ประวัติ 16.สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) - วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร - webpra

16.สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)

ประวัติ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)

 

พระประวัติและปฏิปทา 
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) 
พุทธศักราช ๒๕๐๘-๒๕๑๔ 

วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร 
แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 


พระประวัติในเบื้องต้น 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) 
มีพระนามเดิมเมื่อแรกประสูติว่า “ลำจวน ศิริสม” 
ภายหลังจึงทรงเปลี่ยนเป็น “จวน” พระนามฉายาว่า “อุฏฐายี” 
ประสูติเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๔๐ ตรงกับวันอาทิตย์ 
แรม ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา นพศก จุลศักราช ๑๒๕๙ (ร.ศ. ๑๑๖) 
ที่บ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี 

โยมบิดามีนามว่า “หงส์ ศิริสม” เป็นชาวโพธาราม 
ท่านปู่สืบเชื้อสายมาจากจีนแซ่ตัน ท่านย่าสืบเชื้อสายมาจากชาวเวียงจันทน์ 

ส่วนโยมมารดามีนามว่า “จีน” นามสกุลเดิมว่า “ประเสริฐศิลป์” 
ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านฉาง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี 

ซึ่งในบั้นปลายของชีวิตได้ปลงผม นุ่งขาวห่มขาวเป็นอุบาสิกา 
รักษาศีลแปดตลอดมาเป็นเวลาประมาณ ๓๐ ปี 
และถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๘๘ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๕) 

ส่วนท่านบิดา ภายหลังได้อุปสมบทเป็นภิกษุมาอยู่ที่ 
วัดมกุฏกษัตริยาราม จนถึงมรณภาพ เมื่ออายุ ๘๔ ปี 

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นบุตรหัวปีในจำนวนบุตรธิดาทั้งหมด ๗ คน 

 

 ท่านหงส์ ศิริสม โยมบิดา

ท่านหงส์ ศิริสม โยมบิดา 

 

ประถมวัยและประถมศึกษา 

พ.ศ. ๒๔๔๙ : พระชนมายุ ๙ พรรษา 

ได้เข้าศึกษาหนังสือไทยที่โรงเรียนวัดคฤบดี ตำบลบ้านปูน 
อำเภอบางพลัด จังหวัดธนบุรี จนจบชั้นปีที่ ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ 
แล้วลาออกจากโรงเรียน กลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิมถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๑ 

พ.ศ. ๒๔๕๒ : พระชนมายุ ๑๓ พรรษา 

เมื่อเรียนจบประถมศึกษาแล้วได้สมัครเข้าเรียนต่อที่ โรงเรียนนายร้อยทหารบก 
(โรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร.) แต่ป่วยเป็นโรคเหน็บชาเสีย 
จึงต้องกลับออกไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาเดิม และไม่ได้กลับเข้ามาเรียนต่ออีก 

พ.ศ. ๒๔๕๓ : พระชนมายุ ๑๔ พรรษา 

ท่านบิดามารดา ต้องการให้เรียนทางพระศาสนา 
จึงนำไปฝากให้อยู่กับ พระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทตฺต) 
เจ้าอาวาสวัดมหาสมณาราม (วัดเขาวัง) จังหวัดเพชรบุรี ผู้เป็นพี่ของตา 

พระวัดเขาวังเล่ากันต่อมาว่า ท่านเจ้าคุณมหาสมณวงศ์ 
เคยออกปากทำนายท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไว้ว่า 

“ลักษณะอย่างนี้ ต่อไปจะได้ดี” 

นัยว่าท่านหมายถึงพระเศียรที่มีลักษณะคล้ายกระพองช้าง 

พ.ศ. ๒๔๕๔ : พระชนมายุ ๑๕ พรรษา 

พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ. ๗) เมื่อครั้งครั้งยังเป็น พระอริยมุนี 
ได้ออกเดินธุดงค์ไปพักที่ถ้ำเขาย้อยอยู่พอสมควรแล้ว 
เดินทางต่อไปเยี่ยมพระมหาสมณวงศ์ ที่วัดมหาสมณาราม 
ในฐานะที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ในคณะ และเกี่ยวข้องกันทางญาติสัมพันธ์ 
พระมหาสมณวงศ์จึงขอฝากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ กับ พระอริยมุนี 
ให้มาอยู่ศึกษาปริยัติธรรมที่วัดมกุฏกษัตริยาราม 

พ.ศ. ๒๔๕๕ พระชนมายุ ๑๖ พรรษา 

ในราวเดือนเมษายน พระองค์ได้เดินทางเข้ามาอยู่กับ พระศาสนโศภน (แจ่ม) 
เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่ พระอริยมุนี ที่คณะนอก วัดมกุฏกษัตริยาราม 
โดยมีนายเขียน ประเสริฐศิลป์ ผู้เป็นน้านำมาส่ง 
และ ทรงเริ่มศึกษาบาลีไวยากรณ์กับท่านเจ้าคุณอาจารย์บ้าง 
กับ พระมหาจิณ จิณฺณาจาโร ป.ธ. ๔ บ้าง 
และศึกษาต่อกับ พระมหาสุข สุขทายี ป.ธ. ๕ ใน พ.ศ. ๒๔๕๖ 

 

 เมื่อพระชนมายุได้ ๑๗ พรรษา

เมื่อพระชนมายุได้ ๑๗ พรรษา 

 

ทรงบรรพชาและการศึกษา 

ทรงบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๒ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ 
ณ พระอุโบสถ วัดมกุฏกษัตริยาราม 
โดย มี พระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป.ธ. ๗) เป็นพระอุปัชฌาย์ 
และ พระอริยมุนี (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ. ๗) เป็นพระสรณคมนาจารย์ 

แล้วทรงศึกษาธรรมวินัยในสำนัก พระอริยมุนี (แจ่ม) 
ถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ทรงสอบไล่องค์นักธรรมชั้นตรีภูมิของสามเณรได้ 

พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงเข้าศึกษาธรรมบทกับ พระพินิตพินัย (ชั้น กมาธิโก) 
เมื่อครั้งยังเป็นพระมหาชั้นเปรียญ ๕ ประโยคในโรงเรียนบาลีวัดมกุฏกษัตริย์ 

 

 ทรงฉายเมื่อครั้งบรรพชา พ.ศ. ๒๔๕๘ พระองค์ที่ ๓ (จากซ้าย-แถวยืน)

ทรงฉายเมื่อครั้งบรรพชา พ.ศ. ๒๔๕๘ พระองค์ที่ ๓ (จากซ้าย-แถวยืน) 

 

อนึ่ง ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๕๘-๒๔๕๙ นั้น 
ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม มีสามเณรเรียนธรรมและบาลีอยู่มาก 

เช่น สามเณรจิตต์ (นิวาศะบุตร) สามเณรลำจวน (ศิริสม) 
สามเณรเพ็ญ (สุนทรพะลิน) สามเณรสุข (จีนังกูร) 
สามเณรกูล (นิวาศบุตร) สามเณรอู๋ (ตาดอุดร) สามเณรทองสืบ (ศุภมาร์ค) 
สามเณรสิงโต (ศรีเกษ) สามเณรโด๋ (แจ่ม จรรยา) ฯลฯ 

ได้ชักชวนกันออกวารสารรายปักษ์ขึ้นฉบับหนึ่ง ให้ชื่อว่า “สยามวัด” 
เพื่อเป็นสนามสำหรับฝึกหัดแต่งโคลง กาพย์ กลอน กลบท และฉันท์ 
และจัดให้มีการประกวดแต่งโคลง ฉันท์ เป็นต้น 

ในจำนวนสามเณรเหล่านี้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีลายมือสวย 
จึงได้รับมอบหมายให้เป็นบรรณาธิการรวบรวมและเขียนลงในสมุด 
ครั้งละ ๑-๒ เล่ม สำหรับนำออกอ่านในที่ประชุม ณ วันโกนแห่งปักษ์ทุกกึ่งเดือน 

