หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ - webpra

หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ

บทความพระเครื่อง เขียนโดย toon88

toon88
ผู้เขียน
toon88 (0)
บทความ : หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ
จำนวนชม : 3258
เขียนเมื่อวันที่ : อา. - 07 มี.ค. 2553 - 18:03.07
(คลิ๊กที่ชื่อผู้เขียนผู้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน)

นำมาจากเวบ : http://www2.pt-amulet.com/node/19

รูปหล่อหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ

   
กิตติคุณในความขลังของหลวงพ่อเดิมนั้นมีอยู่มากมาย นายธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) เขียนไว้ว่า “ถ้าจะจดลงไว้ก็จะเป็นหนังสือเล่มใหญ่”
     

ประวัติหลวงพ่อเดิม

พระครูนิวาสธรรมขันธ์ หรือ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เกิดเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๐๓ โดยมีบิดาชื่อ เนียม เป็นชาวบ้านเนินมะกอก อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ โยมมารดาชื่อ ภู่ เป็นชาวบ้านหนองโพ ท่านเป็นลูกชายคนโตของพี่น้องทั้งหมด ๖ คน การศึกษาเมื่อเยาว์วัย ก่อนการอุปสมบทนั้นท่านไม่ได้เล่าเรียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน คงใช้ชีวิตอย่างชาวไร่ชาวนา ตราบจนอุปสมบท เมื่ออายุ ๒๐ ปี เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๓ ที่วัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
 
หลวงพ่อแก้ว วัดอินทาราม (วัดใน) เป็นพระอุปัชฌาย์หลวงพ่อเงิน (พระครูพยุหานุศาสก์) วัดพระปรางค์เหลือง กับ หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเลเป็นคู่สวดได้นามฉายาว่า “พุทฺธสโร” ครั้นอุปสมบทแล้วมาจำพรรษาอยู่ที่ วัดหนองโพ
เนื่องจากท่านมิได้มีการศึกษามามากนักก่อนอุปสมบท ท่านจึงต้องมาเริ่ม ศึกษาอย่างจริงจังเมื่ออุปสมบทแล้ว โดยที่หลวงพ่อเดิมท่านเป็นคนมีความเพียรสูง ดังที่ท่านเคยพูดไว้ว่า “ท่านมีนิสัยจะทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ คิดอะไรไม่ได้เป็นไม่ยอม หยุดคิด คิดมันไปจนออกจนเข้าใจ”
     

การเรียนวิชา

การศึกษาในวิชาสาขาต่างๆ ท่านได้เรียนจากหลายครูหลายอาจารย์ ทั้งฆราวาสและพระภิกษุ ดังมีรายนามเท่าที่ทราบ คือ หลวงตาชม (เจ้าอาวาส วัดหนองโพในสมัยนั้น) เรียนพระปริยัติธรรม นายพัน ชูพันธ์ ชาวบ้านหนองโพ ซึ่งเป็นผู้เรืองวิชา ท่านได้เรียนวิชาอาคม หลวงพ่อมี วัดบ้านมน อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เรียนทางปริยัติธรรม หลวงพ่อนุ่ม วัดเขาทอง เรียนเรื่องการเทศน์ อาจารย์แย้ม (เป็นฆราวาส) วัดสระทะเล เรียนพระธรรมวินัย หลวงพ่อเทศ วัดสระหวาน เรียนวิปัสสนาธุระ หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง เรียนวิปัสนากรรมฐาน การเจริญกสิน ทำน้ำมนต์ หลวงพ่อวัดเขาหน่อ (ไม่ทราบชื่อแต่ท่านพูดถึงเสมอ) เข้าใจว่าเรียนวิชาอาคม หลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว เรียนวิชาการทำมีดหมอ ด้วยเหตุที่มีจิตใจแน่วแน่ มีความพากเพียร ดังได้กล่าวแล้ว ประกอบกับได้ ศึกษาจากผู้มีวิชาความรู้มากมายหลายท่าน ทั้งฆราวาสและพระภิกษุรายนามข้างต้นท่านจึงได้ชื่อว่า “พระอาจารย์ขลัง” จนเป็นที่เลื่องลือ
 
นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดี กรมศิลปากร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเดิม ได้เขียนบันทึกไว้ว่า “กิตติคุณในเรื่อง “วิชาขลัง” ของหลวงพ่อนั้น เป็นที่เลื่องลือกันแพร่หลาย มานานหนักหนา มีเรื่องเล่ากันต่างๆ หลายอย่างหลายเรื่อง ถ้าจะจดลงไว้ก็จะเป็น หนังสือเล่มใหญ่ ผู้เขียน (นายธนิต อยู่โพธิ์) เคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ครั้นเมื่อมีอายุมากขึ้น คราวหนึ่งเมื่อมีโอกาสจึงกราบเรียนหลวงพ่อตรงๆว่า “มีดีจริงอย่างที่เขาเลื่องลือกันหรือขอรับ” ท่านก็ยิ้มรับแล้วตอบว่า “เขาพากัน เชื่อถือกันว่าอย่างนั้นดีขอให้ทำก็ทำให้” ฟังดูเหมือนหลวงพ่อทำให้ตามใจผู้ขอ ผู้เขียนจึงกราบเรียนต่อไปว่า “คาถาแต่ละบทดูครูบาอาจารย์แต่ก่อน ท่านก็บอกฝอยของท่านไว้ล้วนแต่ดีๆ บางบทก็ใช้ได้หลายอย่างหลายด้าน จะเป็นจริงตามนั้นบ้างไหม?” หลวงพ่อได้โปรดชี้แจงอย่างกลางๆ เป็นความสั้นๆ ว่า “ของจริง รู้จริง เห็นจริง ย่อมทำได้จริง” ครั้นผู้เขียนได้ฟังอย่างนี้ ก็มิได้กราบเรียนซักถามหลวงพ่อต่อไป”
     

สมณศักดิ์

- ราว พ.ศ.๒๔๓๕ เป็นเจ้าอธิการเดิม
- วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๗ วันเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลที่ ๖ เป็น “พระครูนิวาสธรรมขันธ์” โดยมีบันทึกว่า “ให้เจ้าอธิการเดิม วัดหนองโพ เป็นพระครูนิวาสธรรมขันธ์ รองเจ้าคณะ แขวงเมืองนครสวรรค์”
- พ.ศ.๒๔๖๒ เป็น พระอุปัชฌาย์
ท่านอายุยืนยาวถึง ๙๒ ปี ๗๑ พรรษา จึงถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๔ เวลา ๑๗.๔๕ นาที ท่านนับได้ว่าเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน มาเป็นระยะยาวนาน
 
ในวันที่ท่านมรณภาพนั้นสระน้ำของวัดมีน้ำอยู่น้อยมาก ท่านมีความห่วงใยได้พูดว่า “น้ำในสระมีพอกินกันหรือ” ศิษย์ผู้พยาบาลอยู่ตอบว่า “ถ้าฝนไม่ตกภายใน ๖-๗ วันนี้ น่ากลัวจะถึงอัตคัดน้ำ” หลวงพ่อก็นิ่งสงบ ไม่พูดไม่ถามอะไรอีก หลังจากวันนั้นไม่นานกลุ่มเมฆก็ตั้งเค้ามาและฟ้าคะนองไม่ช้า ฝนก็ตกห่าใหญ่ จนน้ำไหลลงสระราวครึ่งค่อนสระ พอฝนตกขาดเม็ดหลวงพ่อก็ มรณภาพ เรื่องนี้เป็นเรื่องอัศจรรย์และอภินิหารของหลวงพ่อที่ชาวบ้านประจักษ์กัน ในวันที่ท่านมรณภาพ
     

