กว่าจะมาเป็น “พระเหรียญงามๆ” สักรุ่น โดย...แมงเม่าน้อย - webpra

หัวข้อ: กว่าจะมาเป็น “พระเหรียญงามๆ” สักรุ่น โดย...แมงเม่าน้อย

กระทู้ และ ความคิดเห็นต่างๆ

กว่าจะมาเป็น “พระเหรียญงามๆ” สักรุ่น โดย...แมงเม่าน้อย
คะแนน ความคิดเห็นที่มีประโยชน์: 19
แมงเม่าน้อย
ตั้ง: 1 ตอบ: 20
คะแนน: 20
รายละเอียด

กว่าจะมาเป็น “พระเหรียญงามๆ” สักรุ่น

 

          ถ้าจะตั้งคำถามว่า : วัตถุมงคลรูปแบบใดนิยมที่สุด?

          คำตอบ: คงหนีไม่พ้นวัตถุมงคลประเภท “เหรียญ

 

          จริงครับ อาจจะด้วยเหตุผลที่ คงทน พกพาง่าย มีรายละเอียดในเชิงศิลป์ปรากฏได้มากกว่าวัตถุมงคลประเภทอื่น ถูกต้องแล้วคร๊าบ! ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบพระเหรียญงามๆ โดยเฉพาะเหรียญยุคเก่าๆที่มักจะเป็นงานนูนต่ำ ลีลาการแกะเร้าใจ...กระบวนการออกแบบ และสร้างสรรค์เหรียญวัตถุมงคลจึงน่าเรียนรู้ไม่ใช่น้อย...จะได้รอบรู้เรื่องกระบวนสร้าง เลือกเก็บเหรียญงามๆ ได้อย่างรอบรู้ สนุกสนาน

          วันนี้ ขอนำเข้าบทที่ 1.วิธีสร้างสรรค์แม่พิมพ์เหรียญวัตถมงคล”...

          จากขั้นตอน “การออกแบบ” ที่ศิลปิน หรือนายช่างจะออกแบบสร้างสรรค์แบบร่างเบื้องต้นขึ้น อันนี้ ก็ว่ากันไปนะครับ แบบดี แบบงดงาม ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง แต่ก็ต้องอาศัยขั้นตอนต่อไป เพื่อกำหนดชะตาด้วยครับ นั่นคือ “การทำแม่พิมพ์”

          ขั้นตอน “การทำแม่พิมพ์” หรือ “บล็อก” ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เหรียญเกจิอาจารย์รุ่นไหน...จะ “เหมือน” จะ“งาม” จะ “น่าเล่นหา” หรือไม่อยู่ที่ขั้นตอนนี้เลย!

     
         
ยุคนี้ วิธีการทำแม่พิมพ์ มี ๓ แนวทางหลักๆ คือ

          1.)  ปั้นใหญ่แล้วนำมาย่อลงเป็นแม่พิมพ์  คือ การใช้วิธีปั้นขึ้นรูป แกะ ตกแต่งต้นแบบด้วยขี้ผึ้ง บนขนาดใหญ่กว่าเหรียญจริง 4 เท่า หรือ 8 เท่า (ที่เขาเรียกกันว่า ขนาด 4:1 หรือ 8:1)ให้เสร็จสมบูรณ์ จากนั้นจึงนำไปเข้าเครื่องย่อเพื่อถอดรายละเอียดจากต้นฉบับ ลงมาเป็นแม่พิมพ์ขนาดเท่าจริง

เครื่องย่อจะมี 2 ระดับ 1. การใช้เครื่อง Milling ที่ให้ความละเอียดได้ประมาณ 60-70% ของต้นฉบับ อันนี้ ราคาประหยัดหน่อย แต่ต้องนำแม่พิมพ์ที่ได้ไปเก็บรายละเอียดเพิ่มเติมถึงจะดี 2. การใช้เครื่องย่อ mold (ระดับเดียวกันกับที่โรงกษาปณ์ไทยใช้) จะเก็บรายละเอียดได้ค่อนข้างสูง ถึง 95%ของต้นฉบับ แทบไม่ต้องเก็บรายละเอียดบล็อกเพิ่มเติม แต่ค่าใช้จ่ายสูงกว่าระบบแรก( 3-4 หมื่นบาทต่อบล็อก 1 หน้า)

 

