ประวัติ พระอาจารย์ชยสาโร (ฌอน ชิเวอร์ตัน) - วัดป่าสันติธรรม ประเทศอังกฤษ - webpra

พระอาจารย์ชยสาโร (ฌอน ชิเวอร์ตัน)

ประวัติ วัดป่าสันติธรรม ประเทศอังกฤษ

พระอาจารย์ชยสาโร (ฌอน ชิเวอร์ตัน) วัดป่าสันติธรรม

 พ.ศ.๒๕๐๑ : เกิดที่ประเทศอังกฤษ เมื่อยังเล็กมีสุขภาพไม่ดี มีอาการหอบหืด ต้องหยุดโรงเรียน บ่อย จึงใช้เวลาในการศึกษาด้วยตนเอง ท่านสนใจว่าอะไรคือสิ่งสูงสุดที่เราจะได้จากการ เป็นมนุษย์อะไรคือความจริงสากลที่ไม่ขึ้นอยู่กับสมมุติของแต่ละสังคม ทำไมคนเรา อยากจะอยู่อย่างเป็นมิตรแต่กลับรบราฆ่าฟันกันอยู่เรื่อยไป

เมื่อไปโรงเรียน เป็นนักเรียนที่ช่างคิด ช่างค้นคว้า และมีผลการเรียนที่ดีเยี่ยมจนโยมบิดามี ความหวังให้เข้าสอบชิงทุนเพื่อเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในประเทศอังกฤษ

เมื่อศึกษาอยู่ได้อ่านหนังสือมากมายหลากหลาย จนกระทั่งพบ คำสอนของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา  ว่าเป็น "สัจธรรมความจริง " ที่กำลังแสวงหาอยู่ จึงสนใจการฝึกจิต และศึกษาหาความรู้ทางพุทธศาสนาตั้งแต่อยู่ในวัยรุ่น

ท่านทำงานเก็บเงินระหว่างที่กำลังเรียนและออกเดินทางหาประสบการณ์ในประเทศต่างๆ  ตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี ใช้เวลา ๒ ปี จนแน่ใจว่าการศึกษาและปฏิบัติธรรม เป็นหนทางที่ต้องการ แทนการเรียนต่อใน มหาวิทยาลัย โดยเริ่มปฏิบัติกับ ท่านพระอาจารย์สุเมโธ  (พระราชสุเมธาจารย์ ในปัจจุบัน และ เป็นพระชาวต่างชาติรูปแรก ที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อชา) ที่ประเทศอังกฤษ เป็น "ปะขาว" ถือศีล ๑๐ เป็นเวลา ๑ พรรษา

พ.ศ. ๒๕๒๑ : เดินทางมาประเทศไทยเพื่อฝึกปฏิบัติกับ หลวงพ่อชา สุภัทโท  ( พระโพธิญาณเถร ) ที่วัดหนองป่าพง จังหวัด อุบลราชธานี

พ.ศ. ๒๕๒๒ : บรรพชาเป็นสามเณร อยู่ที่วัดหนองป่าพง

พ.ศ. ๒๕๒๓ : อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีหลวงพ่อชา สุภัทโท เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๙ : เป็นรองเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ โดยมี ท่านพระอาจารย์ปสันโน เป็นเจ้าอาวาส

พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๕ : เป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ แทนท่านพระอาจารย์ปสันโน ซึ่งได้รับ นิมนต์ไปตั้งวัดสาขาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ก่อนเดินทางมาประเทศไทยได้ตั้งใจว่าจะอยู่ที่วัดหนองป่าพงให้ครบ ๕ ปี  โดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อศึกษาปฏิบัติธรรม เมื่อมาพบ หลวงพ่อชา ก็เกิด ความเลื่อมใส ศรัทธา ในปฏิปทาและความเป็นครูที่มีทั้งเมตตาและปัญญา ในการสอนอย่างลึกซึ้งจึงสามารถทนต่อความยากลำบากในการปรับตัวให้ เข้ากับการใช้ชีวิตแบบพระวัดป่า ที่เข้มงวดในวินัย และ การฝึกปฏิบัติตาม รอยพระพุทธเจ้า และการอยู่ร่วมกับคณะสงฆ์ชาวไทยจนเกิดความก้าวหน้า และเบิกบานในธรรมแนวการสอนของหลวงพ่อชาเน้นการปฏิบัติการรักษา ศีล และ ข้อวัตร ความอดทน ความเพียร การใคร่ครวญหลักธรรม และน้อม มาสู่ใจให้เฝ้าสังเกต จนรู้ทันอารมณ์ของตนเอง และสามารถใช้สติปัญญา ในการสร้างประโยชน์ตนและ ประโยชน์ผู้อื่นพร้อมกันไป

(รวบรวมจากเกร็ดชีวิตในพระธรรมเทศนาของท่านพระอาจารย์ชยสาโร) 


ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com


พระอาจารย์ชยสาโร (ฌอน ชิเวอร์ตัน) วัดป่าสันติธรรม

พระอาจารย์ฌอน ชยสาโร

ฌอน ชิเวอร์ตัน ( SHAUN CHIVERTON )

วัดป่านานาชาติ ดำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

โดย พันธกานต์ กิ้มทอง ตีพิมพ์ในนิตยสารโลกทิพย์ เดือน มีนาคม ๒๕๔๓

พระธรรมเทศนาของพระอริยสงฆ์นาม หลวงปู่ชา สุภัทโท ที่ท่านได้เป็นพระผู้บุกเบิกเผยแพร่พระสัจธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานไว้ ออกเผยแพร่ธรรมภาคปฏิบัติจนเป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสเป็นอันมากในหมู่ชนพุทธศาสนิกชนในประเทศไทย ธรรมเป็นของกลาง ไม่มีการแบ่ง เชื้อชาติ เพศ ศาสนา วัยภูมิปัญญา ทกๆ คนสามารถโอปนยิโก นำธรรมเข้าสู่จิตใจของตนได้ทั้งสิ้น

เมื่อหลวงปู่ชา สามารถสร้างหลักจิตใจของทันจนมั่นคงในพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านจึงได้นามธรรมของพระพุทธเจ้าออกเผยแพร่ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป อเมริกา ด้วยธรรมฟ้งง่าย เข้าใจง่าย กินใจ จนทำให้ชาวต่างชาติ ต่างภาษา ได้หันมาให้ความสนใจใส่ใจใฝ่ในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง เกิดปสาทะเลื่อมใส ศรัทธา จึงได้พากันมาขอบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ เป็นจำนวนมาก ก็พากันมาสนใจในด้านจิตตภาวนา เป็นจำนวนมาก เคารพนับถือท่านเป็นครูบาอาจารย์ ทำให้สำนักวัดหนองป่าพง สามารถขยายสาขาออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

ในช่วง ระยะเวลา ๒๐ กว่าปีผ่านมา ลูกศิษย์ของท่านที่เป็น ชาวต่างชาติต่างภาษา ได้มาอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ชา สุภัทโทและปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของท่านอย่างเคร่งครัด ตรงต่อพระธรรมวินัย จนได้ปรากฏชื่อเสียงเรียงนามกระฉ่อนไปทั่วทิศ ก็มีด้วยกันหลายท่าน หลายรูป อาทิท่านพระอาจารย์สุเมโธ ฯลฯ และอีกหนึ่งพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นชาวต่างประเทศที่เป็นศิษย์ของ หลวงปู่ชา สุภัทโท นักปราชญ์ ปรัชญาตะวันออก ด้วยจุดมุ่งหมายศึกษาเพื่อการปฏิบัติธรรมเพื่อให้ถึงแก่นพระศาสนา บนดินแดนแผ่นดินธรรม ประเทศสยาม

พระภิกษุรูปนี้ มีชีวประวัติมุมมองในทางหลักพระพุทธศาสนา ที่น่าสนใจยิ่งนักสำหรับชาวไทยในประเทศไทย และน่าสรรเสริญ ยกย่อง ในด้านปฏิบัติ****ในพระธรรมวินัยถึงแม้ท่านจะเป็นชาวต่างชาติ ต่างภาษา แต่ท่านก็นับได้ว่าเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา จนมีความรู้แตกฉานในหลักธรรมทางหลักพระพุทธศาสนายิ่งนัก สามารถศึกษาภาษาบาลี ท่องบทสวดมนต์บทต่างๆ แสดงพระปาติโมกข์ได้อย่างคล่องแคล่ว มี ความรู้ ความสามารถ  เขียน พูด อธิบายธรรมเป็นภาษาไทย อย่างแจ่มแจ้งชัดเจนนับได้ว่าเป็นพระภิกษุสงฆ์ในบวรพระพุทธศาสนาชาวต่างชาติรูปหนึ่งที่ชาวไทยควรบูชา (สังฆานุสสติ) ด้วยใจศรัทธาเลื่อมใส ในข้อวัตรปฏิบัติปฏิปทา ของท่านอันเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์

นับได้ว่าท่านสมควรเป็นตัวอย่างที่ดีแก่พระภิกษุสงฆ์ไทยอีกหลายๆ รูปที่ยังประพฤติปฏิบัติรักษาเพศสมณะ ประพฤติพรหมจรรย์ของตน ย่อหย่อนขาดความสนใจ จนไม่รู้หน้าที่ของตน ไม่รู้วินัยของตน ซึ่งนับวันก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นๆ อีกเป็นจำนวนมากมายในประเทศไทยเรา ขาดความรู้ ความเข้าใจ (บางทีรู้ข้อปฏิบัติรู้พระธรรมวินัย แต่ก็ยังฝ่าฝืนล่วงละเมิดต่อธรรมของพระพุทธเจ้า) ให้ปฏิบัติในพระธรรมวินัยที่ถูกต้องตามหลักพระศาสนาขาดผู้อบรมเห็นแก่ความมักง่ายปฏิบัติตามครูบาอาจารย์ ที่ท่านพาดาเนินผิด ๆ ก็ยังพากันประพฤติตัวไปตามสิ่งที่ผิด ๆ นั้น ขาดความรับผิดชอบต่อสมณเพศของตน เห็นแก่ปากแก่ท้องหวังผลประโยชน์ตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม

นี่จึงเป็นมุมมองของผู้เขียนจึงได้กราบขออนุญาตจากพระสงฆ์รูปนี้ ขอนำชีวประวัติ ปรัชญามุมมองของท่านที่มีต่อพระพุทธศาสนา ต่อสังคม (ท่านไม่อนุญาตให้นำเสนอในแง่อิทธิปาฏิหาริย์ผู้เขียนจึงกราบเรียนขอเสนอถึงความคิดมุมมอง ของท่านที่มีเหตุใดจึงได้มีความศรัทธา และออกบวช เป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา) ต่อมวลชนเพื่อนร่วมโลก จากประสบการณ์ชีวิตที่โชกโชนของท่านพระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตรงตามหลักพระธรรมวินัยนามท่าน พระอาจารย์ฌอน ชยสาโร หรือท่านชยสาโรภิกขุ เพื่อให้เกิดมุมมองที่สร้างสรรค์ ต่อการจรรโลงพระพุทธศาสนาต่อไปของพุทธบริษัท

