ประวัติ พระแม่ทุรคา (ทุรกาเทวี) - (เทวีแห่งพละกำลัง การสู้รบ และความกล้าหาญ) - webpra

พระแม่ทุรคา (ทุรกาเทวี)

ประวัติ (เทวีแห่งพละกำลัง การสู้รบ และความกล้าหาญ)

 

พระแม่ทุรคา
เทวีแห่งพละกำลัง การสู้รบ และความกล้าหาญ

พระแม่ทุรคา หรือ พระแม่ทุรกาเทวี

พระแม่ทุรคา หรือ พระแม่ทุรกา เป็นอีกปางหนึ่งของ พระแม่อุมาเทวี ที่อวตารมาปราบอสูรชื่อ มหิษาสูร นับว่าเป็นปางที่สำคัญและยิ่งใหญ่ไม่น้อยไปกว่าปาง พระแม่กาลี มีความเหี้ยมหาญ แข็งแกร่ง มีพละกำลังมาก แต่ไม่ดุร้ายน่ากลัวเท่ากับปางพระแม่กาลี เมื่อบูชาพระแม่ทุรคาอย่างสม่ำเสมอ พระองค์จะประทานพรด้านความกล้าหาญ ชนะศัตรูรอบทิศ การมีบริวาร มีความยุติธรรม ตลอดจนการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

 

วิธีแยกความแตกต่างระหว่าง พระแม่อุมา กับ พระแม่ทุรคา

พระแม่อุมาเทวี กับ พระแม่ทุรคาเทวี มีลักษณะหน้าตาคล้ายคลึงกัน ทำให้มีผู้สับสน เข้าใจผิด หรือมองสลับกันเสมอๆ โดยเฉพาะในงานภาพเขียน รูปบูชาของอินเดีย มักจะมีการวาดให้คล้ายๆกัน จึงขอแนะนำข้อสังเกตเบื้องต้นง่ายๆ ดังนี้
- พระแม่อุมา รูปภาพส่วนใหญ่จะวาดให้ทรงพาหนะ เสือ (ส่วนน้อยจะเป็นสิงโต)
- พระแม่ทุรคา รูปภาพส่วนใหญ่จะวาดให้ทรงพาหนะ สิงโต (ส่วนน้อยจะทรงพาหนะเสือ)

แต่ถ้าหากในรูปภาพนั้นไม่ได้ทรงพาหนะใดๆ
ให้สังเกตที่ พระกร-พระหัตถ์ (แขนและมือ) ที่ทรง ศาสตราวุธ (อาวุธ) ดังนี้
- พระแม่อุมา มักมี 4-8 พระกร หากปรากฎคู่กับพระศิวะไม่ค่อยมีศาสตราวุธใดๆ จะเป็นลักษณะประทานพรหรืออุ้มพระพิฆเนศและพระขันทกุมาร
- พระแม่ทุรคา มักมีมากกว่า 8,10,12,16 พระกรขึ้นไป ทรงศาสตราวุธครบถ้วน
และมักจะมีอสูรที่ชื่อ มหิษาสูร ที่กำลังถูกพระแม่ทุรคาใช้ ตรีศูล (อาวุธสามง่าม) หรือ ดาบ แทงอยู่ด้วย จิตรกรไม่นิยมวาดให้พระทุรคาปรากฎคู่กับพระศิวะ

พระแม่ทุรคา หรือ พระแม่ทุรกาเทวี

การปฏิบัติ "จักรัน"

พิธีกรรมสำคัญเพื่อบูชาพระแม่ทุรคานั้น เรียกว่าพิธี "จักรัน" คือการบูชาพระแม่ทุรคาด้วยการ สวดภาวนาตลอดคืน นิยมปฏิบัติกันมากในอินเดียเหนือ เช่น เมืองปัญจาบ ฮัรยาน เดลฮี ฯลฯ การปฏิบัตินั้นมีข้อปลีกย่อยแตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น สำหรับวิธีปฏิบัติจักรันเบื้องต้น คือ
1. เริ่มจากสวดบูชาพระพิฆเนศ
2. ยืน หรือ นั่ง ต่อหน้าองค์เทวรูปหรือรูปภาพพระแม่ทุรคา แล้วสวดบูชาด้วยมนต์พระแม่ทุรคาบทใดบทหนึ่ง
3. สวดบูชาด้วยมนต์ โอม อีง ฮรีง กลีง จามุนดาเย วิชเช โอม หรือมนต์อื่นๆของพระทุรกาต่อเนื่องจนถึงเช้า

การปฏิบัติเช่นนี้ ก็เพื่อเป็นการภาวนาถึงพระแม่ทุรคาและขอพรจากพระองค์ สามารถเลือกทำได้ในวันที่ว่าง ถือเป็นการบำเพ็ญตบะอย่างหนึ่ง เพื่อฝึกความอดทน ทรมานกายด้วยการอดนอนให้ได้ข้ามคืน

