ประวัติ พระครูประสาธน์ขันธคุณ (หลวงพ่อมุม อินฺทปญฺโญ) นามสกุล บุญโญ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2429 ตรงกับวันพฤหัสบดีขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน เกิด ณ บ้านปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ( เดิมเป็นจังหวัดขุขันธ์ ) บิดาเป็นชาวนาชาวไร่ ชีวิตวัยเด็กคลุกคลีที่วัดเป็นส่วนใหญ่ โยมบิดาชื่อ มาก บุญโญ โยมมารดาชื่อ อิ่ม บุญโญ มีพี่น้องที่ถือกำเนิดร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คน คือ เป็นชาย 3 คน เป็นหญิง 2 คน พระครูประสาธน์ขันธคุณ บรรพชา เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 อายุ 12 ปี ณ วัดปราสาทเยอเหนือ โดยมีอาจารย์พิมพ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูประสาธน์ขันธคุณ อุปสมบทเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2449 อายุ 20 ปี ณ วัดปราสาทเยอเหนือ โดยมีเจ้าอธิการปริม เจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการพรหมมา วัดสำโรงระวี เป็นกรรมวาจารย์ พระอธิการทอง วัดไพรบึง เป็นอนุสาวนาจารย์
การศึกษา
ตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ เด็กชายมุม ชอบเข้าวัดไปพูดคุยกับพระ เณรจนคุ้นเคย พระ เณร เลยจับเด็กชายมุมให้เข้าโบสถ์ไปนั่งฟังพระสวดมนต์ ทำวัตรต่อมาถึงเวลาพระมีเทศนาหรือทำวัตรเย็นเด็กชายมุมที่อายุ 5- 6 ขวบนั้น จึงนั่งพนมมือฟังเป็นประจำ ท่านเจ้าอาวาสในปีนั้นชื่อ อาจารย์พิมพ์ ท่านได้เห็นเด็กชายมุม อยากเป็นพระนัก ครั้นบิดาก็นำมาฝากไว้ที่วัดเป็นประจำเพื่อศึกษาเล่าเรียนแบบโบราณ เพราะขณะนั้นไม่มีโรงเรียน ท่านเห็นหน่วยก้าน ปฏิญาณไหวพริบ เฉลียวฉลาด เลยได้สอนทั้งภาษาไทยและภาษาขอมรวมทั้งให้เขียนพร้อมกันกับพระภิกษุสามเณรในวัด จนเด็กชายมุมได้มีความชำนาญในภาษาขอมและบาลีเป็นอย่างดี และได้เอาใจใส่เล่าเรียนแตกฉานรวดเร็วกว่าเพื่อนๆ ด้วยกัน
ต่อมาเมื่ออายุได้ 12 ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดโดยอาจารย์พิมพ์เป็นผู้บวชให้เพราะเห็นว่าเด็กชายมุมเป็นเด็กที่ฉลาดและขยันในการเรียน สามเณรมุมได้อยู่รับใช้อาจารย์พิมพ์และศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งวินัยธรรมบทและบาลีไวยากรณ์จนเชี่ยวชาญ ผ่านการเรียนทุกอย่างมาจนหมดสิ้น
เมื่ออายุครบ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ศาสนา โดยมีพระอาจารย์ปริม เจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือเป็นอุปัชฌาย์ พระอาจารย์พรหมมา วัดสำโรงระวีเป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระอาจารย์ทอง วัดไพรบึง เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว หลวงพ่อมุมก็ได้ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาพระปริยัติธรรมกับบาลีไวยากรณ์และพระธรรมบทให้สูงขึ้นจนจบหลักสูตรและยังได้ศึกษามูลกัจจายนะ คัมภีร์พระไตรปิฎก จนจบ 5 สูตร มีความรู้แตกฉานหาใครเปรียบได้ยากในสมัยนั้น อีกทั้งพระอาจารย์ปริมยังได้ถ่ายทอดพระคัมภีร์ทางด้านกรรมฐานและคาถาอาคมขลังทางลงเลขยันต์ ลงนะต่างๆ ให้กับหลวงพ่อมุมด้วย