ดังผู้เขียนจะได้นำเสนอชีวประวัติของท่าน นำเสนอเพื่อการเผยแพร่ ตามเจตนาของผู้เขียน จะสรรค์สร้างความดีงามในพระศาสนา จะชูเชิดเกียรติประวัติของพระผู้ทรงธรรม จะเผยแพร่เกียรติคุณนักปฏิบัติผู้ทรงคุณธรรม จะขอเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่พระสัทธรรม ของพระพุทธองค์ ด้วยความจริงใจความมุ่งมั่น ทุ่มเท สรรค์สร้างสิ่งดีงามสู่ญาติธรรม ถึงจะลำบากอัตคัดขัดสน จนใจ ในด้านต่างๆก็จะขออดทน เพื่อการนำเสนอสิ่งที่ดีงาม เพื่อเป็นประโยชน์ (บ้าง)สู่ทุกท่านตลอดมา ตลอดไปไม่แปรเปลี่ยนเจตนาปฏิปทาของตน ณ โอกาสนี้ ขอน้อมรับใช้ญาติธรรมทุก ๆ ท่านในการศึกษาถึงชีวประวัติของท่าน พระอาจารย์ฌอน ชยสาโร หรือชยสาโรภิกขุ ดังนี้

กำเนิด ณ ประเทศอังกฤษ

(ENGLAND)

ท่านพระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ หรือ ท่านพระอาจารย์ฌอน ชยสาโร มีนามเดิม ญอน ชิเวอร์ตัน (SHAUN CHIVERTON) เป็นบุตรนายเค็น ชิเวอร์ตัน และนางจูน ชิเวอร์ตัน กำเนิดเมื่อวันที่ ๗ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๐๑ ณ เกาะ Lsle of Wightซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ จากนั้นผู้เป็นบิดาและมารดาจึงได้อพยพครอบครัวไปอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศอังกฤษ กำเนิดในประเทศที่ไม่มีพระพุทธศาสนา (หลักธรรมปรัชญาศาสนาพุทธ) บ้านของพ่อแม่อยู่ในชนบท บ้านที่อยู่นั้นเท่ากับอำเภอที่ต่างจังหวัดในเมืองไทย พลเมืองหมื่นกว่าๆ

ตอนเป็นเด็กสุขภาพไม่ดี เป็นโรคหืด ทุกปีมีหลายวันที่ไม่ได้ไปโรงเรียน ทำให้หนุ่มฌอนเกิดนิสัยชอบอยู่คนเดียว ชอบอ่านหนังสือ ชอบคิดค้นคว้าพิจารณาเรื่องชีวิตของตัวเอง พออายุได้ ๑๕-๑๖ ปี ร่างกายสังขารก็มีการเปลี่ยนแปลงจากเด็กสู่ผู้ใหญ่และความคิดก็มีเกิดการวิวัฒนาการเช่นเดียวกัน เกิดความสงสัยว่า เราเกิดมาทำไมสิ่งที่สูงสุดที่มนุษย์ควรจะได้คืออะไร ในโลกนี้มีชีวิตที่ประเสริฐมีไหม และชีวิตที่ประเสริฐคืออะไร

เมื่อเกิดความสงสัยอย่างนี้ขึ้นมาแล้วค่อนข้างฟุ้งซ่าน บางทีนอนไม่หลับ รู้สึกว่าเป็นปัญหาสำคัญมาก ที่จำเป็นต้องหาคำตอบให้ได้ แต่สิ่งที่แปลกก็คือว่าเพื่อนๆ ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเลย พูดกับเพื่อนๆ เหมือนพูดกันคนละภาษา อยู่กันคนละโลกหนุ่มฌอนได้อยู่กับครูที่โรงเรียนก็เหมือนกัน มีความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว ว้าเหว่ เหมือนกับว่าเราเป็นคนเดียวในโลกที่มีความคิดอย่างนี้ แต่โชคดีที่บ้านของหนุ่มฌอน อยู่ห่างจากเคมบริดจ์ไม่กี่กิโลเมตร วันเสาร์หนุ่มฌอนมักจะขึ้นรถเมล์ไปเที่ยวเมืองเคมบริดจ์ แต่ไม่ได้ไปเที่ยวดูอะไรพิเศษ ไปอยู่ที่ร้านหนังสือเมืองเคมบริดจ์ มีร้านหนังสือเยอะแยะ และนั่นส่วนมากผู้ที่ทำงานในร้านหนังสือเป็นนิสิตเก่า เขาเห็นใจนักศึกษายากจน ผู้คนจะไปอ่านหนังสือทั้งนั้นก็ไม่มีใครรบกวน บางทีหนุ่มฌอนจะไปถึงแต่เช้า หยิบหนังสือมาอ่านถึงเที่ยง หิวข้าวก็เก็บไว้ที่เดิม ออกไปกินข้าว เสร็จแล้วกลับมาอ่านต่อ อ่านหนังสือเพลินๆ ไม่ต้องเสียสตางค์ หนุ่มฌอนก็ทำอย่างนี้หลายครั้งชอบอ่านชอบศึกษาเรื่องจิตใจ เรื่องปรัชญา เรื่องจิตศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สนใจเรื่องเหล่านี้

จนกระทั่งวันหนึ่งได้พบหนังสือคำสอนของพระพุทธเจ้าหนุ่มฌอนอ่านหนังสือหน้าแรกก็สะดุ้ง เกิดความศรัทธาเลื่อมใสว่านี่คือความจริง ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นปรัชญาของเอเซีย หรือเป็นของแปลกๆ แต่หนุ่มฌอนมีความรู้สึกเหมือนกับว่า พระพุทธเจ้าสามารถเอาความคิดที่ลึกซึ้งของเราออกมาพูดเป็นภาษาคน เพราะฉะนั้น การได้พบพระพุทธศาสนาเท่ากับได้พบตัวเอง ทำให้เข้าใจการสอนของพระพุทธศาสนาว่า

พระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องดำรา ไม่ใช่เรื่องของวัดวา ไม่ใช่เรื่องของนักบวช เป็นเรื่องของเราทุกคน เรื่องของหัวใจมนุษย์

สิ่งที่ประทับใจมากในหนังสือเล่มนั้นสำหรับหนุ่มฌอน คือ คำสอนที่เกี่ยวกับจิต หมายถึงจิตที่บริสุทธิ์ สะอาดโดยธรรมชาติพระพุทธศาสนาสอนว่า จิตใจของเราโดยธรรมชาติ จิตเดิมแท้เป็นจิตที่ใสสะอาด จิตนี้หลงอารมณ์ เกิดความเข้าใจผิด เกิดความคิดผิดเกี่ยวกับตัวเอง ชีวิตของตนเอง และความคิดผิดนี้กลายเป็นความยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกต่างๆ ว่าฉัน ว่าของฉัน มีการแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่เป็นฉัน ของฉัน และสิ่งที่ไม่ใช่ของฉัน เกิดความขัดแย้ง เกิดความบาดหมางระหว่างความนึกคิดของตัวเอง และความจริงของธรรมชาติอันนี้เรียกว่าทุกข์ จิตเป็นทุกข์ ทีนี้หนุ่มฌอน มีความเชื่อมั่นว่านี่คือความจริง หนุ่มฌอนเชื่อว่าปัญญาเกิดจากประสบการณ์ จึงออกเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนที่ประเทศอังกฤษ (England)

ภายหลังสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว หนุ่มฌอนตัดสินใจออกเดินทางระเหเร่ร่อน หาประสบการณ์ชีวิต ตั้งใจไปทางยุโรปและเอเซีย ยิ่งลำบากยิ่งชอบ เพราะรู้ดีกว่าความลำเค็ญจะช่วยให้รู้จักตัวเองมากขึ้น ถือเป็นกำไรชีวิต คนไทยไม่ใช่น้อยที่คุ้นเคยกับคำสอนของพระพุทธศาสนาจนประมาท ฟังมามากแล้ว ฟังแล้วรู้สึกเฉยๆ หรือบางทีสัปหงก แต่ว่าชาวตะวันตกมีความรู้สึกอีกอย่าง เพราะหลักของศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติของพวกเขา หรือประจำทวีปก็ว่าได้ สอนว่า จิตเดิมแท้ของมนุษย์เป็นของสกปรกมี original sin หรือบาปเดิม ซึ่งทำให้คนมีความรู้สึกว่าแท้จริงแล้วจิตใจของเรานี้เศร้าหมองโดยธรรมชาติ แม้ว่าเราอาจจะทำความดีบางอย่าง ความจริงแล้วมันเป็นแค่การบังกิเลสมากกว่า คือความดีและความบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ของแท้จริง สิ่งที่แท้จริงของเราก็คือกิเลส ทำให้ชาวตะวันตกมักรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีอยู่เสมอ แต่คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ ตรงกันข้าม

พระพุทธองค์ตรัสว่าจิตเดิมแท้ของมนุษย์เป็นของสะอาด ถ้าพูดในแง่ของการปฏิบัติ ทฤษฎีนี้มีความสำคัญมาก เพราะถ้าถือว่าจิตเดิมแท้ของเราเป็นของสกปรก เราจะไม่มีกำลังใจที่จะขัดเกลาตัวเอง เพราะว่ายิ่งขัดเกลายิ่งเจอแต่ความสกปรก การขัดเกลาสิ่งสกปรกโดยธรรมชาติให้เป็นของสะอาดเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเนื้อแท้ของจิตใจเราสะอาดโดยธรรมชาติ และเศร้าหมองเพราะหลงอารมณ์ว่าเป็นอัตตาตัวตน

การขัดเกลามีความหมายและความสำคัญด้วย มีความจำเป็นด้วย ผู้ใดซาบซึ้งในข้อนี้มาก จะมีความรู้ดีกว่าการขัดเกลากิเลส การแสวงหาความบริสุทธิ์เดิมแท้ของจิตนั้นเป็นสิ่งสูงสุดในชีวิตมนุษย์ เพราะฉะนั้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หนุ่มฌอนมีความมั่นใจว่าจะดำเนินชีวิตในรูปแบบอย่างไรก็ตาม จะประกอบอาชีพอย่างไรก็ตาม การประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิตนั้นต้องเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ทางใจ