ผู้ศรัทธายังสามารถเพิ่มกิจกรรมระหว่างการสวดบูชาจักรันได้ เช่น
- เดินวนรอบเทวรูปพระแม่ทุรคา 1 รอบต่อการสวด 1 จบ
- เดินหมุนรอบตัวเอง 1 รอบต่อการสวด 1 จบ
- นับลูกประคำ 1 เม็ดต่อการสวด 1 จบ
- นับก้านธูป 1 ดอกต่อการสวด 1 จบ
- นับกำยาน 1 อันต่อการสวด 1 จบ
- นับดอกไม้ 1 ดอกต่อการสวด 1 จบ
- เด็ดกลับดอกกุหลาบหรือดอกอื่นๆ 1 กลีบต่อการสวด 1 จบ
- ก้มกราบ 1 ครั้งต่อการสวด 1 จบ ฯลฯ
นักบวชและโยคีที่ประกอบพิธีนี้ จะเริ่มภาวนาต่อพระแม่ทุรคาตั้งแต่พระอาทิตย์ตกดิน ไปจนถึงพระอาทิตย์ขึ้นในรุ่งเช้าของอีกวัน

ข้อแนะนำเกี่ยวกับการประกอบพิธีจักรัน
การสวดภาวนาเพื่อประกอบพิธีจักรัน และได้ทำกิจกรรมระหว่างการสวดด้วย เช่น การก้มกราบทุกๆ ครั้งที่สวดมนต์ได้ 1 จบ หรือการเดินหมุนรอบตัวเอง ฯลฯ หากกระทำต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมง อาจทำให้หน้ามืด เป็นลม ส่งผลเสียต่อสภาพร่างกายได้ ควรเริ่มจากการปฏิบัติแต่น้อย อาจจะเป็นเพียงคืนละ 1 ชั่วโมง หรือครั้งละ 108 จบ...500 จบ...1,000 จบ ค่อยๆเพิ่มระยะเวลาให้นานขึ้น จนสามารถภาวนาได้ถึงเช้าวันใหม่ การสวดนั้นควรสวดภาวนาให้ช้าๆ สงบ นิ่ง และเนิ่นนาน... สามารถจุดเทียน ธูป กำยาน เพื่อให้แสงไฟและกลิ่นหอมโน้มนำจิตใจให้เข้าสู่สมาธิได้ดียิ่งขึ้น

ในช่วงแรกควรมีน้ำดื่มไว้ข้างกายเพื่อจิบแก้กระหาย หากปวดเมื่อยก็ควรเปลี่ยนอิริยาบทท่าทางตามสบาย เพื่อป้องกันความเครียดที่จะเกิดขึ้น และในระหว่างการสวดภาวนา

***ข้อพึงระวังเมื่อปฏิบัติจักรัน***
หากมองเห็นภาพหรือนิมิตที่แปลกประหลาดเกิดขึ้นในจิตหรือในภวังค์ ก็ขอให้ตั้งสติให้ดี ไม่ว่าจะน่ากลัวเพียงใด จงอย่าหุนหันลุกขึ้นวิ่งหนี มิฉะนั้น กายทิพย์จะแตก ส่งผลร้ายต่อสติ ให้ทำใจแข็งค่อยๆลืมตาขึ้น แล้วสวดภาวนาว่า "โอม ศานติ ศานติ ศานติ" เพื่อแผ่เมตตาและปรับจิตใจให้คืนสู่สภาพปกติ หากนิมิตแปลกประหลาดนั้นยังคงเกิดขึ้นอยู่และรบกวนจิตใจอย่างต่อเนื่อง ควรหยุดการทำพิธี และให้ทำสมาธิภาวนาว่า โอม ศานติ ศานติ ศานติ เป็นประจำทุกคืน แล้วสภาพจิตใจจะค่อยๆกลับมาเป็นปกติ ...เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก หากปฏิบัติไปนานๆ จะซึมซับและเข้าใจได้เอง... ต้องการคำแนะนำ โปรดติดต่อ siamganesh@gmail.com

พระแม่ทุรคา หรือ พระแม่ทุรกาเทวี

บทสวดมนต์บูชาพระแม่ทุรคา

(ก่อนการสวดบูชา พระแม่ทุรคา จะต้องสวดมนต์ต่อพระพิฆเนศก่อนเสมอ)
บทสวดมนต์พระแม่ทุรกามีหลายบทให้เลือกสวดดังนี้

- โอม ฮรีม กรีม ทุม ทุรคา ชัย นะมะฮา

- โอม เจ ทุรคา มาตา

- โอม ชยะ ศรี ทุรคา มาตา

- โอม ศรี ทุรคา นะมะฮา

- โอม อีง ฮรีง กลีง จามุนดาเย วิชเช โอม (บทสวดสำหรับพิธีจักรัน)

- โอม ตัสสะ ปารวตี กาลี ทุรคา ปิยัง มะมะ
ทุติยัมปิ ตัสสะ ปารวตี กาลี ทุรคา ปิยัง มะมะ
ตะติยัมปิ ตัสสะ ปารวตี กาลี ทุรคา ปิยัง มะมะ
(คาถาบูชาทั้งพระแม่อุมา พระแม่กาลี พระแม่ทุรคา)

 

บทสรรเสริญพระแม่ทุรคา

- ไชย อัมเพ เการี มาอิยา
ไชย ชยามา เการี
นิชา ดินา ทูมะโก ทยาวาตา
ฮารี พรหมมา ศิวะจี
โบฮโล ไชย อัมเพ เการี

ขอชัยชนะจงมีแด่พระแม่เการี (พระแม่ทุรคา)
ขอชัยชนะจงมีแด่พระแม่ผู้มีพระวรกายสีเข้ม
พระแม่ผู้เชื่อมพระวิษณุ พระพรหม และพระศิวะไว้ด้วยกัน
ขอสรรเสริญและขอชัยชนะจงมีแด่พระแม่เการี

 

ข้อมูลอ้างอิง : http://www.siamganesh.com/durga.html

Top