
หัวข้อ: .. คำพ่อสอน .. คำสอน..ของพ่อ.
กระทู้ และ ความคิดเห็นต่างๆ
พ่อ.. มีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นรอยยิ้มของลูก เพราะ ความสุขของลูก คือ ความสุขของพ่อ
ความสุขของ " พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว " ในฐานะ " พ่อ.. แห่งแผ่นดิน " จึงหนีไม่พ้นการทุ่มเท ทรงงานหนัก อย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้.. พสกฯนิกรของพระองค์ อยู่ดี - มีสุข อย่างถ้วนหน้า และ นำมาซึ่งความสุขแท้จริงของแผ่นดิน
พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่.. พสกฯนิกร ชาวไทยในหลายวาระโอกาส โดยเฉพาะ ในยามที่บ้านเมืองต้องเผชิญกับวิกฤติรุนแรง ก็ล้วนแต่เป็น "คำพ่อสอน" ที่ลูกๆคนไทยทั้งแผ่นดิน ควรน้อมนำมาปฏิบัติอย่างยิ่ง
นอกจากจะเป็นเครื่องเตือนใจให้ฉุกคิด และ ครองสติอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ยังเป็นดั่งแสงเทียนส่องนำทางสู่ความสว่างไสว พร้อมนำพาประเทศชาติให้กลับคืนสู่ความสงบสุขครั้งแล้วครั้งเล่า..
มีพระราชดำรัส ของ พ่อ.. แห่งแผ่นดิน มากมายครับ. แต่ผมจะขอน้อมนำมาเพียงบางส่วน จัดแบ่งเป็น
หน้าที่ต่อประเทศชาติและส่วนรวม
“... ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ ...”
พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๖ ณ.ค่ายลูกเสือวชิราวุธฯ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อ วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๑๒
ความสามัคคี
“... ประเทศไหน ประชาชนพลเมืองมีความสามัคคีกลมเกลียวกันดี มีระเบียบวินัยดี ประเทศนั้นก็เจริญและอยู่ในฐานะดี ยิ่งมีความสมัครสมานกลมเกลียวกันมาก ก็ยิ่งเจริญมาก จึงเห็นได้ว่าความสามัคคีกลมเกลียวกันในระหว่างคนในชาติ และความเข้าใจรักษาระเบียบวินัยนี้ ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่จะช่วยนำประเทศชาติสู่ความวัฒนาถาวร...”
พระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ในงานสมโภชเนื่องในโอกาสเสด็จนิวัติพระนครฯ เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๐๔
“... ถ้าหากว่า คนหนึ่งมีหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องมีหน้าที่เหมือนกัน แต่ก็ต้องสอดคล้องกัน เพื่อให้งานส่วนรวมนั้นดำเนินไปได้ด้วยดีถ้าอยู่ในหมู่คณะเดียวกัน หรือในคณะทำงานเดียวกัน ก็จะต้องให้สอดคล้องกัน เพื่อให้งานที่ทำนั้นมีประสิทธิภาพสูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าหากมาทะเลาะกันมาเถียงกันโดยหลักหรือพื้นฐาน หลักความคิดนั้นแตกต่างกัน ก็คุยกันไม่ได้ พูดกันไม่ได้ อย่ามาพุดกันดีกว่า เพราะว่าถ้าธรรศนะของคนหนึ่งมีอย่างหนึ่ง และทรรศนะของอีกคนหนึ่งมีอีกอย่างหนึ่ง โดยไม่พยายามปรองดองกัน โดยไม่พยายามที่จะหาทางออกที่เหมาะสม ยิ่งพูดก็ยิ่งยุ่ง ยิ่งทำให้คนอื่นที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ดูแล้วขวัญเสีย ...”
พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖
ความเสียสละ และอดทน
“... การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทนเสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทน คือความไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันครึ ทำดีนี่แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีไม่ครึ ต้องมีความอดทนเวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตน ในความเพียรของตน ...”
พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะครูและนักเรียน ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๖
ความเพียร
“... การทำงานใดๆ ไม่ว่าเล็ก ใหญ่ ง่าย ยาก ถ้าย่อหย่อนจากความเพียรแล้ว ยากที่จะให้สำเร็จเรียบร้อยทันเวลาได้ การฝึกฝนความเพียร ถึงหากแรกๆจะรู้สึเหน็ดเหนื่อยลำบาก แต่พอได้เพียรจนเป็นนิสัยแล้ว ก็จะกลับมาเป็นพลังอย่างสำคัญที่จะคอยกระตุ้นเตือนให้ทำงานอย่างจริงจังด้วยใจร่าเริง และเมื่อใดพลังของความเพียรนี้เกิดขึ้น เมื่อนั้นการทำงานทั้งหลายก็จะสำเร็จได้โดยง่ายและรวดเร็ว ..”
พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ สวนอัมพร วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๒๒
คุณธรรมนำชีวิต
“... การตั้งใจให้ถูกนั้น คือการทำจิตใจให้สงบหนักแน่น ไม่วู่วาม ไม่ปล่อยให้อคติต่างๆเข้าครอบงำได้โดยง่าย ฝึกหัดคิดพิจารณาเรื่องราวและปัญหาทั้งปวงด้วยความละเอียดรอบคอบ ด้วยใจบริสุทธิ์เป็นกลางเสมอทุกครั้งให้เป็นนิสัย อันเป็นวิธีที่จะช่วยให้เกิดปัญญา สามารถคิดวินิจฉัยได้โดยกระจ่างแจ่มแจ้ง และปฏิบัติแก้ไขได้ถูกต้องเที่ยงตรง การที่มีความคิดจิตใจกระจ่างแจ้งและหนักแน่นอยู่เสมอ จัดเป็นคุณธรรมสำคัญประการหนึ่งของแต่ละบุคคล เป็นเครื่องนำพาบุคคลให้ประสพความเจริญสวัสดี และคุณธรรมของแต่ละคนนี้ เมื่อรวมเข้ากัน ย่อมจะเกิดเป็นคุณธรรมของชาติและย่อมจะนำพาชาติให้บรรลุถึงความเจริญสวัสดีได้ดุจเดียวกัน ...”
พระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๓ ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๒๔
ขอพระองค์.. ทรงพระเจริญฯ ยิ่งยืนนาน
ด้วยเกล้าฯ... ด้วยกระหม่อมฯ.. ขอเดชะ
แก่นแท้.. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“... คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราก็อยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบและทำงานตั้งจิตอธิฐานตั้งปณิธานในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพอมีพอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความอยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้ ประเทศต่างๆในโลกนี้กำลังตก กำลังแย่ กำลังยุ่ง เพราะแสวงหาความยิ่งยวด ทั้งในอำนาจ ทั้งในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรม ทางลัทธิ ฉะนั้นถ้าทุกท่าน ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความคิด และมีอิทธิพล มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่น ซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำพอควรพออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวร ที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล ...”
พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗
“... แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้เคยบอกว่าความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก ...”
พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐
“... คำว่าพอเพียงมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ ถ้าใครได้มาอยู่ที่นี่ ในศาลานี้ เมื่อปี ๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดว่า เราควรจะปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนพอมีพอกินก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดีและประเทศไทยเวลานั้น ก็เริ่มจะไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน มาสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน จึงต้องใช้นโยบายที่จะทำให้เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีพอเพียงได้ ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้ว่าบางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ ...”
พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑
“... คนเราที่ฟุ้งเฟ้อ ไม่มีทางที่จะหาทรัพย์มาป้อนความฟุ้งเฟ้อได้ ความฟุ้งเฟ้อนี้เป็นปากหรือเป็นสัตว์ที่หิวไม่หยุด ความฟุ้งเฟ้อนี้อ้าปากตลอดเวลา จะป้อนเท่าไรๆก็ไม่พอ เมื่อป้อนเท่าไรๆไม่พอแล้วก็หาเท่าไรๆก็ไม่พอ ความไม่พอนี้ไม่สามารถที่จะหาอะไรมาป้อนความฟุ้งเฟ้อนี้ได้ ...”
พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะลูกเสือชาวบ้านที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสเสด็จฯกลับจากแปรพระราชฐานจังหวัดสกลนคร ณ สนามบินดอนเมือง เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๒๗
“... คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด...อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ...มีความคิดว่า ทำอะไรต้องพอเพียงหมายความว่า พอประมาณไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง ...”
พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