วารสารนี้ดำเนินมาได้เกือบ ๒ ปีจึงหยุดไป 
เพราะทุกรูปมีภาระที่จะต้องเรียนมากขึ้น 

การหัดแต่งกวีนิพนธ์ในครั้งนั้น ทำให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ 
เป็นผู้สามารถการประพันธ์โคลง ฉันท์ เป็นต้น ส่วนหนึ่ง 

 

 ทรงฉายเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ก่อนที่จะทรงอุปสมบท

ทรงฉายเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ก่อนที่จะทรงอุปสมบท

 

ในระยะเดียวกันนี้ ได้ทรงเรียนภาษาอังกฤษจากตำราด้วยพระองค์เอง 
ครั้นสอบประโยค ๔ ได้แล้วในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ 
จึงเรียนจาก ครูโปร่ง (สำเร็จการศึกษาจากปีนัง) ซึ่งมาสอนที่กุฏิ 

ต่อมาระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๖-๒๔๖๗ จึงเรียนกับ ลิงกัวโฟน บ้าง 
กับ หลวงไพจิตรฯ (สำเร็จการศึกษาจากเยอรมัน) บ้าง 
จนสามารถแต่ง-แปลบทเรียนได้โดยตลอด แล้วจึงหยุดเรียน 

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงรู้ภาษาอังกฤษพอจะอ่านเขียนแปลได้ 
และรับสั่งได้บ้าง แต่ไม่ชำนาญ 

ฉะนั้น เวลาติดต่อกับชาวต่างประเทศ 
จึงใช้ล่ามเว้นแต่คราวจำเป็น จึงรับสั่งโดยประโยคสั้นๆ 

 

 เมื่อทรงอุปสมบทแล้ว พระชนมายุ ๒๑ พรรษา  

เมื่อทรงอุปสมบทแล้ว พระชนมายุ ๒๑ พรรษา 

 

ทรงอุปสมบทและการศึกษา 

พ.ศ. ๒๔๖๐ 

เมื่อทรงมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา ได้ทรงอุปสมบทเป็นภิกษุ 
มี พระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย ป.ธ. ๗) เป็นพระอุปัชฌาย์ 
และ พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ. ๗) 
แต่ครั้งดำรงสมณศักด์ที่พระราชกวี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 
ณ พระอุโบสถ วัดมกุฏกษัตริยาราม ณ วันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ 

ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน * 
ทรงเข้าสอบพระธรรมวินัยได้เป็นนักธรรมชั้นตรีครบองค์ของนวกภูมิ 
และทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรี และเปรียญธรรม ๓ ประโยค 
(แปล ประโยค อโยเคในปิยวรรค) 

พ.ศ. ๒๔๖๑ 

พรรษาที่ ๒ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นโท ได้คะแนนบริบูรณ์ 
ได้คำชมเชยจากกรรมการสอบธรรมสนามหลวงในส่วนเรียงความ 

พ.ศ. ๒๔๖๒ 

พรรษาที่ ๖ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค 

แต่โบราณนานมา ไทยใช้หนังสือ ๒ อย่าง คือ ไทยกลาง และไทยใต้ 
ใช้ตัวไทยสำหรับเขียนเรื่องชาวบ้าน 
ใช้ตัวขอมสำหรับเขียนบาลีสันสกฤต หรือเรื่องศาสนา 

ในทำนองเดียวกัน ไทยเหนือก็ใช้ตัวฝักขามกับตัวเมือง 
และไทยอีสานตลอดถึงลาวใช้ตัวไทยน้อยกับตัวธรรม 

คัมภีร์พระไตรปิฏก อรรถกถา ฎีกา สัททวิเสส ฉบับเดิมเป็นอักษรขอม 
แม้ศิลาจารึกและเรื่องที่เขียนไว้ด้วยอักษรขอมก็มี 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส 
จึงประกาศให้วิชาเขียนอ่านอักษรขอม เป็นบุพภาคแห่งบาลีประโยค ๔ 
และเขียนข้อสอบบาลีประโยค ๖, ๗, ๘, ๙ ที่เป็นภาษาบาลีตัวอักษรขอม 

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงศึกษาอักษรขอมมาก่อนแล้ว 
จึงสามารถสอบบุพภาคแห่งประโยค ๔ ไปได้ด้วยดี ตลอดถึงประโยค ๙ 

พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ 

ทรงเป็นครูสอนพระธัมมปทัฏฐกถา และ 

ธันวาคม ในศกเดียวกัน 

ทรงสอบไล่ได้เปรียญ ๕ ประโยค 

 

 ทรงฉายเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๔

ทรงฉายเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๔ 

 

พ.ศ. ๒๔๖๕ 

พรรษาที่ ๖ ทรงสอบได้เปรียญโท ๖ ประโยค 

พ.ศ. ๒๔๖๖ 

พรรษาที่ ๗ ทรงสอบได้นักธรรมชั้นเอก 

พ.ศ. ๒๔๖๗ 

พรรษาที่ ๘ ทรงเป็นครูสอนมังคัลถทีปนี โรงเรียนบาลีวัดมกุฏกษัตริย์ฯ 
และเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๗ ประโยค 

พ.ศ. ๒๔๖๘ 

พระศาสนโศภน (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ. ๗) 
ครั้งยังเป็นพระธรรมปาโมกข์ เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม 
ได้รับมอบจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ให้ตรวจชำระพระไตรปิฎกบางปกรณ์ 

คือ อปทาน เถรคาถา เถรีคาถา พุทธวังสะ จริยาปิฎก และคัมภีร์มิลินทปัญหาในเบื้องต้น 

ได้แบ่งการตรวจชำระออกเป็น ๒ กอง คือ 

- กองที่ ๑ ให้พระมหาจวน อุฏฐายี ป.ธ. ๗ 
เป็นหัวหน้าตรวจชำระอปทาน เถรคาถา เถรีคาถา 
- กองที่ ๒ ให้พระมหาทองสืบ จารุวณฺโณ ป.ธ. ๗ 
เป็นหัวหน้าตรวจชำระพุทธวังสะ จริยาปิฏก และมิลินทปัญหา 

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้สอบทานอักษรไทยกับต้นฉบับอักษรขอม 
เทียบกับฉบับอักษรพม่าและอักษรโรมัน โดยตลอดเป็นเวลานาน 
จึงทำให้ทรงชำนาญในอักษรทั้ง ๒ นี้ด้วย 

ฉะนั้น เมื่อเสด็จแทนพระองค์ สมเด็จพระสังฆราช วัดเบญจมบพิตร 
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) 
ไปร่วมประชุมสังคายนาที่กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ 
จึงทรงอ่านพระไตรปิฎกอักษรพม่าได้โดยสะดวก 

อนึ่ง โดยที่อักษรรามัญมีรูปร่างคล้ายกับอักษรพม่าโดยมาก 
จึงทรงสามารถอ่านคัมภีร์อักษรรามัญได้ด้วยเช่นกัน 

พ.ศ. ๒๔๗๐ 

พรรษาที่ ๑๑ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค 
และทรงเป็นกรรมการช่วยตรวจข้อสอบบาลีไวยากรณ์ในสนามหลวง 

พ.ศ. ๒๔๗๑ 

ได้รับพระราชทานพัดรัตนภรณ์ชั้น ๕ 
ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลที่ ๗ 

และเดือนมกราคมทรงเป็นกรรมการสนามหลวง 
ตรวจนักธรรมชั้นเอก และบาลีประโยค ๔, ๕, ๖ 

พ.ศ. ๒๔๗๒ 

พรรษาที่ ๑๓ ทรงสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค 

พ.ศ. ๒๔๗๕ 

ทรงเป็นอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนบาลี สำนักเรียนวัดมกุฏกษัตริยาราม 
ได้ทรงปฏิรูประเบียบแบบแผนการศึกษาบาลีให้ดีขึ้น 
และเป็นกรรมการวัดพร้อมด้วยคณะอีก ๔ รูป 

สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ 

ทรงเป็นอนุกรรมการกองตรวจหนังสือของมหามกุฏราชวิทยาลัย 

ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ 

ทรงเป็นกรรมการ มหามกุฏราชวิทยาลัย 

และทรงเป็นกรรมการพิจารณาวางระเบียบบำรุงการศึกษาอบรมปริยัติธรรม 
และงบประมาณของมหามกุฏราชวิทยาลัยพร้อมด้วยกรรมการอีก ๕ รูป 

 

หนังสือธรรมจักษุ

หนังสือธรรมจักษุ 

และทรงเป็นกรรมการออก “หนังสือธรรมจักษุ” 
ซึ่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่ง 
หลังจากหยุดไปเป็นเวลา ๒๐ ปี และได้ออกต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ 

* หมายเหตุ : ครั้งนั้นยังขึ้นศกใหม่เดือนเมษายน 
เดือนกุมภาพันธ์จึงเป็นปลายปี เริ่มขึ้นศกใหม่เดือนมกราคม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓

 

 หนังสือธรรมจักษุ

 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) 

 

พระเกียรติคุณด้านการบริหารปกครองและสมณศักดิ์ 

วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ 

ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระกิตติสารมุนี 
ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระราชพิธีเฉลิพระชนมพรรษา รัชกาลที่ ๗ 

และในศกเดียวกันนี้เอง 

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ 
ทรงตั้งให้เป็นกรรมการกองอำนวยการออกหนังสือ “ธรรมจักษุ” 

และทรงเป็นประธานกรรมการกองตรวจเลือกพระสูตร 
ทรงเป็นกรรมการสอบจรรยาประโยคมัธยมบริบูรณ์ถึง พ.ศ. ๒๔๘๒ (เลิก ม.๘) 
ทรงเป็นอนุกรรมการมหาเถรสมาคมจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๑ 

พ.ศ. ๒๔๗๖ 

ขณะยังทรงเป็นพระเปรียญ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ทรงดำริร่วมกับมิตรสหาย 
ตั้งสมาคมพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า “พุทธมามกสมาคม” 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา 
ส่งเสริมการศึกษา และบำรุงสัมมาปฏิบัติ 

โดย ผู้ก่อตั้งครั้งแรกฝ่ายบรรพชิตนั้นประกอบไปด้วย 

พระมหาจวน อุฏฐายี พระมหาทองสืบ จารุวณฺโณ วัดมกุฏกษัตริยาราม 
พระมหาผิน สุจโว วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นต้น 

ฝ่ายคฤหัสถ์มี พระยาสุรเกษตรโสภณ หลวงสมัครนันทพล 
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม และนายไต๋ ปาณิกบถุตร เป็นต้น 

เมื่อจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว 
สมาคมก็เริ่มดำเนินการรับสมาชิก 
และประกวดเรียงความทางพระพุทธศาสนา เป็นต้น ตามวัตถุประสงค์ 

แต่ต่อมาไม่ช้าก็ถูกรัฐบาลในเวลานั้น 
ขอให้มหาเถรสมาคมห้ามไม่ให้ภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับสมาคมนี้ 
สมาคมจึงต้องหยุดกิจการและเลิกล้มไปในที่สุด 

แม้ว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะไม่ได้ดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนา 
โดยเอกเทศตามวัตถุปีระสงค์ของพุทธมามกสมาคม 

แต่ในปลายปีนั้นเอง 
ก็ได้ทรงเป็นหัวหน้ากองเผยแผ่พระพุทธศาสนาของมหามกุฏราชวิทยาลัย 
และได้ทรงเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ 
ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ ต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๕ 

พ.ศ. ๒๔๗๗ 

ทรงเป็นกรรมการตรวจและสะสางศาสนสมบัติ 
และทรงเป็นกรรมการคณะธรรมยุต 
ทรงเป็นกรรมการตรวจบาลีประโยค ๗, ๘, ๙ 
และทรงเป็นพระคณาจารย์เอกทางเทศนา 

พ.ศ. ๒๔๗๘ 

ทรงได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที 
ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา รัชกาลที่ ๘ 
และทรงเป็นกรรมการพิจารณาเทียบ 
วิทยฐานะเปรียญ ๖ ประโยคกับมัธยมบริบูรณ์ 

กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ 

ทรงเป็นประธานคณะกรรมการทำการในหน้าที่เจ้าคณะมณฑลราชบุรี 
ร่วมกับ พระญาณเวที วัดบุรณสิริ, พระวิสุทธิสมโพธิ์ วัดพระเชตุพน 
และพระอริยกวี วัดจักรวรรดิ จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๖ 

กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ 

ทรงเป็นกรรมการควบคุมการแปลพระไตรปิฏก 
โดยอนุมัติของประธานกรรมการมหาเถรสมาคม 

สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ 

ทรงเป็นกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบของมหาเถรสมาคม 
ว่าด้วยพระภิกษุสามเณรในอาณาเขตชายแดนไปมาติดต่อกับต่างประเทศ 

พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ 

ทรงเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ 
ร่วมกับ พระธรรมโกศาจารย์, พระธรรมไตรโลกาจารย์, 
พระราชสุธี และพระศรีวิสุทธิวงศ์ 

พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๒ 

ได้รับพระราชทานรางวัลชนะเลิศ 
ในการแต่งคาถาอวยพรประเทศไทยสำหรับใช้แทน 
รตนตตฺยปปฺภาวาภิยาจนคาถา 
จาก สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) 

คือ ไตรแพร ๑ ไตร ย่ามตาด ๑ นาฬิกาซุ้ม ๑ โคมตั้งไฟฟ้า ๑ 
หมอนกับอาสนะ ๑ กาชงโอวัลติลโครเมี่ยมมีถาดรองถ้วยเซลูลอยด์ ๑ 
ธูปเทียน ขวดปักดอกไม้ฝรั่ง ๑ คู่ 

 

 สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) พร้อมเครื่องประกอบสมณศักดิ์

สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) พร้อมเครื่องประกอบสมณศักดิ์ 

 

พ.ศ. ๒๔๘๒ 

ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที 
ในพระราชพิธีรัชมงคล เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ในรัชกาลที่ ๘ 

พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ถึง ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ 

ทรงเป็นสมาชิกสังฆสภา ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ 

พ.ศ. ๒๔๘๔ 

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 
ให้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ 
แทนพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ 

อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติใหม่นั้น 

คณะสงฆ์มีการปกครองแบบสังฆสภา มีคณะสังฆมนตรี และคณะวินัยธร 
แบ่งการปกครองส่วนกลางออกเป็น ๔ องค์การ 

คือ องค์การปกครอง องค์การเผยแผ่ 
องค์การศึกษา และองค์การสาธารณูปการ 

มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๕ 

ทรงเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ 
ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ 

เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๖ 

พ้นจากตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลราชบุรี 
โดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ 
ให้มีเจ้าคณะตรวจการภาคแทนเจ้าคณะมณฑล 

เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งสังฆนายกแทน 
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส 

ครั้งที่ ๑ ตั้งแต่วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๘๔๖ 
จนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๖ รวม ๕ เดือน ๑๓ วัน 

ครั้งที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ 
จนถึงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ รวม ๒ ปี ๗ เดือน ๑ วัน 

 

รูปหล่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส

 

รูปหล่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส 

 

 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) 

 

พ.ศ. ๒๔๘๘ 

โดยคำสั่งของเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๘ 
ทรงเป็นผู้รักษาการในตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม 
และเป็นเจ้าอาวาสในปีเดียวกัน 

ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ 

รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมปาโมกข์ 

พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ 

ทรงเป็นผู้สั่งการแทน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) สังฆนายก 

มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ 

ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาสมณฐานันดรเป็นเจ้าคณะรองคณะธรรมยุต 
รองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระสาสนโสภณ 

วันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ 

ทรงเป็นผู้สั่งการแทน สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) สังฆนายก สมัยที่ ๒ 

วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ 

ทรงเป็นสังฆนายกสืบต่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) 
ซึ่งถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ 
และคงเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่อีกตำแหน่งหนึ่ง 

 

 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) 

 

วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ 

ลาออกจากตำแหน่งสังฆนายก 

วันที่ ๒๔ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ 

เป็น สังฆมนตรีว่าการองค์การเผยแผ่ในคณะสังฆมนตรี 
ซึ่งมี สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) 
วัดเบญจมบพิตร เป็นสังฆนายก 

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ 

ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชคณะที่ 
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต 

พ.ศ. ๒๕๐๑ 

ทรงเป็น นายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๑ 

ทรงเป็น เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต 

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ 

ทรงได้รับแต่งตั้งเป็น สังฆนายก 

พ.ศ. ๒๕๐๕ 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) 
สมเด็จพระสังฆราช วัดเบญจมบพิตร สิ้นพระชนม์ 

 

 สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร)

สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร)

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการมีหนังสือแจ้งมอบหน้าที่อำนาจ 
ให้ทรงบัญชาการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระสังฆราช 
ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ 

วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ 

ทรงพ้นจากตำแหน่งสังฆนายก 
เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 
ให้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕ ขึ้น 

โดยคณะสงฆ์มีการปกครองแบบมหาเถรสมาคม 
เป็นองค์กรสูงสุดทางการปกครอง 

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม 
โดยตำแหน่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ 

ทรงเป็น อนุกรรมการมหาเถรสมาคม 
ยกร่างกฏข้อบังคับระเบียบมหาเถรสมาคมตลอดปี พ.ศ. ๒๕๐๖ 
และทรงได้รับเลือกให้เป็น ประธานอนุกรรมการ 

วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ 

ทรงเป็น เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต 
ตามกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๖) 
ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ข้อ ๖ 

 

 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)

 

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ นี้ 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 
ให้สถาปนาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฐายี) ขึ้นเป็น 
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก 
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 
สืบต่อจาก สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) 

ในการสถาปนาเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชครั้งนี้ 
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไข 
พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชใหม่ เพื่อให้เป็นแบบอย่างต่อไป 
ดังคำปรารภของสำนักพระราชวัง ดังนี้ 

“ตามโบราณราชประเพณี เมื่อสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ 
พระมหากษัตริย์จะทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ 
ภายหลังถวายพระเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนแล้ว 

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช 
โดยปกติจะกระทำร่วมกับการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 
หรือพระราชพิธีฉัตรมงคล 
สุดแต่ระยะเวลาการสถาปนาจะใกล้กับพิธีใด 
ซึ่งเหมือนกับการสถาปนาสมเด็จพระเถระองค์อื่นๆ 

ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า 

สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงสมณศักดิ์สูงสุด 
ทรงเป็นสกลมหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีสงฆ์ 
และทรงเป็นที่เคารพสักการะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
พระบรมวงศานุวงศ์ รัฐบาล และพุทธมามกะโดยทั่วไป 

ทรงเป็นจุดรวมของศรัทธาปสาทะแห่งพุทธบริษัททั้งในและนอกราชอาณาจักร 
ประกอบด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับคำกราบบังคมทูล 
ของรัฐบาลกับสังฆทัสนะในมหาเถรสมาคมโดยเอกฉันทมติ 
และทรงพิจารณาโดยรอบคอบด้วยพระองค์เองแล้ว 

จึงทรงอาศัยพระราชอำนาจ ทรงสถาปนาสมเด็จพระเถระขึ้น 
ทรงดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราช 
ซึ่งเป็นการเพียบพร้อมและสมบูรณ์ทุกประการ 

ด้วยความสำคัญในสมณศักดิ์ประการหนึ่ง 
และด้วยความเพียบพร้อมในพระราชดำริพิจารณาอีกประการหนึ่ง 

จึงสมควรที่จะถวายพระเกียรติยศ 
โดยการตั้งการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช 
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 
เป็นพระราชพิธีต่างหากโดยเฉพาะ 
ไม่รวมอยู่ในการพระราชพิธีอื่นใด 

และให้มีลักษณะการพระราชพิธีแตกต่างกว่าก่อน 
เดิมมีเพียงเจ้าพนักงานอาลักษณ์ 
อ่านกระแสพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช 
และถวายพระสุพรรณบัฏ พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์ 

การพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชคราวนี้ 
มีพระราชดำริให้ประกาศกระแสพระบรมราชโองการ 
และถวายพระสุพรรณบัฏ พัดยศ และเครื่องสมณศักดิ์ 
ท่ามกลางมหาสมาคมทั้งฝ่ายพุทธจักร และราชอาณาจักร 

ทางฝ่ายพุทธจักรประกอบด้วยสมเด็จพระราชาคณะ 
พระกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดทั่วราชอาณาจักร 

และทางราชอาณาจักรก็ครบทุกสถาบัน 
นับแต่พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ 
ประธานฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ตลอดจนข้าราชการทั้งมวล 

เพื่อมหาสมาคมดังกล่าวแล้ว 
จะได้พร้อมกันอนุโมทนาสาธูการ 
สมกับที่จะทรงเป็นสกลมหาสังฆปริญณายก ทรงปกครองคณะสงฆ์ 
เป็นที่เชิดชูพระพุทธศาสนาให้วัฒนาสถาพรสืบไป 

เลขาธิการพระราชวังจึงรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ 
ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช สนองพระราชกระแสพระราชดำริ 

โดยกำหนดจารึกพระสุพรรณบัฏ 
ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ เวลา ๑๕.๓๓ น. 
และวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ เวลา ๑๖.๐๐ น. 
เป็นการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช 
รายละเอียดแห่งการพระราชพิธีมีปรากฏในหมายกำหนดการของสำนักพระราชวังแล้ว” 

 

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพัดยศและเครื่องสมณศักดิ์แด่สมเด็จฯ  ในงานพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสงฆราช (จวน อุฏฺฐายี)  สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพัดยศและเครื่องสมณศักดิ์แด่สมเด็จฯ 
ในงานพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสงฆราช (จวน อุฏฺฐายี) 
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

 

พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง 
สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาส 
ภูมิพลมหาราชหิโตปสัมปทาจารย์ อุฏฐายีภิธานสังฆวิสุต 
ปาวจนุตตมสาสนโสภณ วิมลศีลขันธสมาจารวัตร 
พุทธศาสนิกบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภานพัฒนคุณ 
อดุลคัมภีรญาณสุนทร บวรธรรมบพิตร 

สมเด็จพระสังฆราช สถิต ณ 
วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง 
จงทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาน คุณสารสิริสวัสดิ์ 
วิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ 

 

 พระตำหนักที่ประทับภายในวัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร

พระตำหนักที่ประทับภายในวัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร 

 

 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) 

 

พระเกียรติคุณด้านการศึกษา 

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พระเถรานุเถระ คณะธรรมยุต 
ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันการศึกษาขั้นอุดมศึกษา 
สำหรับพระภิกษุสามเณรขึ้น ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย 
อันเป็นการดำเนินการตามพระดำริของ 
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส 
เรียกว่า “สภาการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัย 
มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย” 

โดย สมเด็จพระสังฆเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ 
เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต 
และองค์นายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 
ทรงออกคำสั่งตั้งเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ 
นับเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา 
หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกของประเทศไทย 