ออกเดินทางหาประสบการณ์

หนุ่มฌอน มีนิสัยแปลกอย่างหนึ่งตั้งแต่เป็นเด็ก สนใจในประเทศอินเดียมาก หนังเป็นเรื่องของอินเดียชอบดู อาหารของอินเดียก็ชอบกิน ดนตรีอินเดียก็ชอบฟัง ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับอินเดียถูกใจตนเหลือเกิน เพราะฉะนั้น เมื่อหนุ่มฌอนจบ High school สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เรียบร้อยแล้ว จึงไปขออนุญาตจากคุณพ่อ ขอไปหาประสบการณ์ต่างประเทศก่อนที่จะเรียนต่อ

เมื่อคุณพ่อท่านอนุญาตแล้วหนุ่มฌอนจึงได้ออกไปทำงานที่โรงงาน ๓ เดือน แล้วออกเดินทางไปประเทศอินเดีย ซึ่งหนุ่มฌอนตั้งใจว่าจะไปทางบก ก็เลยข้ามไปเบลเยี่ยม เยอรมัน ออสเตรีย ยูโกสลาเวีย กรีซ ตุรกี อิหร่าน ปากีสถาน ในที่สุดถึงอินเดีย ใช้เวลาเดินทางเกือบ ๒ เดือน

การเดินทางของหนุ่มฌอนนั้นบางทีก็ไปรถไฟ บางทีโบกรถสิบล้อไป ไปง่ายๆ ค่ำที่ไหนก็นอนพักที่นั่น พบกับคนหลายชาติ หลายประเทศ วัฒนธรรมต่างๆ หนุ่มฌอนสังเกตในการเดินทางว่าทุกประเทศที่ผ่าน ทุกชาติทุกชุมชนต้องถือว่าจารีตประเพณีของเขาถูก ของประเทศอื่นๆ ผิด หรือว่าของเขาดีที่สุด หนุ่มฌอนเลยได้ความคิดว่าคนทุกคนมักจะมีมากที่เข้าข้างตัวเองว่าของเขาดีกว่าของคนอื่น หนุ่มฌอนเดินทางมาถึงประเทศอินเดีย แล้วก็เที่ยวบ้าง ไปอยู่ตามวัดตามวาบ้าง อยู่ที่วัดฮินดูบ้าง อยู่ที่วัดพุทธบ้าง (ทุกวันนี้ชาวพุทธในประเทศอินเดียมีน้อย แต่ที่พุทธคยา ที่ตรัสรู้ของพระพุทธองค์มีวัดหลายวัด ทุกประเทศที่มีชาวพุทธมีวัดประจำชาติที่นั่น)

ตอนนั้นหนุ่มฌอนสนใจเรื่องศาสนาพุทธนิกายเชนมาก ชอบไปทำวัตร นั่งสมาธิที่วัดเชนเป็นประจำ ต่อมาได้ขึ้นภูเขาหิมาลัยไปอยู่กับพระทิเบตที่ธรรมศาลา ซึ่งเป็นที่ประทับของดาไลลามะ ช่วงนั้นหนุ่มฌอนเริ่มนั่งสมาธิภาวนา แต่มีปัญหาว่าไม่ได้ตั้งใจกับวิธีกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มีการเปลี่ยนบ่อยๆ เพราะว่าไปที่ไหนก็มักจะพบคนที่ทำต่างๆ กัน บางทีก็ลองทำสมาธิดู พบคนที่ทำแบบเชนก็เปลี่ยนทำแบบเชนบ้าง ต่อมาก็สนใจอีกอย่างหนึ่ง ก็ทำอีกอย่างหนึ่งกลับไปกลับมา จิตใจก็ไม่สงบ เห็นว่าการที่เราจะก้าวหน้าในการปฏิบัติต้องเลือกอารมณ์กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วมีความจงรักภักดีต่ออารมณ์นั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เทคนิค หากอยู่ที่จิตใจของเราที่อยากจะได้วิธีการที่ดีที่สุด ลองปฏิบัติกับวิธีการใดวิธีหนึ่งก็เกิดปัญหาขึ้นมา เกิดนิวรณ์ เลยสงสัยว่า เลือกอารมณ์ไม่ถูก ลองทำอย่างอื่นบ้างก็อาจไม่ต้องประสบปัญหา ซึ่งนิวรณ์นี้ต้องถือว่าเป็นของธรรมดา ปฏิบัติด้วยอารมณ์กรรมฐานไหนเราต้องมีความอดทนต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติ นิวรณ์เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ควรถือว่าเป็นสิ่งท้าทาย เป็นสิ่งที่กระตุ้นสติปัญญาให้ตื่นขึ้นทำงาน เป็นสิ่งที่ช่วยให้การปฏิบัติของเราเข้มแข็ง

หนุ่มฌอนตอนนั้นยังเป็นนักปฏิบัติจับจด เอาอย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้าง ก็ไม่สงบเท่าไร ต่อต่อมาหนุ่มฌอนได้พบกับพระองค์หนึ่ง ซึ่งความจริงท่านเป็นนักบวชฮินดู แต่การประพฤติของท่านน่าเลื่อมใสมาก ท่านเป็นผู้ที่มีความมักน้อย สันโดษ และวิธีการปฏิบัติของท่านก็ไม่ต่างกันกับของพุทธเท่าไรนัก หนุ่มฌอนจึงขออยู่กับท่าน คล้ายกับเป็นลูกศิษย์

ตอนนั้นหนุ่มฌอนอายุได้๑๘ ปี และรู้สึกเลื่อมใสท่านมาก อยากจะอยู่กับท่านประจำ แต่ท่านก็คัดค้าน ท่านบอกว่า เธอยังหนุ่มเกินไป แล้วท่านย้ำว่า ถ้ายังไม่ได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ที่จะอยู่อย่างนี้ ที่จะเป็นสมณะอย่างนี้ การปฏิบัติจะไม่ได้ผล ซึ่งหนุ่มฌอนฟังเหตุผลนี้ก็รู้สกไม่พอใจ เพราะเหตุที่เป็นชาวตะวันตก ไม่ค่อยรู้สึกถึงบุญคุณพ่อแม่ ผู้ที่เคยศึกษาภาษาอังกฤษคงรู้คำว่า บุญคุณของพ่อแม่จะแปลเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ ไม่มีคำใช้ เพราะชาวตะวันตกไม่ค่อยมีความรู้สึกในสิ่งนี้

ตอนนั้นก็อยู่ฝั่งทะเลสาบที่ชาวฮินดูถือว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ อย่างกลางทะเลสาบก็สมถะดี เป็นครั้งแรกที่ได้ทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เกิดขึ้นในใจของหนุ่มฌอนในสมัยนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยได้คาดหวังหรือไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้น ผลจากการปฏิบัติเคยคิดว่าจะเป็นทำนองที่ว่าจิตเยือกเย็น ไม่มีความคิดฟุ้งซ่าน เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ รู้ใจคนอะไรอย่างนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกรักพ่อแม่ รู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณของพ่อแม่ หนุ่มฌอนแปลกใจทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ในที่สุดก็ตัดสินใจกลับบ้าน แล้วเดินทางกลับอังกฤษ แต่การเดินทางไปอินเดียของหนุ่มฌอนครั้งนี้ผิดหวังนิดหน่อย คือไม่ได้ท้าทายอย่างที่คาดหวัง ขากลับจึงตัดสินใจลองเดินทางจากปากีสถานไปยังอังกฤษโดยไม่ใช้เงิน โบกรถไปเรื่อยๆ อยากรู้ว่าเป็นไปได้ไหม อยากจะทราบความรู้สึกของผู้ไม่มีอะไรอย่างลึกซึ้ง ผจญภัยเยอะโชกโชนและผ่านเหตุการณ์ที่ไม่มีวันลืมเลือน

พอถึงเตหะราน เมืองหลวงของประเทศอิหร่าน หนุ่มฌอนรู้สึกจะหมดแรงแล้ว ผอมแห้งบักโกรก เสื้อผ้าก็มอมแมมกระดำกระด่าง ดูน่าเกลียดพอสมควร เห็นหน้าในกระจกห้องน้ำสาธารณะก็ตกใจตัวเอง ส่วนใจก็กังวลหมกมุ่นแต่ในเรื่องอาหารการกิน วันนี้เราจะมีอะไรทานไหมหนอ?แต่ละวันท้องจะอิ่มจะว่างก็แล้วแต่น้ำใจของเพื่อนมนุษย์ หนุ่มฌอนจำเป็นต้องพึ่งบารมีเพราะไม่มีอย่างอื่น พอดีเจอผู้ชายอิหร่านคนหนึ่ง เป็นชาวอิสลาม เขาสื่อสารและอยากฝึกพูดภาษาอังกฤษด้วย เขาจึงพาหนุ่มฌอนไปกินน้ำชาแล้วให้สตางค์เล็ก ๆ น้อย ๆ

กลางคืนหนุ่มฌอนจึงพักข้างถนนในซอยเงียบ กลัวว่าตำรวจเห็นจะซ้อม รุ่งเช้าเดินไปร้านขายซุปแห่งหนึ่ง ซึ่งจำได้ว่าซื้อซุปหนึ่งถ้วยแล้วเขาให้ขนมปังฟรี ในขณะที่กำลังเดินไปโดยพยายามไม่มองร้านอาหารข้างทางที่ดึงดูดตาเหลือเกิน ไม่ดมกลิ่นหอมที่โชยออกมาขณะนั้น หนุ่มฌอนได้สวนทางกับหญิงคนหนึ่ง เขาเห็นหนุ่มฌอนแล้วก็หยุดชะงัก จ้องมองหนุ่มฌอนอย่างตะลึง สักพักหนึ่งแล้วเดินตรงมาหา หน้าบูดบึ้ง แล้วสั่งให้หนุ่มฌอนตามไปโดยใช้ภาษามือ หนุ่มฌอนเป็นนักแสวงหาเลยยอมตามไป เดินไปสักสิบนาทีก็ถึงตึกแถว ขึ้นลิฟต์ไปถึงชั้นที่สี่ สันนิษฐานว่าคงเป็นบ้านเขา แต่ผู้หญิงคนนั้นไม่พูดไม่จาอะไรเลยยิ้มก็ไม่ยิ้ม หน้าถมึงทึงตลอด

พอเปิดประตูเข้าไปปรากฏว่าเป็นบ้านของผู้หญิงคนนี้จริง ๆ หญิงผู้นั้นพาเข้าไปในห้องครัวแล้วชี้ไปที่เก้าอี้ให้นั่ง นั่งแล้วหญิงนั้นจึงนำอาหารมาให้ทานหลายๆ อย่าง หนุ่มฌอนรู้สึกเหมือนกับขึ้นสวรรค์ ทำให้รู้ว่าอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก คืออาหารที่ทานในขณะที่หิวและท้องกำลังร้องจ๊อกๆ

