ประวัติ เมืองสุพรรณบุรี - พระกรุ - webpra

เมืองสุพรรณบุรี

ประวัติ พระกรุ


เมืองสุพรรณบุรี

                ในพงศาวดารโยนก ที่ว่าด้วยขอมแยกตั้งนครเป็นประเทศราช ได้กล่าวถึงกษัตริย์ผู้ครองกรุงสุวรรณภูมิไว้ว่า พระยากงเป็นผู้ครองเมืองกาญจนบุรีและพระยาพานผู้เป็นบุตรได้ครองเมืองราชบุรี ซึ่งต่อมาในภายหลังได้กระทำปิตุฆาต (ฆ่าพระยากงผู้เป็นบิดา) และได้สร้างเจดีย์สูงเท่านกเขาเหิน เพื่อเป็นการไถ่บาปกรรมที่ได้กระทำต่อบิดาแล้วได้ไปสร้างเมืองศรีวิชัยและเมืองพันธุมบุรี(พันธุม) หรือเมืองสุพรรณบุรี

                ทั้งนี้ยังปรากฏรายพระนามของกษัตริย์ผู้ครองเมืองอีกหลายพระองค์ เช่นสมเด็จพระพรรษาสุพรรณและพระรามบัณฑิตย์ องค์อินทร์เชื้อพระยากาฬปักษ์(เขมร-มอญ) พระยาแต่เชื้อนเรศร์หงสา และพระเจ้าอู่ทองซึ่งมาแต่เฉลี่ยงพระบรมราชา(ขุนหลวงพะงั่ว) เป็นต้น

                จะเห็นได้ว่าเมืองพันธุมบุรีหรือเมืองสุพรรณบุรีเป็นแหล่งชุมชนที่มีความเจริญมานานตั้งแต่สมัยทวาราวดี ซึ่งในระยะต่อมาชุมชนนี้ได้ถูกทิ้งร้างเป็นเวลานาน จนกระทั่งพระเจ้ากาแต ซึ่งเป็นเชื้อราชวงศ์มาแต่เมืองมอญ หงสาวดีได้มาเสวยราชสมบัติที่เมืองอู่ทอง และได้บูรณะวัดโปรดสัตว์วัดภูเขาทองและวัดใหญ่ สามวัดนี้แล้วจึงได้ออกไปสร้างวัดสนามชัย และบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ในวัดลานมะขวิด แขวงเมืองพันธุมบุรี ครั้งบูรณะเสร็จก็ได้มีข้าราชการและชาวเมืองทั้งหลายพร้อมใจกันออกบวช จำนวน 2,000 คน

                นับแต่นั้นมา เมืองพันธุมบุรีจึงได้ชื่อใหม่ว่า เมืองสองพันบุรี และได้เรียกเพี้ยนเป็นเมืองสุพรรณบุรี จวบจนปัจจุบันนี้

                ประวัติศาสตร์ไทยได้กล่าวถึงเมืองสุพรรณบุรีเอาไว้ว่า เมื่อพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีที่ 1 ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี ในปีพุทธศักราช 1893 แล้วนั้น ทรงโปรดฯ ให้ขุนหลวงพะงั่วมาครองเมืองสุพรรณบุรี ในฐานะที่เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญทางทิศตะวันตก และมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงด้วย

                ความสำคัญของเมืองสุพรรณบุรีได้จางหายไปชั่วระยะหนึ่ง และมีความโดดเด่นขึ้นมาอีกครั้งเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป เมื่อทหารพม่ายกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา และเกือบจะทุกครั้งที่เมืองสุพรรณบุรีเป็นทางผ่านของกองทัพพม่าก่อนเข้าตีกรุงศรีอยุธยา

                เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินของเมืองสุพรรณก็คือได้เกิดสงครามยุทธหัตถีขึ้นระหว่าง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชของไทยกับพระมหาอุปราชาของพม่า ในปีพุทธศักราช 2135 ที่ดอนเจดีย์

                ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองสุพรรณบุรีเดิมมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองสุพรรณบุรีในปัจจุบัน

                ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงจัดแบ่งการปกครองออกเป็นแบบมณพลเทศาภิบาล โดยรวมเอาเมืองสุพรรณบุรีให้ไปอยู่ในมณฑลนครชัยศรีด้วย จนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช 2456 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองบ้านเมืองใหม่อีกโดยแยกเมืองต่างๆ ออกเป็นจังหวัด

                ดังนั้น เมืองสุพรรณบุรีจึงได้ถูกแยกออกมาให้เป็นจังหวัด เรียกว่า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้นมาแต่บัดนั้น และกล่าวได้ว่า สุพรรณบุรีเป็นชุมชนที่ได้มีการพัฒนาการมาเรื่อยๆตั้งแต่ครั้งสมัยทวาราวดีมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ คือในสมัยปัจจุบันนี้ แม้ว่าในบางช่วงเวลาชุมชนเมืองสุพรรณบุรีแห่งนี้ อาจจะขาดหายไปบ้างก็ตาม

                ในปัจจุบันสุพรรณบุรีเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาอยู่มาก

