ประวัติ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร - บ้านเลขที่ ๒๗ ถนนขวาพระ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม - webpra

วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร

ประวัติ บ้านเลขที่ ๒๗ ถนนขวาพระ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

 

วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร

วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด ราชวรมหาวิหาร แต่ชาวบ้านมักจะเรียกกันว่า "วัดใหญ่" ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๒๗ ถนนขวาพระ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม สังกัดในคณะสงฆ์ภาค ๑๔ ประเภทมหานิกาย

สภาพฐานะและที่ตั้งวัด

วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด "ราชวรมหาวิหาร" ชื่อที่ชาวบ้านเรียก "วัดใหญ่" แต่เดิมมีชื่อว่า "วัดพระประธม" บ้าง มีชื่อว่า "วัดพระบรรทม" บ้าง มีชื่อว่า "วัดพระพุทธปรมธาตุ" บ้าง ตั้งอยู่เลขที่ ๒๗ ถนนขวาพระ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย ที่ดินเฉพาะบริเวณที่ตั้งวัด มีเนื้อที่ ๑๕๖ ไร่ ๓ งาน ๔๕ ตารางวา โดยมีหนังสือ แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็น โฉลดเลขที่ ๓๕๖๗ และ โฉลดเลขที่ ๑๒๐๒ และกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของวัด

การตั้งวัด

เป็นวัดที่ตั้งขึ้นก่อนวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๖ ซึ่งเป็นที่กฎกระทรวงศึกษาธิการ ออกตาม ความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มีผลบังคับใช้ ได้ตั้งวัดเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๑๘

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

การได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามข้อสันนิษฐานของนักปราชญ์ทางโบราณคดี และ ทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ว่ามีขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๕ - พ.ศ.๓๐๐ ได้ผูกพัทธสีมา เมื่อ ประมาณปี พ.ศ.๒๓๕ - พ.ศ.๓๐๐ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๒.๐๕ เมตร ยาว ๒๐.๒๓ เมตร ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงมีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการปฏิสังขรณ์ใหญ่องค์พระปฐมเจดีย์ และก่อสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาโรงธรรม พร้อมด้วยกุฏิสงฆ์ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๙๖ เป็นต้นมา

อาณาเขต
ทิศเหนือ ............จดกับถนนซ้ายพระ
ทิศใต.................จดกับทางสาธารณประโยชน์ ที่ดินเอกชน สระหีบ
ทิศตะวันออก......จดกับถนนหน้าพระ ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินเอกชน
ทิศตะวันตก .......จดกับทางสาธารณประโยชน์ ถนนราชวิถี ถนนหลังพระ

ลักษณะพื้นที่ตั้งวัดและบริเวณโดยรอบ

พื้นที่ตั้งวัด มีลักษณ์เป็นที่ราบต่ำ มีน้ำท่วมเป็นบางคราวเมื่อฝนตกหนัก บัดนี้ได้ถมพื้นที่ และทำทางระบายน้ำ แต่ยังมีน้ำท่วมอยู่ในพื้นที่เขตสังฆาวาสเมื่อฝนตกหนัก และโดยเฉพาะในเขต สังฆาวาส เป็นที่ตั้งของศาลาการเปรียญ ฌาปนสถาน กุฏสงฆ์ โรงเรียนประถมศึกษาวัดพระปฐมเจดีย์ สำหรับพื้นที่สนามหน้าโรงเรียนวัดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งแต่เดิมเป็นสนามดินมีหญ้าขึ้นบ้างเป็นบางแห่ง มีน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง แต่บัดนี้ ได้มีการทำเป็นพื้นปูนเทคอนกรีตแล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ ระหว่างเขต พุทธาวาส และเขตสังฆาวาส มีถนนขวาพระคั่นกลาง ทั้งเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส มีกำแพง ล้อมรอบ แสดงขอบเขตที่ชัดเจน ในเขตพุทธาวาส เป็นที่ตั้งของพระอุโบสถและองค์พระปฐมเจดีย์ มีสระน้ำสองสระ และที่มุมกำแพงชั้นนอก ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างกำแพงคร่อมคลอง เจดีย์บูชา จากสะพานเจดีย์บูชา ถึงสะพานทวารวดี เป็นระยะทาง ๑๖ เมตร สำหรับพื้นที่สนามหญ้า ทางด้านทิศตะวันตก ฝั่งใต้ บัดนี้ได้มีการทำเป็นพื้นปูนเทคอนกรีต และวางท่อระบายน้ำ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ เพื่อจัดไว้เป็นบริเวณที่ตั้งร้านค้าชั่วคราว ภาคกลางคืน ซึ่งย้ายมาจากบริเวณด้านทิศเหนือ