          2.)  แบบใช้ CNC (Computed numerically controlled) หรือ การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างแม่พิมพ์ วิธีนี้ จะใช้คอมพิวเตอร์ และโปรแกรม 3 มิติ เช่น Auto CAD เข้ามาช่วยออกแบบวาดภาพแบบ 3 มิติ สามารถสร้างรายละเอียดที่ซับซ้อนได้พอสมควร แล้วจึงสั่ง output หรือ ถอดแบบออกมาเป็นต้นแบบขี้ผึ้ง (แว๊กซ์)  (วิธีนี้มักจะทำงานบนขนาดเท่าจริง 1:1) แล้วจึงถอดแบบด้วยยางซิลิโคน ก่อนใช้แม่พิมพ์ยางมาสตุ (คล้ายกับการชุบแต่ให้เกิดเป็นแผ่นทองแดงหนาๆ) เป็นแผ่นทองแดง เสร็จแล้วจึงนำไปสปาร์คพิมพ์ด้วยเครื่อง EDM ก็จะได้แม่พิมพ์ หรือบล็อกออกมา

แม่พิมพ์ที่ได้จากกระบวนการนี้ ผิวมักจะออกเป็นผิวทราย ไม่ตึง เพราะเกิดจากการสปาร์คพิมพ์ ควรนำมาเก็บแต่งผิวของแม่พิมพ์อีกครั้งจึงจะสวยงามขึ้น

 

          3.)  การทำแม่พิมพ์ด้วยการขึ้นมือ ก็คือ การแกะแม่พิมพ์โลหะแบบดั้งเดิม หรือที่ภาษาช่างมักเรียกกันว่า แกะสดคือ การแกะแม่พิมพ์ขนาดเท่าจริงโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ไฮเทคโนโลยีกันมากมาย แต่วิธีนี้ ตัวแปรที่สำคัญที่สุดก็คือ “ฝีมือ”ของช่าง เพราะต้องใช้ความตั้งใจมากๆ เริ่มจากขุดแต่งเหล็ก ค่อยๆขึ้นรูป ไปทีละนิดๆ จนได้ความลึก หรือมิติที่ต้องการ แล้วใช้มีดแกะ แทงเก็บลวดลาย หรือรายละเอียดต่างๆให้ดียิ่งขึ้น จนเสร็จสมบูรณ์ วิธีนี้แกะสดๆนี้ อาจใช้วิธีผสมผสานการแกะองค์หลวงพ่อสดด้วยมือ แล้วจึงส่งไปเข้าเครื่องแกะตัวหนังสือด้วยเครื่อง ก็ทำได้ครับ ขึ้นอยู่กับการวางแผนของผู้กำกับการสร้าง

 

          หากต้องการ “คุณภาพงาน” การเก็บรายละเอียดบล็อกเพิ่มเติมโดยช่าง จะช่วยให้งานที่ได้นั้น เสร็จสมบูรณ์ได้อย่างสวยงามมากขึ้น ฝีมือการเก็บรายละเอียดที่สวยงามจะเป็นธรรมชาติเพียงใด? ขึ้นอยู่กับชั่วโมงบิน ทักษะความชำนาญ และมุมมองด้านศิลปะของช่างเต็มๆ นี่คือ องค์ประกอบสำคัญ อันนี้ก็ต้องเชือดเฉือนกันในขั้นตอนนี้ละครับ...พระรุ่นไหนจะงาม จะเหมือนครูบาอาจารย์องค์จริง ได้เพียงใด?

          เมื่อได้แม่พิมพ์ที่เสร็จสมบูรณ์เป็นที่พอใจแล้ว จึงนำแม่พิมพ์ไปทำการชุบแข็ง เพื่อเตรียมใช้ปั๊มเหรียญทดลองพิมพ์ หรือเหรียญจริง ด้วยเครื่องจักร ก่อนนำเข้าพิธีเสกและส่งออกสู่ผู้บูชาต่อไป

 

          ทีนี้...คุณๆเคยบ้างไหมครับ? ที่หยิบเหรียญรุ่นนึงมาดูปั๊บ! ได้เห็นหน้าหลวงพ่อบน “เหรียญ” รุ่นนั้นปุ๊บ!แล้ว “ใช่” หลวงพ่อองค์นั้นนะ...แต่ “ไม่เหมือน”

          หรือ “เหมือน”หลวงพ่อนะ...แต่ “ไม่ใช่”  