                สุพรรณบุรีเป็นดินแดนที่ปรากฏร่องรอยของชุมชนเก่าแก่ในสมัยทวาราวดีอยู่หลายแห่ง เช่น ที่อำเภออู่ทอง หรือเมืองอู่ทองในอดีต จากการขุดค้นหาหลักฐานทางโบราณคดีก็ได้พบซากคูเมือง เจดีย์ที่หักพังลงมา คอกช้างดิน ตลอดจนพระพุทธรูป ลูกปัดหิน เสมาธรรมจักรหิน และอื่นๆ อีกหลายชิ้น จึงสันนิษฐานได้ว่าดินแดนแห่งนี้โดยเฉพาะเมืองอู่ทอง เป็นดินแดนที่มีมนุษย์เข้ามาอาศัยอยู่อย่างไม่ขาดสายตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงสมัยทวาราวดี

                การค้นพบหลักฐานเมืองอู่ทองนี้ว่าเป็นเมืองที่มีพัฒนาการมาตลอด ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงสมัยทวาราวดี และเมืองนี้ได้ร้างไปประมาณ 300 ปี ก่อนหน้าที่จะมีการอพยพของพระเจ้าอู่ทองมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาในปีพุทธศักราช 1893

                นอกจากนี้ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของเมืองสุพรรณบุรี พบที่อำเภอสามซุก และอำเภอดอนเจดีย์ หรือแม้แต่ในเมืองสุพรรณบุรีเองก็ตาม ยังปรากฏมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ได้ชมกันศึกษากันทุกวันนี้อีกหลายแห่งเช่นกัน ส่วนโบราณวัตถุที่น่าสนใจ อันได้แก่ พระพิมพ์ต่างๆที่กำเนิดที่เมืองสุพรรณบุรี ได้แก่ พระที่พบจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดบ้านกร่าง วัดลาวทอง วัดคู่บัว วัดปู่บัว วัดสำปะซิว วัดป่าเลไลยก์ ดอนเจดีย์ วัดหัวเกาะ ฯลฯ

                “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นวัดที่สร้างอยู่กลางเมือง ในสมัยโบราณสันนิษฐานว่าคงจะสร้างมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทองหรือในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ถือเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดสุพรรณบุรีอีกวัดหนึ่งที่มีโบราณสถานตั้งอยู่นั้นคือ พระปรางค์องค์ใหญ่ เป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากสมัยสุโขทัยตอนปลายที่ทรงคุณค่าเต็มไปด้วยความงดงามทางสถาปัตยกรรม”

                หลักฐานที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน คือ พระปรางค์องค์ใหญ่ที่มีสภาพค่อนข้างจะเก่าแก่และทรุดโทรมมาก ภายหลังจึงได้มีการบูรณะซ่อมแซมให้ดีขึ้นดังที่เห็นอยู่ในขณะนี้

                วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดพระธาตุ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณหรือแม่น้ำท่าจีน สามารถที่จะเดินทางไปชมได้ง่าย

                พระในกรุพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี มีพระเครื่องอยู่หลายพิมพ์หลายแบบทั้งเนื้อดินและเนื้อชิน ศิลปะสุโขทัย อู่ทอง และลพบุรี สำหรับ ศิลปะลพบุรีนั้นน่าจะเป็นพระที่มีอายุสูงนำมาบรรจุร่วมสมัย เพราะมีเพียงประปรายไม่มากนักไม่เหมือนศิลปะสุโขทัยและอู่ทอง

                เมื่อกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุแตกออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2456 ปรากฏว่ามีพระบูชาและพระเครื่องแตกออกมามากมาย ถึงขนาดกล่าวกันว่า “บรรทุกได้หลายเล่มเกวียน” การแตกกรุครั้งแรกเกิดจากการขโมยขุด ต่อมาได้เปิดกรุเป็นทางการในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการแตกกรุครั้งนั้นยังได้พบแผ่นลานทองซึ่งได้กล่าวถึงประวัติของผู้สร้างองค์พระปรางค์และผู้สร้างพระเครื่องต่างๆ ตลอดจนวิธีการบูชาใช้อีก อาทิเช่น พระผงสุพรรณ ผู้ที่สร้างคือ พระมหาเถระปิยทัสสี ศรีสาริบุตร เพราะลานทองจารึกไว้เช่นนั้น และเนื้อของพระผงสุพรรณยังบ่งบอกว่าสร้างจากผงเกสรและว่าน คาดว่ามวลสารทั้ง 2 ได้จากว่านและเกสรดอกไม้นานาชนิด นำมาตากแห้งแล้วป่นจนละเอียดเป็นผงฝุ่นแล้วนำมาผสมกับดินซึ่งเป็นตัวกลาง ทำให้ว่านและผงเกสรรวมตัวกันเป็นผนึก ดินนั้นจะต้องนำมาป่นให้ละเอียดเช่นกัน ด้วยการขจัดเม็ดกรวดและสิ่งสกปรกทิ้งให้หมดไปแล้วนำมาคลุกเคล้ากับน้ำผึ้งและตัวประสาน แล้วจึงนำพระมากดพิมพ์จากแม่พิมพ์ที่เตรียมไว้


ข้อมูลอ้างอิง : คัดลอกมาจาก "หนังสือ อมตพระกรุ"
ทางทีมงานขอขอบคุณทางเจ้าของหนังสือมา ณ โอกาสนี้



Top