ต่อมาหญิงผู้นั้นเรียกลูกชายมา สั่งอะไรก็ไม่รู้เพราะฟังไม่รู้เรื่อง แต่หนุ่มฌอนสังเกตว่าลูกดูจะอายุไล่เลี่ยกับตน สักพักใหญ่ลูกชายก็กลับมาด้วยกางเกงและเสือเชิ้ตชุดหนึ่ง พอผู้หญิงคนนั้นเห็นว่าหนุ่มฌอนอิ่มหนำสำราญแล้วก็ชี้ไปที่ห้องน้ำ สั่งให้อาบน้ำเปลี่ยนผ้าชุดใหม่ หญิงผู้นั้นก็ยังไม่ยิ้มไม่แย้ม ไม่พูดจาอะไรเลย มีแต่สั่งอย่างเดียว

ขณะที่หนุ่มฌอนอาบน้ำอยู่ก็คิดสันนิษฐานว่า แม่คนนี้อาจเห็นเราแล้ววาดภาพนึกถึงลูกชายตนเองว่า ถ้าสมมุติว่าลูกเราเดินทางไปต่างประเทศแล้วตกทุกข์ได้ยากอย่างนี้ อยู่ในสภาพน่าสมเพชอย่างนี้ มันจะเป็นอย่างไรฉะนั้น หนุ่มฌอนจึงคิดว่าเขาช่วยตนด้วยความรักของแม่ เลยคิดแต่งตั้งหญิงผู้นั้นเป็นแม่กิตติมศักดิ์ประจำเมืองอิหร่าน

หนุ่มฌอนยืนยิ้มหน้าบานอยู่ในห้องน้ำคนเดียว เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว หญิงผู้นั้นก็ไปส่งหนุ่มฌอนตรงจุดที่ได้เจอกัน แล้วเดินลุยเข้าไปในกระแสชาวเมืองที่กำลังเดินไปทำงาน หนุ่มฌอนยืนมองผู้หญิงอิหร่านคนนั้นถูกหมู่ชนกลืนไป รู้อย่างแม่นยำว่าชาตินี้คงไม่มีวันลืมเขาได้ หนุ่มฌอนประทับใจและซาบซึ้งมากน้ำตาทำท่าจะไหลคลอ

เขาให้เราทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักกันเลย ตัวสูงๆ ผอมๆ เหมือนไม้เสียบผีจากป่าช้าที่ไหนก็ไม่รู้ เสื้อผ้าก็เหม็นสกปรก ผมก็ยาวรุงรัง แต่เขากลับไม่รังเกียจเลย มิหนำซ้ำยังพาเราไปที่บ้านและดูแลเหมือนเราเป็นลูกของเขาเอง โดยไม่หวังอะไรตอบแทนจากเราเลยแม้แต่การขอบคุณ

หนุ่มฌอนรำพึงเวลาผ่านไปหนุ่มฌอนจึงอยากประกาศคุณของพระโพธิสัตว์หน้าบูดคนนี้ให้ทุกคนได้ทราบว่าแม้ในเมืองใหญ่ๆ ก็ยังมีคนดีและอาจมีมากกว่าที่เราคิด ไม่ใช่เพียงแค่คนนั้นคนเดียว ตอนที่หนุ่มฌอนแสวงหาประสบการณ์ชีวิตนั้น ได้รับความเมตตาอารี ความช่วยเหลือเจือจานจากคนหลายๆ ชาติ ทั้งๆ ที่หนุ่มฌอนไม่ได้ขออะไรจากใคร ทำให้หนุ่มฌอนตั้งใจว่ามีโอกาสเมื่อไหร่ต้องช่วยคนอื่นบ้าง ต้องมีส่วนในการสืบอายุของน้ำใจในหมู่มนุษย์ แม้สังคมทั่วไปจะอัตคัด กันดารคุณงามความดีเพียงไร แต่ขอให้เราพยายามเป็นแหล่งเขียวเล็ก ๆ แก่เพื่อนร่วมโลกก็ยังดี

ต่อมาหนุ่มฌอนได้กลับไปอยู่อินเดียอีกครั้งหนึ่ง พักปฏิบัติธรรม กับ ครูบาอาจารย์สายฮินดูองค์หนึ่ง ท่านน่าเลื่อมใสมาก มีข้อวัตรปฏิบัติคล้ายกับของพุทธ หนุ่มฌอนอยู่กับท่านมีเวลานั่งคิดไตร่ตรองชีวิตของตนเองมาก ตอนบ่ายวันหนึ่งหนุ่มฌอนเดินขึ้นเขาไปนั่งใต้ต้นไม้เก่าแก่ ท่ามกลางสายลม ดูทะเลสาบข้างล่างและทะเลทรายที่เหยียดยาวออกไปถึงขอบฟ้า ความคิดก็ปลอดโปร่งดี แล้ววันหนึ่งหนุ่มฌอนก็นั่งนึกแปลกใจตัวเองว่า เมื่อไหร่ที่เราระลึกในความมีน้ำใจของผู้ที่เคยเกื้อกูลการเดินทางของเรา ให้อาหารบ้าง ให้ที่พักสักคืนสองคืนบ้าง เราจะรู้สึกทึ่งทุกครั้ง แต่ทำไมพ่อแม่เลี้ยงเรามา ๑๘ ปี ให้อาหารทุกวันไม่เคยขาด วันละสามมื้อบ้าง สี่มื้อบ้าง และยังเป็นห่วงว่าจะไม่ถูกปากเราอีก ท่านให้ทั้งเสื้อผ้าและที่นอน ยามป่วยไข้ท่านก็พาไปหาหมอ และดูเหมือนว่าท่านจะเป็นทุกข์มากกว่าเราเสียอีก ทำไมเราไม่เคยซึ้งในเรื่องนี้เลย? มันไม่ยุติธรรมและน่าละอาย สำนึกตัวว่าประสาทเหลือเกิน

ในขณะนั้นเหมือนเขื่อนพัง ตัวอย่างความดีของพ่อแม่ไหลทะลักเข้ามาในจิตจนตื้นตันใจมาก นี่คือจุดเริ่มต้นของการรู้จักบุญคุณของพ่อแม่ในชีวิตหนุ่มฌอน ชิเวอร์ตัน หนุ่มฌอนคิดต่อไปว่า

ตอนคุณแม่ท้องก็คงลำบาก ในช่วงแรกคงแพ้ท้อง ต่อมาการเดิน การเหิน การเคลื่อนไหวทุกประเภทคงไม่สะดวกไปหมด ปวดเมื่อย แต่ท่านก็ยอม เพราะเชื่อว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นมีความหมาย และความหมายนั้นคือเราตอนเด็ก เราต้องอาศัยท่านหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ทำไมเรารู้สึกเฉยๆ เหมือนกับว่าเป็นหน้าที่ของท่านที่จะต้องให้และเป็นสิทธิของเราที่จะรับ

ต่อมาเลยสำนึกว่า ที่นี่โอกาสปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นที่พึ่งของตน ก็อาศัยที่ว่าคุณพ่อคุณแม่เคยเป็นที่พึ่งอันมั่นคงแก่เราในกาลก่อน ทำให้จิตใจเรามีฐานที่เข้มแข็งพอที่จะสู้กับกิเลสของเราได้ หนุ่มฌอนระลึกบุญคุณของผู้เป็นบิดามารดา

ครั้งหนึ่งหนุ่มฌอนไปอยู่กับชาวเขาในหมู่บ้านเล็กๆ ในเทือกเขานิลคีรี บ่ายวันแรกที่ไปอยู่ หนุ่มฌอนเดินไปอาบน้ำในลำธารห่างออกไปจากหมู่บ้านประมาณสักห้าร้อยเมตร เด็กชาวบ้านนึกสนุกก็เดินตามเป็นแถว พอถึงตลิ่ง หนุ่มฌอนเอาสบู่ออกจากกระเป๋า เด็กๆ ก็ทำหน้างงงวยพูดคุยกันอย่างตื่นเต้น อะไรอะไรเขาถามกันยิ่งเห็นหนุ่มฌอนถูสบู่ เขายิ่งตื่นเต้นใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กผู้หญิง หนุ่มฌอนจึงให้เขาลองถูบ้าง ปรากฏว่าสีผิวเด็กเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัด เขาร้องกรี้ดกัน ไม่แน่ใจว่าชอบหรือชัง เขาอาจคิดว่าเป็นไสยศาสตร์ฝรั่ง ชาวเขาเหล่านั้นไม่เคยรู้จักสบู่ เขาคิดว่าความสกปรกเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องยอมรับเหมือนดินฟ้าอากาศ

คนเราก็เหมือนกันอยู่กับความสกปรกของนิวรณ์ตั้งแต่เกิด เข้าใจว่าเป็นตนเป็นของตน เลยไม่เห็นโทษ ไม่คิดที่จะเช็ดถูจิตพ้นจากวิวรณ์ได้ เมื่อพ้นได้แล้วมีความสุข เหมือนกับคนที่เคยเป็นหนี้ พ้นจากการเป็นหนี้ คนที่เคยเป็นไข้ หายจากการเป็นไข้ คนที่เคยติดคุก พ้นจากคุก คนที่เคยเป็นทาสเขา กลายเป็นอิสระ คนที่เคยหลงทางในที่อัตคัด กันดาร ได้เจอทางกลับบ้าน

จิตที่สงบจากกาม ความขัดเคือง สงบจากความคิดฟุ้งซ่านวุ่นวาย ความลังเลเป็นจิตที่สว่างไสวหนักแน่นและผ่องใสสะอาด เป็นจิตที่ควรแก่งาน เหมือนกับลวดทองแดงที่เขาสามารถดัดให้ให้เกิดประโยชน์ตามความต้องการ จิตใจที่ยังไม่เป็นสมาธิก็ยังแข็งทื่อ จะโน้มไปทางไหนก็ไม่ค่อยอยากไป ไปก็ไปแผล็บเดียวแล้วก็เล็ดลอดไปทิศอื่นๆ จิตใจที่เป็นสมาธิแล้วเชื่อฟัง สติปัญญาจะนำไปคิดในเรื่องใดมันก็ยอม นี่คือความสุข ผู้ที่ได้ความสุขจากสมาธิบางทีไม่ต้องกินข้าวเลย อิ่มธรรมะ อิ่มด้วยความสงบ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าความสุขที่เกิดจากความสงบเป็นสิ่งที่ประเสริฐ และเป็นสิ่งที่ไม่เหลือวิสัยของมนุษย์ มันเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้

