ประวัติ วัดเสนาสนาราม ราชวรวิหาร - ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา - webpra

วัดเสนาสนาราม ราชวรวิหาร

ประวัติ ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา พระนครศรีอยุธยา


วัดเสนาสนาราม ราชวรวิหารประวัติวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร


          ประวัติการสร้างหรือตำนานวัดเสนาสนาราม ราชวรวิหาร เดิมชื่อ “วัดเสื่อ” เป็นวัดโบราณ สร้างตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา อยู่ในกำแพงหน้า หลังพระราชวังจันทรเกษม ไม่มีพระสงฆ์ตลอดสมัยอยุธยา ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารว่า วัดเสื่อ ได้สร้างขึ้นพร้อมพระราชวังจันทรเกษม โดยสร้างให้เป็นวัดประจำพระราชวัง ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพระยศเป็นมหาอุปราชครอง เมืองพิษณุโลก ได้โปรดเกล้าฯ สร้างพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ประทับในคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุง ศรีอยุธยา เมื่อราวปี พ.ศ. ๒๑๒๐ และต่อมาพระเจ้าปราสาททอง พระชนกนาถแห่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระองค์ได้ทรงแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระที่นั่ง นารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ พระอนุชาธิราช คือ พระเอกาทศรถ เป็นพระมหาอุปราช พระราชทานพระราชวังจันทรเกษมให้เป็นที่ประทับจนเป็น ธรรมเนียมว่า พระราชวังจันทรเกษม เป็นที่ประทับของ พระมหาอุปราช โดยมีวัดเสื่อ เป็นวัดประจำพระราชวังตลอดมา

 

          ครั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระประชวรมีพระอาการเป็นที่น่าวิตก บรรดาข้าราชการเห็นว่าจะเสด็จสวรรคตใน ไม่ช้า ต่างมีความหวาดหวั่นเรื่องรัชทายาท คือ พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์ ซึ่งมองเห็นภัยอันเกิดจากชาวต่างชาติ อันมีเจ้าพระยาวิชาเยนทร์จะพาทหารฝรั่งเศสบังคับข้าราชการให้อัญเชิญพระปิยะ ขึ้นครองราชสมบัติ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ก็หวาดว่า ถ้าพระเพทราชาได้เป็นใหญ่คงจะคิดทำร้ายฝรั่ง ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นว่าต้องทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการป้องกัน พระเพทราชากับหลวงสรศักดิ์จึงชิงลงมือก่อนจับพระปิยะผู้พยาบาลประจำพระองค์ ไปฆ่าเสีย ทำให้พระองค์ทรงโทมนัสเป็นอย่างมาก และทรงเป็นห่วงข้าราชบริพารที่จงรักภักดีในพระองค์อาจจะถูกฆ่าในเมื่อ พระองค์สวรรคต ทรงคิดว่าถ้าให้ผ้ากาสาวพัสตร์มาเป็นเกราะป้องกันแล้ว พวกข้าราชการบริพารอาจจะปลอดภัย จึงตกลงพระทัยให้ราชบุรุษไปอาราธนาพระเถรานุเถระมาเฝ้าแล้วตรัสว่า อาการของพระองค์คงไปไม่รอด ห่วงข้าราชบริพารจะถูกฆ่าตาย ขอให้พระคุณเจ้าช่วยบวชให้ข้าราชการบริพารผู้มีความจงรักภักดีได้ปลอดภัย อยู่ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ด้วยเถิด

 

          พระเถรานุเถระถวายพระพรว่า ที่นี่เป็นพระบรมมหาราชวัง มิใช่วิสุงคามสีมา ไม่มีพุทธานุญาตให้บวชในที่เช่นนี้ได้ พระองค์จึงรับสั่งว่า ถ้ากระนั้นขอถวายนารายณ์ราชนิเวศน์ ให้เป็นวิสุงคามสีมา ณ บัดนี้ พระเถรานุเถระจึงจัดการอุปสมบทพวก ข้าราชบริพารที่จงรักภักดีให้เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ต่อกาลไม่นานก็เสด็จสวรรคต พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์เสวยราชย์ ต่อมาตามลำดับ

 

          วัดเสื่อได้เจริญรุ่งเรืองมาพร้อมกับพระราชวังจันทรเกษม และได้กลายเป็นวัดร้างพร้อมกับพระราชวังจันทรเกษมเหมือนกัน ในคราวเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐

 

          ในสมัยราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งเสวยราชสมบัติทรงระลึกถึงพระ นารายณ์ราชนิเวศน์แล้ว ไม่สบายพระทัย ทั้งพระองค์ก็ประสงค์จะให้เป็นที่ประทับแปรพระราชฐานสืบไป แต่ไม่อาจถือเอาโดยพลการได้ เพราะไม่ทรงแน่พระทัยว่า พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์และหมู่พระที่นั่งอื่น ๆ นั้น พระมหากษัตริย์แต่โบราณได้พระราชทานเป็นวิสุงคามสีมาหรือไม่ ที่สุดตกลงพระทัยทำผาติกรรม คือตอบแทนให้มีค่าควรกันตามพระวินัย โดยมีพระราชวงศ์เธอกรมหมื่นรังษีสุริยพันธ์ เป็นที่ประธานที่ประชุมสงฆ์ พร้อมใจถวายพระราชวังนารายณ์ราช-นิเวศน์และหมู่พระที่นั่งแด่พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์มีมูลค่ามากกว่าพระราชวังหลายเท่าแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้นำพระราชทรัพย์ทั้งหมด ไปซื้อที่ดินคือนามีเนื้อที่ ๔๐ ไร่ ๒ งาน ทรงพระราชอุทิศถวายเป็นธรณีสงฆ์เท่าจำนวนเนื้อที่บริเวณพระนารายณ์ราช นิเวศน์แต่จะถวายสงฆ์วัดใดไม่ปรากฏ แล้วสถาปนาวัดสำคัญที่ทรุดโทรม ๓ วัด เพื่อเป็นผาติกรรม โดยมีพระประสงค์จะให้เป็นที่อยู่ของพระรามัญวัดหนึ่ง เป็นที่อยู่วัดมหานิกายวัดหนึ่ง และเป็นที่อยู่ของวัดธรรมยุตวัดหนึ่ง คือ