อุปนิสัย ที่รักทางขอมอักขระ อาคม ไสยศาสตร์ ซึ่งแถบถิ่นนั้นศิลปวัฒนธรรมเขมรได้มีอิทธิพลมาช้านาน หลวงพ่อได้รับการถ่ายทอดจากพระอาจารย์เขมรบ้าง ลาวบ้าง จนมีความเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสนากรรมฐานฝึกจิตให้กล้าแข็งมีสมาธิอันแน่วแน่ เพื่อเป็นพลังสื่อนำมาประกอบการใช้คาถาอาคม หลวงพ่อได้เอาใจใส่ฝึกฝนกับพระอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นจนเจนจัดเชี่ยวชาญโดยท่านเน้นศึกษาเพื่อที่จะนำมาสั่งสอนศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนผู้ที่สนใจอีกด้วย
ครั้นพรรษาของหลวงพ่อมากขึ้นตามลำดับแล้วท่านจึงออกธุดงค์ตามแบบรุกขมูลกับเพื่อนภิกษุด้วยกันด้วยกัน 6 รูป โดยผ่านเมืองขุขันธ์ ค่ำที่ไหนปักกลดจำวัดที่นั่น จนกระทั่งถึงวัดโคกมอญ เมืองกบินทร์บุรี( ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี) และได้พากันจำพรรษาที่วัดนี้ถึง 3 พรรษา ที่วัดโคกมอญ นี้หลวงพ่อได้สร้างความเจริญปลูกสร้างปฏิสังขรณ์ไว้มากมาย เช่น สร้างโบสถ์ จากสำนักสงฆ์เล็ก กลายเป็นวัดที่เจริญ ขณะนั้นมีพระอุปัชฌาย์โทเป็นเจ้าอาวาสที่วัดโคกมอญ หลังจากออกพรรษาแล้วท่านจึงธุดงค์กลับบ้านเกิด และจำพรรษาอยู่ที่วัดปราสาทเยอใต้ อยู่ได้หลายปีจึงออกธุดงค์เป็นครั้งที่สอง โดยผ่านทางเมืองขุขันธ์ข้ามภูเขาพนมดงรัก เพื่อมุ่งไปยังเมืองสาเก ในเขตจังหวัดพระตะบอง ประเทศเขมร และได้พบกับอาจารย์บุญมี พระอาจารย์ผู้เรืองวิชา พระอาจารย์บุญมี ได้พาหลวงพ่อมุมเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ จนทั่วประเทศเขมรใช้เวลาในการธุดงค์เป็นแรมๆปี จึงได้แยกกันออกเดินธุดงค์ไปคนละทาง โดยหลวงพ่อมุมได้ผ่านมาทางกบินทร์บุรีข้ามภูเขาสองพี่น้อง อันเป็นทิวเขาดงพญาไฟ(ปัจจุบันคือดงพญาเย็น)จนกระทั่งมาถึงบ้านหวายได้ศึกษาวิชาอาคมกับหลวงพ่อโฮม ซึ่งเก่งทางว่านสมุนไพร แก้อาถรรณ์ แก้คุณไสยต่างๆ
เมื่อศึกษากับหลวงพ่อโฮมจนเป็นที่พอใจแล้วจึงออกธุดงค์ต่อไปอีก โดยผ่านป่าดงดิบ ไปยังจังหวัดสระบุรี เพื่อกราบสักการะรอยพระพุทธบาท พระพุทธฉาย แล้วล่องมาจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าจำพรรษาอยู่หลายวัด แล้วต่อไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี เข้าสู่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ผ่านไปยังจังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าจังหวัดเลย เมืองลานช้าง เวียงจันทร์ ท่าแขก สุวรรณเขต ในช่วงที่ท่านธุดงค์มาเรื่อยก็ได้พบกับพระอาจารย์ที่มีวิชาอาคมเก่งกล้าหลายๆ ท่าน หลวงพ่อมุมได้ขอศึกษาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้วิชาต่างๆ มากมายจนได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์ต่างๆ ให้ไปหาสมเด็จลุนเกจิอาจารย์แห่งประเทศลาวในสมัยนั้น หลวงพ่อมุมจึงธุดงค์ต่อไปยัง นครจำปาศักดิ์ เพื่อไปหา สมเด็จลุน แต่ต้องผิดหวังเพราะสมเด็จลุนเดินทางไปยังจังหวัดอุบลราชธานี