ในการจัดตั้งสภาการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัยครั้งนี้ 
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระธรรมปาโมกข์” 
ได้ทรงเป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการให้การสนับสนุน 
จนกระทั่งการจัดตั้งสภาการศึกษาฯ ได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จ 
และได้ทรงให้ความสนับสนุนสถาบันการศึกษาแห่งนี้ 
ด้วยดีเสมอมาตลอดพระชนมชีพของพระองค์ 

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ทางการคณะสงฆ์ 
ได้ประกาศรับรองฐานะของมหาวิยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งคือ 
สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย 

จึงได้มีพระดำริที่จะปรับปรุง 
และขยายการศึกษาของสภาการศึกษาฯ ให้มีคุณภาพและปริมาณดียิ่งขึ้น 

ซึ่งแต่เดิมทางสภาการศึกษาฯ 
รับสมัครพระภิกษุสามเณรผู้เรียนสำเร็จเปรียญธรรม ๔ ประโยค 
และนักธรรมชั้นเอกเข้าศึกษา 

ในยุคต้นๆ มีพระภิกษุสามเณรผู้มีวุฒิ ป.ธ. ๔, น.ธ. เอก 
สมัครเข้าศึกษากันมากพอสมควร แต่ต่อมาๆ มีผู้เข้ามาสมัครกันน้อยลง 

เนื่องจากในปีหนึ่งๆ มีผู้สอบเปรียญธรรมได้น้อย 
จึงมีผู้มาสมัครเรียนน้อยไม่พอกับความต้องการ 
อีกประการหนึ่งพื้นวิชาความรู้สายสามัญของผู้ที่มาสมัครศึกษาไม่เท่ากัน 

บางรูปเรียนจบแค่ประถมปีที่ ๔ 
แต่บางรูปเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ บ้าง มัธยมปีที่ ๖ บ้าง ไม่สม่ำเสมอกัน 
เป็นที่ยุ่งยากแก่การจัดห้องเรียน 

จึงทรงเห็นว่าสมควรที่จะได้ปรับพื้นความรู้วิชาสายสามัญ 
ของนักศึกษา ให้เท่าเทียมในชั้นอุดมศึกษา 

โดยเปิดโรงเรียนขึ้นอีกประเภทหนึ่ง 
ทำการสอนวิชาสายสามัญตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๕ 
ควบคู่ไปกับนักธรรมชั้นเตรียม และบาลีไวยากรณ์ 
จนจบชั้น ม.ศ. ๕, น.ธ. เอก และ ป.ธ. ๔ แล้ว 
จึงให้เขาเป็นนักศึกษาเรียนในชั้นอุดมศึกษาฯ ต่อไป 

ทั้งนี้ก็ด้วยวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ 

๑. เพื่อปรับพื้นฐานวิชาการศึกษาสายสามัญให้ได้มาตรฐานเป็นอันเดียวกัน 
๒. เพื่อเพิ่มปริมาณนักศึกษาให้มากขึ้น 

ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ นั้นเอง จึงได้มีพระบัญชามอบให้ 
พระปริยัติเมธี (สุวรรณ กญจโน ป.ธ. ๘) 
พระครูวินัยกรณ์โสภณ (อำนวย วุฑฺฒิโย) 
และ พระมหาบรรจง กลฺลิโต วัดมกุฏกษัตริยาราม 

ดำเนินการติดต่อขอความอุปถัมภ์จากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล 
ทำการก่อสร้างอาคารเรียนขึ้นหลังหนึ่ง 
เป็นอาคารตึก ๓ ชั้น ขนาดกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๓๘.๕๐ เมตร 
สามารถที่จะรับนักเรียนได้ประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ รูป 
เพื่อเป็นสถานที่เรียนตามโครงการที่ได้ทำการดำริไว้ 

อาคารหลังนี้ได้ทำการก่อสร้างในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ 
และสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ 

 

 ซ้าย : พระกิตติสารมุนี (ประจวบ กนฺตาจาโร) สมณศักดิ์สุดท้ายที่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์  ขวา : พระเทพกวี (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ. ๙) สมณศักดิ์สุดท้ายที่ สมเด็จพระญาณวโรดม

ซ้าย : พระกิตติสารมุนี (ประจวบ กนฺตาจาโร) สมณศักดิ์สุดท้ายที่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ 
ขวา : พระเทพกวี (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ. ๙) สมณศักดิ์สุดท้ายที่ สมเด็จพระญาณวโรดม 

 

ในขณะเดียวกันนั้นก็ได้มีพระบัญชาให้ 
พระเทพกวี (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ. ๙) วัดเทพศิรินทราวาส 
เลขาธิการสภาการศึกษาฯ มหามกุฏราชวิทยาลัย 
และ พระกิตติสารมุนี (ประจวบ กนฺตาจาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม 
รองเลขาธิการสภาการศึกษาฯ มหามกุฏราชวิทยาลัย 
ร่วมกันดำเนินการปรับปรุงการศึกษาในสามัญศึกษา 
ตามพระนโยบายที่ได้ทรงกำหนดไว้ 

พระเทพกวี วัดเทพศิรินทราวาส และ พระกิตติสารมุนี วัดมกุฏกษัตริยาราม 
จึงได้ประสานงานกันเปิดโรงเรียนขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยอาศัย 
พระอุโบสถคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นสถานที่เรียนส่วนหนึ่งไปพลางก่อน 
จนกว่าอาคารเรียนที่วัดมกุฏกษัตริยารามจะสร้างแล้วเสร็จ 

ในปีแรกนี้ได้เปิดสอนเฉพาะชั้นประถมปีที่ ๕ 
ในวิชาสายสามัญศึกษาอย่างเดียว เพราะผู้ที่สมัครเข้าเรียนในรุ่นนี้ 
ล้วนแต่เรียนจบนักธรรม และบาลีไวยากรณ์มาแล้ว 
ได้อาศัยครูอาจารย์ของสภาการศึกษาฯ ส่วนหนึ่งมาช่วยทำการสอน 

โดยมอบให้ พระมหาสรเชฏฐ คมฺภีโร ป.ธ. ๙ 
วัดนรนารถสุนทริการาม เป็นผู้ควบคุมดูแลดำเนินการ 

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ 
การก่อสร้างตึกอาคารเรียนที่วัดมกุฏกษัตริยารามได้สำเร็จลง 
จึงได้ย้ายสถานที่เรียนจาก พระอุโบสถคณะรังษี วัดบวรนิเวศวิหาร 
ไปเปิดทำการสอนที่อาคารหลังใหม่นี้ 

ได้ประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ 
โดยถือเอาวันคล้ายวันสวรรคตของ 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นหลัก 

ได้แต่งตั้งให้ พระปริยัติธรรมเมธี (สุวรรณ กญจโน ป.ธ. ๘) 
วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นครูใหญ่ 
พระมหาสรเชฎฐ คมฺภีโร ป.ธ. ๙ 
วัดนรนารถสุนทริการาม เป็นผู้ช่วยครูใหญ่ 

ต่อมาลาสิกขา จึงได้แต่งตั้ง พระกวีวรญาณ (คณิสร์ เขมวํโส ป.ธ. ๙) 
วัดบูรณศิริมาตยาราม เป็นผู้ช่วยครูใหญ่และเป็นอาจารย์ฝ่ายปกครองด้วย 

โรงเรียนแห่งใหม่นี้เป็นสาขาสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย 
ผลิตนักเรียนระดับตั้งแต่ชั้นประถมถึงชั้นเตรียมอุดม 
เพื่อส่งให้เข้าศึกษาในสภาการศึกษาฯ 

 

 ภาพทรงฉายในงานมหาสมณานุสรณ์ ครบ ๕๐ ปี สิ้นพระชนม์  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พ.ศ. ๒๕๑๔ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

ภาพทรงฉายในงานมหาสมณานุสรณ์ ครบ ๕๐ ปี สิ้นพระชนม์ 
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พ.ศ. ๒๕๑๔ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร 

 

สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายีมหาเถร) 
ได้ประทานนามโรงเรียนนี้ว่า “วชิรมกุฏ” 
เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ 
โดยนำเอาพระฉายาในขณะที่ทรงผนวชว่า “วชิรญาโณ” 
กับพระบรมนามภิไธย “เจ้าฟ้ามงกุฏ” มารวมกันเป็น “วชิรมกุฏ” 

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ นี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง 
ประกอบด้วบรรพชิต และคฤหัสถ์ 

ฝ่ายบรรพชิตมี 
พระเทพกวี (ประยูร สนฺตงฺกุโร ป.ธ. ๙) วัดเทพศิรินทราวาส 
เลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย 
พระเทพคุณาภรณ์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ. ๙) วัดสระเกศ 
เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย 
พระกิตติสารมุนี (ประจวบ กนฺตาจาโร) วัดมกุฏกษัตริยาราม 
รองเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย 
พระศรีวิสุทธิโมลี (ประยุทธ ปยุตฺโต ป.ธ. ๙) วัดพระพิเรนทร์ 
รองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เป็นกรรมการ 

ฝ่ายคฤหัสถ์ มีผู้แทนกรมการศาสนา ผู้แทนกรมสามัญศึกษา กรมวิสามัญศึกษา 
(ผู้แทนหน่วยศึกษานิเทศก์ และผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ อีกหลายท่าน เป็นกรรมการ) 
โดยมี นายจรูญ วงศ์สายัณห์ อธิบดีกรมวิชาการ 
เป็นประธานยกร่างหลักสูตร สำหรับพระภิกษุสามเณร 

โดยบรรจุวิชาต่างๆ ทั้งสายนักธรรม-บาลี และสายสามัญให้ได้เรียนควบคู่กันไป 

เริ่มตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๕ นักธรรมชั้นตรีบาลี-ไวยากรณ์ 
ไปจนถึงนักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม ๔ ประโยค 
และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ คือ จบชั้นเตรียมอุดมศึกษา 
เรียกหลักสูตรนี้ว่า “หลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา” 

เมื่อพระภิกษุสามเณรเรียนจบหลักสูตรนี้แล้ว 
ก็สามารถเข้าเรียนต่อในขั้นอุดมศึกษา ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ได้ 

อนึ่ง กระทรวงศึกษาธิการ โดย นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น 
ได้ประกาศเป็นคำสั่งให้ใช้หลักสูตรนี้ ลงวันที่ ๒๐ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ 

เมื่อกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตร 
โรงเรียนพระปริยติธรรม แผนกสามัญศึกษา 
สำหรับพระภิกษุและสามเณรชั้นประโยคประถมตอนปลาย 
ประโยคมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย 
แล้วจึงได้นำความกราบบังคมทูล 
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 
เพื่อนำเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้ทราบ 

โรงเรียนวชิรมกุฏ ได้ผลิตนักเรียนสำเร็จชั้น ม.ศ. ๕ ไปแล้วหลายรุ่น 
ผู้ที่ยังคงมีศรัทธามั่นคงในพระศาสนาได้เข้าศึกษาต่อในสภาการศึกษาฯ 
ผู้ที่ไม่มีศรัทธาจะอยู่ในพระศาสนา 
ก็ได้ลาสิกขาออกศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทางโลกบ้าง 
ประกอบงานอาชีพที่เป็นประโยชน์แก่ตน ประเทศชาติ และพระศาสนาบ้าง 
นับว่าเป็นคุณประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม 

 

 สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) ทรงแสดงพระธรรมเทศนา

สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) ทรงแสดงพระธรรมเทศนา 

 

พระเกียรติคุณด้านการเผยแผ่และสังคมสงเคราะห์ 

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงสนพระทัยงานด้านการเผยแผ่ 
และสังคมสงเคราะห์เป็นพิเศษ 

ดังจะเห็นได้ว่า ทรงมีพระดำริเกี่ยวกับงานด้านนี้มาแต่ครั้งยังทรงเป็นสามเณร 
เช่น การออกหนังสือพิมพ์ “สยามวัด” “การตั้งพุทธมามกสมาคม” 
เป็นดังที่กล่าวแล้วในตอนต้น 

ฉะนั้น พระองค์จึงทรงได้รับมอบหมายหน้าที่ในด้านนี้มาเป็นลำดับ 
ทั้งในส่วนราชการและในส่วนคณะสงฆ์ ดังนี้ 

พ.ศ. ๒๔๙๓ 

ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของคณะกรรมการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรม 
แก่ข้าราชการและประชาชน (ก.อ.ช.) 

ได้รับมอบหน้าที่ให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการ 
ร่างโครงการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรมแก่ข้าราชการ 
และประชาชนทั่วราชอาณาจักรๆ 

ได้ทำเสร็จและคณะกรรมการได้รับไว้เป็นหลักในการอบรม 
และได้ทรงเรียบเรียงคำบรรยายข้อธรรมสำหรับอบรมข้าราชการและประชาชน 
ซึ่งกำหนดไว้ในโครงการอบรมนั้นเป็นภาคผนวกของโครงการอบรม 
แล้วพิมพ์ขึ้นพร้อมกันเป็นเล่มเดียว 

และใช้เป็นแนวทางสำหรับอบรมของหน่วยอบรม 
ของคณะกรรมการและพระธรรมกถึกทั่วไป 

และทรงได้รับหน้าที่ให้เป็นประธานอนุกรรมการศีลธรรมและวัฒนธรรม 
ตามโครงการอบรมนั้น 

ได้จัดหน่วยอบรมเคลื่อนที่จาริกไปอบรมข้าราชการและประชาชน 
ในส่วนภูมิภาคร่วมกับหน่วยราชการต่างๆ มี กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น 

โดยในหน่วยอบรมเคลื่อนที่นั้น ประกอบด้วย 
พระธรรมกถึก อนุศาสนาจารย์ และสาธารณสุข เป็นต้น 

ทรงได้รับเลือกจากคณะกรรมการอบรมฯ 
ให้เป็นกรรมการปรีบปรุงเด็กและเยาวชน 
ซึ่งมี พลอากาศหลวงเชิด วุฒากาศ เป็นประธาน 

ได้ร่วมประชุมสร้างโครงการปรับปรุงเด็กจนสำเร็จตามนโยบายของรัฐบาล 
ซึ่งกรรมการอบรมได้มอบให้จัดการปรับปรุงเด็กและเยาวชน 
ให้เป็นพลเมืองดีของประเทศชาติโดยสมบูรณ์ตามระบอบประชาธิปไตย 
และตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา 

ทรงได้รับเลือกจากคณะกรรมการอบรมฯ ให้เป็นอนุกรรมการการวางระเบียบควบคุม 
การดื่มสุราของข้าราชการและประชาชน และการเล่นการพนันเพื่อให้ลดน้อยลง 
เพื่อให้เป็นการรักษาและส่งเสริมศีลธรรมอันดีของประชาชน 

อนึ่ง กรรมการคณะนี้มี 
พระยารามยมราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน 

ได้ประชุมกันจัดทำระเบียบควบคุมเสร็จแล้ว บังเกิดผล 
คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ใช้เป็นหลักปฏิบัติตลอดมาจนถึงทุกวันนี้ 

ทรงได้รับเลือกเป็นประธานคณะอนุกรรมการ 
ประกวดเรียงความเรื่องส่งเสริมศีลธรรม 
และวัฒนธรรมตามโครงการอบรมฯ นั้น 

ได้จัดการให้เป็นไปตามความประสงค์ของคณะกรรมการอบรมฯ 
ทุกประการ แล้วก็หมดหน้าที่ 

กิจการของคณะอนุกรรมการอบรมศีลธรรมและวัฒนธรรมนั้น 
ได้ปฏิบัติเป็นการประจำปีติดต่อกันมา 
ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๔๙๕ จนถึง พ.ศ. ๒๔๙๘ จึงเลิกคณะกรรมการอบรมฯ