          ฟังดูอาจจะงงๆนะครับ

          ถูกต้องแล้วครับ “ใช่” กับ “เหมือน” คนละความหมายเดียวกันนะครับ

          ใช่คือ มองเพียง “ตาเปล่า” ก็สัมผัสได้ถึง “ลักษณะเด่น” หรือ “อากัปกริยา” เฉพาะองค์ของครูบาอาจารย์องค์นั้นๆ ประมาณว่า “mood” ได้ “อารมณ์” จี๊ดจ๊าด! หลุดออกมาได้อย่างชัดเจน หรือไม่ก็ เห็นแล้วอารมณ์บ่งชี้ชัดว่าเป็นหลวงพ่อองค์นั้นจริงๆ

          ส่วน เหมือน คือ เมื่อเทียบเทียบกับรูปถ่ายแล้วเก็บรายละเอียดทุกๆส่วนได้เหมือนองค์จริงเปี๊ยบ! เช่นรอยย่น ไฝฝ้า กล้ามเนื้อ ต่างๆเหล่านี้เป็นต้น

          แน่นอน...หากว่าเหรียญรุ่นใดจัดทำได้แบบ 2in1 คือ มีลักษณะเหรียญที่ทั้งใช่และ เหมือน กับองค์จริงได้อย่างชัดเจนแล้วละก็ ต้องนับว่า ผลงานวัตถุมงคลรุ่นนั้นน่าจะเป็นจุดบรรจบ ที่ลงตัว ของศาสตร์และศิลป์แห่งการสร้างสรรค์ เป็น“เหรียญพระ” ที่โดดเด่น มีเสน่ห์ สะดุดตา น่าเก็บสะสม ย่อมเป็นที่พึงพอใจสำหรับผู้ได้ไว้บูชาเป็นแน่แท้

แต่ทั้งนี้เหรียญรุ่นนั้นๆ จะฮ็อต ไม่ฮ็อต จะมีกระแสในการเล่นหาได้แรงเพียงใดนั้น ก็คงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆอีกหลายประการประกอบไปด้วยนะครับ

 

          เสน่ห์ จากองค์ประกอบศิลป์ที่กลมกล่อม ลงตัว (Harmony) จึงนับเป็น อัตลักษณ์ที่สร้างความน่าสนใจเบื้องต้นให้กับเหรียญรุ่นหนึ่งๆ ได้เหมือนกัน แต่บางครั้ง บางรุ่น ก็น่าแปลกใจนะครับ ที่ตัวเหรียญบางรุ่น แกะแม่พิมพ์แล้วปั๊มเหรียญจริงออกมา ก็ดูไม่สวย แต่ทว่า การจัดวางองค์ประกอบที่ดี มีน้ำหนักที่พอเหมาะ ไม่บางเบาโล่งโจ้ง หรือ แน่นเกินไป จนน่าอึดอัด ก็กลับเป็นเหรียญที่มีเสน่ห์ได้เหมือนกัน

          แม้กระทั่งในเรื่อง มิติ ของเหรียญ ก็ไม่ใช่เรื่องแน่นอนเสมอไปนะครับ ว่า เหรียญที่มีมิติ คมชัดลึก จะสวยงามเสมอไป เพราะมีเหรียญสมัยก่อนออกเยอะไป ที่แม้จะเป็นงาน “นูนต่ำ” บางๆ ดูเบาๆแท้ๆ แต่กลับให้ความรู้สึก “เฉียบขาด” มาเสริมเสน่ห์ให้เหรียญชวนมอง แต่ “เหรียญนูนต่ำ” ที่ดูไม่สวย เป็นงานตลาดก็มีให้เห็นเยอะแยะเช่นกันครับ

 

          อีกองค์ประกอบหนึ่ง ที่สร้างความน่าสนใจ ชวนมอง น่าหลงใหลได้เช่นกัน ก็คือ พื้นผิว (texture) ของเหรียญ ความไม่สมบูรณ์แบบก็อาจเป็น “เสน่ห์เฉพาะ” ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น เส้นขนแมวที่พื้นเหรียญซึ่งเกิดจากการขัดแม่พิมพ์, หรือ การไม่ได้เก็บรายละเอียดร่องในการทำงาน ที่ทำให้เหลือร่องรอยบางอย่างไว้ เช่น รอยวงเดือนที่เกิดจากการกลึงปาดหน้า, เส้นคมมีดที่ช่างแทงเกิน แทงพลาด, เส้นขูดขีดในพิมพ์ที่เกิดจากขั้นตอนการปั๊ม ที่เหล็กแคะเหรียญออกไปโดนแม่พิมพ์เข้า, รอยแตกร้าวที่เกิดในแม่พิมพ์, ฯลฯ เหล่านี้อาจเป็น “เสน่ห์” ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงาน ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็เป็นได้ กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ชวนมอง ในแง่ของการเล่นหาก็เกิดเป็นตำหนิ จุดตาย หรือบล๊อกนั้นบล๊อกนี้ของเหรียญรุ่นหนึ่งๆไปได้เหมือนกัน