แต่หลวงพ่อมุมก็ได้ตามไปจนพบและฝากตัวเป็นศิษย์ติดตามเข้าไปถึงนครจำปาศักดิ์ และได้ศึกษาความรู้ทางอาคมขลัง เลขยันต์ต่างๆ และสมเด็จลุนท่านก็ได้มอบตำราวิทยาคมไสยเวทย์ต่างๆให้กับหลวงพ่อมุมมาศึกษาเพิ่มเติมจนเป็นผลสำเร็จ ก่อนจะกลับมาหาพระอาจารย์ดีๆ ในตัวเมืองอุบลฯระยะหนึ่ง แล้วเดินทางกลับภูมิลำเนา เมื่อหลวงพ่อปริม เจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือได้มรณภาพ และวัดปราสาทเยอเหนือได้ว่างจากเจ้าอาวาสลงเป็นเวลา 5 ปี แล้ว ประชาชนในหมู่บ้านพอทราบข่าวหลวงพ่อกลับมาจากเดินธุดงควัตร และพักอยู่วัดปราสาทเยอใต้ เช่นนั้น จึงได้พร้อมกันไปอาราธนานิมนต์ท่านให้ไปอยู่ประจำ ณ วัดปราสาทเยอเหนือ หลวงพ่อก็ได้สนองศรัทธาของญาติโยม คือรับไปอยู่วัดปราสาทเยอเหนือ ขณะที่ท่านอยู่วัดนั้น สิ่งที่ปฏิบัติอยู่เป็นนิจคือ การเดินจงกรม ปฎิบัติกรรมฐานและทบทวนสรรพวิชาต่างๆในยามว่างจากผู้คน และในสมัยนั้นพระยาขุขันธ์ยังได้นำเอาคัมภีร์สมุดข่อยไปถวาย ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่บรรจุวิชาอาคมไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และตำราต่างๆไว้อย่างครบถ้วน ให้แก่หลวงพ่อมุมอีกด้วย
ในการจาริกธุดงค์ของหลวงพ่อนั้นท่านได้เดินทางเข้าป่าหาวิเวกแสวงธรรมไปตามถ้ำเขา ลำเนาไพร จนทั่วเมืองไทย และประเทศใกล้เคียง ลาว พม่า เขมร มาเลเซีย ใช้เวลาธุดงควัตรอยู่ 10 พรรษา และในแต่ละครั้งหลวงพ่อมุมต้องประสบกับความยากลำบากแทบเอาชีวิตไม่รอด เพราะต้องเดินด้วยเท้าเปล่า บางครั้งต้องเดินผ่านป่าดงดิบนับสิบๆ วัน โดยไม่พบหมู่บ้านใครเลยต้องอาศัยน้ำที่เสกคาถาแล้วดื่มเพื่อประทังความหิวไปได้วันๆ เท่านั้น สาเหตุที่หลวงพ่อมีความอดทนอดกลั้นได้นั้น เนื่องจากท่านมีสมาธิจิตที่แข็งกล้าและอาศัยอำนาจของ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ อันยึดมั่นอย่างแน่วแน่อยู่เสมอนั่นเอง จึงทำให้ท่านอยู่ได้อย่างสบาย ไม่รู้สึกหิวแต่อย่างใด ทั้งได้รับความปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวงอีกด้วยอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
ทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน
ทางด้านวิปัสสนากรรมฐานท่านก็ได้พบและฝากตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์ใหญ่ในสายนี้คือพระอาจารย์มั่น ภูริทัตเถระ......ท่านได้อยู่ศึกษา วิปัสสนากรรมฐานกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตเถระอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งจึงกราบลาเพื่อไปจาริกธุดงค์ต่อ หลวงพ่อมุม อินทฺปัญโญ ท่านคุ้นเคยกันดีกับลูกศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตเถระ ไม่ว่าจะเป็นหลวงปู่ดูนย์ หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว อาจารย์ฝั้น ฯลฯ
สมณศักดิ์
1.) วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นตรีในราชทินนามที่ “ พระครูประสาธน์ขันธคุณ” 2.) วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2510 ได้รับเลื่อนชั้นพระสังฆาธิการเป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสชั้นโท ในนามเดิม