ถ้าหากว่าสร้างเหตุสร้างปัจจัยของมัน คือการกระทำต่อเนื่องและสม่ำเสมอโดยไม่คาดหวังในผล แต่ทำอยู่ในปัจจุบันไปเรื่อยๆ ไม่ว่ารู้สึกขยันหรือขี้เกียจก็ตาม เมื่อสมาธิภาวนาเป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่เหลือบ่ากว่าแรง เราก็ควรจะทำ เพราะผลจากการกระทำก็อัศจรรย์จริง นี้ธรรมชาติของเรายังเป็นธรรมชาติมืด ๆ ยังเป็นธรรมชาติที่สร้างความทุกข์ สร้างความเดือดร้อน ทั้งแก่ตัวเราเองและผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมท่านจึงสอนให้เราฝืน ฝืนธรรมชาติอันนี้ไว้ ที่เราปฏิบัติเพื่อความสงบ ปัญญาต้องอาศัยความสงบจึงเกิดขึ้น เริ่มแรกก็ย่อมมีการล้มลุกคลุกคลานเป็นธรรมดา ก็อย่าไปถือว่าการที่เราประสบปัญหาในการปฏิบัติแปลว่าเราไม่เก่ง เราทำไม่ถูก หรือว่าเทคนิคที่เรากำลังใช้นั้นไม่ถูกกับจริตนิสัย อันนี้ก็ไม่ใช่อย่างนั้น แม้ว่าเราจะใช้วิธีปฏิบัติอย่างไรก็ตาม จะหลีกเลี่ยงนิวรณ์ หรือปัญหานี้ไปไม่ได้ การมีปัญหาเป็นความจริงเป็นสัจธรรม เป็นสิ่งที่เราแก้ไขไม่ได้ ปัญหาพื้นฐานนี้สำคัญมาก ต้องรู้ว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่เราต้องแก้ไข สิ่งใดเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ อันนี้คือสัมมาทิฐิในระดับหนึ่ง เพราะถ้าเราหลงยอมรับในสิ่งที่เราควรแก้ไข แต่เราไปแก้ไขสิ่งที่ควรยอมรับ

การปฏิบัติของเราก็คงเป็นหมัน เราก็ไม่ได้ก้าวหน้า ในที่สุดก็ท้อใจ ล้มเลิกการปฏิบัติ ท่าทีหรือความรู้สึกที่เรามีต่อการประพฤติปฏิบัติเป็นสิ่งที่เราควรสำรวจตรวจตราอยู่ตลอดเวลา ด้วยความจริงใจว่าเราปฏิบัติเพื่ออะไร จุดมุ่งหมายของการปฏิบัติคืออะไร ทุกวันนี้ ที่อเมริกาอังกฤษ ยุโรป การภาวนากำลังเป็นแฟชั่น เป็นสิ่งที่คนสนใจกันมาก หนุ่มฌอนได้หันมาปฏิบัติธรรมจิตตภาวนา เป็นช่วงเริ่มต้นชีวิตใหม่คิดใหม่เพื่อตนเอง คนรู้จักเขาว่าหนุ่มฌอนเพี้ยน เขาว่าเป็นคนผิดปกติ ตอนกลางคืนก็ขึ้นไปนั่งสมาธิในห้องนอน แม่ก็เป็นห่วงเรียก ฌอนๆ กำลังทำอะไรอยู่ในความมืดข้างบน ลงมาดูทีวี.เหมือนพวกเราเถอะ

บางทีแม่ก็เป็นห่วงว่าทุกวันนี้ไม่เห็นลูกไปไหนๆ เหมือนแต่ก่อน เอ๊ะ? สาวคนที่เคยชอบไม่เห็นมาสักที เดี๋ยวแม่จะโทรศัพท์ไปเอง ลองดูว่าเขาจะว่างไหม?” หนุ่มฌอนก็บอก ไม่ต้องๆก็เป็นเพราะแม่ไม่เข้าใจ การที่หนุ่มฌอนเริ่มเป็นนักปฏิบัติจนรู้สึกเขินที่เริ่มเป็นนักปฏิบัติ จนไม่กล้าเผยสิ่งที่ตนปฏิบัติกับคนที่ไม่รู้จัก แต่ตัวหนุ่มฌอนก็เปลี่ยนแปลงตัวเองไปมาก

ประสบการณ์ใช่แหล่งปัญญาแท้จริง

ในชีวิตของหนุ่มฌอนเอง เรื่องความสุขและเรื่องปัญญา รู้สึกว่ามีความเกี่ยวเนื่องกันมาตลอด ตอนที่หนุ่มฌอนเร่ร่อนหาประสบการณ์ชีวิตได้เดินทางไปหลายประเทศ อายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี ก็เที่ยว ๒๐ กว่าประเทศแล้ว หาประสบการณ์ ด้วยมีทิฐิคือความเข้าใจหรือความเชื่อว่า ความสุขคือปัญญา และปัญญาเกิดจากประสบการณ์ หนุ่มฌอนเลื่อมใสในคำว่าปัญญาตั้งแต่ยังเด็ก มีความเชื่อเดิมเรื่องความสุขตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ ว่ามันเกิดจากปัญญา เพียงแต่ว่าตอนนั้น ยังไม่เจอคำสอนทางพระพุทธศาสนา ยังไม่รู้ว่าปัญญาคืออะไร นอกจากคิดว่ามีปัญญาเป็นผู้มีพลัง สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง

ตอนเด็กอยากเป็นผู้มีปัญญามาก ชอบนิทานที่พระเอกชนะผู้ร้ายด้วยกลวิธีหลักแหลม มากกว่านิทานที่พระเอกยิงเขาตาย ต่อมาอ่านหนังสือของนักคิดฝรั่ง ก็เกิดความเข้าใจว่าปัญญาเกิดจากประสบการณ์โชกโชน จึงคิดว่า เราอยู่ที่บ้านในชนบท ประสบการณ์มันน้อย กลัวปัญญาจะไม่เกิด ต้องไปผจญภัย ต้องฝ่าฟันอุปสรรคที่ยากลำบากและอันตรายมันถึงจะดี จึงจะเกิดมีปัญญาแล้วมีความสุขหนุ่มฌอนจึงออกจากบ้านเที่ยวระเหเร่ร่อนไป ลองนั่นลองนี่ รู้สึกพอใจว่าได้กำไรทุกวัน ณ ต่างแดนเป็นเวลา ๒ ปี วันหนึ่งหลังจากไม่ได้อยู่บ้านเกือบสองปี หนุ่มฌอนนั่งอ่านหนังสือรวบรวมพระสูตรอ่านแล้วสะดุ้ง ในพระสูตรพระสูตรหนึ่ง พระพุทธรูปองค์ตรัสว่า

พระตถาคตจะสอนเธอทั้งหลายถึงเรื่องทั้งหมด เรื่องทั้งหมดคืออะไร รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เหล่านี้คือทั้งหมดในชีวิตของมนุษย์

หนุ่มฌอนได้ฉุกคิดทันทีสำนึกตัวเลยว่า การหาประสบการณ์ชีวิตของเราเป็นแค่การสะสมสัญญาเท่านั้น ที่เราได้เห็นอะไรๆ แปลกประหลาดหลายอย่าง สิ่งที่สวยงาม เช่นพระอาทิตย์ขึ้นจากยอดภูเขาหิมาลัย พระอาทิตย์ตกที่ทะเลอันดามันสิ่งที่ทั้งน่าเกลียดและน่าสงสาร อย่างเช่น กลุ่มคนพิการขอทานในเมืองกัลกัตตา ฝูงหมาแย่งไส้ของซากเด็กริมแม่น้ำคงคา ฯลฯ

ทั้งหมดที่ได้เห็นมาก็สักแต่ว่ารูปเท่านั้นเอง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่หนุ่มฌอนได้ยิน เช่นเสียงอิหม่ามเรียกชาวมุสลิมไปสุเหร่า ดนตรีอินเดียที่แสนละเอียดลึกซึ้ง เสียงนกยูงร้องหากันในยามพลบค่ำชานหมู่บ้านกลางทะเลทราย

เสียงที่ประทับใจที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนมีเยอะ แต่ทั้งหมดนั้นสักแต่ว่าเสียงเท่านั้นเอง กลิ่นหอมกระสอบเครื่องเทศในตลาด กลิ่นเหม็นควันจากโรงงานในเมืองอุตสาหกรรม ก็สักแต่ว่ากลิ่นเท่านั้น รสอาหารอิหร่าน อาหารตุรกี อาหารอินเดียเหนือ อาหารอินเดียใต้ ก็เป็นแค่รสเท่านั้นเอง ลมฤดูใบไม้ผลิในภูเขาแอลป็โชยลูบไล้ใบหน้า ความแน่นขนัดในรถไฟอินเดีย ฯลฯ ก็สักแต่ว่าโผฏฐัพพะคือความเย็น ร้อน อ่อน แข็งเท่านั้น

ความนึกคิดต่างๆ ความคิดดีคิดชั่ว ความตื่นเต้น ความเบื่อระอา ความกลัว ความกล้า จินตนาการ ก็สักแต่ว่าธรรมารมณ์เท่านั้น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่สัมผัสแล้ว เดี๋ยวนี้สิ่งเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหนกัน หนุ่มฌอนถามตนเองได้คำตอบว่า เหมือนความฝัน เหลือแต่ความทรงจำคือสัญญา

หนุ่มฌอนประจักษ์อยู่กับใจว่า จะไปที่ไหนต่อ ก็ไม่ได้อะไรมากกว่านี้ เที่ยวประเทศไหน ก็คงเห็นแต่ของเก่าคือรูป ได้ยินแต่ของเก่าคือเสียง ได้ดมแต่ของเก่าคือกลิ่น ไปรับประทานอาหารที่ไหน อาหารอินเดีย อาหารเวียตนาม อาหารอะไรก็แล้วแต่รับประทานอะไรลงไปแล้วก็ได้แค่รส ไม่มีอาหารที่ใดในโลกนี้ที่พ้นจากความเป็นรสไปได้ หนุ่มฌอนเริ่มเข้าใจ จึงรู้กว่าการท่องเที่ยวพอแล้ว ปัญญาที่จะได้จากการแสวงหาต่อไปคงยังผิวเผิน ความสุขที่จะได้ก็จะยังกวัดแกว่ง ปัญญาและความสุข ที่ตนต้องการอยู่ภายในมากกว่า

หนุ่มฌอนรู้สึกเหมือนกับคนที่อยู่ในประเทศที่กำลังจะจมน้ำ ซื้อรถเบนซ์ หรือบีเอ็มเพื่อจะหนี รถวิ่งเร็วดี เป็นที่พอใจ แต่เมื่อทราบว่าไปที่ปลอดภัยต้องข้ามทะเล ก็รู้ทันทีว่าพาหนะนี้ใช้ไม่ได้ ยังชมอยู่ว่าเป็นรถเก๋งที่ดี เพียงแต่ว่าไม่ตรงกับความต้องการของตนเท่านั้น เพราะอีกไม่นานน้ำก็จะท่วมถนน รถเก๋งไปไม่ถึง ในการหาความสุขที่แท้จริงของหนุ่มฌอน ได้ข้อคิดว่าต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ต้องหาเรือหรือแพข้ามทะเล