บทสรุป

พระครูนิวาสธรรมขันธ์ หรือหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ท่านเป็นพระเกจิ อาจารย์รุ่นเก่าของจังหวัดนครสวรรค์ ท่านได้สร้างความเจริญให้กับวัดในท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์หลายสิบวัด หลวงพ่อเดิมท่านนับเป็นผู้มี “วิชาขลัง” จนเป็นที่เลื่องลือ และมีผู้คนทั่วไปเคารพนับถือ ในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ของวัตถุมงคลของหลวงพ่อมากมายโดยหลวงพ่อเดิมท่านได้สร้างวัตถุมงคล และเครื่องรางของขลังไว้หลายชนิดด้วยกัน เช่น ตะกรุด ผ้ารอยเท้าเหยียบ ผ้าประเจียด รูปถ่าย พระปิดทวารเนื้อโลหะ เหรียญ รูปเหมือนหลวงพ่อเดิม (มีทั้งหล่อและปั๊ม) สิงห์งาแกะ พระงาแกะ มีดหมอ(ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่) และ แหวน เป็นต้น แต่ทุกอย่างล้วนแล้วเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก ซึ่งบางอย่างก็มีค่านิยมสูงมากเช่นกัน
ในบทความนี้จะนำเสนอเฉพาะเรื่อง รูปหล่อของหลวงพ่อเดิม และ รูปเหมือนปั๊ม ซึ่งมีการสร้างหลายครั้ง สร้างติดต่อกันมานานเป็นเวลานับสิบปี เป็นการทยอยสร้าง จึงไม่ทราบจำนวนการสร้างที่แน่ชัด เท่าที่ผู้เขียนสังเกตมีผู้เขียน เรื่องรูปหล่อนี้หลายท่าน แต่ข้อมูลบางเรื่องไม่ค่อยตรงกันนัก ผู้เขียนจึงได้สอบถาม จากท่านผู้รู้หลายท่าน และนำข้อเท็จจริงมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ ทำให้มีความชัดเจน มากขึ้นและคงเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้สนใจทุกท่าน
ส่วนความศักดิ์สิทธิ์ในวัตถุมงคลของหลวงพ่อเดิมนั้นมีเรื่องเล่ามากมายจน นายธนิต อยู่โพธิ์ ลูกศิษย์ของท่าน เขียนไว้ว่า “ถ้าจะจดลงไว้ก็จะเป็น หนังสือเล่มใหญ่” และคงจะไม่เกินความจริงที่จะกล่าวว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ อันดับหนึ่งของจังหวัดนครสวรรค์ตลอดกาลรูปหล่อขนาดใหญ่ เนื้อโลหะผสม
 
๑. รูปหล่อขนาดเท่าองค์จริง เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ จำนวน ๔ องค์ นำไปประดิษฐานที่วัดหนองโพ วัดเขาทอง วัดหนองบัว และ วัดพังม่วง
๒. รูปหล่อขนาดบูชา ๑๒ นิ้ว เนื้อโลหะผสม สร้างพร้อมรูปหล่อขนาดเท่าองค์จริง มีจำนวนสร้างน้อยมาก ทั้งสองแบบหล่อที่วัดหนองโพ มีหลวงพ่อเดิมเป็นประธาน พิธีเททองหล่อ หลวงพ่อคล้าย วัดท่าตะโก หลวงพ่อจันทร์ และอีกหลายองค์เข้าร่วมพิธี
๓. รูปหล่อบูชา พ.ศ.๒๔๙๒ เนื้อทองเหลืองรมดำ ฐานกลม กว้างประมาณ ๖ นิ้ว หลวงเจริญศักดิ์ ปฏิมากร เป็นคนปั้น เรียกกันว่ารุ่น “หลวงเจริญศักดิ์”
๔. รูปหล่อบูชา พ.ศ.๒๔๙๓ เนื้อทองเหลืองรมดำ ฐานเหลี่ยม กว้างประมาณ ๖-๗ นิ้ว นายประดิษฐ์ ลิ้มประยูร เป็นช่างปั้น
รูปหล่อขนาดเล็ก (แบบพระเครื่อง)
๑. รูปหล่อโบราณออกที่วัดหนองหลวง (สร้างประมาณ พ.ศ.๒๔๗๐) เนื้อทองเหลืองผสม
๑.๑ พิมพ์ฐานสูง
๑.๒ พิมพ์ฐานเตี้ย
๒. รูปเหมือนปั๊ม พิมพ์นิยม (สร้างประมาณ พ.ศ.๒๔๘๒ - ต้น พ.ศ.๒๔๙๐) เนื้อทองเหลือง และอัลปาก้า แบ่งเป็น ๔ พิมพ์ คือ
๒.๑ พิมพ์หนึ่ง
๒.๒ พิมพ์สอง
๒.๓ พิมพ์สาม
๒.๔ พิมพ์สี่
๓. รูปเหมือนปั๊มพิมพ์คอตึง (สร้างหลังจากที่แม่พิมพ์ด้านหน้าชำรุด) เนื้อทองเหลือง
๓.๑ พิมพ์จีวรห่าง
๓.๒ พิมพ์จีวรฝอย
๔. รูปหล่อเนื้อตะกั่ว (หัวลูกปืน) สร้างระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เนื้อตะกั่ว นำมาจากหัวลูกปืนจากค่ายจิระประวัติ จ.นครสวรรค์ (เป็นรูปหล่อปั๊ม)
Top