งานพิเศษ
เมื่อวันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2514 ประชานชนพสกนิกรชาวจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง มีโอกาสต้อนรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินทรงทอดพระกฐินส่วนพระองค์ ณ วัดปราสาทเยอเหนือ ซึ่งนับว่าเป็นวัดแรกของภาคอีสานก็ว่าได้ ที่ล้นเกล้าฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานกฐินส่วนพระองค์ พสกนิกรได้เข้าเฝ้าอย่างล้นหลามเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางสายฝนที่โปรยลงมาอย่างหนักพสกนิกรไม่ยอมลุกหนีจากที่ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรท่ามกลางสายฝน เช่นเดียวกัน ยังความปลาบปลื้มยินดีแก่พสกนิกรอย่างล้นพ้น พระองค์ทรงให้ทางราชการสร้างศาลา ภ.ป.ร. ถวายแก่หลวงพ่อมุมอีกด้วย
งานปกครอง
1.) พ.ศ. 2464 - พ.ศ. 2522 เป็นเจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือ 2.) พ.ศ. 2465 - พ.ศ. 2509 เป็นเจ้าคณะตำบลปราสาทเยอ ( ได้ยกเป็นกิตติมศักดิ์ พ.ศ.2510 ) 3.) พ.ศ. 2466 - พ.ศ. 2522 เป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตตำบลปราสาทเยอ
งานด้านการศึกษา
1.) พ.ศ. 2459 - พ.ศ. 2474 เป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดบ้านประอาง และเป็นครูสอนโรงเรียนประชาบาลวัดบ้านปราสาทเยอใต้และโรงเรียนบ้านประอาง 2.) เป็นครูสอนมูลกัจจายนสูตร ประจำสำนักวัดปราสาทเยอเหนือ 3.) เป็นครูสอนปริยัตธรรมแผนก น.ธ. ตรี, โท, เอก ประจำสำนักวัดปราสาทเยอเหนือ หม่อมหลวงช่วง ทำงานอยู่กระทรวงธรรมการไปช่วยราชการที่เมืองขุขันธ์ เห็นว่าการศึกษานั้นยังด้อยอยู่มาก ประชาชนส่วนมากยังขาดการศึกษาจึงเดินทางไปนิมนต์หลวงพ่อมุมให้ช่วยสอนหนังสือพระ โดยทางราชการให้ท่านเป็นครูใหญ่สอนหนังสือไทย ณ โรงเรียนวัดบ้านปราสาทเยอเหนือคนแรก โดยท่านได้สอนอยู่นานถึง 15 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 หลวงพ่อมุมต้องหยุดสอนหนังสือ เพราะมีภาระทางศาสนามากขึ้น และเป็นช่วงที่พระสงฆ์มีความรู้หลายรูปสามารถเป็นครูสอนแทนได้ ขณะนั้นมีอีกพระสงฆ์หลายรูปด้วยกัน มาสอนหนังสือแทน
งานเผยแผ่
1.) ได้เอาใจใส่เป็นพิเศษในการอบรมศีลธรรมให้แก่ พระภิกษุสามเณร ตลอดทั้งญาติโยมทั่ว ๆ ไปเพราะการสอนของท่านนั้นเน้นหนักไปทางปฏิบัติธรรม เนื่องจากหลวงพ่อท่านเคยปฏิบัติอบรมมาก่อนแล้วเห็นว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนี้เป็นการยังประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้ จึงมีพระภิกษุสามเณรประชาชนในยุคก่อนๆ สนใจไปรับการอบรมจากหลวงพ่อเป็นจำนวนมาก 2.) ทางการคณะสงฆ์ได้มีองค์การเผยแผ่อำเภอ เผยแผ่จังหวัด พระธรรมทูตส่วนกลางพระธรรมทูตส่วนท้องถิ่น หลวงพ่อก็ได้ให้ความร่วมมือแก่ทางราชการคณะสงฆ์ด้วยดีตลอดมา ในด้านการเผยแผ่ธรรมเพราะหลวงพ่อเองเป็นผู้มีอัธยาศัยเดิมอยู่แล้วในการแนะนำพร่ำสอนผู้อื่น