 

ทรงเป็นประธานเปิดสำนักอบรมพระธรรมฑูตไปต่างประเทศ  ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

ทรงเป็นประธานเปิดสำนักอบรมพระธรรมฑูตไปต่างประเทศ 
ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร 

 

พ.ศ. ๒๔๙๘ 

ทรงเป็นประธานกรรมการคณะธรรมยุต 
และเป็นอุปนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ 

พ.ศ. ๒๔๙๙ 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี 
มีกุศลเจตนาจะส่งเสริมพระพุทธศาสนาและศีลธรรม 
และวัฒนธรรมของข้าราชการและประชาชน 

ด้วยการโน้มน้อมชักนำให้เข้าหาพระศาสนา 
อันเป็นบ่อเกิดแห่งศีลธรรมจริยาและวัฒนธรรม 

ได้สั่งการให้กรมประชาสัมพันธ์มอบหมายให้ทางสังฆมนตรี 
จัดรายการเกี่ยวกับศาสนาตลอดวันในวันพระ 

คณะสังฆมนตรีจึงมอบให้ไปกำหนดวิธีการ 
ให้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี 
จึงได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการจัดรายการกระจายเสียงขึ้น 
ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี 

จึงได้ทรงรับหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการฯ 

ดำเนินการตลอดมา ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ 
อำนวยประโยชน์ทางด้านพระศาสนาเป็นที่ชื่นชมยินดีของพุทธศาสนิกชนทั่วไป 

พ.ศ. ๒๔๙๘ 

ทรงเป็นประธาน 
คณะกรรมการส่งเสริมสภาการศึกษามหามกุกฏราชวิทยาลัย (ก.ส.ม.) 

ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ 

๑. เพื่อหวังให้พระสงฆ์ (ทั้งสองนิกาย) 
ได้ศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ 
และทำให้พระสงฆ์ไทยได้รับการศึกษาเช่นนี้ 
เป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

๒. เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางและให้ได้ผลดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

๓. เพื่อจัดตั้งศูนย์กลางของการค้นคว้า 
และการศึกษาพระศาสนาสำหรับพระสงฆ์ไทย 

รวมทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศผู้สนใจ 
ที่จะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้ลึกซึ้งกว้างขวางยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ก.ส.ม. นี้ได้เลิกล้มไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ 

และได้ก่อตั้งขึ้นใหม่ในรูปของมูลนิธิตามใบอนุญาตจัดตั้ง 
ลงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๑ ในชื่อว่า 

“มูลนิธิส่งเสริมกิจการศาสนาและมนุษยธรรม 
ในพระอุปถัมภ์ของพระราชชนนีศรีสังวาลย์” 

ใช้อักษรย่อว่า มูลนิธิ ก.ศ.ม. เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า 

FOUNDATION FOR THE PROMOTION OF RELIGIOUS 
AND HUMANITARIAN ACTIVITIES 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 

ก. ทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนา 
ข. ส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์ 
ค. ส่งเสริมการปฏิบัติธรรม 
ง. ส่งเสริมการศึกษาของเยาวชน 
(สร้างหอพัก “ธรรมนิวาส” ให้นิสิตนักศึกษายากจน 
แต่เรียนดี ประพฤติดี ได้อยู่อาศัยโดยไม่คิดมูลค่าใดๆ) 
จ. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในทางสังคมสงเคราะห์ 

ซึ่งมูลนิธิแห่งนี้ได้ดำเนินงาน 
ในด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนา และอบรมศีลธรรม 
ด้วยการบรรยายบทความทางสถานีวิทยุกระจายเสียง 
จัดแสดงปาฐกถา และอภิปรายปัญหาธรรมตามสถานที่ที่เห็นสมควร 

ร่วมมือกับศูนย์อบรมจริยธรรมนักเรียนของกรมศาสนา 
อบรมจริยธรรมนักเรียน 

และออกนิตยสารรายเดือน “ศุภมิตร” 
เพื่อให้ความรู้และเป็นเพื่อนใจของกัลยาณุปุถุชน จนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย 
โดยที่มูลนิธิ ก.ศ.ม. ได้รับทุนดำเนินงานจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเสมอมา

 

  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) 

 

พ.ศ. ๒๕๐๕ 

เป็นประธานกรรมการ มูลนิธิสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน 
(Leprosy Relief Fund) 

ซึ่งมีวัตถุประสงค์ คือ 

ก. ช่วยรัฐบาล สมาคมหรือเอกชน ในการค้นคว้าเกี่ยวกับโรคเรื้อน 
ข. ช่วยเหลือในการจดซื้อยาและจ่ายแจก ซึ่งยารักษาโรค 
ยาฉีดที่ต้องใช้ในการรักษา ป้องกัน บำบัด และบรรเทาโรคเรื้อน 
ค. ช่วยเหลือในการเพิ่มพูนปริมาณของผู้เชี่ยวชาญหรือพนักงาน 
ช่วยเหลือไม่ว่าในหน้าที่ใดๆ ในงานด้านโรคเรื้อน 
ง. ช่วยเหลือในการให้ได้มาซึ่งการป้องกัน และการรักษาอันทันสมัย 
ตลอดจนถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนให้มีสมรรถภาพ 
จ. ช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนและครอบครัว โดยกำลังทรัพย์ 
หรือด้วยวิธีการช่วยเหลืออื่นๆ 
ฉ. จัดให้มีโครงการการศึกษา และการป้องกันเกี่ยวกับโรคเรื้อน 
แก่ประชาชนทั่วไปในราชอาณาจักรไทย 
ช. ส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องโรคเรื้อนระหว่างชาติต่างๆ 
และกระทำการทุกอย่างเท่าที่จะอำนวยให้วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ 
ดังกล่าวมาข้างต้นได้ผลเต็มตามความมุ่งหมาย 

และรับโอนกิจการทรัพย์สินของหน่วยสงเคราะห์ 
คนเป็นโรคเรื้อนมาจัดทำและดำเนินการต่อไป 

เกี่ยวกับการสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อนนี้ เคยมีพระดำรัสไว้ 
เมื่อคืนวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕ 
ในรายการวันสงเคราะห์ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อน ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี ว่า 

“ที่อาตมาภาพมาเกี่ยวข้องกับการสงเคราะห์ผู้ป่วยโรคเรื้อนนี้ 
ก็เพราะอาตมาภาพได้เคยไปแสดงธรรมเทศนาและเยี่ยมผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนนี้ 
ที่สถานพยาบาลพระประแดง เมื่อพบเห็นแล้วรู้สึกสงสารยิ่งนัก 
สำหรับผู้ป่วยนั้นเล่า ก็ได้รับทุกข์ทรมานอยู่ไม่น้อย 
ต่อมามีผู้ใจบุญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ 
มาขอร้องให้อาตมารับเป็นประธานกรรมการหน่วยสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อน 
อาตมาเห็นว่าเป็นงานกุศล สมควรที่พระสงฆ์จะได้มีส่วนร่มด้วย 
แม้องค์พระมหากษัตริย์ก็ทรงสนพระราชหฤทัย 
และทรงอุปถัมภ์งานกุศลนี้อยู่เป็นอันมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้อาตมาจึงรับเป็น 
ประธานกรรมการหน่วยสงเคราะห์คนเป็นโรคเรื้อนด้วยความยินดี” 

ผลงานของมูลนิธินี้ได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนอยู่มากมาย 
และได้เกิดถาวรวัตถุขึ้นเป็นตึก ๓ ชั้น ชื่อว่า “กรุณานิมมิต” 