 

          จบบทที่ 1. : ทุกท่านที่อ่านเสร็จแล้ว ลองกลับไปพิจารณาดู “พระเหรียญ” ที่มีอยู่ในรังดูกันนะครับ  หยิบขึ้นมาค่อยๆ ส่อง พิจารณากันดูนะครับ ว่า เหรียญรุ่นไหน มีลักษณะ มีองค์ประกอบเข้าเค้าว่า น่าจะสร้างสรรค์ด้วยกรรมวิธีการใด?  มีรายละเอียดใด โป๊ะเช๊ะ! เข้าล็อคตามคุณลักษณะต่างๆที่ผมว่าไว้บ้างหรือไม่?

          ดูหลายๆรุ่น หลายๆเหรียญ...

          แล้วเชิญชวน...เขียนมาบอกเล่ากันหน่อย ว่ารุ่นไหนชอบ? รุ่นไหนสวย? มีเสน่ห์เฉพาะตรงไหน? ชอบไม่ชอบอย่างไร? เขียนบอกเล่าในท้ายบทความนี้เลย...พระใหม่ พระเก่า ได้ทั้งนั้น

          ท่านใดมีมุมมองน่าสนใจ ถูกใจกระผม มีรางวัลมอบให้! (5 รางวัล-ขอบคุณผู้จะมอบรางวัลให้ไว้ร่วมสนุกกันไว้ล่วงหน้าด้วยครับ) ประกาศผลต้นเดือนเมษา ๒๕๕๔ ครับท่าน

ค่อยๆเรียนรู้...เข้าใจ และลึกซึ๊งลงไปใน พุทธศิลป์ กันดูนะครับ...

 

สุข สบายใจ จงมีแด่ทุกท่าน

สัปปายะ.

มีนาคม ๒๕๕๔

กว่าจะมาเป็น “พระเหรียญงามๆ” สักรุ่น  โดย...แมงเม่าน้อย กว่าจะมาเป็น “พระเหรียญงามๆ” สักรุ่น  โดย...แมงเม่าน้อย
โพสต์เมื่อ ส. - 19 มี.ค. 2554 - 20:15.20
แก้ไขล่าสุดเมื่อ อา. - 19 ก.พ. 2555 - 04:13.13 โดย webadmin
หน้าที่ 2 จากทั้งหมด 2 หน้า (101)
ไปหน้าที่ :
ความคิดเห็นที่ 101:
คะแนน ความคิดเห็นที่มีประโยชน์: 0
Tingpra1989
ตั้ง: 1 ตอบ: 7
คะแนน: 0
รายละเอียด

สุดยอดความรู้และทัศนะจริงๆครับ

ส่วนตัวผมผมชอบเลือกจับที่พุทธศิลป์มาอันดับแรก จริงอยู่พระสมัยใหม่สร้างออกมาได้เนี๊ยบ คมชัด แต่ดูๆแล้วขาดรายละเอียดที่จะทำให้เกิดความงามตามแบบศิลปะเยอะ ดูๆบางเหรียญเหมือนหลวงพ่อก็จริง แต่ไม่เกิดชีวิตชีวา มีแต่ความเป็นพระคอมพ์เยอะ ต่างกับเหรียญสมัยเก่าๆ  มองเห็นหลายๆอย่างที่เป็นเสนห์ เห็นความตั้งใจ เห็นความอดทน ศรัทธา ฯลฯ แม้ไม่เหมือนหลวงพ่อตัวจริง แต่ก็สัมผัสได้ว่าเหมือนท่านมากกว่าเหรียญบางเหรียญสมัยนี้ นี่คงถึงเรียกว่า วัตถุมงคลสะสม กระมังครับ

โพสต์เมื่อ ส. - 20 มิ.ย. 2558 - 16:43.44
หน้าที่ 2 จากทั้งหมด 2 หน้า (101)
ไปหน้าที่ :
Top