งานสาธารณูปการ
1.) วัดปราสาทเยอเหนือ ได้ดำเนินการ ดังนี้ 1.1 ได้ทำการก่อสร้างอุโบสถ 1 หลัง กว้าง 8.00 เมตร ยาว 18.50 เมตร สร้างแบบถาวรคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา 1.2 ได้ทำการก่อสร้างกุฏิครึ่งไม้ครึ่งคอนกรีต 1 หลัง 2 ชั้น 7 ห้อง 1.3 ได้ทำการก่อสร้างกุฏิตึก 2 ชั้น 1 หลัง 1.4 ทางราชการได้สร้างศาลา ภ.ป.ร. ถวาย 1 หลัง 1.5 ได้สร้างกำแพงล้อมวัด โดยหล่อเสาปูนก่ออิฐ ถือปูน 1.6 ได้สร้างซุ้มประตูวัด ซึ่งซุ้มประตูวัดนี้จำลองมาจากประเทศกัมพูชา 1.7 ได้สร้างหอระฆัง 1 หลัง แบบถาวรคอนกรีตเสริมเหล็ก 2.) วัดต่างๆ ที่ขอความช่วยเหลือ หลวงพ่อจะเสียสละไปร่วมหาทุนให้วัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก จะเป็นวัดในเขตจังหวัดศรีสะเกษก็มี วัดในเขตจังหวัดต่างๆ ก็มี รวมทั้งการสร้างซุ้มประตูคอนกรีต รั้วลวดหนาม อุปกรณ์การเรียนการสอนแก่โรงเรียนบ้านปราสาทเยอ อีกทั้งบริจาคตึกสงฆ์อาพาธ 1 ห้องในตึกสงฆ์เนรมิตรโรงพยาบาลศรีสะเกษ ซึ่งจะปรากฏชื่อของหลวงพ่อมุมอยู่ด้วย เป็นต้น
งานสาธารณสงเคราะห์
1.) เมื่อวัดใดต้องการจะก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ หลวงพ่อมีโอกาสจะไปร่วมอยู่เสมอ และหลวงพ่อเองได้เริ่มดำเนินการหล่อเหรียญรูปหลวงพ่อแจกญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาช่วยสมทบทุนก่อสร้างอุโบสถ โดยเหรียญรุ่นแรกนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2507 หลังจากเหรียญรุ่นนี้หมดไปแล้ว ปรากฏว่ามีประชาชนสนใจต้องการวัตถุมงคลของหลวงพ่อมากมาย หลวงพ่อจึงได้สร้างขึ้นมาเรื่อยๆ เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน 2.) มีบางวัดที่หลวงพ่ออนุญาตให้สร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อขึ้น เพื่อแจก จ่ายให้แก่ประชาชนผู้ศรัทธา และเป็นการรวบรวมทุนก่อสร้างถาวรวัตถุในพระ พุทธศาสนา เรื่องนี้มีหลายวัดแต่มิได้จดบันทึกไว้โดยละเอียด จึงไม่ได้นำมากล่าวโดยเจาะจงในที่นี้ 3.) นอกจากการอนุญาตให้วัดต่างๆ จัดสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อเองแล้ว หลวงพ่อยังได้ไปร่วมนั่งพุทธาภิเษก ปลุกเสก สมโภช พระประธาน วัตถุมงคลของวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย จึงนับได้ว่าหลวงพ่อได้มีส่วนร่วมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในบวรพระพุทธศาสนาไว้เป็นอย่างมากมหาศาล 4.) ปีหนึ่งๆ หลวงพ่อจะรับเป็นเจ้าภาพบรรพชาอุปสมบท ให้แก่กุลบุตรผู้มีศรัทธาแต่ยากจน โดยรับเป็นเจ้าภาพอัฏฐบริขาร ปีละหลาย 10 รูป 5.) ปีหนึ่งๆ หลวงพ่อจะรับเป็นเจ้าภาพทำการฌาปณกิจศพยากจน ไร้ญาติ ปีละไม่ต่ำกว่า 4 - 5 ราย 6.) ทางการคณะสงฆ์ จะเป็นระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ฯลฯ มีงานการกุศลอย่างใด เมื่อขอความร่วมมือไปถึงหลวงพ่อแล้ว หลวงพ่อไม่เคยขัดข้องมีแต่ยินดีรับภารธุระช่วยเหลือทันทีเท่าที่จะช่วยได้ ท่านยังเคยอนุญาตให้ก่อตั้งมูลนิธิใดยใช้นามว่า ทุนนิธิประสาธน์ขันธคุณ โดยมอบอำนาจให้ คุณวรวัฒน์ รุ่งแสง มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการในการจัดหาทุนทรัพย์มาก่อตั้งมูลนิธิเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะทั้งในวัดปราสาทเยอเหนือและวัดต่างๆ
