงแล้ว ด้วยการยกชีวิตสังขารของท่าน สอนคนให้รู้ถึงความเป็นจริงแห่งชีวิต ซึ่งท่านชอบใช้คำว่า "ยังงั้น ยังงั้นแหละ"

            หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ละทิ้งสังขาร มรณภาพเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๖ เวลา ๐๔.๑๓ น. รวมอายุได้ ๙๖ ปี กับ ๒๖ วัน พรรษา ๗๔

            สาธุ! ศิษย์ทุกคนกราบแทบเท้าขอขมากรรมหลวงปู่ ธรรมะใดที่หลวงปู่เข้าถึงแล้ว ขอให้ศิษย์ทุกคนได้เข้าถึงธรรมะนั้น และได้ดวงตาเห็นธรรมด้วยเถิด

๑๒๘. ไม่มีวิบากของสังขาร

           บรรดาศิษย์เพิ่งทราบความหมายที่หลวงปู่เคยพูดเสมอว่า ท่านไม่มีวิบากของสังขาร ซึ่งหมายถึง เมื่อคราวจะต้องละสังขารจริงๆ แล้วท่านก็ละไปเลย โดยไม่ต้องทิ้งความอ่อนแอ ความเจ็บไข้ได้ป่วยให้ปรากฏ เป็นการทรมานทั้งแก่ตนเอง และสร้างความลำบากยุ่งยากให้แก่ผู้อื่น อันเนื่องมาจากสังขารเป็นเหตุ

            รวมไปถึงการที่ต้องเปลืองหมอเปลืองยา ทำให้ได้รับความลำบากกายลำบากใจ สร้างความวิตกกังวล และความเป็นห่วงให้แก่บุคคลที่อยู่ภายหลัง

            เมื่อหลวงปู่ดำรงขันธ์จนย่างเข้าปัจฉิมวัยจะเข้าสู่ร้อยปีก็ตาม สุขภาพพลานามัยของท่านยังอยู่ในเกณฑ์แข็งแรง ทั้งสังขารร่างกาย ทั้งสติสัมปชัญญะสัมพันธ์กันอย่างสมบูรณ์

            เมื่อคราวที่จะต้องละทิ้งสังขารไปจริงๆ ความไม่มีวิบากของสังขารของท่านจึงปรากฏออกมาให้ทุกคนได้ประจักษ์อย่างชัดเจน คือ ท่านปล่อยวางสังขารในท่ามกลางความมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ ด้านสุขภาพร่างกายก็แข็งแรงสมบูรณ์ตามสภาพของวัย ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่หายากอย่างยิ่ง สำหรับคนทั่วไป

            ที่น่าคิดประการหนึ่งคือ เสมือนหนึ่งว่าหลวงปู่กำหนดวาระการปล่อยวางสังขารในระหว่างที่มีการเตรียมงานพร้อมมูลอยู่แล้ว คือ งานที่สานุศิษย์จัดขึ้นเป็นพิเศษเพื่อเป็นการฉลองการหายอาพาธและทำบุญฉลองครบรอบถวายท่าน ในระหว่างวันที่ ๒๙-๓๐-๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๖

            สานุศิษย์ฝ่ายบรรพชิตทั้งฝ่ายคามวาสี และอรัญวาสี มาประชุมกันพร้อมเพรียง เพื่อเปิดโอกาสให้มีการสนทนาวิสาสะ รับสัการะบูชา ตลอดถึงตอบปัญหาข้อวัตรปฏิบัติให้แก่สานุศิษย์ของท่านได้ฟังอย่างครบถ้วนบริบูรณ์เหมือนหนึ่งเป็นการทบทวนข้อวัตรปฏิบัติ อันเป็นคุณสมบัติที่ท่านรักษามาตลอดอายุขัยให้สมบูรณ์ เป็นที่อบอุ่นใจ สบายใจของทุกฝ่าย

            ลักษณาการแห่งการสิ้นสุดสังขารขันธ์ของหลวงปู่ครั้งนี้ ยังความอัศจรรย์ใจ ระคนกับความเศร้าโศกอาลัยอาวรณ์ ในบรรยากาศของการทำบุญครบรอบของท่าน เท่ากับว่าศาสนิกชนทั่วไปมาในงานเดียวได้สองงาน

            ได้มาร่วมงานศิริมงคลอายุครบรอบ พร้อมกับได้มารับรู้การละสังขารของท่านในช่วงเวลาเดียวกัน นับเป็นเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์และเกิดขึ้นได้ยากยิ่ง

๑๒๙. การบำเพ็ญพระราชกุศลงานศพหลวงปู่

           ชั่วเพียงไม่กี่นาที ข่าวมรณภาพของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ก็แพร่สะพัดไปทั่วทั้งจังหวัดสุรินทร์และทั่วประเทศ สาธุชนและสานุศิษย์จากทุกสารทิศหลั่งไหลมานมัสการและสรงน้ำสรีระของหลวงปู่จำนวนมากเหลือคณานับ ตลอดวันที่ ๓๐ และ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๖ มีประชาชนเบียดเสียดกันมาอย่างคลาคล่ำ เพื่อถวายน้ำสรงสรีระหลวงปู่ ทุกคนที่ศรัทธาในหลวงปู่เมื่อรู้ข่าวก็เร่งรีบมา โดยที่ไม่ต้องมีการประกาศเชิญชวน

            ทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น เนื่องจากหลวงปู่เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถทรงเคารพนับถือ ทรงให้การสงเคราะห์หลวงปู่มาตลอดทั้งยามปกติและยามอาพาธ

            ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานห้องพิเศษ และพระราชทานหมอหลวง เพื่อทำการรักษาพยาบาลหลวงปู่เมื่อคราวหลวงปู่อาพาธที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และทรงเสด็จเป็นการส่วนพระองค์เพื่อเยี่ยมอาพาธ

            ครั้นเมื่อหลวงปู่มรณภาพลงพระองค์ท่านได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรงศพ พร้อมทั้งพระราชทานโกศโถฉัตรเบญจาตั้งประดับ และ ทรงพระมหากรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล ดังนี้

-                   ทรงพระมหากรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน ในวันที่ ๕-๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๖

-                   ทรงพระมหากรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล ๕๐ วัน ในวันที่ ๒๘-๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๖

-                   ทรงพระมหากรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล ๑๐๐ วัน ในวันที่ ๖-๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๗

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ท่านได้ทรงเมตตาต่อหลวงปู่และพสกนิกรชาวสุรินทร์ ตลอดจนสานุศิษย์และสาธุชนผู้เคารพศรัทธาในหลวงปู่

 

Top