 

๑. ปฏิสังขรณ์วัดขวิด ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ถวายเป็นพระอารามหลวงฝ่ารามัญนิกาย พระราชทานนามว่า “วัดกวิศราราม”
๒. ปฏิสังขรณ์วัดชุมพลนิกายาราม ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถวายเป็นพระอารามหลวงฝ่ายมหานิกาย
๓. ปฏิสังขรณ์วัดเสื่อ ซึ่งร้างอยู่ท้ายพระราชวังจันทรเกษม ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถวายเป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุตนิกาย พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร” เรียกสั้นๆว่า “วันเสนาสน์” คล้อยตามนามเก่าที่ว่า “วัดเสื่อ” ในปี พ.ศ. ๒๔๐๖ สิ้นพระ ราชทรัพย์ ๓๐๐ ชั่งเศษ แล้วจึงอาราธนาพระครูพรหมเทพาจารย์ (บุญรอด พฺรหฺมเทโว) ซึ่งเป็นพระธรรมยุตนิกายพร้อมทั้งลูกคณะซึ่งอยู่ ณ วัดขุนญวน อันเป็นวัดที่พระองค์เคยเสด็จประทับในสมัยเมื่อทรงผนวช ให้ย้ายมาอยู่วัดเสนาสนารามแต่นั้นมา นับเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ส่วนวัดขุนญวนซึ่งเป็นวัดฝ่ายมหานิกาย ปัจจุบันเปลี่ยนนามใหม่ว่า “วัดพรหมนิวาส” ซึ่งถ้าจะคำนวณอายุวัด เสนาสนารามฯ นับตั้งแต่การสร้างพระราชวังจันทรเกษม ตราบถึงการปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๔ จะมีอายุไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ปี และถ้าคิดเริ่มต้นจากการเป็นวัดเสนาสนารามราชวรวิหารถึงปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๒) ก็จะมีอายุถึง ๑๔๖ ปีนับว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่มีประวัติอันยาวนานวัดหนึ่ง

 

          ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดฯ ให้ขยายเขตวิสุงคามสีมาให้กว้างออกไป แล้วโปรดฯ ให้สร้างกุฏิหลังละ ๔ ห้อง รวม ๙ หลัง ลงไว้ในที่นั้นด้วย ภายหลังโปรดฯ ให้สร้างขึ้นอีก ๕ หลัง รวมเป็น ๑๔ หลัง และโปรดให้กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป (พระองคเจ้าไชยานุชิต ต้นสกุล ชยางกูร ณ อยุธยา) เป็นผู้อำนวยการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่และเสนาสนะต่าง ๆ นอกจากนั้นมีเจ้านายและทายกทายิกาผู้มีจิตศรัทธารับสร้าง ปฏิสังขรณ์เสนาสนะในพระอารามเป็นลำดับ

 

          ปัจจุบัน วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุตนิกาย และมีกฐินพระราชทานเป็นประจำทุกปี ตั้งอยู่บนเนื้อที่ ๒๐ ไร่ และมี ธรณีสงฆ์ต่อจากคูวัดไปทิศตะวันตกอีก ๘๐ ไร่เศษ


อาณาเขตของวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร

ทิศเหนือ ติดที่ราชพัสดุ

ทิศใต้ ติดที่ราชพัสดุ

ทิศตะวันออก ติดพระราชวังจันทรเกษม  และเรือนจำ
ทิศตะวันตก ติดวัดราชประดิษฐาน


ลำดับเจ้าอาวาส
องค์ที่ ๑ พระพรหมเทพาจารย์ (บุญรอด พฺรหฺมเทโว) ๒๔๐๖-๒๔๒๔
องค์ที่ ๒ พระธรรมราชานุวัตร (ต่าย วารโณ) ๒๔๒๕-๒๔๔๑
องค์ที่ ๓ พระพรหมเทพาจารย์ (กล่ำ เหมโก) ๒๔๔๑-๒๔๖๔
องค์ที่ ๔ พระญาณดิลก (รอด วราสโย) ๒๔๖๔-๒๔๖๕
องค์ที่ ๕ พระพรหมเทพาจารย์ (เจ๊ก กุสุโม) ๒๔๖๕-๒๔๗๘
องค์ที่ ๖ พระครูโยคานุกูล (ไสว อมโร) ๒๔๗๘-๒๔๙๗
องค์ที่ ๗ พระราชเมธากร (หลี สิกฺขกาโม) ๒๔๙๗-๒๕๑๖
องค์ที่ ๘ พระเทพสุทธิโมลี (ปาน อิสิญาโณ) ๒๕๑๖-๒๕๔๓
องค์ที่ ๙ พระราชสุทธิโมลี (พินิจวราจาโร) ๒๕๔๔-๒๕๕๒
องค์ที่ ๑๐ พระราชเมธากรกวี (ปญ์ญาโสภโณ) ๒๕๕๓-ปัจจุบัน


วัดเสนาสนาราม ราชวรวิหาร
วัดเสนาสนาราม ราชวรวิหาร
วัดเสนาสนาราม ราชวรวิหาร
วัดเสนาสนาราม ราชวรวิหาร
วัดเสนาสนาราม ราชวรวิหาร

ข้อมูลอ้างอิง : http://watsenasanaram.blogspot.com

Top