จึงเป็นการสรุปการเป็นมาต่างๆ ของหลวงพ่อได้ว่าหลวงพ่อเป็นผู้มีอัธยาศัยสุขุม ละเอียด เยือกเย็น เคร่งครัดต่อพระวินัยเป็นอย่างยิ่ง มีวัตรปฎิบัติที่งดงาม ใจดี ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาปราณีต่อผู้อื่นเสมอ และหลวงพ่อเองไม่เคยดุด่าใครๆ ทั้งสิ้น หากผู้นั้นกระทำความผิดก็จะพูดเป็นการว่ากล่าวตักเตือนแบบประกอบด้วยเมตตาธรรมเท่านั้น อันความเมตตาปราณีที่เต็มเปี่ยมอยู่ประจำจิตของหลวงพ่อนั้น จึงยังศรัทธาของพระสงฆ์ สามเณร และประชาชนทั้งใกล้และไกล รวมทั้งชาวต่างชาติที่ได้ไปกราบไหว้ จึงสมควรได้รับคำว่า “ เป็นปูชนียะบุคคล ” บุคคลที่ควรกราบไหว้บูชาสักการะของปวงชนทั่วๆ ไป
อวสานของชีวิตนับจากปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา หลวงพ่อมีสุขภาพอ่อนระโหยตามอายุชราภาพ โดยมีการอาพาธอยู่บ่อยๆ อาพาธเมื่อใดศิษยานุศิษย์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจทุกทีต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ได้เยียวยารักษา แต่กาลประมาณไม่ถึงเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2522 หลวงพ่อได้อาพาธอีกครั้ง ศิษยานุศิษย์ได้นำท่านส่งโรงพยาบาลศรีสะเกษ ทางโรงพยาบาลก็ได้รับให้พักรักษาตัวอยู่ โดยนายแพทย์ได้เอาใจใส่เป็นพิเศษในการเยียวยารักษา แต่ว่าชีวิตร่างกายของมนุษย์เราทุกคนย่อมตกอยู่ในสภาวะ 3 ประการคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หลวงพ่อได้มีอาการไข้สูงเหลือที่นายแพทย์จะเยียวยารักษาได้ จึงได้สิ้นลมปราณ เมื่อเวลา 05:20 น. ของวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2522 ณ โรงพยาบาลศรีสะเกษ ยังความสลดใจให้แก่ศิษยานุศิษย์ตลอดทั้งประชาชนทั่วไป สิริอายุ 93 ปี 73 พรรษา
อัฐิของท่านบรรจุไว้ในพระธาตุ ภายในวัดปราสาทเยอเหนือ ตำบลปราสาทเยอเหนือ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ทุกๆ ปีในช่วงวันสงกรานต์ จะมีการจัดงานไหว้พระธาตุหลวงพ่อมุมขึ้น ในวันนั้นก็จะมีบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ผู้คนที่นับถือท่านทั่วทุกสารทิศมากราบไหว้ทำบุญและร่วมบำเพ็ญกุศลกันอย่างมากมาย
จะเห็นได้ว่าคุณงามความดีของพระครูประสาธน์ขันธคุณ ( หลวงพ่อมุม ) นั้นถือว่าเป็นกุศลกรรมที่น่ายกย่องสรรเสริญท่านเป็นปูชียบุคคลที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมอันสูงส่งและมีจริยวัตรอันงดงามยิ่ง สมควรแล้วที่อนุชนเรียกท่านว่า “ หลวงปู่ผู้ประเสริฐ ” พวกเราจึงควรที่จะจารึกพระคุณของหลวงปู่ไว้ชั่วกัลปาวสาน
วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง หลวงพ่อมุม