เมื่อผู้คนเห็นว่าความสุขที่ได้จากประสบการณ์คือการสัมผัสกับรูป รส กลิ่น เสียง เหล่านี้ เป็นความสุขที่คับแคบมีขีดจำกัด มีช่วงอายุสั้นมากอย่างนี้ สัมมาทิฐิและฉันทะที่จะหาความสุขที่ประณีตกว่านั้น ที่เลิศประเสริฐกว่านั้นจึงเกิดขึ้น การที่จะเลิกดิ้นรน เลิกกระสับกระส่าย กระวน กระวายกับโลกียสุขขึ้นไม่ใช่ของยากจนเกินไป แต่ผู้ที่ทำได้ คือเห็นข้อบกพร่องของมัน จึงเกิดความต้องการความสุขที่สูงกว่าประณีตกว่าและปราศจากโทษ
พระอาจารย์ชยสาโร (ฌอน ชิเวอร์ตัน) วัดป่าสันติธรรม

หันเหชีวิตสู่มหาวิทยาลัยแห่งสัจธรรม

คุณพ่อของหนุ่มฌอน ชิเวอรตัน มาจากตระกูลที่ยากจนมาก ยังไม่เคยมีใครในตระกูลที่เรียนหนังสือสูง หรือเข้ามหาวิทยาลัย คุณพ่อจึงหวังมากในตัวหนุ่มฌอนซึ่งเรียนหนังสือดี มักจะสอบได้ที่ ๑ ทุกปี พ่อก็มีความหวังว่าหนุ่มฌอนจะได้เข้ามหาวิทยาลัย Oxford ได้ปริญญาเอก ต่อไปได้เป็นศาสตราจารย์ ท่านมีความหวังมาก เป็นความหวังที่สำคัญในหัวใจของท่าน หนุ่มฌอนรู้เรื่องนี้แล้ว แต่ว่าตอนที่กลับไปอังกฤษมีความรู้ดีกว่าคุณค่าของชีวิตอยู่ที่การปฏิบัติธรรม

หลังจาก หนุ่มฌอนได้พลัดพรากจากพระฮินดูองค์นั้น ก็ได้ทบทวนการปฏิบัติเห็นแล้วว่า คำสอนที่ถูกใจหนุ่มฌอนมากที่สุดที่มั่นใจมากที่สุดคือ คำสอนของพระพุทธเจ้า จึงได้พยายามปฏิบัติตามหลักนี้ให้เต็มที่ต่อไป แต่รู้ว่าอยู่เป็นฆราวาสยากที่จะเอาจริงเอาจัง รู้สึกอึดอัดเหมือนกัน ยังไงๆ หนุ่มฌอนรู้ว่าการที่จะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยต่อเป็นไปไม่ได้ แต่เสียใจว่าในขณะที่หนุ่มฌอนได้ซาบซึ้งในบุญคุณของพ่อแม่ และรู้ด้วยว่าสิ่งที่พ่อแม่หวังมากที่สุดจากลูกคือการเข้ามหาวิทยาลัย เป็นสิ่งที่หนุ่มฌอนทำไม่ได้ ทำให้หนุ่มฌอนรู้สึกเป็นทุกข์มาก พอไปถึงบ้านก็พยายามหาโอกาสพูดกับพ่อ เพื่อบอกว่า ผมจะเรียนต่อไปไม่ได้

ในที่สุดก็มีโอกาสแต่พูดไม่ค่อยออก ตะกุกตะกัก อธิบายว่าตั้งใจจะบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา นอกจากทำให้ท่านผิดหวังเรื่องการเรียนหนังสือ มีอีกเรื่องหนึ่งคือ คุณพ่อของหนุ่มฌอนเป็นคนมีอคติต่อศาสนา ท่านมีความเห็นว่าศาสนาคริสต์เป็นกาฝากของสังคม เป็นยาเสพติดของประชาชน เป็นของหลอกลวง แล้วท่านเหมาเอาว่าศาสนาทุกศาสนาเหมือนกัน ลูกจะออกจากโลกบวชเป็นพระ จึงเป็นสิ่งที่ขัดใจท่านมากเหมือนกัน แต่หนุ่มฌอนลองอธิบายให้ท่านฟัง ฟังแล้วท่านบอกว่า

เรื่องพระพุทธศาสนานี้พ่อไม่เคยศึกษาไม่รู้เรื่อง แต่ว่าสิ่งที่พ่อต้องการมากที่สุดคือต้องการให้ลูกมีความสุข ถ้าลูกเห็นว่าบวชเป็นพระแล้วจะมีความสุขพ่อก็พอใจแล้ว

หนุ่มฌอนรู้สึกว่าน้ำตาจะไหลนองอาบแก้ม ต้องขอตัวออกจากห้อง

วันนั้นเป็นวันที่หนุ่มฌอนเข้าใจเรื่องความรัก ความรักที่แท้จริง เห็นพ่อสามารถเสียสละความหวัง ความต้องการของตัวเองโดยไม่ได้หวังอะไรเลย นอกจากปรารถนาให้ลูกมีความสุข วันนั้นเป็นวันสำคัญมากในชีวิตของหนุ่มฌอน ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมารู้สึกว่าความเคารพรักในคุณพ่อเพิ่มขึ้น ทวีขึ้นอย่างมาก และหนุ่มฌอนก็ได้ความเข้าใจเรื่องความรักด้วยว่า ความรักนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีเงื่อนไข เป็น ความรักที่ไม่มีตัณหา หรือความต้องการใดๆ เข้าไปแอบแฝง เป็นความรักที่ไม่ต้องการอะไรตอนแทน มีแต่จะให้ ไม่มีความคิดว่าจะเอา

ต่อมาเมื่อหนุ่มฌอนได้มาศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้ามากขึ้น โดยเฉพาะคำสอนเกี่ยวกับเรื่องเมตตา ทำให้เข้าใจเรื่องนี้ละเอียดขึ้น เมตตาเป็นความรักที่ประกอบด้วยธรรมะ เป็นความรักที่สม่ำเสมอในสรรพสัตว์ทั้งหลาย บางทีเราอาจเคยสังเกตตัวเองว่า การที่เราจะสงสารคนอื่นๆ ที่ประเทศอื่นๆ หรือคนที่เราไม่เคยได้พบเป็นสิ่งที่ง่าย แต่คนที่เราเมตตายากที่สุดคือคนที่อยู่ใกล้ชิด เพราะคนเหล่านี้แหละที่ทำให้เราหนักใจ ที่มีการกระทำและการพูดที่กระทบกระเทือนเราบ่อย ๆ

ฉะนั้น การแผ่เมตตาของคนทั่วไปมักจะเป็นไปในทำนองที่ว่า ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายมีความสุข ความสุขเถิด เว้นแต่คนนั้นต้องมีเว้นแต่ เว้นแต่คนที่หนาด้วยกิเลส คนที่เราไม่ชอบแต่นี่ไม่ใช่เมตตา เมตตาที่แท้จริงย่อมไม่มีความเลือกที่รักมักที่ชัง

เรื่องความรักนี้เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตของฆราวาสทุกคน บางคนถึงกับเอาเป็นสรณะที่พึ่งของชีวิต ซึ่งมักจะทำให้ชีวิตประสบความทุกข์ระทมบ่อยๆ รักได้ไม่เป็นไร ไม่ผิดศีลไม่ผิดอะไร แต่พุทธศาสนาสอนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตต้องประกอบด้วยธรรมะ ต้องยอมรับความจริง เราต้องพยายามพิจารณาทุกเช้าทุกเย็นว่าเราต้องมีความพลัดพรากจากคนที่เรารัก ทุกคน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เราไม่ตายจากเขา เขาก็ต้องตายจากเรา อันนี้ไม่ใช่เรื่องทำให้เรารู้สึกกลุ้มใจหรือเศร้าใจ แต่เป็นการเปิดใจให้กว้างออกไปรับความจริง ซึ่งปกติเราชอบพยายามประคับประคองอารมณ์ที่สบายของเราไว้โดยการกลบเกลื่อน ความจริงบางแง่บางมุมบางประการคือสิ่งที่เราจะลดรสชาติของอารมณ์นั้น เพราะว่าธรรมชาติของคนเรานี้ ชอบเพลิดเพลินในอารมณ์ เพลิดเพลินในความรัก แต่ถ้าเราเพลิดเพลินในสิ่งใดแล้วความเพลิดเพลินนั้นแหละ เป็นความยืดมั่นถือมั่น เกิดภพ เกิดชาติ เกิดความไม่มั่นคง เกิดความหวั่นไหว เพราะว่าอารมณ์ทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ผู้ยึดมั่นในอารมณ์ย่อมฝืนธรรมชาติไม่ให้เปลี่ยนแปลง แต่มนุษย์เราจะสู้ธรรมชาติไม่ได้ มันเป็นการฝืนที่ลมๆ แล้งๆ เป็นการฝืนที่จะทำให้รู้สึกระทมขมขื่น รู้สึกเซ็ง หมดหวัง สิ้นหวัง

นักปฏิบัติผู้ปรารภธรรมะจะคำนึงถึงความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เสมอ สำนึกรู้ในโทษของการไม่ยอมรับความจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง รู้ว่ายึดมั่นในสิ่งที่ไม่เที่ยงหรือไร ก็ต้องเป็นทุกข์ทันที คิดอย่างนี้ได้ความรักมันไม่หาย และความรักของเราไม่ใช่ว่ามันจะจืดชืดหมดรสชาติ แต่จะเป็นความรักที่สุกงอม เป็นความรักของผู้ใหญ่ ความรักไม่มีโทษอะไร เรื่องความรักนี้จะต้องสังเกตว่ามันจะเปลี่ยนสภาพตามความรู้ และความเข้าใจในธรรมะของผู้รัก หมายความว่าถ้าเราไม่มีสติปัญญา เป็นที่พึ่งภายในใจ ไม่มีตัวผู้รู้คอยคุ้มครองการดำเนินชีวิต คอยดูแลสิ่งที่เราทำ คำที่เราพูด เราย่อมมีความรู้สึกขาดความมั่นคงซึ่งจะอยู่ลึกๆ ในใจตลอดเวลา รู้สึกว่าขาดอะไรสักอย่าง มีความรู้สึกอย่างนี้แล้ว เรามักจะพยายามลบความรู้สึกนี้โดยความรัก จึงแสวงหาความรักอย่างดิ้นรน กระสับกระส่าย กระวน กระวาย