สิ้นค่าก่อสร้างเป็นเงินประมาณ ๕ แสนบาท อยู่ในบริเวณวัดมกุฏกษัตริยาราม 

มอบให้กรมอนามัยใช้เป็นสำนักงานกลางในการควบคุมโรคเรื้อน 
เพื่อเป็นศูนย์กลางที่จะส่งเจ้าหน้าที่ออกทำการบำบัดในพระนครและธนบุรี 
และจังหวัดใกล้เคียงในภาคกลางตามแผนงาน 

 

 คุณพระบำราศนราดูร  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขณะนั้น

คุณพระบำราศนราดูร 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขณะนั้น 

 

นอกจากนั้น ยังใช้เป็นสถานที่สำหรับตรวจโรคผิวหนัง 
และให้ความสะดวก แนะนำประชาชนในการที่จะบำบัดโรคเรื้อนทั่วๆ ไป 
ซึ่ง คุณพระบำราศนราดูร ได้กล่าวว่า 

“ในอาคารนี้จะมีเครื่องใช้ในการชันสูตรโรค ห้องสมุดสำหรับวิชาการ 
และใช้เป็นศูนย์ชุมนุมคณะกรรมการการแพทย์ทางวิชาการโรคเรื้อน 
ร่วมกับมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระราชูปถัมภ์ 
เพื่อนำความรู้มาเป็นประโยชน์แก่การควบคุมโรคเรื้อนต่อไป 
จึงนับว่าเป็นอาคารที่มีความสำคัญ 
แก่กิจการการควบคุมโรคเรื้อนของกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างมาก” 

และผลจากการนี้ ทางคณะสงฆ์ได้ให้ความร่วมมือสนับสนุน 
โดยกำหนดเอาวันสงกรานต์เป็นวันสงเคราะห์ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อน 
ให้วัดทั่วราชอาณาจักรจัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนา 
รวบรวมจตุปัจจัยบูชาธรรม ส่งไปสงเคราะห์ผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อนทั่วประเทศ

 

 ทรงฉายร่วมกับนาย เจ คาลอบ บอจส์ วุฒิสมาชิกแห่งสหรัฐอเมริกา  ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร

ทรงฉายร่วมกับนาย เจ คาลอบ บอจส์ วุฒิสมาชิกแห่งสหรัฐอเมริกา 
ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร 

 

พระเกียรติคุณด้านการพระศาสนาในต่างประเทศ 

พ.ศ. ๒๔๙๘ 

ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ 
ได้เสด็จไปนมัสการ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ประเทศอินเดีย 
และดูการพระศาสนาในประเทศลังกา ขากลับแวะสิงคโปร์ ปีนัง มาลายา 
ระหว่างวันที่ ๒๔ มีนาคม จนถึง พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ 

วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ 

ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เสด็จไปร่วม 
ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษแห่งพระพุทธศาสนา ณ ประเทศญี่ปุ่น 
ในฐานะผู้แทนคณะสงฆ์ไทย โดยมี 
สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) สังฆนายกเป็นหัวหน้าคณะ 
และไปเยี่ยมทหารไทยในประเทศเกาหลี รวมเวลา ๓๐ วัน 

วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒ 

เสด็จไปส่งคณะพระสงฆ์ไทยที่ไปประจำ 
ณ วัดไทยในพุทธคยา ประเทศอินเดีย 
โดยมี สมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) 
สังฆนายกเป็นหัวหน้าคณะ เป็นเวลา ๑๐ วัน 

พ.ศ. ๒๕๐๔ 

ทรงเป็นผู้แทน สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภณมหาเถร) 
วัดเบญจมบพิตร ไปร่วมประชุม 
ฎีกาสังคายนาสมัยสุดท้ายฯ นครย่างกุ้ง สหภาพพม่า 
ซึ่งจัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๔ 

พ.ศ. ๒๕๐๗ 

ทรงเป็น หัวหน้าคณะพุทธศาสนไมตรีไปเยือนชาวพุทธฮ่องกง 
ไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น และขากลับเสด็จแวะประเทศเวียดนาม 
มอบพระไตรปิฎกแก่คณะสงฆ์ญวนตามคำอาราธนาของพระสงฆ์ 
และพุทธบริษัทในประเทศเหล่านั้น 
ระหว่างวันที่ ๑๑-๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ 

พ.ศ. ๒๕๑๐ 

เสด็จเยือนลังกาเป็นทางการ 
ตามคำกราบทูลอาราธนาของคณะสงฆ์และรัฐบาลลังกา 
(ปัจุบันเรียกว่า ศรีลังกา) 
และทรงเยือนคณะสงฆ์ ณ ประเทศสิงคโปร์ ด้วย 
ระหว่างวันที่ ๑๐-๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๐ 

 

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙  ทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ 
ทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) 

 

พระกรณียกิจพิเศษ 

พ.ศ. ๒๔๙๙ 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกผนวชพระภิกษุ 
ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม 
โดยมี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ 
ทรงเป็น พระราชอุปัธยาจารย์ 

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนโสภณ 
ทรงเป็น พระราชกรรมวาจาจารย์ ในพระราชพิธีทรงผนวชครั้งนี้ 

พ.ศ. ๒๕๐๙ 

ทรงเป็น ประธานสงฆ์ในพิธีแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ ของ 
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ฯ สยามกุฏราชกุมาร 
ในวโรกาสที่จะเสด็จไปทรงศึกษา ณ ต่างประเทศ 
เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ 


พระอวสานกาล 

โดยปกติ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ทรงมีพระพลานมัยดีตลอดมา 
ไม่ประชวรถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ แต่มีพยาธิเบียดเบียนเป็นครั้งคราว 
ต้องเสด็จไปรับการผ่าตัดในโรงพยาบาล ๒-๓ ครั้ง คือ 
ผ่าตัดไส้เลื่อน ๑ ครั้ง ผ่าตัดโพรงจมูกครั้ง ๑ 
ผ่าตัดกระเพาะ เพื่อตรวจดูว่าเป็นมะเร็งหรือไม่อีกครั้ง ๑ 

ภายหลังการผ่าตัดครั้งสุดท้าย ก็ปรากฏว่าพระสุขภาพเป็นปกติ 
แต่ทรงรับสั่งว่า รู้สึกว่าความจำเลือนไปบ้าง และทรงปรารภว่า 

“ไม่รู้ว่าทำกรรมอะไรไว้ จึงถูกผ่าตัดอย่างนี้” 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายีมหาเถร) 
สิ้นพระชนม์โดยอุบัติเหตุ 
เพราะถูกรถยนต์บรรทุกขนาดเล็กส่วนบุคคล 
ขับสวนทางมาพุ่งเข้าชนรถยนต์พระประเทียบ 
ณ วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เวลา ๑๐.๐๕ น. 

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (จวน อุฏฐายีมหาเถร) 
ทรงดำรงอยู่ในเพศคฤหัสถ์ ๑๗ ปี 
ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ๓ พรรษา 
ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ๕๕ พรรษา 
ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ๒๗ พรรษา 
และดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 
เป็นเวลา ๗ พรรษา (๖ ปี กับ ๒๒ วัน) 
คำนวณพระชนมายุเต็มได้ ๗๔ พรรษา ๑๑ เดือน ๒ วัน 

 

 สังฆราชานุสรณ์ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)  ประดิษฐาน ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร

สังฆราชานุสรณ์ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) 
ประดิษฐาน ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร 

 

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก :: 
- หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ : 
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) 
วัดมกุฏกษัตริยาราม, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑. 
- ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช กรุงรัตนโกสินทร์, 
โกวิท ตั้งตรงจิตร, สวีริยาศาสน์ จัดพิมพ์, ๒๕๔๙ 
- ประวัติวัดสำคัญ เล่ม ๑, พระธรรมวราจารย์ วัดบวรนิเวศวิหาร 
รวบรวมและเรียบเรียง, มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์, ๒๕๔๒. 
http://www.dharma-gateway.com/ 
http://mahamakuta.inet.co.th/ 
http://mbu.ac.th/

 

นำมาจากเว็บธรรมจักร www.dhammajak.net

Top