พระครูประสาธน์ขันธคุณหรือหลวงพ่อมุมนั้น ท่านมีความรู้ทาง ด้านการศึกษาและความรู้วิชาต่างๆ วิชาอักษรขอม หนังสือธรรม และไทยน้อยไทยใหญ่ตลอดทั้งทางด้านไสยศาสตร์ เวชศาสตร์ และโหราศาสตร์ในการดูฤกษ์งามยามดีช่วยอนุเคราะห์แก่ ประชาชาชน ตลอดจนท่านได้สร้างเหรียญวัตถุมงคลมากมาย เพื่อแจกญาติโยมให้ช่วยสมทบทุนก่อสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจแก่ชาวบ้าน บรรดาคณะศิษยานุศิษย์ผู้ศรัทธาทั้งหลาย
วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง ของหลวงพ่อมุม อินทฺปญฺโญ ที่ท่านได้จัดสร้างขึ้นนั้นมีหลายรุ่นด้วยกัน ท่านปลุกเสกจะทำตามพิธีกรรมแบบโบราณ และจะลงเหล็กจารอักขระยันต์ คาถาต่างๆ ลงบนวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังแทบจะทุกชิ้น ก่อนจะนำเข้าพิธีพุทธาภิเษก เพื่อแจกจ่ายให้กับญาติโยม ลูกศิษย์และประชาชนทั่วไป เพื่อนำติดตัวไว้บูชา อีกหลวงพ่อมุมยังได้รับการนิมนต์ไปร่วมพิธีพุทธาภิเษก ปลุกเสกวัตถุมงคลของวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง มีการจัดสร้างขึ้นดังนี้
ปี2507 ทางคณะกรรมการวัดโดยคุณวรวัฒน์ รุ่งแสงและศิษยานุศิษย์ได้จัดสร้างเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อมุมขึ้น โดยมีเหรียญที่เรียกกันว่า เหรียญ ส.หางยาว ปี2508 ทางวัดได้จัดสร้างเหรียญกลม ถือว่าเป็นเหรียญรุ่นที่ 2 ออกมาเพื่อแจกจ่ายให้กับญาติโยม และชาวบ้านทั่วไป ปี2509 ทางวัดและลูกศิษย์ได้ขออนุญาต หลวงพ่อมุมจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นเป็นรุ่นที่ 3 โดยจัดพิธีขึ้นในโบสถ์ไม้หลังเก่าในวัดปราสาทเยอเหนือ มีทั้งเหรียญหลายแบบด้วยกัน พระกริ่งศก. รุ่นแรก , แหวนรุ่นแรก , ภาพถ่าย , รูปหล่อโบราณ , รวมทั้งตะกรุดรุ่นแรก ซึ่งได้มีเกจิอาจารย์ในยุคนั้นมาร่วมกันปลุกเสกหลายรูป อีกทั้งในปีนั้นยังได้จัดสร้างเหรียญหลวงพ่อบุญมา วัดปราสาทเยอใต้ ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อมุมอีกองค์หนึ่งด้วย ปี 2510 ได้มีการจัดสร้างเหรียญ สองอาจารย์ ด้านหน้าเป็นรูปครึ่งองค์ของหลวงพ่อบุญมาและหลวงพ่อมุม , ผ้ายันต์ ฯลฯ ปี 2512 ได้มีการจัดสร้างพระชัยวัฒน์หลวงพ่อมุม แท้จริงแล้วถือเป็นพระกริ่งรุ่น 2 ภายหลังจากที่ออกพระกริ่งศ.ก. ได้ 3 ปี , เหรียญรูปอาร์ม , แหวนรุ่น3 ปี 2514 - 2515 ได้มีการจัดสร้างเหรียญเตารีด , เหรียญโลห์ ภปร. , สมเด็จลายเสือ , เหรียญเปิดที่ทำการ สภอ.เมือง ศรีสะเกษ , เหรียญอาร์มหลัง ภ.ป.ร. เหรียญศาลาการเปรียญหรือเหรียญหน้าบัน , เหรียญกลมรุ่นพิเศษ , ล็อกเก็ต ,รวมทั้งแหวน ภปร. และอีกหลายๆแบบด้วยกัน ปี 2516 ได้มีการจัดสร้างพระผงมีทั้งออกวัดปราสาทเยอเหนือและออกที่วัดมหาพุทธาราม วัดพระโต เช่น หลวงพ่อมุม พิมพ์สมเด็จ หลังรูปเหมือน , พิมพ์สมเด็จ หลังหันข้าง , พิมพ์สมเด็จจัมโบ้ , พิมพ์สมเด็จประทานพร , รูปเหมือนเนื้อว่าน ก็จะมีหลายๆ พิมพ์อีกเหมือนกัน , พระผงรูปเหมือน, รูปหล่อ และในปีนี้ได้มี ทหารนาวิกโยธินสหรัฐอมเริกา(GI.) มาตั้งฐานทัพต่อสู้สงครามเวียดนาม อยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีขอจัดสร้าง เนื่องจากได้นำวัตถุมงคลที่หลวงพ่อมุม