ความรักของเรานั้นจะประกอบด้วยความเห็นแก่ตัว เพราะเกิดความอยาก แต่ผู้มีที่พึ่งภายในแล้ว มีความมั่นคงภายในใจแล้วจะมีความรู้สึกพอดี ไม่มีอะไรขาดไม่มีอะไรเกินพอดี ๆ ผู้ที่รู้สึกพอดีนั่นและสามารถให้ความรักด้วยความอิสระ มีความรู้สึกไวต่อคนอื่น ต่อความต้องการของเรา ความกลัว ความวิตกกังวลของเขา สามารถสังเกตเห็นสิ่งแวดล้อมหรือบุคคลรอบข้างอย่างลึกซึ้ง เพราะเดี๋ยวนี้คนเราก็พอแล้ว ไม่มีความห่วงอะไร จิตที่เต็มไปด้วยธรรมะแล้วเป็นจิตที่สร้างสรรค์มาก เพราะว่าไม่มีอะไรบกพร่อง พร้อมที่จะช่วยคนอื่นได้ พร้อมที่จะให้ความรัก โดยไม่หวังอะไรตอบแทน คือ เขาจะรักหรือไม่รักเรื่องของเขา แต่ว่าเราจะให้เราพอใจกับการให้ แต่ไม่มีความต้องการในความรักเพื่อแก้ความรู้สึกเปล่าเปลี่ยวหรือว่างเปล่าในใจของตัวเอง มีธรรมะเป็นที่พึ่ง ความรักเป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่ธรรมะเป็นที่พึ่งได้ ธรรมะเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตมนุษย์ เราต้องพยายามเป็นผู้รู้จักฝึกอบรมตัวเอง รู้จักปกครองตัวเอง ถ้าเราปกครองตัวเองไม่ได้ มันยากที่จะหลีกเลี่ยงความบกพร่อง

ฉะนั้น ให้บริหารตัวเองด้วยการสอดส่องดูแลการกระทำ การพูด ความคิดของตัวเอง สร้างตัวรู้ขึ้นมาภายใน ตัวผู้รู้นี้จะเป็นเหมือนพี่เลี้ยงหรือกัลยาณมิตรติดตัว ไปที่ไหนมันจะคอยชี้แนะตักเตือน เวลาจะพูดโกหก พูดซุบซิบนินทา จู้จี้ขี้บ่น ตัวผู้รู้จะไม่พอใจ ตัวผู้รู้จะ เฮ่ยแต่คำว่า เฮ่ย ประกอบด้วยเมตตาเตือนว่า ไม่ได้นะ พูดอย่างนี้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เป็นการเบียดเบียน อย่าไปทำเลย เวลาเราคิดหมกมุ่นในกาม คิดปองร้าย คิดอาฆาตพยาบาท คือ แก้แค้น หรือคิดเอารัดเอาเปรียบ ตัวผู้รู้จะร้อง เฮ่ย? หยุด”; เราต้องมีการหยุด ต้องมีการเลิก พวกเราเคยฟังคำเหล่านี้บ่อย หยุด ละเลิก อะไรอย่างนั้น แต่ฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นคำห้วน ไม่ไพเราะ ค่อนข้างแสลงหู แต่ว่าการเลิก การหยุด การละ การวางนี้ เป็นไปเพื่อความสุข ความสุขในโลกนี้มีหลายประเภท

ถ้าเราไม่มีความกล้าหาญที่จะสละความสุขที่มีปริมาณน้อยหรือความสุขที่ไม่บริสุทธิ์ เราจะไม่มีสิทธิ์ที่จะก้าวไปถึง หรือบรรลุความสุขที่สุขุมและบริสุทธิ์ เหมือนกับว่าเราอยู่ในห้องนี้ เราก็เข้าห้องโน้นไม่ได้ จะอยู่ทั้งสองห้องก็ไม่ได้ ต้องเลือก ให้สังเกตและยอมรับความจริงของธรรมชาติว่า การมัวเมาสยบในความสุขทางเนื้อหนัง เป็นการปิดโอกาสที่เราจะเข้าถึงความสุขที่เลิศกว่า ฉะนั้น ต้องพิจารณาว่าความสุขอย่างไรมีความสำคัญ อันไหนที่มีคุณค่าแก่ชีวิต

ในการวิเคราะห์ความสุขประเด็นสำคัญอยู่ที่ความไม่เที่ยงเราติดในโลกียสุขตอนเป็นหนุ่มเป็นสาว เมื่อเราแก่ลงเราจะรู้สึกเหมือนชีวิตเป็นดอกไม้เฉาหรือต้นไม้กรำแดด จะกลุ้มใจว่าชีวิตของคนแก่นไม่มีความหมาย เพราะว่าเราเคยยึดมั่นถือมั่นในความสุขทางเนื้อหนังว่า เป็นสิ่งที่ให้ความหมายแก่ชีวิต แต่ตอนนี้กำลังตาฟาง หูไม่ค่อยได้ยิน นั่งลงก็ โอ๊ยลูกขึ้นก็ โอ๊ย กินข้าวก็ไม่อร่อย ไม่มีอริยทรัพย์เป็นที่พึ่งภายใน เลยทุกข์ เสียตายอดีต กลัวอนาคต ใจเหี่ยวแห้ง ผู้หญิงเลยหันเข้าหาวัด ผู้ชายหันหาเมียน้อย ทั้งสองก็ไม่ค่อยได้เรื่อง แต่ถ้าเราเอาความสุขที่เกิดจากคุณงามความดีเป็นจุดมุ่งหมายในการดำเนินชีวิต ความสุขนี้เรามีโอกาสเข้าถึง มีโอกาสที่จะเสวยตลอดชาติ แล้วเป็นความสุขที่เยือกเย็น เป็นความสุขที่เกิดขึ้นในจิตใจของเราแล้ว และแผ่ไปมีผลต่อคนรอบข้างด้วย คือการช่วยคนอื่น อยู่ที่เรา คุณธรรมภายในมีความสงบ มีความสุขภายใน

ภายหลังจากที่หนุ่มฌอนกลับจากการแสวงหาประสบการณ์ด้วยเชื่อว่าประสบการณ์นั้นคือ แหล่งปัญญาก็ได้มาปฏิบัติที่บ้านในเขตนั้น มีสำนักวิปัสสนาอยู่สำนักหนึ่งอยู่ห่างจากบ้านหนุ่มฌอนไปอีก ก็ได้ทราบข่าวถึงกิตติศัพท์ของอาจารย์รูปหนึ่ง สอนเกี่ยวกับสมาธิปัญญา วิปัสสนา หนุ่มฌอนจึงได้เดินทางไปศึกษาปฏิบัติธรรมภาวนาด้วยภายหลัง ก็ได้ทราบว่า ชาวตะวันตก (ฝรั่ง) นั้นสามารถบวชเป็นพระให้หนุ่มฌอนฟัง หนุ่มฌอนได้ฟังก็เกิดความศรัทธา คิดอยากจะบวชเต็มกำลัง จึงไปขออนุญาตจากคุณพ่อเพื่อขอออกบวช ครั้งแรกหนุ่มฌอนคิดว่า ท่านจะไม่พอใจ แต่คุณพ่อท่านกลับบอกว่า

สิ่งที่พ่อต้องการมากที่สุดคืออยากให้ลูกมีความสุข ถ้าลูกบวชพระแล้วมีความสุขพ่อก็พอใจ"

ความคิดของหนุ่มฌอนอาจจะรู้สึกขัดแย้งกับคนทั่วไปในการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ คือหลายคนเข้าใจว่า พ่อแม่สอนอย่างไร ลูกทุกคนต้องทำอย่างนั้น แต่ถ้าพ่อแม่ชวนเรากินเหล้า ชวนเล่นการพนัน ถ้าเราไม่ทำตามเราจะเป็นลูกเนรคุณไหม คือพ่อสามีที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา ห้ามเราทำตาม ห้ามเราบวช ห้ามเราปฏิบัติ หากเราทำ จะถูกต้องไหม? หนุ่มฌอนพิจารณา เห็นว่าบุพการีสูงสุดคือพระพุทธเจ้า ถ้าคำสั่งสอนของพ่อแม่ขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็เอาคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก

การตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ที่สูงสุด พระพุทธองค์สอนว่า พ่อแม่ที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีศีล ไม่ทำทาน ไม่มีจาคะ ไม่มีปัญญา ถ้าเราสามารถให้พ่อแม่มีศีล มีปัญญา มีจาคะ เป็นการตอบแทนที่สูงสุด ถ้าเราสามารถนำพาท่านเข้ามาศาสนาธรรม ให้มีศรัทธาตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้มีการทำทานรักษาศีล เจริญภาวนาเป็นการตอบแทนที่สูงสุด

เดินทางอุปสมบทเป็นชยสาโรภิกขุ

พอดีในช่วงสมัยนั้นหนุ่มฌอนก็ได้ทราบข่าวถึงกิตติศัพท์ ชื่อเสียงของ ท่านพระอาจารย์สุเมโธ หนุ่มฌอนจึงได้ไปขอบวชเป็นผ้าข้าวถือศีล ๘ (โกนผม) ปฏิบัติธรรมที่วัดของท่านพระอาจารย์สุเมโธ พำนักปฏิบัติธรรมอยู่ประมาณ ๔-๕ เดือน หนุ่มฌอนก็เกิดความเลื่อมใสยิ่งนักในการปฏิบัติ ด้วยการอบรมธรรมจากพระอาจารย์สุเมโธ ด้านการภาวนาท่านสุเมโธได้อบรมลูกศิษย์ตามหลักของ หลวงปู่ชา สุภัทโท โดยการฝึกอานาปาณสติ ดูลมหายใจ ใช้องค์บริกรรม พุท-โธ เป็นหลักเพื่อเตือนให้สติมีหลักยึด

ในช่วงสมัยนั้น ท่านพระอาจารย์สุเมโธ ยังมิได้เป็นพระอุปัชฌาย์ หนุ่มฌอนจึงได้กราบขออนุญาตท่านสุเมโธภิกขุ เดินทางมายังประเทศไทย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่หนุ่มฌอน เดินทางมาเมืองไทย ด้วยจุดมุ่งหมายแห่งความศรัทธา ต้องการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านั้น หนุ่มฌอนก็เคยเดินทางไปยังประเทศต่างๆ หลายประเทศเกือบ ๒๐ ประเทศทั่วโลก ได้ไปสัมผัสชีวิตผจญภัย เสี่ยงชีวิตอย่างโชกโชน เพราะคิดว่าปัญญานั้นเกิดจากประสบการณ์ แต่ความจริงหาใช่เป็นเช่นนั้น ประสบการณ์นั้นเป็นเพียงสัญญาเท่านั้น

หนุ่มฌอนมาถึงเมืองไทยก็ได้มาปฏิบัติธรรมถือศีล ๘ บวชเป็นผ้าขาว ณ วัดหนองป่าพง ประมาณ ๖ เดือน จากนั้นจึงได้บรรพชาเป็นสามเณรฌอน ชิเวอร์ตัน ณ วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ในช่วงที่เดินทางมาถึงเมืองไทย สามเณรฌอนก็ได้เริ่มศึกษาเรียนรู้หัดอ่านสามารถพูดฟัง ภาษาไทยเขียนภาษาไทยได้อย่างชัดเจนถูกต้อง ดังในปัจจุบัน