แต่เดิมมา วัดนี้ในสมัยโบราณ มีชื่อว่า "วัดพระประธม" บ้าง มีชื่อว่า "วัดพระบรรทม" บ้าง มีชื่อว่า "วัดพุทธปรมธาตุ" บ้าง ครั้นมาถึงในสมัยรัชกาลที่ ๔ ในยุคที่ทรงเริ่มการปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์ครั้งใหญ่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๙๖ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงพิจารณาลักษณะการก่อสร้าง และสภาพโดยทั่วไป แล้วทรงพิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นพระสถูปเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้า อโศกมหาราช แห่งประเทศอินเดียยุคโบราณ ที่ได้มีการส่งพระสมณทูต มีพระโสณะ และ พระอุตตระเป็นต้น เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในพื้นที่แถบนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของดินแดนสุวรรณภูมิสมัยนั้น ประมาณในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๕ - ๓๐๐ และมีการ สร้างพระสถูปเจดีย์ไว้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นหลักฐาน รูปทรงพระสถูปเจดีย์ในยุค แรกที่สร้างนั้น ทรงเห็นว่า มีรูปทรงเหมือนเป็นอย่างเดียวกับพระสถูปารามเจดีย์ ใน อนุราธบุรี ในเกาะสิงหลทวีป หรือประเทศลังกาในบัดนี้ ทรงเชื่อมั่นว่า เป็นพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นเป็นครั้งแรก ในพื้นที่แถบนี้ และเป็นวัดแรกด้วย พระองค์จึงได้ทรงพระราชทาน นามพระสถูปเจดีย์แห่งนี้ว่า "พระปฐมเจดีย์" และพระราชทานนามวัดว่า "วัดพระปฐมเจดีย์"องค์พระมหาสถูป ปูชนียสถานที่สำคัญของวัด บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ องค์เดิมเมื่อแรกสร้าง มีลักษณะเป็นแบบพระสถูปเจดีย์ในประเทศศรีลังกา รูปทรงแบบโอ สำหรับตักน้ำ หรือบาตรคว่ำ มีส่วนสูง ๑๘ วา ๒ ศอก (๔๕.๑๔ เมตร) ต่อมาได้มีผู้ศรัทธาปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมเป็นระยะๆ จนกลายเป็นพุทธเจดีย์ขนาดใหญ่ รูปทรงบาตรคว่ำ ยอดปรางค์ สูง ๔๐ วา ๒ ศอก (๙๙.๐๐ เมตร) และมีการบุดีบุกหุ้มองค์พระสถูปไว้บรรจบถึงยอดพระสถูป มีลักษณะเป็นแบบศิลปสมัยกรุงศรีอยุธยา

ลำดับเจ้าอาวาส

  1. เจ้าอธิการแป้น ตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ประมาณก่อนปี พ.ศ.๒๔๐๐ ถึงปี พ.ศ.๒๔๐๘
  2. พระสนิทสมณคุณ ตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ๔ ปี โดยประมาณ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๘ - ๒๔๑๑
  3. พระปฐมเจติยานุรักษ์ ตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ๓๗ ปี โดยประมาณ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๔๗
  4. พระราชโมลี โสณุตฺตโร ตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ๓ ปี ตั้งแต่วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๕๓ - ๒๔๕๕
  5. พระพุทธรักขิต ตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ๗ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๕ ถึงวันที่ ๓ เมษายน ๒๔๖๒
  6. พระธรรมวโรดม ธมฺมปฺปโชติโก ตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ประมาณ ๓๒ ปี ตั้งแต่วันที่ ๗ มกราคม ๒๔๖๕ จนกระทั่งถึง วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๙๗
  7. พระธรรมสิริชัย ชิตวิปุโล ตำแหน่งเจ้าอาวาส ๓๐ ปี ตั้งแต่วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๔๙๗ ถึงวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๒๗
  8. พระราชสิริชัยมุนี ฐิตโชโต ตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ๖ ปี กับ ๔ เดือน ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๒๘ ถึงวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕
  9. พระธรรมปริยัติเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม ป.ธ.๙) ตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ปี พ.ศ.๒๕๓๖ ถึงปัจจุบัน

วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร

ข้อมูลอ้างอิง : http://watphrapathomchedi.com

Top