ปลุกเสกไปทดลองยิง แต่ปรากฎว่ายิงไม่ออกจึงเกิดความศรัทธาในตัวหลวงพ่อมุม จึงได้ขอจัดสร้างรุ่นนี้ขึ้น มีทั้งเหรียญภาษาอังกฤษ PAPAMUM , สมเด็จภาษาอังกฤษ และเนื้อผงพิมพ์จันทร์ลอยภาษาอังกฤษ ปี 2517 ในปีนี้ถือว่ามีพิธีการจัดสร้างยิ่งใหญ่พอสมควร(รุ่นอภินิหาร) จัดสร้างโดยพระอาจารย์ฟื้น ธมฺมวโร(สุพัฒนิยกุล) วัดอินทรวิหาร กรุงเทพมหานคร ร่วมกับทุนนิธิประสาธน์ขันธคุณ วัตถุประสงค์เพื่อบูรณะวัดปราสาทเยอเหนือและจัดสร้างหอระฆัง อีกส่วนหนึ่งจะจัดสร้างกำแพงรอบอุโบสถที่วัดสามัคคีพัฒนาราม ต.วังชมพู อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ โดยหลวงพ่อได้อธิษฐานจิตแล้วนำไปให้บูชาที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม กทม. ซึ่งวัตถุมงคลที่จัดสร้างขึ้นนั้น มีทั้งเหรียญพิมพ์นักกล้าม ( มีบล็อกวัดอินทรวิหารและวัดปราสาทเยอเหนือ ) เหรียญช้างสามเศียร, พระผงรูปเหมือน , เนื้อผงผสมเส้นเกศาหลวงพ่อมุม, พระปิดตาเนื้อว่าน 108 , รูปหล่อ ,รูปเหมือน, ล็อกเก็ต , ผ้ายันต์ , แหวน , ตะกรุดโทนเนื้อเงิน, สีผึ้ง,ลูกอม เป็นต้น ปี 2519 ในปีนี้ถือว่าหลวงพ่อมุมอายุครบ 90 ปี ทางลูกศิษย์จึงได้จัดสร้างเหรียญฉีดซุ้มกนก โดยมีแบบมีหูและไม่มีหู , รูปหล่อ , แหวน ทปค. ฯลฯ
ปี 2520 ทางธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้ขออนุญาตจัดสร้างเหรียญดอกบัวพิมพ์หนาและพิมพ์บาง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธนาคารกรุงเทพ และทางวัดปราสาทเยอเหนือยังได้จัดสร้างพระผงนาคปรก ,รูปเหมือนขนาดบูชา , ผ้ายันต์ฯลฯ
แหนบของท่านที่จัดสร้างขึ้นก็มีหลายช่วง พ.ศ. ด้วยกัน มีทั้งแหนบพัดยศ แหนบรูปเสมา , แหนบสกรีนลงยา , แหนบรูปอาร์มรวมทั้งเข็มกลัดอีกด้วย
ส่วนเครื่องรางของขลังของหลวงพ่อมุมนั้นลักษณะการสร้างจะแตกต่างกัน เช่น ผ้ายันต์ , รูปถ่าย , เหรียญร.5 , กะลาตาเดียว , หวายลูกนิมิตร , ไม้ไผ่ตัน , มีดหมอลงเหล็กจาร , งาแกะหลายพิมพ์หลายแบบ , ตะกรุดหลายรูปแบบ ฯลฯ โดยส่วนใหญ่แล้วเครื่องรางของขลังของท่านจะไม่มีแบบเฉพาะ เนื่องจากลูกศิษย์และชาวบ้านจะนำแผ่นโลหะ , งาแกะ หรือวัตถุมงคลอื่นๆ มาให้หลวงพ่อลงเหล็กจารคาถาอาคมแล้วปลุกเสก โดยท่านจะสั่งให้มารับตามกำหนดการที่ท่านปลุกเสกเสร็จ บางอย่างอาจต้องรอหลายเดือนก็มี เพราะท่านปลุกเสกตามพิธีตำราโบราณ ลายมือที่ท่านลงเหล็กจารในวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขลังนั้น ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหลวงพ่อมุม
ข้อห้ามเฉพาะในวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังของหลวงพ่อมุม 1 . ห้ามลอดไม้ค้ำต้นกล้วย 2 . ห้ามใช้มือทั้งสองกอบน้ำในบึง หนอง คลอง ที่ตนลงเล่นมาดื่มกิน
นี่คือข้อห้ามเฉพาะของท่านที่จะต้องถือให้ได้ นอกจากนั้นก็แล้วแต่ข้อห้ามในแต่ละส่วนของวัตถุมงคล เช่น ตะกรุดของท่านบางชนิดจะมีข้อห้าม คือ ห้ามกินมะขามป้อม , ห้ามกินน้ำเต้า , ห้ามด่าบุพการี
(ขอนอบน้อมและแสดงความเคารพต่อหลวงพ่อมุม อินทฺปัญโญ อย่างสูงสุดครับ)
|