สามเณรฌอน ชิเวอร์ตันบรรพชาเป็นสามเณรได้เกือบหนึ่งปี จนมีอายุ ๒๒ ปี จึงได้ทำการอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระบวรพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๓

โดยมี ท่านเจ้าคุณพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภัทโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอนุสาวนาจารย์ คือ ท่านพระอาจารย์บุญชู ณ อุโบสถวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ได้รับฉายาในทางพระพุทธศาสนานาม ชยสาโรภิกขุ

ก็ไปพำนักอยู่ปฏิบัติธรรม ณ วัดหนองป่าพง ในพรรษาที่๑ สลับหมุนเวียนในแต่ละพรรษา บ้างก็มาจำพรรษา ณ วัดป่านานาชาติ พรรษาต่อมาก็ไปจำพรรษาตามวัดสาขาของวัดหนองป่าพง

พอออกพรรษาในแต่ละปี หรือในช่วงกาลสมควร ท่านพระอาจารย์ชยสาโร (พระฌอน ชยสาโร) ก็จะเดินทางมา ณ วัดหนองป่าพง เพื่อมาฟังโอวาทฉละอยู่ปฏิบัตฺธรรมฟังฮูบายธรรมจากพระเดชพระคุณท่านหลวงปู่ชา สุภัทโท พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานฝ่ายมหานิกาย ที่มีข้อวัตรปฏิบัติตามพระวินัย ผู้ปฏิบัติ ดีปฏิบัติชอบ (หลวงปู่ชา สุภัทโทเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เพา พุทธสโร วัดเขาวงกฎ พอถึงพรรษาที่ ๘ หลวงปู่ชา สุภัทโท ได้ทราบข่าวการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ว่าเป็นผู้มีคุณธรรมสูง ชำนาญด้านวิปัสสนา ขณะนั้นหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จำพรรษาที่วัดบ้านหนองผือนาใน จังหวัดสกลนคร หลวงปู่ชา สุภัทโท จึงได้เดินทางเข้าไปกราบนมัสการ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อีกครั้งหลังจากที่ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตก่อนหน้านี้ เพื่อเรียนถึงผลการปฎิบัติตามความเป็นจริงทุกประการที่หลวงปู่มั่นสอบถาม ต่อมาหลวงปู่ชา สุภัทโท มาพักอยู่ที่วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒๙เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๖ สร้างสำนักสาขามากมายทั้งในและต่างประเทศ

ภายหลังท่านมรณภาพปรากฏว่า กระดูกของหลวงปู่ชา สุภัทโท ได้แปรเป็นพระธาตุ อันแสดงถึงผลแห่งการได้บรรลุธรรม

พระอาจารย์ฌอน ชยสาโรหรือท่านชยสาโรภิกขุ อยู่พำนักปฏิบัติธรรมกับท่านหลวงปู่ชา สุภัทโท ก็ได้รับฟังโอวาทธรรมอุบายอันแยบยลจากหลวงปู่ชา สุภัทโท จะเน้นหนักให้ลูกศิษย์ของท่านทำความเพียรให้มาก นั่งสมาธิให้มาก เดินจงกรมให้ มาก ส่วนจริตอุบายธรรมของแต่ละรูป ท่านหลวงปู่ชา สุภัทโท จนได้รับคำแนะนำอุบายธรรมปัญญาเพื่อพิจารณาแตกต่างกันออกไปช่วงหนึ่งขณะเป็นฆราวาส มีโอกาสไปปฏิบัติอยู่กับท่านพระอาจารย์สุเมโธ ท่านพระอาจารย์สุเมโธ ท่านได้เล่าประสบการณ์ของท่านในระหว่างอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ชา สุภัทโท ให้คณะศิษย์ได้ฟัง ท่านอาจารย์สุเมโธท่านเป็นพระฝรั่งองค์แรกที่ไปอยู่กับหลวงปู่ชาที่วัดหนองป่าพง ตอนที่ท่านไปอยู่ใหม่ๆ นั้นท่านพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ แล้วภาษาอีสานก็พูดไม่ได้เลย

สมัยนั้นหลวงปู่ชายังแข็งแรงอยู่ ในการประชุมสงฆ์ตอนเย็นพอทำวัตรเสร็จแล้ว หลวงปู่ชามักจะเทศน์ เทศน์สองชั่วโมงสามชั่วโมง สี่ชั่วโมง แล้วเทศน์เป็นภาษาอีสานด้วย ท่านพระอาจารย์สุเมโธรู้สึกว่าเป็นการทรมาน แล้วท่านก็หงุดหงิดด้วย ไม่พอใจด้วยเพราะว่าท่านรู้สึกในใจว่า

เราได้อุตส่าห์เดินทางมาไม่รู้กี่พันกิโล เพื่อจะพ้นจากความทุกข์ เดี๋ยวนี้มีศรัทธาแรงกล้า อยากนั่งสมาธิมากๆ เดินจงกรมมากๆ อยากจะทำความเพียรมากๆ ก็ซาบซึ้ง แต่เราไม่ซาบซึ้ง บางทีพระองค์อื่นๆ ก็หัวเราะ แต่เราไม่หัวเราะ เพราะเราไม่เข้าใจ

ท่านพระอาจารย์สุเมโธ ท่านนั่งคิดว่า ทำไมหลวงปู่ไม่อนุญาตให้เรากลับกุฏิ ถ้าเรากลับกฏิจะได้นั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้างทำให้ปัญญาเกิด”.

เมื่อท่านพระอาจารย์สุเมโธคิดอย่างนี้แล้ว ท่านก็ร้อนอยู่ในใจตลอดสองชั่วโมง สามชั่วโมง ทุกวันๆ ท่านบอกว่า บางครั้งท่านนั่งด้วยความโกรธ ด้วยความไม่พอใจ ทั้งสองสามชั่วโมง โกรธหลวงปู่ ทำไมหลวงปู่ไม่อนุญาตให้เราไปทำความเพียรข้างนอก ทำไมบังคับให้เรามานั่งอย่างนี้

วันหนึ่งหลวงปู่ชาเทศน์จบแล้ว หลวงปู่ชาหันหน้าไปมองพระอาจารย์สุเมโธ ยิ้มด้วยความเมตตากรุณา ถามด้วยความเอ็นดูว่า เป็นยังไงสุเมโธ ทนได้ไหม?

พอหลวงปู่ชาพูดอย่างนี้ความโกรธที่อยู่ในหัวใจของท่านพระอาจารย์สุเมโธใหญ่เท่าภูเขาพังหมดเลยทันที ท่านก็เลยสังเกตว่า แต่ก่อนเวลาเรากำลังโกรธนั้น เหมือนกับเป็นของจริงของจัง แต่พอหลวงปู่หันหน้ามาพูดกับเราแค่ประโยคเดียว รู้สึกว่ามันหายทันที ก็น่าอัศจรรย์เหมือนกัน

ท่านพระอาจารย์สุเมโธ ได้ข้อคิดว่า เราเป็นคนใจร้อน สมัยเป็นคฤหัสถ์เราเคยเป็นคนใจร้อน มาอยู่ในวัดเราก็ยังเป็นคนใจร้อนแต่ก่อนเราใจร้อนในการที่จะได้นั่นได้นี่ทางโลก เดี๋ยวนี้เราก็ใจร้อนที่จะได้นั่นได้นี่ทางธรรม นิสัยใจร้อนนี้เป็นนิสัยที่ไม่ดี ไม่เป็น

ความพอดี แล้วก็ไม่ใช่ธรรมะ

ทีนี้แม้เราไม่สามารถที่จะเจริญสมถกรรมฐานอย่างละเอียดในขณะที่เราฟังเทศน์อย่างนี้อย่างน้อยเราก็สามารถสู้กับความใจร้อนของเราได้ เป็นโอกาสที่จะฝึกให้มีความอดทน ต่อจากนี้ไป เราจะฟังเทศน์ไม่ขัดเคือง ไม่ปล่อยจิตให้เกิดความโกรธ ไม่ลุอำนาจต่อโทสะ แล้วเราจะอดทนหลังจากนั้นท่านพระอาจารย์สุเมโธ พยายามใช้เวลาฟังเทศน์เป็นเวลาสร้างความอดทน แล้วท่านรู้สึกว่าความทุกข์ก็จางไปโดยลำดับ

พระอาจารย์ชยสาโร อยู่วัดหนองป่าพงใหม่ๆ หลวงปู่ชาสอนว่าความสบายมี ๒ อย่างคือ ความสบายที่เป็นไปเพื่อความสบาย และความสบายที่เป็นไปเพื่อความไม่สบาย บางทีเราต้องผ่านความไม่สบายก่อน เราจึงจะได้ความสบาย ที่มีคุณค่าเพราะความสบายบางอย่าง ถึงไม่ว่าจะให้ความสุขในปัจจุบันแต่ก็ก่อให้เกิดความไม่สบายอยู่ในอนาคต ที่พระพุทธรูปองค์สอนให้พวกเรามุ่งลดละตัณหา เพราะว่าตัณหาทำให้เราโง่ ทำให้เรามองอะไรไม่เป็นตามความเป็นจริงของมัน หากเราอยากได้สิ่งใดแล้ว จิตใจจะมองข้ามทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ดีไม่งามในสิ่งนั้นออกไป เราจะไม่ยอมคิด ไม่ยอมพูด ไม่ยอมรับรู้ในส่วนที่ไม่ตรงกับความอยากของเรา ถ้าเรามีความเกลียดหรือโกรธ หรือไม่ชอบสิ่งใด เราจะไม่อยากรับรู้หรือพูดในสิ่งดีสิ่งงามในสิ่งนั้น นี้ก็เป็นโทษของตัณหาทำให้จิตใจคิดไม่รอบคอบ มองเฉพาะสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของตน

เรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมก็เป็นตัวอย่างที่ดี เราอาจจะทำลายธรรมชาติ เพื่อความสุขความสบายอยู่ในขณะปัจจุบันหรืออาจจะทำเพื่อลูกเพื่อหลานของเราก็ได้ โดยลืมเสียว่าลูกของเราหลานของเราก็จะมีลูกมีหลานเหมือนกัน การสงเคราะห์ลูกหลานของเรา อาจเป็นการเบียดเบียนลูกของลูกๆ ที่ยังไม่เกิด ผู้มีปัญญาไม่ได้คิดเฉพาะผู้ที่เกิดแล้ว ต้องคิดถึงคนที่ยังไม่ได้เกิดด้วย ซึ่งทุกวันนี้รู้สึกว่าจะมีน้อยคนที่จะคิดอย่างนี้


ข้อมูลอ้างอิงจาก : dharma-gateway.com

 

Top